Viva Mexico (Part 5)

จาก Palenque ถึง Campeche

เป็นระยะทางยาว ๓๖๘ กิโลเมตร หลุยส์ใช้เวลาขับถึงห้าชั่วโมง เพราะถนนอยู่ในสภาพย่ำแย่กว่าที่เห็นจากที่อื่น ระหว่างทางตำรวจโบกให้รถหยุดถึงสองครั้งเพื่อค้นหายาเสพติด ก่อนจะเข้าตัวเมือง “แคมเปเช่” ได้ เราก็ต้องหยุดให้เจ้าหน้าที่ตรวจอีกครั้งหนึ่ง

Campeche เคยเป็นเมืองประมงและศูนย์กลางการค้าของเผ่ามายา ในสมัยอาณานิคมเมืองนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญในแหลม “ยูคาทาน” (Yucatan Peninsula)ส่งออกสินค้าจำพวกป่านปอ ไม้และรากไม้ที่ใช้ทำสีย้อมผ้าไปขายในยุโรป จนร่ำรวย เป็นที่หมายปองของโจรสลัดจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ ที่โจมตีปล้นเรือและทำลายเมือง “แคมเปเช่”จนวอดวายหลายครั้ง ในปี ๑๖๖๓ ถึงกับมีการฆ่าหมู่ชาวเมืองอย่างนองเลือด จนต้องสร้างกำแพงใหญ่ขึ้นปกป้อง มีประตูทางเข้าสองทางคือ ประตูทางเข้าด้านทะเล Sea Gate และประตูทางเข้าจากทางบก Land Gate ในปัจจุบัน Campecheได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การ UNESCO อีกแห่งหนึ่ง มีการปรับปรุงบูรณะซ่อมแซมเมืองอย่างมโหฬารเพื่อจะให้มีส่วนคล้ายคลึงกับเมืองในอาณานิคมสมัยสเปน บ้านเรือน ตึกราม และร้านรวง ตลอดจนโบสถ์และวิหารทาสีสวยงาม ผสมสีขาว เป็นเมืองที่สงบเงียบ แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเลย มีความรู้สึกว่าเขาต้องการรักษาไว้เช่นนั้น

ระหว่างทางที่ไปเมือง Merida เราผ่านกระท่อมที่อาศัยของเผ่ามายา หลังคาเป็นใบปาล์มตัวกระท่อมสร้างด้วยไม้ขัดแตะโปร่ง เพื่อให้ลมพัดผ่านให้ความเย็น กระท่อมที่สร้างในลักษณะเช่นนี้ทำมาแล้วกว่าหนึ่งพันปี จนกลายเป็นประเพณี

Merida เป็นเมืองหลวงของรัฐยูคาทานที่ทันสมัยและดูร่ำรวยพอสมควรจากการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ เราเพียงแต่ผ่านไปในตอนแรกไม่ได้แวะ เพราะต้องการไปดูมีปิรามิดอีกหลายแห่งของเผ่ามายา แต่ ตั้งใจจะกลับมาแวะพักผ่อนหลังจากที่ได้ไปเที่ยวชมปิรามิดต่างๆของเผ่ามายาแล้ว

Kabah

เป็นเมืองโบราณของเผ่ามายาที่สำคัญเป็นที่สองรองมาจาก Uxmal (อ่านว่า อูชมาล) ปิรามิดของเผ่ามายา Kabah ตั้งขวางอยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันตกของรัฐยูคาทานบนถนนที่ เรียกว่า The Puuc Route อยู่ห่างจากเมือง Meridaไปทางตอนใต้ ประมาณหนึ่งร้อยกิโลเมตร เนินเขา Puuc ช่วยทำให้ถนนสายนี้ไม่น่าเบื่ออย่างที่ควรจะเป็น ด้วยอยู่ในที่สูงกว่าที่อื่นๆในละแวกที่ผ่านมา Palace of Masks หรือวังแห่งหน้ากาก ดู สะดุดตาแต่ไกล บนฝา กำแพงอิฐสีแดง ที่กว้างใหญ่เต็มไปด้วยหน้ากากหินสลักเกือบสามร้อยหน้าของพระเจ้าแห่งน้ำฝนและฟ้าแลบ เรียกว่า Chac Mool บางทีก็เรียกว่างูแห่งท้องฟ้าหรือ sky serpent จำหน้าตาของ Chac Mool ได้ไม่ยากนัก เพราะมีจมูกยาวแบบงวงช้างที่เผ่ามายาสร้างขึ้นเพื่อใช้งวงเป็นบันไดขึ้นลงปิรามิด ส่วนใหญ่หักพัง จะมีที่ยังดีอยู่บ้างก็เป็นทางตอนใต้ ปิรามิด อาจจะเป็นเพราะลักษณะของจมูกที่ยาวใหญ่และงอขึ้นไปก็ได้ ปิรามิดแห่งนี้จึงมีชื่อในภาษาของเผ่ามายาสมัยใหม่ว่า Codz Poop แปลว่า เสื่อม้วน

ความเชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์และพระเจ้าของชาว Mesoamerica ได้ครองความ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ได้มีมาเนิ่นนานแล้ว ความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ที่รวมไปถึงดวง ดาว พระอาทิตย์ และพระจันทร์ด้วย ซึ่งบางทีก็เกี่ยวข้องกับปฏิทินบ้าง กับการสร้างโลกบ้าง เกี่ยวกับความตาย บ้าง บางครั้งก็เกี่ยวกับการดำรง

ชีวิตในแต่ละวัน ความเชื่อแบบนี้ได้ตกทอดจากวัฒนธรรมหนึ่งไปยังอีกวัฒนธรรมหนึ่งตลอดมาโดยเปลี่ยนชื่อของพระเจ้าไปเรื่อยๆตามความเหมาะสม พระเจ้าเหล่านี้จะได้รับการเคารพบูชา เท่าๆกับความเกรงกลัว ดังนั้นชนเผ่าต่างๆรวมถึงเผ่ามายา จึงต้องพยายามทำทุกอย่างให้พระเจ้าพึงพอใจ ด้วยการเอาใจทำพิธีบวงสรวงด้วยเครื่องบูชาต่างๆ โดยเฉพาะมักจะใช้มนุษย์เป็นเครื่องบูชายันต์ที่เขาคิดว่าจะถูกใจพระเจ้ามากที่สุด

ฝนมีความจำเป็นมากสำหรับสถานที่แห่งการทำกสิกรรม ดังนั้นพระเจ้าแห่งน้ำฝนและฟ้าแลบจึงได้รับการคารวะบูชามากที่สุด นั่นคือ Chac Mool ยังมีพระเจ้าอีกองค์หนึ่งที่สำคัญกับเผ่ามายานั่นคือ Aluxes (อ่านว่า เอ ลูช เอส) ตำนานของเผ่ามายาเชื่อว่าพระเจ้าองค์นี้ เป็นพระเจ้าที่มีรูปร่างแบบคนแคระ อาศัยอยู่ตามถ้ำ มักจะปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่มักจะปรากฏให้เด็กๆเห็น มีความสามารถที่จะเดินทางจากโลกมนุษย์ไปยังโลกแห่งวิญญาณ ชาวมายาจึงมักจะเอาเครื่องบวงสรวงไปวางไว้ตามที่ต่างๆเป็นการเอาใจ เพราะสำนึกในบุญคุณที่พระเจ้า Aluxes ช่วยให้การทำไร่นาและปลูกพืชผลได้รับผลงอกงาม และนำความมีโชคมาให้ครอบครัว

แม้ว่า Kabah จะแห้งแล้ง แต่เผ่ามายาก็มาสร้างนิคมที่นี่ เพราะมี ทำเล ดีในการป้องกันเมือง และยังมีดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่ การทำกสิกรรมเป็นที่ยิ่ง ดังนั้นนักโบราณคดีจึงได้ขุดพบปิรามิดและสมบัติของมายาได้มากมายในบริเวณแถบนี้ จนมีลักษณะเฉพาะตัวที่เรียกว่า Puuc Style ซึ่งมีกำแพงอิฐเรียบๆแต่แกะสลักด้วยหน้ากากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้ากากของพระเจ้าที่เผ่านั้นๆนับถือ เนื่องด้วยมีอยู่หลายนิคมด้วยกัน เผ่ามายาจึงสร้างถนนเชื่อมแต่ละนิคมเข้าด้วยกัน เรียกว่า sacbe หรือถนนสีขาว white road ถนนจะมีระดับสูงกว่าปกติประมาณครึ่งเมตรโรยด้วยหินปูนบดสีขาว ซึ่งจะเห็นได้ง่ายในตอนกลางคืน เพราะกลางคืนเป็นเวลาที่เผ่ามายาเดินทางไปไหนมาไหน อาจจะเป็นเพราะตอนกลางวันร้อนเกินไปที่จะเดินทางก็ได้ ถนน sacbe มักจะมีความกว้างสิบเมตร วัดด้วยม้าแปดตัวเดินขวาง

Uxmal

อูชมาลเป็นนิคมที่สำคัญมากอีกแห่งหนึ่งของเผ่ามายาที่อยู่ใกล้กับ คาบาห์มากที่สุด ระหว่างที่เดินทางไปอูชมาล หลุยส์พาไปแวะที่ Yax Copoil Hacienda เคยเล่าข้างต้นแล้วว่า Hacienda คือฟาร์มใหญ่ในสมัยอาณานิคม แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นร้านอาหารบ้าง เป็นโรงแรมบ้าง ที่Hacienda นี้ก็เช่นกัน เราผ่านเข้าประตูข้างหน้าที่ดูโอ่โถงมีพิพิธภัณฑ์แสดงสิ่งของต่างๆที่เคยใช้ใน Hacienda ผ่านร้านที่แสดงศิลปะอาชีพของชาวพื้นเมือง ผ่านร้านขายของที่ระลึกหลายแห่ง กว่าจะมาถึงร้านอาหารและโรงแรมที่โก้หรู สถานที่ดูร่มรื่นปูด้วยกระเบื้องสีสวย แม้แต่ห้องน้ำก็อยู่ในมุมที่ปกคลุมด้วยแมกไม้สีเขียว หลุยส์ บอกว่าประธานาธิบดีบุชเคยมาประชุมและรับประทานอาหารที่นี่ เห็นรูปห้องนอนของโรงแรม ดูโอ่อ่า เตียงเป็นแบบสมัยเก่ามีเสาที่เรียกว่าโพสเตอร์อยู่ด้วยสี่เสา มีผ้าลูกไม้โปร่งคลุมอยู่บนเสา หากมีเวลามากกว่านี้ก็อยากจะอยู่ต่อให้นานกว่านี้ แต่เรามีเวลาจำกัดจึงต้องจากไปอย่างเสียดาย

Uxmal เป็นภาษาของเผ่ามายา แปลว่า สร้างสามครั้ง ใน สถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Puuc style ดังที่อธิบายมาแล้วครั้งหนึ่งข้างต้น คือสร้างให้ฝาผนังส่วนล่างเป็นแบบเรียบๆ แต่เหนือขึ้นไปสลักด้วยรูปหน้ากากของพระเจ้าองค์ต่างๆที่เผ่ามายานับถือบูชา การใช้สอยของสิ่งต่างๆที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นยังคงเป็นปริศนา แม้ว่าชื่อแปลกๆที่ชาวสเปนตั้งให้ยังคงใช้อยู่ สิ่งที่แปลกไปจากที่อื่นๆในรัฐยูคาตานคือ อูชมาลไม่มี cenote “ซีโนตี้”หรือบ่อน้ำที่นอกจากมีไว้สำหรับเก็บน้ำแล้ว ยังใช้เป็นที่บวงสรวงอีกด้วยต่างหาก ชาวมายาในแถบนี้สร้างที่เก็บน้ำ หรือ reservoir สำหรับฤดูร้อน แทนบ่อน้ำที่มายาเผ่าอื่นใช้ ที่ประตูทางเข้ามีท่อน้ำที่มีลักษณะเป็นหน้ากากแต่มีที่สำหรับเก็บน้ำด้านใต้ การที่มีรูปสลักพระเจ้าแห่งน้ำฝน Chac Mool อยู่มากมายก็เนื่องจากขาดแคลนน้ำนั่นเอง จึงต้องมีการขอพรขอน้ำจากพระเจ้า การที่เผ่ามายาสามารถมาอาศัยอยู่ในถิ่นกันดารแห้งแล้งแบบนี้ได้ ชี้ให้เห็นว่าชาวมายาเผ่านี้มีความสามารถในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปะในการดำรงชีวิตที่เป็นเลิศ

จึงไม่มีอะไรให้สงสัย ที่ปิรามิดอูชมาลได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เพราะ เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งของเม็กซิโก โครงสร้างทั้งหมดเป็นหินชอล์คสีชมพูซึ่ง ยังคงมีสภาพดี ต่างก็เดากันไปต่างๆนาๆว่าเหตุไร อูชมาลจึงถูกทิ้งร้างในปี ๙๐๐ อาจจะเป็นเพราะอากาศอันแห้งแล้งสุดจะทนที่บังคับให้เผ่ามายาจำเป็นต้องทิ้งอูชมาลไว้เบื้องหลัง เพื่อไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ที่สมบูรณ์กว่าก็เป็นได้ ไม่มีใครรู้แน่ นักโบราณคดีเพิ่งมาขุดพบอูชมาลเมื่อปี ๑๙๒๙ นี่เอง

เราปีนขึ้นบันไดไปบนปิรามิดอันสูงชันของนักมายากล The Magician’s Pyramid ซึ่งเป็นปิรามิดที่สูงเด่นที่สุดในบริเวณ แต่เขาห้ามปีนขึ้นไปจนถึงยอดเพราะเกรงว่าจะไปทำให้ปิรามิดเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่ ตามตำนานเล่าว่า ปิรามิดแห่งนี้สร้างขึ้นภายในคืนเดียวโดยคนแคระที่มีอำนาจของนักมายากล แต่ความจริงปิรามิดถูกสร้างขึ้นถึงห้าครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างคร่อมลงไปบนโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ในปิรามิดจึงมีวัดอยู่ถึงห้าแห่งด้วยกัน

Governor’s Palace ก็เป็นศิลปกรรมยอดเยี่ยม อีกแห่งหนึ่งของอูชมาล ตึกนี้มีด้วยกันสามแห่งเชื่อมด้วยรอยโค้งหรือ arches จมูกที่โค้งยาวใหญ่เหมือนงวงช้างของ Chac Mool เห็นเด่นแต่ไกล เป็นลักษณะพิเศษของสถานที่นี้ ไม่ไกลนักเป็นตึกเล็กๆเหลือสภาพดีไม่มากนัก มีรูปปั้นศิวลึงค์มีหลังคาคลุม

อยากจะกล่าวเฉพาะสถานที่ๆสำคัญอีกสักแห่งสองแห่ง เพราะมีหลายแห่งเหลือเกิน ไม่อาจจะกล่าวถึงได้หมด House of the Turtles หรือบ้านของเต่า เป็นตึกอิฐรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า ประดับด้วยเสาหินมีรูปเต่าล้อมรอบ เชื่อกันว่าสถานที่แห่งนี้สร้างให้แก่พระเจ้าแห่งน้ำซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ Chac Mool

ยังมี Dovecote ทีมีลักษณะเหมือนรวงผึ้งสร้างไขว้ประสานกันเหมือนสไตล์ของชาวแขกมัวร์ ที่หันหน้าไปยังสวนอันเขียวชอุ่ม จึงเป็นสถานที่ที่สบายแห่งหนึ่งสำหรับจะนั่งพัก เพราะอากาศร้อนเหลือเกิน นอกจากนั้นก็มี ballcourt ที่ได้เล่าให้ฟังแล้วในตอนต้นๆ สร้างไว้สำหรับเล่น Ballgame หรือพิธีบวงสรวง โดยใช้ชีวิตมนุษย์เป็นเดิมพัน

Merida

เดินทางกลับมาแวะที่เมือง เมริด้าอีกครั้งหนึ่ง ดีใจที่ได้มาพักผ่อนที่นี่แม้เพียงชั่วคืน หลังจากที่ได้ตระเวนชมเมืองต่างๆในอาณานิคมของชาวสเปน และติดตามรอยชาวเผ่ามายาไปเป็นเวลานานกว่าสองสัปดาห์ เมริด้าเป็นเมืองใหญ่ทันสมัย ตามสถิติบอกว่าเป็นเมืองที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก ถ้านับสถิติต่อหัวของพลเมืองทั้งหมด ความร่ำรวยเห็น

ได้จากคฤหาสน์ ตึกราม บ้านช่องอันสวยงาม ปาร์คและอนุสาวรีย์ต่างๆ เมริด้าเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นที่รวมของมหาวิทยาลัย ศูนย์กลางธุรกิจและวัฒนธรรม เดินผ่านถนนสายหนึ่ง ที่มีโชว์รูมติดๆกัน แต่ละโชว์รูม เต็มไปด้วยรถยนต์หรูหรา เช่น Ferrari,

Maserati, Lamborghini, Porsche, Jaguar, Aston Martin เราต้องตื่นตาตื่นใจเพราะไม่เคยเห็นโชว์รูมที่ประเทศไหนหรือเมืองไหน มีรถชั้นดีแบบนี้หลายคันในคราวเดียวกัน แต่ความที่เป็นคนช่างคิด ก็อดที่จะประหวัดถึงชาวเม็กซิกันหลายคนที่ต้องออกจากประเทศ เสี่ยงภัยหนีเข้าไปทำงานในสหรัฐฯด้วยค่าจ้างเพียงจิ๊บจ้อย นึกถึงแกงค์ค้ายาเสพติดและถูกจับได้เมื่อเร็วๆนี้ที่ทำกันเป็นกระบวน ความยุติธรรมมีอยู่หรือไม่ในโลก?

อีกสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาและน่าสนใจมากก็คือ เปลญวนสีสวยที่ขึ้นชื่อในละแวกนี้ ชาวเม็กซิกันหลายคนที่พำนักอยู่ที่รัฐยูคาทาน ใช้เปลญวนหรือ hammock แทนที่นอน เปลญวนที่แท้จริงทำจากเส้นไยของต้น agave ที่ลูกของมันใช้ทำเหล้า tequila ที่เล่าให้ฟังแล้วข้างต้น เขาเอาเส้นไยของต้นอากาเว่ไปตากให้แห้ง แล้วย้อมสีสด ถักเป็นเปียหรือเชือกพันเข้าด้วยกันจนแข็งแรง เขาใช้วิธีเดียวกันนี้ทำกระเป๋าและเสื่อ แต่เปลที่เห็นกันทั่วๆไปจนชินตา มักจะทำด้วยผ้าฝ้ายหรือไม่ก็ผ้าไหม ซึ่งไม่ใช่ของแท้ที่ผลิตจากยูคาทาน