Viva Mexico (Part 3)

เมื่อไม่นานมานี่เองที่เมือง กัวดาลาฮาร่า ยังเป็นเมืองที่สงบเล็กๆ แต่ได้กลายเป็นเมืองใหญ่ทันสมัยเป็นที่ สองรองลงมาจากเม็กซิโกซิตี้ เนื่องด้วยมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายล้อมรอบจุดศูนย์กลางแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ อย่างไรก็ดี กัวดาฮาร่ายังคงไว้ซึ่งความมีเสน่ห์ในลักษณะพิเศษของเมืองคือ บริเวณกว้างใหญ่หลายแห่งรายล้อมด้วยตึกสวยๆที่สร้างขึ้นสมัยอาณานิคมสเปน น้ำพุสวยงามภายในบริเวณตึก มีตลาดสามชั้นใหญ่โตเรียกว่า

Mercado San Juan de Dios

มานูเอล พาเราไปกินอาหารที่หมู่บ้าน Tlaquepaque (อ่านว่า ทะลา เค พา เคห์)ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นหมู่บ้านช่างหม้อและเป็นที่พักผ่อนที่สุดหรูในวันหยุดของชาวเมือง กัวดาลาฮาร่า ปัจจุบัน Tlaquepaque ได้กลายเป็นชนบทส่วนหนึ่งไปแล้ว แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศของชนบทใกล้เมือง มีถนนที่ ปราศจากยวดยานให้ เดินสบายๆ นักท่องเที่ยวทั้งจากในและนอกประเทศพากันมาเที่ยวที่นี่เพื่อจับจ่ายซื้อหาสินค้าจำพวกหม้อดินเผา แก้วที่ทำด้วยมือ ผ้าผ่อนแพรพรรณ ตลอดจนสินค้าที่ทำด้วยโลหะ ไม้และกระดาษ ร้านแบบบูติคเล็กๆ ตั้งอยู่เรียงรายมีของขายอัดแน่นในร้าน เป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้ผู้คนหลั่งไหลกันมาที่นี่ แม้แต่ผู้เขียนซึ่งไม่ใช่นักช็อป ก็ยังซื้อกระเป๋าหนังค่อนข้างใหญ่สีน้ำตาลอ่อนมาใบหนึ่ง เพราะเห็นว่ามีประโยชน์เวลาเดินทาง ใหญ่พอสำหรับใส่หนังสือไว้อ่านได้ มีร้านอาหารอร่อยๆหลายร้านตั้งอยู่ใน บริเวณกว้างขวางประดับดอกไม้สวย

ไก๊ด์พาไปกินในร้านชื่อ El Abajeno โต๊ะตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ที่ร่มครึ้ม บรรยากาศดีมากพอๆกับความอร่อยของอาหาร

พิพิธภัณฑ์ที่น่าเข้าไปชมอีกแห่งหนึ่งคือ Museo Regional de la Ceramica ซึ่งมีวัตถุที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาเซอรามิคแบบต่างๆมากมาย

พิพิธภัณฑ์ที่น่าเข้าไปชมอีกแห่งหนึ่งคือ Museo Regional de la Ceramica ซึ่งมีวัตถุที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาเซอรามิคแบบต่างๆมากมาย

เย็นวันนั้นเราไปดูการแสดงของวงดนตรีประจำชาติของเม็กซิโก Mariachi วงดนตรีทั้งวงอาจจะมีนักดนตรีชายล้วน ตั้งแต่ เจ็ดถึงสิบห้าคน แต่งกายในชุดประจำชาติ สรวมหมวก sombrero มีปีกใบใหญ่ เครื่องดนตรีมีไวโอลินเป็นชิ้นนำ มีทรัมเป็ท และกีตาร์ เป็นหลัก ดนตรีถือกำเนิดมาจากรัฐฮาลิสโก Jalisco ที่อยู่ไปทางตอนใต้ของเมืองกัวดาลาฮาร่าในศตวรรษที่สิบเก้า

จุดประสงค์ของวงดนตรี Mariachi ก็เพื่อขับกล่อมบ่าวสาวในพิธีแต่งงานและในงานรื่นเริง ชายหนุ่มที่ตกอยู่ในห้วงรักยังคงว่าจ้างนักดนตรี Mariachi ไปเซราเนด หญิงสาวที่ตนตกหลุมรักจนถึงบ้าน เพลงส่วนใหญ่จะรำพันถึงความรัก การ ทรยศหักหลังและเพลงที่สรรเสริญวีระบุรุษที่เป็นหัวหน้าก่อการปฏิวัติ Mariachi แผลงมาจากคำว่า Mariage ในภาษาฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี การแสดงดนตรีในคืนนั้นค่อนข้างจะเป็นการพาณิชย์สักหน่อย สู้การแสดงแบบที่เห็นตามถนนหนทางไม่ได้ ที่เม็กซิโกซิตี้ วอลเตอร์ได้ขอให้มานูเอลพาไปที่ Plaza Garibaldiที่เป็นที่รู้จักกันดี เพื่อไปดูการแสดงของ Mariachi ที่นั่น เพราะเคยดูมาเมื่อหลายปีก่อนและติดใจ ตอนแรก ไก๊ด์ของเราอิดออดไม่อยากพาไปอ้างว่า ในปัจจุบันสถานที่แห่งนั้นไม่ปลอดภัยเสียแล้ว แต่ในที่สุดทนอ้อนวอนไม่ได้ ยอมพาไป เมื่อเห็นสถานที่แล้วก็ต้องยอมรับว่าที่ มานูเอล พูดไม่เกินความจริงเลย เพราะสถานที่ดูซอมซ่อ ไม่น่าจะเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคนใด นอกจากพวก backpackers แต่ยังคงมีนักดนตรีหากินอยู่ กับคนพื้นเมืองแถวนั้น วอลเตอร์ว่าจ้างให้นักดนตรีคณะหนึ่งบรรเลงเพลงให้หนึ่งเพลง ด้วยค่าจ้างยี่สิบ ดอลล่าร์ สหรัฐฯ เป็นการระลึกถึงความหลัง คุ้มหรือไม่คุ้มไม่ทราบ แต่ก็ได้ฟังเพลงสมใจ

Guanajuato บ้านเกิดของพระสงฆ์ Miguel Hidalgo: Viva Mexico

กวนนาฮัวโตเป็นเมืองที่ร่ำรวยด้วยแร่เงิน ทอง เหล็ก ตะกั่ว และดีบุก เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่หมายปองของสเปนมาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม ด้วยเหตุที่แร่เงินในราวสี่สิบเปอร์เซ็นต์ของโลกมาจากที่นี่ ชาวสเปนที่มาถือสิทธิ์เป็นเจ้าของเหมืองแร่ก็รวยเอาๆ ด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตาของกรรมกรชาวพื้นเมืองที่ต้องทำงานหนักขุดแร่ ให้เจ้าของได้มีชีวิตที่ฟู่ฟ่า ไม่ว่าจะเกณฑ์ให้มาเป็นทาสที่ไม่มีค่าแรงหรือเป็นทาสที่ได้ค่าจ้าง ก็สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจและความไม่พอใจอย่างเอกอุแก่ชาวพื้นเมือง จนต้องลุกขึ้นต่อต้านเรียกร้องความยุติธรรมจากเจ้านายชาวสเปน การเรียกร้องให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ เริ่มต้นจากสาธุคุณ Miguel Hidalgo ที่เป็นชาวเมืองนี้ ภาพที่เรียกร้องหาอิสรภาพ “Grito de Independencia” (The Cry for Independence) ของ Hidalgo ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพวาด เป็นที่รู้จักกันดี เพราะจะมีให้เห็นทั่วไป นอกจากแร่ธาตุแล้ว กวนนาฮัวโตยังมีพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก ผลสตรอเบอรี่ที่มาจากบริเวณนี้ได้ชื่อว่าอร่อยและมีชื่อ ในปัจจุบันการทำเหมืองแร่ยังคงมีอยู่

กวนนาฮัวโตเป็นเมืองที่สวย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาสูงๆต่ำๆ ถนนคดเคี้ยวไปมาตามไหล่เขา บางครั้งก็หายเข้าไปในอุโมงค์ ด้วยเหตุที่แร่เงินที่นี่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลก จึงหาเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล มี ความร่ำรวย พอที่จะคิดสร้างสถาปัตยกรรมให้งดงาม ซึ่งยังคงความเป็น หนึ่งตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคมมาจนถึงทุกวันนี้เป็นช่วงเวลานานติดต่อกันมา เพราะไม่เคยขาดเงินที่จะมาบำรุง บูรณะและซ่อมแซมตึกรามวัง โบสถ์ และคฤหาสถ์ให้แลดูใหม่อยู่เสมอ กวนนาฮัวโตได้กลายเป็นอนุสาวรีย์ที่มีให้เห็นและจับต้องได้ของความรุ่งเรืองที่ยังหลงเหลือมาจากอดีต สถาปัตยกรรมชิ้นนี้จึงได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจาก UNESCO ในปี ๑๙๘๘ เหมืองแร่บางแห่งที่ทิ้งร้างแลดูใหญ่โต มีลักษณะเหมือนโคลีเซียม

เคยได้ยินเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่เก็บมัมมี่ Museum of the Mummies ที่เมือง Guanajuato มานานแล้ว เพราะมีชื่อเสียง ขอให้มานูเอลแวะเข้าไปดู เพราะไม่อยู่ในโปรแกรม ไก๊ด์ ทำท่าขยะแขยงนิดหน่อย แต่ก็ยอมอย่างไม่เต็มใจ บอกว่าจะรออยู่ข้างนอก ไม่เข้าไปด้วย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความ ผูกพันธ์ และการเชื่อถือโชคลางของชาวเม็กซิกันอันเกี่ยวกับเรื่องของความตาย ห้องแต่ละห้องในพิพิธภัณฑ์มีซากของมนุษย์ที่ขุดขึ้นมาจากป่าช้าและเก็บรักษาเอาไว้ มีจำนวนถึงร้อยกว่าด้วยกัน ศพแรกๆขุดขึ้นมาในปี ๑๘๖๕ เพราะป่าช้าเต็มแล้ว จำเป็นต้องให้ที่แก่ศพใหม่ที่ต้องมาฝังอีก เมื่อขุดศพขึ้นมาได้ครั้งแรก เขาพบว่า แทนที่จะเป็นโครงกระดูกหรือกระดูกที่แห้งไปตามกาลเวลา กลับ เป็นศพที่ยังมีเนื้อหนังติดอยู่ไม่ได้เน่าเปื่อยไปอย่างที่ควรจะเป็น ลักษณะของศพน่าเกลียดและน่ากลัวในคราวเดียวกันการแสดงออกของหน้าตาศพที่ขุดขึ้นมาได้ก็แปลกประหลาด การที่ร่างของผู้ถูกฝังไม่เน่าเปื่อยเป็นเพราะใต้ดินมีแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ประกอบกับอากาศที่แห้งจัดในแถบนี้ จึง ทำให้ศพยังคงสภาพอยู่อย่างเดิม

เราเห็นมัมมี่ของศพแรกที่ขุดได้ เป็นมัมมี่ที่เล็กที่สุดในโลกตั้งแสดงไว้ในห้องหนึ่ง อีกห้องหนึ่งแสดงมัมมี่ของผู้หญิงมีครรภ์ อีกห้องหนึ่งเป็นมัมมี่ของผู้ชายหลายคนยืนเป็นแถวหน้ากระดาน และยังมีมัมมี่อื่นๆอีก ศพที่ฝังไว้ที่นี่จะกลายร่างเป็นมัมมี่จะใช้เวลาในราวห้าถึงหกปี เนื่องด้วยป่าช้าไม่มีที่ฝังศพมากนัก เขาจำเป็นต้องขุดศพขึ้นมาบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากญาติพี่น้องไม่มีเงินพอที่จะรักษาหลุมศพให้มีสภาพดีได้ แต่ศพ “คุณภาพ”พอที่จะเป็น มัมมี่ตั้งโชว์ได้ จะมีเพียงหนึ่งถึงสองเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ศพอื่นๆเมื่อขุดขึ้นมาได้ก็จะถูกเผาไป

มานูเอล พาไปดูวิหารที่สวยอีกแห่งหนึ่ง คือ Basilica de Nuestra Senora de Guanajuato ที่มี the Virgin Mary ยืนอยู่บนแท่นเงิน รูปปั้นองค์นี้เป็นของขวัญจาก ฟิลลิปที่สองของสเปนในปี ๑๕๕๗ เพื่อขอบใจที่แร่เงินจากกวนนาฮัวโตได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ราชวงศ์สเปน ถือกันว่าเป็นวัตถุทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในเม็กซิโก เนื่องจากชาวสเปนได้ซ่อนรูปปั้นไว้ในถ้ำเป็นเวลานานถึงแปดร้อยปี เพื่อไม่ให้ข้าศึกคือ ชาวมัวร์ ค้นพบและทำลาย

จากนั่นเราเดินกันไปเรื่อยๆเพื่อชมเมือง เข้าตรอกซอกซอยที่เล็กและคดเคี้ยว จนมาถึงถนนที่ค่อนข้างสูงชันทอดขึ้นไปบนซอกแคบที่สุดในกระบวนซอกซอยทั้งหลายจนระเบียงทั้งสองฟากแทบจะเกยกัน มีความกว้างเพียง ๖๘ เซ็นติเมตรเท่านั้น ซอกนี้มีชื่อว่า Alley of the Kiss มีตำนานน้ำเน่าคล้ายคลึงกับ โรเมโอ และจูเลียต ลูกสาวคนหนึ่งของครอบครัวที่ร่ำรวยเคยอาศัยอยู่ที่นี่ เกิดตกหลุมรักกับกรรมกรเหมืองแร่ที่ยากจน พ่อแม่รู้เข้า ลูกสาวก็เลยถูกกีดกันไม่ให้พบปะกันอีก อาจจะกลัวกลิ่นสาบติดมารบกวนจมูก กรรมกรคนนี้จึงได้มาเช่าห้องตรงกันข้ามกับคนรักเพื่อจะได้พบปะกันได้ เขาสองคนยื่นหน้าออกไปจูบกันอย่างดูดดื่มจากระเบียง ในที่สุดถูกจับได้ คุณผู้อ่านคงเดาถูกว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั่น ต้องถูกแยกจากกันตามระเบียบของละครน้ำเน่า

ในเมืองมีร้านขายขนมหวานที่เป็นของพิเศษทำด้วยฝีมือของท้องถิ่นอยู่หลายแห่ง ตลอดทางที่เดินไปบนหิน cobblestone ดูเมือง เห็นวงดนตรี Mariachi หลายวง มากพอกับกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐฯทำโน่นทำนี่ แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่งแจกป้ายกระดาษเรียกร้องให้ทางการปล่อยผู้หญิงนัก activist คนหนึ่งที่ถูกขังอยู่ การประท้วงในประเทศนี้มีอยู่แทบทุกแห่ง เพราะเป็นสิทธิที่จะทำได้ในระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่การประท้วงไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น แต่ก็น่าเบื่อนะคะ เพราะถ้าประท้วงกันไม่ได้หยุด รัฐบาลก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน

แวะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์อันเป็นบ้านเกิดของศิลปิน Diego Rivera ในปี ๑๘๘๖ ชั้นบนเต็มไปด้วยภาพและวัตถุที่แสดงถึงชีวิตและงานศิลปะของเขา ส่วนชั้นล่างเป็นที่พักผ่อนของครอบครัว ประดับ ด้วยเฟอร์นิเจอร์สมัยศตวรรษที่สิบเก้าพร้อมของใช้ต่างๆ