แม่น้ำดานูบไหลเอื่อย ผ่านดินแดนที่ชาวโลก (เกือบ) ลืม ตอนที่6

ถนนแคบ บางแห่งเป็นหลุมเป็นบ่อรถม้าและเกวียนวิ่งผ่านไปมาเป็นระยะๆ วิลลี่บอกว่าคนเลี้ยงแกะ หรือแพะในโรมาเนียยังต้อนแกะ และแพะเป็นฝูงๆนับร้อย จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ในฤดูใบไม้ร่วงเพื่อหาอาหารที่ดีกว่าให้สัตว์กิน พอถึงฤดูใบไม้ผลิ ก็อพยพไปที่อื่นอีก โดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำดานูบ แต่ในปัจจุบันการปฏิบัติเช่นนี้ เหลือน้อยลงมากแล้ว ทำให้เพ็ญคิดถึงชาวเบดูอิน ที่ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง กับฝูงอูฐของตนในทะเลทราย และชาวมองโกเลียแถบทะเลทรายโกบี ที่ต้อนฝูงสัตว์ของตน ไปหาแหล่งอาหารและน้ำตามที่ต่างๆ

รถวิ่งขนานไปกับฝั่งแม่น้ำดานูบและเท่าที่สังเกตขนานไปกับรางรถไฟ ภูมิประเทศแถบนี้เขียวขจีและอุดมสมบูรณ์ แต่น่าเสียดายที่บางแห่งกลายเป็นที่ทิ้งขยะและขวดเปล่า ถุงพลาสติกถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกลาด ยามลมพัดก็ปลิวไปตามลม พัดพาเอาไปกระจายตามที่อื่นๆอีกอีกไม่นานรถก็เลียบไปตามแม่น้ำดานูบ แลเห็นเรือหาปลาลอยลำอยู่ในช่วงน้ำบางตอน วิวของแม่น้ำสวยเหลือเกิน แสงแดดอ่อนยามเย็นส่องประกายล้อเล่นกับแม่น้ำที่ทอดตัวเอื่อยๆไหลผ่านเมือง “โดรเบตา เทอร์นู เซเวเร็น” (Drobeta-Turnu Severin) ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศยูโกสลาเวีย เมืองนี้มีชื่อเสียงจากพิพิธภัณฑ์ “ประตูเหล็ก” (Iron Gates Museum) ที่มีสะพานจำลองของสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรโรมัน ในปี ๑๐๓ ทอดข้ามแม่น้ำดานูบไปถึงประเทศยูโกสลาเวีย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดในปี ๑๙๗๒ ก่อนมีพิธีเปิดเขื่อนไฟฟ้า “Iron Gates” เพียงวันเดียว

เขื่อน “ประตูเหล็ก” อยู่ห่างจากเมือง “โดรเบตา” ไปทางตะวันตกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ลักษณะที่มหึมาน่าเกลียดของเขื่อนคอนกรีตเห็นได้แต่ไกลเหนือแม่น้ำดานูบ โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี ๑๙๖๐ และมาสำเร็จเอาปี ๑๙๗๒ เป็นผลงานร่วมกันระหว่างโรมาเนียและฮังการี ตามทางที่ผ่านมีโรงงานที่สมัยหนึ่งเคยเป็นของรัฐทิ้งร้างอยู่เป็นระยะๆ

น่าเสียดายที่แม่น้ำดานูบที่มีชื่อเสียงของโลกถูกปู้ยี้ปู้ยำโดยน้ำมือมนุษย์จนป่นปี้หลังจากอุบัติเหตุที่เกิดจากโรงงานปล่อยมลพิษลงในแม่น้ำถึง ๒ ครั้ง และจากที่สะพานข้ามแม่น้ำถูกบอมบ์โดยนาโต้ระหว่างสงครามบอลข่านดังที่เคยเล่าไว้แล้วตอนต้น แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์การปกป้องสิ่งแวดล้อม ก็ไม่รู้ว่าคุณภาพของแม่น้ำจะฟื้นตัวกลับคืนในสภาพเดิมเมื่อไร ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ากว่าชีวิตของสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่แถวนี้จะกลับสู่ปกติก็คงจะเป็นในราวปี ๒๐๑๐

ดานูบเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นที่ ๒ ของยุโรป โดยเริ่มต้นจาก “ป่าดำ” (Black Forest) ในเยอรมนี ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลดำแม่น้ำดานูบไหลผ่านเมืองหลวงถึง ๔ เมือง คือเวียนนา บูดาเปสต์ บราทิสลาวา และเบลเกรดถ้าคิดเป็นประเทศ แม่น้ำดานูบก็ไหลผ่านประเทศต่างๆถึง ๙ ประเทศด้วยกัน คือ เยอรมนี ออสเตรีย สโลวาเกีย ฮังการี ยูโกสลาเวีย บัลแกเรีย โรมาเนีย โมลดาวา และยูเครน ไม่มีแม่น้ำสายใดในโลกที่ไหลผ่านประเทศต่างๆหลายประเทศเช่นแม่น้ำดานูบ ซึ่งมีความลึกเฉลี่ยแล้วเพียง ๕ เมตรเท่านั้น และน้อยครั้งนักที่จะไหลแรงเร็วกว่า ๓ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กรุงโซเฟียอยู่ห่างจากเมือง “ทิมิชัวร่า” (Timisoara) เพียง ๕๘๕ กิโลเมตรเท่านั้นแต่กว่าจะไปถึงโรงแรม “คอนติเนนเติ้ล” ก็เป็นเวลา ๕ ทุ่มครึ่ง หลังจากเช็คอิน ล้างไม้ล้างมือแล้ว วิลลี่บอกให้คณะไปกินอาหารเย็นในห้องอาหารของโรงแรม เพ็ญเองไม่หิว เพราะเลยเวลาไปนานแล้ว แต่ก็ไม่ขัดขืนเดินตามคนอื่นๆเข้าไปในห้องด้วย คิดในใจว่าอย่างดีก็คงจะได้กินแซนด์วิชกันคนละชิ้นรองท้องก่อนเข้านอน แต่ทุกคนต้องประหลาดใจที่เห็นไฟในห้องอาหารยังสว่างไสว โต๊ะอาหารจัดเป็นระเบียบ มีมีดส้อมและผ้าเช็ดมือวางบนโต๊ะที่ปูด้วยผ้าขาวสะอาดพนักงานบริการทั้งหญิงและชายยืนต้อนรับหน้าตายิ้มแย้ม ยกอาหารร้อนๆมาเสิร์ฟวงดนตรีเริ่มบรรเลงเพลงเพราะๆให้ฟัง คริสเตียนเดินเข้าห้องเป็นคนสุดท้าย เขาดูเหนื่อยแต่ก็แจ่มใส ทุกคนปรบมือให้ด้วยความขอบคุณที่พาคณะมาถึงที่ได้โดยสวัสดิภาพท่ามกลางความมืดของท้องถนนที่ขรุขระ เพ็ญเห็นว่าเขาเป็นโชเฟอร์ที่เยี่ยมที่สุดคนหนึ่งสมควรได้รับการยกย่องการต้อนรับของโรงแรมก็ดีเยี่ยม ทำให้ทุกคนประทับใจ ถึงแม้เพ็ญจะเหนื่อยและไม่หิวแต่ก็นั่งจิบไวน์ฟังเพลงเพราะๆกับฮันส์และสามีภรรยาอีกคู่หนึ่งที่ถูกอัธยาศัยกันมาตั้งแต่เริ่มเดินทาง

“ทิมิชัวร่า” เป็นเมืองใหญ่เป็นที่ ๔ ของประเทศโรมาเนีย ถูกขนานนามให้เป็นเมืองดอกไม้ เพราะแวดล้อมไปด้วยปาร์คเขียวขจีและดอกไม้สวย ไม่น่าเชื่อว่าเมืองที่มีบรรยากาศโรแมนติกแบบเมืองในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้จะทำให้โลกตื่นตะลึง ด้วยเป็นต้นตอของการปฏิวัติในปี ๑๙๘๙ เพื่อโค่นอำนาจเผด็จการเชาเชสกูและเมีย เริ่มด้วยในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๑๙๘๙ คุณพ่อ “ลาสโล เตอเกส” (Father Laszlo Tokes) ได้ติเตียนเชาเชสกูในโบสถ์ฮังเกเรียนของท่านในเมืองทิมิชัวร่าทำให้เจ้าอาวาสของโบสถ์โรมาเนียถอนท่านออกจากตำแหน่ง ตำรวจรักษาความปลอดภัยของเชาเชสกูเริ่มทำลายล้างผู้เดินประท้วงที่ศรัทธาต่อคุณพ่อลาสโล แต่ตำรวจทำงานไม่สำเร็จ ภายในไม่กี่วันการประท้วงเริ่มขยายออกไปทั่วเมือง มีคนถูกฆ่าตายถึง ๑๑๕ คน เชาเชสกูประกาศใช้กฎอัยการศึกในเมืองทิมิชัวร่า เขาส่งทหารและตำรวจหลายกองทัพไปขยี้ผู้ประท้วง แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อกองทัพทหารในทิมิชัวร่าทิ้งอาวุธไปเข้าข้างประชาชน

ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม เชาเชสกูกับเมียพยายามปราศรัยกับประชาชนในเมืองบูคาเรสต์แต่ถูกโห่ร้องขับไล่ จนต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีแต่ในที่สุดก็ถูกจับไปขังไว้ในค่ายทหาร และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๑๙๘๙ ดังที่เคยเล่าไว้แล้วในตอนต้นๆที่น่าสังเกตคือเชาเชสกูและเมียไม่เคยนอนที่เมืองทิมิชัวร่าเลยแม้แต่คืนเดียว แต่การปฏิวัติก็จุดประกายขึ้นที่เมืองนี้

ออกจากเมืองทิมิชัวร่า รถวิ่งผ่านเมือง “อารัด” โดยไม่หยุด เพ็ญระลึกถึงชาวโรมาเนียที่นั่งกินอาหารกลางวันร่วมโต๊ะกันตอนที่ผ่านเข้าประเทศตอนแรกจากเมือง “เชเก็ด” แต่ตอนขาออก วิลลี่พาคณะไปส่งที่ด่าน “นาดลัค” (Nadlac) ที่จะไปเข้าพรมแดนประเทศฮังการี ก่อนถึงด่านมีซูเปอร์มาร์เก็ตขายของที่ระลึกและของจิปาถะต่างๆ คริสเตียนบอกให้ลูกทัวร์ใช้เงิน “เลียว” (Leu) พหูพจน์ “ไล” (Lei) ของโรมาเนียให้หมด เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเก็บไว้ ด้วยเงินมีค่านิดเดียว ในขณะที่คริสเตียนไปเติมน้ำมันรถฮันส์กับเพ็ญลงไปกินกาแฟแถมด้วยขนมที่อบมาร้อนๆ พอถึงเวลาจ่ายเงินมีคิวรอยาวพอสมควรลูกทัวร์คนอื่นกลับไปขึ้นรถหมดแล้ว เพ็ญเห็นคริสเตียนออกรถ แต่ไม่ได้เอะใจ เพราะคิดว่าคงจะไปจอดรอที่หัวมุม แต่พอฮันส์จ่ายเงินเสร็จเดินออกมา ปรากฏว่ารถหายไป รู้โดยสัญชาตญาณว่าถูกทิ้งเสียแล้ว แต่กะเหรี่ยงทั้งสองก็ไม่ได้ตกอกตกใจ เพราะเดินทางไปแล้วทั่วโลกจะไปตกใจอะไรกับเรื่องขี้ผงแค่นี้ พาสส์ปอร์ตและเงินก็อยู่ที่ตัวไม่ได้อยู่ในรถ ในกระเป๋าก็มีมือถืออยู่ทั้ง ๒ คน เดินไปอีกหน่อยก็เห็นด่านตรวจคนเข้าเมืองอยู่ข้างหน้าประมาณสัก ๓๐๐ เมตรสองภรรยาเร่งฝีเท้า ไม่ใช่กลัวหลง แต่เกรงใจที่ทำให้คนอื่นต้องรอ ยังเดินไม่ทันจะถึง วิลลี่ก็กระหืดกระหอบมาตาม บอกว่าคริสเตียนหัวเสียที่เขานับคนไม่ถูกต้อง พอไปถึงรถคริสเตียนรีบขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่ ฮันส์บอกว่าไม่เป็นไรเรื่องเล็ก แล้วพูดในทำนองตลกเพื่อคลี่คลายบรรยากาศว่า “Ende Gut, Alles Gut” ชาวคณะถอนใจโล่งอกที่ไม่ต้องเสียเวลารอส่งลูกทัวร์ ๒ คนแล้ววิลลี่ก็อำลาจากไป

ฮันส์และเพ็ญมารู้ภายหลังว่า คริสเตียนอารมณ์ไม่ดีมาตั้งแต่ตอนหยุดเติมน้ำมันรถ เพราะเจ้าหน้าที่ด่านโรมาเนียเรียกร้องจ่ายค่าธรรมเนียม “ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม” ของโรมาเนีย ค่าธรรมเนียมนี้มีแต่รถบัสจากประเทศสวิสเท่านั้นที่ต้องจ่าย ส่วนรถบัสจากประเทศอื่นไม่ต้อง คริสเตียนโกรธจนเพ็ญคิดว่า หากเขามีหนวด หนวดก็คงจะกระดิก บ่นดังๆให้ลูกทัวร์ได้ยินว่า พวกที่อยู่ในประเทศ “ล้าหลัง” กล้าดีอย่างไรมาปรับรถบัสของเขา เพราะใครๆก็รู้ว่ารถที่มาจากสวิสได้ชื่อว่าเป็นรถที่สะอาดที่สุดในโลกคริสเตียนไม่ได้พูดเกินความจริง และเพ็ญก็รู้อีกว่าคริสเตียนภูมิใจรถของเขามาก เพราะนอกจากจะเป็นเจ้าของเองแล้ว รถยังอยู่ในสภาพใหม่เอี่ยมและเขาก็รักษามันได้สะอาดเป็นเยี่ยม ถ้าเป็นเพ็ญก็คงจะเคืองเหมือนกันแหละ

คริสเตียนพาคณะไปผ่านพรมแดนในประเทศฮังการีที่ “นากีลัค” (Nagylak) ด่านเดียวกับเมื่อตอนขาไป ใช้เวลาเพียง ๑ ชั่วโมงก็เรียบร้อย พอเลยเมือง “เค็กซ์เคเม็ท” (Kecskemet) ออกไปเล็กน้อย คริสเตียนก็ปล่อยให้คณะลงไปกินอาหารกลางวันแล้วก็หายตัวไปกับรถบัสคันใหญ่ เพ็ญและฮันส์กินแซนด์วิชเสร็จเที่ยวเดินหาแต่ไม่พบ ครึ่งชั่วโมงให้หลังคริสเตียนจึงได้กลับมา ฮันส์สงสารที่เขามีท่าทางอิดโรย จึงไปซื้อแซนด์วิชมาให้กิน เขาเล่าว่าไปหาที่ “เหมาะสม” เพื่อทิ้ง “ส้วม” ในรถ ไปพบทุ่งหญ้าเข้าแห่งหนึ่งจึงได้จัดการเสียที่นั่น แต่ถนนแคบกว่าจะกลับรถได้ก็เสียเวลาไปพอสมควรฮันส์จึงล้อว่า แบบนี้เองเจ้าหน้าที่ในโรมาเนียถึงได้ให้เขาจ่ายค่าธรรมเนียม “มลพิษ” ถึงตอนนั้นคริสเตียนอารมณ์ดีขึ้นแล้ว จึงหัวเราะชอบใจ

คณะเดินทางต่อไปข้ามสะพานข้ามแม่น้ำดานูบอีกครั้งหนึ่งที่ “ดูนาโฟลด์แวร์” (Dunafoldvar) ตอนบ่ายจัดก็ไปถึงเมือง “เซียวฟ็อค” (Siofok) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและวุ่นวายที่สุดในเขตนี้ เซียวฟ็อคตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาบ “บาลาทอน” (Balaton) ทางตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาค้างคืนที่นี่ก็เพราะสะดวกที่จะเดินทางต่อไปเข้าออสเตรียในวันรุ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นเพ็ญก็ไม่แนะนำให้ใครมาพักที่นี่

โรงแรม “อารันนี่พาร์ท” (Aranypart) ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาบบาลาทอน เป็นโรงแรมที่ชาวเยอรมันตะวันออกมาพักผ่อนในฤดูร้อนก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะพัง หากเพ็ญเป็นเจ้าของก็คิดว่าจะรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ ทะเลสาบบาลาทอนในช่วงนี้วุ่นวายไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวฮังการี ชาวเยอรมัน ชาวยุโรปตะวันออก ที่พาครอบครัวมาพักผ่อน ในระหว่างโรงเรียนปิดเทอม ทะเลสาบบาลาทอนเป็นที่ตากอากาศที่มีชื่อเสียง ของประเทศฮังการียาว ๗๗ กิโลเมตร เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ไม่นับทะเลสาบในประเทศสแกนดิเนเวีย เพ็ญสังเกตว่าทะเลสาบในช่วงตะวันออกเฉียงใต้ที่มาพักตื้นมาก คนที่ลงไปว่ายน้ำลงไป “ลุย” มากกว่าจะว่ายเพราะระดับน้ำอยู่แค่เหนือหัวเข่าเท่านั้น แต่ผู้คนก็สนุกสนานเฮฮากันดี มีคนร่วมเดินทางลงไป “ว่ายน้ำ” ขึ้นมาแล้วถามว่าไม่ลงไปเล่นน้ำบ้างหรือ

เพ็ญย้อนถามไปว่าเขาพูดตลกหรือเปล่าวันรุ่งขึ้นเมื่อรถวิ่งขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบ เพ็ญเห็นว่าภูมิประเทศสวยกว่ามาก น้ำก็ลึกกว่าเพราะมีเรือยอชท์ลอยอยู่หลายลำเห็นป้ายประกาศโฆษณาอาบน้ำแร่แบบสปาหลายแห่ง มีชาวสวิสหลายคนที่มาฮังการีเพื่อทำฟันและอาบน้ำแร่ เพราะค่าแรงถูกกว่าในประเทศสวิสมาก บริการก็ดีกว่า ผู้คนก็เป็นมิตรกว่า

แม้ว่าจะพักที่โรงแรมสับปะรังเคบนทะเลสาบที่เพ็ญคิดว่าจะไม่กลับไปเที่ยวอีก เพ็ญก็ชอบประเทศฮังการี เพราะเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ มีบรรยากาศโรแมนติก ดนตรีไพเราะแม่น้ำดานูบที่ถึงจะเต็มไปด้วยมลพิษก็มีมนต์ขลังดึงดูดใจอยากให้กลับไปเยือนอีก โดยเฉพาะกรุงบูดาเปสต์ อาหารก็อร่อยมีรสชาติจัดจ้านเช่น ซุป “กูแลช” (Goulasch) และซาลามีที่อร่อย น่าขำที่เพ็ญไม่มีโอกาสได้กินซุปกูแลชที่ฮังการี แต่ได้ไปกินที่ออสเตรียแทน ก็เอาเถอะน่าออสเตรียและฮังการีใช่อื่นไกลพี่น้องกัน

เช้าวันรุ่งขึ้นเพ็ญตื่นแต่เช้าตรู่มานั่งเล่นหน้าโรงแรม มีชาวเยอรมันตะวันออกกับครอบครัวที่มาจากเมือง “ไลพ์ซิค” (Leipzig) ยืนรอรถอยู่หน้าโรงแรม เขาจำเพ็ญได้เพราะเห็นกันเมื่อคืนวานในห้องอาหาร จึงถามเป็นทำนองผูกมิตรว่ากำลังจะไปไหน เพ็ญอธิบายให้ฟังว่าไปไหนมาแล้วบ้าง และกำลังจะเดินทางต่อไปออสเตรียก่อนจะกลับ “บ้าน” มาพักที่โรงแรมนี้เพียงคืนเดียวเท่านั้น ด้วยคำว่า “บ้าน” และหนทางที่เพ็ญชี้แจง เขาก็เข้าใจโดยไม่ต้องอธิบายต่อว่าเป็นประเทศสวิส เขาบอกเพ็ญว่ามาพักตากอากาศในฤดูร้อนที่โรงแรมนี้ ๑ สัปดาห์กับครอบครัว พร้อมกับปรารภว่าประเทศโรมาเนียและบัลแกเรียคงจะยากจน เพ็ญก็เลย “ปาถกฐา” เรื่อง “ความจน” ในความรู้สึกของเพ็ญให้เขาฟัง และแถมท้ายว่าผู้คนใน ๒ ประเทศนั้น อาจจะมีความสุขกว่าผู้คนในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นในยุโรปตะวันตกก็ได้เขาฟังอย่างสนใจแล้วพยักหน้าหงึกๆเห็นด้วยเพราะเขาก็เคยเป็น “ตะวันออก” มาก่อนกำแพงเบอร์ลินจะพัง และก่อนเยอรมันตะวันตกและตะวันออกจะรวมเป็นประเทศเดียวกัน

ชายผู้นี้พูดด้วยสำเนียงเยอรมันของคนที่มีการศึกษาและแต่งกายเรียบร้อย สิ่งที่เพ็ญชอบใจกับลักษณะของชาวยุโรป “ตะวันออก” โดยทั่วไปคือความเป็นมิตร น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้กำลังจะหมดไป เพราะการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันของโลก “ตะวันตก” เพราะฉะนั้น เพ็ญจึงไม่แปลกใจที่นายโอกี้หรือชาวยุโรปตะวันออกคนอื่นหลายคนที่อยากจะให้ประเทศของตนกลับไปอยู่ในสภาพเดิมอีก แม้ว่าระบบประชาธิปไตยแบบนายทุนจะให้เขามีโอกาสในชีวิตในทางวัตถุดีกว่าแต่ก่อนก็ตาม

คริสเตียนต้องการพาคณะไปให้ถึงเมือง “เลี้ยนซ์” (Lienz) ที่อยู่ในเขต “แคนเติน” (Karnten) ในประเทศออสเตรียแถบ “ทิโรลตะวันออก” (Osttirol) ในเย็นวันนั้นรถวิ่งไปตามฝั่งทะเลสาบบาลาทอนผ่านเมือง “เวสซ์เพรม” (Veszprem) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่สวยอีกเมืองหนึ่งของฮังการีและมีชื่อในเรื่องไวน์ อีก ๒-๓ ชั่วโมงต่อมา ชาวคณะก็มีโอกาสได้ลงไปใช้เงิน “ฟอรินท์” (Forint) ของฮังการีเป็นครั้งสุดท้ายที่เมือง “เคอร์เมนด์” (Kormend) เพ็ญต้องตื่นตาและตื่นใจไปกับร้านรวงขายที่ระลึกแห่งนี้ ซึ่งมีตั้งแต่ผ้าปักลวดลายอ่อนช้อยสีต่างๆ ตุ๊กตา เครื่องปั้นดินเผารูปปั้นคนแคระ หม้อไหถ้วยชามที่ทำด้วยเซรามิกนาฬิกาเก่าแก่ เครื่องเล่นจานเสียงแบบโบราณตลอดจนซาลามีชนิดต่างๆ ผักดองในขวดสวยและที่ขาดไม่ได้คือพริกลูกตุ้มสีแดงที่ดองไว้ในขวด เพ็ญไม่ใช่นักช็อป แต่ก็ใช้เงินฟอรินท์ที่เหลือซื้อซาลามีและพริกลูกตุ้มดอกจนหมดหากลูกทัวร์นี้เป็นชาวอเมริกันไม่ใช่ชาวสวิสเจ้าของร้านคงจะปิดร้านได้เร็วขึ้นในวันนั้นเพราะคงจะขายดี แต่นี่เป็นชาวสวิสจึงซื้อแต่ของใช้จากเงินฟอรินท์ที่ยังเหลืออยู่เท่านั้น ไม่มีใครยอมแลกเงินยูโรอีก

เพ็ญสังเกตว่าในประเทศยุโรปตะวันออกหลุมฝังศพมักจะตั้งอยู่อย่างเปิดเผยริมถนนทั้งสองข้าง แต่ก็ไม่อุจาดน่าเกลียดแต่อย่างใดตรงกันข้ามสถานที่เหล่านี้มักจะมีต้นไม้ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ ให้เงาร่มครึ้มโดยตลอด หากเพ็ญเลือกที่จะใช้วิธีฝัง ไม่ใช่เผา ตอนตายแล้ว เพ็ญก็อยากจะถูกฝังในบริเวณเช่นนี้มากกว่าจะไปถูกฝังอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในหลุมฝังศพในแบบของยุโรปตะวันตก ถึงแม้ว่าจะมีบริเวณที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงามก็ตาม มันคงจะเหงาและเปล่าเปลี่ยวจนเกินไป

ตอนเข้าประเทศออสเตรียที่ด่าน “ไฮลิเกนครอยซ์” (Heiligenkreuz) คณะไม่ต้องรอนานนัก แถมยังไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางอีกด้วย เพียงแต่เอาบัตรประจำตัวให้ดูเท่านั้นเขาก็ยอมให้ผ่านด่านได้ เพ็ญไม่ชอบให้ใครเปิดดูหนังสือเดินทางของตนหากไม่จำเป็น เพราะไม่ชอบให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรู้ว่าเพ็ญเคยไปหรืออยู่ประเทศไหนมาแล้วบ้าง ไม่ใช่ความลับ ไม่เช่นนั้นเพ็ญก็คงจะไม่มานั่งเขียนเรื่องท่องเที่ยวให้คุณผู้อ่านฟัง แต่มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเพ็ญที่หากเพ็ญเต็มใจเล่าก็จะเล่าหากไม่เต็มใจก็จะไม่เล่าต่างหาก

คริสเตียนเล่าว่า ตอนที่เขาเอารายชื่อของคณะให้เจ้าหน้าที่กรมตรวจคนเข้าเมืองดูเขาถามว่ามีชาวยูโกสลาฟอยู่ด้วยหรือไม่คริสเตียนตอบว่าไม่มี มีแต่สวิสล้วนๆและเสริมว่าชาวออสเตรียไม่ควรจะยอมให้ชาวยูโกสลาฟผ่านด่านเขาไปในสวิส เจ้าหน้าที่ออสเตรียตอบว่า เขาส่งชาวยูโกสลาฟเข้าไปสวิสก็เพราะไม่ต้องการให้อาศัยอยู่ในออสเตรียน่ะสิ เพ็ญฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจหน่อยๆ เพราะถึงแม้ว่าชาวยูโกสลาฟจะมีชื่อเสียงไม่ดีในยุโรป โดยเฉพาะในสวิสในเรื่องอาชญากรรมต่างๆ แต่ก็มีคนดีรวมอยู่เช่นกันที่ต้องการลี้ภัยจากสงครามในประเทศตนออกไปตั้งชีวิตใหม่ในต่างประเทศ แบบเดียวกับที่คนสวิสหลายคนที่ “หนี” ความกดดันจากประเทศของตนมาอยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ฝนตกพรำๆตลอดระยะทาง ลมพัดแรง อากาศเย็นลงจนต้องเอาเสื้อหนาวมาใส่ตอนที่รถพักกินอาการกลางวัน เพ็ญจึงถือโอกาสสั่งซุปกูแลชกับขนมปังร้อนๆมากิน อร่อยมาก

คืนวันนั้นซึ่งเป็นคืนสุดท้าย คณะไปพักที่โรงแรม “รูเปิร์ทตี้” (Ruperti) นอกเมือง “เลี้ยนซ์” (lienz) คนละแห่งกับเมือง “ลินซ์” (Linz) ที่คณะไปพักตอนขาไปเมื่อ ๑๓ วันก่อน เกสต์เฮ้าส์แห่งนี้เป็นเกสต์เฮ้าส์เล็กๆ ไม่มีบรรยากาศที่จะทำให้ใครเคลิบเคลิ้มได้แม้แต่คริสเตียนเองซึ่งธรรมดามักจะกล่าวชื่นชมโรงแรมที่พักทุกแห่งแบบ “หาเสียง” ก่อนออกรถในวันรุ่งขึ้น แต่คราวนี้นั่งเงียบไม่กล่าวถึงแต่อย่างใด คงจะเป็นเพราะว่าคริสเตียนมานั่งกินอาหารเย็นกับฮันส์และเพ็ญร่วมกับสุภาพสตรีอีก ๒ คน ในเย็นวันสุดท้าย อาหารที่เสิร์ฟเป็นมะกะโรนีเละๆแบบที่ต้มจนแฉะ แล้วก็เอาออกจากหม้อโดยไม่สลัดน้ำทิ้ง ทำให้ดูไม่น่ากินโดยเฉพาะเมื่อเสิร์ฟกับสตูเนื้อ เขาคงจะสังเกตว่าเพ็ญนั่งเขี่ยอาหารไปมา และดื่มแต่ไวน์เท่านั้นส่วนผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นก็กินพอประทังความหิวแต่ไม่มีใครพูดว่ากระไร มีแต่หญิงชาวสวิสอีกคนหนึ่งมากับสามีเดินมาที่โต๊ะแล้วบ่นให้คริสเตียนฟังว่า หญิงคนเสิร์ฟไม่ได้ “เสิร์ฟ” อาหารหรอกนะ เขา “จับโยน” ให้มากกว่า

ตอนกลางดึกของคืนวันนั้น เพ็ญตกใจตื่นด้วยเสียงปืน ตอนแรกคิดว่าเป็นเสียงฟ้าร้องเพราะฝนตกทั้งคืน มีฟ้าแลบและฟ้าร้องเป็นระยะๆ รุ่งขึ้นสอบถามได้ความว่ามีงานฉลองในหมู่บ้าน และเขามีการแข่งขันยิงปืนเข้าเป้า ทุกคนถอนหายใจโล่งอกที่ไม่มีเหตุร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น

ไม่มีใครรีรอที่จะเอากระเป๋าขึ้นรถเป็นครั้งสุดท้ายแต่เช้า รถวิ่งผ่านหมู่บ้านสวยๆในออสเตรียที่ “พูสเตอร์ทาล” (Pustertal) มีช่วงหนึ่งที่ต้องผ่านเข้าอิตาลีที่ “ทีโรลตอนใต้” (Sudtirol) ผ่านเมือง “คอร์ดิโน แดมเพโซ่” (Cordino Dampezo) สถานที่เล่นสกีที่มีชื่อเสียงของอิตาลี แล้วกลับเข้าออสเตรียใหม่โดยผ่านทาง “เบรนเนอร์พาส” (Brenner Pass) ข้ามสะพาน “ยูโร” (Euro Bridge) ซึ่งยาว ๘๐๐ เมตร สูง ๑๙๐ เมตร ผ่านเมือง “อินส์บรูค” (Innsbruck) เลียบฝั่งแม่น้ำ “อินน์” (Inn) เข้าประเทศสวิส คณะเดินทางในครั้งนี้รวมแล้วเป็นระยะทางทั้งหมด ๕,๖๔๐ กิโลเมตร จากซูริคและกลับ พักนอนในโรงแรมต่างๆถึง ๑๑ แห่ง

เพ็ญต้องยอมรับว่าชาวสวิสที่เดินทางไปด้วยกันมีระเบียบวินัย มีมารยาท ตรงต่อเวลาสะอาดเรียบร้อย ไม่เอะอะทำความรำคาญให้กับผู้ร่วมเดินทางคนอื่น แต่คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่เพ็ญและฮันส์มีอยู่ในตัวแบบหายใจเข้าและออก จึงไม่ได้คิดว่าเป็นคุณสมบัติ “พิเศษ” แต่อย่างไร ที่เพ็ญกับฮันส์ต้องการคือความเป็นมิตร ความเผื่อแผ่ และอารมณ์ขันต่างหากซึ่งจะทำให้การเดินทางแบบนี้มีชีวิตชีวา มีรสชาติและสนุกสนานรื่นรมย์อย่างหาที่เปรียบมิได้เพ็ญหวังว่าวันหนึ่งอาจจะมีโอกาสได้เดินทางไปกับเพื่อนร่วมชาติจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง อยากรู้ว่าจะเป็นเช่นไร?