Jodlerfest (งานฉลองการโห่ร้องเพลงโยเดล)

เมืองลูเซิร์น มีงานฉลองที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพิ่มมาจากงาน “ปล่อยผี” ปีละครั้ง ที่เคยเล่าให้คุณผู้อ่านฟัง ไปเมื่อสองสามปีก่อน ปีนี้ลูเซิร์นเป็นเจ้าภาพ ในงานฉลองการโห่ร้องโยเดลหรือ Yodel ในภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาสวิสเยอรมัน ดูได้จากหัวเรื่องข้างบนค่ะ

ประชาธิปไตยในประเทศสวิส เริ่มขึ้นตั้งแต่ตำบล หมู่บ้าน มาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาชนิดใด หรือการประกอบกิจกรรมในยามว่าง ชาวสวิสมักจะก่อตั้งชมรมของตนขึ้นมา เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ละชมรมก็จะมีนายกชมรม เลขา เหรัญญิก ฯลฯ ของชมรม ทุกคนมาอยู่ในตำแหน่งที่ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งสมัครเล่น กิตติมศักดิ์ แต่ละคนต้องได้รับการเลือกจากสมาชิกทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถยกตนเองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งได้ดยไม่ได้รับเลือก (self-appointed)

ด้วยเหตุนี้เอง ในประเทศสวิสจึงมีชมรมอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในหมู่บ้านเล็ก หรือตำบลแห่งใด การร้องโห่โยเดิลเป็นคุณลักษณะประจำชาติของสวิส เช่นเดียวกับการรำวงของไทย ซึ่งปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ความจริงการโห่ร้องโยเดลเป็นการร้องเรียกสัตว์ให้กลับเข้ามารวมหมู่ เดาว่าในฤดูใบไม้ร่วง ในยามเย็นที่มีหมอกลงทึบ เป็นการยากที่ผู้เลี้ยงดูแลสัตว์จะแลเห็นฝูงวัว ฝูงแกะและแพะที่ตนเลี้ยงไว้ เพราะอากาศในช่วงนั้นจะมืดทึมด้วยหมอก จึงต้องอาศัยการกู่ร้องเรียก จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันต่อๆมา และในที่สุดได้กลายเป็นงานอดิเรกของชาวสวิสโดยทั่วไป แม้แต่ในโรงเรียน เด็กนักเรียนก็ต้องเรียนวิธีการโห่โยเดล จึงพูดได้อย่างเต็มปาก ว่าชาวสวิสทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย รู้จักการโห่โยเดล แต่ใครจะเอาจริงกันแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นแต่ละหมู่บ้านมีชมรมของคนโห่โยเดล เรียกในภาษาสวิสว่า “Jodler” (ยอดเล่อร์)

เมื่อหลายๆตำบลหรือหมู่บ้านมารวมตัวเข้า ก็จะกลายเป็นสมาคม “ยอดเลอร์”ของเมือง

หลายๆเมืองมารวมตัวกันก็จะเป็นสมาคม “ยอดเลอร์” แห่งชาติ เรียกว่า “Eidgenoessisches Jodler” ซึ่งมีจำนวนนับพันทั่วทั้งประเทศ ฟังดูแล้วไม่มาก แต่เมื่อนึกว่า ประเทศสวิสมีพลเมืองอยู่เพียงเจ็ดล้านกว่า ก็เป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย

ทุกๆสี่ปี สมาคม “ยอดเลอร์” แห่งชาติจะจัดงานฉลองใหญ่ขึ้น โดยเลือกเมือง

แต่ละเมืองที่เหมาะสม แล้วแต่ว่าจะโหวตเลือกเมืองใด สลับไม่ให้ซ้ำกัน เมื่อสี่ปีที่แล้ว เมือง Arau (อาเรา) ได้รับเลือกให้จัดงาน ก็เป็นหน้าเป็นตาของเมืองนั้นไป

ปีนี้เมืองลูเซิร์น ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวอันสวยงาม ได้รับเป็นเจ้าภาพ งานกำหนดมีขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๖ ถึง ๒๙ มิถุนายน ๒๐๐๘ บนถนนที่จะมีการสร้างเต็นท์เพื่อเป็นร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งถนนบางส่วนที่พาเหรดของชาว “ยอดเลอร์” จะเดินผ่าน ก็ถูกปิดไปแล้วล่วงหน้าเพื่อเตรียมการ ร้านค้าต่างๆที่พื้นที่ของตนมีถนนผ่านถูกปิด ต่างก็บ่นกันอื้ออึง เพราะทำให้ขาดรายได้หรือมีรายได้น้อยลง เพราะไม่สะดวกต่อการจราจร อย่างไรก็ดี ก็เป็นการบ่นตามแบบฉบับของชาวสวิสที่ขี้บ่น ไม่ได้หมายความอะไรจริงจัง เพราะอยากให้มีงานฉลองเช่นเดียวกัน

งานเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีคือวันที่ ๒๖ และมาสิ้นสุดเอาในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีชาว “ยอดเลอร์” จากทั่วประเทศมารวมตัวกันถึง ๑๒๐๐ คน ตอนเย็นวันแรก คือวันศุกร์ที่ ๒๖ มีการจุดพลุไฟอันสวยงามเหนือทะเลสาบลูเซิร์น มันเป็นเย็นวันที่มีอากาศแจ่มใส ผู้คนไม่รู้ว่าหลั่งไหลกันมาจากไหน มีด้วยกันถึงแสนคน ต่างก็มาดูการจุดพลุไฟเหนือทะเลสาบ ในขณะที่นักโยเดิลต่างก็ร้องเพลงประสานเสียงโดยทั่วหน้ากัน ลองวาดภาพดู ใครที่เคยไปเที่ยวลูเซิร์นจะรู้ว่าเมืองนี้สวยเพียงใด ล้อมรอบด้วยภูเขาที่มีหิมะคลุม ต่ำลงมาเป็นทุ่งหญ้าที่เรียกว่า meadow อีกฟากหนึ่งเป็นตึกสมัยโบราณสวยๆที่ได้รับการบำรุงซ่อมแซมดูแลอย่างดี แล้วมีพลุไฟเป็นสีและรูปต่างๆ เช่น ดวงอาทิตย์ และภูเขาไฟที่ลอยอยู่เหนือท้องน้ำของทะเลสาบ ในขณะที่มีการร้องเพลงไปด้วยในขณะเดียวกัน

เขาให้ฉายาการแสดงพลุครั้งนี้ว่า “ทะเลสาบรวมกันร้องโห่โยเดิล” (Seebecken jodelt) ตอนจะจบผู้ชมทั้งแสนต่างก็โห่โยเดิลกันโดยทั่วหน้า มันเป็นการแสดงความพร้อมเพรียงที่น่าประทับใจจริงๆ จนอดไม่ได้ที่จะขนลุก ที่ได้เห็นคนมากมายขนาดนี้รวมตัวกันโห่ร้องอย่างก้องกังวานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยที่ไม่ได้นัดหมายกันหรือรู้จักกันมาก่อน เสียดายที่ไม่มีรูปของคืนวันนั้นมาให้ดู ก็ขอให้ดูรูปอื่นไปก็แล้วกันนะคะ เย็นวันที่สองก็เช่นเดียวกัน

วันสุดท้ายของงานคือวันอาทิตย์ เป็นไฮไลท์ของงานฉลองจริงๆ เพราะมีการเดินขบวนพาเหรด ที่มีบรรยากาศคล้ายงาน “Fasnacht” (Carneval) หรืองาน “ปล่อยผี”ของลูเซิร์นที่มีในฤดูหนาวและเป็นงานที่อลังการมาก

อากาศในวันนี้เป็นใจเหมือนวันก่อนๆ พระอาทิตย์ทอแสงตั้งแต่เช้า ตอนแรกตั้งใจจะไปเที่ยวงานพาเหรดอย่างเดียว แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจไปฟังการโห่โยเดิลในโบสถ์ด้วย คือแทนที่ที่จะร้องเพลงสวด ก็กลายเป็นการร้องเพลงโห่แทน ไม่ได้ขับรถไป เพราะรู้ว่าจะหาที่จอดไม่ได้ เลยนั่งรถบัสไปแทน ซึ่งก็สะดวกสบาย มารู้เอาทีหลังว่าที่จอดรถว่างวาย เพราะคนส่วนใหญ่ต่างพร้อมใจกันขึ้นรถโดยสารประจำทาง หรือเดินทางมาโดยรถไฟ นี่แหละลักษณะอันน่านิยมของผู้คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

รถบัสเข้าไปจอดที่สถานีรถไฟไม่ได้อย่างเคย เพราะสะพานข้ามแม่น้ำรอยส์ปิดสำหรับรถทุกชนิด ต้องลงสองสถานีก่อนจะถึงปลายทาง ที่หน้าธนาคารเครดิทสวิส มีเวทีจัดไว้สองเวที เป็นที่นั่งดูสำหรับแขกวีไอพีที่ได้รับเชิญทั้งสองฟาก และเป็นอัฒจรรย์จัดไว้สำหรับคนทุพลภาพในคราวเดียวกัน พอไปถึง Hans-Rudolf Merz Bundesrat หรือรัฐมนตรีคนหนึ่งในเจ็ดคนของสวิส ได้รับเชิญให้มากล่าวคำปราศรัย

เพราะงานฉลองนี้เป็นงานที่สำคัญระดับชาติ แต่ในฐานะที่ Merz เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลยสงสัยตะหงิดๆว่าเขาไปเชิญท่านมาทำไม เหตุไรจึงไม่เชิญนาย Samuel Schmid รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและการกีฬามา แต่นึกขึ้นได้ว่ากำลังมีการแข่งขันฟุตบอลยุโรปรอบชิงชนะเลิศเป็นวันสุดท้าย และสวิสร่วมเป็นเจ้าภาพกับออสเตรีย อาจจะต้องบินไปกรุงเวียนนาเพื่อร่วมงานก็เป็นได้ แต่ปรากฏว่าเย็นวันนั้นเห็นรัฐมนตรีของสวิสถึงสี่คนในโทรทัศน์ มีนาย Merz รวมอยู่ด้วย ยังไม่มีโอกาสถามใคร เลยไม่มีใครตอบปัญหาให้

อย่างไรก็ดี พอไปถึงก็ไม่ต้องรอ การปราศรัยเริ่มขึ้นพอดี จับใจความได้คร่าวๆว่า การร้องโยเดิล นอกจากจะได้แสดงถึงความรื่นรมย์แล้ว ยังส่อให้เห็นถึงความร่มเย็น และความสงบภายใน ไม่ใช่เป็นการหนีจากความเป็นจริง แต่เป็นการสร้างความสมดุลให้มีขึ้นจากความยุ่งเหยิงและความวุ่นวายในชีวิต แถมยังหยอกแกมหยิกอีกหน่อยว่า นักการเมืองทั้งหลายควรเอานักร้องโยเดิลเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต เพราะบางครั้งนักร้องโยเดิลมีปัญหาเรื่องโน้ตเพลงที่ยากแต่ก็สามารถฝึกจนสามารถร้องประสานกันได้อย่างราบรื่นและแนบเนียน พอพูดมาถึงตรงนี้ ก็ได้รับการปรบมือจากผู้ฟังอย่างถูกใจ เลยติดลมพูดต่อว่านักการเมืองควรจะทำตัวอย่างที่ดี ควรจะฟังเสียงต่างๆให้ได้ยิน ประเทศสวิสจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น หากนักการเมืองจะฟังเสียงส่วนใหญ่และจัดการร้องประสานเสียงให้เข้าด้วยกันเช่นนักร้องโยเดิลทั้งหลาย ผู้เขียนได้มีโอกาสถ่ายรูปอย่างใกล้ชิดเมื่อท่านลงมาจากโพเดียม พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีหรือลอร์ดแมร์ของเมืองลูเซิร์น และวีไอพีคนอื่นๆ มีบอดี้การ์ดยืนอยู่หลายคน ก็ไม่เห็นมีใครมาไล่ให้ไปเสียที่อื่น ได้เข้าไปจนประชั้นตัวเลยทีเดียว

ในขณะเดียวกันก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุไร“งานฉลองยอดเลอร์”จึงมาจัดเอาในช่วงเวลาที่มีการแข่งขันฟุตบอล? หรือว่าพวกเขาไม่สนใจกับเรื่องจิ๊บจ๊อยเช่นกิฬาประเภทนี้? คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งตื่นเต้นไปกับคำวิพากษ์วิจารณ์ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเช่นสวิส การวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งธรรมดา ทุกคนรับได้ ไม่ได้ถือว่าเป็นการตำหนิ ถือว่าเป็นการติติงเพื่อว่าในครั้งต่อไป ก่อนจะจัดงานใหญ่อะไรให้คิดให้รอบคอบ เขาท้วงต่อไปว่าหรือว่าชาวยอดเลิอร์ได้ตั้งความหวังไว้ว่า ทีมสวิสจะได้ฉลองชัยชนะเป็นแชมเปี้ยนในครั้งนี้? จะได้ถือว่าเป็นการฉลองที่ยิ่งใหญ่ในคราวเดียวกัน?

อย่างไรก็ดี คนที่ออกมาให้ความเห็นกล่าวว่า ถึงแม้เขาเองจะตื่นเต้นและอกสั่นขวัญแขวนเมื่อทีมสวิสเข้าแข่งขัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่เคารพในประเพณีและวัฒนธรรมของชาติ เช่นงานฉลองยอดเลอร์ ซึ่งย่อมมีความสำคัญกว่าการแข่งขันฟุตบอลอยู่แล้ว เพราะการแข่งขันในสนามใช้เวลาเพียงเก้าสิบนาทีเท่านั้น ซึ่งผิดกับการฉลองงานประจำชาติ แม้ว่างานฉลองยอดเลอร์อาจจะจัดขึ้นเพื่อแสดงให้โลกรู้ว่า ยังมีประเทศสวิสอยู่ ในผืนโลกใบนี้ และยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน แม้บางคนอาจจะมองว่าเป็นประเพณีที่ประหลาดน่าหัวเราะก็ตาม แต่เขาก็ออกมาเตือนไม่ให้ลืมว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ๒๐๑๐ จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ถึง ๑๑ กรกฎาคม และการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยยุโรปปี ๒๐๑๒ จะมีตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ถึง ๑ กรกฎาคม เขาจึงวิงวอนให้ผู้จัดงานได้ระลึกถึงข้อนี้ไว้ด้วย เพราะอาจจะไปจัดงานตรงกันเข้าอีก

ขออภัยที่ออกนอกเรื่องเพราะต้องการให้คุณผู้อ่านรู้ว่าชาวสวิสคิดกันอย่างไร จึงเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ หลังจากที่ได้ถ่ายรูปและฟังปาฐกถาแล้ว ก็เดินตัดกลับไปที่ Hofkirche หรือโบสถ์ของพระสงฆ์เบเนดิคทีน (Benedictine) ที่มีอายุยาวนานกว่าพันปี โบสถ์มียอดแหลมคู่เห็นได้แต่ไกล เต็มไปด้วยผู้คนที่มาถึงก่อนแล้ว อย่าว่าแต่ที่นั่งในโบสถ์ใหญ่จะแน่นขนัดเลย แม้แต่ที่จะยืนยังไม่มี เลยออกประตูข้างไปนั่งอยู่บนริมทางเท้านอกโบสถ์ ทางที่ติดกับหลุมฝังศพของพวกอีลีทหรือผู้ดีเก่าของลูเซิรน์ในอดีต ได้ยินเสียงโห่อันไพเราะชัดเจนดังออกมาภายนอก นอกจากจะได้ยินชัดแล้ว ยังมีลมเย็นพัดให้ความสดชื่นอีกต่างหาก แล้วจะไปเบียดคนให้ร้อนทำไม ได้ยินแต่เสียงไม่ต้องเห็นภาพก็ได้

จากโบสถ์เดินข้ามสะพานแม่น้ำรอยส์จากฝั่งขวาไปฝั่งซ้าย ริมสะพานทั้งสองฟาก เต็มไปด้วยร้านค้าที่จัดขึ้นไว้เพื่องานนี้โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับริมฝั่งทะเลสาบ ร้านที่มาออกงาน ต่างมาจากชมรมต่างๆที่มาช่วยเหลืออย่างเต็มอกเต็มใจ โดยบรรดาสมาชิกอาสาสมัครทั้งหลาย ทุกคนต่างทำงานกันอย่างแข็งขัน เต็มอกเต็มใจไม่เหน็ดเหนื่อย มีแต่รอยยิ้มเปื้อนอยู่บนใบหน้า ถ้าหากยังเป็นเมื่อสักไม่กี่ปีก่อน ในขณะที่ยังเป็นสาวกว่านี้ ไม่ใช่สาว “กล้วยไม้” (ใกล้ม้วย) เช่นในปัจจุบัน และยังอยู่ในสมาคมของผู้บำเพ็ญประโยชน์ ก็คงจะได้เห็นผู้เขียนเข้าไปช่วยเหลือเช่นกัน

เลี้ยวไปทางขวามือเกือบถึงองค์การโทรศัพท์ ภาษาไทยเรียกอะไรไม่ทราบค่ะ แต่เราเรียกว่า Swisscom ก็เห็นคนขายเนื้อของหมู่บ้านที่อยู่ กำลังช่วยรินเบียร์ รินเครื่องดื่มอยู่อย่างขะมักเขม้น อย่าเพิ่งคิดว่า คนขายเนื้อสวิสคนนี้เป็นคนชั้นกรรมกร ไม่มีการศึกษา ตรงกันข้ามเลย เขาน่าตาดี มีฐานะพอสมควร เพราะมีบ้านอยู่เอง แถมยังชอบกีฬาฮอกกี้อีกต่างหาก และมีความสนใจการเดินทางและมีความรู้รอบตัวดีไม่น้อย เวลาไปซื้อเนื้อเขาก็มักจะคุยด้วยนานๆ หากไม่มีลูกค้าคนอื่นๆยืนรอ

เดินไปซื้อไส้กรอกปิ้งกับขนมปังแล้ว ก็ถือกลับมานั่งกินในร้านที่เขาง่วนกับงานอยู่กับคนอื่นๆในหมู่บ้านสี่ห้าคน ดูรูปเอานะคะ เวลายังเหลืออยู่อีกมากกว่าจะถึงเวลาเดินพาเหรดของชมรม ก็เลยเดินไปถึงหน้าโบสถ์เยซูอิต ซื้อไอศกรีมที่เรียกกันในประเทศนี้ว่า soft ice ตามปรกติจะซื้อเพียงโคนเล็กสามฟรังค์ แต่ด้วยเหตุว่าวันนั้นอากาศร้อน เลยตะกละซื้อโคนใหญ่ราคาห้าฟรังค์ แต่ละลายก่อนที่จะกินหมด เสียดายแทบแย่ เดินข้ามสะพานไม้ ไปฆ่าเวลาคุยกับนักท่องเที่ยวชาวจีนก็แล้ว ก็ยังไม่ถึงบ่ายสองโมงเสียที ซึ่งเป็นเวลาที่จะมีการเดินขบวนพาเหรด ถ้าเป็นวันอื่นอากาศเช่นนี้คงจะออกไปนั่งบนม้าที่เขาจัดไว้ให้บนถนน แต่วันนั้นเห็นแดดก็ปวดหัวเสียแล้ว แถมยังลืมเอาหมวกใบเก่งไปอีกต่างหาก เห็นเรือที่เขาเรียกว่า paddle boat เล็กๆสีฟ้า นึกสนุก ไม่เคยมีโอกาสเล่นเลยสักที ถือจังหวะในความวุ่นวายของวันนั้นปล่อยแก่ ไปเช่าเรือเล่นครึ่งชั่วโมง ลืมไปว่านั่งเรือก็ร้อนเหมือนกัน อาศัยที่มีลมนิดหน่อยพอเย็นบ้าง

ในที่สุดพาเหรดที่เฝ้ารอคอยก็เริ่มขึ้น มีทั้งหมด ๕๑ ขบวนด้วยกัน ฝูงคนที่รออยู่สองข้างถนนยิ้มระรื่น มีอารมณ์ร่วมไปกับขบวนด้วย ต่างตบมือให้เข้าจังหวะกับเสียงร้องโยเดิล และการเป่าเขาอัลพอร์น ธงที่ติดไว้ปลิวสไวด้วยแรงลม เพิ่มบรรยากาศที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นอีก

หน้าขบวนสุดเพื่อนเป็นชายขี่จักรยานตรวจดูความเรียบร้อย มีรถตำรวจสองคันนำหน้ามา ตามติดด้วยรถม้ามีคนเดินมาข้างๆคอยปัดกวาดสิ่งสกปรกที่ม้าและวัวจะทำเลอะเทอะ ไม่มีใครอยากเดินเหยียบสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา

การติด Pin ที่ขายอันละสิบฟรังค์ในวันนั้น เป็นเรื่องของความพอใจและเต็มใจ Pin

มีด้วยกันสองสี คือสีน้ำเงินและสีแดง อันหนึ่งราคายี่สิบห้าฟรังค์ใช้ได้ตลอดงานทั้งสี่วัน อีกอันหนึ่งสิบฟรังค์ ใช้ได้ในวันนั้น ผู้เขียนเดินไปเที่ยวหาซื้อ ซึ่งควรจะซื้อได้ไม่ยาก แต่ปรากฏว่าได้ขายหมดไปนานแล้ว คณะผู้จัดงาน ไม่คาดคิดว่าจะมีคนมากขนาดนี้ เลยจัดมาจำหน่ายไม่พอ ในวันอาทิตย์วันเดียว มีคนเข้าชมงานถึง สามแสนหกหมื่นคน มันเป็นความสำเร็จของงานที่เยี่ยมที่สุดตั้งแต่มีงานฉลองประเภทนี้ขึ้นมา

ขบวนพาเหรดเดินมาขบวนแล้วขบวนเล่า ฝูงวัวประดับดอกไม้อยู่บนหัว มีกระดิ่งผูกคอวัวดังอยู่กกรุ๋งกริ๋งเดินตามกันออกมา ม้าเทียมเกวียนบรรทุกคอนเทนเนอร์บรรจุนมวัว เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของกสิกรรมของประเทศที่ใช้นมเพื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ออกส่งไปขายทั่วโลก เช่น ช็อกโกแลต โยเกิร์ต เป็นต้น รถบรรทุกน้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์ตามหลังมามีคนเอาเหยือกและแก้วปลาสติคมารินแจก พร้อมขนมปัง ชายกลุ่มหนึ่งเข็นรถมาสองคัน แล้วใช้คราดตักหญ้าที่อยู่ในรถออกมาวางบนพื้นถนน ทำเหมือนว่ากำลังทำฟางให้วัวกิน เด็กหญิงสาวน่ารักในชุดยูนิฟอร์มสีน้ำเงินและขาว ออกมาเดินเข้าจังหวะกับเพลงมาร์ช พร้อมกับโยนไม้คทาขึ้นไปในอากาศ และออกกำลังกาย คนดูชอบใจตบมือเข้าจังหวะกับเสียงดนตรี

ขบวนพิพิธภัณฑ์การคมนาคมของลูเซิร์นให้ผู้หญิงแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายประจำชาติหลากสีออกมาร่วมขบวน มีทั้งสีดำขาว สีฟ้าขาวสลับดำ สีแดงเลือดหมูสลับดำขาว สีน้ำเงินแก่สลับดำขาว มีหมวกที่ถักไว้สวยงามบนศรีษะ เดินจูงมือกันออกมา ชุดประจำชาติดังกล่าวมีราคาอย่างน้อยชุดละไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นฟรังค์ (คูณด้วยสามสิบจะเป็นเงินบาท) เช่นเดียวกับงานคาร์นิวัลของลูเซิร์น หลายคนไม่ยอมไปเที่ยวที่ไหนเลยเก็บสตางค์ไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ขบวนเป่าอัลพอร์นมายืนเป่าตรงหน้าพอดี เลยมีโอกาสได้ถ่ายรูป ถือโอกาสไปยืนอยู่บนลังน้ำหวานที่คว่ำไว้บนเวทีๆหนึ่ง ตามมาด้วยขบวน “โยนธง” หรือ Fahnenschwinger ซึ่งมีสีต่างๆของแคนตอนของสวิสทั้งหมด คนที่โยนธงจะเอามือข้างหนึ่งซุกไว้ในกระเป๋า อีกข้างหนึ่งถือธงที่มีปลายปักไว้ในกระเป๋าเล็กๆเหนือเอว แล้วพอได้จังหวะ ก็จะโยนธงขึ้นไปในอากาศให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือไม่ก็เหวี่ยงไปมา

ชมรมยอดเลอร์เมือง Saas-Fee ในแคนตอนวาดุซ มีรถบรรทุกท่อนไม้ที่ขึงติดกันเป็นพืด มีดอกไม้สีสวยประดับ ข้างหลังรถ มีก้อนน้ำแข็งใหญ่บรรทุกมาด้วย เพื่อแสดงถึงลำธารน้ำแข็งและเตือนให้ระลึกถึงปรากฏการณ์โลกร้อน ตามด้วยขบวนรถไฟที่ใช้ไอน้ำเรียกว่า “Spanish Roll Train” ซึ่งเป็นชื่อของรถไฟสายแรกที่สร้างขึ้นในปี ๑๘๔๗ จากเมืองบาเดน Baden ถึงซูริค เหตุที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะว่าจับพลัดจับผลูอย่างไรไม่ทราบขนมปังโรลของชาวสเปนได้มาถึงเมืองบาเดนและชาวเมืองก็ได้อบขนมปังนี้ได้หอมหวาน กรอบและอร่อยยิ่งกว่าเจ้าของเดิม เมื่อมีรถไฟสายนี้เกิดขึ้น ชาวเมืองซูริคจึงได้มีโอกาสชิมโรลที่อร่อยที่บันทุกมาในรถไฟขบวนนี้ พวกเขาจึงได้ขนานนามรถไฟสายนี้ด้วยความรักอย่างสุดซึ้งว่า “Spanish Roll Train”

ชมรมชาวโยเดิลจDSC02454ากซิดนีย์ ออสเตรเลีย ขับรถแทรกเตอร์ออกมา ช่างเป็นชาวสวิสที่ไม่ลืมถิ่นกำเนิดแม้ว่าจะไปอยู่ที่นั่นเนิ่นนาน และบางคนก็ลืมภาษาแม่ของตนไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีขบวนของชมรม Happy Pipers Lucerne ซึ่งเป็นชมรมของ The First Bagpipeband of Switzerland แต่งกระโปรง kilt ของชาวสก็อตเป่าปี่ในทำนองที่ทุกคนรู้จักดี ชมรมชาวโยเดิลสวิสที่มีถิ่นพำนักอยู่ในแคนาดาไม่ยอมน้อยหน้าอุตส่าห์นำขบวนโห่ที่เรียกว่า “ซื่อตรงต่อบ้านเกิดสมอ”มาจากรัฐ Alberta ด้วย

นั่นใครอีกล่ะ ดูคลับคล้ายคลับคลา? ก็ชมรมสวิสกีวี (Kiwi) ที่อยู่ในประเทศนิวซีแลนด์นั่นเอง

ความรักชาติไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มของชาวสวิสที่มาจากต่างประเทศเท่านั้น ในประเทศเองก็มีชมรมโยเดิลที่แต่งกายชุดทหารหุ้มเกราะรบในสงครามกับราชวงศ์ฮับส์บวร์กที่เรียกว่า “Schlacht bei Sempach”หรือ Battle of Sempach เมื่อปี ๑๓๘๖ ชาวสวิสได้ชัยชนะ มีการฉลองใหญ่ครบรอบหกร้อยปีเมื่อปี ๑๙๘๖

ขบวนแล้วขบวนเล่าต่างเดินกันไปตามถนนระยะทางทั้งหมด หนึ่งจุดสี่กิโลเมตร เป็นขบวนพาเหรดที่มีสีสันงดงาม จะบรรยายอย่างไรก็สู้ไปเห็นด้วยตาตนเองไม่ได้ หนึ่งพันคำพูดหรือจะสู้รูปหนึ่งใบ เพราะ ฉนั้นจึงถ่ายรูปมาให้คุณผู้อ่านได้ชมกันอย่างจุใจ