ขึ้นรถด่วน Glacier ไปต่อ Palm Express จนถึงเมือง Lugano

อากาศวันนั้นเย็นสบาย นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจำนวนพัน เดินตามกันเป็นกลุ่มๆจากสถานีรถไฟอย่างมีระเบียบ ไปตามถนนในเมือง Zermatt บนหลังสะพายเป้น่าเอ็นดูสำหรับใส่ของใช้เล็กๆน้อยๆประจำตัว แต่ละคนใส่หมวกที่รู้ได้ว่าซื้อมาจากที่ใดที่หนึ่งในยุโรป ส่วนกระเป๋าเดินทางใหญ่ที่ติดตัวมาด้วยนั้น ได้บรรทุกขึ้นรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าไปโรงแรมล่วงหน้าก่อนแล้ว บางครั้งจะได้ยินเสียงหัวเราะคิกคักกันอย่างมีความสุข พร้อมกับเสียงพูดคุยกันกระหนองกระแหนงฟังรื่นหู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นอย่างฉันด้วยแล้ว หูมักจะได้ยินคำอุทานว่า “อาโหน่ อาโหน่” อยู่เป็นระยะๆ ทำให้อดยิ้มด้วยความเอ็นดูไม่ได้

เมือง เซอร์มัท เป็นเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อบริการนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง เพราะไม่มีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันชนิดใดได้รับอนุญาตให้เข้ามาขับขี่ในตัวเมืองได้ เพราะฉนั้นจึงไม่มีกลิ่นเหม็นของสิ่งที่ไม่พึง ประสงค์อันเกิดจากมลภาวะที่เป็นผลจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่พ่นออกมา รถยนต์ในตัวเมืองขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเท่านั้น ถ้าไม่ใช้กำลังขา ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวบางคนก็จะปั่นจักรยานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง หรือไม่ก็ใช้รถเทียมม้าที่เป็นแท๊กซี่มีอยู่ทั่วไป หากใครคิดจะขับรถไปเที่ยวเมืองเซอร์มัทที่ตั้งอยู่ในรัฐหรือ Canton Valais ซึ่งอยู่ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วละก็ จะต้องขับรถไปจอดทิ้งไว้ที่เมือง Taesch (แท๊ตช์) ที่มีสถานที่จอดรถใหญ่โตไว้รองรับ แล้วนั่งรถไฟขึ้นไปยังเมืองเซอร์มัท

สถานที่แต่ละแห่งในตัวเมืองไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร ต่างอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟเท่าใดนัก สามารถเดินได้สบาย

ภูเขามัทเทอร์ฮอร์น Matterhorn เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเซอร์มัทเท่าๆกับหอไอเฟิลเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส ยอดปิรามิดที่งองุ้มของภูเขามัทเทอร์ฮอร์นเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก

ใครที่เคยกินช๊อคโกแลทของสวิสจะต้องเคยเห็นรูปบนกล่องหรือบนกระดาษที่ห่อหุ้มช๊อคโกแลทที่หวานหอม ภูเขาลูกนี้แหละที่เป็นจุดขายของเมืองเซอร์มัท หากปราศจากภูเขาลูกนี้เสียแล้ว เมืองเซอร์มัทก็คงมีสภาพเป็นเมืองชนบทธรรมดาๆเมืองหนึ่งที่ผู้คนมีอาชีพในการทำไร่ทำนาเท่านั้น มัทเทอร์ฮอร์นจูงใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ได้ไปชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด เพราะจะเห็น มัทเทอร์ฮอร์นจากทุกมุมของเมืองได้เป็นอย่างดี ในยามที่มีอากาศแจ่มใส ปราศจากเมฆหมอกมาปกคลุม เช่นเดียวกับภูเขาในเมืองหนาวทั่วไป

คุณผู้อ่านเชื่อไหมคะว่า คนใกล้ตัวไปมาแล้วทั่วโลก แต่ไม่เคยไปเมือง Zermatt เลย เป็นที่ล้อเลียนกันทั่วไปในระหว่างเพื่อนฝูงชาวสวิส ส่วนตนเองนั่นไปมาแล้วหลายครั้ง เพราะต้องดูแลแขก ส่วนตัวที่มาจากเมืองไทยบ้าง ด้วยหน้าที่การงานที่เคยเป็นไกด์ของเมืองลูเซิร์นบ้าง ถูก “ขอร้องแกมบังคับ” ให้พาแขกของบริษัทไปเที่ยวบ้าง มีครั้งหนึ่งเขาขอให้พาแขกผู้ชายสองคนจากเมืองจีนไปเที่ยว นึกในใจว่าตายละ จะไปพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร สมัยนั้นยังไม่ได้ไปอยู่เมืองจีน จึงยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเมืองจีนมากนัก แต่ก็ยอมเพราะอย่างที่เพื่อนฝูงเคยนินทากัน บริษัทนี้โชคดี จ่ายเงินเดือนให้คนคนเดียว แต่ได้กำไรมีคนทำงานให้ถึงสองคน แต่ปรากฏว่าหนึ่งในชายชาวจีนสองคนนี้ คนที่เป็นบอสใหญ่ พูด ภาษาอังกฤษสำเนียง อ๊อกซ์ฟอร์ดเสียด้วย แถม ยังเคยเป็นล่ามให้อดีตประธานาธิบดีเรแกนของสหรัฐฯ เมื่อหลายปีมาแล้วอีกต่างหาก ทำให้ ทริปเที่ยวนั้นสนุกมาก ในปัจจุบันเขามีหน้าที่การงานใหญ่โตประจำอยู่ที่ฮ่องกง เวลาไปเยี่ยม จะได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม

ในที่สุดฤกษ์งามยามดีก็มาถึง หญิงไทยพากระเหรี่ยงสวิส ไปเปิดหูเปิดตา เรานั่งรถไฟจากลูเซิร์นไปเปลี่ยนเป็นอีกขบวนหนึ่ง ที่กรุงเบิร์น นั่งไปจนถึงเมืองบริค (Brig) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคนตอน Valaisที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโรห์น (Rhone)

และเคยเป็นศูนย์การค้าของประเทศมาแต่ไหนแต่ไร จากบริค เราเปลี่ยนจากรถไฟธรรมดาไปขึ้นรถไฟสายที่เรียกว่า Zermatt Bahn พอใกล้สถานีรถไฟเซอร์มัทเข้าไป แลเห็นภูเขา มัทเทอร์ ฮอร์น (Matterhorn) ๔๔๗๘ เมตร) เด่นแต่ไกล ที่อยากจะเรียกว่า Mother of all Mountains ชาวอังกฤษห้าคนเป็นกลุ่มแรกที่พยายามจะพิชิตเขาลูกนี้ในปี ๑๘๖๕ พร้อมกับมีชาวเซอร์มัทอีกสามคนเป็นผู้นำทาง พวกเขาได้กลายเป็นตำนานที่เล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ สี่คนเสียชีวิตตอนขาลง หลังจากนั่นนักไต่เขาคนอื่นๆที่ถูกมนต์ขลังของมัทเทอร์ฮอร์น เข้าสิงต่างก็พากันมาเป็นกลุ่มเป็นขบวน

ทางด้านตะวันออกของมัทเทอร์ฮอร์น มียอดเขา Dufourspitze (๔๖๓๔ เมตร) โผล่ขึ้นมาท่ามกลางเทือกเขา Monte Rosa เป็นยอดที่สูงเป็นที่สองของทวีปยุโรปตะวันตก ถัดมาเป็นยอด Dome (๔๕๔๕ เมตร) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ที่ตั้งอยู่ในพรมแดน ของประเทศสวิสแท้ๆ ภูเขาที่อยู่ระหว่างมัทเทอร์ฮอร์น และมอนตาโรซ่า เป็น Kleine Matterhorn หรือมัทเทอร์ฮอร์นลูกเล็ก (๓๘๘๔ เมตร)เป็นแหล่ง cross country ski ตลอดปี รวมถึงฤดูร้อนด้วยและมี cable car ที่สูงที่สุดในยุโรป

พอลงจากรถไฟ เราก็ลากกระเป๋าเล็กๆที่ติดตัวมาไปตามถนนที่ปราศจากรถยนต์โดยสิ้นเชิง คนใกล้ตัวติดใจเมืองนี้ตั้งแต่แรกเห็น บอกว่าดีกว่าเมืองตากอากาศอื่นๆในสวิส ยกเว้นซังต์มอริทซ์

หลังจากที่ได้เช็คอินเข้าโรงแรมแล้ว เรากลับไปที่สถานีรถไฟที่จะพาขึ้นไปภูเขา Gornergrat (๓๐๘๙ เมตร) รถไฟสายนี้มีความยาว ๙.๓ กิโลเมตร แม้ว่าจะไม่ยาวนัก แต่ก็น่าตื่นเต้น ด้วยทิวทัศน์อันสวยงามของภูเขาปกคลุมด้วยหิมะที่รายล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิวของภูเขา มัทเทอร์ฮอร์น อันโดดเด่น โดมสีเงินเป็นประกายที่เห็นอยู่เหนือโรงแรม Kulm สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ๑๙๑๐ เป็นกล้องส่องดูดาว

กลับลงมาจาก กอร์เนอร์กรัท พากระเหรี่ยงสวิสไปดูสุสานที่เป็นหลุมฝังศพของผู้ ที่พยายามพิชิตเทือกเขามัทเทอร์ฮอร์น สุสานแห่งนี้สร้างโดยสโมสรอัลไปน์ของชาวอังกฤษ (Btitish Alpine Club) นอกจากนั้นเขายังได้สร้างโบสถ์ไว้อีกด้วย ทั้งโบสถ์ของชาวอังกฤษและโบสถ์ที่เป็นของชาวบ้านตั้งอยู่เชิงสะพานของแม่น้ำ วิสป้า (Vispa)

วันรุ่งขึ้น ลากกระเป๋ากลับไปสถานีรถไฟ เพื่อขึ้น Glacier Express ไป St.Moritz เขาขนานนามรถไฟสายนี้ว่า “รถด่วนสายที่วิ่งช้าที่สุดในโลก” หรือไม่ก็ “Touch the Sky” ไม่ทราบว่าข้อความโฆษณาประโยคหลังนี่หมายความว่าอะไร อย่างไรก็ดี Glacier Express เป็นรถไฟที่โรแมนติกมาก ตามสถิติบอกว่ามีผู้โดยสารปีหนึ่งประมาณสองแสนสามหมื่นคน จากทั่วโลก สถิตินี้เชื่อได้ค่ะ เพราะคนสวิสละเอียดมากในเรื่องการทำสถิติ

ระหว่างเซอร์มัทที่อยู่ในแคนตอน Wallis หรือ Valais และ ซังต์มอริทซ์ที่อยู่ในแคนตอนกราวบุนเด้น รถด่วนสายนี้วิ่งไปบนรางที่แคบของ Matterhorn Gotthard Bahn (MGB) และ Rhaetian Bahn (RhB) โดยผ่านสะพานหรือทางโค้ง (Viaduct) ถึงสองร้อยเก้าสิบเอ็ดแห่ง ลอดอุโมงค์ทั้งหมดเก้าสิบเอ็ดอุโมงค์ไต่ขึ้นภูเขาทางผ่าน Oberalp ที่สูงถึง สองพันสามสิบสามเมตร ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดที่รถไฟวิ่งผ่าน Glacier Express มี Panoramawagon ที่มีกระจกโค้งจากพื้นไปจนจดเพดาน สามารถแลเห็นวิวอันงดงามของเทือกเขาแอลป์ได้อย่างชัดเจน ใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมดแปดชั่วโมง ทางสายการบริการรถไฟ แนะนำให้ผู้โดยสารที่จะโดยสารไปกับ Glacier Express ขบวนนี้ให้จองที่นั่งล่วงหน้าไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะมีคนจองเต็มเสมอ ไม่ว่าจะเป็นชั้นหนึ่งหรือชั้นสอง ก่อนหน้าที่เราจะไปเพียงหนึ่งเดือน ได้มีการปรับปรุงรถไฟออกมาปัดฝุ่นให้ใช้การได้ในเดือนพฤษภาคมปี ๒๐๐๖ นี่เอง สำหรับอาหารกลางวันมีการบริการให้จนถึงที่นั่ง ซึ่งผิดกับสมัยก่อนที่ถึงแม้จะโดยสารชั้นหนึ่งและจองโต๊ะไว้ล่วงหน้า แต่ก็ต้องไปเข้าคิวกินอาหารใน ขบวนรถเสบียงเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

หลังจากที่ได้ไต่เขาซิกแซ็กไปมาเป็นวงโค้งหลายต่อหลายวงจนขึ้นไปถึงยอดทางผ่านแล้ว รถไฟวิ่งผ่านด้านซ้ายของหุบเขาที่มีสิ่งก่อสร้างสำหรับป้องกันหิมะถล่มเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ทางด้านขวาเป็นโขดหินใหญ่ที่ฝังอยู่ในหุบเขา หลังจากนั่นก็จะเห็นเขื่อนใหญ่ พอรถไฟวิ่งมาถึงเขตที่เรียกว่า Disentis ซึ่งใช้ภาษาเรโตโรแม็นช์ (Rhaeto-Romanic) เป็นภาษาท้องถิ่น เขาเรียกถิ่นนี้ว่า Cadi แปลว่า Casa Dei หรือ The House of God มีหมู่บ้านหลายแห่งในแถบนี้ ภาษาเรโตโรแม็นช์เป็นภาษาลาตินหยาบ หมายความว่าไม่ใช่ภาษาลาตินที่เป็นคลาสสิก ผสมด้วยภาษาที่ใช้ก่อนภาษาโรมันรวมเข้ากับภาษาเยอรมันเป็นบางส่วน ็นประเทศสวิสเพิ่งจะยอมรับให้ภาษานี้เป็นภาษาที่สี่ของประเทศรองลงมาจาก เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลีเมื่อปี ๑๙๓๘ นี่เอง

เมือง ดีเซ็นตีส (Disentis) ตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างทางผ่านของภูเขาชื่อ Lukmanier (ลูกมาเนียร์) และ Oberalp เป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว

จุดนี้เป็นจุดที่รถไฟเปลี่ยนเป็นสาย แรทิค (Rhaetic Railway) ซึ่งมีแคนตอนของ “กรีซองส์” (Grisons) หรือ “กราวบุนเดนท์” เป็นเจ้าของ

ผู้โดยสาร ที่นั่งรถไฟผ่านแคนตอนกรีซองส์ กำลังย้อนรอยอดีตประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และยาวนานของยุโรป ทางผ่านของภูเขาแอลไปน์มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือการทหาร เพราะเป็นการเปิด ให้มีทางผ่านของเทือกเขาแอลป์ทางตอนเหนือและใต้ เป็นการ เชื่อมประเพณีและวัฒนธรรมของทั้งสองเขตเข้าด้วยกัน ซึ่งมีอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ต่อชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงสถาปัตยกรรมและโครงสร้างของวิถีทางในทางการเมืองของเขตนั้นมาจนทุกวันนี้

แอลไปน์ของกรีซองส์เต็มไปด้วยหุบเขาที่งดงาม และได้รับการยกย่องเชิดชูจากนักกวีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นแหล่งที่เคยเป็นที่พำนักของชาวโรมัน แฟรงค์ และชาติอื่นๆ เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเยอรมันอีกด้วย แต่ไม่ว่าจะผ่านการปกครองของชาติใดมาแล้วในอดีตก็ตาม ในที่สุดหลังการปฏิวัติในฝรั่งเศส กรีซองส์ก็ได้รวมเข้าเป็นแคนตอนหนึ่งของประเทศสวิส รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศสวิสเขียนและออกใช้เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายนปี ๑๘๔๘ ยังมีรากฐานส่วนใหญ่ซึ่งใช้การได้อยู่จนถึงทุกวันนี้

นั่งชมวิวเพลินก็มาถึงเมือง อิลลานซ์ (Ilanz) ซึ่งเป็นเมืองแรก บนฝั่งแม่น้ำไรน์ที่รถไฟผ่าน ถ้าเป็นในสหรัฐฯ ชาวอเมริกันจะเรียกจุดนี้ว่า แคนยอน (canyon) แต่ในประเทศสวิสเราเรียกง่ายๆว่า The Rhine gorge ซึ่งมีสาเหตุจากดินถล่มครั้งใหญ่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และดินที่ถล่มนี่ได้ทับถมกันลงไปในหุบเขาที่ลึกถึงสามร้อยเมตร ก่อให้เกิดทะเลสาบและป่าไม้อันสวยงามในบริเวณที่เรียกว่าเมือง Flims ในปัจจุบัน

รถไฟวิ่งไปหยุดที่เมือง คัวร์ (Chur) ที่เป็นเมืองเก่าที่สุดของประเทศสวิส มีประวัติยาวนานถึงห้าพันปี นอกจากนั้นยังเป็นเมืองหลวงของแคนตอน “กราวบุนเด้น” (Graubuenden) อีกต่างหาก จากสถานีรถไฟคัวร์ สามารถเปลี่ยนรถไฟอีกสายหนึ่งไปยังเมือง ดาวอส (Davos) ได้ ดาวอส เป็นเมืองตากอากาศอีกแห่งหนึ่งของสวิส มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เนื่องจากการประชุม Economic Forum ของผู้นำของประเทศต่างๆเป็นประจำทุกปี

หลังจากคัวร์รถไฟจะไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วหันเป็นรูปห่วงลอดเข้าอุโมงค์จนมาถึงหมู่บ้านในเทือกเขาคือหมู่บ้าน “เบอร์กุน” (Berguen) จากเบอร์กุนไปถึงหมู่บ้าน “เพรดา” (Preda) มีความสูง ต่างกันถึงสี่ร้อยสิบหกเมตร ถือกันว่าการสร้างทางของรถไฟตรงจุดนี้เป็นผลงานวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษนี้ เพราะใช้วิธีการสร้างที่อาศัยความเป็นธรรมชาติของหุบผาได้อย่างเยี่ยมที่สุด จนไปถึง Albula Tunnel (อุโมงค์ อัลบูล่า) ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่สูงที่สุดของเทือกเขาแอลไปน์ มีความสูง ๑๘๒๐ เมตร และยาว ๕๘๖๕ เมตร ใช้เวลาลอดถึงสิบนาที เคยเล่าในเรื่อง “ย้อนรอยอดีตซังต์มอริทซ์” แล้วว่าเมื่อเดือน กรกฏาคม ปีนี้เอง (๒๐๐๘) บริเวณอัลบูล่า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

รถด่วนวิ่งผ่าน แหล่งน้ำหรือ Watershed ของประเทศที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเขตนี้ ที่ซ่อนตัวอยู่ วิ่งผ่านสาขาของแม่น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำดานูบใกล้กับเมืองพาเซา (Passau) ที่ประเทศเยอรมันนี ก่อนจะไหลไปลงในทะเลดำ เมื่อถึงจุดนี้รถไฟก็อยู่ในเขตที่แบ่งเขตเหนือและใต้ของทวีปยุโรปออกจากกัน หรือเชื่อมกัน

ในที่สุดรถไฟวิ่งมาถึง ซาเมดาน (Samedan) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่น่ารักในเขตเองกาดีน เมื่อหลายปีก่อน สมัยที่ยังอยู่ประเทศคูเวตเศรษฐีชาวสวิสคนหนึ่ง ได้เดินทางไปทำธุรกิจที่นั่นได้เชิญเขาไปกินอาหารเย็น และดื่มไวน์ที่ทำขึ้นเองที่บ้าน ด้วยเหตุที่ประเทศคูเวตเป็นประเทศแห้ง (dry country) จึงห้าม อัลกอฮอล์และเนื้อหมูโดยเด็ดขาด เนื่องจากขัดต่อหลักศาสนา เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีทำไวน์ดื่มกันเองที่บ้านและในหมู่เพื่อนฝูง ชาวสวิสคนนี้เป็น wine connoisseur (ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไวน์) ยกแก้วขึ้นสูดๆดมๆ แล้วทำท่าไม่แน่ใจว่าเป็นไวน์อะไรแน่ บอกให้เขาลองทายดูเล่นๆว่าเป็นไวน์อะไร เขาบอกว่าไม่แน่ใจ แต่คิดว่าคล้ายกับ Pinot Noir ต้องกล่าวคำขอโทษเขา แล้วบอกไปว่าเป็นไวน์ที่ทำขึ้นเองที่บ้าน ไม่ได้ตั้งใจจะลองภูมิหรืออะไร แต่อยากได้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เขาชอบใจมาก พอกลับไปสวิสก็เขียนจดหมายมาขอบใจและเชิญให้ไปพักที่ชาเล่ต์ของเขาในระหว่างฤดูร้อนเวลาที่เรากลับไป home leave ที่สวิส ด้วยเหตุนี้จึงคุ้นเคยกับหมู่บ้านซาเมดานพอสมควร

อีกสิบนาทีต่อมารถไฟก็วิ่งเข้าไปจอดที่ ชานชลาของสถานีซังต์มอริทซ์ ได้เล่าเรื่องซังต์มอริทซ์ให้คุณผู้อ่านฟังแล้วในสารคดี “ย้อนรอยอดีตซังต์มอริทซ์” จึงจะไม่เล่าซ้ำอีกเพียงแต่จะบอกว่า ไปพักค้างคืนที่นั่นหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นนั่งรถ Palm Express ซึ่งใช้ Post Auto อันเป็นรถบัสสีเหลืองที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ตำรวจ” ถนนไปยังเมืองลูกาโน่ (Lugano) โดยผ่านหมู่บ้าน Maloja ที่มีชื่อเสียงเรื่องการแข่งขัน Cross country ski marathon เป็นระยะทางถึง ๔๒ กิโลเมตร โดยผ่านซังต์มอริทซ์ไปจนถึงหมู่บ้าน S-chanf

การแข่งขันนี้ถือว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีมาตั้งแต่ปี ๑๙๖๙ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันถึง หนึ่งหมื่นสามพันคนในแต่ละครั้ง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ก่อถึงเวลาแข่งขันนักสกีจะไปรอกันตั้งแต่เช้า แต่เนื่องด้วยอากาศที่หนาวเหน็บ พวกเขาใช้ถุงปลาสติกใหญ่แบบที่ใช้ใส่ขยะห่อหุ้มตัวเอาไว้เพื่อความอบอุ่น บ้างก็มีเต็นท์เล็กๆและเทียนไขจุด เวลาดูในโทรทัศน์แล้วอดนิยม และชื่นชมในสปิริตแห่งความพยายามที่จะเข้าร่วมในการแข่งขันของพวกเขาในแต่ละปีเสียมิได้ ถ้าคุณผู้อ่านคนใดอยากจะไปร่วมแข่งขันหรือจะไปดูเฉยๆ การแข่งขัน Cross country ski marathon จะมีขึ้นอีกในวันอาทิตย์ ที่ ๘ มีนาคม ๒๐๐๙ แต่ขอให้จองโรงแรมล่วงหน้ากันแต่เนิ่นๆ เพราะทุกแห่งจะเต็มหมด

ที่บอกว่ารถ Post Auto เป็นตำรวจถนนก็เพราะว่าส่วนใหญ่รถบัสประเภทนี้จะวิ่งรับและส่งผู้โดยสารบนภูเขา กว่าที่ คนขับจะได้รับใบขับขี่ให้มาขับรถนี้ได้ นั้นแสนจะยาก จึง ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เสมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ในยามที่รถวิ่งมาถึงจุดที่คับขัน ยานพาหนะอื่นๆจะต้องหลบให้รถโพสท์เอาโตผ่านไปก่อน รถนี้จะมีแตรที่บีบแล้วใครๆก็ต้องรู้ว่าเป็นรถอะไร เวลาคนขับบีบแตรขอทาง แตรจะเปล่งเสียงออกมาไม่เหมือนแตรชนิดใดทั้งสิ้น คือ “กู๊ กู่ กู กู๊ กู่ กู” (ต้องลากเสียงยาวๆค่ะ)

รถวิ่งขึ้นลงผ่านเขาไปจนถึง ทะเลสาบโคโม่ Lago di Como ในอิตาลี ซึ่งมีความสูงเพียง ๑๙๗ เมตรเหนือน้ำทะเลเท่านั้น พอๆกับทะเลสาบ Lago Maggiore ในเมืองลูกาโน่ ของสวิสซึ่งเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของประเทศ ใช้เวลาเดินทางโดย Palm Express ทั้งหมดสามชั่วโมงห้าสิบนาที จากลูกาโน่เรานั่งรถไฟกลับบ้านที่เมืองลูเซิร์น

ไชโย ในที่สุดชาวสวิสผู้นี้ก็หลุดพ้นจากความเป็นกระเหรี่ยงไปได้

จบ