สาวกทั้งสิบสอง

ซินเธีย ญาติผู้น้องของฉันที่อยู่เมลเบิร์นเป็นชาวมาเลเซีย เพราะว่าน้าชาล็อตต์น้องสาวแท้ๆ ของแม่ฉันแต่งงานกับชาวสิงคโปร์-มาเลเซีย ที่ต้องพูดเช่นนี้ก็เพราะในสมัยก่อนสิงคโปร์ยังเป็นรัฐหนึ่งของประเทศมลายู และน้าเขยของฉันเกิดที่นั่น แต่เมื่อได้มาตั้งรกรากอยู่ที่มลายูก็เลยกลายเป็นชาวมาเลเซียไป โดยเหตุผลทางการเมืองตอนที่และตั้งรกรากมีครอบครัวอยู่ที่สิงคโปร์ ก็เลยกลายเป็นสิงคโปเรียนไปโดยปริยาย

เมื่อ สมัยก่อนครอบครัวชาวปักษ์ใต้หลายครอบครัวมักนิยมส่งลูกหลานไปเรียนที่ปีนัง เพราะสะดวกและอยู่ใกล้กว่ากรุงเทพฯมาก ประกอบกับในสมัยนั้นชาวอังกฤษยังครอบครองมลายอยู่การศึกษาและโรงเรียนอะไรต่ออะไรทำแบบในประเทศอังกฤษ ข้อสอบทั้งหลายก็ส่งมาจากอังกฤษ และส่งกลับไปตรวจที่อังกฤษเช่นเดียวกัน จึงมีผู้นิยมไปเล่าเรียนที่มลายยูกันมาก แม่ฉันตลอดจนน้าสาวและน้าชายจึงได้ไปเรียนหนังสืออยู่ที่นั่นตั้งแต่ยังเด็กแต่แทนที่จะไปอยู่โรงเรียนประจำ คุณยายของฉันกลับส่งให้ไปอยู่กับคุณยายใหญ่ซึ่งเป็นพี่สาวของคุณตา

คุณยายใหญ่แต่งงานกับชาวอังกฤษมีบ้านใหญ่โตปลูกแบบบังกะโลโคโลเนียลสไตล์อยู่ที่เมืองท้ายเป๋ง (Taiping) ถนน Swettenham เลขที่ 15 เป็นที่รู้จักกันดีของคนในเมือง เดี๋ยวนี้บ้านหลังนี้ก็ยังอยู่ แต่เขาเปลี่ยนชื่อถนนใหม่เป็น “อิสตานาลารูท” ที่เมืองคุกทาวน์ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย ฉันก็ได้เห็นบ้านประเภทนี้เช่นเดียวกันเพราะคนอังกฤษในสมัยนั้นปลูกบ้านเหมาะสมกันในเขตร้อน

คุณยายใหญ่มีลูกสาวคนเดียวชื่อป้าแอนนี่ เป็นคนที่สวยหาตัวจับยากแต่ไม่เคยแต่งงานเลยตลอดชีวิต ทั้งๆที่มีคนมาจีบมากมาย มีทั้งนายทหารอังกฤษและเศรษฐีจีนมลายู แต่ฉันก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมเธอจึงไม่ลงเอยกับใครสักคน เธอตายไปได้หลายปีแล้ว

เมื่อเรียนจบ แม่ฉันกลับบ้านที่เมืองไทย ขอบคุณสวรรค์ ไม่เช่นนั้นฉันคงจะไม่ได้เกิด หรือถ้าเกิดอาจจะไปเป็นตึ้งหนังเกี๊ยหรืออังม่อเกี๊ยอะไรอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ และก็คงจะไม่ได้มีโอกาสมานั่งคุยกับคุณผู้อ่านอย่างเช่นทุกวันนี้ ถึงกระนั้นโชคชะตาและความรักก็ทำให้ฉันต้องพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอน ระเหเร่ร่อนไปอยู่ไกลถึงประเทศสวิส น่าสงสารไหมคะ

น้าชาล็อตต์และน้าโรเบิร์ตอยู่ต่อและได้ทำงานที่นั่น น้าชาล็อตต์เป็นครูแต่งงานกับน้าเบ็งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองแหลมมลายู ความจริงน้าชาล็อตต์และน้าเบ็งก็คงจะไม่ได้แต่งงานกันหรอกถ้าหากคุณยายใหญ่จะไม่กลัวว่าพวกทหารญี่ปุ่นจะไปทำปู้ยี่ปู้ยำกับหลานสาวเข้า เดิมท่านมีแผนจะให้แต่งกับพวกนายทหารอังกฤษคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้น ท่านและป้าแอนนี่ถูกจับเป็นเชลยด้วยเหตุที่มีสัญชาติอังกฤษ ถูกส่งไปอยู่ในค่ายกักกันที่สิงคโปร์ ฉันได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายกักกันที่ “ชังงี” มากมายจากปากของญาติสนิท ได้รับรู้ถึงความทารุณโหดเหี้ยมและป่าเถื่อนของทหารญี่ปุ่นในครั้งนั้นจากปากของน้าเบ็งที่ฉันเคารพและนับถือ จึงไม่มีวันเสียหล่ะที่ฉันจะไปหลงใหลได้ปลื้มกับพวกเขา (ทหารญี่ปุ่น)

คุณยายใหญ่เป็นห่วงหลาน จะส่งกลับบ้านที่เมืองไทยก็ไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยตกบันไดพลอยโจน ยอมให้น้าชาล็อตต์แต่งงานกับน้าเบ็ง แม้ท่านจะค่อนข้างอคติว่าน้าเบ็งเป็นลูกเจ๊กลูกจีนจากสิงคโปร์ เพื่อว่าอย่างน้อยน้าชาล็อตต์จะได้มีผู้คุ้มครอง ฉันได้เห็นรูปในวันแต่งงานของน้าสาวและน้าเขยเห็นน้าเขยทำหน้า “เหม็นอึ” แบบสุดๆจึงได้ซักถามตามประสาคนสอดรู้สอดเห็น ประกอบกับฉันเป็นหลานคนโปรด เรื่องก็เลยแดงขึ้น

ต่อมาเมื่อสงครามสงบลงแล้วอีกหลายปี คุณยายใหญ่จึงสารภาพว่าดีใจที่ตัดสินใจให้น้าทั้งสองได้แต่งงานกันเพราะน้าเบ็งเป็นคนดี อุตสาหะทำงานจนได้เป็นใหญ่เป็นโตในกรมรถไฟของประเทศมาเลเซีย เมื่อคุณยายใหญ่ตายป้าแอนนี่ในฐานะลูกคนเดียวได้รับมรดกทั้งหมด บ้านในเมืองท้ายเป๋งให้แบ่งกันกับน้าชาล็อตต์ ส่วนน้าโรเบิร์นได้บ้านที่ปีนังพร้อมสวยยาง เมื่อป้าแอนนี่ตายน้าชาล็อตต์จึงได้เป็นเจ้าของบ้านในท้ายเป๋งแต่ผู้เดียว

ปัจจุบันน้าเบ็งและน้าชาล็อตต์ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเล็กๆ ที่เมืองท้ายเป๋งไม่ได้ไปอยู่บ้านที่ถนนสเวตเตนแฮมเพราะใหญ่โตเกินไป ดูแลเองไม่ไหวลูกจ้างก็หายาก แถมยังมีบริเวณกว้างขวางอีกต่างหาก เลยต้องปล่อยให้รกเรื้อทรุดโทรมไปตามระเบียบ น้าเบ็งบ่นเสมอว่าบ้านหลังนี้เหมือน “พยาช้างเผือก” น้าชายใช้ภาษาว่า “White Elephant” หาประโยชน์ไม่ได้ มีแต่ทำให้สิ้นเปลือง จนบัดนี้น้าชาล็อตต์ก็ยังตัดสินใจไม่ตกสักทีว่าจะทำอะไรกับมันดี

เวลาคุยกับญาติที่มาเลเซียต้องใช้ภาษาอังกฤษตลอด เพราะเขาพูดภาษาไทยไม่ได้กันเลยสักคน ซินเธียเป็นลูกสาวคนโต แต่งงานกับชาวจีนมาเลเซีย เป็นนักเรียนอังกฤษ มีลูกสามคน ด้วยนโยบายทางการเมืองบางอย่างของประเทศ พวกเขาเลยตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ออสเตรเลีย เพื่อว่าลูกๆทั้งสามคนจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือหนังหากันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตอนแรกไปอยู่ที่เมลเบิร์นสักสองปีเห็นจะได้ ฉันสนิทกับญาติๆทางแม่มาก ทั้งๆที่เป็นครอบครัวใหญ่ เลยไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะไปพักกับเขาแทนที่จะไปอยู่โรงแรมตอนที่เขามาสวิสเขาก็มาพักอยู่กับเราที่ลูเซิร์น ฉันเป็นเหมือนพี่สาวใหญ่ของเขา

เท่าที่สังเกต เมลเบิร์นเขียวชอุ่มกว่าซิดนีย์ คงเป็นเพราะมีฝนตกมากกว่ามีปาร์คสวยๆมากมาย เราไปเดินเล่นที่ปาร์คกันในวันคริสต์มาส อากาศเย็นสบายไม่ร้อนเลย มีชาวเมลเบิร์นหลายครอบครัวเอากระเช้าปิกนิกมากินกันในสนามหญ้าเขียวขจีภายในปาร์ค กินเป็นคริสต์มาสลันช์ แทนที่จะจัดโต๊ะกินกันในบ้าน ฉันดูแล้วให้รู้สึกอิจฉาเป็นกำลังเพราะสนามหญ้าที่ประเทศสวิสมีเอาไว้ดูเล่นเฉยๆ ใครขืนเดินไปเหยียบเข้าก็จะถูก “เหยียบ” จากผู้ดูแล

เคยเล่าให้ฟังแล้วถึง “ความใหญ่โต” วางกล้ามของพวกคนดูแลอาคารหรือสวนสาธารณะในประเทศนี้ ถ้าใครคิดว่ามาเที่ยวประเทศสวิสในระหว่างวันฉลองคริสต์มาสแล้วจะได้เห็นความสนุกครึกครื้นตามถนนหนทาง หรือว่าได้รับเชิญไปปาร์ตี้เฉลิมฉลองแล้วละก็ จะต้องผิดหวังเป็นอย่างมาก เพราะการฉลองวันคริสต์มาสของชาวสวิสทำกันอย่างเงียบๆไม่ใหญ่โต มีแต่ต้นคริสต์มาสและแสงไฟประดับเท่านั้นที่บอกให้ผู้มาเยือนรู้ว่าเป็นเทศกาลคริสต์มาส

กรุงเทพฯยังมีบรรยากาศของความเป็นคริสต์มาสเสียมากกว่า แม้ว่าจะไม่มีหิมะตก ไม่ว่าจะเดินเข้าไปห้างร้านไหนก็จะได้ยินเสียงเพลง “จิงเกิลแบล” และ “ไซเลนท์ไนท์” ไปหมดทุกแห่ง ซึ่งจะไม่มีในประเทศสวิส เพราะเขาเก็บเอาเพลงคริสต์มาสไว้ร้องกันในเย็นวันที่ 24 มีหลายคนชอบบ่นว่าฉลองคริสต์มาสในเมืองร้อนไม่มีหิมะจะเป็นคริสต์มาสได้ยังไง แต่มาคิดดูให้ดี พระเยซูไม่ได้ถือกำเนิดมาในประเทศหนาวที่มีหิมะแต่ประสูติในประเทศที่เป็นทะเลทรายต่างหาก เพราะฉะนั้นจึงไม่เห็นแปลกถ้าใครจะฉลองคริสต์มาสกันในฤดูร้อนเช่น ประเทศออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ เป็นต้น

วันแห่ง “ความรัก” ในประเทศสวิสช่างเป็นวันหฤโหดสำหรับผู้ที่ไม่แต่งงานหรือมีครอบครัวเสียจริงๆ เป็นธรรมเนียมของชาวสวิสที่จะฉลองคริสต์มาสกันในเย็นวันที่ 24 ธันวาคม บุคคลที่มาร่วมฉลองด้วยจะต้องเป็นบุคคลภายในครอบครัวเท่านั้น คือ พ่อแม่และลูก ยาติคนอื่นจะ “สนิท” กันแค่ไหนไม่เกี่ยว ไม่มีที่ว่างในหัวใจของพวกเขาสำหรับคนอื่น ดังนั้นในเย็นวันสำคัญจึงมีสมาคมหลายแห่งที่พยายามจัดงานให้กับคนที่ไม่มีที่จะไป เพราะในเย็นวันเดียวกันนั้น ถนนหนทางจะเงียบเหงาตั้งแต่บ่ายสี่โมงขึ้นไป แลเห็นแต่แสงไฟวับแวมในบ้านเท่านั้น

ใครที่เคยอ่านเรื่อง “สครูจจ์” ที่เขียนโดยชาร์ลส์ ดิกเคนส์ จะวาดภาพได้ดีว่าคนที่อยู่ตัวคนเดียวจะว้าเหว่เช่นไรในเทศกาลนี้ แม้ว่าจะมีสมาคมจัดงานให้ แต่ก็มีไม่กี่คนนักหรอกที่จะไปร่วมด้วย เพราะพวกเขามีทิฐิหนาแน่นไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าโลนลี่ไม่มีใครเชิญพอๆ กับที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าไม่มีสตางค์ไปดื่มกาแฟ หรือไปฮอลิเดย์อย่างที่ฉันเคยเล่าให้ฟังแล้วนั่นแหละค่ะ

เมื่อลูกสาวยังอยู่บ้านที่สวิส ในเย็นวันที่ 24 ฉันมักจะเชิญคุณแม่ของวอลเตอร์ พี่สาวสองคนและพี่ชายอีกคนหนึ่งที่ยังไม่แต่งงานมาร่วมฉลองกับเราเป็นประจำ โต๊ะอาหารของเรามีคน 7 คนเสมอในเย็นวันที่ 24 และในเช้าและกลางวัน วันที่ 25 หลังอาหารกลางวันแล้วนั่นแหละ พวกเขาถึงจะลาจากไปอาจเป็นด้วยเหตุนี้ก็ได้ที่ฉันได้หัวใจของพวกเขามาครอบครอง

จำได้ว่าเมื่อลูกสาวยังเล็กและเรายังอยู่ต่างประเทศ ได้มาเที่ยวสวิสในระหว่างเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่เพื่อเล่นสกี ได้รับเชิญให้ไปกินอาหารกลางวันที่บ้านพี่สาวคนหนึ่งของวอลเตอร์ขณะที่กำลังกินอาหาร พี่ชายอีกคนหนึ่งขับรถผ่านมาจึงได้แวะมาเยี่ยม บ้านเขาอยู่ไกลถึงเมือง “เวเว่” ในเขตที่พูดภาษาฝรั่งเศส เพราะพี่ชายคนนี้แต่งงานข้ามแดน ฉันคิดว่าแนลลี่หรือหลานคนใดคนหนึ่งจะกระตือรือร้นต้อนรับแต่ก็ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งเรากินของคาวเสร็จแล้วเรียบร้อยแล้วนั่นแหละเวอร์เนอร์จึงได้ร่วมกินของหวานและดื่มกาแฟด้วย

ดูไปแล้วเขาน่าจะน้อยใจหรือโกรธเคือง แต่ก็เห็นเขาเฉยๆ พูดคุยตามธรรมดา แนลลี่ไม่ใช่คนใจร้ายใจดำหากว่าฉันถามเขา คำตอบที่ฉันคิดว่าจะได้รับก็คือ “ฉันไม่ได้เชิญเขานี่ และเขาก็ไม่ได้หวังที่จะมากิน เมื่อไหร่ที่ฉันเชิญเขา เขาก็จะได้กินอย่างเต็มที่” เมื่อรู้คำตอบฉันเลยขี้เกียจถามให้เมื่อยปากไม่ใช่บ้านของฉันสักหน่อย

ฤดูร้อนปีหนึ่งมีเพื่อนชาวอังกฤษ (อีกแล้ว) ครอบครัวหนึ่ง มีพ่อแม่ลูกมาเยี่ยมพักอยู่กับเรา ในขณะเดียวกันวอลเตอร์ก็บอกฉันว่ามีชาวอิหร่านที่เขาติดต่อธุรกิจอยู่ด้วยได้พาครอบครัวอันมีเมียและลูกชายมาเที่ยวเมืองลูเซิร์นถามฉันว่าจะให้เชิญเขามากินอาหารเย็นด้วยได้ไหม ฉันก็บอกว่าได้ ให้พามาตอนนั้นลูกสาวมาเรียนภาษาไทยอยู่ที่กรุงเทพฯ

ฉันจัดโต๊ะเตรียมไว้สำหรับแปดคน พวกเราห้าและพวกชาวอิหร่านอีกสามคน วอลเตอร์ขับรถไปรับเขามาพอเดินออกไปเปิดประตูบ้าน ฉันงงไปพักหนึ่งด้วยเห็นคนกลุ่มใหญ่ยืนอยู่หน้าประตู แทนที่จะเป็นสามคน กลายเป็นห้า เพราะชายอิหร่านคนนี้ไม่ได้บอกว่ามีลูกสาวมาอีกสองคน แต่ฉันก็ไม่ได้แสดงความตกใจอะไรออกมา เชิญเขาเข้าบ้านแล้วเลี่ยงไปจัดเก้าอี้แทรกเข้าอีกสองตัวที่โต๊ะอาหาร ไม่ได้ทำโกลาหลจัดโต๊ะใหม่แต่ประการใด จนเพื่อนชาวอังกฤษแปลกใจว่าทำไมฉันจึงเยือกเย็น ไม่ตื่นเต้น ถ้าเป็นเขาคงไม่รู้จะทำอย่างไร

ฉันเลยบอกว่า ฉันเป็นคนไทยคุ้นเคยกับการแม่ยุ้ยญาติเยอะอยู่ด้วยส่วนอาหารก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร มีอยู่เพียงพอ ลูกสาวเคยพูดอยู่เสมอๆ ว่าเวลาฉันทำกับข้าวเลี้ยงแขกเหมือนกับจะไปเลี้ยงทหารทั้งกองทัพ ที่เอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังก็เพราะว่า ถ้าฉันเป็นหญิงสวิส ลูกสาวสองคนของแขกคงจะต้องอดอาหารเย็นเป็นแน่ เพราะไม่ได้เชิญมาและไม่ได้บอกล่วงหน้าอีกต่างหาก

ที่บ้านซินเธียในเย็นวันที่ 24 เหมือนกับผับอะไรสักแห่งหนึ่ง เรากินอาหารเย็นกันไม่ทันเสร็จก็มีแขกมาเยี่ยมเพื่ออวยพรวันคริสต์มาส แขกคนหนึ่งไป อีกคนหนึ่งมา ตกลงคืนวันนั้นพวกเราอยู่กันจนดึก พูดคุยหัวร่อต่อกระซิกกันเป็นที่สนุกสนานวอลเตอร์และฉันมีความสุขมากกว่าใคร เพราะเป็นบรรยากาศที่เราไม่ค่อยได้พบในสวิสระหว่างเทศกาลคริสต์มาส

วันรุ่งขึ้นซินเธียลากเราไปคริสต์มาสปาร์ตี้ของเพื่อนๆ ทั้งๆ ที่เราบอกให้เขาไปกันเอง เพราะเราไม่ได้รับเชิญลูกผู้น้องก็บอกว่านี่เป็นออสเตรเลียไม่ใช่สวิส แล้วลากตัวเราไปจนได้ ฉันดีใจที่ได้ไป เพราะทุกคนยินดีต้อนรับให้ความเป็นกันเองอย่างดี ทั้งๆที่พบกันเป็นครั้งแรก ไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นแขกแปลกหน้าเลย

ซินเธียถามเราตั้งแต่ยังไม่ได้เดินทางจากสวิสว่าอยากจะไปที่ไหนเป็นแห่งแรก ฉันบอกว่าอยากไปเที่ยวฝั่งทะเลที่ชาวออสซี่เรียกกันว่า “Great Ocean Road” อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐวิกตอเรีย เพราะที่นั่นมีธรรมชาติหินที่งดงามมาก เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วโลก อยู่ห่างจากเมลเบิร์นไปประมาณ 300 กิโลเมตร ฉันอยากจะไปชมโขดหินทรายที่มีรูปลักษณะต่างๆ กันผุดขึ้นในทะเล อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาตินับเป็นพันๆ หมื่นๆ ปีจากการพัดของลมและการเซาะฝั่งของน้ำทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปโขดหิน “สาวกทั้งสิบสอง” หรือ “The Twelve Apostles” หรือ “สะพานลอนดอน” ที่ในอดีตก็มีพื้นที่ติดอยู่กับแผ่นดินใหญ่ต่อมาเนื่องมาจากการเซาะของน้ำปีแล้วปีเล่า จนรอยต่อพังทลายเมื่อห้าปีที่แล้วแลดูเหมือน “London Bridge” ไม่ผิดเพี้ยน

อีกแห่งหนึ่งที่ฉันติดใจมากก็คือโขดหินช่องแคบ “Loch Ard Gorge” ตามชื่อเรือ “Loch Ard” ที่ได้มาอับปางลงในย่านมหาสมุทรนี้เนื่องด้วยกระแสคลื่นและลมที่พัดแรงจัด ลูกเรือและผู้โดยสารทุกคนตายหมด เหลืออยู่ก็แต่เพียง “อีวา คาร์ไม่เคิล” และ “ทอมเพียร์ส” เท่านั้น เขาทั้งสองได้อาศัยหลบอยู่ในถ้ำบนชายหาด

ดูสภาพจากโขดหินที่น่าหวาดเสียวแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครมีชีวิตรอดมาได้ เมื่อเรืออับปาง อย่างไรก็ดี เมื่อคลื่นลมสงบลงแล้ว เขาหาศพได้เพียงสี่ศพเท่านั้น เป็นศพแม่และพี่สาวของอีวาส่วนอีกสองศพเป็นของผู้โดยสารชายอีกสอง ความจริงอีวาสูญเสียญาติไปถึงเจ็ดคนในครั้งนี้ ทางการได้ฝังศพเขาไว้เหนือโขดหินนั่นเอง และได้สร้างบันไดลงไปที่ชายหาดเล็กๆ แม้ว่าน้ำทะเลจะมีสีมรกตใสเย้ายวนใจเพียงใด ก็ไม่ควรก็ผลีผลามลงไปว่าย เพราะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระแสคลื่นใต้น้ำที่เชี่ยวรุนแรง

เราหยุดพักกินอาหารกลางวันแบบปิกนิกที่เอามาจากบ้าน ท่ามกลางธรรมชาติและแมกไม้ที่เขียวชอุ่ม ใต้ท้องฟ้าสีครามกระจ่ายสดใสกว่าจะกลับถึงเมลเบิร์นก็สองทุ่มพอดี