อดขนมปังดอกนะเจ้าชีวิตวาย

ถ้ามีใครไปถามคนส่วนใหญ่ว่า เมื่อพูดถึงประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เขาจะนึกถึงอะไรก่อน ฉันแน่ใจว่าเขาจะบอกว่า ก็คิดถึงความสวยงามของภูเขา ทะเลสาบ และช็อกโกแลตน่าซิ โดยเฉพาะอย่างหลัง เพราะใครที่มาเที่ยวประเทศนี้แล้วไม่ซื้อช็อกโกแลตติดไม้ติดมือกลับไปบ้านเห็นจะมีน้อยเต็มที

เมื่อพูดถึง เรื่องกินแล้ว ฉันก็อยากจะพูดต่อว่า ใครที่ชอบกินเนยแข็งไส้กรอก และขนมปัง จะมีชีวิตอยู่ที่ประเทศนี้ได้อย่างสบายทีเดียว ฉันจะไม่พูดถึงเนยแข็ง เพราะแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน แต่คาดว่าแทบจะทุกคนจะต้องชอบกินไส้กรอกปิ้งจิ้มมัสตาร์ดกับขนมปังเป็นแน่ เคยเชิญแขกหลายคนหลายกลุ่มไปกินอาหารที่ภัตตาคารหรูๆ แต่หลังจากนั้นเขามักจะมาสารภาพว่าชอบกินอะไรที่ “เร็วๆ แบบกัดๆ” มากกว่าเสียอีก หมายถึงไส้กรอกและขนมปังนั่นเอง

สมัยก่อนมีครอบครัวชาวอังกฤษครอบครัวหนึ่งมาพักอยู่กับเรา 3-4 ครั้งในระหว่างฤดูร้อน เวลาเช้าฉันก็จัดขนมปังชนิดต่างๆใส่ตะกร้าคลุมด้วยผ้าขาวอย่างดีเอาไว้ให้ แต่เขามักจะไม่ไยดี อยากจะกินขนมปังปิ้งหรือโทสต์มากกว่า ไม่มีปัญหาอะไร เพราะฉันมักจะมีขนมปังเป็นแผ่นๆใส่ไว้ในตู้เย็นเป็นประจำในกรณีฉุกเฉิน เพื่อนบอกว่าไม่ชอบกินขนมปังที่ไม่ปิ้ง เพราะแข็งฉันก็ไม่ว่าอะไร ตามใจแขกอยู่แล้ว พอถึงวันเสาร์และอาทิตย์ พวกเรามีโอกาสได้นั่งกินอาหารเช้าด้วยกัน ฉันก็คะยั้นคะยอให้เขากินขนมปังที่จัดเอาไว้ให้ เขาลังเลและบอกว่า muj เขาเลือกกินขนมปังปิ้ง เพราะที่อังกฤษ ขนมปังอย่างอื่นมักจะแข็ง ฉันเคยได้ยินนักท่องเที่ยวบ่นกันหลายคนเรื่องต้องกินขนมปังแข็งแบบปาหัวหมาแตกเป็นอาหารเช้าในโรงแรม จะเป็นเพราะความเคยชินในเรื่องการกินขนมปังปิ้งหรืออย่างไรไม่รู้ทำให้หลายคนมีอุปทานว่าขนมปังอย่างอื่นแข็ง ฉันเองไม่เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในเรื่องนี้ในประเทศสวิส

ในที่สุดเพื่อนชาวอังกฤษก็ยอมกินขนมปังที่ฉันจัดเตรียมไว้ให้ ตอนแรกก็เพื่อมารยาทและเพื่อจะเอาใจฉันซึ่งเป็นโฮสเตสของบ้าน แต่หลังจากที่ได้กินแล้ว เขาก็ประหลาดใจว่ามันอร่อย ไม่แข็งเหมือนที่เคยกินที่อื่นๆเลย รู้อย่างนี้เขาคงจะกินมันตั้งแต่แรกแล้ว ตัวฉันเองนั้นชอบขนมปัง โดยเฉพาะเมื่อไปซื้อที่เขาเพิ่งอบมาใหม่ๆยังร้อนอยู่ บางทีซื้อมาหนึ่งปอนด์ใส่ไว้ข้างหลังรถส่งกลิ่นหอมฉุยยั่วน้ำลาย ต้องจอดรถลงไปเอามาวางข้างๆแล้วบิกินทีละนิดๆ หยุดไม่ได้ เพราะความหอมหวนทวนลมของมัน พอถึงบ้าน ขนมปังก็หมดพอดีต้องไปซื้อใหม่ แต่ถ้าขี้เกียจหรือไม่มีเวลา ครอบครัวก็จำต้องกินขนมปังโทสต์ที่ฉันเก็บไว้ในตู้เย็นในกรณี “ฉุกเฉิน” (ฮา)

พูดกันอย่างไม่ลำเอียง ฉันก็อยากจะตัดสินว่าขนมปังที่ทำโดยคนทำขนมปังในประเทศนี้นั้นเป็นขนมปังที่อร่อยที่สุดในโลก และมีให้เลือกหลายชนิดมากมายก่ายกอง ตั้งแต่ขนมปังขาวธรรมดาที่สมัยนี้ไม่ค่อยจะมีคนนิยมกินเท่าไหร่นัก เพราะเขาบอกว่าทำให้อ้วนเสียสุขภาพ ไปจนถึงขนมปังดำและค่อนข้างดำ มีทั้งขนมปังที่เขาเรียกว่าสิบเมล็ด (พืช) จนถึงขนมปังที่ทำด้วยงา ด้วยเปลือกข้าวสาลี จาระไนไม่หวาดไม่ไหว

เวลาไปซื้อขนมปัง ฉันมักจะตัดสินใจไม่ถูกสักทีว่าจะซื้อชนิดไหนดีในร้านขนมปังแต่ละร้านก็มีขนมปังหลายสิบชนิดวางไว้บนชั้นแลดูลานตาไปหมดหันซ้ายหันขวาก็ซื้อขนมปังชนิดเดิม 2-3 ชนิดที่เคยซื้อเป็นประจำนั่นแหละขนมปังชนิดหนึ่งที่ฉันซื้ออยู่เป็นประจำมีชื่อประหลาดอะไรก็ไม่รู้ น่าเกลียดจริงๆ ชื่อว่า “ดิงเคิล” มีสีกะปิคล้ำๆข้างนอกโรยด้วยแป้งขาวเล็กน้อย ข้างในนุ่ม รสมันๆอร่อย เคยถามคนขายว่าทำจากอะไร เขาก็ไม่เคยบอกฉันอย่างแจ่มแจ้งสักที คงกลัวว่าจะไปทำขายแข่งกับเขากระมัง ฉันชอบกินขนมปังชื่อประหลาดนี้กับเนยแข็งตอนเย็นๆ มีไวน์แดงกลั้วคอ แค่นี้ก็มีความสุขแล้วค่ะ

แม้แต่ครัวซองต์ที่ชาวสวิสทำ ฉันก็มีความรู้สึกว่าอร่อยกว่าเจ้าตำรับเสียอีก เวลาฉันไปฝรั่งเศส ตั้งใจจะไปกินครัวซองต์และดื่มกาแฟบนบาทวิถี มองคนเดินเร่งรีบไปทำงานหรือไปธุระด้วยความสะใจในขณะที่ฉันนั่งเอ้อระเหยเพราะเป็นฮอลิเดย์ ก็ต้องผิดหวังทุกครั้ง เพราะไม่อร่อยเหมือนกับที่ชาวสวิสทำ ถ้าคุณผู้อ่านไม่เห็นด้วย หรือเคยไปรับประทานขนมปังที่อื่นที่อร่อยกว่าก็บอกมาได้เลยนะคะ ไม่ผิดกติกาอันใด

ความจริง การกินขนมปังเป็นอาหารเช้านี้เป็นธรรมเนียมของชาวสวิสในเมืองทั่วๆไป แต่ในชนบทแถบที่พูดภาษาสวิส-เยอรมัน ชาวไร่ชาวนาที่มีจำนวนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของประเทศจะไม่ค่อยกินขนมปังเป็นอาหารเช้า เพราะเขาบอกว่าไม่อยู่ท้อง พวกเขาจะกินมันฝรั่งต้มฝานบางๆ แล้วทอดในเนยในเป็นสีน้ำตาลเหลืองกรอบโดยกลับไปกลับมาด้วยตะหลิวไม้ ชาวสวิสเรียกอาหารจานนี้ว่า “เริชตี้” (ROESCHTI) หรือที่คนอเมริกันเรียกว่า “HASHBROWN” หรือ “HASHED POTATOES” นั่นเอง

เริชตี้เป็นอาหารเช้าของชาวนาที่อยู่แถบหนือและตอนกลางของประเทศในขณะที่ชาวนาสวิส-อิตาเลียนจะกิน “โพเลนต้า” (POLENTA) ซึ่งทำจากข้าวโพดแทน และชาวนาสวิส-ฝรั่งเศสจะกินซุปข้าวโพด (ไม่ใช่ซุปข้าวโพดแบบที่ขายในร้านอาหารจีนนะคะ) จำได้ว่าเคยพายาติคนหนึ่งจากภูเก็ตไปเที่ยวเวียนนาพอนั่งลงในร้านถามว่าจะกินอะไร ญาติก็บอกว่าซุปข้าวโพด ฉันก็สั่งให้ ไม่ทันเฉลียวใจว่าซุปที่ญาติสั่งนั้นจะเป็นคนละชนิดกับที่เขาทำในยุโรป พอซุปมาถึงญาติฉันผิดหวังมาก สมัยนี้อาจจะหาเริชตี้กินได้ทั่วไปตามร้านอาหารทุกแห่งโดยมากเขาจะเสิร์ฟมากับอาหารชนิดอื่นทอดเป็นสีน้ำตาลกรอบเหลือง อร่อยอย่าบอกใครเลย ได้กินแล้วต้องติดใจทุกคน

ถ้าเปิดหนังสือสอนวิธีการทำอาหารนานาชาติ มักจะไม่ค่อยเห็นอาหารประจำชาติสวิส มีบ้าง แต่น้อยมากเช่น ฟองดู แต่ก็เฉพาะชีสฟองดูเท่านั้นที่เป็นของชาวสวิสแท้ๆ ฟองดูอย่างอื่นเป็นของฝรั่งเศสที่ชาวสวิส “ยืม” มาจนเกือบจะกลายเป็นอาหารประจำชาติไปหรือไม่ก็แผลงมาจากจีน คือ ฟองดู “ชีนัวส์” (FONDUE CHINOIS) ตามภัตตาคารหรูๆหรือตามโรงแรมใหญ่ๆเมนูอาหารก็มักจะเป็นอาหารฝรั่งเศสแทบทั้งสิ้น เรียกว่า “HAUTE CUISINE” แต่ชาวสวิสก็มักจะดัดแปลงและทำอาหารชนิดนี้ได้อย่างดีเยี่ยมจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ใครๆต่างก็ออกปากชมเชยว่าเป็นอาหาร “สวิส” อันแสนวิเศษ แม้ว่าคำชมเชยนี้จะทำให้คนทำอาหารมีความสุขและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากแต่เขาก็ไม่สามารถจะพูดได้เต็มปากว่าอาหารที่เขาบรรจงแต่งปรุงเสกสรรเลิศเลอสุดฝีมือนั้นเป็นอาหารสวิส

เรื่องการเลียนแบบอาหารหรือขนมแล้วมาสารถทำได้เก่งว่าเจ้าของเดิมนี้คนสวิสเชี่ยวชาญมาก อย่างไรก็ตามหากคุณผู้อ่านมีโอกาสได้ไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารธรรมดาในชนบทที่อยู่พ้นรัศมีของนักท่องเที่ยว หรือได้รับเชิญไปรับประทานอาหารที่บ้านของชาวสวิสจะพบว่ามีอาหารที่เป็นของชาวสวิสแท้ๆหลายชนิดที่ปรุงขึ้นในเฉพาะท้องที่และตามสภาพความเป็นอยู่หรือจากสิ่งที่หาได้ง่ายๆแถบนั้น

บางคนพูดว่าอาหารที่ชาวสวิสกินกันตามบ้านนั้นเป็นอาหารที่ได้อิทธิพลมาจากประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี หรือออสเตรีย เนื่องด้วยมีดินแดนติดต่อกัน เคยคุยกับเพื่อนๆและพี่ๆน้องๆชาวสวิส เขาก็เถียงคอเป็นเอ็นว่าไม่จริง อาจจะมีบ้างในรัฐ “ทีชีโน่” (TICINO) ด้วยสภาพภูมิประเทศและภาษา ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียน แต่ก็เลือกมาเฉพาะบางอย่างเท่านั้น เขาให้เหตุผลว่า ถ้าคำกล่าวที่ว่าคนสวิสได้รับอิทธิพลมาจากสี่ประเทศดังกล่าวแล้วเป็นจริงไหนล่ะ อาหารจำพวกแป้งพาสต้าหรือพิซซ่าหลายสิบหลายร้อยชนิดที่อาจจะหาได้ในประเทศอิตาลี แล้วขนมหวานของชาวออสเตรียอยู่ที่ไหน นอกจากนั้น อาหารพื้นเมืองชาวฝรั่งเศสตามบ้านนอกที่ทำจากผักแล้วใส่เครื่องเทศจนฉุนก็ไม่มีอีก ส่วนอาหารเยอรมันก็ไม่เป็นที่นิยมในประเทศนี้มากนัก เช่น “ลูกกระดุม” (KNOEPFLI) หรือ “ดัมพลิ่ง” (SPAETZLI) เป็นต้น

อาหารที่ชาวสวิสกินกันตามบ้านนั้นส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ทำขึ้นมาจากมันฝรั่งไม่มีชาติไหนในโลกที่สามารถทำอาหารได้หลายชนิดจากมันฝรั่งซึ่งปลูกอยู่ในบริเวณที่มีเนื้อที่นิดเดียวเช่นประเทศสวิสจริงอยู่ พรมแดนอาจจะแบ่งอาณาเขตแต่ในขณะเดียวกันก็รวมอาณาเขตเข้าไว้ด้วยอย่างช่วยไม่ได้ เคยมีชาวสวิสคนหนึ่งพูดไว้นานแล้วว่า คนทำขนมหวาน (CONFECTIONERS) ที่เก่งๆและแสดงฝีมืออยู่ในเมืองหลวงทั้งหลายในโลกนั้นมาจากรัฐ “เกราบุนเดิ้น” (GRAUBUNDEN) ทั้งสิ้น แม้แต่ช็อกโกแลตของชาวสวิสก็ยังคงคุณภาพและความอร่อยไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ไหนแต่ไรมาจนถึงปัจจุบัน

บางคนก็หาว่าพวกทหารรับจ้างชาวสวิสได้นำเอาอิทธิพลในเรื่องการกินจากประเทศที่ตนเคยเป็นทหารรับจ้างติดตัวกลับมาด้วย แต่เพื่อนชาวสวิสของฉันก็บอกว่าไม่จริงอีกนั่นแหละ เขาบอกว่า ผู้ที่จะมีอิทธิพลถึงขนาดนั้นได้จะต้องเป็นผู้ที่เคยมาเป็น “เจ้าเข้าครอง” ประเทศเป็นเวลานานเท่านั้น จึงจะสามารถทิ้งธรรมเนียมการกินไว้ให้บ้างไม่มากก็น้อย พวกทหารรับจ้างชั้นผู้น้อยที่กลับมาจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนั้นได้ค่าจ้างไม่กี่สตางค์ และเป็นทหาร “ชั้นเลว” ไหนเลยจะได้รับเชิญไปกินอาหารหรูหราในพระราชวังแวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์ แล้วพวกเขาจะไปรู้ตำราอาหารฝรั่งเศสถึงพากลับเอามาสวิสด้วยนั้น เห็นจะเป็นไม่ได้ อาหารประจำวันที่พวกทหารรับจ้างกินกันก็คงจะเป็นอาหารเลวธรรมดาที่กองทัพมีไว้ให้กินแก้หิวพอประทังชีวิต อย่างดีก็จะได้กินไก่นานๆครั้งเป็นรางวัลหลังจากเสร็จการสู้รบจากสงคราม นอกจากนั้นพวกเขาก็มีอย่างอื่นที่สำคัญกว่าให้ต้องทำมากกว่าจะจดตำราอาหารเก็บเอามาไว้ทำที่ประเทศของตน ยิ่งไปกว่านั้นทหารรับจ้างส่วนใหญ่พวกนี้ไม่มีการศึกษาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แล้วจะไปจดบันทึกอะไรต่ออะไรมาได้อย่างไรกันพวกเขาอาจจะนำเอากางเกงสีแดงแจ๊ดซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูนิฟอร์มกลับมาเพื่อแสดงว่าตนเคยเป็นทหารรับจ้างของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส และชาวสวิสในเขต “เองกาดีน” (ENGADINE) ได้ดัดแปลงเอามาเป็นเครื่องแต่งกายประจำหมู่บ้านของตน เพราะเป็นเครื่องแต่งกายที่สวยงาม มีสีสว่างสดใส

ทั้งเพื่อนและญาติชาวสวิสบอกต่อไปว่า อาจจะมีข้อยกเว้นที่ทหารรับจ้างนำเอาซุปของชาวสเปนกลับติดตัวมาด้วยเพราะเป็นอาหารที่ทำกันได้ง่ายๆในสนามรบ โดยโยนของเหลือทุกอย่างที่ขวางหน้าลงในหม้อเสบียงของตนแบบจับฉ่าย จนเป็นซุปที่นิยมมาจนทุกวันนี้ แล้วก็ไม่รู้ว่าจับพลัดจับผลูกันอีท่าไหน ขนมปังโรลของสเปนก็มาถึงประเทศสวิสด้วย ชาวเมือง “บาเด้น” (BADEN) อบโรลชนิดนี้ได้หอมหวนและกรอบอย่างที่เจ้าของเดิมก็สู้ไม่ได้ พอมีการสร้างทางรถไฟขึ้นเป็นสายแรกในปี ค.ศ.1847 จากบาเด้นไปถึงซูริค ชาวซูริคก้ได้มีโอกาสลิ้มรสขนมปังชนิดนี้ด้วยเช่นกัน พวกเขาติดใจสแปนิชโรลนี้มาก เลยขนานนามรถไฟสายนี้ด้วยความรักอย่างสุดซึ่งว่า “SPANISH ROLLTRAIN” สรุปแล้วทหารรับจ้างอาจจะมีส่วนอยู่บ้างนิดหน่อยในการนำเอาอาหารจากประเทศที่ตนรับจ้างอยู่กลับมาด้วยแต่ก็ไม่มีอิทธิพลถึงกับหยังรากลึกลงไปในอุปนิสัยการกินของชาวสวิสเป็นแน่

อาหารแท้ๆของชาวสวิสก็เช่นเดียวกับชาติอื่นๆ ที่ประกอบขึ้นจากผลไม้ต่างๆ ผักในสวนครัว และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์เลี้ยง ในสมัยนั้นของจำพวกนี้มีน้อยมาก เพราะประเทศสวิสยังยากจนขัดสน แม่บ้านจำต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบและความสามารถทั้งหมดพลิกแพลงทำอาหารที่ได้จากสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อให้มีอาหารต่างชนิดไว้กินให้อิ่มท้องและไม่ให้เบื่อ พูดกันว่า ไม่ว่าแม่บ้านสวิสในสมัยนั้นจะใช้นม เนยแข็ง ขนมปัง ข้าวโพด ผลไม้ มันฝรั่ง หรืออะไรก็ตาม เธอก็มักจะสามารถทำอาหารเหล่านั้นให้อร่อยได้สิ่งเหล่านี้ต่างหาก ญาติสวิสของฉันบอกที่เป็นรากฐานของอาหารสวิส หรือที่เรียกกันว่า “SWISS CUISINE” อย่างแท้จริง

ตั้งใจจะเล่าให้คุณผู้อ่านฟังเรื่องเทศกาลขนมปังในลูเซิร์น กลับไปไกลพาออกนอกเรื่องไปเสียไกลลิบ แต่ก็คิดว่าคงจะน่าสนใจใช่ไหมคะ เอาไว้วันหลังจะคุยเรื่องประเพณีการกินเลี้ยงและความเป็นอยู่ของชาวสวิสให้ฟังค่ะ ถ้าไม่เบื่อเสียก่อน

เพราะ ความที่เป็นคนชอบกินขนมปังนี่แหละ พอรู้ว่าจะมีเทศกาลขนมปังในเมืองในวันเสาร์หนึ่งของเดือนมิถุนายน ฉันก็รีบตื่นเช้า จัดแจงแต่งตัวขับรถเข้าไป ในเมืองเพื่อจะไปดูซิว่าจะมีโรงเรียนทำขนมปังด้วย ในวันนั้นพวกทำขนมปังที่มีสมาคม (อีกแล้ว) ของตนอยู่ต่างก็นำเอาขนมปังชนิดต่างๆ ที่ตนแสดงฝีมือทำมาตั้งแสดงให้ดูและขายอีกด้วย เรียกว่า “ตลาดขนมปัง” หรือ BROT-MARKT เป็นเช้าวันเสาร์ที่มีอากาศค่อนข้างดีพอสมควรชาวเมืองลูเซิร์นและเมืองใกล้เคียงต่างก็พากันไปอุดหนุนและเที่ยวชมอย่างคับคั่ง ตลาดนี้จัดขึ้นในบริเวณ “แชปเปิ้ลสแควร์” เชิงสะพานไม้ “แชปเปิ้ลบริดจ์” ของลูเซิร์น ที่ถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1993 แต่ได้รับการซ่อมแซมและมีพิธีเปิดเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

ไม่ทราบว่าเคยเล่าให้คุณผู้อ่านฟังหรือยังว่า ใต้ “แชปเปิ้ลสแควร์” นี้เคยเป็นหลุมฝังศพของ “คนใช้” ผู้หญิงของครอบครัวผู้ดีเก่า (PATRICIAN) ของเมืองลูเซิร์นเมื่อหลายร้อยปีก่อนมาแล้ว อีกทั้งยังเคยเป็นหลุมฝังศพของเด็กผู้หญิงในสมัยนั้นอีกด้วย เล่าให้ฟังอย่างนี้แล้วคุณผู้อ่านบางคนอาจจะปอด ไม่กล้าเดินผ่านสแควร์นี้คนเดียวในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ไม่ต้องกลัวหนอกนะคะ เพราะฉันเข้าใจว่าผีชาวสวิสคงไม่ออกมาเดินฉีกอกแลบลิ้นปลิ้นตาให้ดูหรอก เพราะพวกเขาทำกิริยาอย่างนี้กันไม่เป็น แม้แต่การค้อนแหม่มยังทำไม่เป็นเลยค่ะอย่างดีก็คงจะแต่งตัวด้วยชุดสีดำ ถือไม้กวาดใส่หมวก เดินออกมากล่าวคำ “สวัสดี” หรือในภาษาท้องถิ่นพูดว่า “กรู๋ทซี่” (GRUTSI) เท่านั้น ถ้าเกิด “ผีสวิส” โผล่ออกมาพบคุณผู้อ่านเดินมากับคนอื่นเข้า เขาก็จะใช้คำว่า “GRUTSIMITENANDER” ซึ่งแปลว่าสวัสดีทุกคนซึ่งเป็นธรรมเนียมที่สุภาพของชาวสวิสเยอรมัน เมื่อพบใครเวลาไปเดินเล่นตามที่ต่างๆ หรือแม้แต่ในร้านขายของ เขาก็จะกรู๋ทซี่กับทุกๆคน แม้ว่าจะไม่รู้จักกันก็ตาม คนต่างชาติมักจะค่อนขอดว่าเขาไม่ได้พูดเฉยๆหรอกนะ เขาร้องกันเป็นทำนองเพลงต่างหาก

มีเรื่องเล่าว่ามีคนต่างชาติมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เช้าวันหนึ่งออกไปเดินเล่นในทุ่งหญ้าแอลไปน์ เดินไปตามถนนแคบๆ เกิดมีวัวตัวหนึ่งเดินสวนมาปะทะกับชายคนนี้เข้าพอดี วัวหยุดยืนเฉยๆไม่ยอมให้ชายผู้นี้เดินผ่านไปและมองเขาด้วยดวงตากลมโตเศร้าๆของวัว ชายผู้นี้หลีกให้วัวผ่าน แต่มันก็ไม่ยอมเดินจากไปสักที ได้แต่ยืนจ้องตาเป๋งไม่กะพริบอยู่อย่างนั้นแหละ ในที่สุดชายคนนี้ก็นึกถึงมารยาทอันดีของชาวสวิสได้ เลยพูดกับวัว กรู๋ทซี่เจ้าวัวจึงยอมหลีกเดินต่อไปโดยดี ฉันเองยังติดนิสัยอันนี้เลยค่ะ เวลาไปอยู่ประเทศอื่น พบคนแปลกหน้าตามถนนหนทางหรือในร้านรวงก็มักจะเผลอทักกรู๋ทซี่เสียเกือบจะทุกครั้ง ถ้าไม่พูดรู้สึกว่ามีอะไรขาดๆ

ในตลาดขนมปังในวันนั้นนอกจากจะมีขนมปังหลายชนิดที่วางโชว์และขายก็ยังมีขนมปัง “ถักเปีย” ที่เรียกว่า “ชุฟฟลี่” อยู่ด้วย ขนมปังชนิดนี้เป็นที่นิยมกินกันมากในวันอาทิตย์ ฉันเคยทำอยู่ได้สัก 2-3 ครั้ง เพื่อจะ “แสดงว่า” ฉันก็ทำเป็นเหมือนกันนะ แต่ตั้งแต่ทำอวดชาวบ้านไปแล้วก็ไม่เคยทำอีกเลย เรื่องอะไรจะไปทำให้โง่ ครอบครัวเรามีกันอยู่ไม่กี่คน ซื้อเขากินสะดวกสบายกว่ากันแยะ อร่อยด้วยอีกต่างหาก ขืนทำกินกันหมดทุกครอบครัว พอดีพ่อค้าแม่ค้าขายขนมปังเจ๊งต้องปิดร้านไปตามๆกัน แล้วเราผู้เสียภาษีก็จะต้องเดือดร้อนควักกระเป๋าจ่ายค่า “ตกงาน” ให้พวกเขาอีกต่างหาก

แหม ก็ฉันมันประเภท “ขี้เหนียว” ภาษีนี่คะ