ตามรอยชนเผ่าอินค่า (ตอนที่ ๑)

สนามบิน มาริสคาล ซูเคร (Mariscal Sucre) ของ คีโต้ ตั้งอยู่ระหว่างหุบเขาสูง ๒๘๕๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล บนเทือกเขาแอนเดส (Andes) ทั้งสองด้านของรันเวย์ มีบ้านเรือนตึกรามสร้างอยู่อย่างหนาแน่น คาดว่าในสมัยที่เริ่มสร้าง สนามบินคงจะตั้งอยู่ไกลจากใจกลางเมืองพอสมควร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมืองเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ผู้คนที่ต้องการชีวิตที่ดีกว่าพากันอพยพจากที่ต่างๆมาตั้งบ้านเรือนในแถบนี้อย่างหนาแน่น ขณะที่เครื่องบินประจำชาติของสเปนร่อนลง เพ็ญมองนอกหน้าต่างออกไป รู้สึกเสียวไส้เป็นกำลัง ด้วยเกรงว่าเครื่องบินจะไปชนกับตึกหลังใดหลังหนึ่งเข้า แต่เหตุการณ์ร้ายที่กริ่งเกรงก็ไม่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นเพ็ญก็คงจะไม่มีโอกาสมานั่งเล่า (เขียน) เรื่องของประเทศในอเมริกาใต้ให้คุณผู้อ่านฟัง

เพ็ญและฮันส์บินจากซูริคมาตั้งแต่เช้าตรู่ ไปเปลี่ยนเครื่องที่แมดดริด ใช้เวลาบินจากเมืองหลวงของสเปนเพียงสิบเอ็ดชั่วโมงเศษๆก็ถึงคีโต้ แต่เนื่องจากเวลาในสวิสเร็วกว่าเจ็ดชั่วโมงจึงมาถึงเมืองหลวงของประเทศเอเควดอร์ (Equador) ในเวลาประมาณบ่ายสี่โมง

แม้ว่าอุณหภูมิในขณะนั้นจะอยู่ในราวยี่สิบเอ็ดองศาเศษๆ แต่แสงแดดที่ร้อนแรงจนแสบตาของประเทศที่ตั้งอยู่ในใจกลางของโลกต้องทำให้เพ็ญหยิบเอาแว่นกันแดดออกมาสรวม

ไกด์ชาวเอเควดอร์พร้อมรถและคนขับมารอรับอยู่ที่สนามบิน หลังจากที่ได้ส่งทั้งสองคนเข้าโรงแรมที่พักแล้ว อิสซาเอลก็ลาจากไป สัญญาว่าจะมารับไปดูเมืองในเช้าวันรุ่งขึ้น

โรงแรมตั้งอยู่บนถนนอเมซอน (Avenue Amazonas) ซึ่งเป็นถนนสายยาวที่สุดของเมืองใหม่ของคีโต้ ไม่ไกลจากสนามบินเท่าไรนัก หลังจากที่เช็คอินแล้ว ฮันส์และเพ็ญชวนกันไปสำรวจร้านรวงและบ้านเรือนใกล้ๆโรงแรม ทั้งคู่ต่างลืมเอาหมวกติดกระเป๋ามาด้วย หมวกจำเป็นมากสำหรับประเทศในแถบนี้ของโลก ชื่อของประเทศก็บอกอยู่แล้วว่าตั้งอยู่ในใจกลางของเส้นศูนย์สูตร Equator หรือ Mitad del Mundo

ฮันส์ซื้อหมวกแก๊บได้ใบหนึ่ง ส่วนเพ็ญตั้งใจไว้ว่าไหนๆมาถึงประเทศนี้แล้วก็จะซื้อหมวกปานาม่าสักใบหนึ่งเอาไว้ใส่กันแดดและเก็บไว้ป็นที่ระลึก หากยังจำกันได้ประธานาธิบดี Roosevelt ของสหรัฐฯ และแม้แต่กษัตริย์เอ็ดเวิรด์ที่เจ็ดของอังกฤษต่างก็สรวมหมวกปานาม่ากันจนแทบจะเป็นสัญญลักษณ์ประจำตัว ความจริงหมวกปานาม่าทำขึ้นในประเทศเอเควดอร์ จากใบของต้นปาล์มที่ขึ้นเฉพาะในประเทศนี้ แต่ตอนส่งออก ผู้ส่งต้องอาศัยเส้นทางซึ่งผ่านช่องแคบปานาม่าไปอมริกา ด้วยเหตุนี้หมวกจึงได้ถูกขนานนามผิดๆว่าหมวกปานาม่า แบบกล้วยทอดอร่อยๆของไทยก็ยกไปให้เป็นกล้วยแขก ส่วนขนมเบื้องที่ขึ้นชื่อก็ไปยกให้เป็นขนมเบื้องญวน ในขณะที่มวยไทยซึ่งมีต้นกำเนิดในประเทศไทยแท้ๆจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ปล่อยให้ฝรั่งเลียนแบบไปเรียกว่า Kick Boxing ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจัดการจดทะเบียนว่าต้นกำเนิดมาจากประเทศไทยแล้วหรือยัง

ชาวสเปนที่มาสร้างอาณานิคมในดินแดนแถบนี้ได้เลียนแบบหมวกส่งออกไปขายในยุโรปเป็นจำนวนมาก นิทรรศการที่จัดขึ้นในกรุงปารีสในสมัยหนึ่งก็มีส่วนช่วยให้ชื่อเสียงของหมวกขจรขจายไปทั่วทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งทหารของอเมริกาและของสเปนต่างก็สรวมหมวกปานาม่ากันเป็นเอิกเกริกในระหว่างสงครามสเปนและสหรัฐฯ ในปี ๑๘๙๘

ก็ยิ่งทำให้หมวกแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จนแม้แต่ก๊อดฟาเธอร์ของพวกมาเฟียเอง ต่างก็นิยมสรวมหมวกปานาม่าด้วยกันทั้งสิ้น หากในปัจจุบันการทำหมวกเริ่มจะน้อยลง คาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคงจะไม่มีใครรู้จักหมวกปานาม่ากันต่อไป

วันรุ่งขึ้นอิสซาเอลมารับไปดูเมือง คีโต้เป็นเมืองใหญ่เป็นที่สองของประเทศรองลงมาจากเมือง “กัวยาคิล” Guayaquil เมืองหลวงของเอเควดอร์แบ่งออกเป็นเมืองใหม่และเมืองเก่า เมืองใหม่ก็เหมือนกับเมืองหลวงส่วนใหญ่ทั่วๆไปประกอบไปด้วยตึกรามทันสมัย สายการบิน ธนาคาร สถานที่ราชการ ร้านอาหารและร้านกาแฟรวมทั้งโรงแรมชั้นดีเช่นโรงแรมที่พักของเพ็ญ ส่วนเมืองเก่าซึ่งมีตึกรามสร้างขึ้นในสมัยที่สเปนมาสร้างอาณานิคมอยู่มากมาย จึงได้รับการสถาปนาให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ทางรัฐบาลจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ เห็นได้ชัดว่ามีการบูรณะซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลาเพราะได้รับงบประมาณมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

สิ่งแรกที่ปรากฎแก่สายตาของเพ็ญในเช้าวันแรกก็คือรูปปั้น La Virgen de Quito ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ El Panecillo แปลว่า เขาขนมปังปอนด์เล็ก เห็นเด่นแต่ไกลไปทั่วเมือง เป็นรูปปั้นพระแม่มารีบริสุทธิ์ จากเนินเขาจะแลเห็นคีโต้ได้โดยรอบรวมถึงภูเขาไฟที่ล้อมรอบบริเวณนั้น มีบันไดที่ไต่ขึ้นไปได้จากตัวเมือง แต่อิสซาเอลไม่ยอมพาขึ้นไปทางนั้น ด้วยเกรงอันตรายจากการถูกปล้นและถูกทำร้ายแม้แต่ในเวลากลางวันแสกๆ เพราะอาชญกรรมที่ค่อนข้างสูงในประเทศที่มีคนตกงานอยู่มากมาย

เมืองเก่าของคีโต้สมควรแล้วที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกของโลก เพราะมีตึกโบราณที่น่าสนใจของสเปนยังเหลือให้เห็นอีกมากมาย สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการก่อสร้างในสมัยนั้นก็คือ จตุรัสใหญ่กลางใจเมือง มีผู้คนนักพักผ่อน และเดินกันอยู่ขวักไขว่ มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งสร้างอยู่โดยรอบ มีโบสถ์สวยงาม ถึงแม้ว่าจะต้องเดินไปตามถนนแคบๆจอแจไปด้วยรถราที่พ่นควันดำปี๋เข้าใส่ในขณะที่ตำรวจจราจรต่างก็เป่านกหวีดโบกให้รถได้วิ่งสัญจรไปมาโดยสะดวกบนถนนส่วนใหญ่ที่เป็น one way ต้องผ่านชาวเมืองในชุดประจำชาติที่ยื้อแย่งตะโกนแข่งกันเรียกลูกค้าเพื่อขายสินค้าและของที่ระลึกของตน เพ็ญก็ไม่ย่อท้อ กลับรู้สึกสนุกไปกับสีสันและบรรยากาศของเมืองเก่าของคีโต้เสียอีก

อีสซาเอลพาเดินผ่านจตุรัสเอกราช Plaza de la Indepedencia ซึ่งเพ็ญหมายตาว่าจะกลับมาอีกตอนบ่ายเพื่อนั่งดูชาวเมืองปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตน ในเช้าวันนั้น มีเด็กนักเรียนทั้งหญิงและชายในเครื่องกีฬาสีต่างๆออกมาร่วมชุมนุมฉลองวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศ วงดนตรีของทหารบรรเลงกันครื้นเครง มีการเดินพาเหรดของทหารม้าและตำรวจ ทุกคนร่าเริงแจ่มใส ไม่มีสิ่งใดที่ส่อให้เห็นถึงความยากไร้แม้แต่สักนิดเดียว

ล้อมรอบจตุรัสมีตึกโบราณที่สำคัญหลายหลัง ในจำนวนนี้ ตึกเตี้ยสีขาวเป็นตึกที่ทำการของประธานาธิบดี อีกด้านหนึ่งเป็น Cathedral ภายในบรรจุรูปภาพที่น่าสนใจหลายภาพ มีหลุมฝังศพของคนสำคัญคนหนึ่งของ คีโต้ คือ มาริสคาล ซูเคร ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับสนามบินของคีโต้ คำว่า มาริสคาล หมายถึง Marshal ในภาษาอังกฤษ จอมพล ซูเคร เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อสู้เพื่อปลดแอกของคีโต้จากสเปน จึงได้รับการยกย่องจากชาวเมืองเป็นอย่างสูง

ที่เพ็ญเห็นว่าน่าสนใจที่สุดก็คือโบสถ์ La Compania de Jesus ดูภายนอกไม่มีอะไรน่าสนใจ หากว่าภายในโบสถ์มีทองหนักถึงเจ็ดตันประดับอยู่ทั่วไป ทั้งบนฝาผนัง เพดาน และหมู่แท่นที่บูชา ชาวเมืองคีโต้หรือ Quitenos คีเต้โยส ถือว่าโบสถ์แห่งนี้สวยที่สุดในประเทศ ใช้เวลาสร้างถึงหนึ่งร้อยหกสิบสามปี

“ฮันส์รู้ไหมว่า ทองตั้งเยอะแยะของชาวเผ่าอินค่าหายไปไหนหมด?” เพ็ญถามสามีเล่นๆ

“พวกสเปนที่ล่าอาณานิคม” ฮันส์ทับศัพย์ว่า conquistadors “คงจะขโมยขึ้นเรือขนกลับประเทศของตนไปเสียเยอะแยะกระมังในฐานะผู้ที่เป็นเจ้าเข้าครอง ยึดอะไรได้ก็ยึดไป ที่เหลือแบ่งให้พระสงฆ์คาธอลิคเอาไปสร้างโบสถ์ที่เราเห็นๆกันนี่แหละ แล้วจะมีทองที่ไหนเหลือ?”

ชาวเผ่าอินค่า (Inca) นับถือพระอาทิตย์เป็นพระเจ้า เรียกตนเองว่า บุตรของพระอาทิตย์ (The Son of the Sun) ก่อนปี ๑๔๓๐ มีอาณาเขตดั้งเดิมอยู่ในหุบเขาของเมือง คุซโค่ (Cuzco) ประเทศเปรู แล้วก็รบราและรุกรานแผ่ขยายอาณาจักรของตนครอบคลุมไปจนถึงทางตอนใต้ของประเทศโคลัมเบียในสมัยนี้ จนจรดตอนกลางของประเทศชิลี แม้ว่าอาณาจักรของเผ่าอินค่าจะรุ่งโรจน์อยู่ช่วงเวลาอันสั้นเพียงร้อยกว่าปีเท่านั้น แต่ก็มีวัฒนธรรม ประเพณีและสถาปัตยกรรมอันเลอเลิศเป็นของตนเอง ได้สร้างป้อมปราการบนยอดเขาไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่ “มาชู พิชชู่” Machu Picchu ที่เมืองคุซโค่ ซึ่งเคยเป็นอาณาเขตดั้งเดิมของตน เพ็ญจะพาผู้อ่านไปเที่ยวด้วยกันในตอนต่อๆไปเมื่อไปถึงประเทศเปรูแล้ว เพราะมาชู พิชชู่ เป็นสิ่งก่อสร้างพิเศษของเผ่าอินค่า มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ใครๆที่ไปประเทศเปรูจะต้องหาโอกาสขึ้นไปชมป้อมปราการแห่งนี้

ทว่าอาณาจักรอินค่าต้องล่มสลายไปประมาณกลางศตวรรษที่สิบหก เพราะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างลูกน้องของ อินค่า อัวสค่าร์ (Huascar) ที่มีอาณาจักรอยู่ที่เมือง คุซโค่ และพรรคพวกของ อาทาอวรป้า (Atahualpa) ซึ่งเป็นพี่ชายคนละแม่ มีอาณาจักรอยู่ที่คีโต้ พวกล่าอาณานิคมชาวสเปน หรือพวก conquistadors ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา พร้อมกับค้นหาทองไปบำรุงทำนุประเทศของตน จึงถือโอกาสเข้าแทรกแซงความไม่กลมเกลียวกันของเผ่าอินค่า จนในที่สุดสามารถยึดเอาอาณาจักรแถบนี้ไปเป็นของตนได้สำเร็จ

ชาวสเปนเสวยความสุขชั้นสวรรค์วิมารอยู่ในดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่ ในขณะที่ชาวพื้นเมืองจมอยู่กับความทุกข์ยากจากการถูกกดขี่เยี่ยงทาษให้ทำงานหนัก เพื่อเสนอสนองความต้องการของเจ้านาย แม้ว่าในระยะนั้นประเทศจะมีความสงบปราศจากสงครามกลางเมืองดังที่เคยเป็นมา แต่ก็เป็นความสงบที่มีกระแสใต้น้ำปั่นป่วนอันเกิดจากความขุ่นเคืองโกรธแค้นของเจ้าของดินแดนดั้งเดิม จนเป็นเหตุให้เกิดการปฎิวัติต่อต้านชาวสเปนหลายครั้งในระหว่างศตวรรษที่สิบแปด ซึ่งได้สร้างวีระบุรุษขึ้นหลายคนในช่วงนี้

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับศาสนาในคีโต้ มีลักษณะเฉพาะเป็นแบบของตนเอง ไม่เหมือนที่ใด ช่างก่อสร้างชาวพื้นเมือง ได้รับการฝึกฝนให้ออกบบ และสร้างโบสถ์ตามแนวความคิดทางศาสนา และความเชื่อในศาสนาคาธอลิคของสเปน หากว่าพวกเขาก็แก้ไข และเปลี่ยนแปลงสิ่งก่อสร้าง ให้เป็นไปในลักษณะที่เชื่อมโยงเข้ากันได้และเหมาะสมกับขนบธรรมเนียมและความศรัทธาในรูปแบบที่กลมกลืนไปกับความเชื่อของตนเอง จนเกิดศิลปะในแบบที่ไม่เหมือนศิลปะที่ใดเรียกว่า escuela quitena (Quito School) น่าเสียดายที่ศิลปะดังกล่าวได้สาบสูญไปหลังจากที่ประเทศได้รับเอกราชจากสเปน

ในสมัยก่อน คีโต้เคยเป็นเมืองที่สำคัญของเผ่าอินค่าแต่ถูกทำลายไปด้วยพวกเดียวกันเอง ก่อนที่พวกล่าอาณานิคมจะเข้ามายึดครอง คีโต้ในปัจจุบันสร้างขึ้นแทนเมืองที่ถูกทำลายจนวอดวาย ในปี ๑๕๓๔ เลยไม่มีสิ่งก่อสร้างเก่าๆแม้แต่ชิ้นเดียวเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น

ขณะที่พักกินกาแฟกันอยู่บนจตุรัสหน้าโบสถ์ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง เห็นภูเขาไฟ พิชินช่า Pichincha สูงเสียบยอดฟ้าอยู่ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นตลาดขายของจิปาถะ อิสซาเอลเตือนว่าถ้าเดินไปตามถนนในตลาดให้ระวังกระเป๋า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องถ่ายรูปและมือถือ เพราะจะอันตรธานไปโดยไม่รู้ตัว

เพ็ญชี้ให้สามีดูเด็กชายสามคนหน้าตาเนื้อตัวมอมแมมไปด้วยสีดำของยาขัดรองเท้า ในมือถือกล่องที่มียาขัดสีดำ ผ้าขี้ริ้วและแปรงขัดที่บรรจุอยู่ภายใน ฮันส์มองตามมือที่ชี้แล้วหัวเราะ เด็กชายคนหนึ่งในจำนวนสามคนนั้น หยิบเอาแปรงที่ขัดรองเท้าออกมาแปรงผมของตนไปมาอย่างเอาจริงเอาจัง จนผมดำเป็นเงาไปทั้งหัว ถ้าเพ็ญและฮันส์สรวมรองเท้าที่ต้องขัด ก็คงจะไปว่าจ้างให้พวกเด็กๆช่วยขัดให้ แต่ทั้งคู่สรวมรองเท้าแบบที่ไม่จำเป็นต้องขัด จึงไม่ได้ทำอย่างที่ใจนึก แต่ก็อยากจะมอบอะไรให้สักอย่างหนึ่งแทนการให้เงิน ทั่วเมืองคีโต้ ดูเหมือนว่าจะมี shoeshine boys อยู่ทั่วไป รวมถึงช่างถ่ายรูป ที่แบกกล้องเรียกร้องให้นักท่องเที่ยวและผู้คนที่เดินขวักไขว่ว่าจ้างถ่ายรูปกันโหวกเหวก

พอเดินออกมาจากร้านกาแฟ เด็กทั้งสามวิ่งตามมา ฮันส์เลยถือโอกาสถ่ายรูปให้ดู พวกเด็กๆชอบใจกันใหญ่ ยืนแอ๊คท่าให้ถ่ายรูปกันตามประสาเด็กทั่วไป เพ็ญดูแล้วรู้สึกสงสารเป็นกำลัง จนเกือบจะยื่นเงินให้ แต่ก็ต้องทำใจแข็งเอาไว้

มีเหตุการณ์หนึ่งที่ประทับใจเพ็ญมากจนต้องเก็บเอามาเล่า ไม่ว่าฮันส์และเพ็ญจะไปนั่งตามร้านกาแฟบนทางเท้าที่ใด จะมีคนมาขายของบ้าง มารับจ้างขัดรองเท้าบ้างอย่างที่เล่าให้ฟังแล้ว หากมีโต๊ะว่าง ก็จะนั่งลง บ๋อยที่เสริฟกาแฟตามโต๊ะไม่เคยออกมาไล่ให้พ้นๆออกไป ทั้งที่บางคนแต่งตัวสกปรกไม่เหมาะกับร้านกาแฟหรูในย่านนั้น เป็นบทเรียนให้เพ็ญรู้ว่าพวกเขาไม่ได้เหยียดหยามคนที่ด้อยกว่า ไม่เหมือนบางประเทศที่ยกย่องนักท่องเที่ยวยิ่งกว่าคนชาติเดียวกันเอง โดยไม่เข้าใจว่าเพื่อนร่วมชาติหลายคนมีฐานะและกำลังซื้อมากกว่าพวกนักท่องเที่ยวเสียอีก เพียงแต่ว่าสีผิวบังเอิญคล้ำกว่าพวกนักท่องเที่ยวเท่านั้น

วันต่อมา อิสซาเอลเอารถมารับไปตลาดที่เมือง “อ๊อทตาวาโล่” (Otavalo) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ห่างไปทางตอนเหนือของคีโต้ประมาณหนึ่งร้อยกิโลเมตร เพ็ญเพลิดเพลินไปกับการนั่งดูทิวทัศน์ของสองข้างทาง ฝนตกลงมาปรอยๆทำให้อากาศเย็นลงนิดหน่อย แต่ก็ไม่ทำให้บรรยากาศเสียไปแต่อย่างใด เทือกเขาแอนเดสสูงเทียมฟ้า แลเห็นยอดเขา “คายัมเบ้” (Cayambe) ซึ่งอิสซาเอลบอกว่าเป็นเขาที่สูงเป็นที่สามของประเทศ

ตามระยะทางมีหมู่บ้านเล็กๆ แต่งแต้มด้วยโบสถ์สีขาวที่นั่นและที่นี่ ดูโรแมนติคท่ามกลางหมอกจางๆ รถวิ่งผ่านพื้นที่ที่เป็นทะเลสาบ อ๊อทตาวาโล่เป็นตลาดที่ชาวพื้นเมืองในเครื่องแต่งกายประจำชาติเอาสิ่งถักทอที่ทำเองมาวางขาย มีพวกพอนโช พรม และเสื้อหนาวรวมถึงเครื่องสลักต่างๆ สิ่งถักทอที่แขวนไว้ทำให้ตลาดมีสีสัน แม้แต่คนขายเองทั้งหญิงและชายก็ทำให้ตลาดสดใสไม่น้อย ผู้หญิงนุ่งกระโปรงยาวสีดำ ใส่เสื้อสีขาวปักดอกไม้กระจุ๋มกระจิ๋ม คลุมไหล่ด้วยผ้าคลุมสีสดสวย บนหัวมีผ้าโพกที่ดูสวยแปลกตา ส่วนผู้ชายนุ่งกางเเกงยาวถึงน่องสีขาว สรวมรองเท้าแตะสานสีดำ คลุมไหล่ด้วยพอนโชสีเทาหรือน้ำเงิน ผมถักเป็นเปียยาว ตามปกติเขาจะติดตลาดกันแต่มืดในวันเสาร์ ชาวบ้านจะเอาของที่ทำเองมาแลกกับอาหารหรือสัตว์เลี้ยง วิธีการ “แลก” หรือ barter ยังเป็นที่นิยมกันในส่วนนี้ของโลก ไม่ไกลออกไปจากตลาดมีร้านขายเครื่องหนังถูกๆเต็มไปทั้งสองฟากถนน หากเพ็ญเป็นนักช็อปก็คงจะได้ของมาเยอะแยะ แต่บังเอิญเพ็ญชอบซื้อของที่มีคุณภาพ แม้จะแพงแต่ก็มีราคาคุ้มเงิน จึงไม่ได้ตื่นเต้นไปกับสินค้าที่วางล่อ

ขากลับโชเฟอร์พาขึ้นบนถนนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ แพนอเมริกันไฮเวย์ Panamericana ซึ่งทอดยาวจากอเมริกาเหนือไปจรดบริเวณรกร้างว่างเปล่าของจังหวัดเดเรียน Darien ซึ่งตั้งอยู่ที่ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศปานาม่า แต่จากนั่นไปยังไม่มีถนนติดต่อไปถึงประเทศโคลัมเบีย ทำให้เกิดช่องว่าง ไม่สามารถขับรถจากอเมริกากลางไปถึงอเมริกาใต้ได้ เขาจึงเรียกช่องว่างนี้ว่า Darien Gap ในสมัยก่อนยังพอจะผ่านไปได้หากว่ามีผู้นำทางเก่งๆ แต่ตั้งแต่ปี ๑๙๙๘ เป็นต้นมา บริเวณแห่งนี้ได้ตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย จึงไม่ปลอดภัยที่จะดั้นด้นขับผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่อยู่ในพรมแดนของประเทศโคลัมเบีย แต่พ้นจากโคลัมเบียไปแล้วถนนแพนอเมริกันก็ได้รับการสร้างจนไปสิ้นสุดที่ทางตอนใต้ของประเทศชิลี

เพ็ญเองก็สังเกตเห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ตั้งป้อมตรวจรถเป็นช่วงๆ อีสซาเอลบอกว่ามีแก๊งลักลอบขนของผิดกฏหมายรวมถึงโคคาอีนผ่านเข้ามาจากโคลัมเบียมากมาย ทำให้จำเป็นต้องมีการตรวจค้นกันอย่างเข้มงวดเป็นระยะๆ

ห่างจากคีโต้ไปทางเหนือเเพียง ๒๒ กิโลเมตร เป็นเส้นศูนย์สูตร ซึ่งชาวเอเควดอร์เรียกว่า Mitad del Mundo หรือ Middle of the World เพ็ญตื้นเต้นที่สามารถข้ามจากขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้ได้ด้วยการเดินหรือกระโดดข้ามเส้นที่ขีดแบ่งไว้บนพื้นเท่านั้น ในบริเวณเดียวกัน มีพิพิธภัณฑ์ที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง ภายในแสดงนิทรรศการให้เห็นความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่างๆที่อาศัยอยู่ในเทือกเขาแอนเดส ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

ไม่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรเท่าไร เป็นหลุมใหญ่มหึมา หรือ crater ที่เกิดจากแรงระเบิดของภูเขาไฟ Pululahua เนิ่นนานมาแล้ว ภายในหลุมเป็นฟาร์มเขียวชอุ่มเพราะขี้เถ้าของภูเขาไฟเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติ เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง

ตามระยะทางมีเพิงขายผลไม้เล็กๆ เพ็ญเห็นผลไม้สีเขียวอ่อนลูกใหญ่ ดูผิวภายนอก

เหมือนน้อยหน่าของไทย แต่ไม่เป็นตะปุ่มตะป่ำเท่า เพ็ญจึงขอให้หยุดรถซื้อมาชิมลูกหนึ่ง พอบิออกจึงเห็นว่าเป็นน้อยหน่าจริงๆ หากว่ารสชาติจัดกว่าน้อยหน่าของไทย และเนื้อก็หนากว่ามาก รถออกแล้วเพ็ญรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ซื้อมามากกว่าหนึ่งลูก

ไม่ว่าจะผ่านไปที่ใดจะเห็นกล้วยหอมสีเขียววางเป็นกองโตอยู่ทั่วไป อิสซาเอลบอกว่ากล้วยพวกนี้เก็บไว้ให้สัตว์กิน แต่มีกล้วยอีกหลายชนิดที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ ที่เหลือก็ทำเป็นกล้วยฉาบ ส่งขายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ เพ็ญชิมแล้วต้องยอมรับว่าอร่อยกว่ากล้วยฉาบของไทยมาก แต่ลูกเงาะของเขาลูกเล็ก เปรี้ยวและติดเปลือก