ปล่อยให้แม่ยอดยาหยีเล่าเรื่องอะไรต่ออะไรเกี่ยวกับผู้คนในประเทศ (สวิส) ของผมมานานพอสมควรแล้ว วันนี้ผมขอถือโอกาสมาคุยกับคุณๆบ้าง ไม่ใช่ว่าผมอยากจะไปแย่งงานอดิเรกของเธอหรอกครับ แต่เห็นว่าถ้าจะมีใครเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับเบิร์นแล้วละก็ น่าจะเป็นผมมากกว่าคนอื่น ใครจะมารู้ดีไปกว่าผมซึ่งเป็นชาวเบิร์นโดยกำเนิดขืนปล่อยให้แม่เจ้าประคุณออกมาเล่าผิดๆถูกๆ เดี๋ยวผมก็จำไม่ได้หรอกว่าเธอเขียนถึงเมืองอะไรกันแน่
ผม เป็นชาวเบิร์นร้อยเปอร์เซ็นต์จะนับย้อนหลังไปกี่ชั่วโคตร ผมก็ยังเป็นชาวเบิร์นอยู่นั่นเอง ไม่ใช่ชาวเบิร์นปลอมๆ อย่างเมียของผม ถึงแม้ว่าผมจะไม่ใช่ชาวเมืองหลวงแท้ๆ แต่ผมก็ถือกำเนิดมาในรัฐเบิร์น ในเขตเอ็มเม็นทาล (Emmental) ซึ่งแปลว่าหุบเขาเอ็มเม็น คุณๆที่ชอบรับประทานเนยแข็งสวิสคงจะเคยได้ยินชื่อ “เอ็มเม็นทาลชีล” กันมาบ้าง เนยแข็งเอ็มเม็นมีโรงงานผลิตดั้งเดิมอยู่แถบบ้านของผมเอง แต่เดี๋ยวนี้มีโรงงานผลิตเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง บางที่ก็ไม่ได้ผลิตขึ้นที่นี่หรอกครับ แต่เขาใช้ชื่อนี้เป็นเทรดมาร์ก แบบที่คนไทยหลายคนติดปากเรียกผงซักฟอกทุกอย่างว่า “แฟ้บ” อย่างไรเล่าครับ
เนยแข็งชนิดนี้มักจะมีรูกลมโตยิ่งมีรูโตขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งอร่อยมากขึ้นเท่านั้น ผมเองไม่ค่อยจะชอบชีลเอ็มเม็นทาลนัก แต่ชอบชีล “อัพเพ็นเซล” มากกว่า เพราะมีรสเข้มข้นมันกว่ามากแต่แม่ยอดขมองอิ่มของผมสิครับ ทั้งๆที่ชอบกินชีลทุกชนิด กลับมาหาว่าชีลที่ผมชอบกินนี่มีกลิ่นตุๆ เหมือน “ปุ๋ย” ของชาวนาสวิสไม่มีผิด
ผมออกจะน้อยใจอยู่บ่อยๆ ที่คนส่วนใหญ่ซึ่งมาเที่ยวประเทศสวิสแล้วมักจะไปเที่ยวกันแค่ซูริคหรือไม่ก็ร้าน “บูเคอเร่อ” ที่ลูเซิร์น โดยไม่จัดเวลามาเที่ยวกรุงเบิร์นบ้างเลย สำหรับพวกเราชาวเบิร์นเมืองซูริคไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากถนนบานโฮฟ (Bahnhofstrasse) ที่มีแต่ร้านขายของแพงลิบลิ่ว ดูดเอาเงินของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปปีละมากต่อมาก สู้เบิร์นของผมก็ไม่ได้ นอกจากจะเป็นเมืองหลวงทั้งของรัฐและของประเทศแล้ว ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจมากมายหลายแห่ง จะยกตัวอย่างเพียงสองสามแห่งเท่านั้นนะครับ เช่น โบสถ์ สไตล์กอธิค “มูนส์เตอร์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมือง แลเห็นโดดเด่นแต่ไกล
ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอีกอย่างหนึ่ง คือ หอนาฬิกา ยามใดที่นาฬิกาตีบอกเวลารูปหุ่นต่างๆ ก็จะเข้าแถวเดินกันออกมาพร้อมๆกับหมีตัวน้อยทั้งหลาย นอกจากนั้นก็มีน้ำพุรูปร่างแปลกๆเรียงรายกันอยู่บนถนนแคบๆ แต่ละแห่งก็มีเรื่องราวตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาน้ำพุแห่งหนึ่งมีชื่อว่า “มุทซ์” (Mutz) ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวเบิร์นเรียกขานตัวหมีที่เป็นสัญลักษณ์ของเบิร์นโดยแท้ ถนนแคบๆเหล่านี้เรียกว่า “กาสเซ่” (Gasse) กาสเซ่ที่ผมเห็นว่างามที่สุดก็เห็นจะเป็น “มาร์คท์กาสเซ่” (Marktgasse) ซึ่งแบ่งเป็นสองตอน ตอนหนึ่งมีน้ำพุ “เจ้าแม่แห่งความยุติธรรม” เป็นรูปปั้นผู้หญิงมีผ้าผูกปิดตาไว้ แทบเท้าของเธอมีพระสันตะปาปาองค์จักรพรรดิ สุลต่าน และลอร์ดแมร์นั่งล้อมเรียงราย ให้ความหมายที่กินใจว่า ไม่ว่าใครก็ตาม จะสูงศักดิ์หรือต่ำต้อย ต่างก็อยู่ภายใต้กฎหมายแห่งความยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น
กรุงเบิร์นมีอีกอย่างหนึ่งที่เมืองอื่นๆในสวิสไม่มี ก็คือ อาร์เคด (Arcade) ที่มีหลังคาคลุมโดยตลอด มีความยาวถึงหกกิโลเมตร สามารถคุ้มกันฝนและหิมะได้ดี เวลาเดินดูร้านรวงจึงไม่ต้องกลัวเปียก
หลังจาก ที่เรียนชั้นมัธยมชั้นสุดท้ายที่บ้านเกิดของผมจบแล้ว ผมก็ได้ไปเรียนต่อที่กรุงเบิร์นอีกหลายปีทุกๆ เช้าตรู่ ไม่ว่าจะหนาวจัดจนเข้ากระดูก หรือฝนจะตกจนเปียกแล้วเปียกอีก ผมต้องปั่นจักรยานคู่ยากไปยังสถานีรถไฟ เพื่อจับรถไฟไปกรุงเบิร์นให้ทันเข้าเรียน ปีแล้วปีเล่าผมต้องตื่นแต่เช้ามืด ช่วยทางบ้านทำงานที่ฟาร์มจนเรียบร้อยแล้วนั่นแหละ ผมจึงจะได้ออกจากบ้าน ในสมัยนั้นที่บ้านผมมีฟาร์ม และพ่อผมเป็นชาวนา แต่เสียชีวิตไปตั้งแต่ผมอายุได้เพียงสิบหกปีเท่านั้น คุณแม่เป็นคนเลี้ยงผมมา ผมเล่าเรื่องนี้ให้คุณๆ ฟังด้วยความภาคภูมิใจ
คุณคงจะคิดว่าผมมีชีวิตในวัยเด็กที่ลำบากน่าสงสาร แต่ผมไม่คิดเช่นนั้นเลย มันเป็นประสบการณ์ เป็นกำไรของชีวิต มันสอนให้ผมมีความอดทนมีมานะที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตได้อย่างไม่ย่อท้อ เมียผมสิครับขี้บ่นน่าดู พอลูกสาวกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯก็เอาแต่คร่ำครวญสงสารลูกกลัวว่าจะไปตกระกำลำบาก ต้องไปผจญกับปัญหารถติด มลภาวะ ฯลฯ ทำยังกับว่าลูกไปอยู่ประเทศทรุกันดารยังไงยังงั้น มีไยที่ผมจะบอกว่า เด็กๆอายุยังน้อยมีความเข้มแข็งมากกว่าที่เราคิด ดูแต่ผมเป็นตัวอย่างก็ได้ เธอกลับพูดสะบัดๆว่า จะเอาตัวผมไปเปรียบเทียบกับลูกได้อย่างไร ผมเป็นลูกชาวนาก็ต้องมีความเข้มแข็งเป็นคุณลักษณะประจำตัวอยู่แล้ว ส่วนลูกสาวของเรานั้นมีพ่อเป็นถึงไดเร็คเตอร์จะปล่อยให้ไปลำบากลำบนได้อย่างไรฟังเธอพูดสิครับ
ชาวเบิร์นส่วนใหญ่มีอัธยาศัยดี ดูผมสิครับ ทั้งหล่อทั้งดี จนทำให้เพื่อนร่วมชาติของผมจากรัฐอื่นๆ อิจฉา ชอบค่อนแคะพวกเราว่าเป็นคนที่ทำอะไรต่ออะไรเชื่องช้า คิดอะไรก็ช้า จะพูดจะจาก็ยานคางเนิบนาบ แถมยังเสียงเหน่ออีกต่างหาก ถึงกับมีโจ๊กเล่าเป็นที่ขบขันกันว่า จะคุยอะไรกับชาวเบิร์นก็คุยไปเถิดนะ แต่อย่าได้ไปเล่าโจ๊กอะไรให้เขาฟังในเย็นวันเสาร์เป็นอันขาด เพราะเขาจะเก็บเอาไปหัวเราะในโบสถ์ตอนเช้าวันอาทิตย์ เพราะเพิ่งจะคิดได้ เมียผมร้ายกว่าใครเพื่อน พอใครเล่าอะไรให้ฟังแล้วยังคิดไม่ออก เธอก็มักจะจีบปากพูดซ้ำเติมผมว่า จะให้คิดเร็วได้อย่างไรในเมื่อมีสามีเป็นชาวเบิร์น อยู่กันมาเนิ่นนาน นิสัยใจคออะไรก็คงจะติดต่อถึงกันบ้างหรอกน่า ทำไมไม่ไปแต่งกับชาวซูริค “ขี้โม้” เสียให้รู้แล้วรู้รอดไปก็ไม่รู้
เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่งเราไปตีกอล์ฟ ถูกจับให้ร่วมก๊วนกับชายชาวซูริคคนหนึ่งโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเจ้านี่ขี้เบ่งน่าดู หมอบอกว่าเพิ่งบินกลับจากธุรกิจที่สิงคโปร์ ขณะที่อยู่ที่นั่นพอดีตรงกับวันอาทิตย์ เลยอยากจะไปตีกอล์ฟ แต่ทุกสนามเต็มหมด แม้ว่าเขาจะใช้ “คอนเน็กชั่น” ที่มีอยู่มากมายก็ไม่สำเร็จ ผมฟังแล้วก็เฉยๆ ใครอยากจะพ่นอะไรก็พ่นไป ไม่เดือดร้อนผมไม่ได้เปลืองน้ำลายด้วย แต่เมียผมสิครับเกิดฟิวส์ขาดทนไม่ได้ เลยบอกหมอไปว่า ถ้ารู้จักกันก่อนก็จะดีหรอกจะได้บอก “อังเคิล” ของเธอให้ เพราะเป็นเพื่อนบ้านของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์หมออ้าปากค้างเลยครับ ไม่แน่ใจว่าพูดประชดหรือพูดจริง ทำให้ผมนึกได้ว่าน้าเขยของผมอยู่บ้านเลขที่ 48 นำลีอเวนิว (Namly Avenue) ติดกับบ้านของท่านนายกฯจริงๆ
อันที่จริงเพื่อนร่วมชาติของผมที่อยู่กันคนละถิ่น ต่างก็มีเรื่องค่อนแคะกระแนะกระแหนซึ่งกันและกันเป็นประจำไม่มีใครถือเอาเป็นเรื่องจริงจัง คนต่างชาติมักจะนินทาว่าพวกผมขี้เหนียวขี้ตึดบูชาเงินฟรังก์เหนือสิ่งอื่นใด แต่ใครบ้างเล่าครับไม่ชอบเงินฟรังก์ ข้อแตกต่างอาจจะมีเพียงนิดเดียวก็คือ ในขณะที่คนชาติอื่นรักเงินฟรังก์สวิส แต่พวกผมบูชาแม้กระทั่งเศษสตางค์เล็กๆน้อยๆ
เราอาจจะขี้เหนียวก็จริง แต่ก็ใจกว้างนะครับ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ดูแต่ยอดรักของผมสิ ทำปากยื่นปากยาวนินทาคนสวิสทั้งต่อหน้าและลับหลัง แต่ไม่เห็นมีใครโกรธเธอสักคน ทำให้เธอโมโหมาก เพราะฝันเอาไว้อย่างหรูเริดว่า ถ้าหากเธอตั้งกองนินทาคนสวิสมากๆเข้า วันหนึ่งพวกสมาชิกสภาผู้แทนฯที่กรุงเบิร์นอาจจะเรียกตัวเข้าไปในสภาให้ขอโทษแก้ตัวเธอบอกว่า เมื่อเวลานั้นมาถึง เธอจะยืนกอดอกยิ้มอย่างผู้มีชัย และจะกล่าวกลางสภาอย่างเย่อหยิ่งว่า อย่าคิดว่าคำนินทาที่ออกจากปากไปทั้งหมดน่ะเป็นแต่เพียงโจ๊กกล้อเล่นสนุกๆนะ เธอหมายความทุกคำพูดเชียวแหละ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีคนสนใจ ปล่อยให้เธอล้อเล่น เอ๊ย สับโขกไปตามสบายเห็นไหมครับว่าพวกเราชาวสวิสใจกว้างแค่ไหน
ฮันส์เพื่อนซี้ของผมที่ตายไปแล้วนั่นก็เหมือนกัน ตอนรู้จักกันใหม่ๆก็ชอบหัวเราะเยาะสำเนียงเบิร์นของผมแต่พออยู่บ้านเดียวกันไปนานๆเข้ากลับก๊อปปี้เอาสำเนียงของผมไปใช้หน้าตาเฉย เป็นชาวบาเซิลแท้ๆ แต่กลับมาใช้คำพูดตอบรับว่า “เยิ้ว เยิ้ว” แทน “หยา หยา” ไปเสียฉิบ
เล่ากันว่า บนฝั่งแม่น้ำ “อาเร่” (Aare) อันเป็นที่ตั้งของกรุงเบิร์นในปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่ของหมีมาก่อนเดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีถ้ำสวนหมีเอาไว้ให้ดูเมื่อกรุงเบิร์นได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองในศตวรรษที่สิบสองโดย “เบิร์นโธลด์ที่ห้า” หรือที่เรียกกันว่า “ยุคแห่งแซรีเกน” หมีจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองไป ใครที่มาเที่ยวเมืองหลวงแห่งนี้จะเห็นรูปหมีประทับอยู่บนโล่และธงทั่วทุกหนแห่ง ถ้ำสวนหมีเป็นสถานที่พักผ่อนที่คนส่วนใหญ่ชอบมาเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นชาวสวิสเองหรือว่านักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นฤดูใบไม่ผลิ จะมีลูกหมีเกิดใหม่น่ารักมาก
คุณแม่ผมเล่าให้ฟังว่า หลังการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส พระเจ้านโปเลียนได้ยกกองทัพเข้ามายังกรุงเบิร์น เห็นหมีเข้าก็อยากได้ จึงสั่งให้ทหารเอาหมีไปเลี้ยงไว้ที่ปารีส เอาคนเลี้ยงหมีไปด้วย แต่ไปทำอีท่าไหนเข้าไม่ทราบ หมีที่เอาไปด้วยเกิดไม่สบายพานจะตายเอา คนเลี้ยงหมีจึงได้ขอร้องให้เอาหมีกลับคืนเบิร์นเสีย นโปเลียนเกรงว่าหมีจะตายจริงๆก็เลยจำใจส่งหมีกลับคืนชาวเบิร์นอย่างเดิม เรื่องนี้จะจริงหรือเท็จอย่างไรผมไม่รับรอง เล่าต่อให้คุณฟังอย่างที่เคยได้ยินมาเท่านั้น
พูดถึงนโปเลียนแล้วทำให้ผมนึกถึงผู้หญิงสวิสปากไม่มีหูรูดคนหนึ่งเจ้าหล่อนปรารภกับเมียผมว่า เวลาผมนั่งดูท่าว่าจะสูง แต่พอยืนขึ้นแล้วจึงได้เห็นว่าไม่ได้สูงอย่างที่คิด เมียผมก็เลยบอกไปว่า คนที่มีชื่อเสียงหลายคนในประวัติศาสตร์ต่างก็เป็นคนที่ “ไม่สูง” ดูแต่นโปเลียนเป็นตัวอย่างก้แล้วกัน แม้แต่คุณแฮนรี่ คิสซิงเจอร์เองก็ไม่ใช่คนสูง ภรรยายังสูงกว่าเสียอีกกษัตริย์ฮุสเซนแห่งประเทศจอร์แดนและควีนนัวร์ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นๆกันอยู่
จริงๆแล้วผมคิดว่าเมียผมเป็นโรค “คนเตี้ย” ซินโดรม (Syndrome) เสียมากกว่า คนสูงๆมาจีบเธอก็ไม่สนแฟนเก่านายทหารของเธอก็ “สันทัด” แบบผมนี่แหละ เธอบอกว่า แม้จะไม่สูงแต่นายทหารไทยส่วนใหญ่แลดูสมาร์ทเพราะมีแบริ่ง (Bearing) แปลว่าอะไรไม่ทราบครับคำนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่าเธอมาจากครอบครัวที่มีแต่คนสูงเป็นเสาโทรเลขกันทั้งนั้น เลยเอือมคนสูงมีความพยายามมากกว่าคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ เพราะพวกนี้ได้เปรียบกว่าตรงที่เมื่อเดินไปที่ใดก็เป็นที่สะดุดตาผู้คนโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม แต่ส่วนใหญ่พอรู้จักกันแล้วก็ยังงั้นๆ แต่น่าแปลกคนที่ผมถูกชะตาด้วยหลายคนมักจะเป็นคนสูงผอมแทบทั้งสิ้น
ทุกปี ในวันจันทร์ที่สามของเดินพฤศจิกายน จะเป็นวันที่ชาวเบิร์นจัดงานเทศกาลขายหัวหอม ที่เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า “ซีเบลลี่แมริท” (Zibelemaerit) ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน เมืองหลวงของประเทศสวิสได้แปรสภาพเป็นดินแดนของหัวหอมไปสิ้นจะมองไปทางไหนก็มีแต่ร้านขายหัวหอมเต็มไปหมด ที่ลานหน้ารัฐสภา ที่จอดรถทุกหนทุกแห่งมีหัวหอมต่างชนิดต่างพันธุ์ถักเป็นเปีย เป็นพวงหรีด เป็นดอกไม้ห้อยย้อยอวดความงามและสีสันอันสดใสแข่งกับสีของเทียนและดอกไม้ที่ประดับไว้ข้างเคียง บ้างก็จัดแต่งเป็นนกเพนกวินวางเรียงราย บ้างก็จัดเป็นรูปหมีอยู่ในกรอก เมื่อมีหอมมารวมอยู่ในที่เดียวกันถึงแปดสิบตันครึ่งก็ย่อมมีกลิ่นประหลาดแทรกไปทั่วทุกอณูของบรรยากาศในเช้าวันนั้น
เด็กนักเรียนในเบิร์นได้หยุดเรียนครึ่งวัน ต่างก็คึกคักกันใหญ่ ถือโอกาสซื้อค้อนพลาสติกสีต่างๆไล่ทุบตีเพื่อนฝูงกันเอง พอเบื่อแล้วก็หันไปหาเหยื่อรายอื่นต่อไป จะมีใครดีไปกว่าผู้คนที่แห่กันมาเที่ยวอย่างเนืองแน่นจากรัฐต่างๆ พ่อแบกลูกไว้บนบ่า แม่จูงลูกน้อยบ้าง พามาในรถเข็นบ้าง แม้ว่าอากาศจะหนาวเยือกเย็น แต่ทุกคนก็ไม่ย่อท้อที่จะฝ่าฝูงชนอื่นๆ ไปชมตลาดหัวหอมที่มีร้านขายด้วยกันทั้งหมดถึง 700 ร้าน มีหลายร้านเหมือนกันที่มีของอย่างอื่นมาขาย เช่น ดอกไม้ เทียนไข เครื่องใช้เซรามิกต่างชนิด ขนมหวานขึ้นชื่อทำจากขิงเป็นรูปหมีบ้าง รูปหัวใจบ้าง ที่เรียกว่า “เลบคูเค่น” (Lebkuchen) พี่สาวของผมเล่าให้ฟังว่าตลาดขายหัวหอมมีนานหลายร้อยปีแล้ว เมื่อตอนที่ไฟไหม้เมืองเบิร์น ชาวนาและชาวไร่ได้จัดเสบียงอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยอย่างครบครันมาช่วยชาวเมืองผู้ที่ประสบภัยอย่างแข็งขัน ทางเจ้าเมืองเห็นใจในความดี จึงอนุญาตให้พวกเขาเอาพืชผลจากไร่นามาขายได้ในเมืองหลวง โดยไม่เก็บค่าเช่าที่และไม่ต้องเสียภาษีอากรแต่อย่างใด ตั้งแต่นั้นมา การตั้งตลาดในวันจันทร์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนปีละครั้ง จึงกลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อๆมา เพราะในเดือนพฤศจิกายนเป็นเวลาที่ชาวไร่ชาวนามักจะว่างจากงานประจำจึงมีเวลานำเอาพืชผลของตนออกมาขายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหอม ปีแล้วปีเล่าทุกคนต่างก็พยายามจัดแต่งร้านให้สวยงามที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อแข่งขันกันดึงดูดลูกค้าให้ติดใจมาซื้อ แม้แต่ลูกอมเปปเปอร์มินต์เขาก็ปั้นเป็นลูกหัวหอมทำเป็นสร้อยคล้องคอ แถมยังกินได้อีกต่างหาก
ผู้ที่อยู่ในรัฐอื่นไม่ควรจะขับรถส่วนตัวเข้าเมืองหลวงในวันนั้น เพราะหาที่จอดไม่ได้ จะดีกว่าถ้าจะไปโดยรถโค้ชที่เขาจัดไว้ให้ถึง 190 คัน แต่ต้องจองที่ล่วงหน้า ถ้าไม่อยากไปรถโค้ช ไปรถไฟก็ได้ ในวันนั้นทางการรถไฟได้จัดรถขบวนพิเศษเอาไว้ถึงสามสิบเอ็ดขบวนเห็นว่ามีผู้โดยสารไปเที่ยวเบิร์นถึงหกหมื่นสามพันคน ในจำนวนนี้มีขวัญใจของผมอยู่ด้วย เห็นบอกว่าจะไปถ่ายรูปมาฝากผู้อ่านแพรว นี่ถ้ารู้ว่าผมแอบมาเขียนเรื่องตัดหน้าไปเสียก่อนเช่นนี้ เธอคงจะโมโหน่าดูเลยครับ ถ้ายังไงละก็คุณๆช่วยแก้ตัวแทนผมด้วยก็แล้วกัน
อย่าลืมนะครับ เทศกาลขายหัวหอมเช่นนี้มีปีละครั้ง และมีเฉพาะในกรุงเบิร์นเท่านั้น