"สวย" คราวนี้พี่ไม่ว่า

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หลังปีใหม่ (ในเมืองไทย) ได้สองวันแม่ครัวของวอลเตอร์กลับจากไปฉลองวันปีใหม่ที่บ้านในต่างจังหวัดพอกลับมาถึงก็ออเซาะนายว่า “มัดเตอ…มัดเตอ ปีใหม่นี่สมทรง ‘ซวย’ จังเลย โดนหมากัด” พูดแล้วหล่อนก็ถลกผ้าถุงอวดน่องให้ดูมาสเตอร์ วอลเตอร์แลดูก็เป็นงง สงสัยว่าหมากัดแล้วทำไมสมทรงถึง “สวย” ได้ กว่าจะพูดกันรู้เรื่องก็เหงื่อตกด้วยกันทั้งนายและบ่าว

พอลูกสาวเรียนจบสาขาทาง “Visual Merchandising” ก็ส่งเข้ามาเมืองไทยเพื่อเรียนหนังสือไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยหนึ่งปี ไปเป็น “เกสท์สติวเดนท์” ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในคณะมัณฑนศิลป์อยู่พักหนึ่ง แล้วก็ไปเรียนภาษาไทยที่ “เอ.ยู.เอ” วันหนึ่งคุณแม่คิดถึง บินไปเยี่ยม พาไปบ้านที่ภูเก็ต ไปเที่ยวทะเลลูกสาวเห็นคุณแม่นั่งตากแดดอ่านหนังสือนานๆรู้สึกเป็นห่วง บอกว่า

“คุณแม่อย่านั่งกลางแดดนานๆเดี๋ยวจะเป็น มะแลง” คุณแม่ตาเหลือกเกือบจะสำลักน้ำมะพร้าวที่กำลังกินอยู่

ญาติๆ ล้อว่าลูกสาวสวย อีกหน่อยคุณแม่คงจะมีลูกเขย ลูกสาวไม่ชอบใจตอบว่าจะไม่แต่งงาน แต่จะขออยู่เป็น “สด” ญาติแม่ฟังแล้วก็อมยิ้มแก้มตุ่ยไปตามๆกัน

อยู่มาวันหนึ่ง พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งพี่ชาย ฉัน และน้องชาย ต่างก็ตกลงกันว่าควรจะแบ่งที่ดินชายทะเล (ที่มีอยู่เพียงกระแบะมือ)กันเสียที ว่าใครจะเอาที่ตรงไหน พี่ชายเสนอให้จับฉลากเพราะยุติธรรมดี จึงสั่งให้ยายแจ๊บลูกสาวไปเขียนฉลากเป็นตัว “เลข” หนึ่ง “เลข” สอง “เลข” สาม มา หลานสาวเดินเข้าห้องไปเขียนฉลากมาแต่โดยดี ออกมาแล้วก็ยื่นฉลากให้พ่อและอาๆ จับ พอคลี่ฉลากออกทั้งอาทั้งพ่อเกือบเป็นลมหน้ามืด ก่อนจะระเบิดเสียงหัวเราะออกมาพร้อกันก็ในฉลากน่ะเขียนไว้ว่า “เล็กหนึ่ง เล็กสอง และเล็กสาม”

อย่างนี้แล้วจะไม่ให้ฝรั่งอย่างวอลเตอร์เป็นงงได้อย่างไรกัน เมื่อแม่ครัวบอกว่า “สวย” ตอนถูกหมากัด

การเดินทางไปออสเตรเลียของเราคราวนี้ก็ “สวย” ตั้งแต่ขาไปทีเดียว ปัญหาอะไรทุกอย่างที่ไม่เคยเผชิญก็ได้เผชิญกันคราวนี้แหละ เริ่มตั้งแต่ซูริคหิมะตกหนัก ทำให้เครื่องบินดีเลย์ พอไปถึงโรมเพื่อจะไปเปลี่ยนเครื่อง ก็ปรากฏว่าเครื่องที่เราจะบินไปซิดนีย์ โดยแวะที่กรุงเทพฯก่อนนั้นเสีย ต้องไปพักที่โรงแรมเชอราตันกันตอนตีสี่ ในคืนวันนั้นตัดสินใจว่าจะไม่ไปเครื่องอื่น เพราะอาจจะมีข้อขัดข้องกับสายการบินนั้นอีกก็ได้ในที่สุด

ยี่สิบสี่ชั่วโมงให้หลัง แทนที่จะไปปร๋ออยู่ในสนามกอร์ฟที่กรุงเทพฯ กลับต้องบินกลับซูริคอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปขึ้นเครื่องสวิสแอร์ ผิดนัดกันวุ่นวายไปหมด

พอมาถึงดอนเมือง สิ่งที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะเกิดก็เกิด ก่อนหน้าจะเดินทาง ฉันไปขอพาสปอร์ตใหม่ที่กรุงเบิร์น ก็เลยใช้พาสสปอร์ตใหม่แทนของเดิม ทีนี้สแตมป์ขาออกนอกประเทศ คราวที่แล้วมันก็ติดอยู่ในพาสปอร์ตเก่าพอมาถึงดอนเมือง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองถามหาแสตมป์ขาออก ฉันบอกว่าฉันอยู่ในพาสปอร์ตเก่าที่บ้านที่สวิส เคยเปลี่ยนและต่อพาสปอร์ตมาก็หลายครั้งแล้ว ยังไม่เคยมีปัญหาเลยแต่เจ้าหน้าที่ก็น่ารัก อธิบายให้ฉันฟังว่าที่เข้าเข้มงวดก็เพราะ เกรงว่าจะมีการลักลอบเข้าออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมายเท่านั้นเอง แล้วก็แทงในพาสปอร์ตใหม่ของฉันว่า แสตมป์ขาออกอยู่ในพาสปอร์ตเก่า แล้วก็ปล่อยฉันไปโดยดี

เสร็จเรื่องตรวจคนเข้าเมือง เดินลงมารับประเป๋าเดินทาง รอแล้วรอเล่ากระเป๋าเราก็ไม่ลงมาซักที รอจนกระเป๋าของผู้โดยสารคนอื่นๆ ออกมาหมดแล้วของเราก็ยังไม่มา อดรนทนไม่ไหว วอลเตอร์เลยยื่นหน้าเข้าไปดูที่ช่อง แลเห็นกระเป๋าของเราทั้งสองใบวางเรียงกันอยู่นอกราง บอกเจ้าหน้าที่ให้ช่วยยกขึ้นบนรางให้ที เขาก็วางให้โดยดี แต่ขอค่าทิป จากฝรั่งสวิสเป็นการตอบแทน เรารู้ว่าไม่ควรให้ ไม่ใช่ขี้เหนียว เงินเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นการปลูกฝังนิสัยแบบนี้ให้แก่เขา ต่อไปคนอื่นๆ จะเดือดร้อนเพราะคงจะไม่มีครั้งนี้เพียงครั้งเดียวแต่เราก็ให้ไปเพื่อตัดรำคาญ ฉันอดสงสัยนิดๆ ไม่ได้ว่า ถ้าหากวอลเตอร์ไม่ยื่นหน้าเข้าไปดู อะไรจะเกิดขึ้นกับกระเป๋าของเรา เรื่องอย่างนี้ในหลายประเทศก็มีเหมือนกัน แต่นี่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของฉันเอง ก็เลยเสียใจนิดๆ

ญาติผู้น้องที่อยู่เมลเบิร์นชอบกินทุเรียนกวนเมืองไทย โทรศัพท์สั่งให้ซื้อไปฝากด้วย ก่อนเครื่องบินจะร่อนลงที่ซิดนีย์ ฉันก็กรอกข้อความลงไปในช่องมีของต้องดีแคลร์ว่า มี “cooked fruit” พูดกับวอลเตอร์ตอนที่ผ่านด่านเรียบร้อยแล้วว่า ทางที่ดีที่สุดให้เขาเอากระเป๋าเดินทางทั้งสองใบของเราไปออกที่ช่องเขียว เพราะไม่มีอะไรต้องดีแคลร์ส่วนฉันจะเอากระเป๋าโอเวอร์ไนท์ที่มีทุเรียนกวนบรรจุอยู่ออกไปทางช่องแดงจะได้ไม่เสียเวลา แล้วเราก็แยกกันไปฉันเดินไปที่ช่องแดง เอาทุเรียนกวนออกให้เจ้าหน้าที่ดู แล้วอธิบายว่าเป็นอะไร เขาพยักหน้าเข้าใจแล้วก็ปล่อยให้ฉันเดินออกไปโดยไม่มีปัญหา เหลือบไปดูวอลเตอร์ นึกว่าเรียบร้อนออกไปรออยู่ข้างนอกแล้ว แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ที่ช่องเขียวสั่งให้เขาเปิดกระเป๋าทั้งสองใบของเราตรวจค้นจนละเอียด พอไม่พบอะไรก็ถือว่าเสร็จเรื่องกันไป วอลเตอร์จึงถามว่า ทำไมจึงเจาะจงที่จะค้นเขาเจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ใช้เขาที่สั่งให้ค้นแต่เป็นหัวหน้าที่ยืนอยู่แถวนั้นสั่งมา เรามาถึงบอกอ้อ เมื่อคิดได้ว่า การที่เราแยกกันไปเพื่อให้ตรวจกระเป๋านั้นมีพิรุธเขาจึงนึกว่าฉันเอาทุเรียนกวนไปเป็นเหยื่อ เพื่อจะให้เจ้าหน้าที่ตายใจไม่ค้นกระเป๋าวอลเตอร์ ซึ่งอาจจะมีสิ่งผิดกฎหมายซ่อนอยู่ก็เป็นได้ เขาคงจะผิดหวังมากที่ไม่พบอะไรในกระเป๋านอกจากเสื้อผ้าและของฝากนิดหน่อยอย่างนี้แล้วจะไม่ให้ “บ่น” อย่างไรว่าการเดินทางคราวนี้ “สวย” จริงๆ

ฉันชอบซิดนีย์เพราะเป็นเมืองที่สวยมีทะเล ซึ่งประเทศสวิสไม่มี ผู้คนก็เป็นมิตร ไม่เย็นชาเหมือนในประเทศที่ฉันอยู่ เกือบจะทะเลาะกับคนรู้จักชาวสวิสคนหนึ่งเสียแล้ว เมื่อฉันเล่าให้เขาฟังว่าชาวออสเตรเลียน่ารักมาก เขาบอกฉันว่าพวกนี้ก็เหมือนคนอเมริกันนั่นแหละฉาบฉวย ไม่จริงใจ เอาเข้าจริงเขาก็ไม่ช่วยเหลืออะไรหรอกหากฉันเกิดต้องการความช่วยเหลือ ฉันเลยยัวะประเทศนี้แม่คนนี้ก็ไม่เคยไป ภาษาอังกฤษก็ไม่กระดิกหู ถึงจะมีโอกาสไปก็คงจะไปกันในกลุ่มทัวร์ของชาวสวิสไม่มีโอกาสได้ไปพูดคุยสัมผัสกับชาวพื้นเมือง เลยเถียงเขาไปว่า ฉันไม่แคร์หรอกว่าการยิ้มแย้มแจ่มใส่ของพวกเขาจะเป็นการฉาบฉวยหรือไม่ หรือไม่ต้องการอะไรจากพวกเขา ฉันไปเที่ยวหาความสุข หาประสบการณ์ ทำไมเราจะต้องมาทำหน้าบูดบึ้งปั้นปึ่งต่อกัน สนุกเพียงครู่ยามแล้วก็จากกันอย่างเป็นมิตร ซึ่งก็ดีกว่าการจากกันอย่างศัตรูมิใช่หรือ รู้สึกว่าเขาจะไม่พอใจนิดหน่อยสาเหตุจริงๆแล้วเกิดจากอะไร เราเคยคุยกันมาแล้วค่ะ ก็อียายมิสซิสเอชคนนี้ชอบทำอะไรให้ชาวบ้านริษยาดีนัก ไปอยู่เมืองไทยตั้งเดือนอยู่เหม็บๆ ไม่ทันไรไปออสเตรเลียอีกแล้ว ไอ้เจ้ามิสเตอร์เอชก็ช่างตามใจดีนัก อยากรู้จริงว่าเอาเงินเอาทองมาจากไหน เห็นทีจะต้องไปตรวจดูภาษีรายได้ที่ “เกไมน์เด้” สักครั้ง

ภาษีรายได้ของชาวสวิสนี่ไม่เป็นความลับ ทุกๆ สองปีทางเกไมน์เด้จะเชิญให้ประชาชนในถิ่นของตนไปดูภาษีรายได้ของเพื่อนบ้านได้ถ้าอยากจะดูนี่เป็นอีกข้อหนึ่งที่ฉันก็ยังไม่ค่อยเข้าใจคนสวิสออกแสนจะคอนเซอร์เวทีฟ จะไม่ค่อยคุยเรื่องการงานของตน นับประสาอะไรกับเรื่องรายได้ บางทีคบกันมาตั้งนาน ถ้าไม่สนิทกันยังไม่รู้เลยว่าสามีเขามีอาชีพอะไร ดังนั้นฉันเลยเห็นเป็นเรื่องตลกสิ้นดีที่ถ้าอยากรู้จริงๆว่าใครมีรายได้ประมาณเท่าไรก็ไปขอดูรายได้ที่เขาเสียแต่ละปีได้ แต่ในหลายบริษัทก็ไม่โง่หรอกนะคะ แทนที่จะให้ผู้บริหารบิ๊กๆ เป็นเงินเดือนหรือโบนัส กลับให้จ่ายให้เป็นในรูปอื่น เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่ารถยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังต้องเสียภาษีเศษหนึ่งส่วนสี่อยู่ดี

ขณะพักอยู่ที่ซิดนีย์ วันหนึ่งตั้งใจจะไปเดินเล่นที่ “ดาร์ลิ่งฮาร์เบอร์” สักครู่แล้วก็กะว่าจะไปไหนๆต่อกันอีก แต่กลายเป็นว่าเรานั่งแช่อยู่ที่นั้นถึงสองชั่วโมงเต็ม เพราะกำลังมี “Sydney Sammer Festival Fantastic” เกิดไปติดใจการแสดงนาฏศิลป์ของชาวตองกาเข้า พวกเขาออกเสียงว่า “ทองง่า” อาณาจักรตองกาเป็นเกาะทางตอนใต้ ของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือในเขตที่เรียกว่า โพลิเซียตะวันตก และอยู่ติดกับฟิจิ คณะนาฏศิลป์ที่มาแสดงพร้อมทั้งวงดนตรีเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน มีพ่อเป็นนายวงและแม่เป็นนักร้อง และกำกับดูแลสมาชิก หนุ่มๆ สาวๆ ในวง ซึ่งก็เป็นลูกชายบ้าง ลูกสาวบ้าง เป็นหลานบ้าง เป็นเพื่อนๆลูกบ้าง ต่างก็หน้าตาสะสวยหล่อเหลากันทั้งนั้น ถ้าใครที่ชอบลักษณะดาร์คทอลล์แอนด์แฮมซัม หรือผิวเข้มสีแทน ฉันติดใจหนุ่มคนหนึ่งมากเพราะหน้าตาของเขาคล้ายคลึงกับ “พีท แซมปรัส” นักเทนนิสชาวอเมริกันมืออันดับสองของโลก ซึ่งเป็นขวัญใจของฉันเท่าๆกับ “โมนิกา เซเลซ”

จากการแสดงทำให้ฉันรู้ว่าเขาใช้ลักษณะสีหน้าและมือไม้เป็นการแสดงออก เช่น มีนักแสดงหญิงคนหนึ่ง พยักพเยิดยักคิ้วอยู่เกือบตลอดเวลามาเดาเอาในภายหลังว่าเป็นการตอบรับว่าเยส แต่จะเยสอะไร หรือกับใครฉันไม่รู้ค่ะ

เพื่อนชาวสวิสคนหนึ่งเปิดชั้นเรียนสอนภาษาเยอรมันให้กับคนต่างชาติ ในจำนวนนี้มีแม่ชีคาทอลิกที่เป็นพยาบาลอยู่สองคนเป็นชาวอินเดีย ครูอธิบายไวยากรณ์เสร็จแล้วก็ถามลูกศิษย์ว่าเข้าใจไหม ทุกคนในห้องต่างก็พยักหน้าบอก “เยส” มีแต่ลูกศิษย์สองคนนี้เท่านั้นที่ส่ายหัวยักคอไปมาอยู่นั้นแหละ จนครูโมโหเกือบจะตวาดอยู่แล้ว แม่ชีทั้งสองจึงได้ยักคอส่ายหน้าแล้วบอกว่า “เยส” เฮ้อ…โล่งอกไปที

เย็นวันหนึ่งนั่งรถ Explorer Bus ผ่านไปทาง Customs House ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่เราพักอยู่ เห็นผู้คนจับกลุ่มส่งเสียงเฮฮากันสนุกสนาน เราเลยลงมาจากรถเดินเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนอื่นฉันก็ควักกล้องออกมาถ่ายรูป ขอทวงบุญคุณหน่อยนะคะ ว่าไปไหนๆฉันก็คิดถึงคุณผู้อ่านเสมอ มีหญิงชายกลุ่มหนึ่งหันมาเห็นเข้าก็กล่าวคำทักทายเชื้อเชิญให้เราเข้าไปร่วมวงด้วย เขาชวนให้เรากินเบียร์ เลยฉวยโอกาสถามว่าทำไมจึงมีผู้คนเยอะแยะเช่นนี้ เป็นโอกาสอะไร เขาเลยอธิบายว่า เป็นวันสุดท้ายก่อนที่ชาวซิดนีย์จะร่ำลาจากกันไปฮอลิเดย์ในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่เป็นธรรมเนียมที่เขาจะมาร่วมชุมนุมกันที่ผับเรอเนสซองส์นี่ เขาถามเราว่ามาจากไหน จะไปไหน ฯลฯ คุยกันอยู่ครู่หนึ่งเราก็ลาจากมา โดยไม่ลืมที่จะกล่าวอวยพรแมร์รี่คริสต์มาสและสวัสดีปีใหม่แก่พวกเขา คนอื่นอาจจะเป็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรากลับเห็นเป็นของมหัศจรรย์ เพราะเคยคุยหลายครั้งแล้วว่า คนสวิสไม่มีวันที่จะชวนใครแบบนี้ได้ง่ายๆ ฉันจึงประทับใจมาก

พูดถึงเรื่องถ่ายรูป วันหนึ่งไปซูเปอร์มาเก็ตของ “มิโกรส์” (ในสวิส) ถือกล้องติดมือไปด้วยเพื่อจะได้ถ่ายรูปมาให้แพรว ขณะกำลังเพลินยกกล้องเล็งไปเล็งมา ก็มีชายคนหนึ่งใส่เครื่องแบบสีน้ำเงิน เห็นก็รู้ว่าเป็นคนงานช่วยเหลือแบกหามอยู่ที่ร้าน เขาเดินมาถึงฉันแล้วก็ตวาดด้วยเสียงอันดังว่า “ห้ามถ่ายรูปในนี้เป็นอันขาด” เขาใช้คำว่า “Streng verboten” วิธีการพูดและป้ายชื่อที่ติดไว้ที่หน้าอกบอกให้ฉันรู้ว่า เขาเป็นคนต่างชาติจากประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรปตะวันออก ฉันเลยย้อนถามไปว่า “ไหนลองบอกฉันมาซิว่า ป้ายห้ามถ่ายรูปอยู่ที่ตรงไหน” เขาก็ย้ำอยู่นั้นแหละว่าไม่มีป้าย แต่ก็ห้ามถ่าย ถ้าจะถ่ายต้องไปขออนุญาตเสียก่อน ฉันคิดว่าเขาไม่รู้ว่าจะพูดอะไรต่อ คงจะกะให้ฉันกลัวหงอเสียมากกว่าฉันคงจะไม่กล้าเถียง แต่เหตุการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม

ในที่สุดเขาก็บอกว่าจะไปเรียกหัวหน้ามาจัดการ ฉันเลยบอกว่า ไปเรียกมาเถอะ ฉันไม่ไปไหนหรอก จะยืนอยู่ตรงนี้ เขาหายไปสักห้านาทีก็กลับมาโดยไม่มีหัวหน้ามาด้วย ฉันถามเขาว่าไหนล่ะหัวหน้า เขาก็บอกว่า เดี๋ยวมาแล้วก็ตรงเข้ามาแย่งกล้องจากมือฉัน ฉันผลักเขาออกไป ตวาดว่า อย่ามาแตะต้องตัวฉันเป็นอันขาด จะไปเรียกหัวหน้าก็ไปเรียกมา ไม่เช่นนั้นฉันจะไปเรียกตำรวจ ในขณะนั้นทุกคนที่มาซื้อของต่างก็มารุมดูเหตุการณ์ ไอ้เฉาก๊วยนี่ก็เกรงจะเสียหน้า สั่งฉันอีกว่า อย่าไปไหนนะ จะไปเรียกหัวหน้าอีก ฉันก็บอกไปว่า จะไปก็ไป จะรอ เขาหายไปสักครู่ก็กลับมาพร้อมกับหัวหน้าของเขา ฉันแนะนำตนเองและบอกว่าจะถ่ายรูปให้นิตยสารที่เมืองไทย แต่นายคนนี้ออกมาห้าม หัวหน้าชาวสวิสบอกฉันยิ้มๆว่าเชิญตามสบาย อยากจะถ่ายอะไรก็ถ่ายไป แถมจะพูดต่อว่า เสียดายที่สันนั้นคนไม่ค่อยมาก ควรจะกลับมาถ่ายใหม่ในวันศุกร์หรือวันเสาร์ คนจะแยะกว่านี้ฉันหันไปมองหน้าเจ้านั้นแล้วก็สมน้ำหน้าตงิดๆ หน้าซีดเป็นไก่ต้มทีเดียว เสียแรงจะขู่คน “ต่างชาติ” เอาหน้ากับหัวหน้าเสียหน่อย ฉันได้ทีเลยเล่นงานต่อว่านี่ประเทศสวิสนะ ไม่ใช่ประเทศหลังม่านเหล็กที่เขาเคยอยู่หรอก จะบอกให้ทำไมหนอ ไอ้คน “ตัวเล็กๆ” มันจึงขี้เบ่งกันนักหนา เข้าทำนอง “พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้าง ฤทธี” กระมัง

เดี๋ยวนี้พอไอ้เบื๊อกตัวนี้เห็นฉันที่มิโกรส์ทีไร มันหลบวูบเลย แต่ฉันไม่ไว้ใจหรอก คนประเภทนี้ ได้ทีเมื่อไรถ้ามีโอกาสมันต้องเล่นงานฉันแน่ เพราะฉะนั้นแม้จะเป็นฝรั่งด้วยกันก็มีทั้งฝรั่งผู้ดีและฝรั่งขี้ข้า จะเอาไปใส่ข้องเดียวกันหมดเห็นจะไม่ได้ แล้วแต่ว่าใครจะไปอยู่ในสังคมระดับไหน สังคมนี้ไม่ได้หมายความถึงเงินทอง แต่หมายถึงพื้นฐานของจิตใจ การอบรม และสิ่งแวดล้อม

อีกเย็นวันหนึ่ง เพื่อนชาวซิดนีย์ของเราเชิญให้ไปกินอาหารเย็นที่ภัตตาคารริมน้ำชื่อว่า “Sails Harbourside Restaurant” ตั้งอยู่ทีท่าเรือ “แม็คมาห์นส์” (McMahons) เป็นอาหารทะเลรสชาติพอใช้ไก้ จากร้านอาหารแลเห็นฮาร์เบอร์บริดจ์ โอเปร่าเฮ้าส์ และแสงไฟระยิบระยับสวยงามจากตัวเมืองซิดนีย์เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันดื่มยิมและโทนิกจากหลอดดูด เพราะที่นี่เขาดื่มกันอย่างนี้ เข้าทำนองเข้าเมืองตาหลิ่ว….อย่างไรเล่าคะ

ทั้งริชาร์ดและซูแซนเป็นชาวเมืองซิดนีย์โดยกำเนิด เขากำลังเตรียวตัวจะไปฮอลิเดย์เหมือนกัน ขากลับลิชาร์ดขับรถพาเรากลับโรงแรม ระหว่างทางตำรวจโบกรถให้จอด แล้วถามริชาร์ดว่า ดื่มแอลกอฮอล์หรือเปล่า ริชาร์ดบอกว่าดื่มค๊อกเทลหนึ่งแก้วและไวน์อีกสองขวดสำหรับสี่คน ตำรวจสั่งให้เขา Blow in the bag เพื่อหาแอลกอฮอล์ในเลือด พอเป่าแล้วตำรวจก็ไม่ได้ว่าอะไรให้เราออกรถไปได้ ฉันยังสงสัยอยู่จนบัดนี้ว่า ตำรวจใจดีปล่อยเราไปเฉยๆ หรือเปล่า เพราะแม้ว่าจะดื่มไวน์กันคนนะครึ่งขวด มันก็ต้องมีอะไรอยู่ในสายเลือดบ้าง ถึงแม้จะน้อยเต็มทีแต่อาจจะเป็นได้ว่า ก่อนจะทำเทสต์ริชาร์ดไม่ได้โกหกเขาต่างหาก รับออกไปตรงๆว่าดื่มอะไรไปบ้าง ประกอบกับมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ไม่ได้เมาและมีสุภาพบุรุษทั้งสองต่างก็แต่งสูทผูกเน็คไท ไม่ได้นุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อกล้าม ลากร้องเท้าแตะ อย่างที่เห็นเกลื่อนกลาดในเมือง ตำรวจจึงปล่อยไปโดยไม่เอาเรื่อง

สังเกตตามถนนหนทางโดยเฉพาะตามไฮเวย์ จะมีป้ายเตือนแบบตรงไปตรงมา อ่านแล้วไม่ต้องคิดมากก็เข้าใจ เช่น “ถ้าคุณดื่ม (แอลกอฮอล์) แล้วขับรถคุณก็คืออีเดียส” หรือไม่ก็ “เพียงแต่หยุด (พัก) นิดเดียว คุณก็จะไม่ตาย” อะไรเทือกนี้ ซึ่งฉันคิดว่าดีมาก ในประเทศสวิส คำเตือนอะไรต่างๆ แสนจะละมุนละไม เอาอกเอาใจกันดีแท้ๆ เช่น “ขอให้สบตากันเอาไว้” หรือไม่ก็ “ไม่ดื่ม ไม่เสพย์ (ยาเสพติด) ก็จะไม่มีปัญหา”

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วถามตัวเองว่า “ฉันเห็นหญ้าในสนามบ้านของคนอื่นเขียวกว่าหญ้าในสนามบ้านของตนเอง” หรือเปล่า คุณผู้อ่านช่วยฉันตอบทีค่ะ