ก่อนใบไม้ร่วง

เมื่อต้นไม้ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง แดง ส้ม และในที่สุดเป็นสีน้ำตาล มีเมฆหมอกหนาทึบในตอนเช้า และสลายในตอนสายๆ นั่นก็แปลว่าฤดูใบไม้ร่วงกำลังมาเยือน เป็นฤดูที่ชาวสวิสได้รับอนุญาตให้ออกไปล่าสัตว์ได้

นักล่าสัตว์ มีทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่จะเป็นชาย แต่ก่อนที่เขาจะได้รับใบอนุญาตต้องผ่านการอบรมและการทดสอบกันจนหืดขึ้นคอ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เขาต้องรู้จักต้นไม้ชนิดต่างๆที่ขึ้นอยู่ในป่าแถบที่เขาจะไปล่าสัตว์ต้องรู้จักแยกแยะสัตว์จำพวกนกต่างชนิดต้องรู้ว่าสัตว์ตัวใดยิงได้และสัตว์ตัวใดที่ยิงไม่ได้โดยเด็ดขาด เช่น แม่กวางที่ยังเลี้ยงลูกตัวอ่อน เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีกฎข้อห้ามอีกมากมายจาระไนไม่หมดไอ้เรื่องที่อยู่ๆจะถือปืนเข้าป่าตามเพื่อนพรานไปล่าสัตว์ด้วยคนนั้น ห้ามเด็ดขาดเลยค่ะ

ในฤดูนี้จะเห็นว่าตามภัตตาคารร้านอาหารทุกแห่งจะมีเมนูอาหารประเภทสัตว์จำพวกเก้งกวางมาเสนอให้กับลูกค้าเรียกกันว่า “wildspezialitaeten” ซึ่งจะไม่มีในฤดูอื่นๆ เพราะการล่าสัตว์พวกนี้อนุญาตให้ทำกันได้เพียงปีละครั้ง

มีเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ชาวสวิสนิยมดื่มกันเฉพาะในฤดูใบไม้ร่วง ก็คือ “Suesser” ความจริงมันก็คือน้ำองุ่นธรรมดานี่เอง แต่คั้นมาสดๆแล้วดื่มกันเลยเหมือนกับน้ำส้มคั้น ถ้าจะเก็บเอาไว้นานๆก็ต้องรอจนน้ำองุ่นที่คั้นแล้วเริ่มจะบูดเปรี้ยว จึงนำไปพาสเจอไรซ์แล้วใส่ขวดเก็บไว้ ถ้าคุณผู้อ่านเที่ยวสวิสในระยะนี้จะเห็นป้ายโฆษณาเครื่องดื่มน้ำวางไว้บนโต๊ะทุกแห่งในภัตตาคาร “ซูสเซอร์” เป็นเครื่องดื่มที่อร่อยชื่นใจ แต่อย่าเผลอไปดื่มมากๆนะคะ มีสิทธิ์ท้องร่วงเอาได้ง่ายๆ ฉันเองก็ชอบเหมือนกัน แต่ต้องดื่มแบบบันยะบันยัง ไม่งั้นมีหวัง…

ในสมัยโบราณ ชาวยุโรปมักจะดื่มจากแก้วเดียวกันเพื่อแสดงถึงมิตรภาพมาในสมัยนี้ ด้วยเหตุผลทางอนามัยเราจึงมักจะไม่ดื่มจากแก้วเดียวกัน แต่อย่างน้อยก็ “ชนแก้ว” กันเพื่อให้รู้สึกว่าอย่างน้อยก็ได้สัมผัสกัน ชาวสวิสมีธรรมเนียมที่ถือกันเคร่งครัดมากเมื่อดื่มไวน์ร่วมกัน พวกเขาจะรอให้ทุกคนมีไวน์อยู่ในแก้วแล้วจึงจะชูแก้วขึ้นในระดับพอสมควร หรือไม่ก็ชนแก้วกับทุกๆคนจนทั่ว แล้วพูดในภาษาท้องถิ่นว่า “Prost” มีความหมายว่าขอให้มีสุขภาพดี หรืออะไรเทือกนี้ เมื่อได้รับเชิญให้ไปบ้านใคร เจ้าของบ้านชายมักจะเป็นผู้รินไวน์แจก เวลารินก็ต้องรินให้กับทุกๆ คนที่นั่งอยู่ที่นั่น ไม่ว่าจะดื่มพร่องไปแล้วแค่ไหนก็ตาม ไม่ใช่รินให้เฉพาะกับคนที่ดื่มไปแล้วจนเกือบหมดแก้วแต่เพียงผู้เดียว เว้นเสียแต่ว่าแขกไม่ต้องการจะดื่มต่อไป ตัวของแขกเองก็ต้องรอให้เจ้าภาพรินไวน์ให้ ไม่ใช่ทำเป็นกันเอง ยกขวดขึ้นรินเสียเองนอกจากจะได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้

เวลาที่คนสวิสได้รับเชิญไปบ้านใครจะว่าเพื่อรับประทานอาหารเย็นหรือว่าไปดื่มกาแฟตามธรรมดา เขามักมีของขวัญติดไม้ติดมือไปด้วยเสมอ จะไม่ไปมือเปล่าเป็นอันขาด ถ้าได้รับเชิญให้ไปรับประทานอาหารเย็นมักมีช่อดอกไม้สำหรับเจ้าภาพหญิง และไวน์หนึ่งขวดสำหรับเจ้าภาพชาย ถ้าคุณผู้อ่านได้รับเชิญไปบ้านชาวสวิสและได้ปฏิบัติตามที่ว่านี้แล้ว อย่าเพิ่งแปลกใจ น้อยใจ หรือเสียใจ หากว่าไวน์รสเลิศที่คุณผู้อ่านอุตส่าห์เอาไปฝากเจ้าภาพเป็นของกำนัลนั้นไม่ได้รับการเอามาตั้งโต๊ะรินแจกจ่ายทั้งมีก็เพราะว่าเขามักจะมีไวน์ที่เลือกเอาไว้แล้วสำหรับอาหารมื้อนั้น และไวน์ถ้าจะให้มีรสชาติอร่อยก็ต้องเปิดเอาไว้ล่วงหน้าก่อนสักชั่วโมงสองชั่วโมง เพื่อให้ไวน์ได้มีโอกาส “หายใจ”

เรื่องการดื่มไวน์ของชาวสวิสนี่ก็เหมือนกัน คนที่ไม่เข้าใจจะคิดว่าเรื่องมากและดัดจริต แต่ฉันขอยืนยันนะคะว่าไม่ใช่เช่นนั้น การที่ใช้แก้วต่างชนิดกันก็มีเหตุผล ไวน์ขาวจะต้อง “เย็น” จึงต้องเสิร์ฟในแก้วเล็กนิดหน่อย เพื่อจะได้ไม่อุ่นไปกับอุณหภูมิในขณะนั้น ส่วนไวน์แดง เช่น “Bordeaux” ก็ควรจะเสิร์ฟในแก้วใบโตรูปทิวลิปยักษ์ เวลารินก็รินเพียงค่อนแก้วเท่านั้น ที่ใช้แก้วใหญ่ก็เพราะว่าเวลาดื่มเราจะได้บูเก้ต์ระเหยออกมาจากแก้วที่ดื่ม นอกจากนั้นก็มีแก้วอย่างอื่นสำหรับไวน์ต่างชนิดกัน ซึ่งฉันจะไม่ขออธิบายในที่นี้ เพราะสมันนี้คนไทยก็เริ่มดื่มไวน์กันมากขึ้นแล้วคงจะรู้ประเพณีกันดี

อย่างไรก็ดี ฉันอยากจะพูดถึงการถือแก้วไวน์สักเล็กน้อย ไม่ได้สอนหรอกค่ะ ข้าน้อยไม่บังอาจ เพียงแต่เป็นข้อสังเกตของฉันเอง ทุกคนที่ดื่มไวน์คงจะรู้จักวิธีการถือแก้วไวน์แล้วว่าควรจะจับที่ฐานกลมข้างใต้แก้ว การถือแก้วแบบนี้ถือกันว่า “ถูกต้อง” แต่ฉันไม่เห็นด้วยหรอกนะคะ เพราะถ้าแก้วไวน์เบ้อเริ่มเทิ่มอย่างที่ใช้สำหรับดื่มไวน์ “บอร์โดซ์” อย่างหนึ่งฉันเล่าให้ฟังข้างต้นมีหวังแก้วหลุดมือแตกเละนะคะ หรือว่าคุณผู้อ่านจะว่าอย่างไร

แต่ถ้าคุณผู้อ่านเข้าไปรับประทานอาหารในร้านธรรมดาๆ ในสวิส ก็อย่าผิดหวัง หากว่าจะมีแต่แก้วไวน์ที่ทำด้วยแก้วธรรมดาวางไว้ให้บนโต๊ะ ถ้าต้องการ “พิเศษ” ก็ต้องไปร้านอาหาร “พิเศษ” ค่ะ

เวลา นั่งรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับชาวสวิส พวกเขาถือเป็นธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดที่จะรอให้ทุกคนได้อาหารมาวางตรงหน้าพร้อมกันแล้วจึงจะลงมือรับประทาน แต่ไม่ก่อนที่เขาจะกล่าวอวยพรว่า “en guete” ซึ่งแปลได้ว่า “ขอให้เจริญอาหาร”

เป็นธรรมเนียมของชาวสวิสตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ที่จะอนุญาตให้ “คนงาน” ที่จ้างมาช่วยทำงานในไร่ได้กินอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน โดยไม่ถือว่าตนเองเป็นนายจ้างแต่อย่างใด ทุกคนจะมีที่นั่งโดยเฉพาะของตนเองที่เจ้าของบ้านจัดไว้ให้ ทุกคนจะเริ่มกินอาหารหลังจากที่เจ้าบ้านได้ทำการสวด “เกรส” (Grace) ขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าแล้วเท่านั้น

ทุกวันนี้ครอบครัวชาวสวิสทุกครอบครัว รวมทั้งครอบครัวของฉันด้วย ต่างก็มีที่นั่งประจำที่โต๊ะอาหารของตนเอง ไม่แย่งกัน และหน้าที่ประจำของวอลเตอร์ คือ หั่นขนมปังและรินเครื่องดื่มให้ทุกคน

ฉันคิดว่าการกินอาหารร่วมกันเป็นการแสดงความสนิทสนม ถ้าคนสวิสเกลียดหรือไม่ชอบใคร เขามักจะพูดว่าจะไม่ขอนั่งโต๊ะกินอาหารร่วมกันคนคนนั้นเป็นอันขาด ส่วนคนอังกฤษก็มีคำกล่าวของเขาว่า “บิขนมปังร่วมกัน” ซึ่งแปลว่ามาอยู่ในที่แห่งเดียวกันเพื่อทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน การกิน “ฟองดู” ของชาวสวิสคงจะเป็นประเพณีที่ยังคงเหลือมาแต่โบราณ ที่แสดงความสนิทสนมโดยการกินอาหารจากหม้อเดียวกันนั่นเอง เพราะฉะนั้นการกิน “ฟองดู” ทุกวันนี้จึงเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งซึ่งช่วยสร้างสัมพันธไมตรีในสังคมที่ “เย็นชา” เช่นในประเทศนี้ แต่การกินฟองดูก็จะกินกันเฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้นเองค่ะ

คำถาม ที่คนต่างชาติมักจะถามฉันอยู่ค่อนข้างจะบ่อยก็คือ “คนสวิสกินอาหารกันวันละกี่มื้อ” ถ้าฉันตอบว่าสามมื้อ เขาจะมองเห็นฉันพิกลๆคล้ายกับว่าฉันพูดปดอย่างไรนั้น โดยเฉพาะชาวเอเชียที่คุ้นเคยกับการกินอาหารแบบที่คนอังกฤษเรียกว่า “Square Meal” กันวันละสามมื้อ แต่ถ้าฉันตอบว่า “คนสวิสกินอาหารกันวันละมื้อเดียว” ชาวสวิสได้ยินเข้าคงจะต่อว่าฉันเป็นแน่ เขาคงจะหาว่าฉันเอาเรื่องอะไรมาพูดเหลวไหลเขากินอาหารกันวันละสามมื้อต่างหากบางครั้งก็ห้ามื้อเสียด้วยซ้ำไป อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณผู้อ่านคงจะคิดในใจแล้วจะเชื่อใครกันดี

ชาวสวิสกินอาหารเช้ากันแบบง่ายๆธรรมดาแบบยุโรปทั่วไป เรียกกันว่า “คอนติเนนตัลเบรกฟาสต์” แต่ในสมัยนี้แม้แต่คนอังกฤษเองก็ไม่ได้ทำ “อิงลิชเบรกฟาสต์” กันหรอกนะคะ ใครเลยจะมานั่งทอดไข่ ทอดเบคอนกันได้ทุกวี่ทุกวัน นอกจากจะเรื่องมากในตอนเช้าแล้ว ยังเพิ่มแคลอรีมหาศาลอีกด้วยเพราะฉะนั้น “อิงลิชเบรกฟาสต์” จึงมีไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นแม้แต่ “อมเริกันเบรกฟาสต์” ก็เช่นเดียวกัน ใครจะไปเสียเวลาทอดแพนเค้ก ฯลฯ กันได้ทุกเช้า เห็นก็มีแต่ในหนังฮอลลีวู้ดเท่านั้นที่แม่บ้านทำอาหารเช้าแบบนี้ให้ครอบครัวแล้วยังต้องแต่งตัวออกไปทำงานนอกบ้านอีก ฉันงี้นับถือจริงๆ

นอกจากนั้นยังต้องทำความสะอาดเก็บกวาดอีก แม่ครัวฝรั่งที่ไหนจะทำอาหารแล้วปล่อยให้ครัวเลอะเทอะ เห็นจะมีก็แต่แม่บ้านฝรั่ง “ข้างรั้ว” เท่านั้นกระมัง ถ้าฉันมีคนคอยเก็บกวาดเช็ดถูเตาให้หลังจากทำอาหารเสร็จแล้ว ฉันก็คิดว่าคงจะทำอาหารแบบวิสิศมาหราให้ครอบครัวกินทุกเช้าเหมือนกันแหละค่ะ

อาหารกลางวันเป็นอาหารมื้อสำคัญและมื้อหนักที่สุดของชาวสวิสเพราะฉะนั้นจึงเป็นอาหารที่เรียกว่า “สแควร์มีล” โดยแท้จริง เพราะจะมีอาหารครบทุกหมวดหมู่ เช่น ซุป สลัด เนื้อ ผัก ผลไม้หรือของหวาน และกาแฟคนส่วนใหญ่จะมีไวน์แดงเป็นเครื่องดื่มหนึ่งแก้ว

อาหารเย็นจะเป็นจำพวกเนื้อเย็นหรือ “Cold Cuts” หรือไม่ก็แซนด์วิชหรือสลัด เนยแข็ง ไส้กรอก หรืออะไรจำพวกนี้ เป็นอาหารประเภทไม่ต้องทำให้สุก อาหารอีกชนิดหนึ่งที่นิยมกินกันมากในตอนเย็น โดยเฉพาะในฤดูร้อนก็คือ “Birchermuesli” เป็นอาหารที่นิยมและเผยแพร่กันไปทั่วโลก มักจะกินกันในตอนเช้าในประเทศอื่นๆ เจ้าตำรับเป็นคนสวิสชาว “อาเรา” ชื่อแมกช์ออสคาร์ เบียร์เคอร์ (Max Oskar Bircher) มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ ค.ศ.1867 จนถึง 1939 กว่าอาหารของเขาจะเป็นที่ยอมรับ เขาก็ต้องสะบักสะบอมมากมายโรงงานผลิต “เบียร์เคอร์มูสลี่” อยู่ใกล้ๆลูเซิร์นนี่เองค่ะ

ฉันมีเพื่อนชาวเดนมาร์กคนหนึ่งที่ไม่ชอบอาหารแหยะๆ เช่นเบียร์เคอร์มูสลี่เอาเสียเลย เขาบอกว่าเหมือนอ้วกแมว ฉันเองก็เห็นด้วยนะคะ เขามักจะตั้งคำถามตลกๆเอากับฉันว่า “นี่มันอาหารหรือหลังอาหารกันแน่ หือ”

นอกจากอาหารสามมื้อที่ว่านี้แล้วคนสวิสยังมีอาหาร “ระหว่างมื้อ” อีกด้วยในตอนเช้าเวลาประมาณสามถึงสี่โมงเช้าเรียกกันว่า “Znueni” ประกอบด้วยกาแฟ เครื่องดื่ม และขนมจำพวกพายหรือทาร์ต หรือขนมเค้ก และในตอนบ่ายเรียกว่า “Zvieri” คือระหว่างบ่ายสามถึงบ่ายสี่โมง ของที่กินและดื่มก็คล้ายคลึงกันกับอาหารระหว่างมื้อในตอนเช้า

อย่างนี้แล้วจะมากล่าวหาว่าคนสวิสกินอาหารกันเพียงมื้อเดียวได้อย่างไร เป็นธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งของชาวสวิสที่จะต้องจัดหา “Znueni” และ “Zvieri” ให้กับคนงานที่มาทำงานให้กับเจ้าของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมหรือจัดสวน พอได้เวลาก็ต้องจัดการหาอาหารจำพวกนี้ไว้ให้เขา ตอนแรกฉันก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจเหมือนกันเพราะไม่ชอบให้พวกเขามาใช้ถ้วยชามของเราเท่าไหร่ แต่ก็ต้องหักใจและเตือนตัวเองว่า เขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา และไม่ได้ด้อยไปกว่าเลย ขอสารภาพว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะทำใจได้คุณผู้อ่านคงจะให้อภัยและไม่คิดว่าฉันเย่อหยิ่งไม่เข้าเรื่องหรอกนะคะ

ฉันเคยได้ยินบางคนในประเทศอื่นพูดว่า บ้านของเขามีครัวไม่สะอาดเป็นระเบียบเหมือนบ้านของคนสวิส ก็เพราะว่าเขาได้ยินว่าคนสวิสไม่ค่อยจะทำอาหารกินกัน ฉันได้ยินแล้วรู้สึกขำดี ทุกครั้งที่แม่บ้านสวิสทำครัวเรียบร้อยแล้ว เขาจะเช็ดถูเตา ฝาผนัง และพื้นครัวจนสะอาดหมดจดไม่ให้เหลือรอยว่าได้เคยมีการทำอาหารมาก่อน ถ้าเป็นอาชญากรก็คงจะเป็นแบบที่ไม่ทิ้งรอยเอาไว้ให้ตำรวจได้ดมกลิ่นเป็นแน่

ถ้าคุณผู้อ่านเข้าห้องน้ำในเครื่องบินหลังจากที่รอให้คนที่อยู่ข้างในออกมาแล้ว และพบว่าอ่างน้ำ ตลอดจนโถส้วมสะอาดหมดจนไม่เหลือแม้แต่น้ำสักหยดเดียว ฉันรับรองได้ว่าคนที่เพิ่งใช้ห้องน้ำและเดินออกไปเป็นชาวสวิส หรือไม่ก็ได้รับการอบรมมาจากประเทศนี้เป็นระยะเวลานานหลายปี พูดอย่างนี้แล้วไม่ได้หมายความว่าคนชาติอื่นๆ จะทำเลอะเทอะสกปรกนะคะ คนที่รักความสะอาดก็มีเยอะแยะ

ถ้าคนสวิสจะมีข้อบกพร้องที่ชาวต่างชาติมักจะเห็นว่า “ไม่สู้จะน่ารัก” แต่น่าหมั่นไส้เอามากๆ ก็คงจะเป็นเรื่องความสะอาดแบบไม่มีที่ตินั่นเอง

แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะ ชอบความสะอาดแบบสวิส หรือว่าความสกปรกนิดๆ หน่อยๆ พอให้มีสีสันไม่น่าเบื่อ แบบที่เรียกกันว่า “ลาตินเดิร์ท”