San Miguel de Allende
เป็นเมืองที่สวยงามอีกเมืองหนึ่งในกระบวนเมืองแบบอาณานิคมทั้งหลายที่ได้ผ่านมา มีคฤหาสถ์หรูหรา โบสถ์เก่าแก่มีสีสัน แต่ละแห่งเชื่อมด้วยถนนแคบๆสร้างจากหิน cobblestone เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในอดีตเคยเป็นที่พบปะที่สำคัญของขบวนตัวฬ่อ (ลูกผสมลากับม้า)ที่บรรทุกเงินและทองไปยังเมืองหลวงคือเมือง Queretaro ที่อเมริกาตั้งให้ ในปี ๑๘๔๘ ในระหว่างการ ยึดครองชั่วระยะหนึ่ง
เมื่อขบวนสินค้าเดินทางกลับก็ขนสมบัติมีค่าของยุโรปกลับมาด้วย ในปัจจุบัน ซาน มิเกล เดอ อเลนเด ได้กลายเป็นแหล่งที่นิยมของนักท่องเที่ยว ประเพณีและวัฒนธรรมของเมืองนี้ ประกอบกับอากาศที่ เย็นสบายโปร่งใสในฤดูหนาวและอบอุ่นในฤดูร้อนเป็นเสน่ห์จูงใจให้คนต่างชาติจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกันให้มาพำนักที่นี่เมื่อเกษียณแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเห็นมีสถานที่งดงามด้วยศิลปะหลายแห่ง มีแกลเลอรี่ขายรูปภาพสวยๆ มีโรงเรียนสอนวาดรูป สอนเต้นรำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติมาพักอยู่ เพราะมีกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจให้ทำ นอกจากนั้นภาษาสเปนก็เป็นภาษาที่ชาวอเมริกันที่อยู่ตามชายแดนคุ้นเคย
Convento de la Santa Cruz เป็นแห่งหนึ่งที่ชื่นชอบ ในปัจจุบันเป็นโรงเรียนสอนศาสนา สร้างขึ้นระหว่างปี ๑๖๕๔ และ ๑๘๑๕ เชื่อกันว่ามีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เมื่อร่างของนักบุญเจมส์ St. James ปรากฏร่างให้เห็น ทำให้เผ่าอินเดียที่กำลังทำสงครามอยู่ในขณะนั้น ยอมแพ้แก่ Conquistadors ชาวสเปนและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ไม้กางเขนที่ทำด้วยหินและมีอายุถึง ๔๕๐ ปี ที่เชื่อกันว่าลอยอยู่กลางอากาศวางอยู่บนแท่นบูชาในโบสถ์เล็ก มีห้องเล็กๆห้องหนึ่งมีเครื่องประดับแต่เพียงน้อยชิ้นเป็นห้องที่จักรพรรดิ Maximilian ที่สองแห่งราชวงศ์ฮับส์บวร์กแห่งออสเตรีย เคยประทับอยู่ชั่วคราว ก่อนที่จะถูกนำไปประหารด้วยการยิงเป้าในปี ๑๘๖๗
ไม่ไกลนักเป็น “ท่อส่งน้ำ” Aqueduct ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ชาวเมืองเรียกว่า Los Arcos ซึ่งมี ๗๔ ส่วนโค้ง” หรือ Arches มีความสูงถึง ๒๓ เมตร และความยาวถึง ๘ กิโลเมตร สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปดและยังใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ ยังสามารถส่งน้ำเข้ามายังตัวเมืองได้จากที่ไกลถึงสิบสองกิโลเมตร
ในบริเวณจัตุรัสมีอนุสาวรีย์รูปปั้นของวีระบุรุษ Benito Juarez ยืนเป็นสง่าอยู่บนแท่นหินใหญ่ ผ่านหญิงชาวเม็กซิกันนั่งขายของอยู่ใต้ต้นไม้ บางคนก็นั่งถักงานฝีมือ คฤหาสถ์งามๆหลายหลังได้ถูกเปลี่ยนเป็นโรงแรม มีบริเวณหรือ คอร์ทยาร์ด ที่สวยร่มรื่น มีน้ำพุอยู่ตรงกลาง เมื่อมา ถึงโรงแรม ที่เคยเป็นคฤหาสถ์แห่งหนึ่งมานูเอลเล่าว่า เคยเป็นของ Marques de la Villa del Villar มาก่อนในศตวรรษที่สิบแปด เขาขอแต่งงานกับแม่ชีคาธอลิคคนหนึ่ง เธอสัญญาจะแต่งงานด้วย โดยมีข้อแม้ว่าเขาจะต้องออกเงินสร้าง “ท่อส่งน้ำ” หรือ Aqueduct ที่เล่าแล้วข้างบนให้แก่เมือง
เมือง Queretaro มีศิลปะซ่อนอยู่มากมายภายในใจกลางเมือง จนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งจาก UNESCO ในปี ๑๙๙๖ ที่เมืองนี้อีกเหมือนกันที่ได้มีการเซ็นต์สัญญาสงบศึกระหว่างเม็กซิโกและอเมริกาในปี ๑๘๔๘ ผู้ที่ได้ชัยชนะคืออเมริกา สัญญาที่ทำขึ้นทำให้เม็กซิโกต้องยกเขตแดนกว่าครึ่งให้ผู้ชนะ
เราต้องเดินทางกลับเม็กซิโกซิตี้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ไปเที่ยวชม Colonial Mexico อยู่หลายวัน ศิลปะในสมัยอาณานิคมของเม็กซิโกเป็นที่ติดตาตรึงใจผู้ได้เห็นในความงดงามและสีสัน คฤหาสน์ ตึกราม วิหาร บ้านช่องในสมัยนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดใจให้คนทั่วโลกไปเยือน การปกครองในสมัยล่าอาณานิคมของสเปนซึ่งนานถึงสามร้อยปีเป็นบรรทัดฐานในศิลปะการก่อสร้างของเม็กซิโก และศิลปะนั้นได้รวมเอาศิลปะดั้งเดิมของเม็กซิโกไว้ด้วย จึงทำให้แปลกแตกต่างไปอีกลักษณะหนึ่ง ศิลปะทั้งในแบบโกธิค และ เรเนซองส์ เป็นจุดเด่นเหนือสิ่งอื่นใดในการก่อสร้างทั้งหลาย แบบโกธิคที่มียอดแหลมสูง ในขณะที่เรเนซองส์ใช้สไตล์แบบกรีกโบราณผสมโรมัน เห็นได้จากจตุรัสกลางใจเมือง นอกจากนี้ ก็มีสไตล์ในแบบผสมของสเปนและมุสลิม (มัวร์) ซึ่งเห็นจากเพดานใน โบสถ์หรือวิหารที่ทำด้วย ไม้สลักอย่างสวยงามอ่อนช้อย ส่วนสไตล์แบบบาโร๊คที่มาถึงเม็กซิโกตอนต้นศตวรรษที่สิบเจ็ดนั้นได้รวมเอาสไตล์แบบเรเนซองส์เข้าไว้ด้วย ทำให้มีอิทธิพลในการสร้างความตะลึงลานให้แก่ผู้ได้พบเห็น
ฐานะของผู้คนในสังคมของเม็กซิโกในสมัยนั้น ขึ้นอยู่กับสีของผิว ใครคือผู้ให้กำเนิด และ สถานที่เกิด ชาวสเปนที่เกิดในสเปน แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยเพียง หยิบมือของพลเมืองทั้งหมดในประเทศ แต่เมื่อมาอยู่ใน “สเปนใหม่” หรือ “Nueva Espana” ก็จะได้รับการยกย่องให้เป็นผู้สูงศักดิ์ ไม่ว่าเขาจะมาจากที่ต่ำต้อยที่ไหนก็ตามในประเทศของตน รองลงมาก็เป็นชาว “คริโอลโล” (Criollos) คือผู้ที่เกิดในสเปนใหม่จากพ่อแม่ที่เป็นชาวสเปน ในศตวรรษที่สิบแปดชาวคริโอลโล ทำเงินได้มากมายจากการทำเหมืองแร่ ค้าขายและกสิกรรม ฟาร์มใหญ่ที่เล่าให้ฟังแล้วตอนต้นๆ ที่เรียกว่า hacienda ได้เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เมื่อมีเงิน พวกเขาก็ต้องการอำนาจจากการเมืองเพื่อส่งเสริมฐานะในทางการเงินของตน ให้เลิศเลอขึ้นไปอีก
รองลงมา เป็น “เมสติโซส์” (mestizos) คือลูกครึ่งที่เกิดจากพ่อแม่ผิวขาวและผิวดำผสมกัน ชั้นต่ำที่สุดเป็นชาวพื้นเมืองและทาส ชาว แอฟริกัน อย่างที่เล่าให้ฟังแล้ว ถึงแม้ว่าภายหลังทาสเหล่านี้จะกลายเป็นกรรมกรแรงงานที่ได้รับค่าจ้าง แต่ค่าจ้างที่ได้รับก็น้อยนิดเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมีการต่อสู้อันยาวนานในประเทศเม็กซิโก กว่าจะได้มาซึ่งอิสรภาพในที่สุด
ประเทศเม็กซิโกหรือที่เรียกเป็นทางการว่า Mexico United States มีทั้งหมดด้วยกัน ๓๒ รัฐ มีประชาชนกว่าหนึ่งร้อยล้าน มีรายได้ income per capita ๑๒๐๐๐ เปโซต่อปี (คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ ๓๖๐๐๐ บาท) กรรมกรได้ค่าจ้างวันละ ๓๗ เปโซ (๑๑๑ บาท) ประเทศมีประธานาธิบดี ซึ่งถ้าได้รับเลือกจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เทอมละหกปีเท่านั้น นาย Filipe Calderon เป็นประธานาธิบดี คนปัจจุบัน ต่อจาก ประธานาธิบดี Vincente Fox ที่หมดวาระในปี ๒๐๐๖ ตามความเห็นของชาวเม็กซิกัน นาย Fox เป็นคนดี ซื่อสัตย์ ไม่ฉ้อฉล มักจะไปไหนมาไหนในชุดกางเกงยีนส์ธรรมดาๆ แต่เขาก็สร้างความผิดหวังให้แก่ชาวเม็กซิกันหลายคน ที่ไม่สามารถทำให้ประเทศรุ่งเรืองในด้านเศรษฐกิจได้ อย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะไม่มีเสียงส่วนใหญ่ในคองเกรส ที่จะสร้างประเทศให้อยู่ดีกินดีได้ตามที่ใจปรารถนา เห็นชาวเม็กซิกันบอกอีกเหมือนกันว่าพอใจกับ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือนาย Calderon ก็ต้องดูกันต่อไป เพราะจิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง
ธงชาติของเม็กซิโกมีสามสีคือ สีเขียวหมายถึง ความหวัง สีขาวคือหิมะ และแดง คือความอบอุ่นและเอื้อเฟื้อในดวงใจ
จาก Mexico Cityถึงเมือง Palenque
ใช้เวลาบินประมาณ หนึ่งชั่วโมง สิบห้านาทีจากเม็กซิโกซิตี้ ก็ถึงเมือง Villahermosa ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จากสนามบินรถและคนขับมารับพาไปพักที่โรงแรมในเมือง Palenque ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินไปประมาณสองชั่วโมง แม้ว่าจะเป็นแต่เพียงคนขับรถ ไม่ใช่ไก๊ด์ เขาก็ทำหน้าที่ได้ดีมาก พยายามพูดภาษาอังกฤษผสมสเปน อธิบายอะไรต่ออะไรให้ฟังไปตลอดจนถึงที่พัก เขาบอกว่าประเทศเม็กซิโกผลิตน้ำมันปาล์มได้เป็นที่สี่ของโลก ถนนที่รถวิ่งผ่านไปเป็นพื้นที่เรียบ อากาศร้อนและชื้นผิดกับเมืองอื่นๆทางเหนือที่ค่อนข้างเย็นและแห้งที่เราได้ไปมา ผ่านสวนปาล์ม สวนผลไม้และต้นไม้ของเมืองร้อนที่ขึ้นอยู่หนาแน่น เช่น มะม่วง มะพร้าว และกล้วยเป็นต้น
วันรุ่งขึ้น ไก๊ด์คนใหม่ชื่อ นาย Luis หรือ หลุยส์ นำรถอีกคันหนึ่งมารับ เขาเป็นคนค่อนข้างมีอายุ แต่ยังแข็งแรง เคยทำงานเป็น ตัวแทนของสายการบินมาเลเซีย นับได้ว่าเขาเป็นคนผิวขาว เพราะพ่อเป็นชาวออสเตรีย และแม่เป็นชาวสเปน เขาเองเกิดในเม็กซิโก ในขณะที่ นายมานูเอล ไก๊ด์คนก่อนสืบเชื้อสายมาจากเผ่าคนพื้นเมือง แต่เคยไปแสวงโชคในอเมริกาพักหนึ่ง ดังนั้นเขาจึงมีสำเนียงอเมริกันที่ฟังยาก เพราะไม่ได้ไปเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ
เราถูกชะตากับหลุยส์ตั้งแต่แรกพบ เขามารับพาเราไปเที่ยว National Park Agua Azul ซึ่งแปลว่า Blue Water หรือน้ำสีฟ้า ที่ปาร์คนี้มีน้ำตกที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประเทศ ระหว่างทางผ่านหมู่บ้านหลายแห่ง แต่ละแห่งมีการตั้งสินค้างานฝีมือของชาวบ้านออกมาขาย พวกผู้หญิงในแต่ละหมู่บ้านแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองสีสันฉูดฉาดต่างกันไป หลุยส์บอกว่า ชาวสเปนในสมัยอาณานิคมเป็นผู้ออกแบบและสีของเครื่องแต่งกาย เพราะไม่เข้าใจภาษาพื้นเมืองที่มีอยู่มากมาย จะได้จำได้ว่าใครเป็นใครด้วยลักษณะและสีของเครื่องแต่งกาย แถบนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย แต่หลุยส์ก็ยังคอยระวังไม่ให้เราถูก รถทับยามข้ามถนน ไปดู อะไรต่ออะไร
รถผ่านป่าเมืองร้อนที่มีต้นไม้เรียกว่า copper tree ขึ้นอยู่หนาแน่น มีรังนกที่มีลักษณะแบบ ลูกตุ้มของนาฬิกาแขวนอยู่บนคอคบของต้น คอปเปอร์ แกว่งไปมาตาม ลม หลุยส์บอกว่ารังนี้ทำจากนกที่ชื่อ Oro Pendulo ที่ต้องทำรังแบบนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ลิงเข้ามาขโมยรังและลูกนก รังนี้จะแขวนอยู่ถึงหกเดือนจนกว่าลูกนกจะเติบโตออกไปหากินเองได้
หลุยส์พาเราเข้าไปในปาร์คแล้วก็ให้เวลาสองชั่วโมงสำหรับเดินเข้าไปเที่ยวดูน้ำตก เราเดินเข้าไปไกลจนสุดทางที่เป็นน้ำตกและแม่น้ำ ผ่านร้านขายของที่ระลึก ร้านขายผลไม้และเครื่องดื่ม รู้สึกว่าอากาศร้อนและอบอ้าว จึงถอดรองเท้าเดินลงไปในลำธาร เสียดายไม่ได้เอาชุดว่ายน้ำมา ไม่เช่นนั้นก็คงจะได้ลงไปว่ายเล่นบ้าง เพราะน้ำแลดูใสน่าลงเล่น มีบางแห่งที่มีป้ายห้ามลง เพราะอันตรายจากสายน้ำที่พัดมาเร็วและแรง เดินผ่านหญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่งเอาผ้ามาซักในลำธาร ต้องการจะถ่ายรูปเธอ เพราะเห็นว่าน่ารักดี แต่มีกลุ่มผู้ชายกลุ่มหนึ่งมาห้ามไว้ บอกว่าต้องจ่ายเงินก่อน เราก็เลยไม่ได้ถ่าย เสียดายเหมือนกัน หลังจากนั่นหลุยส์พาไปกินแซนด์วิชที่ร้านชาวพื้นเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งที่ตำบล Misol-Ha ซึ่งมีน้ำตกสูงสามสิบเมตรใกล้ๆ
ขากลับเราผ่านเมืองเล็กๆแต่สวยคือเมือง San Cristobal de las Casas
ซึ่งอยู่ในระดับ ๒๓๐๐ เมตรเหนือน้ำทะเล จึงมีอากาศเย็นสบาย เป็นเมืองเล็กเงียบสงบและมีสีสัน แต่ก็ซ่อนเอาบรรยากาศแห่ง “คลื่นใต้น้ำ”เอาไว้ ซึ่งเป็นผลจากความระหองระแหงของชาวสเปนในสมัยอาณานิคมและชาวพื้นเมืองอินเดียในสมัยนั้น
ในปี ๑๙๙๔ มีคนกลุ่มหนึ่งเรียกตนเองว่า Zapatista ตามอุดมการณ์ของวีระบุรุษในครั้งกระโน้น เรียกร้องให้ทางรัฐแบ่งปันความร่ำรวยแก่คนยากไร้ที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ในที่สุดกลุ่มนี้ก็ถูกพวกทหารใช้กำลังบังคับจนต้องหลบหนีไปอยู่ตามป่า แต่ถึงแม้ว่าจะประกาศสัญญาสงบศึกกันแล้วในปี ๑๙๙๕ ทหาร ก็ยังคงตระเวนตามพื้นที่ๆกลุ่ม Zapatista เคยอยู่ จนป่านนี้ยังไม่สามารถเจรจาตกลงคืนดีกันได้
ตามรอยชาวเผ่า Maya (มายา) เริ่มที่เมืองโบราณ Palenque
ชาวเผ่ามายาสร้างเมืองโดยไม่ให้มีจุดศูนย์กลางแห่งเดียว แต่แยกย้ายกันไป เป็นอิสระไม่ได้ขึ้นอยู่กับศูนย์กลาง จึงสามารถพบ เมืองต่างๆของมายาในหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเผ่ามายาไม่ได้สนใจที่จะศึกษาค้นคว้าเรื่องของดาราศาสตร์ การพัฒนาการเขียนที่ทันสมัยเรียกว่า glyphs ซึ่งบางครั้งก็เป็นตัวอักษรเพียงตัวเดียว บางครั้งก็เป็นการออกเสียงแบบ phonetic วิธีการนับตัวเลข และเวลาที่ล่วงไป เคยคิดกันว่าเผ่ามายาเป็นเผ่าที่รักความสงบ แต่จากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์พบว่าชาวมายามี ประวัติศาสตร์ที่กระหายสงครามและการใช้มนุษย์เพื่อการบวงสรวงพระเจ้าเช่นเผ่าอื่นๆเหมือนกัน
ทันทีที่ได้ย่างก้าวเข้าไปในเขตเมืองโบราณ “พาเลงเค่” ที่สร้างโดยเผ่ามายา ฉันสัมผัสได้ถึงความลึกลับ ซ่อนเร้น เคร่งขรึม ความมีอำนาจ ณสถานที่แห่งนี้ เคยมีสิ่งก่อสร้างมากกว่าร้อยแห่ง ตั้งตระหง่านอยู่ในป่าทึบอันร่มรื่นเขียวขจีในอาณาบริเวณเพียง ๑๕ ตารางเมตรเท่านั้น ได้ยินเสียงนกร้องและเสียงกู่ก้องของลิงและชะนีอยู่ไม่ไกล แต่กลุ่มสิ่งก่อสร้างสำคัญๆที่อยู่ตรงใจกลางเท่านั้นที่ได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี เผ่ามายาอาศัยอยู่ในที่แห่งนี้มาเนิ่นนาน คือร้อยปีก่อนคริสตศาสนา และได้ถึงจุดรุ่งเรืองสูงสุดในระหว่างปีค.ศ. ๖๐๐ ถึง ๘๐๐ Palenque เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ ของเม็กซิโกอย่างแท้จริง
หลุยส์บอกให้หลับตาวาด ภาพว่าเมืองโบราณที่เห็นเป็นหินสีเทาอยู่เบื้องหน้านี้ หาใช่สีเทาไม่ แต่เป็นสีแดงของเลือด ผสมด้วยสีฟ้าอ่อนนุ่มและสีเหลืองของปูนที่ฉาบฝาผนัง เพราะนั่นคือสีที่แท้จริงของ “พาเลงเค่” สมัยที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ชาวมายาใช้หินปูนผสมเลือดกวางเป็นกลูสำหรับเชื่อมส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน
The Palace เป็นปิรามิดที่อยู่ในกลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นสถานที่แห่งแรกที่เข้าไปดู ตั้งอยู่บนฐานที่ยกขึ้นมาเหนือพื้น สร้างขึ้นจากการบงการของกษัตริย์เผ่ามายาหลายองค์ องค์แรกคือ Pakal วังแห่งนี้เป็นที่พำนักของกษัตริย์และพระราชวงศ์ที่เป็นครอบครัว อาณาบริเวณวังแบ่งออกเป็นสี่เขตใหญ่ๆ มีระเบียง และห้องหลายห้อง มีหอคอยสี่ชั้นที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่แปด ได้รับการบูรณะเมื่อปี ๑๙๕๕ ภายในปิรามิดยังมีรอยแกะสลักให้เห็นบนฝาผนัง นักโบราณคดีเชื่อว่า หอคอยถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ราชวงศ์และพระของเผ่ามายาได้เห็นพระอาทิตย์ ฉายแสงโดยตรงลงมาถึงวิหารแห่งการบันทึกในช่วงฤดูหนาว Temple of the Inscriptions บนฝาผนังของวัดแห่งการบันทึกนี้มีแผ่นแกะสลักตัวอักษรหรือ glyphs อยู่ วัดนี้จึงถูกขนานนามว่า วัดแห่งการบันทึก แม้ว่าจะตกมาถึงปัจจุบัน การแปลตัวอักษรก็ทำได้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น
เราต้องไต่บันไดหินที่สูงชันขึ้นไปสองชั้นจึงจะถึง สุสานของกษัตริย์ “พาคาล”
ตอนที่ถูกค้นพบในปี ๑๙๔๙ บันไดฝังอยู่ใต้ก้อนหินดินและกรวด นักโบราณคดีใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะเขี่ยออกไปหมด จึงได้ค้นพบสุสานแห่งนี้ สมบัติต่างๆที่ฝังอยู่ในสุสานได้ถูกนับไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ในเมืองหลวงเม็กซิโกซิตี้ ที่เล่าแล้วข้างต้น
ที่น่าสนใจคือรูปปั้นแกะสลักของนักโทษในบริเวณวัง มีหินรูปไข่แกะสลักแสดงการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ “พาคาล” เป็นรูปแกะสลักที่พระองค์ได้รับเหรียญตราจากพระมารดา ผู้ซึ่งเป็นพระราชินีในระยะเวลาสั้นๆ
ยังมีวิหารอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า วิหารแห่งดวงอาทิตย์ Temple of the Sun ที่ยังคงได้รับการรักษาอย่างดี เป็น ปิรามิดสี่ชั้น มีหลังคาหินสลักเป็นรูปโปร่งครอบไว้ มีตัวอักษร glyphs สลักไว้ หนึ่งในตัวอักษรแปลว่าดวงอาทิตย์
Temple XIV หรือวิหารที่สิบสี่ก็น่าสนใจ เพราะมีตัวอักษร glyphs เช่นกัน มีแกะสลักที่เป็นรูปของกษัตริย์ของมายาคือ Ken Balam II เคน บาลัมที่สอง สรวมหมวกที่ทำด้วยขนนกขนาดมหึมา
ในบริเวณอันกว้างขวางของเมืองโบราณ มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งสำคัญมากสำหรับประเพณีของเผ่ามายา นั่นคือการเล่นบอลที่ เรียกว่า Ballgame การเล่นชนิดนี้มีความหมายมากกว่าการเล่นกีฬา ที่ได้รับความนิยมทั่วไปใน Mesoamerica ซึ่งหมายถึงชนชาติที่มีประเพณีและวัฒนธรรมเดียวกันที่อาศัยอยู่ในตอนกลางและตอนใต้ของเม็กซิโก ประเทศเบลิซ กัวติมาลา ในบางส่วนของฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์เป็นต้น ก่อนจะถึงสมัยล่าอาณานิคมของสเปน เขามีแต่เพียงภาษาพูดเท่านั้นที่แตกต่างกัน
การเล่นบอลในสมัยเผ่ามายาเป็นการทำพิธีบวงสรวงชนิดหนึ่งโดยใช้มนุษย์เป็นเหยื่อในพิธี เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่พระเจ้า การฆ่ามนุษย์ด้วยการเอาเลือดไปถวายเป็นความเชื่อของชาวเม็กซิกันในสมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเผ่าแอสเท็คซ์ บางครั้งจะเห็นภาพวาดหรือรูปแกะสลักที่แสดงให้เห็นพระของเผ่าแอสเทคซ์ฆ่าเหยื่อจนเลือดสาดแล้วเขี่ยทิ้งลงจากบันไดของวัดหรือวิหารคซค
ตามสถิติบอกว่ามีลานเล่นบอลแบบนี้ที่ขุดได้ถึงกว่าห้าร้อยแห่งในเม็กซิโกและอเมริกากลาง ลูกบอลที่ใช้เป็นลูกยางมีขนาดใหญ่เท่าหัวคน สามารถดูรูปแกะสลักบนแผ่นหินได้ ที่ไหนที่เป็นเมืองหรือวังโบราณจะมีลานเล่นบอลอยู่ทุกแห่ง ลานที่เล่นจะเป็นรูปตัว I แต่ละลานมีขนาดความเล็กและใหญ่แตกต่างกันไป ผู้เล่นจะแบ่งออกเป็นสองทีม แต่ละทีมมีผู้เล่นเจ็ดคน จะได้แต้มก็ต่อเมื่อผู้เล่นโยนลูกบอลผ่านลอดเข้าไปในห่วงหินกลมที่แขวนอยู่บนกำแพงของแต่ละด้าน เขาบอกว่าเป็นการยากที่จะโยนลูกบอลให้เข้าไปได้ เพราะห่วงหินที่แขวนอยู่มีขนาดเล็ก และแขวนอยู่บนกำแพงที่สูงมาก ผู้เล่น มักจะมีครื่องแต่งกายพิเศษ คือต้องมีผ้านวมหนานุ่มรองรับแขน สะโพก หัวเข่า และข้อศอก เพราะจุดประสงค์คือ จะทำลูกบอลตกพื้นไม่ได้ ต้องใช้อวัยวะทั้งสี่นี้ประคองลูกบอลเอาไว้เหนือพื้นดิน ไม่สามารถใช้มือหรือเท้าได้
หลังการเล่นผู้แพ้จะถูกฆ่าบวงสรวง แต่ทุกฝ่ายเห็นว่า การตายแบบนี้เป็นการตายที่มีศักดิ์ศรี ในบางแห่งจะมีแผ่นหินแกะสลักแสดงรูปผู้ชนะฆ่าผู้แพ้ด้วยมีดที่ทำจากหินภูเขาไฟสีดำใส obsidian ที่เคยเล่าแล้วข้างต้น มีผู้ ชนะอื่นยืนดู ในขณะที่พระเจ้าแห่งความตายลงมาจากท้องฟ้าเพื่อรับพิธีบูชายันต์อันเป็นร่างของมนุษย์ ตลอดระยะเวลาที่เดินตามรอยเผ่ามายา เราได้เห็นลานเล่นกีฬาแบบนี้หลายแห่งด้วยกัน ที่น่าสนใจและยังคงมีสภาพดีที่สุดและใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ที่เมือง Chichen Itza ที่จะพาคุณผู้อ่านไปเที่ยวต่อไป
แต่หลุยส์บอกว่า ผู้ชนะต่างหากที่จะต้องเสียสละ ถูกฆ่าตัดหัวในพิธีบวงสรวง แล้วทายาท จะมาดื่มเลือดที่ไหล เพราะเชื่อกันว่า เลือดที่ดื่มไปจะให้พลังมหาศาล
ภายในบริเวณ พาเลงเค่ ยังมีโบราณสถานอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ ปกคลุมด้วยต้นไม้ของป่าเมืองร้อน ทำให้นึกถึงนครวัตรและนครธมของประเทศกัมพูชา เราเดินผ่านต้นไม้ใหญ่หลายต้น ในจำนวนนั้นมีต้น ceiba หรือ ceiva ที่เผ่ามายาเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์เพราะค้ำจักรวาลเอาไว้
ข้ามสะพานจนมาถึงทางออกอีกทางหนึ่งที่หลุยส์เอารถมารอ เพื่อพาไปดูพิพิธภัณฑ์Site Museum ซึ่งมีสิ่งของที่ขุดได้จากเมืองโบราณ “พาเลงเค่”มาแสดง เป็นการทบทวนดูรายละเอียดจากของจริงที่ได้เห็นมาแล้ว สังเกตได้ว่าเผ่ามายามีศิลปะที่ยั่งยืนยาวนาน เพราะใช้วัตถุต่างๆประกอบเข้าด้วยกัน เช่น ไม้ หิน กระเบื้อง เปลือกหอย หยก และแม้แต่กระดูก จึงสามารถสร้างศิลปะต่างๆได้อย่างมากมาย มากกว่าเผ่าชนอื่นๆในเม็กซิโก พวกเขาถนัดในการสร้างรูปแบบของจริง ที่เห็นได้ตามกำแพงและฝาผนังจึงทำให้พวกเรานึกภาพออกว่า เผ่ามายามีชีวิตเช่นไร มีการแต่งกายแบบไหน มีวิธีทำสงครามอย่างไร มีประเพณีและความเชื่อโน้มไปทางไหน
มีรูปภาพแสดงประวัติของกษัตริย์ “พาคาล” การเกิดอีกครั้งหนึ่งของพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งข้าวโพช รายล้อมด้วยงูหลายตัว สัตว์โบราณลึกลับ มีตัวอักษรเล่าถึงสมัยการครองราชย์ของพระองค์
มีแท่งหินขนาดใหญ่อยู่แท่งหนึ่ง เป็นรูปแกะสลักแบบบางๆหรือที่เรียกว่า bas-relief มีชื่อว่า Tablet of the Slaves แสดงฝีมืออันเลิศเลอในการแกะสลักของเผ่ามายา มีรูปแกะสลักทำจากกระเบื้อง สัณนิฐาน ว่าคงจะเป็นกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งที่ขุดพบจากสุสานแห่งหนึ่งในเมืองโบราณ Campeche ที่จะพาคุณผู้อ่านไปเที่ยวเหมือนกัน
มีจิตกรรมฝาผนังสีฉูดฉาด ชื่อว่า The murals of Bonampak ที่แสดงให้เห็นเผ่านักรบมายา แต่งตัวด้วยหนังเสือจากัวร์ มือหนึ่งถือหอกยาว อีกมือหนึ่งฉุดกระชากลากศตรูที่จับได้ด้วยการดึงผม แม้ว่าจะโหดร้ายนิดหน่อย แต่เห็นแล้วก็อดขำไม่ได้ ถ้าคุณผู้อ่านมีโอกาสไป ก็อย่าลืมไปแวะชมพิพิธภัณฑ์นี้ เพราะน่าสนใจมาก