Cuba Liebre พอลีน เทวอักษร

Free Cuba เป็นชื่อเครื่องดื่มผสมกับเหล้ารัม โคค่าโคล่า กับน้ำมะนาวใส่น้ำแข็งเขย่าเข้าด้วยกันดื่มแล้วชื่นใจมาก ค็อกเทลชนิดนี้ เล่ากันว่าทหารจีไออเมริกันเป็นคนคิดค้นขึ้นได้ ในสมัยสงครามเรียกร้องอิสระภาพของคิวบาเมื่อปี ๑๘๙๘ อันที่จริงชื่อนี้เป็น ม็อตโต้ของคณะผู้รักชาติชาวคิวบา ที่ตั้งไว้ตอนเรียกหาอิสระภาพจากสเปน นอกจากนั้นยังมีค็อกเทลที่น่าสนใจอีกหลายชนิด แต่รอให้ถึงจังหวะนั้นๆแล้วค่อยมาคุยกันอีกทีนะคะ

จากเมือง “ขั่งคู่น” Cancun ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงของประเทศเม็กซิโก ใช้เวลาบินเพียงห้าสิบห้านาทีก็ถึงเมืองหลวงฮาวานา Havana ของคิวบา หรือที่เรียกว่า Habana ในประเทศนี้ หากใครได้เคยอ่านหนังสือเรื่อง Our Man in Havana ที่เขียนโดย Graham Greene นักเขียนชาวอังกฤษที่โด่งดัง จะเห็นภาพเมืองฮาวานาได้ชัดเจน แต่เป็นฮาวานาในปี ๑๙๕๘ ก่อนการปฎิวัติเพียงหนึ่งวัน ไม่ใช่ฮาวานาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตามท้องเรื่อง Greene เล่าถึงการผจญภัยของชายขายเครื่องดูดฝุ่นที่ถูกบังคับให้จำยอมเป็นสายลับ เขาบรรยายถึงแหล่งคาสิโน การเล่นพนันรูเล็ต เล่าถึงตึกระฟ้าในกรุงนิวยอร์คตลอดจนวิลล่าสวยหรูสไตล์ Art Nouveau ของเสเพลร่ำรวย เล่าถึงคาบาเรต์ และโสเภณีในกรุงฮาวานาในสมัยก่อนการปฎิวัติอันที่จริงการไปเที่ยวประเทศคิวบาหากไปเที่ยวเฉพาะกรุงฮาวานาก็คุ้มแล้ว ถ้าได้ไปเที่ยวที่อื่นๆด้วยก็เป็นโบนัสพิเศษต่างหาก

นักเขียนอเมริกันอีกคนหนึ่งที่หลงใหลประเทศคิวบาและได้อยู่ในประเทศนั้นนานกว่ายี่สิบปีในระหว่างรัฐบาลของนายบาติสต้า (Batista) จนถึงตอนต้นๆของการปฏิวัติของนายพลฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) นักเขียนคนนั้นคือ นายเออร์เนสท์ เฮ็มมิ่งเวย์ Ernest Hemingway ชาวคิวบายังใช้ชื่อนี้หากินกับนักท่องเที่ยวอยู่จนทุกวันนี้ เฮ็มมิ่งเวย์เขียนนวนิยายขายดีหลายเรื่องในคิวบาจนได้รับรางวัลโนเบล เขารู้สึกซาบซึ้งในเกียรติอันสูงส่งที่ได้รับ และไม่ลังเลที่จะแบ่งรางวัลนี้ให้เป็นของคิวบาด้วย เรื่องหนึ่งที่เขาเขียนและประสพความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือ Old Man and the Sea เขาเขียนโดยนำเอาทะเลในคิวบา มาเป็นพล๊อตเรื่อง เพราะเขารักการตกปลาเป็นชีวิตจิตใจ โดยใช้เรือเล็กๆและคันเบ็ดธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ เขาเคยไปแข่งการตกปลากับฟิเดลครั้งหนึ่ง แน่นอนที่สุดผู้ชนะจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจาก his truly

เมื่อเครื่องบินมาถึงสนามบิน Jose Marti เราผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างง่ายได้เกินความคาดหมาย เพราะเศรษฐกิจอันสำคัญของคิวบาได้มาจากนักท่องเที่ยว รถที่จองไว้ล่วงหน้าจากสวิสมารับ แปลกใจที่รถดีเกินคาด และแอร์ก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โรงแรม Melia Cohiba ที่เข้าพักมีหน้าต่างโรงแรมหันไปสู่ทะเลด้านที่มีแนวกันคลื่นรียกว่า Malecon ซึ่งยาวถึงแปดกิโลเมตร สร้างโดยสถาปนิกชาวอเมริกันและฝรั่งเศสในปี ๑๙๐๑ ในขณะที่อเมริกันปกครองอยู่ มีถนนวันเวย์สองสายอยู่ข้างใต้แม่น้ำและไปทะลุออกถนนใหญ่ในเขตมิราม่า Miramar ผ่านเอเวนิวที่ห้า ไปจนถึงมอเตอร์เวย์ มีคนบอกว่า “มาเลช่อง” เป็นสัญญลักษณ์ของเมืองฮาวานา ทะเลมักจะมีลมและคลื่นใหญ่อยู่เสมอ จึง ซัดข้าม “มาเลช่อง” ขึ้นมาทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมาตลอดจนรถราบนท้องถนนต่างเปียกปอนไปตามกัน ในวันเสาร์อาทิตย์เห็นเด็กๆทั้งหญิงและชายพากันมาเล่นสนุกกับเกลียวคลื่นที่ซัดขึ้นมา ในปีที่มีเฮอริเคนวิลม่า ไกด์เล่าว่าคลื่นซัดสูงกว่าสามเมตรจนต้องอพยพผู้คนออกจากบริเวณนั้นมากมาย

จะเรียกฮาวานาว่าเป็นพิพิธภัณฑ์โอเพ่นแอร์โชว์รถอเมริกันสมัยพระเจ้าเหาก็คงจะไม่ผิดความจริงมากนัก เพราะสังเกตดูตั้งแต่วันแรกที่มาถึงแล้วว่า ตามท้องถนนมีแต่รถอเมริกันเก่าๆขนาดมหึมาวิ่งบ้างจอดบ้างอยู่มากมาย เป็นสวรรค์ของคนที่รักรถ vintage แต่ว่าการใช้รถเก่าๆในประเทศนี้ ไม่ใช่เป็นงานอดิเรกที่ทำด้วยความรักแต่เป็นเพราะความจำเป็น

เหนือสิ่งอื่นใด เพราะประชาชนส่วนใหญยากจนค่นแค้น ไม่มีมีเงินซื้อรถใหม่หรือแม้แต่กลางเก่ากลางใหม่ ใครที่มีรถเก่าอยู่ก็ต้องดูแลรักษากันอย่างเต็มกำลัง เฉพาะองค์การบริษัทท่องเที่ยวเท่านั้นที่มีสิทธิซื้อได้ และองค์การต่างๆเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทหาร ตามถนนหนทางทุกแห่งทั้งในตัวเมืองหลวงและนอกเมือง จะมีคิวยาวเหยียดรอรถประจำทาง ซึ่งนานๆจะมาสักคันหนึ่ง (ถ้ามา)

“แล้วคนที่ไปธุระหรือไปทำงานจะทำอย่างไรคะถึงจะไปให้ถึงที่ที่ต้องการได้? เอาอย่างนี้ดีกว่าแล้วคุณไปทำงานอย่างไร?” มนุษย์เจ้าปัญหาถามไกด์

“ไปแต่เช้ามืดค่ะ มีรถตอนเช้าผ่านมาแวะ หากว่าสายหน่อยก็ต้องโบกให้รถอะไรก็ได้จอดรับ” ไกด์ตอบ “ถ้าไม่มีจริงๆก็ต้องขึ้นแท๊กซี่ แต่ก็แพงมากสำหรับเรา”

“แล้วเขาจะหยุดให้หรือคะ?”

“ต้องหยุดค่ะ ถ้าหากรถมีที่ว่าง เป็นกฎของประเทศนี้ เขาถือว่าเพราะประเทศขาดแคลน จึงขอให้ประชาชนช่วยกัน” ก็แปลกดี ฉันนึกในใจแต่ไม่ได้พูดออกไป ผู้ปกครองประเทศห่วยแตกทำเศรษฐกิจย่อยยับ แล้วเรียกร้องให้พลเมืองมารับกรรม

เย็นวันหนึ่งขณะที่เรานั่งรถกลับโรงแรมหลังจากกินอาหารเย็นแล้ว มีตำรวจนายหนึ่งโบกให้รถเราหยุดเพื่อขอโดยสารไปด้วย แต่ คนขับอธิบายว่ามีแขกต้องพาไปส่งโรงแรม แล้วก็ขับออกไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มารู้ทีหลังว่า รถที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั่งอยู่นั้น ไม่ต้องจอดรับใคร แม้ว่าจะมีที่ว่างในรถเหลืออยู่ก็ตาม

คนที่อยู่นอกเมืองออกไปยิ่งน่าสงสารมาก เพราะต้องไปเข้าคิวยาวเหยียดรอรถ จะเป็นรถอะไรก็ได้ ผุๆพังๆ หรือแม้แต่รถม้าบันทุกฟาง หากว่าอาศัยไปได้ เขาก็จะไม่รีรอที่จะขึ้น ทุกแห่งมีเจ้าหน้าที่แต่งยูนิฟอร์มสีกากี มีกระดาษอยู่ในมือ จัดผู้คนออกเป็นกลุ่มว่าใครจะไปที่ไหนบ้าง เมื่อรถมาถึงจะได้จัดลำดับถูก ต้องเล่าเรื่องนี้มายืดยาว เพราะนอกจากยอมรับการปกครองของประเทศนี้ไม่ได้แล้ว ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะไม่ขอกลับไปเที่ยวประเทศคิวบาอีก แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศสวยงาม มีหาดทรายและท้องทะเลสีครามที่ไม่เป็นรองใครก็ตาม แถมเมืองหลวงคือกรุงฮาวานายังมีตึกรามสวยๆมากมาย และดนตรีก็แสนจะเพราะและเร้าใจ

วันแรกในฮาวานาเราให้รถพาไปเที่ยววนดูสถานที่ต่างๆทั้งในและนอกเมือง ฮาวานามีตึกรามเก่าแก่สวยงามที่สร้างขึ้นในสมัยที่เป็นเมืองขึ้นของสเปนมากมาย อีกทั้งตึกรามที่สร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศสและชาวอเมริกันอีกต่างหาก แต่เพราะขาดการทำนุบำรุง ซ่อมแซม เนื่อง ด้วยรัฐบาลทหารไม่มีเงิน จึงต้องปล่อยไปตามยถากรรมเงินที่มีอยู่ต้องใช้ไปในกองทัพเพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลมีอำนาจอยู่ได้ มีบางแห่งที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่ในความคุ้มครองของ UNESCO จึงมีงบประมาณสำหรับมาใช้ในการบูรณะซ่อมแซม ในขณะที่เขียนสารคดีนี้ ตึกดังกล่าวอาจจะซ่อมแซมเสร็จแล้วก็ได้

มีถนนเอเวนิวที่ห้าเท่านั้น ที่สะอาดสวยหรู มีตึกรามแบบโบราณ ที่ยังคงได้รับการดูแลไว้เป็นอย่างดี เพราะส่วนใหญ่เป็นสถานทูต และที่อยู่อาศัยของนักธุระกิจชาวต่างชาติ ไกด์บอกว่าการปกครองในระบบของประเทศคิวบาทุกคนเสมอกันหมด ไม่มีคนจนหรือคนรวย ฉันได้แต่กัดลิ้นนั่งปิดปากเงียบไม่พูดวิจารณ์อะไรออกไป แต่เมื่อใดที่เราได้มีโอกาสอยู่กันตามลำพัง เรามักจะซอกแซกเดินไปตามที่ต่างๆ เพื่อดูให้เห็นกับตาว่าผู้คนส่วนใหญ่อยู่กันอย่างไร

ได้เห็นสภาพบ้านเรือนของชาวเมืองหลวงคิวบาหลายต่อหลายครอบครัวในใจกลางเมืองหลวงที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า เขาอยู่กันได้อย่างไร ภาพที่จะไม่ปรากฏแก่สายตาของนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นกลุ่ม หรือเรียกว่า package tour กลิ่นจากท่อระบายน้ำและส้วมโชยออกมารบกวน ถนนที่สกปรกและเฉอะแฉะเพราะน้ำเน่าเสีย น่าเสียดายที่ฮาวานามีตึกรามที่เคยสวยงาม มีศิลปะการก่อสร้างอันเป็นเลิศ ทั้งในระบบของสเปนและฝรั่งเศส แต่ต้องถูกปล่อยประละเลย เพราะไม่มีเงิน ใครจะเอาเงินมาทาสีบ้าน เพราะแม้แต่จะกินก็ยังไม่ค่อยจะมีเลย

“อุดมการณ์ของคนเพียงคนเดียวที่ไม่มีใครกล้าคัดค้านเพราะกระบอกปืน ก็สามารถทำให้ประเทศชาติฉิบหายได้” ฉันอดรำพึงกับคนข้างเคียงไม่ได้ ” การมีอุดมคติหรือ idealogy เป็นสิ่งวิเศษ แต่หลังจากสี่สิบแปดปีล่วงไป เมื่อมันไม่เวิร์คก็น่าจะเปลี่ยนแปลงบ้าง เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าผู้ปกครองทำเพื่ออำนาจของตนเอง พวกพ้อง หรือเพื่อคนในประเทศกันแน่”

ในสมัยก่อนแม้ว่ารัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ของคิวบาจะถูกบอยค็อตจากอเมริกาและประเทศที่เป็นประชาธิปไตยของตะวันตก คิวบาก็ยังได้พึ่งพาอาศัยประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ เช่นสหภาพโซเวียต และประเทศยุโรปตะวันออก อันหมายถึงเยอรมันตะวันออกด้วย แต่เมื่อโซเวียตล่มสลาย และกำแพงเมืองเบอร์ลินได้ถูกทำลายไป ประเทศดังกล่าวหันมาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย อันเป็นระบอบที่นานาประเทศยอมรับ ก็ไม่มีใครให้คิวบาได้อาศัยพึ่งพาอีก สหรัฐฯเห็นได้ท่าก็ยิ่งขันน๊อตคิวบาหนักขึ้นไปอีก นอกจากไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆแล้ว ยังไม่เต็มใจให้ประเทศในเครือข่ายของวงการค้าเศรษฐกิจช่วยอีกด้วย แทนที่ผู้นำจะเปลี่ยนนโยบายของตนเพื่อสร้างประเทศให้พัฒนาเช่นประเทศคอมมิวนิสต์อื่นที่เปลี่ยนมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กลับถือดี ไม่ยอม เปลี่ยนแปลง ฟิเดลไม่ชอบนายกอร์บาชอฟเท่าไรนัก เพราะนโยบาย Perestroika ของเขานั่นเอง แต่ปัจจุบันคงจะดีขึ้นบ้าง คือปี ๒๐๐๘ นาย ราอูล คาสโตร Raul Castroน้องชายได้เข้ามาถือบังเหียนแทน ความจริงนายราอูล ได้ทำหน้าที่แทนมานานแล้ว แต่ทำเงียบๆอยู่เบื้องหลัง เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นผู้ก่อการรัฐประหารร่วมกับ ฟิเดล และ เช กูวาร่า ฟิเดลและพรรคพวกได้กลับเข้ากรุงฮาวานา เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๑๙๕๙ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ในขณะที่เผด็จการบาติสต้าหลบหนีไปประเทศโดมินิกัน พร้อมด้วยเงินทองมากมาย

เพื่อความอยู่รอด ฟิเดล คาสโตรจึงประกาศนโยบายเศรษฐกิจแห่งการ “รัดเข็มขัด” ห้าปี เรียกว่า Special Period ในปี ๑๙๙๑ ซึ่งทำให้ประชาชนต้องอดหยากลำบากยากเข็ญจนเข้าขั้นวิกฤต ช่วงเวลาดังกล่าวเลวร้ายยิ่งไปกว่าวิกฤตการขาดแคลนในยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก เครื่องใช้ไม้สอยและสิ่งที่จำเป็นในการยังชีพต้องมีการเรชั่น

อย่างจำกัดจำเขี่ย ชาวคิวบาที่ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้จะเล่าเรื่องได้เป็นฉากๆทีเดียว

ได้ทำความรู้จักกับบ๋อยคนหนึ่งในร้านอาหารอิตาเลี่ยนของโรงแรม ที่ไปนั่งกินอาหารติดๆกันหลายมื้อจนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เขาเล่าให้ฟังว่า เดิมทีเป็นครูสอนภาษาอังกฤษใน

โรงเรียนแห่งหนึ่ง เมียเป็นหมอ รายได้รวมกันก่อนการล่มสลายของโซเวียตก็พอมีฐานะดีพอสมควร สามารถไปพักผ่อนฮอลลิเดย์ได้สบายๆ แต่ต่อมาเมื่อไม่มีการช่วยเหลือจากประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่อื่นๆอีกต่อไป รัฐบาลไม่มีเงิน เขาจึงลาออกจากการเป็นครู มาเป็นบ๋อยที่โรงแรมนี้ เพราะรายได้จากการเป็นบ๋อย ดีกว่าเป็นครูมากมาย เนื่องจากได้ทิปจากนักท่องเที่ยว ส่วนเมียเขายังคงเป็นหมอต่อไป

นายแพทย์มีเงินเดือนๆละยี่สิบห้าดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่วนครูเดือนละยี่สิบดอลล่าร์ แบลล์บอยมีอายุอีกคนหนึ่งในโรงแรมพูดภาษาอังกฤษดีจนต้องออกปากชม เขาบอกว่าเมื่อก่อนเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยแต่ต้องลาออกเพราะรายได้นิดเดียวสู้มาเป็นแบลล์บอยขนกระเป๋าให้แขกต่างชาติไม่ได้ เพราะมีรายได้ดีกว่ามากหลายเท่า เขายังเล่าต่อว่าหากมีโอกาสหรือเงินสักเล็กน้อย เขาจะไม่ยอมอยู่คิวบาอีกต่อไป ถามเขาว่าทำไมไม่ไปเป็นไกด์ เขาบอกว่า เขาไม่มีเงินไปเข้าคอร์สเรียน และบอกต่อว่าอย่าถามมากเพราะมีคนเฝ้าดูอยู่ เขาบอกว่า “Th ey’re watching.” ถามเขาต่อว่า “Who’re the they?” เขาตอบว่า”You don’t live in this country – you don’t understand” ฉันเลยขอร้องว่า “Then please make me understand.” เขาไม่ตอบแต่ผลักรถขนกระเป๋าหนีไป

ขอเล่าอีกเรื่องหนึ่งเพื่อให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพของความยากแค้นในสังคมนี้ วอลเตอร์ท้องเสียและอาเจียรอย่างหนักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนไม่ว่าจะไปอยู่หรือไปเที่ยวประเทศไหนทั่วโลก จนต้องไปหาแพทย์ที่มีคลินิกอยู่ในโรงแรม ในคลีนิคนอกจากมีหมอผู้หญิงคนหนึ่งแล้ว ยังมีพยาบาลอีกสองคน หมอจับให้นอนเพื่อให้น้ำเกลือ เราต้องลงไปที่รีเซ็บชั่น เพื่อชำระเงิน พยาบาลคนหนึ่งเดินถือบิลล์ตามลงมาด้วย

พอจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว ฉันก็ควักธนบัตรสำหรับนักท่องเที่ยวใบละสิบออกมาสองใบ เรียกว่า Convertible Pesos หนึ่ง Convertible มีค่าเท่ากับยี่สิบสี่เปโซครึ่งของเงินที่ชาวคิวบาใช้ เพราะฉนั้นสิบ Convertible ก็มากกว่าสองร้อยสี่สิบเปโซ (พยาบาลมีรายได้เดือนละสามร้อยห้าสิบเปโซ หมอห้าร้อยเปโซ) ยื่นให้เขาใบหนึ่ง เขาดีใจมากขอบคุณเป็นการใหญ่ เพราะมีค่าเท่ากับเงินเดือนของเขาเกือบทั้งเดือน พอยื่นอีกใบหนึ่งให้ เพื่อจะฝากไปให้พยาบาลอีกคนหนึ่ง เขาก็ถามออกมาเสียก่อนว่า “ให้หมอหรือคะ?” ฉันพยักหน้า รู้ทันทีว่าควรจะทิปหมอด้วย จึงหยิบ Convertible ใบละสิบออกมาอีกหนึ่งใบและบอกเขาว่าให้พยาบาลอีกคนหนึ่ง เขาจูบแก้มฉันทั้งซ้ายและขวาขอบอกขอบใจใหญ่โต เพราะ I’ve made their day.

เราได้รับคำชี้แจงตั้งแต่ที่สวิสแล้วว่า ควรจะทิปทุกๆคนที่บริการ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะพอใจหรือไม่พอใจในบริการก็ต้องทิป เพราะส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยเงินทิป แต่ไม่เคยนึกเลยว่าจะมีหมอรวมอยู่ด้วย

ก่อนไปประเทศคิวบา เคยนึกชื่นชมรัฐบาลคิวบาที่ให้ความสนใจในการศึกษาและการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลที่จัดให้กับประชาชน ตามสถิติ การอ่านออกเขียนได้ในประเทศมีสูงถึงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรัฐบาลเอาใจใส่ในการให้การศึกษาแก่ประชาชน แต่เมื่อไปถึงจึงได้รู้ความจริงว่า ประชาชนอาจจะมีการศึกษา แต่จะมีประโยชน์อันใด หากว่าไม่มีงานให้เขาทำ หรือว่ามีงานให้ทำแต่รายได้ไม่พอรายจ่าย แม้แต่คนขับรถของเราเองก็มีปริญญาถึงสองใบ แต่เขาพอใจที่จะมาขับรถดีกว่า ทำงานในออฟฟิศ เพราะรายได้น้อย ไม่พอกิน

ในปัจจุบัน คิวบาได้รับการช่วยเหลือเรื่องน้ำมันจากประเทศเวเนซุเอลลา โดยมีโครงการแลกเปลี่ยนกับหมอที่คิวบาส่งไปให้ ได้รับการช่วยเหลือบ้างจากประเทศจีน และประเทศสเปนในการลงทุนเช่นการสร้างโรงแรมเป็นต้น แม้แต่โรงแรมที่เราพักอยู่ก็เป็นเครือข่ายของประเทศสเปน ยูเนสโกเริ่มมีงบประมาณช่วยเหลือปรับปรุงสถานที่บางแห่งที่องค์การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รู้สึกว่าจะมีอยู่สี่ห้าแห่งในคิวบา รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศจึงมาจากนักท่องเที่ยว คิวบาเป็นประเทศที่แพงมากสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยอิสระอย่างเรา ไม่ใช่แบบ package tour และสิ่งที่ได้รับ ก็ไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ความสะดวกสบายหรือสาธารณูประโภคทั่วไป

ดูท่าทางคนขับรถที่บอกว่าได้ปริญญาสองใบแล้วก็เลยถามเขาว่า ในเมื่อผู้นำของประเทศก็อายุแปดสิบแล้ว และสุขภาพก็ไม่สู้จะดี หากมีอะไรเกิดขึ้น ประเทศจะเป็นอย่างไร ในเมื่อเขากุมบังเหียนอยู่เพียงผู้เดียว เขาบอกว่าห้าเปอร์เซ็นต์ของประชาชนจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนเพราะพวกนี้เป็นคนรวย เกิดอะไรขึ้นมาก็หนีไปอยู่ที่อื่นได้ อีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์เป็นประชาชนเช่นเขาที่มีรายได้พอเพียงที่จะอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีฟิเดล คาสโตร

แต่ว่าประชาชนที่เหลืออีกเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของประเทศนี่สิ จะมีปัญหา เพราะพวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เพราะฉนั้นฟิเดลจึงได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่พวกนี้ จึงยังคงรักษาอำนาจไว้ได้ตลอดระยะเวลาสี่สิบแปดปีที่ผ่านมา

Ration card เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ๑๙๖๒ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นราคาสินค้าในตลาดโดยใช้ตลาดมืด ตอนที่ยังมีสินค้าหลั่งไหลมาจากสหภาพโซเวียต รัฐบาลเกือบจะเลิกเรชั่นการ์ดไปแล้ว แต่บังเอิญหลายประเทศที่ใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปเสียก่อน จึงจำเป็นต้องปัดฝุ่นเอามาใช้ใหม่

ต่อข้อสงสัยที่ว่าประชาชนทั่วไป รวมถึงหมอและครูบาอาจารย์ที่มีเงินเดือนนิดเดียวเขาจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายได้พอ ก็ได้รับคำตอบว่า ทุกๆเดือนประชาชนจะได้รับเครื่องอุปโภค บริโภคสามสิบรายการเป็นประจำ ในราคาถูก เช่นข้าวสาร น้ำตาล น้ำมัน กาแฟ รวมถึงกระดาษชำระครอบครัวละหนึ่งม้วนต่อวัน สะบู่ และยาสีฟัน ฯลฯ ของที่กล่าวถึงมีขายที่ร้านของรัฐ สามารถซื้อได้ด้วยเงินเปโซธรรมดาอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น และเงินเปโซที่ใช้ก็ไม่ได้เปลี่ยนค่ามาเนิ่นนานแล้ว แต่สินค้าเหล่านี้ก็ซื้อได้ที่ร้านทีไม่ใช่เป็นของรัฐแต่จะมีราคาแพงกว่าถึงยี่สิบเท่า โดยใช้เงิน Convertible ระบบเรชั่นการ์ดนี้เป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐบาล ที่ต้องรับไว้ หากเลิกระบบนี้ไป ประชาชนเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของประเทศคงจะต้องอดตายเป็นแน่แท้ หรือไม่ก็ต้องมีการลุกฮือขึ้นมาต่อสู้เช่นในสงครามปฏิวัติของฝรั่งเศสในปี ๑๗๘๙ แน่นอน การใช้เงินสองระบบเช่นนี้ ทำให้มีการแบ่งแยกประชาชนอย่างไม่มีทางเลี่ยงได้

สิ่งที่เป็นเครื่องจรรโลงใจของผู้คน คือดนตรี ไม่ว่าจะไปที่ไหนจะได้ยินเพลงของชาวคิวบาที่เร้าใจ ไม่ว่าจะเป็นในจังหวะ ซอลซ่า ชาชาช่า มัมโบ้ รุมบ้าคองโก ต่างก็จุดประกายจากประเทศคิวบาด้วยกันทั้งสิ้น

ฮาวานาแบ่งออกเป็นสามเขต คือฮาวานาเมืองเก่า (Habana Vieja)ฮาวานาส่วนกลาง (Centro Habana) และฮาวานาส่วนนอก (Vedado)

นั่งกินอาหารเช้าในโรงแรม Melia Cohiba ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาติต่างๆ ไม่น่าเชื่อว่านั่งอยู่ในประเทศที่ยากไร้ ถูกบอยค็อตจากโลกตะวันตก อาหารการกินและความเป็นไปดีเลิศ คล้ายคลึงกับโรงแรมห้าดาวในประเทศอื่น แถมยังมีดนตรีและนักร้องมาแสดง live กล่อมให้แขกฟังอีกต่างหาก

เช้าวันแรกไปชมอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่วีระบุรุษ Jose Marti ที่สร้างขึ้นในจตุรัสอันกว้างขวางคือ Plaza de la Revolucion ในปี ๑๙๕๓ และมาเสร็จสิ้นในปี ๑๙๕๙ ซึ่งเป็นปีที่วีระบุรุษผู้นี้ตายได้ครบรอบหนึ่งร้อยปีพอดี อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง นายโฮเซ่ มาร์ตี้ ผู้ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อต้านคิวบาให้เป็นอิสระจากสเปน และตายในระหว่างการต่อสู้ในปี ๑๘๙๕ อนุสาวรีย์ของเขาสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ภายใต้หอคอยสูงซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในฮาวานา

นอกจากนี้จตุรัสแห่งนี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบพิธีต่างๆ เช่นการฉลองชัยชนะของนายพลฟิเดล คาสโตร จากความสำเร็จในการปฏิวัติ เขาได้มีปาฐกถาขึ้นที่นี่ แคมเปญการกำจัดความไม่รู้หนังสือก็ได้มาเริ่มกันทีนี่ในปี ๑๙๖๑ ในการเฉลิมฉลองวันสำคัญในประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการ เหล่าทัพจะมาเดินพาเหรดอวดพลังกันที่นี่ แม้แต่พระสันตปาปา Pope John Paul II ก็มาทำพิธีมิซซาที่นี่ในปี ๑๙๙๘ มีชาวคิวบานับเป็นพันๆเข้าร่วมในพิธีด้วย

ตึกของที่ว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับอนุสาวรีย์ของนาย มาร์ตี้ เกือบจะถูกบังมิดด้วยรูปปั้นอันมหึมาของ เช กูวาร่า Che Guevara ที่สร้างเสร็จในปี ๑๙๙๕ นักต่อสู้แบบกองโจร Guerrilla ผู้นี้เคยมีกองบัญชาการอยู่ในตึกแห่งนี้ บนหน้าอกของรูปปั้นมีข้อความเขียนไว้ว่า “Hasta la victoria siempre” มีความหมายว่า “จงสู้ต่อไปจนกว่าจะได้ชัยชนะ”

คุณผู้อ่านบางคนคงจะทราบแล้วว่า นาย เช กูวาร่า เป็นชาวอาร์เจนติเนียน ได้ไปพบฟิเดลที่ประเทศเม็กซิโก ต่างถูกอกถูกใจซึ่งกันและกัน เพราะมีอุดมการณ์ร่วมกันที่จะเปลี่ยนแปลงการกสิกรรมของประเทศคิวบาให้ดีขึ้น กำจัดความไม่รู้หนังสือ ไม่ให้มีคนตกงาน สร้างประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม สร้างที่พักอาศัย โรงเรียน ตลอดจนโรงพยาบาลให้ประชาชน

เB70หล่านี้เป็นอุดมการณ์ที่ประเสริฐยิ่ง แต่อุดมการณ์มักจะเปลี่ยนไปได้เสมอ หากอำนาจกลายเป็นสิ่งที่ยั่วยวนจนลืมอุดมการณ์ดั้งเดิมจนหมดสิ้น

นายฟิเดลเป็นนายกฯ ในขณะที่นาย เช กูวาร่า ได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเป็นประธานของธนาคารแห่งชาติคิวบา จะเล่าเรื่องของนายเช กู

วาร่า อีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงเมือง Santa Clara แล้ว

สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ สุสานของเมือง นอกจากจะเป็นหลุมฝังศพแล้วยังได้รับการยกย่องให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งชาติอีกด้วย Necropolis Colon เป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีหลุมฝังศพทั้งหมดด้วยกันถึงสองล้านหลุม ซึ่งเท่ากับจำนวนของประชาชนในกรุงฮาวานาพอดี สุสานแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะมีการก่อสร้างที่บรรเจิดเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะใช้เป็นของตนเองได้ ข้อนี้ขอชื่นชมกับระบบคอมมิวนิสต์ของประเทศคิวบา ที่ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะว่า สุสานนี้ฝังได้เฉพาะคนบางชั้น บางหมู่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงออกมาใช้สถานที่กันอย่างคับคั่ง เพื่อไปเคารพศพของญาติพี่น้อง หรือเพื่อมาพักผ่อน

เหนือประตูทางเข้าใหญ่ เป็นรูปแกะสลักด้วยหินอ่อนจาก Carrara ที่มีชื่อเสียง มีรูปแกะสลักที่แสดงคุณลักษณะของความดีสามประการคือ ความเชื่อมั่น ความหวัง และความเป็นผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ (Faith, Hope and Charity) มีหลุมฝังศพที่สวยงามและน่าทึ่งมากมาย แต่อยากจะเล่าเพียงหนึ่งรายเท่านั้นคือ La Milagrosa (The Miracle One) ปาฎิหารย์นี้เกิดขึ้นเมื่อหญิงสาวคนหนึ่งคือ Amelia Goyri de la Hoz ได้ตายในระหว่างคลอดลูกสาวในปี ๑๙๐๑ เธอเพิ่งจะมีอายุได้เพียง ๒๔ ปีเท่านั้น ทั้งคู่จึงถูกฝังไว้ด้วยกัน ตำนานเล่าว่า อีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อขุดหลุมลงไปก็พบว่าเอมีเลียยังอุ้มลูกเอาไว้ในอ้อมแขน ร่างกายทุกส่วนไม่ได้เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา แต่ยังมีสภาพเดิมอยู่ทุกประการ นอกจาก “ปาฏิหาริย์ย์” นี้แล้ว สามีที่หัวใจสลายของเอมีเลียยังไปเยี่ยมเธอทุกวัน และเวลาเดินออกมาก็ไม่เคยหันหลังให้หลุมศพเลย แต่เดินถอยหลังออกมา ทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักของแม่ เป็นผู้คุ้มครองหญิงมีครรภ์และทารกที่เพิ่งเกิดใหม่ หลุมฝังศพของเธอจึงกลายเป็นสถานที่ๆหญิงมีครรภ์เดินทางไปเคารพบูชาและขอพร ทุกครั้งพวกเขาจะเดินถอยหลังออกมาเสมอ

รถพาไปจอดที่ใกล้ๆป้อม Castillo de la Real Fuerza สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหก เพื่อป้องกันการโจมตีของโจรสลัด แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถป้องกันได้เพียงพอ ฮาวานาถูกทำลายจนได้ ต่อมาป้อมนี้ได้กลายเป็นที่พำนักของผู้ว่าราชการ ตลอดจนนายพลผู้บังคับบัญชากองทัพและคนสำคัญคนอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นที่เก็บทรัพย์สมบัติอันมีค่าที่ได้มาจากอเมริกาเพื่อส่งไปให้สเปน

ในปี ๑๖๓๔ ได้มีการจัดสร้างกังหันไว้บนยอดหอคอย ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของฮาวานา ในปัจจุบันกังหันที่เห็นบนหอคอยเป็นของจำลองเพราะเขาเอาของจริงไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ที่กำลังจะพาคุณผู้อ่านไปชมอยู่เดี๋ยวนี้

ไกด์พาเดินเรื่อยๆเข้าไปในเมือง ผ่านโบสถ์ El Templete สร้างคล้ายกับวัดมากกว่า ในบริเวณมีต้นไม้ใหญ่ให้เงาร่มรื่นซึ่งเป็นต้นไม้ของเมืองร้อนชื่อว่า ceiba เป็นต้นไม้ที่ชาวพื้นเมืองในอเมริกากลางถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เขาเล่าว่า ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประชุมเพื่อก่อตั้งเมืองฮาวานาในปี ๑๕๙๙ ที่ใต้ต้นไม้นี้ ต้นที่เห็นในปัจจุบัน เป็นต้นที่ปลูกขึ้นแทนที่ต้นเก่าที่ตายไปนานแล้ว ภายในโบสถ์มีรูปภาพใหญ่สามรูป โดยศิลปินที่มีชื่อเสียง ความจริงฮาวานาเป็นเมืองที่มีศิลปะที่ชื่นชอบมาก หากไม่พะวงถึงระบบการปกครอง ของประเทศและความยากไร้ของประชาชนแล้ว วันหนึ่งเมื่อกลิ่นอายของการเมืองดีขึ้นกว่านี้ ก็อยากจะไปชมเมืองหลวงแห่งนี้อีกสักครั้งหนึ่ง ต้องขออภัยผู้อ่าน ที่มักจะเอาความรู้สึกส่วนตัวมาปนกับสิ่งที่ได้เห็นเสมอ

มาถึง Palacio de los Capitanes Generales ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของผู้ว่าราชการจังหวัดมาก่อนในศตวรรษที่สิบแปด ตึกแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของสไตล์บาโร๊คในฮาวานา มีประตูทางเข้าที่เป็นหินอ่อน สร้างโดยศิลปินแกะสลักชาวอิตาเลียน สไตล์นี้ได้มาจากยุโรป เพราะในศตวรรษนั้นเป็นยุคทองของบาโร๊ค ภายหลังตึกได้กลายเป็นที่บัญชาการของรัฐบาลคิวบา จนมาถึงปี ๑๙๖๗จึงได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของเมืองหลวง ภายในมีการแสดงประวัติของฮาวาน่าตลอดไปจนถึงสงครามต่อสู้เพื่ออิสรภาพหลายต่อหลายคราว

มองจากระเบียงลงไป จะแลเห็นคอร์ทยาร์ดหรือบริเวณลานที่มีต้นไม้ขึ้นเขียวชอุ่ม มีรูปปั้นของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส อยู่ใต้ต้นปาลม์สูงลิ่ว บนระเบียงมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญๆตั้งไว้ให้ชม ที่เชิงบันไดเป็นรูปปั้นที่ทำด้วยบรอนซ์อันเก่าแก่ที่สุดของคิวบา เป็นกังหันที่เอามาจากหอคอยของป้อมปราการที่เล่าให้ฟังตอนต้น เรียกว่า La Giraldilia บางตำราเล่าว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ บ้างบอกว่าเป็นร่างแปลงของเมือง Seville ในสเปนอันเป็นท่าเรือแห่งสุดท้ายสำหรับเรือที่แล่นไปยุโรป แต่มีอีกตำราหนึ่งซึ่งถูกใจคนโรแมนติคอย่างหญิงไทยผู้นี้มาก

ตำรานี้บอกว่าเป็นรูปปั้นของภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดชาวสเปน เธอยืนรอสามีอยู่อย่างใจจดใจจ่อ ด้วยความระลึกถึง เขาได้ล่องเรือเข้าไปในฟลอริดาและแหล่งอื่นๆในอเมริกา เพื่อค้นหาและผจญภัย เธอหารู้ไม่ว่าระหว่างที่รอ สามีเธอได้เสียชีวิตแล้วบนฝั่งของแม่น้ำมิสสิซซิบปี้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้ตั้งรูปปั้นของเธอไว้บนยอดหอคอยที่สูงที่สุด เพื่อจะได้มองเห็นไปได้ไกลเมื่อเรือเข้าถึงปากอ่าว ปัจจุบันรูปปั้นที่เห็นบนยอดหอคอยบนป้อมไม่ใช่ของจริงเพราะของจริงได้มาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว คุณผู้อ่านล่ะคะชอบตำนานนี้ไหม? เศร้าแต่ก็โรแมนติกใช่ไหมคะ?

ขณะที่กำลังชมพิพิธภัณฑ์ มีความต้องการที่จะไปเข้าห้องน้ำมาก จึงลงบันไดไปเข้าห้องน้ำที่เขาจัดไว้ให้ ข้างหน้าห้องมีหญิงชาวคิวบานั่งเฝ้า บนโต๊ะมีกระดาษชำระวางอยู่สองสามม้วน รู้ว่าภายในห้องน้ำจะไม่มีกระดาษชำระซึ่งจะต้องซื้อจากหญิงที่นั่งเฝ้าอยู่ เลยวางเงินหนึ่ง Convertible Peso ซึ่งมีค่าเท่ากับยีสิบสี่เปโซครึ่ง ให้ไว้ในถาดบนโต๊ะ ก็ได้กระดาษชำระมาพอแก่ความต้องการ จึงจัดแจงเดินเข้าห้องน้ำ ขณะที่กำลังจะเปิดประตู หญิงคนนี้วิ่งกระหืดกระหอบตามหลังมาพร้อมด้วยกระดาษชำระทั้งม้วน ยื่นให้ ฉีกอีกปึกหนึ่งเข้าไปเช็ดที่นั่งบนโถให้ด้วยอีกต่างหาก แล้วหล่อนก็ขอบอกขอบใจเป็นการใหญ่ คิดว่าหากทำได้หล่อนก็คงจะเช็ดก้นให้ด้วย ตอนแรกก็งง เพิ่งมาคิดได้ในตอนหลังว่าได้ทิปเขาไปอย่างมหาศาลถึงยี่สิบสี่เปโซครึ่ง ซึ่งอาจจะเกือบเป็นเงินเดือนทั้งเดือนของหล่อนก็ได้ ความจริงควรจะทิปเพียงหนึ่งเปโซของเงินที่ชาวคิวบาใช้เท่านั้น แต่นี่ไปทิปเสียมากมาย ใครจะว่าไปทำให้ระบบของเขาเสีย ฉันก็ไม่สนใจ เพราะสงสารและเห็นใจพวกเขาอย่างจริงใจ ฉันมักจะทิปหญิงหน้าห้องน้ำด้วยเงิน Convertible Peso ทุกครั้ง ไม่ว่าที่ใด และก็ได้รับการบริการอย่างยอดเยี่ยมในทุกที่ ครั้งแรกไม่ได้ตั้งใจ แต่หลังๆตั้งใจค่ะ

ถนน Calle Obispo เป็นคล้ายๆกับพิพิธภัณฑ์เปิด ทั้งสองข้างเป็นตึกรามในแบบโคโลเนียล มีร้านรวงแบบโบราณ ที่น่าสนใจที่สุดคือร้านขายยาในสมัยก่อนชื่อTaquechel เป็นตึกที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงฮาวานา นอกจากขายสินค้าเช่นเครื่องสำอาง และยารักษาโรคแบบธรรมชาติที่ทำขึ้นในประเทศคิวบาแล้ว บนชั้นต่างๆที่สูงไปจนจดเพดานและบนเคาน์เตอร์ไม้ยังเรียงรายไปด้วย ขวด เหยือก และกระปุกทำด้วยแก้วและกระเบื้องที่เรียกว่า majolica จากอิตาลีเข้าไว้อีกด้วย

Plaza de Armas จตุรัสใหญ่รายล้อมด้วยตึกโบราณในสมัยที่สเปนยังปกครองอยู่เป็นที่ๆชาวเมืองออกมานั่งพักผ่อนและคุยกัน ชอบประเทศที่ (เคย) เป็นคอมมิวนิสต์อยู่อย่างหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลสนใจที่จะสร้างปาร์คและที่พักผ่อนให้แก่พลเมืองของตน

ถนนอีกสายหนึ่งที่มีความน่าสนใจพอๆกันก็คือถนน Calle Oficios ที่มีตึกในสไตล์ของสเปนซึ่งเพิ่งได้รับการบูรณะเมื่อไม่นานมานี้ เป็นร้านขายของ เป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์รถเก่าเก็บด้วย (vintage)

ยังมีสถานที่น่าดูอีกหลายแห่งในกลางเมือง ถ้าจะจาระไนทั้งหมดก็คงจะต้องเขียนหนังสือกันเป็นเล่มๆ จึงอยากจะเล่าเฉพาะสิ่งละอันพันละน้อยที่อาจจะเป็นที่สนใจของคุณผู้อ่านและหาจากหนังสือไม่ได้

เล่าให้ฟังแล้วว่าดนตรีเป็นหัวใจของชาวคิวบา ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหน จะเห็นผู้คนออกมานั่งเล่นดนตรีที่เร้าใจ มี คุณยายคนหนึ่งแต่งตัวด้วยชุดประจำชาติสีสวย มีผ้าคลุมผมติดดอกไม้ ใส่แว่นตา นั่งสูบซิการ์มวนใหญ่ เราขอถ่ายรูป เธอก็ยินยอมอย่างเต็มอกเต็มใจ แต่ต้องมีค่าตอบแทนให้ นั่นเป็นรายได้อย่างหนึ่งของหญิงที่มีอายุเช่นเธอ

Havana Vieja หรือเมืองเก่าของฮาวานา ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมอันเป็นมรดกของมนุษย์ชาติ” (cultural heritage of humanity) โดยยูเนสโก ตั้งแต่ปี ๑๙๘๒ เมืองเก่านี้เป็นศูนย์กลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกาที่สร้างในสมัยสเปนยังปกครองอยู่ จึงได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือในการบูรณะสถานที่ ไม่เฉพาะแต่อนุสาวรีย์หรือที่ทำการที่สำคัญๆเท่านั้น หากรวมไปถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นด้วย

ตอนที่เข้าไปดูโบสถ์ Catedral de San Cristobel ซึ่งถือว่าเป็นโบสถ์ที่มีความสวยงามในแบบบาโร๊คอีกแห่งหนึ่งของทวีปอเมริกา โบสถ์ยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก คิดว่าป่านนี้อาจจะซ่อมแซมเสร็จแล้วก็เป็นได้

วันหนึ่งเราเข้าไปกินอาหารกลางวันที่ร้านอาหารมีชื่อหรูว่า ปารีส Paris restaurant ซึ่งเคยเป็นวังมาก่อนเรียกว่า Placio de los Marqueses de Aguas Clarasซึ่งก็อยู่ติดกับจตุรัสใหญ่ในใจกลางเมือง มีเด็กสาวสามคนมาเล่นดนตรีและร้องเพลงขับกล่อม โต๊ะอาหารตั้งอยู่บนแทเรสใต้หลังคา และในบริเวณด้านหลังที่เป็นคอร์ทยาร์ด บรรยากาศโรแมนติก แม้ว่าอาหารจะไม่อร่อยเลย

หลังอาหารกลางวัน ต่างก็แยกย้ายกันไปดูสิ่งที่ตนสนใจ เพราะ Plaza de la Catedral เป็นจัตุรัสที่กว้างใหญ่ เมื่อกลับมาวอลเตอร์เล่าให้ฟังว่ามีหญิงสองคนเข้ามาถามว่า จะต้องการ “บริการพิเศษ” ไหม? เมื่อได้รับคำตอบว่า ไม่ เขาทั้งสองก็ไม่ได้ตื๊อ เดินจากไปโดยดี

ได้รับคำบอกเล่าว่า หญิงสาวชาวคิวบาหลายคนที่เสนอบริการ บางครั้งก็ไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวตามบาร์และคลับเพื่อได้ดื่มฟรี และต้องการทำความรู้จักกับชาวต่างชาติ เผื่อว่าจะได้มีโอกาสไปอยู่ต่างประเทศ แทนที่จะอยู่กับความคับแค้นในประเทศของตน เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศคิวบาเท่านั้น จากประสบการณ์ยังมีประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆอีกหลายแห่งก็เป็นเช่นเดียวกัน เขียนเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการติเตียน แต่เป็นการเล่าสู่กันฟังเท่านั้นเอง

ไม่ไกลจากจัตุรัสเท่าไรนัก มีบาร์และร้านอาหารแห่งหนึ่งชื่อ Bodeguita del Medio แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า little shop in the middle ร้านเล็กๆระหว่างกลาง บาร์นี้ได้กลายเป็นบาร์ที่มีชื่อเสียงก็ด้วยเหตุว่าเป็นที่พบปะของพวกปัญญาชน นักเขียน นักกลอน ศิลปิน ทั้งหลาย ตอนแรกก็เป็นแต่เพียงร้านอาหารเล็กๆที่มีมาตั้งแต่ปี ๑๙๔๒ ตอนหลังเพิ่มบาร์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ขายเหล้าค็อกเทลของคิวบา รัม และมีอาหารของ

ชาวครีโอลขายอีกต่างหาก บนฝาผนังเต็มไปด้วยรูปภาพ รูปวาด พร้อมทั้ง autograph ของบุคคลที่มีชื่อเสียงติดไว้จนหาที่ว่างไม่ได้ ที่ฉันตื่นเต้นมากก็เมื่อได้เห็น autographของ นักร้องที่ทุกคนรู้จักคือ Nat King Cole และHarry Belafonteอยู่ด้วย ในจำนวนปัญญาชนเหล่านี้มีนักเขียนก้องโลก Ernest Hemingway รวมอยู่คนหนึ่ง เขามักจะมานั่งดื่ม mojito อยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ผู้คนเลยแห่กันมานั่งดื่มกันที่บาร์นี้เพราะต้องการตามรอยเท้าของเฮ็มมิ่งเวย์ เราจึงถือโอกาสนั่งดื่ม mojito อย่างชื่นใจด้วย

เผื่อคุณผู้อ่านคนใดอยากจะรู้ว่าค็อกเทลนี้ผสมอย่างไร ขอบอกตรงนี้เลยนะคะว่า

เอาน้ำตาลอ้อยผสมกับน้ำมะนาว บดใบส่าระแหน่ลงไป เติม Bacardi Light Rum คนให้เข้ากันแล้วใส่โซดาหรือน้ำแร่ ใส่น้ำแข็งบด คนทั้งหมดเข้าด้วยกัน เทลงในแก้วทรงสูง แต่งด้วยใบส่าระแหน่ เป็นอันเสร็จพิธี Cheers!

ใครที่เคยอ่านหนังสือหรือดูหนังเรื่อง For Whom the Bell Tolls เขียนโดย Ernest Hemingway จะต้องหยุดเข้าไปดูโรงแรม Ambos Mundos เพราะที่นี่เคยเป็นที่พักของเฮมมิ่งเวย์ ตอนที่เขาเริ่มเขียนเรื่องนี้ที่ห้องเบอร์ ๕๑๑ ในปี ๑๙๓๐ หนังสือเล่มหนึ่งบอกว่าเรื่อง For Whom the Bell Tolls เป็นหนังสือที่ฟิเดลชอบอ่านก่อนนอนในระหว่างที่กำลังวางแผนก่อการปฏิวัติอยู่บนภูเขา Sierra Maestra ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ใหญ่ที่สุดในคิวบา เมื่อเดินทางไปถึงที่นั่นแล้วจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังค่ะ หนังเรื่องนี้เป็นหนังโปรดอีกเรื่องหนึ่งของผู้เขียนเช่นเดียวกัน

ใน ล็อบบี้มีคนเล่นปีอาโนด้วยเพลงเก่าไพเราะ เราใช้ลิฟท์สมัยพระเจ้าเหาพาขึ้นไปจนถึงชั้นบน หลังคา ซึ่งมีบาร์และร้านอาหารอยู่ด้วย

ถัดจากโรงแรมนี้ไป เป็นร้านอาหารมีชื่ออีกร้านหนึ่ง El Floridita มีล็อบบี้ที่โอ่โถงมาก ตอนที่เราเดินเข้าไป มีแขกหลายคนนั่งดื่มค็อกเทลอยู่ มีนักท่องเที่ยวหญิงชาวญี่ปุ่นสองคนกำลังถ่ายรูป เราสั่ง Daiquiri มาดื่ม เพราะมีชื่อเสียง เนื่องจากเฮ็มมิงเวย์แวะมาที่นี่เป็นประจำในสมัยนั้นและช่วยบาร์เทนเดอร์ดัดแปลงค็อกเทล Daiquiri ให้มีรสแปลกไปจากของเดิม ค็อกเทลที่ว่านี้ ใส่มาในแก้วที่มีก้านและทำให้เย็นเฉียบมาแล้ว เทรัมลงไปในเบลนเดอร์ ผสมด้วยน้ำตาลหนึ่งช้อนชา หยดเหล้าเชอรี่ maraschino ลงไปห้าหยด เติมน้ำมะนาวและน้ำแข็งเขย่าให้เข้ากัน ก็จะได้ไดคีรีที่เฮ็มมิงเวย์ชอบดื่ม ร้านนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น “The cradle of the daiquiri”

ความจริงการค้นพบค็อกเทลชนิดนี้ เป็นไปโดยบังเอิญ ตอนต้นปี ๑๙๐๐ ชาวคิวบาที่เป็นวิศวกรคนหนึ่งชื่อ Pagluchi และเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกัน นาย Cox ได้ไปตรวจงานใกล้ๆเมืองซานดีอาโก เขาเอารัมไปผสมน้ำตาลกับมะนาว และ เรียกค็อกเทลนี้ว่า Daiquiri ตาม ชื่อ ของชายหาด ไดคีรี่ ที่ทหารอเมริกันเคยยกทัพมาขึ้นบกในปี ๑๘๙๘ ในระหว่างการยึดครองของอเมริกัน

ในช่วงที่ประเทศอเมริกาห้ามการผลิตและจำหน่ายหรือดื่มอัลกอฮอลล์ ในปี ๑๙๒๐ คิวบาได้กลายเป็นสวรรค์ของนักดื่ม ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการปรับปรุง ค้นคว้า หาสูตรใหม่ๆมาเสนอความต้องการของนักดื่ม บาร์เทนเดอร์ หรือที่เรียกในคิวบาว่า Cantinero จะต้องมืออาชีพจริงๆ เพราะเป็นอาชีพที่มีความสำคัญมาก จนพวกเขาสามารถก่อตั้งคลับโดยเฉพาะของตนเองขึ้น มีสำนักงานอยู่ในกรุงฮาวานา จนถึงบัดนี้ ถ้าชายหนุ่มคนใดต้องการจะเรียน อาชีพบาร์เทนเดอร์ เขาต้องไปเข้าคอร์สเรียนวิธีการผสมเหล้าให้เก่งถึงร้อยชนิด และจะต้องเรียนภาษาอังกฤษอีกต่างหาก คุณผู้อ่านเมาหรือยังคะ?

ความจริงเราแบ่งการพักอยู่ที่กรุงฮาวาน่าเป็นสองช่วง ช่วงแรกเมื่อบินไปถึงจากเม็กซิโก ใช้ฮาวานาเป็น Base สำหรับเก็บกระเป๋าใหญ่ แล้วนั่งรถยนต์ส่วนตัวไปกับไกด์และคนขับ เพื่อไปเที่ยวเมืองต่างๆจนทั่วเกาะแล้วจึงกลับมาพักใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนบินกลับสวิส แต่เพื่อความสะดวกในการอ่าน จึงรวมข้อเขียนกรุงฮาวานาเข้าด้วยกันเป็นตอนเดียว แต่ยาวกว่าตอนอื่นๆเนื่องจากฮาวานาเป็นเมืองสำคัญ หากไม่มีเวลามากนัก จะไปเที่ยวดูฮาวานาอย่างเดียวก็คงจะคุ้ม ถ้าตั้งใจจะดูศิลปะและศึกษาประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติของชาวคิวบาอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นหากมีอะไรที่ดูจะข้ามตอน ก็ขอให้คุณผู้อ่านเข้าใจตามนี้ด้วยนะคะ

โรงแรมแห่งชาติ Hotel Nacional ตั้งอยู่บนเนินเขา เห็นได้แต่ไกล ในสไตล์ของ neocolonial สร้างขึ้นในปี ๑๙๓๐ รัฐบาลคิวบาสมัยนั้นได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา มีเผด็จการชื่อ Gerado Machado เจราโด มาคาโด เป็นผู้นำ แต่ถูกโค่นล้มโดยพลังประชาชน ในปี ๑๙๓๓ อีกหนึ่งเดือนให้หลังนายบาติสต้า Batista ที่มาจากทหารเช่นกันได้เข้ายึดอำนาจ อีกสามเดือนต่อมานายทหารจำนวนสามร้อยนายที่ถูกติดตามล่าโดยบาติสต้า ได้หนีเข้าไปอาศัยในโรงแรมแห่งชาติที่เพิ่งจะเปิดได้ใหม่ๆแห่งนี้และเป็นทำเนียบของนาย Summer Wells ซึ่งเป็นทูตของสหรัฐฯ อยู่ในขณะนั้น เมื่อรู้ว่าอำนาจกำลังจะเปลี่ยนมือ นายซัมเมอร์ แวลส์ จึงได้ออกจากโรงแรมไปอยู่ที่อื่นปล่อยให้นายบาติสต้าโจมตีนายทหารเหล่านี้ได้อย่างสะดวก หลายคนถูกยิงตาย ทั้งๆที่ประกาศยอมแพ้แล้ว

เราแวะเข้าไปชมโรงแรมและดื่มค็อกเทลในล็อบบี้ ซึ่งมีบรรยากาศเก่าๆ ชวนให้คิดถึงโรงแรมในสมัยก่อน อาทิ แรฟเฟิลของสิงค์โปร์ แฟร์มอนท์ของแคนาดา ฯลฯ เดินเข้าไปด้านหลังจะมีการแสดงภาพขาวดำของบุคคลสำคัญๆมากมายที่เคยมาพักเช่น วินสตัน เชอร์ชิล เอวา การ์ดเนอร์ และแฟรงค์ ซิเนตรา เป็นต้น ทะลุไปด้านหลังจะเป็นปาร์ค มีปืนที่สเปนได้ตั้งไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า หันปากกระบอกไปยังทะเล ในปาร์คมีม้านั่งเล่นยาวๆตั้งไว้หลายตัว มองลงไปจากปารค์บนเนินเขาแห่งนี้จะแลเห็น มาเลช่อง ที่เล่าให้ฟังแล้วข้างต้น นอกจากนี้แล้วโรงแรมยังจัดงานพิเศษต่างๆตลอดปี

เมื่อพูดถึงกรุงฮาวานา คนที่มีอายุสักหน่อยคงจะจำกันได้ถึงความสนุกครึกครื้นที่มีอย่างไม่อั้นในเมืองหลวงแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวอเมริกันในปี ๑๙๕๐ ฮาวานาได้ชื่อว่าเป็นเมืองของความบันเทิงอย่างหาที่เปรียบได้ยาก โดยเฉพาะด้านดนตรี ค็อกเทลชนิดต่างๆ โสเภณีชั้นสูงที่งดงาม ซิการ์ การดื่มกันอย่างหัวราน้ำ การพนัน อากาศอันอบอุ่นที่เป็นใจของประเทศ ดึงดูดคนที่มีชื่อเสียงเช่นนักแสดง ศิลปิน นักท่องเที่ยวชั้นสูง นักธุรกิจเงินหนา ให้หลั่งไหลกันไปเที่ยวที่นั่นอย่างล้นเหลือ แต่ก็มีผลเสียต่อคิวบามากมายเช่นกัน ไม่แต่เพียงคิวบาได้กลายเป็นประเทศของกาสิโนและยาเสพติด แต่ได้กลายเป็นที่ซ่องสุมของพวกมาเฟียชาวอเมริกันที่ใช้คิวบาเป็นซ่องเล่นการพนันกันอย่างท้าทายกฏหมาย ตั้งโรงแรมหรูหราสำหรับใช้เป็นที่ฟอกเงินอีกต่างหาก

ยิ่งในสมัยนั้นเป็นการปกครองของรัฐบาลเผด็จการของนายบาติสต้าที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯด้วยแล้ว ได้มีการคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬาร บาติสต้าได้ลืมอุดมการณ์ดั้งเดิมเสียสิ้น ที่จะช่วยประชาชนที่ยากไร้ มีการขายที่ดินให้บริษัทอเมริกัน และอังกฤษ โดยพวกพ้องของผู้ถือบังเหียน เอาเงินเข้ากระเป๋าตนเอง ในขณะที่ผู้นำของประเทศร่ำรวยมหาศาล ชาวคิวบายิ่งยากจนลงทุกวัน ประเทศได้ถอยหลังเข้าคลองขึ้นทุกทีๆ ในที่สุดคิวบาได้กลายเป็น “เกาะแห่งความบันเทิง” ไปเสียแล้วสำหรับมหาเศรษฐี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกันดังที่เล่าแล้วข้างต้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีหนุ่มนักกฎหมายหัวรุนแรงคนหนึ่ง คือฟิเดล คาสโตร ซึ่งทำการโจมตีรัฐบาลที่มาอย่างไม่ถูกต้องจากการรัฐประหาร ตอนแรกก็ทำอย่างสงบ แต่เมื่อไม่ได้รับความสำเร็จ เขาจึงหาสมัครพรรคพวกรวมตัวกันจู่โจมค่ายทหารที่เมืองซานติอาโก้ Santiago ในปี ๑๙๕๓ แต่ไม่เป็นผล เขาถูกจับไปขังไว้สองปี เมื่อออกจากคุกก็หนีไปอยู่ประเทศเม็กซิโกเพื่อรวบรวมพรรคพวกกลับไปรบกับรัฐบาลคิวบาอีกครั้งหนึ่ง ที่นี่เองที่เขาได้พบกับ เช กูวาร่า Che Guevara หมอหนุ่มชาวอาร์เจนตีนา ด้วยการรวมตัวกัน เขาจึงได้รับความสำเร็จในการต่อสู้จนได้ชัยชนะ ในปี๑๙๕๙ ประเทศคิวบาจึงเป็นอิสระจากเผด็จการ

น่าสงสารชาวคิวบาที่ต้อง “หนีเสือ ไปปะจระเข้” เข้าได้ เกิดเป็นคนที่ไม่มีอำนาจก็เป็นเช่นนี้แล

ประเทศคิวบาเป็นประเทศที่มีการปลูกอ้อยมาก นอกจากจะใช้ทำน้ำตาลแล้ว เขายังใช้มันสำหรับกลั่นเหล้ารัมอีกด้วย เราได้มีโอกาสไปดูประวัติการทำเหล้ารัมที่พิพิธภัณฑ์ของเหล้ารัม ตั้งแต่วิธีปลูกต้นอ้อย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เอามากลั่นเป็นเหล้า ตอนจบมีการเชิญให้ไปนั่งที่บาร์เพื่อทดลองดื่มเหล้ารัม หากไปเที่ยวคิวบาใครที่ไม่ชอบดื่มอัลกอฮอลล์ ก็อาจจะสั่งน้ำมะนาว หรือน้ำอ้อยมาดื่มได้ แต่ต้องเป็นในร้านอาหารหรือโรงแรมชั้นดี

คนส่วนใหญ่ต้องเคยได้ยินชื่อไนท์คลับแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก ใครที่ได้มาเที่ยวกรุงฮาวานาแล้ว ไม่ได้ไปสถานที่แห่งนี้ เรียกว่าได้พลาดสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย The Tropicana ตั้งอยู่นอกกรุงฮาวานา ในตำบล Marianao นักแสดงใหญ่ๆรุ่นเก่าได้เคยมาปรากฏตัวกันที่นี่กันแล้วทั้งสิ้น ในจำนวนนี้มี Nat King Cole อยู่ด้วย

แรกเริ่มเดิมทีสถานที่แห่งนี้เคยเป็นฟาร์มของผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง ต่อมาแม่หม้ายของเขาได้เปลี่ยนฟาร์มให้กลายเป็นสถานบันเทิงกลายเป็นไนท์คลับโทรปิคาน่าในปี ๑๙๓๙ โดยเปิดให้เป็นทั้งกาสิโนและร้านอาหาร มีฟลอร์โชว์อีกต่างหาก แต่ยังคงรักษาต้นไม้ของป่าฤดูร้อนเอาไว้ น่าแปลกใจว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปกี่ครั้งกี่หน โทรปิคาน่ายังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

พอรถเลี้ยวเข้าประตูใหญ่ไป เราก็เห็น น้ำพุที่ให้ชวนคิดคำนึง มีรูปปั้นนักเต้นบัลเลต์สี่ห้าคนรายรอบด้านบน เรียกว่า Statue of the Muses ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของไนท์คลับนี้

หลังจากที่ชำระเงินและได้ตั๋วมาเรียบร้อยแล้ว เราเดินเข้าไปในสวน ซึ่งจุดไฟสว่างสไวแลเห็นป่าฤดูร้อน มีต้นปาล์มใหญ่หลายต้นอยู่ด้านหลัง ซ่อนตัวเป็นบางส่วนด้วยหมอกจำลองที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ มีเวทีใหญ่ที่หมุนได้ และสามารถสับเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที รอบเวทีจัดโต๊ะเก้าอี้ไว้สำหรับแขก บนโต๊ะมีทั้งแชมเปญ เครื่องดื่มที่เรียกว่า ฮาวานาคลับพร้อมแก้วและเครื่องขบเคี้ยวตั้งอยู่ ทุกโต๊ะมีแขกเต็มหมด ต้องจองกันล่วงหน้าเป็นเวลานาน ภายในตัวคลับเอง มีสิ่งที่เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงความหลังในช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ คือห้อง Ballroomใหญ่ “Bajo las Estrellas”ซึ่งบรรจุคนได้ถึงหนึ่งพัน

ดูการแสดงในคืนนั้นด้วยความประทับใจในความสวยงาม อ่อนช้อยบ้าง ขึงขังบ้าง ดนตรีทุกจังหวะ เล่นได้ดี ไพเราะ การแสดงมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม อยากจะกลับไปดูอีกสักครั้งหนึ่ง แม้ว่าค่าผ่านประตูจะแพงสักหน่อยแต่ก็คุ้มจริงๆ

เป็นการยาก ที่จะอธิบายลักษณะของเกาะคิวบาซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะคารีเบียน มีความยาวถึง ๑๒๕๐ กิโลเมตรจากหัวจนท้าย คือจากตะวันตกไปจดตะวันออก มีความกว้างตรงใจกลางประมาณ ๑๐๐ เมตร เพื่อความสะดวกในการอ่าน และติดตามการเดินทางได้ง่ายขึ้น จึงอยากจะแบ่งประเทศคิวบาออกเป็นห้าส่วน คือ เมืองหลวงกรุงฮาวานา ทิศตะวันตก ใจกลางของทิศตะวันตก ใจกลางทิศตะวันออก และทิศตะวันออก

คิวบาเป็นเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก ล้อมรอบด้วยทะเลคาริเบียนและอ่าวเม็กซิโก อยู่ห่างจากฟลอริดาเพียง ๑๘๐ กิโลเมตร และจากเม็กซิโก ๒๑๐ กิโลเมตร ในขณะที่ประเทศเฮติและ จาเมกา อยู่ห่างออกไปเพียง ๘๐ และ ๑๔๐ กิโลเมตร ตามลำดับ

คิวบามีพลเมืองทั้งหมดสิบเอ็ดล้าน สองล้านห้าแสนคนอาศัยอยู่ในกรุงฮาวานา

Pinar del RioVinales อยู่ไปทางทิศตะวันตกของคิวบา

หลังอาหารเช้าไกด์มารับพาไปเมือง พินาร์ เดล รีโอ จากฮาวานาใช้เวลาขับรถไปในราวสามชั่วโมงก็ถึง ถนนไฮเวย์ว่างเปล่า ไม่มีรถผ่านมาเลย แม้จะไม่ต้องระวังเรื่องการจราจร คนขับก็ต้องระวังไม่ขับให้รถตกลงไปในถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ

พินาร์ แปลว่าต้นปาล์ม ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป บนฝั่งแม่น้ำ กัวม่า (Guama) พินาร์ เดล รีโอ จึงแปลว่าปาล์มแห่งแม่น้ำ ตามข้างทางไม่ว่าจะมองไปที่ใดจะเห็นแต่ต้นปาล์มขึ้นอยู่ทั่วไป

ต้นปาล์มเป็นสัญลักษณ์ของคิวบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นปาล์ม Royal Palm เพราะปาล์มขึ้นอยู่ทุกแห่งหน มีคนกล่าวว่ามีต้นปาล์มขึ้นอยู่ถึงยี่สิบล้านต้นในคิวบา ไม่ว่าจะยืนอยู่ที่ใดจะเห็นต้นปาล์มอย่างน้อยต้นหนึ่งเสมอ

นอกจากนี้ก็มีไร่อ้อยขึ้นอยู่อย่างแออัด และไร่ยาสูบเขียวขจี พร้อมที่จะเก็บใบของมันมาตากแห้งทำยาสูบ คิวบามีโรงงานผลิตซีการ์อยู่หลายโรง โดยเฉพาะในเมืองพินาร์มีอยู่สองโรง อาจจะเป็นเพราะความร่ำรวยในสมัยก่อนจากการผลิตยาสูบก็ได้ ทำให้ เมืองพินาร์เต็มไปด้วยตึกรามที่เป็นสถาปัตยกรรมของสเปนในสมัยที่สเปนยังเรืองอำนาจ ณ ที่นี้ เสาใหญ่ที่ค้ำตึกเป็นต้นใหญ่สลักเสลาอย่างวิจิตร แต่ว่าอยู่ในสภาพที่จะต้องซ่อมแซมทั้งสิ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าในใจกลางเมืองมีคนพลุกพล่าน แต่หารถวิ่งทำยายาก มีแต่รถจักรยานวิ่งผ่านไปมานานๆครั้ง เห็นคนยืนรอรถกันมากมาย อย่างที่เคยเล่าไว้แล้วข้างต้น

พอออกมานอกเมือง เรามาหยุดที่ตำบล Los Jazmines ที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะดอกมะลิที่ขึ้นส่งกลิ่นหอมอยู่ทั่วไป มีรถคาดิลแลคคันใหญ่ยาวจอดอยู่ เห็นคนไปถ่ายรูปกันหลายคน

ภูมิประเทศแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในหุบเขา Valle de Vinales มีเนินเขาที่เกิดจากก้อนหินใหญ่หลายก้อน ปกคลุมไปด้วยพรรณไม้เขียวขจี แลดูเหมือนกลุ่มก้อนน้ำตาลขนาดใหญ่ โผล่ขึ้นเหนือไร่ข้าวโพดและไร่ยาสูบ มีดินสีแดงเป็นฐานบริเวณอยู่ด้านล่าง เห็นบ้านชาวนาเป็นหย่อมๆมุงหลังคาด้วยใบปาล์ม เป็นภาพที่สวยงามภาพหนึ่ง

ตำนานเล่าว่า นานมาแล้วกลาสีเรือแล่นเรือมาจนถึงฝั่งใกล้ๆ แลเห็นยอดเนินผ่านหมอกที่ลงหนาจัด แลดูรูปร่างเหมือนออร์แกนในโบสถ์ จึงตั้งชื่อหินกลุ่มนี้ว่า Sierra de los Organos

ไกด์พาไปเข้าถ้ำชื่อ Cueva del Indio ที่ค้นพบในปี ๑๙๒๐ อยู่ในหุบเขา San Vincente Valley ตอนแรกต้องเดินไปบนทางที่ค่อนข้างลื่น มีไฟฟ้าจุดให้ความสว่างอยู่เป็นแห่งๆ หลังจากนั่นก็ไปรอเรือที่จะรับไปใต้ถ้ำของแม่น้ำวินเซนต์ซึ่งอยู่ห่างออกไปในราวครึ่งกิโลเมตร

พูดกันจริงๆถ้ำนี้ไม่ได้มีอะไรพิเศษหรือวิเศษ แต่เมื่อมาถึงแล้วเขาจัดให้ไปก็ไปด้วยเท่านั้น อย่างไรก็ดี ไกด์ถามว่า เคยไปเข้าถ้ำแบบนี้หรือไม่? ตอนแรกงงคิดว่าเขาถามสนุกๆ แต่รู้ว่าเขาถามจริงๆ เลยบอกไปว่าเคยไปถ้ำแบบนี้มาหลายแห่งแล้ว ต่างก็สวยงามกันไปคนละแบบแต่ที่เห็นว่าใหญ่โตและน่าทึ่งที่สุดเห็นจะเป็นที่ ประเทศสโลวีเนีย ถ้ำชื่อว่า Postojna ต้องนั่งรถไฟเปิดเข้าไป เพราะเป็นถ้ำที่ยาวมาก เคยเขียนลงสกุลไทยนานหลายปีแล้ว “สโลวีเนีย ความฝันที่เป็นจริง”

หลังจากนั่นก็เป็นเวลาที่จะได้ไปชมโรงงานทำซีการ์ ในกรุงฮาวานาเขาอนุญาตให้เข้าไปดูได้เพียงสองแห่งเท่านั้น เนื่องจากมีการติเตียนมากมายเรื่องการที่คนงานต้องบากบั่นกันวันละถึงสิบสองชั่วโมง บางครั้งก็มากกว่านั่น ด้วยเงินเดือนๆละสองร้อยเปโซ ไม่ใช่ Convertible เปโซ แต่เป็นเปโซที่ชาวคิวบาใช้กันทั่วไป

แม้แต่ที่เมืองพินาร์เอง เราก็ต้องไปอีกโรงงานหนึ่งเพราะโรงงานที่ต้องการจะไปปิด ต้องสารภาพว่าเห็นสภาพการทำงานของพวกเขาแล้ว อดคิดไม่ได้ว่าเหมือนสวนสัตว์ที่ไม่มีสัตว์แต่มีมนุษย์อยู่แทน ประชาชนในประเทศนี้อยู่กันได้อย่างไร โดยไม่คิดลุกฮือกันขึ้นมาปฏิวัติ แบบสงครามฝรั่งเศสปี ๑๗๘๙ เราไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปในโรงงาน ด้วยเหตุผลอะไรคุณผู้อ่านคงเดาได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าสภาพภายในโรงงานจะไม่น่าดู แต่การทำซีการ์ก็น่าสนใจ เป็นความรู้

ซีการ์เป็นส่วนหนึ่งของคิวบา เป็นวัฒนะธรรมของประเทศที่จะแยกออกไปไม่ได้ เช่นเดียวกับวัฒนะธรรมการกราบไหว้ของไทย ชาวพื้นเมืองอินเดียนเป็นผู้เริ่มการสูบซีการ์ต่อมาเมื่อโคลัมบัสได้เดินทางมาถึงที่นี่ก็นำซีการ์กลับไปยุโรป และชาวยุโรปถือว่าการสูบซีการ์เป็นจิตภาพบำบัดอย่างหนึ่ง หลังสงครามปฏิวัติของคิวบา สหรัฐฯบอยค็อตคิวบา การส่งซีการ์ออกไปขายยังโลกภายนอกจึงเป็นการยากลำบาก ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ตั้งแต่ปี ๑๙๙๐ เป็นต้นมาการสูบซีการ์ได้กลับมาเป็นแฟชั่นอีกครั้งหนึ่งในระดับผู้บริหาร จำได้ว่าหลังการเลี้ยงอาหารมื้อเย็น เจ้าภาพชายจะนำเอาซีการ์ออกมาแจกแก่แขกชายให้ได้สูบกัน เพื่อคุยและหย่อนอารมณ์ การจำหน่ายซีการ์จึงได้ฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

การทำซีการ์เป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญ ที่ตกทอดกันมาเป็นช่วงๆ ก่อนอื่นใบยาสูบจะต้องได้รับการเลือก แยกใบที่มีคุณภาพออกจากใบที่ด้อยกว่า แล้วเลือกใบยาสูบที่ตากแห้งแล้วออกมาสามใบจากส่วนต่างๆของต้นยาสูบ วางซ้อนๆ แล้วม้วนเข้าด้วยกัน จากนั้นเอาใบยาสูบอีกหนึ่งใบที่ต้องการจะใช้หุ้มไว้ข้างนอกของใบที่ม้วนไว้แล้ว ส่วนอีกใบหนึ่งที่จะอยู่ข้างนอกสุดจะต้องทำให้อ่อนนุ่ม แล้วจึงใช้ห่อที่หัวซีการ์อีกทีหนึ่ง หลังจากนั่นก็จะใช้เครื่องมือสำหรับวัดขนาดของซีการ์ แล้วใช้ที่ตัดๆขนาดที่ต้องการ ซีการ์มีขนาดต่างๆกัน นักสูบซีการ์กล่าวว่า ซีการ์ที่กลมและอ้วน สูบได้อร่อยกว่าซีการ์ที่ผอมเรียว ซีการ์ที่ทำด้วยมือก็เหมือนไวน์ ยิ่งเก็บไว้นานก็จะสูบอร่อยขึ้นมากเท่านั้น ซีการ์ที่วางขายในคิวบามีด้วยกันทั้งหมด ๓๒ ยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อจะมีป้ายยี่ห้อติดไว้

ต้นยาสูบของคิวบาปลูกด้วยเมล็ดกลมเล็กสีทอง เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากที่สุด เพราะเชื่อกันว่าเป็นยาสูบที่มีคุณภาพดีมาก ยาสูบใช้เวลาสี่เดือนในการเติบโตตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ การปลูกต้นยาสูบก็เหมือนกับการผลิตซีการ์ที่ต้องการความชำนาญและละเอียดอ่อน ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย วิธีปลูกก็แยกออกได้เป็นสองวิธี ปลูกในร่มและปลูกข้างนอก

การเก็บเกี่ยวใบยาก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ใบยาจะถูกมัดเป็นช่อๆ นำไปแขวนไว้บนราวไม้ แล้วนำเอาไปเข้าห้องสำหรับตากแห้ง ใช้เวลาในราว ๔๕ ถึง ๖๐ วันก่อนที่ใบสีเขียวจะกลายเป็นสีน้ำตาล เมื่อแห้งแล้ว ต้องไปทำให้ชื้นเพื่อไม่ให้ใบกรอบและหักง่าย เมื่อชื้นแล้วจะต้องผึ่งไว้เพื่อไม่ให้มีหยดน้ำติดค้างอยู่

ในปี ๑๗๑๗ สเปนออกกฏให้ชาวไร่ยาสูบขายยาสูบให้แก่สเปนเท่านั้น ในปัจจุบันแม้ว่าทางรัฐบาลคิวบาจะอนุญาตให้ชาวไร่ส่วนบุคคลมีสิทธิมีที่ดินได้บ้าง แต่เอกสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายเป็นของรัฐแต่เพียงผู้เดียว

Santa Clara

เป็นเมืองที่เป็นหัวใจของชาวคิวบาทุกผู้ทุกนาม อยู่ไปทางทิศตะวันตก

ตอนเดินทางไปเมือง ซานตา คลาร่า Santa Clara เราต้องผ่านอ่าวของหมู (The Bay of Pigs) ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในปี ๑๙๖๑ ในช่วงนั้นโลกอยู่ในภาวะสงครามเย็น Cold War วันที่ ๑๔ เมษายน ปีเดียวกันนั่นเอง ชาวคิวบาที่อพยพไปอยู่อเมริกาจำนวน ๑๔๐๐ คน ได้รับการฝึกฝนจากซีไอเอ ด้วยความเห็นชอบของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เดินทางออกจากนิการากัวมุ่งไปยังคิวบาในเรือหกลำ วันรุ่งขึ้น เครื่องบิน บี๒๖ ของสหรัฐฯ ก็บินเข้าจู่โจมฐานทัพสามแห่งของคิวบา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึงเจ็ดคน และบาดเจ็บอีก ห้าสิบสามคน

ในวันที่ ๑๖ เดือนเดียวกัน กลุ่มพวกที่ต่อต้านการรัฐประหารในคิวบา ได้ลงจากเรือที่หาดของอ่าวคือ Playa Larga และ Playa Giron สหรัฐฯตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อกองทัพเรือของตนเข้าบุกคิวบา ประชาชนจะลุกฮือขึ้นมากำจัดเผด็จการฟิเดล คาสโตร แต่การกลับเป็นตรงกันข้าม ประชาชนในท้องที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลของตนเป็นอย่างดี กองทัพของคิวบา นำโดยนายพล ฟิเดลเองได้เตรียมตัวพร้อมไว้ล่วงหน้าแล้วหลังจากต่อสู้กันได้สามวัน คิวบาก็ได้ชัยชนะ

เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติการที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ เนื่องจากโซเวียตสนับสนุนคิวบาอยู่เบื้องหลัง สหรัฐฯจึงหยุดการช่วยเหลือทางอากาศ ปล่อยให้ผู้บุกรุกตกอยู่ในน้ำมือของคิวบา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารรับจ้าง รัฐบาลคิวบาจับผู้บุกรุกไว้ ส่งไปขึ้นศาล และหลังจากนั่นยี่สิบเดือนก็ปล่อยตัวไป แลกกับยาและเครื่องมือสำหรับโรงพยาบาลพร้อมอาหาร จากอเมริกา

ซานตา คลาร่า เป็นเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศคิวบา ก็เพราะเป็นสถานที่รบนอกแบบ (guerrilla war) ซึ่งวีระบุรุษ เช กูวาร่า Che Guevara ต่อสู้เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเอาชนะจากเผด็จการ บาติสต้าในปี ๑๙๕๘ ปัจจุบันซานตา คลาร่า ได้ชื่อว่า เป็นเมืองของวีระบุรุษที่รบนอกแบบ (the city of the heroic guerrilla) ถึงแม้ว่าเผด็จการ บาติสต้า จะใช้ทหารถึงสามพันคนในการป้องกันเมืองจากน้ำมือของพวกก่อการ แต่ เช กูวาร่าใช้ทหารกองโจรของเขาเพียงสามร้อยคนเท่านั้นเข้าโจมตีจนได้ชัยชนะและยึดเมืองซานตา คลาร่าไว้ได้ วันต่อมาบาติสต้าส่งทหารมาทาง รถไฟจำนวนสี่ร้อยแปดนาย พร้อมอาวุธเพียบเพื่อจัดการกับทหารของเช กูวาร่า แต่ด้วยยุทธวิธีที่ ฉลาด เช กูวาร่าและพวกได้ทำให้รถไฟตกราง

เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสงครามครั้งนี้ ทางเมืองได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นไว้ในที่ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองซานตา คลาร่า เรียกอนุสาวรีย์นี้ว่า Tren Blindado โดยใช้ของจริงทุกอย่างสำหรับลำดับความเป็นไปของเหตุการณ์ เช่นตู้รถไฟสี่ขบวนที่ใช้บรรทุกอาวุธ แผนผังการสู้รบของทหาร รูปภาพและอาวุธที่ใช้ นอกจากนั้นก็มีรถตีนตะขาบที่ใช้ในการขุดรางเพื่อให้รถไฟตกราง เนื่องจากฉันเป็นคนโรแมนติกจึงอดที่จะเข้าไปดูอนุสาวรีย์แห่งนี้โดยละเอียดไม่ได้

นอกจากนั้นก็มีสถานที่ๆน่าสนใจอีกหลายแห่ง แต่อยากจะเล่าเพียงที่สำคัญจริงๆอีกสองแห่งเท่านั้นคือ โรงละครการกุศลหรือ Teatro de la Caridad ที่เปิดตั้งแต่ปี ๑๘๘๕ภายในโรงละครมีร้านตัดผม ร้านอาหาร บอลล์รูมและห้องเล่นการพนัน รายได้ทั้งหมดนำไปบริจาคผู้ยากไร้ การตกแต่งข้างในสวยงาม มีช่อไฟ (chandeliers) บนเพดานเป็นเฟรสโคเป็นรูปภาพของ พหูสูต ประวัติศาสตร์ และชื่อเสียง (Genius, History, Fame) อยู่ด้วย

สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ใครก็ตามที่เป็นแฟนของ เช กูวาร่า จะพลาดเสียมิได้ ก็คืออนุสาวรีย์อันใหญ่โตของวีระบุรุษเอง สร้างขึ้นหลังจากที่ได้ชัยชนะจากสงครามเมืองซานตาคลาร่าได้สามสิบปี เพื่อระลึกถึงสงครามนั้น อนุสาวรีย์เปิดให้ชมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๑๙๘๘ ภายในบริเวณเป็นพิพิธภัณฑ์และสุสานของ เช กูวาร่า ฉันได้เข้าไปชมด้วยความสนใจ ด้วยความติดใจและมักจะมีคำถามในหัวใจเสมอถึงความกล้าหาญเสียสละของคนๆหนึ่งว่าเขาทำไปทำไม เพื่อเป็นการผจญภัย เพื่อช่วยเหลือคนที่มีโอกาสด้อยกว่า ฯลฯ จึงจำรายละเอียดมาเล่าให้คุณผู้อ่านฟังได้สบายๆ เคยเห็นคนใส่เสื้อยืดมีรูปของ เช กูวาร่า ติดที่หน้าอกในเมืองไทย สงสัยว่าคนที่ใส่เสื้อนั้นรู้จักไหมว่าบุรุษผู้นี้เป็นใครและมีความสำคัญอย่างไรต่อคิวบา

ที่เป็นจุดเด่นเห็นแต่ไกล คือ รูปปั้นทำด้วยบรอนซ์ของ เช กูวาร่า มือข้างหนึ่งใส่เฝือก เพราะหักในระหว่างการต่อสู้ ข้างใต้รูปปั้นเป็นบาสรีลีฟ (bas-relief)ที่มีรูปแกะสลักของการต่อสู้ในสงคราม มีคำอำลาของ เช กูวาร่า ที่เขียนไว้ก่อนที่เขาจะลาจากไปโบลีเวีย ข้างใต้อนุสาวรีย์เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของส่วนตัวของเขาไว้ เช่น กระเป๋าใส่ปืน เครื่องแบบ กล้องยาสูบ นาฬิกาข้อมือ กล้องถ่ายรูป ถ้วยน้ำชา หมวกแบเรต์ โทรศัพท์ที่เขาใช้ในระหว่างการต่อสู้ กล้องส่องทางไกลและวิทยุ ใกล้ๆกันเป็นถ้ำที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของเช กูวาร่าทางการคิวบาได้นำศพของเขาจากประเทศโบลิเวียมาฝังไว้ในปี ๑๙๙๗ ภายหลังจากที่เขาถูกยิงตายโดยซีไอเอถึงสามสิบปี มีไฟชั่วนิรันดร์จุดอยู่ตรงกลาง ตอนไปมีครูพานักเรียนกลุ่มใหญ่หลายกลุ่มมาคารวะศพ

เช กูวาร่า ถูกยิงตาย ในขณะที่คิวบากำลังฉลองชัยชนะสามสิบปีของการต่อสู้กับเผด็จการ เขามีอายุได้เพียงสามสิบเก้าปีเท่านั้น เขาได้รับเกียรติสถาปนาให้มีเชื้อชาติและสัญชาติคิวบาโดยกำเนิด เช กูวาร่า เกิดที่ประเทศอาร์เจนติน่า ได้พบ และรู้จักกับฟิเดล คาสโตรที่เม็กซิโกเขามีอาชีพเป็นหมอ แต่รักการผจญภัย ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคหืดหอบ ก็ไม่เคยท้อ มีจิตใจแห่งการเสียสละ ชอบอ่านหนังสือ พอๆกับเล่นกีฬา รักความสวยงาม มีอารมณ์ขันและชอบงานเขียน ไม่ว่าคุณสมบัติเหล่านี้จะมีจริงหรือไม่ เช กูวาร่า ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่น่าชื่นชมในอุดมการณ์ โลกคงจะน่าอยู่กว่านี่มาก หากมีคนเช่นเขาหลายๆคน

แม้แต่นายพลฟิเดล คาสโตรเอง ก็มีอุดมการณ์ที่น่าสรรเสริญยกย่อง มีความตั้งใจดีที่จะช่วยเหลือประชาชน เสียสละเพื่อประเทศชาติ แต่ว่าเขาควรจะเปลี่ยนความคิด หากว่าสิ่งที่เขาได้ทำไปตลอดระยะสี่สิบกว่าปี ไม่ได้ช่วยให้ประเทศพัฒนาและผู้คนยังยากไร้ ก็ได้แต่หวังว่าหลังจากที่เขาได้มอบอำนาจให้น้องชายแล้ว ประเทศคงจะดีขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนรวม มิใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Cienfuegos

Cienfuegos เชียนฟิวโกส เป็นชื่อของนายพลชาวสเปน Jose Cienfuegos ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นคือ ในปี ๑๘๑๙ เมื่อที่แห่งนี้ได้ถูกสถาปนาให้เป็นเมือง อันมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ Parque Marti ที่เคยเป็นจตุจัสแห่งกองทัพ Plaza de Armas มาก่อน ลักษณะของปาร์คเป็นรูปสี่เหลี่ยมใหญ่ ล้อมรอบไปด้วยตึกเก่าแก่ที่ได้รักษาไว้อย่างดี มีสิงห์โตยืนอยู่บนแท่น ล้อมรอบรูปปั้นของ นาย Jose Marti ซึ่งเป็นวีระบุรุษคนสำคัญที่ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระจากอำนาจของสเปน

นอกจากนั้นก็มี triumphal arc แห่งเดียวในคิวบา สร้างขึ้นเพื่อฉลองวันที่คิวบาได้เป็นสาธารณรัฐในปี ๑๙๐๒

สถานที่ๆน่าสนใจอีกแห่งหนึ่งก็ คือ โรงละคร Teatro Tomas Terry ที่สร้างขึ้นในระหว่างปี ๑๘๘๖ ถึง ๑๘๘๙ ตามพินัยกรรมของนาย ทอมัส แทรี่ ผู้เป็นเจ้าของโรงงานผลิตน้ำตาลอ้อย เขาร่ำรวยขึ้นด้วยการค้าทาส และได้กลายเป็น ลอร์ดแมร์ ของเมือง ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้อีกอย่างก็คือ ที่เมืองนี้ เป็นที่กำเนิดของดนตรีจังหวะ ชา ชา ช่า

นอกเมืองออกไป ใกล้ทะเลมีตึกใหญ่สวยสองชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี ๑๙๑๓ ถึง ๑๙๑๗ เจ้าของเคยเป็นนักธุรกิจค้าขายน้ำตาล ภายในตึกตกแต่งแบบโกธิค ผสมอาหรับและสเปนที่เคยเห็นในเมือง Granada และ Sevilleในสเปน ในสมัยที่เผด็จการบาติสต้าครองอำนาจเขาได้ใช้ตึกแห่งนี้เป็นกาสิโน Placio de Valle ปัจจุบันได้กลายเป็นร้านอาหารที่หรูไปแล้ว ตอนที่เดินเข้าไปในตึก แลเห็นการตกแต่งภายในด้วยสไตล์ที่เรียกว่า Neo-Moorish ดูอ่อนช้อยงดงาม มีหญิงชาวคิวบาในวัยกลางคนๆหนึ่งเล่นปีอาโนให้ฟัง เดินขึ้นบันไดผ่านชั้นสองไปจนถึงชั้นบนสุด เห็นหลังคาเรียบๆ มีหอคอยมุมหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับสุเหร่าของชาวอิสลาม ตรงกลางเป็นทางเดินมีหลังคาและสุดหลังคาแขวนระฆังเอาไว้ ส่วนอีกมุมหนึ่งมีลักษณะคล้ายป้อมปราการเล็กๆน่ารัก เห็นวิวทะเลชัดเจน เพราะอยู่ใกล้ๆกันนั่นเอง

Trinidad

เมื่อเอ่ยถึงเมืองนี้ กรุณาอย่าไปปนกับสาธาณะรัฐตรินิแดด เพราะเมืองตรินิแดดแห่งนี้อยู่ในสาธารณรัฐคิวบา ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกตั้งแต่ปี ๑๙๘๘ เคยเป็นศูนย์กลางการค้าอ้อย

และค้าทาส เนื่องจากตรินิแดดถูกปิดจากการติดต่อกับเมืองอื่นๆเป็นเวลานาน ตัวเมืองจึงรอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงมาได้ ภายในใจกลางเมืองที่เป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ มีบ้านที่เป็นแบบ Colonial ของสเปนอยู่อย่างหนาแน่น ไกด์บอกว่าบ้านหลายหลังได้ตกทอดมาจนถึงลูกหลาน ซึ่งยังคงอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว มีระเบียงที่มีหลังคายื่นขนานไปกับถนนน็น็

เที่เป็นหิน cobble หยาบๆได้มาจากแม่น้ำ ข้างหลังบ้านมีบริเวณที่ร่มรื่น

ปีนขึ้นไปบนหอคอยของโบสถ์ Iglesia y Covento de San Francisco เพื่อชมวิวของเมือง เข้าไปดู พิพิธภัณฑ์ Palacio Brunet ที่มีการรวบรวมเฟอร์นิเจอร์และสิ่งประดับต่างๆของเศรษฐีชาวตรินิแดดเอาไว้มากมาย ไปแวะชม Palacio Cantero ที่ไกด์บอกว่าเป็นเพชรน้ำงามที่สร้างขึ้นตอนต้นศตวรรษที่สิบเก้า เดี๋ยวนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของเมือง พอเข้าไปข้างในก็เห็นห้องโถงใหญ่ที่ปูด้วยหินอ่อนจากอิตาลี บนผนังและเพดานเป็นเฟรสโกสสีสวย เขาอนุญาตให้คนภายนอกขึ้นไปบนหอคอยของตึกได้จึงมีโอกาสเห็นวิวของใจกลางเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้โดยรอบ

มีถนนแคบๆจากถนนใหญ่ เห็นร้านตั้งเป็นแผงหลายร้าน ขายของที่ทำด้วยมือ เช่นผ้าปูโต๊ะ ที่รองแก้ว ผ้าพันคอ ฯลฯ ฝีมือไม่เลว แต่ไม่ได้ซื้ออะไร

ไกด์พาเดินไปถึงบ้านหลังหนึ่งที่ใช้เป็นบาร์ เรียกว่า Canchanchara คานชานชาร่า สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบแปด มีวงดนตรี กำลังบรรเพลงเร้าใจเช่นเคยอยู่พอดี พอนั่งพักได้สักครู่ก็มีคนยกเอาค็อกเทลที่มีชื่อเดียวกับบาร์มาเสริฟ คานชานชาร่า ผสมด้วยรัม น้ำมะนาว น้ำสะอาดและน้ำผึ้ง ใส่มาในถ้วยกลมใหญ่ที่ทำด้วยดินเผา มีหลอดดูดมาให้ด้วย คานชานชาร่าดื่มอร่อยแก้กระหายและชื่นใจดี

ถึงแม้ว่าจะไม่ไปหยุดที่ไหนเลย การเดินเล่นเฉยๆไปเรื่อยๆในเมืองนี้ก็คุ้ม เพราะได้เห็นบ้านเก่าสีสวยมากมาย แต่ต้องไม่ลืมใส่รองเท้าสบายๆมาด้วย ที่ไม่ใช่รองเท้าแตะ แม้ว่าอากาศจะร้อนก็ตาม ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหญิงชาวคิวบา ไม่นุ่งอะไรมากเลย นอกจากกางเกงขาสั้น เสื้อไม่มีแขน ไม่ว่าจะมีรูปร่างดีหรือไม่ดี ไม่มีใครใส่ใจ

Camaguey

เมืองคามากุยตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างใหญ่อันเขียวชะอุ่ม เท่าที่นั่งรถผ่านมา จากฮาวานาไปทางตะวันตกถึงเมือง เห็นภูมิประเทศที่สวยงามของคิวบา ด้วยเหตุที่เป็นประเทศในเขตร้อน มีฝนตกชุก ประกอบกับพื้นดินที่บริบูรณ์ จึงมีต้นไม้ในเขตร้อนขึ้นมาก โดยเฉพาะต้นปาล์ม ต้นมะพร้าว สลับด้วยทุ่งหญ้าที่มีต้นไม้จำพวกมะม่วงมีลูกขึ้นอยู่เต็มต้นทุกแห่ง มีต้นส้มมากมาย มีไม้ยืนต้นเช่นมะฮอกกานี ต้นตะโก ดอกไม้ก็มีดอกชบาสีสวย ดอกไม้ประจำชาติของคิวบาคือดอกมะลิชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอม เรียกว่า mariposa หรือ butterfly jasmine ไร่ยาสูบและไร่อ้อยขึ้นอยู่หนาแน่น ตามเชิงเขามีต้นไม้เช่นต้นสน ต้นไม้ใหญ่ๆที่ให้ร่มเงาและสลัดใบ มีไร่กาแฟ และต้นโกโก้ น่าเสียดายที่การจัดการประเทศไม่มีประสิทธิภาพพอ จึงทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ในทะเลก็อุดมด้วยปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ แต่ทางการไม่อนุญาตให้จับปลาได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นการไปกินอาหารในร้านอาหารและสั่งปลาจะต้องถามว่าจับได้ในวันนั้นหรือไม่

เมืองคามากุยเป็นเมืองที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร ตั้งอยู่ริมทะเล มีถนนที่คดเคี้ยวลดเลี้ยวไปมา ยากต่อการขับรถ หากไม่ชำนาญทางจริงๆ ผิดกับเมืองอื่นๆในคิวบา เพราะถนนนี้สร้างขึ้นเพื่อความอยู่รอดจากน้ำมือของศตรูที่จะเข้ามาจู่โจม มีโบสถ์และสิ่งก่อสร้างในแบบของโคโลเนียลที่กล่าวถึงแล้วในหลายๆเมืองที่ผ่านมา เป็นเมืองที่มีสีสันน่าดู แต่ก็มีตึกหลายหลังที่ทรุดโทรมรอการซ่อมแซม

Santiago de Cuba

หลังอาหารเช้าในเมืองคามากุย เราเดินทางต่อไปยังเมือง ซานติอาโก เดอะ คิวบา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญมากอีกเมืองหนึ่งของคิวบา เพราะมีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นมากมายทั้งในสงครามต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากสเปน และการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระจากเผด็จการบาติสต้า ด้านตะวันตกเป็น ภูเขา Sierra Maestro ที่ฟิเดลคาสโตรและพรรคพวกไปซ่องสุมผู้คนและวางแผน สำหรับทำปฏิวัติ

ฐานทัพอเมริกัน กวนตานาโม Guantanamo อยู่ไม่ไกลออกไปเท่าไรนัก ความจริงอเมริกาเช่าฐานทัพนี้จากคิวบาตั้งแต่ได้ชัยชนะสงครามจากสเปนในปี ๑๙๐๓ มีสัญญาเช่าถึงเก้าสิบเก้าปี ไปสิ้นสุดลงในปี ๒๐๐๒ โดยให้ค่าเช่าปีละ ๒๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ ถึงแม้จะมีข่าวว่าคิวบาคืนเงินค่าเช่าไปตั้งแต่ ๑๙๕๙ เพราะเหตุการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างสองประเทศในช่วงสงครามเย็น ในขณะที่เมียๆของพวกทหารอเมริกันทั้งหลายไปซื้อของได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีสินค้านำเข้าทางเครื่องบินจากอเมริกาเพียบ แถมยังมีสถานีวิทยุภาคภาษาอังกฤษให้ฟังถึงสองสถานี มีสถานีโทรทัศน์อีกต่างหาก ในขณะที่ชาวเพียวโต ริกัน ต้องทำงานจิปาถะทั่วไปที่ต้องใช้แรงเข้าช่วย

เพลง Guantanamera ก็ถือกำเนิดมาจากเมืองนี้ ผู้แต่งคือ นาย โฮเซโต เฟอร์นานเดซ Joseito Fernandez

ไปแวะที่เมือง Bayamo หรือ”The Rebellious” พวกหัวรุนแรง บายาโมเป็นเมืองเก่าแก่ที่สองของคิวบา การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพจากสเปนมีมาแต่ไหนแต่ไร แต่เหตุการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๑๘๖๘ เมื่อกลุ่มผู้ที่รักชาติยิ่งชีพและกลุ่มปัญญาชน ได้รวมตัวกันวางแผนในการยึดเมือง บายาโม่ มาจากสเปน พอวันที่ ๒๐ พวกเขาก็ประกาศให้เมืองเป็นสาธารณรัฐ เป็นอิสระจากสเปน

ในวันที่ ๑๒ มกราคม ในปีต่อมา พอได้ข่าวว่าทหารสเปนจะเข้ายึดเมืองกลับคืน ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันเผาเมืองจนวอดวาย เพราะฉะนั้นตึกรามที่อยู่ในใจกลางเมืองที่เห็นอยู่ในปัจจุบันจึงไม่ใช่ของเดิม

ชาวเมืองมาทำกิจกรรมหลากหลายในจัตุรัสกลางเมือง อันมีรูปปั้นของเจ้าของไร่ วีระบุรุษอีกคนหนึ่งในสงครามอิสรภาพ ติดกับจัตุรัสแห่งนี้ ยังมีจัตุรัสอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า Plaza del Himmo (Square of the Hymn) ซึ่งได้มาจากเพลงชาติของคิวบาคือ La Bayamesa ที่ถือกำเนิดจากการเผาเมืองในครั้งนั้น เพลงชาติถูกเล่นเป็นครั้งแรกในโบสถ์ใกล้ๆกันในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๑๘๖๘ ที่จัตุรัสมีแผ่นบรอนซ์แกะสลักเนื้อเพลงชาติไว้ มีรูปปั้นของนาย Perucho Figueredo ซึ่งเป็นผู้แต่งเพลงทั้งเนื้อและทำนองตั้งไว้ด้วย เพลงชาติของคิวบาขึ้นต้นก็เร้าใจให้ออกไปทำสงครามเพื่อชาติเสียแล้ว Al combate cored Bayameses (Run to battle, people of Bayamo) วิ่งสิ วิ่งไปสนามรบ สหายชาวบายาโม

El Cobre

ออกจากบายาโม เราเดินทาง เลียบไปตามริมฝั่งทะเล จนมาถึงหมู่บ้าน El Cobre ซึ่งอยู่ห่างจาก ซานติอาโก เดอ คิวบา ออกไปประมาณยี่สิบกิโลเมตร ในอดีตแร่ทองแดงมีชื่อมากในหมู่บ้านนี้ จึงได้ชื่อว่า Cobre ทาสเป็นจำนวนมากถูกเกณฑ์ให้มาทำงานในเหมืองขุดแร่จนถึงปี ๑๘๐๗ จึงได้ปิดตัวลง ในปัจจุบันยังมีแร่หลงเหลืออยู่บ้าง

จากถนนเบื้องล่างแลเห็นโบสถ์ Basilica เด่นอยู่บนเนินเขา ท่ามกลางป่าไม้ในเขตร้อนอันเขียวชอุ่ม โบสถ์ the Basilica de Nuestra Senora de la Caridad del Cobre เป็นสถานที่ “ธุดงค์” Pilgrimage ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในคิวบา ภายในโบสถ์มีรูปปั้นพระแม่มารีอาอยู่ข้างใน (the Virgen del Colbre)

ตำนานเล่าว่า ในปี ๑๖๐๖ ทาสสามคนที่ทำงานในเหมืองแร่ทองแดง เอาเรือออกทะเล แต่บังเอิญเรือเกิดล่ม จนทั้งสามเกือบจะจมน้ำตาย ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรูปปั้นของพระแม่มารีอาผู้บริสุทธิ์ที่ลอยอยู่กลางทะเล พระนางมีผิวสีดำ อุ้มพระเยซูอยู่ในอ้อมแขนข้างซ้าย ส่วนแขนข้างขวาถือไม้กางเขนทอง มีป้ายเขียนไว้ว่า I’m the Virgin de la Caridad” “เราเป็นพระแม่บริสุทธิ์แห่งความเมตตา” ด้วยซาบซึ้งในบุญคุณ ที่ช่วยชีวิตไว้ ทาสทั้งสามจึงนำเอารูปปั้นนี้ไปไว้ที่เหมืองแร่ทองแดง

อันที่จริง รูปปั้นรูปนี้ได้ถูกส่งมาจากสเปน เพราะผู้ว่าราชการของเมือง ได้ขอรูปปั้น Madonna ที่มีศิลปะแบบสเปน สำหรับไว้เป็นเครื่องสักการะในหมู่บ้าน El Cobre โดยเฉพาะ ไม่ว่าเรื่องราวที่เป็นจริงจะเป็นอย่างไร ในปี ๑๖๑๑ รูปปั้นของพระแม่มารีอา ได้ถูกนำมาตั้งไว้ในห้องพิเศษภายในโบสถ์ ตั้งแต่นั้นมา พระนางก็เป็นที่เคารพ สักการะ ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งต่างก็ยกย่องสรรเสริญว่ารูปปั้นได้สร้างปาฏิหาริย์มากมาย ความเลื่อมใสในพระแม่มารีอามีอยู่สูงมาก แม้แต่ ชาวคาธอลิคที่เลิกไปโบสถ์แล้ว ก็ยังมากราบไหว้บูชารูปปั้นของ Madonna ในที่สุดรูปปั้นก็ได้รับการเสกเป่าจากพระสันตปาปา จอห์น พอล ที่สอง John Paul II ให้เป็นรูปปั้นศักดิ์สิทธิ์

บางคนเชื่อว่ารูปปั้นนี้มีความสัมพันธ์กับพวกที่นับถือนิกาย แอฟโฟรคิวบา (Afro-uban) ซึ่งกำหนดให้ Black Madonna เป็น พระแม่แห่งแม่น้ำ แห่งความอ่อนโยน ความเป็นสตรีเพศ และความรัก เป็นหญิงสาวสวยผิวดำแต่งชุดสีเหลือง ถึงแม้ว่าความเชื่อนี้จะขัดแย้งต่อความเชื่อในศาสนาคาธอลิค แต่ก็เป็นความเชื่อที่ยอมรับกันทั่วไปในประเทศ โบสถ์ที่เห็นในปัจจุบันสร้างเสร็จในปี ๑๙๒๗ เป็นโบสถ์แบบ Basilica แห่งเดียวในคิวบา เมื่อสร้างโบสถ์เสร็จแล้ว เขาก็นำเอารูปปั้นมาไว้ที่นี่ แม้ว่ารูปปั้นนี้จะสร้างปาฎิหารย์มากมาย แต่เป็นรูปปั้นที่เล็กมากวัดได้เพียง ๔๐ เซ็นติเมตรเท่านั้น จากมงกุฎถึงเท้า

เมืองซานติอาโก เดอ คิวบา เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านเทศกาลต่างๆ เป็นเมืองที่ชาวเมืองภูมิใจว่าเป็น “แหล่งกำเนิดของการปฏิวัติ” ในคิวบา ซานติอาโก ถูกขนาบข้าง ด้วยภูเขา Sierra Maestra และทะเล มีพลเมืองมากเป็นที่สองรองจากฮาวานา มีสถานที่น่าชมหลายแห่ง แห่งหนึ่งที่เราเลือกไปเที่ยวคือ สุสาน Cementerio de Santa Ifigenia ซึ่งเป็นสุสานที่สำคัญและใหญ่เป็นที่สองรองลงมาจากสุสานในฮาวานา มีสุสานของบุคคลสำคัญหลายนายเช่น นาย Jose Marti นาย Emilio Bacardi ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดเครื่องดื่มชื่อเดียวกัน และอีกหลายคน

ได้คุยเรื่องอื่นๆมามากแล้ว คุณผู้อ่านคงอยากทราบว่า อาหารหลักของชาวคิวบาคืออะไร? อาหารของคิวบาได้อิทธิพลมาจาก สเปน อัฟริกัน และชาวพื้นเมือง อินเดีย ซึ่งมักจะมีข้าวโพด มะเขือเทศ มันฝรั่ง เผือก พริกตุ้ม ฟักทอง และกะหล่ำปลี เป็นต้น กินกับเนื้อจำพวกไก่และหมู โดยเฉพาะหมูย่างมีให้กินทั้งปี แต่ข้าวที่เขากินกันโดยมากจะผสมมากับถั่วดำ ถ้าจะสั่งข้าวขาวต้องสั่งเป็นพิเศษเรียกว่า arroz แต่ในความรู้สึกของตนเองคิดว่า ถ้าได้กินอาหารจำพวกปลาสดๆจะดีที่สุด เพราะอาหารทุกชนิดมักจะผสมแป้งมากไป ด้วยเหตุนี้ก็ได้ ที่ชาวคิวบาจึงมีรูปร่างอ้วนใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ

ในวันรุ่งขึ้นเราออกจากซานติอาโก เดอ คิวบา เพื่อไปเมือง โฮลกิน Holguin ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลและเป็นสถานที่ตากอากาศ ไกด์พาเราไปกินอาหารกลางวันที่จุดดูวิวนอกเมืองเรียกว่า Mirador de Mayabe ห่างจากเมืองไปประมาณสิบกิโลเมตร จากจุดนี้สามารถมองเห็นหุบเขาเบื้องล่างที่มีเรือกสวนผลไม้ต่างๆ มีฟาร์มเล็กๆที่มีบ้านมุงหลังคาด้วยใบปาล์ม พื้นเป็นดิน มีเล้าไก่ นอกจากนั้นในบริเวณยังมี โอ่งสำหรับใส่น้ำอีกต่างหาก

ก่อนจะพาเราไปส่งที่สนามบิน ไกด์พาไปหยุดที่ร้านขายเครื่องดื่มที่มีลาดื่มเบียร์ได้ด้วยเป็นจุดเด่น พอดื่มเสร็จ เจ้าของก็ป้อนแซนด์วิชให้มันกินเป็นรางวัล การเดินทางทางรถจากฮาวานาถึงสนามบินโฮลกินเป็นระยะทางทั้งหมด หนึ่งพันเก้าร้อยกิโลเมตร

จากสนามบิน โฮลกิน เราต้องบินกลับไปฮาวานา เพื่อต่อเครื่องบิน กลับเมืองซูริค เป็นครั้งแรกในชีวิตการเดินทาง ที่สับเพร่าไม่ได้ล็อกกระเป๋าถือที่เช็คอิน จึงปรากฏว่ากระเป๋าเครื่องสำอางชุดเล็กที่วางไว้ข้างบนเสื้อผ้าถูกขโมยไป ไม่ได้เสียดาย แต่เสียใจในความไม่ระมัดระวังของตนเอง เพราะของพวกนี้มีค่าเสมอสำหรับผู้คนที่มีรายได้สองร้อยเปโซต่อเดือน

ก่อนออกจากสวิสไปคิวบา ได้ซื้อสบู่หอมสำหรับฟอกตัวใส่กระเป๋าหนังไปจนเต็มกระเป๋า พร้อมกับปากกาลูกลื่นหลายโหล เพราะคิดว่าคงจะมีประโยชน์มากสำหรับชาวบ้านที่ไกลจากความสมบูรณ์ ตลอดทางที่นั่งไปในรถตามชนบท ได้ขอร้องให้คนขับรถและไกด์ ช่วยสอดสายตามองหาโรงเรียนและหญิงมีอายุ เพื่อจะได้แจกของที่นำเอาติดตัวมา นานๆครั้งก็จะเห็นหญิงมีอายุนั่งกันเป็นกลุ่มบ้าง อยู่คนเดียวบ้าง เราก็จะหยุดรถ เอาของไปแจก พวกเขาดีใจมากที่ได้ของพวกนี้ เพราะไม่อาจหาซื้อได้ด้วยเงินเปโซอันน้อยนิด แต่ที่ทำให้ฉันต้องน้ำตาคลอก็ตอนที่ เราไปหยุดที่บ้านหลังหนึ่งห่างไกลผู้คน มีหญิงคนหนึ่งเดินออกมา ครั้งแรกเธอแปลกใจที่เห็นพวกเรา ไกด์ก็เลยอธิบายว่า มาทำไม แล้วก็ยื่นสบู่ให้ เธอขอบอกขอบใจให้ศีลให้พร พร้อมกับเล่าว่าอยู่ตัวคนเดียว เจ็บออดๆแอดๆ ลูกหลานไปทำงานในเมืองกันหมด แล้วเธอก็เฝ้าแต่ดมสบู่ด้วยความดีใจ เราไม่ได้หวังอะไร เพียงแต่มีความเอื้ออาทรให้แก่พวกเขาเท่านั้น ถ้าเรามีชีวิตที่ดีกว่า การแบ่งปันเล็กๆน้อยๆย่อมนำความสุขใจมาให้เสมอ โดยไม่ต้องการให้มีใครมาล่วงรู้ ไม่ต้องการเป็นจุดเด่นต่อหน้ากล้องไม่ต้องการให้ใครมายกยอว่าเป็นคนใจดี มีเมตตา สมกับคำกล่าวว่า

It’s better to give than to receive.

จบ