ที่ว่ารัก รักนั้นประการใด

คุณผู้อ่านเชื่อไหมคะว่า ตั้งแต่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ทำปฏิญาณสาบานที่จะรวมตัวเป็นสหพันธรัฐกับพี่น้องต่างรัฐในสัญญา “ชั่วนิรันดร์” บนฝั่งทะเลสาบลูเซิร์น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.1291 คือเมื่อ 704 ปีมาแล้วนั้นประชาชนชาวสวิสเพิ่งจะได้มีโอกาสหยุดงาน (เพื่อ) ฉลองวันชาติกันเป็นเพียงปีที่สองเท่านั้นในปีนี้เอง สมัยก่อนไม่ถือวันที่ 1 สิงหาคม เป็นวันหยุดราชการ อย่างดีก็ได้หยุดเพียงครึ่งวันเท่านั้น ถ้าใครอยากหยุดเต็มวันก็ต้องเป็นแบบ “วันหยุดที่ไม่มีเงินเดือนจ่ายให้”

ใครๆ ก็รู้กันทั้งโลกว่าคนสวิสแสนจะมีระเบียบวินัยและเคร่งครัดไปทุกเรื่องทุกอย่าง เหตุใดจึงไม่ถือว่าวันชาติของตนเป็นวันสำคัญ ฉันเดาเอาในฐานะที่อยู่ประเทศนี้มาเนิ่นนานว่า ความรักชาติของชาวสวิสไม่ได้อยู่ที่การแหกปากร้องเพลงชาติ พูดพล่อยๆว่าตนเองรักชาติ ในขณะเดียวกันก็ทำตนตรงกันข้ามกับคำพูดทุกประการ

ฉันเคยแกล้งถามเพื่อนชาวสวิสว่าร้องเพลงชาติของตนเองเป็นไหม หลายคนจะบอกว่า “เอ๊ะ ไม่รู้สิแฮะ รู้แต่ว่ามีทำนองเหมือนเพลงชาติของอังกฤษ คือ God Shave เอ๊ย God Save the Queen” ถ้าฉันทำหน้ายิ้มยียวน เขาก็จะเกาหัวแกรกๆรับพูดว่า “นึกออกแล้วก็เราเพิ่งเปลี่ยนเพลงชาติใหม่ไปเมื่อไม่กี่ปีมานี่เองใช่ไหม เปลี่ยนทั้งเนื้อร้องและทำนอง แต่อย่ามาถามนะว่ามีเนื้อร้องหรือทำนองเป็นยังไง นึกไม่ออกหรอก” ฉันก็จะยืดอกยิ้มอย่างผู้มีชัยแล้วยั่วว่า “เธอเป็นคนสวิสภาษาอะไร ไม่รู้จักเพลงชาติของตัวเอง สู้ฉันซึ่งเป็นสวิส ‘กระดาษ’ ไม่ได้” คำว่าสวิสกระดาษหมายถึงคนที่ไม่ได้เกิดมาจากพ่อแม่ที่เป็นคนสวิส หรือหมายถึงคนที่แปลงสัญชาติเป็นสวิส

แล้วฉันก็จะร้องเพลงชาติของเขาออกมาด้วยเสียง “เป็ดเทศ” ของฉัน “Trittst im Morgenrot daher…” ให้เขาฟัง บางคนฟังแล้วถึงกับปิดหูเพราะเขานึกว่านั่งอยู่ในโบสถ์ ด้วยเพลงชาติสวิสไม่มีอะไรเกี่ยวกับความรักชาติเลยแม้แต่น้อย มีแต่บอกให้สวดภาวนา ฯลฯ เล่ารายละเอียดประเดี๋ยวคุณผู้อ่านจะหาวนอนไปตามๆกัน ก็จะขอไม่เล่านะคะ เอาเป็นว่าเพลงชาติของคนสวิสก็คือเพลงสวดดีๆ นี่เอง ถ้าคิดว่าจะได้ยินเพลงชาติในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันชาติของสวิสละก็ คุณจะต้องผิดหวังค่ะ จะหมุนทีวีไปช่องไหนๆหรือบิดเครื่องวิทยุกันจนแทบจะพังก็หายินไม่หรอกค่ะ ถ้าอยากได้ฟังจริงๆก็ต้องไปดูการแข่งขันฟุตบอลของทีมสวิสกับชาวต่างชาติ หรือไม่ก็เวลาที่นักกีฬาชาวสวิสได้ชัยชนะจากกีฬาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเป็นประเพณีที่คนทั่วโลกทำกัน ชาวสวิสจะไปฝืนอยู่ข้างเดียวก็จะเป็นการขวางโลกไป

ฉันสงสัยตงิดๆว่าชาวสวิสคงแต่งเพลงชาติของเขาขึ้นมาก็เพื่อให้ “เทียมหน้าเทียมตา” กับชาติมหาอำนาจอื่นๆละกระมัง ถ้าคุณผู้อ่านยังข้องใจก็อยากจะให้คอยดูปากของนักฟุตบอลชาวสวิสในระหว่างที่ยืนแถวก่อนเวลาแข่ง และมีเพลงชาติของตนบรรเลงกระหึ่ม จะสังเกตว่านักฟุตบอลส่วนใหญ่ทำปากขมุบขมิบ แต่ทำไปอย่างนั้นเอง จำเนื้อร้องกันไม่ได้หรอกค่ะแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่รักชาติ แต่อย่างที่บอกแล้ว ความรักชาติของพวกเขาออกจะแปลกกว่าผู้อื่นอยู่สักหน่อย ถ้าจะเปรียบเทียบกับคนชาติอื่นๆ เช่น คนอเมริกัน เป็นต้นเวลาที่นักกีฬาชาวอเมริกันยืนเข้าแถวร้องเพลงชาติ พวกเขาจะเอามือขวาแนบไว้ที่ทรวงอก และจะร้องเพลงชาติของเขากันเต็มเสียงด้วยความภาคภูมิใจ

จะ เห็นว่าชาวสวิสไม่จำเป็นต้องมีเพลงชาติมากระตุ้นให้พวกเขารักชาติเพราะเขารักอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการกระตุ้นเตือนจึงไม่จำเป็น หน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมมีอยู่ใต้จิตสำนึกของพวกเขา การเห็นแก่ส่วนรวมด้วยการมีพับลิคสปิริต (Public Spirit) เป็นนิสัยที่เขาได้รับการอบรมมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย สิ่งใดที่เขาคิดว่าจะทำความเสียหายมาให้แก่ส่วนรวมเขาจะไม่ลังเลเลยที่จะออกมาต่อต้าน

ไม่ต้องดูเรื่องอื่นที่ไกลตัวหรอกนะคะ ดูแค่เรื่องขยะก็พอจะแลเห็นนิสัยใจคอที่แท้จริงของชาวสวิสแล้ว คนสวิสรู้จักการแยกขยะในครัวของตนมาตั้งหลายปีดีดักมาแล้ว ในครัวจะมีถังขยะที่แบ่งออกเป็นช่องๆ แต่ละช่องก็จะใส่ขยะแตกต่างกัน ขยะธรรมดาที่เราใส่ในถุงสีดำ เมื่อเต็มก็ปิดปากมัดด้วยเชือกที่เขามีติดไว้ก้นถุง แล้วเอาไปวางไว้ที่หน้าประตูบ้านข้างโรงรถ การวางก็จะต้องวางในที่แห่งเดียวกันทุกครั้งเพื่อว่าคนขนขยะจะได้รู้ที่ที่แน่นอนอะไรที่เป็นกล่องกระดาษสีน้ำตาลจะต้องจับพับให้แบนเรียบร้อย ถ้าไม่พับแต่ทิ้งเอาไว้ทั้งกล่อง คนขนขยะจะไม่เก็บเอาไป ปล่อยทิ้งไว้ตรงนั้นจนกว่าจะพับให้เรียบร้อย จะมีรถขนขยะมาเก็บขยะไปทิ้งอาทิตย์ละสองครั้ง ในแถบที่ฉันอยู่มาในวันอังคารและศุกร์ตอนเช้า เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะนอนตื่นสายก็ต้องเอาถุงขยะไปวางไว้เสียให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน

ถ้าขยะอีกช่องหนึ่งเป็นช่องที่มีกระถางสี่เหลี่ยมสีเขียวสำหรับเอาไว้ใส่ขยะจำพวกกากกาแฟ เปลือกผลไม้ต่างๆที่เราปอก สลัดผักที่เสีย ฯลฯ แทนที่จะทิ้งโครมลงไปในถังขยะธรรมดาเราก็จะเอามันใส่ลงไปในช่องเขียว หรือสำหรับคนที่ที่จัดเป็นพิเศษ เรียกว่า “คอมโพสต์” ในภาษาสวิส (Compost) หลังจากตัดหญ้าในสนามแล้วก็จะเอาไปทิ้งในที่แห่งเดียวกัน เพื่อจะหมักให้เศษหญ้าเหล่านี้กายเป็นปุ๋ย แต่ถ้ามีมากเกินไป เราก็จะใส่ในถังเขียวใบสูงใหญ่ รอให้เจ้าหน้าที่ขนขยะมาขนไปในวันจันทร์เช้า หญ้าและขยะ “เปียก” นี้ถ้าจะให้เขาเก็บไปในวันจันทร์เพื่อจะไปทำปุ๋ย ก็จะต้องใส่ไว้ในถังเขียว ถ้าไปใส่ไว้ในถังหรือถุงสีอื่น เขาจะไม่เก็บไปให้

ถังขยะที่เหลืออีกสามช่องจะมีไว้สำหรับใส่ขยะจำพวกกระป๋องเปล่าเมื่อเปิดกระป๋องและได้ถ่ายเทของออกเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องล้างกระป๋องให้สะอาด แกะเอาตรา (Label) จากกระป๋องออก เปิดกระป๋องอีกด้านหนึ่งให้เป็นช่องทะลุทั้งสองด้าน แล้วก็ต้องบีบมันให้แบน เพื่อว่าจะได้สอดเข้าไปในที่สอดได้ แล้วใส่ไว้ในถังขยะช่องหนึ่ง รอเวลาเพื่อที่จะนำมันไปใส่ลงในคอนเทนเนอร์ที่เขาจัดไว้ให้เป็นแห่งๆอันนี้ไม่มีใครมาเก็บเอาไป ส่วนขยะพวกฟอยล์ หรือจำพวกฝากกล่องโยเกิร์ตหรือจุกขวดเบียร์ ก็ต้องรวบรวมไว้อีกช่องหนึ่ง เพื่อจะนำเอาไปทิ้งที่คอนเทนเนอร์เช่นกัน เช่นเดียวกับขวดเปล่าของไวน์หรือเครื่องดื่มจำพวกวิสกี้ ยิน ฯลฯ เราก็ต้องเก็บรวบรวมเอาไว้ ขยันเมื่อไหร่ก็ขนเอาไปทิ้งในคอนเทนเนอร์ที่เขาจัดไว้ให้

ในคอนเทนเนอร์เขามีช่องแต่ละช่องให้ทิ้งขวดแต่ละสี เช่น ขวดสีขาว เขาก็จะบอกว่าสำหรับขวดสีขาว เขียวก็สีเขียว และน้ำตาลก็สีน้ำตาล เป็นต้น จะไปทิ้งรวมกันไม่ได้ เมื่อคอนเทนเนอร์เต็มก็มีรถมาขนเอาของพวกนี้ไป แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วเขาก็มีถังสีส้มให้ใส่เช่นเดียวกัน ส่วนพวกยาที่หมดอายุจะเอาไปคืนให้กับร้านขายยาที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นร้านที่ซื้อยามา

มีขยะอีกอย่างหนึ่งที่ทุกคนเกลียดที่จะเอาไปทิ้ง นั่นคือน้ำมันที่ใช้แล้วและต้องการจะเปลี่ยนใหม่ เราจะต้องเอาน้ำมันนี้ไปทิ้งที่คอนเทนเนอร์เช่นเดียวกัน เขาจะบอกไว้อย่างชัดเจนว่าช่องไหนมีไว้สำหรับทิ้งน้ำมันอะไร น้ำมันที่ใช้แล้วในครัว หรือว่าเป็นน้ำมันเครื่อง ไม่ซี้ซั้วทิ้งรวมกันมั่วไปหมดหรอกค่ะ

มีอยู่วันหนึ่งถึงเวลาที่ฉันจะต้องเปลี่ยนน้ำมันสำหรับทอดอะไรต่ออะไรเสียที หลังจากที่ได้ผลัดวันประกันพรุ่งนี้มากับตัวเองหลายครั้งหลายหนแล้ว มันไม่ใช่แต่การทิ้งน้ำมันอย่างเดียวที่เป็นภาระหนักอก แต่มันหมายถึงการทำความสะอาดภาชนะที่ใส่น้ำมันอีกด้วยซึ่งฉันคิดว่า “แจ๋ว” ทุกคนที่จำต้องทำหน้าที่นี้โดยไม่มีทางเลือกก็คงจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกับฉันเหมือนกันแต่ก็จำต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นไม่รู้ว่าจะรอให้ใครมาทำให้

เมื่อเดินไปถึงคอนเทนเนอร์ที่เขามีไว้ให้ทิ้งน้ำมัน ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่แล้ว ฉันกล่าวคำว่า “กรู๋ทซ์ซี่” เธอสวัสดีตอบแล้วก็ก้มหน้าก้มตาจัดการกับธุระที่อยู่ข้างหน้าต่อไป ฉันไม่เคยเห็นผู้หญิงคนนี้มาก่อน แต่เดาว่าคงจะอาศัยอยู่ในแฟลตเช่าหลังใดหลังหนึ่งที่อยู่บนเนินเขา เธอคงไม่รู้จักว่าฉันเป็นใครเช่นกัน

ฉันต้องการจะทำให้บรรยากาศ “แจ่มใส” ขึ้น จึงพูดเปรยๆว่างาน (ทิ้งน้ำมัน) นี้เป็นงานที่สวย (Schon) ดีแท้ๆแล้วฉันก็ทำเสียงอย่างหนึ่งให้รู้ว่าฉันเกลียดงานชนิดนี้พอๆกับที่เธอก็คงจะเกลียดเช่นกัน ถ้าเป็นเพื่อนบ้านในละแวกที่ฉันอยู่ เขาก็จะอือออไปกับฉันเพื่อให้สนุก แต่กับผู้หญิงแปลกหน้าคนนี้ ฉันต้องหน้าแตกเป็นเสี่ยงๆเธอไม่เห็นขันด้วย และพูดกับฉันด้วยเสียงเคร่งๆว่า “ไม่เห็นจะน่ารังเกียจตรงไหน ใครๆก็ต้องทำกันทั้งนั้น” ฉันเลยหุบปากเงียบ แต่คิดในใจว่าเธอคงเป็นประเภท “ซูเปอร์แม่บ้าน” ที่มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิตอยู่อย่างเดียวคือ ขัดลูกบิดประตูแฟลตของเธอให้ขึ้นเงานั่นเอง และใครจะรู้ เผลอๆเธออาจเอาปืนยาวของสามีที่มีอยู่ที่บ้านมาขัดให้ขึ้นเงาอีกด้วยก็เป็นได้เนอะ (หมายเหตุ ผู้ชายชาวสวิสทุกคนที่ไม่พิการจะเป็นทหารและมีปืนยาวพร้อมกระสุน หมวก และเครื่องอุปกรณ์การออกสนามต่างๆอยู่ที่บ้านกันทุกคน)

การที่ฉันแน่ใจว่าเธอคงจะอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันก็เพราะ ถ้าอยู่ที่หมู่บ้านแห่งอื่น ทางการจะไม่ยอมให้มาทิ้งน้ำมันที่หมู่บ้านแห่งนี้ คุณผู้อ่านอาจเห็นเป็นเรื่องแปลก แต่เป็นความจริงค่ะเพราะว่าแต่ละหมู่บ้านต้องเสียภาษีค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้โดยตรง ยิ่งมีขยะมากก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ฉันเองก็ออกจะเห็นใจอยู่ ที่ฉันรู้เรื่องอย่างแน่นอนก็เพราะว่าเคยจะเอาจักรยานลูกสาวไปทิ้งที่หมู่บ้านใกล้เคียง เพราะบังเอิญผ่านไปทางนั้น เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าอยู่ถามว่าอยู่ที่หมู่บ้านนี้หรือเปล่า ฉันบอกว่าเปล่าเขาก็ไม่ยอมให้ทิ้ง ต้องเอากลับมาทิ้งที่หมู่บ้านของตัวเอง ยุ่งชะมัดเลยค่ะ

ส่วนกระดาษหนังสือพิมพ์และหนังสือต่างๆ ประเทศนี้ไม่มี “อาเจ๊กมีขวดมาขายเอย” ค่ะ เราต้องรวบรวมกระดาษพวกนี้แล้วมัดไว้ให้ดี ทุกๆสามเดือนจะมีสมาคมใดสมาคมหนึ่งมาเก็บเอากระดาษไปส่งให้โรงงานทำกระดาษที่อยู่ใกล้เคียง (ฉันและวอลเตอร์เพิ่งจะได้รับเชิญให้ไปดูการผลิตกระดาษกลางเดือนนี้พร้อมงานเลี้ยงอาหารค่ำ อาจมีเรื่องน่าสนใจมาเล่าอีกค่ะ) ก่อนจะมาสัก 2-3 วัน เขาจะเอาประกาศมาใส่ไว้ในตู้จดหมาย บอกวันและเวลาที่พวกเขาจะมาเก็บกระดาษ เราจะต้องจัดการมัดกระดาษให้เรียบร้อย แล้วเอาไปตั้งไว้หน้าบ้านที่เดียวกับที่เราตั้งถังขยะโดยมากเขาจะมากันเช้ามืดวันพุธ เงินที่พวกเขาได้จากการขายกระดาษก็จะเข้าสมาคมไป ส่วนกระดาษเหล่านี้ ทางโรงงานจะเอาไปรีไซเคิลเพื่อให้ใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง

พูดถึง ตู้จดหมายแล้ว ฉันอยากจะเล่าว่าตู้จดหมายของคนที่เช่าแฟลตอยู่ (71 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศจะต้องมีลักษณะเหมือนๆกัน คือ สีเทาแก่ หรือสีน้ำตาลเข้ม แบ่งเป็นสองชั้น ชั้นแรกมีกุญแจปิดเปิดได้ เอาไว้ให้บุรุษไปรษณีย์ใส่จดหมาย ส่วนชั้นสองมีบานปิดเปิดได้และสูงกว่าชั้นแรก เอาไว้ใส่นม หรือไม่ก็นิตยสารที่ใส่เข้าไปในช่องจดหมายไม่ได้ ชั้นสองไม่มีกุญแจล็อค ตู้จดหมายทุกตู้จะต้องตั้งไว้ชั้นล่าง แม้ว่าเจ้าของตู้จะสถิตอยู่ชั้นบนสุดของแฟลตก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกของบุรุษ (หรือสตรี) ไปรษณีย์เห็นไหมคะ ว่าเขาให้ความสำคัญและความเสมอภาคแก่คนของเขาเช่นไร ไม่เช่นนั้นกว่าบุรุษไปรษณีย์จะส่งจดหมายเสร็จในแต่ละวัน เขาจะต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงบันไดไม่รู้ว่ากี่ชั้นต่อกี่ชั้นแฟลตทุกแห่งไม่ใช่จะมีลิฟต์กันเสียทุกที่เมื่อไร

ส่วนตู้จดหมายตามบ้านอาจมีลักษณะและสีสันแปลกไปได้สักนิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับตู้จดหมายที่เล่าให้ฟังแล้วข้างต้น และจะต้องตั้งอยู่ที่ปากทางเข้าประตูบ้าน ในลักษณะที่บุรุษไปรษณีย์สามารถเอาจดหมายได้โดยไม่ต้องลงจากรถ “โมเป้ด” (Moped) ของเขา ไอ้ที่จะโยนทั้งหนังสือพิมพ์และจดหมายทิ้งไว้หน้าบ้านกลางแดดกลางฝนน่ะ คนสวิสทำไม่เป็นหรอกค่ะ

ถ้าหากไม่มีใครอยู่บ้านและมีจดหมายลงทะเบียนมาถึง เขาจะติดป้ายสีเหลืองเอาไว้ที่หน้าตู้จดหมาย บอกวันที่และเวลาที่เจ้าของจะไปรับจดหมายได้ตามปกติเขาจะให้เวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากนั้นไปแล้วถ้าไม่มีคนไปรับ เขาจะจัดการส่งคืนต้นทาง สำหรับจดหมาย “ด่วน” เอ๊กซ์เพรส เขาก็ถือเป็นเรื่อง “จริงจัง” และใหญ่โตมาก โพสต์มาสเตอร์จะขับรถเอามาให้ด้วยตนเองให้ทันที ไม่ว่าจะดึกดื่นค่ำคืนแค่ไหน ถ้าไม่มีใครอยู่บ้าน เขาจะเขียนโน้ตสีเหลืองติดไว้ที่หน้าประตูบ้าน บอกว่าขอให้เปิดตู้จดหมายโดยด่วน เพราะมีเอกสารสำคัญอยู่ในนั้น เมื่อเปิดตู้ดูจะไม่มีจดหมายด่วนที่ส่งมา แต่จะเป็นโน้ตอีกชิ้นหนึ่งที่แจ้งให้เจ้าของไปรับจดหมายที่ไปรษณีย์โดยด่วน การที่มีโน้ตสองชิ้นก็เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าของจะต้องได้รับจดหมายแน่ๆ

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เพื่อนชาวอเมริกันของฉันทำแอดเดรสที่บ้านของฉันหาย เขาต้องการติดต่อกับฉัน จึงได้ตัดสินใจส่งจดหมายมาให้อย่างเดาสุ่มเขาบอกว่า “เชื่อ” ในความมีประสิทธิภาพของไปรษณีย์สวิส และจดหมายฉบับนั้นก็มาถึงฉันจริงๆค่ะ เขาเพียงแต่เขียนชื่อ นามสกุล ตำบลใกล้เคียง คือ “เอบีค่อน” (Ebikon) และชื่อประเทศเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้เวลามีจดหมายจ่าหน้าซองแปลกๆ ไปรษณีย์มักจะโทรศัพท์มาถามฉันเสมอว่าอาจจะเป็น “แขก” ต่างประเทศที่มาพักอยู่ด้วยเป็นครั้งคราวได้ไหม

คุณผู้อ่าน บางคนคงจะทราบแล้วก็ได้ว่า นอกจากถังขยะอะไรต่ออะไรที่ฉันบรรยายมาให้ฟังแล้ว เขายังมี “ส้วม” จัดไว้ให้หมาอีกด้วยค่ะ มีลักษณะคล้ายตู้ไปรษณีย์ แต่เป็นสีเขียวติดไว้เป็นแห่งข้างถนน มีถุงสำหรับเก็บขี้หมาแขวนไว้ให้ด้วย เจ้าของหมาจะต้องเทรนหมาของตัวให้ “สะอาด” โดยพาไป “เดิน” ทั้งเช้าและเย็น พอหมา “ทำธุระ” เสร็จก็ต้องใช้ถุงนี่แหละค่ะโกยขี้หมาทิ้งลงไปในตู้เขียวที่เขาจัดไว้ให้ เพราะฉะนั้นคนที่มีหมาจะทำขี้เกียจตัวเป็นขนไม่ได้ ฝนจะตก ฟ้าจะร้องก็ต้องพาหมาออกไปเดินเล่น ไม่เช่นนั้นมันจะทำรุ่มร่ามไปทั่วบ้านทั่วเมือง เวลาฉันไปปารีสหรืออัมสเตอร์ดัมต้องคอยมองฟุตบาทดีๆ ไม่เช่นนั้นอาจเดินเหยียบเข้าไปในกองเบ้อเริ่มก็ได้

เห็นมีแต่ส้วมหมา ส้วมแมวไม่ยักกะมี อาจเป็นเพราะว่าแมวสะอาดก็เป็นได้ ทำธุระเรียบร้อยแล้วก็จัดการกลบไม่ให้เหลือรอย แต่บ้านฉันก็ไม่มีทั้งหมาและแมว ทั้งๆที่เรามีที่ทางเพียงพอ เพราะฉะนั้นถือว่าการเลี้ยงดูสัตว์จำพวกนี้เป็นภาระต้องดูแลไปจนตลอดชีวิต ดูแลทารกยังมีวันหนึ่งที่เขาจะเติบโตพึ่งตนเองได้ แต่การเลี้ยงหมาหรือแมวนั้นคือความรับผิดชอบจนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่ง ฉันเลยไม่อยากมี นอกจากนั้น ประเทศสวิสยังมีกฎห้ามเจ้าของหมาปล่อยให้หมาวิ่งโดยอิสระปราศจากเชือกจูงในที่สาธารณะอีกด้วย ไปไหนกับหมาก็ต้องคอยจูงมัน แล้วไม่ใช่ว่าจะพามันเข้าไปได้ทุกที่ เพื่อนชาวสวิสคู่หนึ่งไม่มีลูก แต่มีหมาเลี้ยงไว้สองตัว เลี้ยงเหมือนลูก ไปไหนก็เอามันไปด้วย จนเสื้อผ้าตลอดจนบ้านสมัยใหม่สวยของเขาก็มีแต่กลิ่นหมาไปหมด ฉันไม่เล่นด้วยหรอกค่ะ

สำหรับของหนักๆ จำพวกจักรยานที่ฉันเล่าแล้ว ก็มีของหนักๆ เช่นเฟอร์นิเจอร์ ที่นอน ฯลฯ สำหรับของพวกนี้เขามักมีหนังสือแจกตอนต้นปีบอกรายละเอียดว่าจะมาเอาของไปในวันไหน แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเอารถมาเก็บเอาไปในวันนั้น ส่วนอุปกรณ์จำพวกตู้เย็น หรือเครื่องรับวิทยุ หรือทีวี หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าที่ไม่ใช่แล้ว ถ้าต้องการโละของเก่าเพื่อซื้อของใหม่ก็โทร.ไปบอกเจ้าหน้าที่ เขาจะนัดเวลามาเอาไป โดยเราต้องจ่ายค่าเก็บเอาไปชิ้นละประมาณ 50 ฟรังก์ค่ะ ถ้าไม่อยากจะจ่ายก็เอาไปทุ่มลงในแม่น้ำรอยส์ หรือในทะเลสาบลูเซิร์นตอนกลางดึกปราศจากผู้คนก็สิ้นเรื่องค่ะ จะกลัวอะไรกันอย่างดีก็ถูกจับและปรับไม่กี่พันฟรังก์เท่านั้นเอง หรือไม่ก็ไปนอนเล่นอยู่ในคุก สบายจะตายไป คุกที่สวิสน่ะ มีคนออสเตรียเคยเข้าคุกสวิสแล้วบอกว่าเหมือนกับอยู่โรงแรมสามดาวยังไงงั้นทีเดียว อะไรจะขนาดนั้น เห็นลูกสาวเล่าว่าครูของแกเคยบอกว่า นักโทษต่างด้าวมีสิทธิ์จะขออาหารของตนเองกินได้ แหม ยิ่งสบายใหญ่เลยค่ะ ถ้าฉันมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในคุกสวิสจะถือสิทธิ์สั่งอาหารจากร้านอาหารไทย “ไทยโลตัส” ที่เป็นร้านอาหารไทยเปิดใหม่ที่ตกแต่งแสนสวยสุดหรู และตั้งอยู่ในโรงแรม National มากินให้อร่อยเหาะทีเดียว คุณมาร์ติน เจ้าของร้าน และคุณซิลเวีย พี่สาว คงจะยิ้มหน้าบ้านจนหุบไม่ลงทีเดียวค่ะ

ส่วนเสื้อผ้าเก่าๆ บางทีก็ไม่เก่าหรอกค่ะ แต่คนเบื่อ ไม่อยากใส่แล้วเขาก็จะมีถุงจากองค์การต่างๆ จัดมาให้เสร็จสรรพ มีวัน วันที่ และเวลาเขียนมาให้หมดว่าเมื่อไหร่จะมาเก็บ เราจะได้เตรียมเอาไว้ มีทั้งสภากาชาด สมาคมผู้พิการ อะไรต่างๆเหล่านี้ เสื้อผ้านี่เก็บไปแล้วเขาก็จะเอาไปเลือกแยกแยะออก ชิ้นที่ดีๆก็จะเก็บเอาไว้เอง เอ๊ยส่งไปทำความสะอาด และบริจาคไปตามที่ต่างๆที่ต้องการเสื้อผ้าเหล่านี้

มีอยู่คราวหนึ่งต้นฤดูใบไม้ผลิ ฉันเอาเสื้อผ้าที่ไม่ใช่แล้วของครอบครัวใส่ลงในถุง เอาไปตั้งไว้ที่หน้าบ้านเช่นเคยกำลังอยู่ในห้องน้ำ ได้ยินเสียงรถยนต์จอด โผล่หน้าต่างห้องน้ำออกไปดู เห็นชายผู้หนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นชาวสวิสหรือเปล่า แต่คิดว่าคงไม่ใช่ แกะถุงออกเลือกเอาเสื้อไหมพรมดีๆ ที่ฉันวางไว้ชั้นบนๆ ออกไปใส่ในรถของตัว ตอนแรกฉันเกือบตะโกนให้เขาเก็บเสื้อผ้าคืนเข้าถุงเสีย แต่กัดลิ้นตัวเองไว้ได้ (ภูมิใจในวีรกรรมอันนี้เหลือเกิน เพราะธรรมดากัดไม่ค่อยจะทันเอาเสียเลย) คิดเสียว่าไหนๆก็ได้บริจาคไปแล้ว ใครจะเอาไปไม่สำคัญ ชายคนนี้คงมีความต้องการได้เสื้อผ้าเหล่านี้มากเท่าๆ กับคนที่ฉันตั้งใจจะบริจาคเช่นเดียวกัน

คุณผู้อ่าน อุตส่าห์ใจเย็นอ่านมาถึงตอนนี้แล้วจะมีคำถามว่า แล้วในวันชาติสวิสน่ะ ผู้คนเขาฉลองกันยังไงในฐานะที่ประเทศสวิสเป็นบ่อเกิดของเหล่าองค์การกุศล เช่น กาชาด ฯลฯ พวกเขาก็ต้องมีจิตใจเผื่อแผ่นึกถึงคนอื่นๆมากกว่าตนเองเป็นธรรมดา จริงไหมคะ แหม เขาก็เอาเงินที่หามาได้ด้วยความยากลำบากนั้นไปซื้ออุปกรณ์พวกประทัดไฟ ดอกไม้ไฟ ไฟร์แครกเกอร์ ฯลฯ ที่ส่งมาขายจากเมืองจีนเอามาจุดกันเล่นให้เสียงดังอึกทึกไปจนแทบทั้งวันทั้งคืนน่ะสิคะ จนบางครั้งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงก็ยังเคยมี ปีหนึ่งก็มีวันชาตินี่แหละที่ได้มีโอกาสจุดประทัดเสียงดังรบกวนชาวบ้านโดยไม่มีใครกล้าว่าอะไร ฉันเองก็ต้องสารภาพว่า เมื่อลูกสาวยังเล็กอยู่ก็เอากับเขาเหมือนกันแต่เดี๋ยวนี้กลับเนื้อกลับตัวได้แล้วค่ะส่วนชาวสวิสคนอื่นๆ นั้นยังคงมีจิตใจเอื้อเฟื้อผู้ยากจนกว่าจากประเทศไกลโพ้นอย่างเหนียวแน่น จึงได้ตั้งหน้าตั้งตาอุดหนุนซื้อสินค้าพวกนี้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย

ในระยะสี่ห้าปีหลังนี้เรามักจะไปฉลองวันชาติกันที่บ้านของเพื่อนบ้านโดยเอาอาหารไปทำบาร์บีคิวกินกันพวกเขา ไม่มีการร้องเพลงชาติหรอกนะคะปีนี้การสนทนาจบด้วยปัญหาเรื่องยาเสพย์ติดที่ฉันยกขึ้นมาถกกับพวกเขาแต่นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนในวันนี้ จึงของผลัดไปคราวหลังค่ะ

จนแล้วจนรอดฉันก็ยังบอกไม่ได้แน่นอนว่าชาวสวิสรักชาติของเขาหรือไม่รัก ถ้าถือจากเพลงชาติเป็นเกณฑ์ คุณผู้อ่านช่วยตัดสินให้ฉันด้วยก็แล้วกันนะคะ