ขี่ม้าเหล็กข้าม ไซบีเรีย ตอนที่7

ข้ามทะเลทรายโกบี

ตู้รถไฟสายนี้คล้ายคลึงกับของทรานไซบีเรีย เพียงแต่ว่าระหว่างห้องพักสองห้องมีห้องน้ำที่มีอ่างล้างหน้าและกระจกคั่นอยู่ หลังจากที่เก็บของเข้าที่เข้าทางแล้ว เราสองคนก็เดินออกไปตามหานัชช่าและเบเลน คราวนี้เขาอยู่อีกสองห้องถัดไป ติดกับห้องของเราเป็นห้องของชายชาวจีนคนหนึ่งที่ไปทำงานอยู่ที่การรถไฟของประเทศโปแลนด์เป็นเวลา ๒ ปี และกำลังเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ปักกิ่ง ระหว่างทางไม่ได้เห็นเขาเท่าไรนักเพราะเขานอนอยู่ในห้องเป็นส่วนใหญ่ ได้แต่งกลิ่นแอลกอฮอล์โชยมาเป็นครั้งเป็นคราวยามประตูเปิด แต่เวลาคุยด้วยก็ต้องแปลกใจเพราะเขาไม่มีท่าทีว่าจะเมาหรือมีกลิ่นเหล้าระเหยออกมาจากร่างกายเลย

คราวนี้เราสองคนไม่ต้องอาศัยล่ามจาก “อังกฤษรัสเซีย” มาเป็น “อังกฤษสเปน” เหมือนตอนที่โดยสารมาในรถไฟสายทรานไซบีเรียจากมอสโกเพราะสื่อสารเป็นภาษาจีนกลางกับพนักงานรถไฟและผู้โดยสารชาวจีนได้ คราวนี้ฉันกลับต้องมาเป็นล่ามให้สามีภรรยาชาวสเปนทั้งสองคน เพราะพนักงานรถไฟประจำโบกี้ทั้งสองเป็นชายกลางคนชาวจีน คนหนึ่งเอาผ้าปูที่นอนผืนใหญ่พร้อมผ้าเช็ดตัวมาเปลี่ยนให้ พอรู้ว่าพูดและเข้าใจภาษาจีนกลางเขาก็ดีอกดีใจ ปูที่นอนไปก็หัวเราะไปยินดีรับใช้ทุกอย่าง เพราะฉันบอกว่าเคยอยู่เมืองจีนนานกว่าหกปี เขาจึงเลยเห็นเป็นพวกเดียวกับเขา และบอกให้เราพักผ่อนนอนก่อนให้สบายเมื่อไรที่รถไฟจะเลี้ยวผ่านทะเลสาบไบข่าล เขาจะมาปลุกเอง อาจจะกินเวลาอีกประมาณสองชั่วโมง

ประมาณแปดโมงเช้า พนักงานรถไฟก็มาเคาะประตูเรียก มองออกไปนอกหน้าต่างแลเห็นภาพของน้ำทะเลสีมรกตของทะเลสาบเสียดายที่ยังเช้ามาก ทิวทัศน์ในระยะแรกจึงไม่สวยเท่าที่ควร แต่ยิ่งสายขึ้นเท่าไร ยามหมอกจางลงน้ำก็มีสีสวยขึ้นเท่านั้นทำให้ได้มีโอกาสนั่งดูวิวของทะเลสาบไปเป็นระยะทางถึง ๒๐๐ กิโลเมตรจากหลัง ๕๓๐๐ จนถึง ๕๕๐๐ กิโลเมตรในขณะที่ม้าเหล็กวิ่งเข้าและออกลอดอุโมงค์ที่ขุดไปตามหน้าผาทางชายฝั่งทะเลสาบ

ก่อนจะถึงสถานีเซเล็งงา (Selenga) ที่หลักกิโลเมตรที่ ๕๕๖๒ รถไฟวิ่งเรื่อยไปตามฝั่งแม่น้ำชื่อเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่น้ำจับกันเป็นน้ำแข็ง จนไปข้ามแม่น้ำที่หลักกิโลเมตรที่ ๕๖๓๐ ก่อนจะถึงเมืองอูลาน อูเล (Ulan Uda) ซึ่งมีสถานีอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่ ๕๖๔๐ รวมเวลาที่รถไฟออกจากเอียร์คุทซ์คก็เป็นเวลาเจ็ดชั่วโมงครึ่งพอดี

รถไปจอดแวะที่ อูลาน อูเด ประมาณสิบห้านาทีก่อนที่จะมุ่งหน้าไปเมืองเซาดิงส์กี้ (Zaudinsky) ก่อนจะถึงเมืองเนาช์กี้ (Naushki) ระหว่างเมืองสองเมืองนี้ทิวทัศน์ทั่วไปค่อนข้างจะแห้งแล้ง มีฝุ่นเกาะอยู่ตามต้นไม้ใบหญ้าทั่วไปคงจะแล้งฝนมานานจึงขาดความชุ่มชื้น เพราะไม่ใช่ฤดูร้อน แต่หมู่บ้านที่รถวิ่งผ่านก็มีสีสวยสด ตระการตา มีสัตว์จำพวกม้า แกะ และแพะ เล็มหญ้าอยู่เป็นฝูงๆ ในที่สุดรถไฟก็มาถึงสถานีเนาช์กี้ในเวลาเย็นหกโมงสิบห้านาที ซึ่งเป็นเวลาท้องถิ่น

เนาช์กี้เป็นเมืองชายแดนของรัสเซียผู้เดินทางจะต้องกรอกแบบฟอร์มจำนวนสองใบให้กับด่านภาษี ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองชาวรัสเซียขึ้นมาตรวจดูความเรียบร้อยของหนังสือเดินทางบนรถ พวกเขาทำเหมือนกับมองหาอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์ พอตรวจหนังสือเดินทางแล้ว ต่างก็ทั้งก้มและเงยดูใต้เตียง ในตู้ ในห้องน้ำ เปิดฝ้าเพดาน เพื่อหาชาวรัสเซียที่อาจจะลี้ภัยออกนอกประเทศไปอยู่ที่อื่น ในขณะที่พนักงานรถไฟชาวจีนยืนเงียบกริบคอยฟังคำสั่งให้ช่วยยกนั่นยกนี่ เมื่อเห็นว่าไม่มีอะไรก็ลงจากรถไป รถวิ่งไปอีกประมาณยี่สิบเอ็ดกิโลเมตรก็มาถึงสถานีซูคบาร์ทาร์ (Sukhbaatar) ซึ่งเป็นเขตแดนของประเทศมองโกเลีย ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวจะไม่แวะหยุดเข้าประเทศที่นี่ แต่ก็ต้องมีทรานสิทวีซ่า (Transit Visa) สำหรับผ่านเข้าประเทศ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของฝ่ายมองโกเลียขึ้นมาตรวจหนังสือเดินทางและปฏิบัติเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัสเซีย เพียงแต่ไม่ขึงขังเท่า เสียเวลาไปกว่าสามชั่วโมงที่พรมแดนระหว่างประเทศทั้งสองโชคดีที่รถไฟ

ทรานมองโกเลียมีความกว้างของทางรถไฟเท่ากับสายทรานไซบีเรีย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนโบกี้ นอกจากต้องเสียเวลารอให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นผู้โดยสารชาวรัสเซียและชาวมองโกเลียพร้อมสัมภาระของพวกเขาอีกนานพอสมควร เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นแหละผู้โดยสารจึงจะได้รับอนุญาตให้ลงจากรถได้

สังเกตได้ว่ามองโกเลียใช้หลักกิโลเมตรของตนเอง เพราะเมื่อรถเริ่มผ่านชายแดนรัสเซียเข้ามองโกเลีย หลักกิโลเมตรจะเริ่มใหม่ที่ศูนย์

“พรุ่งนี้รถไฟจะไปถึงสถานี อูลาน บาทาร์ กี่โมงครับ?” สามีเอ่ยถามนัชช่าและเบเลน ในขณะที่ยืนสูดอากาศบริสุทธิ์อยู่บนชานชาลาสถานีซูคบาทาร์

“ก็คงจะในราวเก้าโมงเช้า” นัชช่าตอบ “เราสองคนตื่นเต้นมากที่จะได้ไปทะเลทรายโกบีคุณมีอะไรจะแนะนำไหมครับ?”

“ระวังเรื่องน้ำกินให้มากหน่อยแล้วก็พวกสลัดผักและผลไม้ ถ้าจะกินผลไม้ก็ต้องเลือกที่ปอกเปลือกได้ และอาหารก็กินสุกๆ แค่นี้คุณก็ปลอดภัย” สามีแนะนำในฐานะที่เคยไปประเทศมองโกเลียมาแล้ว

วันรุ่งขึ้นเราสองคนตื่นแต่เช้า ล้างหน้าล้างตาแล้วก็ออกมารอส่งเพื่อนชาวสเปนอยู่ที่ระเบียงรถ อีกไม่นานรถไฟก็เข้าเทียบชานชาลาของเมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย สหายทั้งสี่ร่ำลากัน ต่างสัญญาว่าคงจะได้พบกันอีกในวันหนึ่งข้างหน้า มีผู้โดยสารขึ้นมาใหม่หลายคนที่สถานีนี้เนื่องจากเป็นสถานีใหญ่ มีสามีภรรยาชาวเยอรมันคู่หนึ่ง ชาวฮ่องกงสองสามคน และชายชาวเอเชียอีกคนหนึ่ง ทำให้โบกี้ชั้นหนึ่งเต็มพอดี

เมื่อรถออกฉันสังเกตว่าบริเวณสถานีไม่ค่อยจะมีควันสกปรกเหมือนกับในตัวเมืองที่เคยเห็นเมื่อสองสามปีก่อนที่ได้มาเที่ยว บ้านไม้เล็กๆหรือเคบินที่เห็นในไซบีเรียเปลี่ยนเป็นเต็นท์รูปกลมที่เรียกว่า เกอร์ (Ger) ซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวมองโกเลียส่วนใหญ่ เนื่องจากไม้ที่มาสร้างบ้านหายาก ทิวทัศน์ก็เปลี่ยนจากป่าไม้เป็นทุ่งหญ้าที่เรียกว่า สเต็ป (Steppe) ซึ่งในฤดูใบไม้ร่วงได้แห้งแล้ง กลายเป็นสีน้ำตาลจนสุดลูกหูลูกตา พื้นที่ราบก็เป็นสีน้ำตาลของทะเลทรายเช่นกัน ไกลออกไปเบื้องหน้าแลเห็นทิวเขามีต้นไม้อยู่บ้างประปราย ฝูงอูฐ แพะ แกะ และม้าต่างเล็มหญ้าสีน้ำตาลอยู่เป็นฝูงๆ

พนักงานเสบียงรถชาวมองโกเลียในเครื่องแบบเต็มยศ กางเกงดำ เสื้อขาว แจ็คเก้ตสีดำ ผูกคอกระต่ายเดินมาแจ้งว่าอาหารเช้าเรียบร้อยแล้วเชิญไปรับประทานได้ที่รถเสบียง ตั้งแต่ออกจากมอสโกมาจนกระทั่งถึงที่อูลาน บาทาร์ รถเสบียงมีชาวรัสเซียเป็นพนักงาน เมื่อเราสองคนเข้าไปในรถเสบียงก็ต้องแปลกใจ เพราะเป็นรถเสบียงที่ตกแต่งอย่างสวยงามแม้จะดูเป็นการค้าไปหน่อยแต่ก็สะอาด น่านั่ง ฝ้าเพดานและหน้าต่างสลักเสลาด้วยไม้ แม้แต่ลูกบิดประตูก็ทำด้วยโลหะเป็นรูปสลัก โต๊ะอาหารจัดไว้อย่างเรียบร้อยด้วยมีดและส้อมพร้อมแก้วน้ำ มีผ้าปูโต๊ะสีขาว

“เขาคงจะเปลี่ยนตู้รถเสบียงเมื่อคืนแน่เลย” ฉันพูดขึ้น “ความจริงฉันก็อ่านจากคู่มือหนังสือที่เขาให้มาจากสวิสแล้วละว่า ถ้ารถไฟวิ่งเข้าไปประเทศใด เขาก็เปลี่ยนตู้เสบียงให้เป็นของประเทศนั้น แต่มัวแต่ตื่นเต้นเรื่องอื่นจึงลืมไปเสียสนิท และถึงไม่ลืมก็ไม่เคยคิดว่าตู้เสบียงของชาวมองโกเลียนจะดีแค่นี้”

เราทั้งคู่ต้องแปลกใจเป็นคำรบสองที่อาหารเช้ามื้อนั้นมีไข่เจียว (Omelette) ขนมปังแพนเค้ก แยมชนิดต่างๆ และเนยอย่างดี ตามด้วยกาแฟและนมวัว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่คาดมาก่อนหลังอาหารเช้าเจ้าพนักงานบอกว่าถ้าจะกินอาหารกลางวันให้สั่งได้เลย เขาจะจัดเตรียมไว้ให้ แต่สามีบอกว่าขอเป็นอาหารเย็นแทน พร้อมกับสั่งเนื้อสเต๊ก มันฝรั่งและสลัดเอาไว้ล่วงหน้า

ก่อนเที่ยงรถไฟไปจอดที่สถานีควอยร์ (Choir) ซึ่งเป็นสถานีตั้งอยู่ชิดติดขอบทะเลทรายโกบีในมองโกเลีย ฉันรีบเดินกระวีกระวาดไปถ่ายรูปอนุสาวรีย์ของนักบินอวกาศคนแรกของชาวมองโกเลียที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟเท่าไรนักเพราะรถจะจอดที่นี่เพียง ๑๕ นาทีเท่านั้น

ก่อนหน้าปี ค.ศ.๑๙๙๒ เมืองควอยร์เคยเป็นที่ตั้งฐานทัพทางอากาศของกองทัพบกที่ใหญ่ที่สุดของโซเวียตในประเทศมองโกเลีย ตั้งแต่ฐานทัพได้ย้ายออกไปจากที่นี่แล้ว ควอยร์ก็กลายเป็นเมืองร้าง ตึกรามและอาคารถูกทิ้งร้างเอาไว้เฉยๆถูกพวกมือบอนขว้างปาจนประตูหน้าต่างที่เป็นกระจกแตกพังยับเยิน บรรยากาศที่หดหู่อยู่แล้วยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ สภาพที่เห็นโดยรอบทั่วไปดูทรุดโทรมน่าสมเพช แทบจะไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครอาศัยอยู่ได้ นอกจากไม่มีทางเลือกจริงๆ เพื่อที่จะทำให้เมืองเจริญชักชวนให้ผู้คนมาอยู่ ทางเทศบาลเมืองได้ประกาศเมืองให้เป็นอิสระดูแลตนเอง จัดให้มีเสรีในการค้า แต่รู้สึกจะไม่เป็นผล เพราะเห็นจากสถานีรถไฟได้ว่า เป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศรอบนอก หรือภายในตัวเมืองเอง

เจ้าม้าเหล็กวิ่งลงไปทางใต้เข้ามณฑลดอร์โนก็อฟ (Dornogov Aimag) ซึ่งเป็นที่ราบสีน้ำตาล เห็นได้ว่ากำลังผ่านทะเลทราย ภูมิประเทศเหมือนกับทะเลทรายโกบีที่เราเคยไป ฉันเคยเล่าให้ฟังใน “ดินแดนของกษัตริย์เจงกิสข่าน” แล้วว่าในยามที่มีฝนตกหญ้าจะขึ้นเขียวเป็นหย่อมๆพวกอูฐ แพะ แกะ และม้าจะมาเล็มหญ้า หากเมื่อใดที่ไม่มีฝน พื้นดินจะแห้งผากแตกระแหงทุ่งหญ้ากลายเป็นสีน้ำตาล บึงบ่อแห้งแล้งไม่มีน้ำเมื่อไม่มีน้ำกินพวกสัตว์จะตายกันเป็นเบือทิ้งโครงกระดูกไว้ทั่วไป ตราบใดที่ยังไม่มีใครมาสั่งซื้อทรายเป็นจำนวนล้านๆตัน ชาวบ้านแถบนี้ก็เห็นจะต้องอาศัยอยู่ตามทางรถไฟกันเป็นส่วนใหญ่ยังชีพอยู่ด้วยการขายของเล็กๆน้อยๆไปวันหนึ่งๆถ้าที่ใดมีสัตว์เป็นฝูงๆรวมตัวกันอยู่ก็แปลว่าแหล่งนั้นมีน้ำพอสมควร

พระอาทิตย์กำลังจะลับไปจากท้องฟ้าแสงแดดตากผ้าอ้อมที่ฉายลงมาทำให้ทะเลทรายดูสดใสนุ่มนวล ในรถเสบียงไม่มีใครกินอาหารเย็นเลย มีแต่หนุ่มสาวชาวอังกฤษคู่หนึ่งสั่งเบียร์มาดื่มแล้วก็ลุกไป มื้อเย็นวันนั้นเป็นมื้อที่ถูกปากอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่เดินทางมาในรถไฟทรานไซบีเรียทำให้นึกเสียดายที่เมื่อข้ามพรมแดนมองโกเลียไปแล้วตู้เสบียงจะเปลี่ยนเป็นตู้เสบียงของประเทศจีน

เวลาประมาณหนึ่งทุ่มครึ่ง รถไฟก็มาจอดเทียบชานชาลาเมืองเซ็นส์แฮนด์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของดอร์โนก็อฟ ที่มีความหมายที่น่าตลกว่า บ่อน้ำดี ภูมิประเทศเท่าที่เห็นจากสถานีรถไฟโดยรอบเป็นหินสีน้ำตาลธรรมชาติ และมีลักษณะตะคุ่มๆแบบภูเขาไฟ จากแสงไฟของสถานีแลเห็นเนินทรายเป็นหย่อมๆ รถจอดอยู่ที่นี่ประมาณสิบห้านาที ก่อนที่จะเดินทางต่อไปเมืองซามินอู๊ด (Zamyn Und) ซึ่งเป็นสถานีที่ผู้โดยสารต้องกรอกแบบฟอร์มให้เจ้าหน้าที่ด่านภาษีอากรและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของมองโกเลีย

ที่สถานีเออร์เลียน (Erlian) หลักกิโลเมตรที่ ๘๔๒ นับจากปักกิ่งที่เริ่มด้วยศูนย์ซึ่งเป็นชายแดนของประเทศจีน ผู้โดยสารต้องกรอกแบบฟอร์มอีกครั้งหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนซึ่งขึ้นรถไฟมาตรวจดูหนังสือเดินทาง พร้อมกับตรวจค้นใต้เตียง ในตู้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัสเซียเมื่อสองคืนก่อน เจ้าหน้าที่ชาวจีนคนที่ขึ้นมาตรวจไม่สุภาพเหมือนชาวจีนคนอื่นที่ฉันเคยได้พบ ทำให้นึกอยากจะเขียนจดหมายร้องเรียนไปถึง “Powers that be” คนใหญ่คนโตในรัฐบาลจีนเป็นกำลัง

“ถึงแม้ว่าจะตรวจหนังสือเดินทางเสร็จแล้ว รถก็ยังออกไม่ได้หรอกนะ” สามีพูดขึ้น “เพราะเขายังต้องเอารถเข้าไปจอดสถานีเก็บรถเพื่อเปลี่ยนโบกี้อีกน่ะสิ” เขาอธิบายในฐานะที่เคยเป็นวิศวกรมาก่อน “ทางรถไฟรัสเซียและมองโกเลียมีความกว้างถึงห้าฟุต ซึ่งกว้างกว่าทางรถไฟที่ใช้ทั่วโลกที่อื่นเล็กน้อย เพราะฉะนั้นรถไฟที่เรานั่งมาจะต้องเปลี่ยนโบกี้ให้มีความกว้างเหมาะสมกับทางรถไฟของประเทศจีน เดี๋ยวคอยดูเอาก็แล้วกัน”

อีกไม่นาน รถไฟก็วิ่งเข้าไปจอดที่สถานีบำรุงรถ ผู้โดยสารไม่จำเป็นจะต้องลง หากจะลงเขาก็ไม่ห้าม แต่จะขึ้นกลับเข้ามาใหม่ไม่ได้ จนกว่าการเปลี่ยนขบวนรถจะแล้วเสร็จ ฉันเห็นเขายกรถโบกี้แต่ละคันขึ้นมา มีคนลอดเข้าไปข้างใต้ทำอะไรต่ออะไรกันง่วน แล้วก็วางรถกลับที่เดิม แล้วก็ถึงตาโบกี้ของรถฉันบ้าง รู้สึกว่าโบกี้รถถูกยกขึ้นสูงแล้วก็ถูกจับวาง วิธีการของเขาทำด้วยความชำนาญรวดเร็วมาก แต่หากว่าขบวนรถไฟยาวเหยียดกว่าจะเสร็จก็ใช้เวลานานโข กว่าจะได้นอนก็เป็นเวลาดึกมากแล้ว

เตรียมตัวดูกำแพงเมืองจีน

จากพรมแดนเมืองเออร์เลียน รถไฟใช้เวลาวิ่งอีก ๑๓ ชั่วโมงกว่าจะถึงสถานีปลายทางที่กรุงปักกิ่ง รถวิ่งผ่านมองโกเลียในซึ่งอยู่ใต้การปกครองของประเทศจีนและมีเมืองหลวงชื่อว่า โฮฮท (Hohot) ในขณะที่เมืองหลวงของมองโกเลียนอกคือ อูลาน บาทาร์ ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งแยกจากโซเวียตและมีอิสระปกครองตนเอง ด้วยเหตุที่มองโกเลียในมีทุ่งหญ้าเขียวชอุ่มในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน จึงได้รับการขนานนามว่า Grassy Steppe แต่ด้วยความเป็นจริงแล้วทั้งมองโกเลียนอกและมองโกเลียในต่างมีภูมิประเทศไม่แตกต่างกันสักเท่าไร

รถไฟมาจอดที่สถานีต้าทอง (Datong) หลักกิโลเมตรที่ ๓๗๑ ในมณฑลชานชี (Shanxi) ประเทศจีน ประมาณเจ็ดโมงครึ่งตอนเช้า สถานีต้าทองปกคลุมไปด้วยฝุ่นดำจากถ่านหินที่ปลิวว่อนอยู่ทั่วไป มณฑลชานชีเป็นแหล่งที่เคยศิวิไลซ์ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยโบราณ หลังจากที่ฮ่องเต้จิ้นสือ (Qin Shihuangte) ได้รวบรวมประเทศจีนได้แล้วในปีศตวรรษที่ ๒๒๑ ก่อนพระเยซูสวรรคต คือ 221 BC ชานชีก็ได้กลายเป็นป้อมปราการที่แข็งแรงสำหรับต่อต้านศัตรูที่บุกรุกมาจากทางเหนือถึงแม้จะมีกำแพงเมืองที่แข็งแรงแต่พวกศัตรูก็ยังสามารถบุกทะลวงผ่าเข้ามาได้ และใช้ชานชีเป็นฐานทัพ

ต้าทองเป็นเมืองหลวงของชานชี และเป็นเมืองอุตสาหกรรม นักท่องเที่ยวมาที่นี่ก็เพื่อชมถ้ำของวัดหยุนกั๊งที่ขุดจากหน้าผาของภูเขาอู๋โจ๊ว ภายในถ้ำบรรจุพระพุทธรูปถึงห้าหมื่นรูปซ้อนเป็นชั้นๆ รถไฟจอดเป็นเวลา ๑๐ นาที แล้วก็แล่นต่อไป

ทิวทัศน์ช่วงนี้สวยขึ้นด้วยเห็นเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทาง ที่หลักกิโลเมตรที่ ๓๐๐ นับจากปักกิ่ง รถไฟเริ่มเข้ามณฑลเหือไป๋ (Hebei) และไต่เขาขึ้นไป กำแพงเมืองจีนค่อยๆปรากฏให้เห็นในส่วนนี้ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๒๙๕ และ ๒๗๕ เจ้าม้าเหล็กไปจอดอีกครั้งหนึ่งที่สถานีจังจ้าโก๊ว (Zhangjiakou) ที่หลักกิโลเมตรที่ ๑๙๓ ซึ่งเคยเป็นประตูให้คาราวานที่บรรทุกชาได้ผ่านเข้ากำแพงเมืองหลังจากที่ผ่านสถานีแห่งนี้แล้ว รถยิ่งไต่ทางที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนข้ามแม่น้ำที่หลักกิโลเมตรที่ ๙๙ ในช่วงนี้วิวของเทือกเขาสวยเป็นพิเศษเพราะล้อมรอบบริเวณที่เป็นน้ำ จึงทำให้แหล่งนี้ดูอุดมสมบูรณ์แลเห็นพรรณไม้ในเรือกสวนไร่นาอยู่ทั่วไปรถไฟลอดอุโมงค์หลายแห่งและเมื่อลอดออกมาครั้งใดก็แลเห็นกำแพงเมืองเป็นช่วงๆ

รถเสบียงเปิดให้บริการอาหารกลางวันเวลาสิบเอ็ดโมง เราสองคนจึงไปยืนรอก่อนห้านาทีเพราะรู้ว่ารถเสบียงจะต้องแน่นแน่ เพราะสังเกตตอนที่ไปกินอาหารเช้า มีผู้โดยสารนั่งกันเกือบเต็มและก็จริงดังคาด พอไปนั่งไม่ทันไรผู้โดยสารคนอื่นก็ทยอยกันเข้ามาจนเต็ม อาหารที่เสิร์ฟเป็นอาหารจีนธรรมดาๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ มีพ่อลูกชาวอังกฤษคู่หนึ่งที่เคยพบที่ทะเลสาบไบข่าล แต่ไม่ได้คุยกันในตอนนั้น เข้ามาขอร่วมโต๊ะด้วยลูกสาวบอกว่าจะเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในจีนสักระยะหนึ่งก่อนจะเดินทางกลับอังกฤษ ส่วนตัวพ่อเมื่อได้ไปปักกิ่งแล้วจะเดินทางกลับโดยทิ้งลูกสาวไว้คนเดียว ถามว่าพูดภาษาจีนกลางได้หรือไม่ เขาตอบว่าไม่ได้ รู้สึกว่าเขาไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรที่จะเดินทางแบบ Backpacker ในเมืองจีนซึ่งไม่นิยมให้มีนักท่องเที่ยวประเภทนี้สักเท่าไร

รถไฟไปจอดที่สถานีก้านจ้วง (Kanzhuang) ที่หลักกิโลเมตรที่ ๘๒ ก่อนจะถึงกรุงปักกิ่งเพื่อเปลี่ยนหัวจักรให้ใหญ่ขึ้นจะได้มีกำลังดึงขึ้นเขา ในที่สุดก็ไปจอดที่สถานีฉิงหลองเฉา (Qing long Qiao) ที่หลักกิโลเมตรที่ ๗๐ เหนือสถานีเป็นกำแพงเมืองบาดาลิ่ง (Badaling) ทุกคนรีบลงจากรถเพื่อไปถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก สถานีหนานโก๊ว (Nankou) เป็นสถานีสุดท้ายก่อนที่รถไฟจะแล่นเข้าเทียบชานชาลาที่กรุงปักกิ่ง

เมืองหลวงของจีน

ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

ชานชาลาสถานีรถไฟของกรุงปักกิ่งโอ่โถงเหมาะสำหรับเป็นสถานีของเมืองหลวงแต่ชานชาลาสถานีว่างวายเกือบจะปราศจากผู้คนเพราะนอกจากผู้โดยสารรถไฟแล้ว คนอื่นไม่ได้รับอนุญาตให้ล่วงล้ำเข้ามา นอกจากจะมีตั๋วพิเศษ การก่อสร้างสถานีด้านนอกยังไม่เสร็จทีเดียวแต่ก็ไม่ทำให้ผู้ที่เดินทางมาถึงเดือดร้อนเท่าไรเราสองคนลากกระเป๋าออกไปนอกตัวตึก เห็นคนมารับโบกมือหย็อยๆ ชายและหญิงชาวจีนผู้มารับเป็นพนักงานในเครือหนึ่งของบริษัทที่สามีเคยควบคุม ในสมัยที่เขายังเป็นประธานกรรมการผู้จัดการซีอีโอ โรงแรมที่ไปพักคือโรงแรมจิ๊งกั๋ว (Jinggou Hotel) ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับสถานทูตอเมริกัน และไม่ไกลจากโรงแรม Great Wall ที่เคยมาพักแล้วหลายครั้ง ทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับไปเยือนบ้านเก่า แม้ว่าจะเป็นโรงแรมสี่ดาวแต่โรงแรมจิ๊งกั๋วมีบรรยากาศชวนให้นึกถึงโรงแรมแรฟเฟิ่ลที่สิงคโปร์หรือโรงแรมโอเรียนเต็ลของกรุงเทพฯในสมัยก่อน ตอนที่นั่งดื่มเครื่องดื่มในล็อบบี้ฉันสังเกตแขกที่มีชื่อเสียงหน้าตาคุ้นๆหลายคน

เย็นวันที่ไปถึง ผู้จัดการสาขาปักกิ่งที่เคยทำงานให้กับสามีก็มาต้อนรับ เชิญไปทานอาหารเย็นแบบกวางตุ้งในโรงแรมนั่นเองพร้อมกับบอกว่าวันรุ่งขึ้นจะส่งรถและคนขับมารับไปกำแพงเมืองจีน

วันรุ่งขึ้นไกด์ก็มาถึงพร้อมรถและคนขับเพื่อพาไปส่งที่กำแพงเมืองบาดาลิ่ง ที่รถไฟผ่านมาเมื่อวาน กำแพงเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงปรับปรุงผิดไปกว่าของเดิม ฉันและสามีไต่บันไดขึ้นไปจนถึงยอด แต่ไม่ได้ไป “ซื้อ” รางวัลไว้เป็นที่ระลึกเช่นนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ หากวิญญาณของฮ่องเต้จิ๋นสือผู้สร้างกำแพงได้ล่วงรู้ คงจะตกพระทัยตายอีกคำรบหนึ่งที่กำแพงมหึมาที่อุตส่าห์สร้างไว้และเห็นได้จากยานอวกาศถูก “บุกรุก” โดยศัตรูหลายชาติหลายภาษา โดยมีเสื้อยืดที่มีข้อความว่า “ฉันเคยพิชิตกำแพงเมืองจีน” มาแล้วเป็นรางวัลที่จะต้อง “ซื้อ”

หลังอาหารกลางวันในเมืองเราขอให้รถพาไปส่งที่จัตุรัสเทียนอันเหมินแทนที่จะไปทัศนาจรที่อื่นๆเพราะไปมาหมดแล้ว วันนั้นอยากจะไปเดินเล่นอย่างเดียว อากาศดีมากมีแสงแดดแจ่มใส จัตุรัสเทียนอันเหมินเต็มไปด้วยผู้คนที่มาหย่อนใจ นาฬิกาใหญ่ที่ติดไว้หน้าห้องโถง แจ้ง ปี เดือน วัน ชั่วโมง นาที และวินาที ก่อนจะถึงเวลาการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ.๒๕๐๘ เฉกเช่นเดียวกับในสมัยที่ประเทศจีนกำลังรอคอยการคืนสู่มาตุภูมิของฮ่องกงและมาเก๊า

ตอนบ่ายก็พากันไปเที่ยวตลาดผ้าไหมที่อยู่ใกล้โรงแรมที่พัก ไม่ได้ซื้ออะไร ได้แต่เดินไประลึกถึงความหลังยามที่พักอย่างร่มเย็นเป็นสุขอยู่ที่เมืองจีนมานานกว่าหกปี

“คุณรู้สึกไหมว่า ปักกิ่งสะอาดและมีระเบียบขึ้นมากกว่าเมื่อสองปีก่อน ตอนนี้เราไม่ต้องหายใจสูดเอาฝุ่นและอากาศที่ไม่บริสุทธิ์เข้าปอดมากนัก” สามีชวนคุยในขณะที่เดินกันไปเรื่อยๆตามทางเท้า

“จริงด้วย เมื่อก่อนจะเดินก็ต้องก้มๆเงยๆเพราะทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ ไหนจะร้อนไหนจะฝุ่น กลับที่พักแล้วต้องอาบน้ำอีกต่างหากตอนนี้สบายจังเลย” สามีเห็นด้วยเพราะระลึกถึงคราวที่ไปเมืองจีนครั้งแรกเมื่อสิบปีเศษๆตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะต้องย้ายตามสามีไปอยู่เมืองจีน เลยรีบไปเที่ยวเสียก่อน ด้วยเกรงว่านานไปจะมีคนไปเที่ยวมาก จำได้ว่าช่วงนั้นปักกิ่งสกปรกมาก มาเดี๋ยวนี้ประเทศจีนตื่นตัวขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่กำลังเตรียมตัวจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ทุกอย่างจึงต้องเนี้ยบไปหมด ชาวจีนมีความภาคภูมิใจในความเป็นจีนของเขามาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าจีนจะไปใช้อำนาจระรานหรือรบกับใคร เขาต้องการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุ่งเรืองเหนือสิ่งอื่นใด แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลจีนไม่ประชาสัมพันธ์ตนเองเท่าที่ควร ว่าได้ทำอะไรให้คนในประเทศไปแล้วบ้าง ชาวโลกโดยเฉพาะชาวตะวันตกจึงมักจะมองจีนไปในแง่ลบเป็นส่วนใหญ่