Viva Mexico (Part 2)

การเดินทางไปชม Colonial Mexico หรือเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยอาณานิคมกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว

วันรุ่งขึ้นเราเดินทางไปเมือง Toluca ห่างจากเมืองหลวงไปทางตะวันตกในราว ๖๔ กิโลเมตร จุดแรกที่ไปแวะคืออนุสาวรีย์ที่ทำด้วยบรอนซ์ ของ นายพล Emiliano Zapata เขาเป็นผู้นำการต่อสู้เรียกร้องให้ผู้ยึดครองเอา ฟาร์ม hacienda กลับคืนมาให้ชาวไร่ชาวนาในปลายศตวรรษที่สิบเก้า ต่อศตวรรษที่ยี่สิบ อย่างไรก็ดีกองกำลังของเขาถูกโจมตี และตัวเขาเองถูกสังหารในปี ๑๙๑๙ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นวีระบุรุษ

Hacienda เป็นฟาร์มใหญ่ของเม็กซิโก เกิดขึ้นสมัยที่สเปนมาสร้างอาณานิคมและหลังจากหมดสมัยอาณานิคมแล้ว คิดว่าคงจะคล้ายกับ ranch ในสหรัฐฯ บางแห่งก็ทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพช ข้าวสาลี หรือสวนผลไม้ที่เรียกว่า agave มีลักษณะคล้ายสัปปะรส เพื่อทำอัลกอฮอลล์ บางแห่งก็เป็นฟาร์มปศุสัตว์เลี้ยงวัวควาย บางแห่งก็ปลูกพืชเรียกว่า sisal เพื่อเอาไปทำปอหรือป่าน บางแห่งก็เป็นเหมืองแร่เงิน hacienda แต่ละแห่งมีบริเวณกว้างขวาง เป็นเหมือนหมู่บ้านเล็กๆแห่งใดแห่งหนึ่งที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาโลกภายนอก บางแห่งมีกระทั่งสถานีรถไฟเป็นของตนเอง สำหรับขนส่งผลิตภัณฑ์จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งโดยสะดวกและรวดเร็ว คนงานและคนรับใช้พร้อมครอบครัวต่างมีบ้านอยู่รวมกันในบริเวณนั้นด้วย นอกจากนั้นบางแห่งก็มีโบสถ์ มีฉางสำหรับบรรจุเมล็ดพืช อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่เจ้าของ hacienda เองมักจะไม่พำนักอยู่ในนั้น แต่ออกไปอยู่ข้างนอกในตัวเมือง hacienda หลายแห่งถูกทำลายในระหว่างการปฏิวัติในปี ๑๙๑๐ แต่ที่เหลืออยู่บางแห่งก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้เป็นโรงแรมหรือร้านอาหาร เนื่องจากเราจะไปเที่ยวชม hacienda สองสามแห่งในการเดินทาง จึงอยากจะอธิบายให้คุณผู้อ่านฟังก่อนว่า hacienda คืออะไร ปัจจุบัน ทางการไม่อนุญาตให้ใครมีที่เกินกว่า ๕๐๐ เฮ็กเตอร์ต่อหนึ่งคน (หนึ่งเฮ็กเตอร์เท่ากับ หนึ่งหมื่นตารางเมตร) ดังนั้นจึงไม่มีฟาร์มหรือranchที่ใหญ่โต

Toluca เป็นเมืองหลวงของรัฐเม็กซิโกหรือ Mexico State อยู่สูงประมาณ ๒๖๘๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และสูงกว่า เม็กซิโกซิตี้ ซึ่งสูง๒๒๘๐ เมตร Tolucaเป็นเมืองหลวงของรัฐเม็กซิโก ที่เป็นเมืองที่สูงที่สุดในประเทศ มีตึกแบบสเปนหลายแห่ง มานูเอลพาเราไปชมสวน Cosmos Vitral Jardin Botanico ซึ่งมีพืชพรรณไม้ทั้งในเขตร้อนและเขตหนาวหลายชนิดปลูกอยู่ภายใน มีเพดานทำด้วยกระจกวาดรูปสวยมีสีสัน stained-glass เป็นรูปวาดในแบบจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างความมืดและความสว่าง ซึ่งหมายถึงความดีและความชั่วนั่นเอง

ทั้งสองข้างทาง ที่ผ่านไปเมือง Morelia ปกคลุมไปด้วยต้นหลิว ชื่อของเมืองได้มาจากชื่อของ Jose Maria Morelos ที่เป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งซึ่งเรียกร้องให้สเปนปล่อยเม็กซิโกให้เป็นอิสระดังที่เล่าแล้วข้างต้น พอถึงเมือง เราจอดรถแล้วเดินเข้าไปในศูนย์กลาง อันประกอบไปด้วยวังที่สวยงาม คอนแวนต์ โบสถ์และบริเวณสี่เหลี่ยมกว้างใหญ่ ปูพื้นด้วยแผ่นหิน แม้แต่ตึกที่สร้างใหม่ก็เลียนแบบของเดิมโดยใช้หินสีชมพูก่อสร้าง ถ้ามาจากเม็กซิโกซิตี้ถึงเมือง Morelia จะใช้เวลาสี่ชั่วโมง แต่เนื่องจากแวะหยุดที่เมือง Toluca ด้วย จึงใช้เวลานานกว่าปกติ

เนื่องด้วยใจกลางของเมือง Morelia มีสิ่งก่อสร้างในแบบอาณานิคมที่ได้รักษาไว้อย่างยอดเยี่ยมหลายแห่ง จึงได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสมบัติของชาติโดย UNESCO ตั้งแต่ปี ๑๙๙๑ ถึงแม้ว่าเมืองนี้จะเป็นเมืองที่สวยงาม แต่ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก เห็นมานูเอลบอกว่า ชาวต่างชาติที่มาถึงนี่มักจะมาเรียนภาษาสเปนกันเป็นส่วนใหญ่

มานูเอลพาไปเดินเที่ยวตลาด “ขนมหวาน” Mercado de Dulces เพื่อไปทดลองกินขนมที่ทำจากผลไม้ ลูกนัท นมและน้ำตาล ที่มีชื่อเสียง บางชนิดก็อร่อยดี แต่ตัวเองไม่ค่อยชอบกินขนมหวานก็เลยไม่ติดใจเท่าไร ตามทางมีร้านแบกระดินขายของพื้นเมืองที่ทำด้วยมือเช่น ผ้าพันคอไหมพรมถัก ซื้อมาได้ผืนหนึ่งจากหญิงมีอายุ ซื้อด้วยความสงสารมากกว่าจะอยากได้ เพราะมานูเอลบอกว่า แกถักผ้าพันคอจนตาเกือบจะบอดอยู่แล้ว เขาเองซื้อได้มาผืนหนึ่งเป็นสีฟ้า แต่ของฉันสีขาว กลับถึงสวิสแล้วก็ไม่ได้เก็บไว้ แต่ให้เป็นของฝากเพื่อนไป

นั้นเราเดินทางต่อไปพักที่เมือง Patzcuaro ที่อยู่ห่างจากเมือง Moreliaไป สี่สิบห้านาทีเท่านั้น ตามที่ตั้งใจไว้แต่เดิมทะเลสาบ Patzcuaro

นอกจากจะเป็นชื่อของทะเลสาบแล้ว Patzcuaro ยังเป็นชื่อของเมืองเล็กๆ ล้อมรอบด้วยแมกไม้อันเขียวชอุ่ม ของไม้สน เคยเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ที่เคยมีความสำคัญแห่งหนึ่งทั้งในด้านการเมือง และการศาสนา วิหาร Basilica de Nuestra Senora de la Salud เป็นจุดเด่นของเมืองนี้ ตอนแรกที่การก่อสร้างเริ่มขึ้น พระสังฆราชองค์แรก ตั้งใจจะสร้างให้เป็นวิหารที่ยิ่งใหญ่ แต่เนื่องจากเกิดไฟไหม้และแผ่นดินไหวหลังจากที่สร้างเสร็จไปเพียงระยะหนึ่ง ทำให้วิหารที่เพิ่งเริ่มสร้างขึ้น พังทลายจนหมด ผลสุดท้ายมาสร้างเสร็จเอาในปี ๑๘๓๓ ในลักษณะที่จับโน่นมาผสมนี่ ไม่มีลักษณะที่เป็นเอกภาพเช่นพระสังฆราชองค์แรกได้ตั้งใจไว้ ชาวเผ่าอินเดียพื้นเมืองมักจะแห่กันมาที่นี่เพื่อเคารพหลุมฝังศพของพระสังฆราช นอกจากนั้นก็มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นเมือง มีคอนแวนต์ มีศูนย์กลางของงานฝีมือต่างๆ คฤหาสน์ สวยหรูในแบบอาณานิคมได้กลายเป็นร้านขายของบ้าง ร้านอาหารบ้าง และโรงแรมบ้าง

ไก๊ด์พาข้ามเรือไปเกาะ Janitzio ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ถึง เนื่องจาก Janitzio เป็นหมู่บ้านประมง ก่อนเรือจะเข้าไปจอดที่ฝั่ง แลเห็นชาวประมงกลุ่มหนึ่งกำลังโยนแห จับปลา ต้องเดินขึ้นบันไดไปหลายขั้นกว่าจะถึงตัวหมู่บ้านซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหารเล็กๆ ขายอาหารจำพวกปลาเป็นหลัก จากเรือสามารถมองเห็นยอดแหลมของโบสถ์บนเกาะได้แต่ไกล ตามขั้นบันไดเต็มไปด้วยร้านรวงขายของสีสันฉูดฉาดแปลกตา เราต้องเดินไปตามซอกซอยแคบๆ ที่คดเคี้ยวไปมา กว่าจะไปถึงยอด ซึ่งมีรูปปั้น ของ วีระบุรุษ Jose Maria Morelos สูงประมาณ ๔๐ เมตร ข้างในรูปปั้นเป็นจิตรกรรมรูปวาด ถ้าใครยังไม่เหนื่อยจากการต้องไต่บันไดมาแล้วเป็นร้อยๆขั้น ก็สามารถปีนขึ้นไปถึงข้อมือของนาย Morelosได้ เห็นเขา บอกว่า จะเห็นวิวพาโนราม่าของเกาะอย่างชัดเจน ไม่มียวดยานพาหนะอย่างใดบนเกาะนี้

Tequila

ลงมาจากเกาะข้ามเรือไปถึงอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ถ้าใช้เวลาขับรถจริงๆประมาณสี่ชั่วโมงก็จะถึงเมือง Guadalajara ซึ่งเราได้จองโรงแรมเอาไว้ค้างคืน อย่างไรก็ดี การที่มาถึงถิ่นนี้แล้ว จะไม่แวะไปเที่ยวเมือง Tequila เพื่อทดลองชิมเหล้าที่อร่อยอีกประเภทหนึ่งก็คงจะเสียชื่อว่าไม่ได้ไปถึงเม็กซิโก เพราะเมือง Tequila อยู่ใกล้เมือง Guadalajara นิดเดียว Tequila เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเครื่องดื่มชื่อเดียวกัน

ทุกอย่างในเมืองเตือนให้ผู้มาเยือนได้กลิ่นอายของเครื่องดื่มประจำชาติของประเทศเม็กซิโก เพราะกลิ่นของ “เตอกีล่า” โชยมากระทบจมูก จากโรงกลั่นที่มีอยู่มากกว่าสิบกว่าแห่ง เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดของเครื่องดื่มชนิดนี้ และขายส่งออกไปตามประเทศต่างๆทั่วโลกถึงร้อยกว่าประเทศ ตลอดทางที่ผ่านไป แลเห็นไร่ agave “อากาเว่” อยู่หนาตา ต้นอากาเว่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นสัปปะรส ลูกอากาเว่ หรือที่ชาวเม็กซิโกเรียกว่า pina มีลักษณะเหมือสัปปะรส แต่ลูกใหญ่กว่ามาก เขาเก็บเอาลูกไปทำ เตอกีล่า

โรงกลั่นที่ไปแวะใหญ่พอสมควร เจ้าหน้าที่อธิบายว่า Mezcal และTequila เป็นเครื่องดื่ม เรียกน้ำย่อยสองชนิดของเม็กซิโกที่ทั่วโลกรู้จักดี ที่ผลิตน้ำสีทองขึ้นโดยใช้ส่วนต่างๆของผลที่เก็บเกี่ยวจากต้น อากาเว่ เขาเปรียบ Tequila ให้เป็น Cognac และ เปรียบMezcal เสมือนบรั่นดี ทั้ง Mezcal และTequilaใช้สูตรอย่างเดียวกัน แต่ถ้าเรียกว่า Tequila ก็ต้องเป็นเครื่องดื่มที่ผลิตจากบริเวณที่เรียกว่า Tequila เท่านั้น เปรียบได้กับ คอนยัค ที่จะต้องผลิตจากบริเวณที่เรียกว่า Cognac เท่านั้น นอกนั้นเรียกบรั่นดีหมด

ต้นอากาเว่ใช้เวลาเติบโตนาน แปดถึงสิบปี กว่าจะให้ผลเก็บเกี่ยวได้ ก่อนจะนำไปทำเตอกีล่า ใบของต้นอากาเว่ จะถูกดึงทิ้งไปหมด เหลือไว้แต่ลูก pina ซึ่งอยู่ตรงกลาง บางครั้งมีน้ำหนักถึงลูกละ ๑๕๐ กิโล เขาเอาลูก พินย่า ไปอบในเตาอบ และนำไปบดเพื่อเอาน้ำจากลูกไว้ น้ำที่ได้มาจากการบดเป็นหัวใจในการทำ เตอกีล่า ใช้ยีสต์หรือเชื้อหมักใส่ลงไปในน้ำดังกล่าว หมักเอาไว้ เมื่อหมักได้ที่แล้ว ก็นำไปกลั่นอีกสองครั้งให้บริสุทธิ์จริงๆ หลังจากนั่นจึงนำไปบรรจุขวด

เจ้าหน้าที่อธิบายต่อไปว่า Tequila ที่มีคุณภาพดีที่สุดมาจากอากาเว่สีฟ้าร้อยเปอร์เซนต์ (Blue Agave) หลังจากบรรจุขวดแล้ว เขาจะติดป้ายชี้แจงว่าไม่มีน้ำตาลผสมเจืออยู่เลย Tequila มีอยู่สามชนิด ชนิดหนึ่งคือ Blanco สีขาว ไม่มีอายุ สีใสเป็นตาตั๊กแตน หรือไม่มีสีเลย อีกสองชนิดคือ Reposado และanejo ที่เก็บใส่ไว้ในถังไม้โอ๊ค เป็นเวลาหนึ่งถึงสามปี เหล้าที่กลั่นจะกลายเป็นสีเหลืองทอง anejo เป็นเตอกีล่า ที่นุ่มที่สุด ส่วน Mezcal ที่กลั่นที่เมือง Oaxaca นั้น เขาจะเอาหนอนผีเสื้อใส่ไว้ในขวด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเหล้าประเภทนี้มี เปอร์เซ็นต์ ของอัลกอฮอลล์สูงจริงๆ ตัวหนอนจึงอยู่ได้ การดื่มเตอกีล่า มีมะนาวและเกลือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ หั่นมะนาวเป็นซีกๆ ใส่จาน เอาเกลือเทใส่ระหว่างหัวแม่มือคว่ำและนิ้วชี้ ดื่ม เตอกีล่า อึกหนึ่ง ดูดมะนาวที่ฝานไว้ แล้วเลียเกลือจากหัวแม่มือ หลังจากสาธิตวิธีการทำแล้ว การทดลองดื่ม Tequila ก็ได้เริ่มขึ้น อันที่จริงเพียงแต่ได้กลิ่นก็เมาแล้วค่ะ ขอสารภาพว่าชอบกลิ่นของลูกอากาเว่ที่เขาอบแล้วมาก รู้สึกหอมดี แต่อย่าลืมว่ารสนิยมของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะคะ