ความเอยความรัก

ชาวนิวซีแลนด์คนแรกที่ฉันรู้จักเป็นครูสอนวิชาหน้าที่พลเมือง ยังจำภาพของเธอได้ติดตาจนทุกวันนี้

มิสซิส เวิร์ธมีรูปร่างสูงใหญ่ แต่ไม่อ้วนแบบมิสเดิร์นนิ่ง ครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ชาวออสเตรเลียน อาจเป็นเพราะว่าเธอมีกระดูกโครงร่างที่ใหญ่ก็เป็นได้ มิสซิสเวิร์ธมีผมสีแดงปนเหลืองแบบที่เรียกว่าสีจินเจอร์ จำได้ว่าเธอชอบสวมกระโปรงดำเสื้อสีเขียวและมักจะสวมลูกปัดสีเขียวๆเหลืองๆไว้รอบคอ

ฉันลืมไปแล้วว่าเธอมาจากเมืองไหนในประเทศนิวซีแลนด์ แต่คงจะไม่ใช่เมืองไครสต์เชิร์ชที่ตั้งอยู่บนเกาะใต้ของประเทศ คุณผู้อ่านคงจะทราบกันดีแล้วนะคะว่า ประเทศนิวซีแลนด์ประกอบด้วยสามเกาะใหญ่ๆคือ เกาะเหนือ เกาะใต้ และเกาะสจ๊วร์ตไม่นับเกาะเล็กเกาะน้อยที่มีอยู่หลายเกาะด้วยกัน

ที่พูดว่ามิสซิสเวิร์ธคงจะไม่ได้มาจากเมืองไครสต์เชิร์ช ก็เพราะเธอมีสำเนียงพูดที่แปลก ทำให้พวกเรานักเรียนยอดแก่นที่อยู่ชั้น “เอ” เพราะ (เขาบอกว่า) เรียนเก่ง หันมาสบตากันและกลั้นหัวเราะไว้อย่างเต็มความสามารถในตอนแรกที่ยังไม่ชินกับสำเนียงของเธอ อะไรที่เป็นตัวโอจะออกเสียงกลายเป็นแอลไปเสียสิ้น ยกตัวอย่างเช่นทาวน์คาน์ซิล (Town Council) ก็จะกลายเป็นแทวน์แควน์ซิล อะไรเทือกนี้ นึกย้อนหลังไปแล้วยังอาย เพราะความอ่อนประสบการณ์ คิดว่าภาษาที่ตนพูดนั่นดีที่สุด ถูกที่สุด แบบกบอยู่ในกะลาครอบอย่างไรเล่าคะ

มิสซิลเวิร์ธนี่เองที่ทำให้ฉันจำชื่อต่างๆในภาษาเมารีได้ขึ้นใจ แม้ว่าจะเป็นชื่อที่ยาว แต่ฟังไพเราะเหลือหลายสำหรับมนุษย์บ้าๆบวมๆเช่นฉัน มีวังกานุย,ไวตาโม,ไวทังกี,เล็กทอโพและแม้แต่ชื่อ “วาคาเร – วาเรวา” (Whakare-warewa) เป็นต้น

ครูแต่ละคนมาจากประเทศต่างๆกันในเครือจักรภพอังกฤษ (British Commonwealth) หวังว่าคุณผู้อ่านจะไม่หัวเราะ ถ้าหากฉันจะบอกว่า ครูประจำชั้นเป็นชาวไอริชที่ออกเสียงเรียกครูชาวจีนที่สอนศิลปะชื่อว่า “มิสอึ้ง” (Ng) ไม่ได้ แต่กลายเป็น “มิสนิง” ทุกทีสิน่า ส่วนครูที่สอนวิชาวรรณคดีเป็นชาวอังกฤษ และยังมีอีกหลายคนสัญชาติต่างๆกัน ความคุ้นหูตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือนี่แหละที่ทำให้ฉันไม่สู้จะมีปัญหาในการฟังสำเนียงของชาติต่างๆที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่อาจจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับชาวอินเดียนบางคนที่ออกเสียงคำว่า “อาร์กิว” (argue) เป็นอาร์กุเท่านั้น

มีอยู่ครั้งหนึ่งพาเพื่อนชาวอังกฤษไปเที่ยวสิงคโปร์ เขาเป็นอังกฤษจ๋าประเภทไม่ค่อยเคยชินกับสำเนียงอังกฤษของชาติอื่นเท่าไรนัก ทั้งๆที่อังกฤษออกเต็มไปด้วยคน “ต่างชาติ” เยอะแยะไปหมด พาเขาไปกินเนื้อสะเต๊ะที่ “Satay Pavilion” โต๊ะติดๆกับเราเป็นชาวจีนสิงคโปร์ทั้งหญิงและชายคุยกับเสียงดังขรม หลังจากที่พยายามเงี่ยหูฟังอยู่สักครู่ใหญ่ เขาก็หันมาถามฉันว่า “พวกนี้พูดภาษาอะไรกัน” ฉันอดขำไม่ได้ตอบเขาไปยิ้มๆว่า “ก็ภาษาแม่ของเธอน่ะสิ” (Your mother tongue) เขากลับย้อนถามว่าพูดเล่นหรือเปล่า ฉันก็บอกว่า ไม่หรอก ถ้าของลองฟังดูดีๆแล้วจะเข้าใจไปเอง

กล่าวกันว่า เมืองไครสต์เชิร์ชเป็น “อังกฤษ” เสียยิ่งกว่าเมืองในอังกฤษและชาวเมืองเองก็เป็น “อังกฤษ” มากกว่าคนอังกฤษแท้ๆเสียอีก ฉันไปอยู่ไม่กี่วันก็เริ่มจะเห็นว่าคำกล่าวนี้ไม่เกินความจริงไปเลย ตั้งแต่ลงจากเครื่องบินไปจับแท็กซี่เพื่อจะให้ไปส่งที่โรงแรมคนขับแท็กซี่วัยกลางคนแต่งตัวเรียบร้อยพูดด้วยสำเนียงอังกฤษ “ผู้ดี” กิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย ขับรถหน้าตรงแหนว ไม่ใช่กระจกหน้าชำเลืองดูผู้โดยสารข้างหลังเลยแม้แต่นิดเดียวพนักงานต้อนรับของโรงแรมก็มีอัธยาศัยดี พูดจะเพราะพริ้งน่ารัก

วันรุ่งขึ้นรถไปรวมกลุ่มกับชาวอังกฤษ (แต่อาศัยอยู่ในประเทศอื่น) และชาวอเมริกันเพื่อไปชมเมือง โชเฟอร์และไกด์เป็นคนเดียวกันเช่นในออสเตรเลียรถมารับเราที่โรงแรมเป็นแหล่งสุดท้ายพอขึ้นรถได้ก็มีเสียงทักทายอย่างแจ่มใสมีมารยาทดีจากโชเฟอร์ สำหรับชาวอเมริกันนั่นไม่ต้องพูดถึง ทันทีที่เราขึ้นรถ ยังไม่ทันจะนั่ง หลังจากที่อรุณสวัสดิ์กับเราแล้ว ประโยคแรกที่เขาถามก็คือ “คุณมาจากไหน” แล้วก็ตั้งกองรุมกันกระเซ้าวอลเตอร์ที่ค่าของเงินฟรังก์สวิสขึ้นไปสุดๆ ทำยังกับว่าเป็นความผิดของวอลเตอร์อย่างนั้นแหละ ปู้โธ่ เราเองก็อยากให้ค่าของเงินฟรังก์ลดลงจะตายบริษัทจะได้ขายลิฟต์ในราคาที่สู้ตลาดได้ใครๆก็รู้ว่าลิฟต์ชินด์เลอร์ของสวิสได้ชื่อว่าที่เทคนิคและคุณภาพดีที่สุดในโลก

เช้าวันนั้นที่เมืองไครสต์เชิร์ชเป็นเวลาที่รื่นรมย์ที่สุดวันหนึ่ง นอกจากเพื่อนร่วมทางและโชเฟ่อร์จะมีอารมณ์ขันแล้วไครสต์เชิร์ชยังเป็นเมืองเล็กๆที่สวยมากเมืองหนึ่ง แม้ว่าอากาศในเช้านั้นยังคงเย็นอยู่เพราะฝนที่โปรยปรายลงมาตั้งแต่ตอนกลางคืน ในตัวเมืองและรอบๆ มีสวนสาธารณะหลายแห่งโชเฟ่อร์บอกว่า ชาวนิวซีแลนด์เรียกเมืองนี้ว่า “การ์เด้นซิตี้” ฉันก็ออกจะเห็นด้วย

ในขณะที่รถวิ่งผ่านไป เราสังเกตเห็นว่าตามบ้านเรือนทั่วไป เจ้าของมักจะดูแลสนามและสวนดอกไม้หน้าบ้านกันอย่างพิถีพิถันเป็นพิเศษ โชเฟ่อร์อธิบายว่า ในแต่ละปีทางการจะส่งแมวมองออกมาเที่ยวดูว่าบ้านใครมีสวนสวยที่สุดแล้วเขาก็จะตั้งกรรมการตัดสินให้รางวัลชนะเลิศแก่เจ้าของ ชาวอเมริกันที่นั่งข้างฉันพึมพำว่า “น่าสงสาร เพราะทำให้ (เจ้าของบ้าน) มีสเตรส” ด้วยเหตุที่จะต้องคอยดูแลสวนของตนเองให้ดีเยี่ยมเสมอ มิฉะนั้นจะเสียชื่อขายหน้าเพื่อนบ้าน ฉันชอบเพื่อร่วมทางแบบนี้เพราะได้มีโอกาสฟังความคิดเห็นแปลกๆที่บางทีฉันเองก็นึกไปไม่ถึง

โชเฟ่อร์พาเราไปปล่อยไว้ที่หน้าประตูสวนแห่งหนึ่ง และบอกเราให้เดินทะลุออกไป เขาจะไปรอรับทางหนึ่งเราเดินผ่านสวนกุหลาบสวยที่กำลังบานสะพรั่งสีต่างๆกัน ผ่านต้นไม้เขียวชอุ่มสดชื่นจากฝนที่เพิ่งซา จนมาถึงบ้านใหญ่หลังหนึ่งชื่อ “โมนาเวล” สร้างในแบบสถาปัตยกรรมเอลิซาบีเธน มีน้ำพุสวยอยู่ทั่วบริเวณ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยทะเลสาบเล็กๆ เห็นบ้านหลังนี้แล้วอยากจะเดินเข้าไปข้างใน เพื่อหยุดพักดื่มน้ำชาและรับประทานขนมผิงสโคนเสียจริงๆ

เด็กหนุ่มที่เสิร์ฟอาหารเย็นให้เราที่โรงแรมมาจากเมือง “โรโตรัว” ที่อยู่ทางเกาะเหนือของประเทศ และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่าเป็นสถานที่ที่มีภูเขาไฟ บ่อน้ำพุร้อนอยู่ทั่วเมือง มีผู้คนอาศัยอยู่เพียงหกหมื่นห้าพันคน แต่มีแกะอยู่มากกว่าสองล้านตัว เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันเห็นเขาตัดขนแกะกันที่นี่ หลังจากที่ได้ดูแต่ในหนังมานานแล้ว

เรายังไม่ได้จองโรงแรมที่โรโตรัวจึงถามเด็กหนุ่มคนเสิร์ฟว่าควรจะไปพักที่ไหนดี เขาก็แนะนำให้เราไปพักที่โรงแรม “ไกเซอร์แลนด์” เพราะมีวิวสวยและติดกับบ่อน้ำพุที่เรียกว่า “วาคาเร – วาเรวา” ได้ยินชื่อฉันก็ร้องอ๋อ เพราะคุ้นหูมานานแล้ว กินอาหารเสร็จเรียกพนักงานหนุ่มคนเดิมให้มาเก็บเงิน ให้ทิปไป 15 เปอร์เซ็นต์ ที่แรกเขาไม่ยอมรับ บอกว่าเขิน เพราะไม่ใช่ธรรมเนียมของประเทศนี้ ความจริงเรารู้อยู่แล้ว แต่อยากจะตอบแทนน้ำใจของเขาก็เลยยัดเยียดให้รับไปจนได้

ไม่ใช่แต่เฉพาะที่เมืองนี้เท่านั้นตลอดเวลาที่พักอยู่ที่นิวซีแลนด์ ไม่มีพนักงานคนไหนแบมือรอเอาทิปกันเลยแม้แต่คนเดียว ชาวยุโรปในหลายประเทศควรจะดูเป็นเยี่ยงอย่าง บางแห่งพอรู้ว่ากำลังจะเช็คเอ๊าท์ พนักงานทำความสะอาดห้อง ฯลฯ ก็มายืนรอเอาทิปที่เคาน์เตอร์กันเลยทีเดียว บางทีฉันรำคาญก็แกล้งไม่ให้เสียดื้อๆ แม้แต่โรงแรมในเมืองใหญ่ เช่น โอ๊กแลนด์ฉันต้องไปตามหาตัวรูมเมดที่ดูแลทำความสะอาดห้องเพื่อจะให้ทิป เขารับไปอย่างตื้นตันมากแบบนึกไม่ถึง รู้ได้ว่าไม่ได้มารยาแสร้งทำ พร้อมกับขอบอกขอบใจจนคนให้ชักเขิน เขาถือว่าเป็นบุญคุณใหญ่หลวงทีเดียว จึงอยากจะพูดว่า คนในประเทศนี้เท่าที่เห็นไม่สปอยล์เลยในเรื่องนี้

ใช้ เวลาบินหนึ่งชั่วโมงจากไครสต์เชิร์ชไปโอ๊กแลนด์ เราไม่ได้เข้าเมืองทันทีแต่ไปรับรถที่จองไว้ล่วงหน้าก่อนออกจากสวิส เพื่อขับไปยังโรโตรัว เมืองแห่งทะเลสาบ ภูเขาไฟ และบ่อน้ำร้อนแลเห็นไอน้ำร้อนสีขาวพวยพุ่งอยู่ทั่วไปกลิ่นกำมะถันฉุนจัดเข้าจมูก โรงแรมไกเซอร์อยู่ติดกับปาร์ควาคาเร – วาเรวาจริงๆ น้ำพุร้อนที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณนี้คือ น้ำพุร้อน “โพฮูตู” ที่บางครั้งดันไอน้ำขึ้นไปในอากาศสูงถึง 31 เมตร จากระเบียงโรงแรมเราสามารถมองเห็นน้ำพุและดินร้อนที่เดือนปุดๆ อยู่ตลอดเวลาได้อย่างชัดเจอ การที่ได้นอนดูน้ำพุร้อนพวยพุ่งในเวลาคือเป็นประสบการณ์ที่จะลืมไม่ได้ง่ายๆ

ชาวเมารีที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้อาศัยน้ำพุร้อนและดินเดือดหุงต้มอาหารอีกทั้งยังได้อาศัยน้ำพุไว้อาบเพื่อสุขภาพด้วย ฉันเลยซื้อข้าวโพดต้มสองฝีกมากินเป็นอาหารเช้า นั่งแทะอยู่บนลานซีเมนต์อบอุ่นใกล้บ่อน้ำพุนั่นเอง วอลเตอร์ไม่ยอมกินด้วย เพราะเขาเกลียดข้าวโพดต้ม ชอบกินแต่ ป๊อปคอร์นในโรงหนังเท่านั้น ตำนานบอกว่า ชาวเมารีในสมัยก่อนเมื่อจับศัตรูได้ก็จะคัดหัวเอามาต้มในบ่อน้ำพุแห่งนี้ บรื๋อ

ที่ฉันออกจะเห็นขันและอยากเอามาเล่าสู่กันฟังก็คือ ก่อนอาหารเย็นในโรงแรมที่เรียกว่า “แฮงกี” ในภาษาเมารีชาวเมารีมาแสดงนาฏศิลป์ของเขาให้ชมพอจบการแสดงก็เชิญแขกทุกคนออกไปที่เวที แล้วให้เรายืนจับมือกัน ร้องเพลงลา “Now is the hour when we must say goodbye…” ซึ่งฉันรู้จักดีมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ พอร้องเพลงจบก่อนที่จะตั้งตัวติด หญิงชาวเมารีคนหนึ่งก็เริ่มสวดเกรสขอบคุณพระเจ้าแบบคริสต์ศาสนิกชนสำหรับอาหารแฮงกีที่หุงต้มด้วยวิธีของขาวเมารีแท้ๆ คือการใช้ดินร้อนช่วยทำให้สุก พอสวดจบก็กล่าว “อาเมน” ฉันลืมตัวเสียมารยาทปล่อยกิ๊กออกมา โธ่…คุณผู้อ่านลองนึกภาพเอาเองนะคะ ถ้าหากนักแสดงนาฏศิลป์ของไทยเกิดลุกพรวดพราดขึ้นมาสวดเกรสขอบคุณพระเจ้าตอนแสดงเสร็จ ดูซิว่าจะขำหรือไม่ขำ

แผนการ ที่วางไว้ว่าจะอยู่ที่โรโตรัวสองคืนต้องพับไปโดยกะทันหัน เราโทรศัพท์ไปหาเพื่อนเก่าแก่สมัยที่อยู่ประเทศคูเวตด้วยกัน (สมัยที่ยังไม่มีใครรู้จักว่าประเทศนี้อยู่ที่ไหน เอาไว้แล้วจะเล่าให้ฟังค่ะ) เขามีบ้านอยู่ที่เมือง “ทอรังก้า” พอรอนนี่และแพมรู้ว่าเราพักอยู่ที่โรโตรัวก็กึ่งคะยั้นคะยอกึ่งบังคับให้ไปพักอยู่กับเขาให้ได้อย่างน้อยก็หนึ่งคืนอ้างว่าทอรังก้าอยู่ห่างจากโรโตรัวเพียง 70 กิโลเมตเท่านั้น จะได้คุยฟื้นความหลัง มิไยที่เราจะบอกว่ามีเวลาน้อยเขาก็ไม่ฟัง ขู่ว่าจะรู้สึกเสียใจมากที่มาเที่ยวนิวซีแลนด์ทั้งทีแล้วไม่ได้พบกัน เราเลยตกลง

รอนนี่เป็นชาวสก๊อต เราพบเขาในสมัยที่ยังเป็นหนุ่มโสดอายุ 24-25 เขามีอาชีพเป็น “optician” หรือที่คนนิวซีแลนด์เรียกว่า “optometrist” ฉันเองไม่รู้จะเรียกอาชีพนี้เป็นภาษาไทยว่ากระไรจึงจะเหมาะสม เข้าเป็นคนวัดสายตาและประกอบแว่นให้คนทั่วไปตอนที่เราพบรอนนี่เป็นครั้งแรก เขาเพิ่งมาจากสก๊อตแลนด์สดๆร้อนๆ เพื่อมาทำงานให้กับร้านขายแว่นตาของชาวคูเวตเราพบเขาที่งานปาร์ตี้แห่งหนึ่งเมื่อ 24 ปีเศษๆมาแล้ว ที่จำได้แม่นยำก็เพราะเป็นปาร์ตี้แรกที่ฉันได้ไปหลังจากคลอดลูกสาวได้เดือนเศษๆ สายตาฉันสั้นต้องใส่แว่นเป็นประจำ พอรู้ว่าเขาเป็นออพติเชียน ฉันก็ดีใจ บอกเขาว่าจะไปให้เขาตรวจสายตาประกอบแว่นให้ เขายวนกับฉันว่า “ผมคงจะทำแว่นให้คุณไม่ได้หรอก เพราะดั้งจมูกแบนๆของชาวเอเชียไม่มีที่แขวน” ถ้าเป็นสมัยนี้ฉันคงหัวเราะ เพราะตลกดี แต่ในสมัยที่ฉันเพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ อารมณ์ยังไม่ค่อยจะเข้ารูปเข้ารอย ฉันโกรธเขาเสียจนพูดไม่ออก บอกกับวอลเตอร์ว่า ชาตินี้จะไม่ขอพูดกับอีตาบ้านี้อีกต่อไป

แต่ไม่ว่าจะไปปาร์ตี้ไหนก็เจอเขาทุกที พอเห็นฉันไม่พูดด้วย เขาก็มาง้อพูดโน่นพูดนี่โดย (แกล้งทำเป็น) ลืมว่าเคยพูดอะไรให้ฉันเจ็บใจ ต่อมาเมื่อรู้จักเขาดีแล้วจึงได้เข้าใจอารมณ์ขันของเขาไปคลับในวันศุกร์ (ซึ่งถือว่าเป็นวันอาทิตย์ในประเทศคูเวต) ก็พออีก ทั้งๆที่ “ซีคลับ” ชายทะเลเป็นคลับของครอบครัว หนุ่มๆไม่ว่าชาติไหนห้ามเข้ามาป้วนเปี้ยน แต่รอนนี่รู้จักชาวคูเวตที่มีอิทธิพลหลายคนที่เป็นลูกค้าของเขา จึงได้รับเชิญเป็นแขกไปคลับด้วย เขารักลูกสาวของเรามาก มาพูดเล่นหยอกเย้าตั้งแต่แกยังไม่รู้เดียงสา จนในที่สุดเราก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เวลาไปปิกนิกค้างคืนในเต็นท์ที่ทะเลทราย เขามักจะคอยดูแลอุ้มแกให้ขี่คอดูฝูงอูฐฝูงแพะไปตามเรื่องเพราะเขาเป็นคนสูง ส่วนลูกสาวก็ติด “อังเคิลรอนนี่” แจทีเดียว หมายเหตุไว้ตรงนี้ด้วยว่า แม้เราจะเป็นเพื่อนกันแล้วฉันก็ไม่เคยไปให้รอนนี่วัดสายตาทำแว่นแต่ไปหา “รอลฟ์” เพื่อนชาวเยอรมันอีกคนหนึ่งแทน

รอนนี่เช่าแฟลตอยู่บนเพนท์เฮ้าส์ของบริษัทเกรย์แมคเคนซี่ ซึ่งเป็นบริษัทของชาวอังกฤษ เป็นแฟลตที่มีระเบียงกว้างใหญ่ เขาจึงจัดปาร์ตี้ทุกเดือน ปาร์ตี้ “ฮ้อกมาเน่” ในวันส่งท้ายปีเก่ามีชื่อเสียงมาก เอาไว้จะเล่าในคราวต่อไป ประเทศคูเวตห้ามดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดโทษฐานมีแอลกอฮอล์อยู่ในครอบครองเป็นสถานใด ทุกคนย่อมรู้ดี แต่รอนนี่รวมทั้งเราด้วยมีเครื่องดื่มนี้ตุนไว้มากมายจนสามารถจัดปาร์ตี้ได้บ่อยๆ แต่ฉันจะไม่บอกหรอกนะคะว่าได้มาอย่างไรในคืนของฮ็อกมาเน่นี่แหละที่เราได้พบแพมเป็นครั้งแรก

แพมเป็นชาวนิวซีแลนด์ เกิดที่เมือง “เนเพียร์” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองทอรังก้านัก เธอมีอาชีพเป็นครู แต่ด้วยดวงใจที่เป็นอิสระแบบชาวยิปซี แพมจึงไปสมัครเป็นครูที่แอฟริกาใต้ หลังจากที่สอนอยู่ที่นั่นสองปี เธออยากจะท่องเที่ยวดูโลกจึงตัดสินใจเดินทางแบบฮิปปี้ คือค่ำไหนนอนนั่น ใช้ความพยายามทุกวิถีทำทางที่จะใช้เงินที่มีอยู่เพียงนิดเดียวให้คุ้มค่า เธอเดินทางมาจนถึงประเทศซาอุดีอาระเบียด้วยการชักชวนของชาวซาอุคนหนึ่งขณะที่พักอยู่ที่นั่น เธอได้ข่าวว่าประเทศคูเวตให้เงินแก่คนที่บริจาคโลหิตคนละ 30 ดีนาร์ทุกครั้ง (สมัยนั้นตกในราว 2,400 บาท) เธอจึงหาทางดั้นด้นไปถึงคูเวตจนได้ เพื่อจะหาเงินไว้เป็นทุนสำรองในการเดินทางต่อไป หาได้สังหรณ์ใจไม่ว่า โชคชะตาจะทำให้เธอต้องมาอยู่ที่นี่เป็นเวลาถึงสามปี

แรกเริ่มเดิมทีแพมไปอาศัยอยู่ที่หอพัก แต่โดยเหตุที่เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในหอพักที่มีแต่ผู้ชาย ทางการคูเวตไม่ชอบใจ บอกให้เธอไปหาที่พักเสียที่อื่น แพมไปที่โรงเรียนอังกฤษเพื่อขอคำปรึกษา ครูชาวอังกฤษผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อคนหนึ่งชวนแพมให้ไปพักอยู่ด้วยที่บ้าน แล้วค่อยหาทางขยับขยายตอนหลัง สองวันต่อมาครูคนนี้คิดจะจัดปาร์ตี้ แต่ไม่มีเหล้า นึกได้ว่ารอนนี่คงจะมี จึงชวนแพมไปขอเหล้าที่แฟลตของรอนนี่ในเย็นวันหนึ่ง ต่อไปนี้เป็นคำให้การของแพมที่ฉันขอถอดเอามาเล่าต่อแบบไทยๆ “แหม…เธอเอ๋ย พอฉันเห็นผู้ชายคนนี้เข้าเท่านั้น ฉันรู้เลยว่าพบชายในฝันเข้าแล้ว จะต้องเอาเป็นสามี (ผัว) ในอนาคตให้ได้” จึงชวนให้ไปพักที่แฟลต เพราะมีที่กว้างขวาง

มีหรือที่แพมจะปฏิเสธ แรกๆรอนนี่ก็คอยหลบๆซ่อนๆ เพราะในสมัยนั้นการอยู่ด้วยกันของหญิงและชายที่ยังไม่ได้แต่งงานยังคงเป็น “ทาบู” สิ่งต้องห้าม ในขณะเดียวกันแพมก็ได้งานสอนที่โรงเรียนอังกฤษที่ลูกสาวเรียนอยู่ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เวลารอนนี่ไปรับแพมทีไร เด็กๆนักเรียนชาวอังกฤษก็จะชี้ชวนให้กันดูและพูดตามประสาเด็กว่า “นั่นไง มิสเตอร์ทิลลี่” เพราะนามสกุลเดิมของแพมคือทิลลี่ ส่วนลูกสาวก็จะเถียงคอเป็นเอ็นว่าไม่ใช่ นั่นเป็นอังเคิลรอนนี่ต่างหาก

จะไม่ขอเล่ารายละเอียดหลังจากที่รอนนี่แนะนำแพมให้พวกเรารู้จักที่ปาร์ตี้ฮ็อกมาน่ จะเล่าแต่เพียงว่าแพมต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะ “ทะลุ” กำแพงของพวกเราได้ พวกเราไม่ได้หมายถึงเฉพาะฉันและวอลเตอร์ แต่หมายถึงเพื่อนคนอื่นๆ อีกหลายคนในแก๊งเดียวกัน แม้ว่าเราจะดีกับแพม แต่เธอมีปมด้อย จึงรู้สึกอยู่เสมอว่าเราทำด้วยมารยาทเพราะเห็นแก่รอนนี่มากกว่าจะทำด้วยใจจริง ซึ่งฉันเองเห็นว่าไม่ยุติธรรมเลย

เกือบสามปีให้หลัง ขณะที่กำลังทำกับข้าวอยู่ในครัว รอนนี่เดินเข้ามาควักแหวนเพชรออกจากประเป๋า บอกแพมอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า “เรามาแต่งงานกันเถอะ” แพมมาเล่าให้ฟังทีหลังว่ารอนนี่ซื้อแหวนเพชรวงนี้ติดกระเป๋าไว้นานแล้วไม่ใช่เพื่อจะใช้หมั้นเธอ แต่ซื้อไว้เพื่อจะขายเก็งเอากำไร อีกประการหนึ่งเมื่อทางการของประเทศคูเวตจับได้ว่าแพมและรอนนี่อยู่ด้วยกันเฉยๆ เขาใช้คำว่า “shacking up” จึงเคี่ยวเข็ญให้บริษัทเกรย์แมคเคนซี่เลิกสัญญาให้รอนนี่เช่าแฟลต มิฉะนั้นจะเกิดเรื่องใหญ่ โดนไม้นี้เข้า รอนนี่เลยโกรธมากที่มาลิดรอนสิทธิกันเช่นนี้ จึงตัดสินใจลาออกจากร้านที่ทำอยู่ในคูเวต กลับไปแต่งงานกับแพมที่สก๊อตแลนด์ แล้วอพยพไปอยู่โรดีเซีย หรือซิมบับเวในปัจจุบันเป็นเวลาหกเดือน แล้วจึงย้ายไปอยู่บาฮามาส กลับไปเปิดร้านที่อังกฤษคนในที่สุดตัดสินใจมาเปิดร้านขายแว่นตาที่ประเทศนิวซีแลนด์

เดี๋ยวนี้รอนนี่มีร้านขายแว่นตาถึงสี่ร้าน มีลูกที่น่ารักเป็นชายสองหญิงหนึ่ง แอนดรูว์, คริสโตเฟอร์ และโจแอนน์ เรายินดีด้วยกับความสำเร็จของเขาทั้งในด้านการงานและชีวิตส่วนตัว แพมเป็นภรรยาที่ดี บ้านของเขาที่เมืองทอรังก้าอยู่ไม่ห่างจากทะเลมากนัก มีทั้งสระว่ายน้ำและฮ็อตสปา ลูกทั้งสามยังเรียนหนังสืออยู่

ในขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ แอนดรูว์อาจจากบ้านไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงเวลลิงตันแล้วก็เป็นได้