ขี่ม้าเหล็กข้าม ไซบีเรีย ตอนที่6

ทะเลสาบไบข่าล (Baikal)

วันรุ่งขึ้นอากาศไม่สู้แจ่มใสเหมือนวันก่อน แต่ก็มีแสงแดด หลังอาหารเช้าตอนสายฉันและสามีเช็คเอ๊าท์จากโรงแรม ยูจีนมารับไปดูหมู่บ้านลิสท์วิยานก้า เริ่มด้วยโบสถ์นิกายออโธด๊อกซ์เซนต์นิโคลาสเป็นแห่งแรกสิ่งที่แปลกของโบสถ์ก็คือภายในไม่ได้มีไฟฟ้าแต่ก็สว่างไปด้วยแสงแดดที่ส่องลอดเข้ามาทางหน้าต่าง

“โบสถ์แห่งนี้สร้างโดยพ่อค้าคนหนึ่ง” ยูจีนเล่า “เขาต้องการขอบคุณเซนต์นิโคลาสที่ช่วยให้รอดชีวิตมาได้จากเรือที่อัปปางในทะเล” แม้ว่าจะเป็นโบสถ์เล็กๆแต่ฉันก็ชอบเพราะไม่ขรึมขลังเช่นโบสถ์นิกายออโธด๊อกซ์ ส่วนใหญ่ที่เห็นมาหลายต่อหลายแห่ง ฉันเดินไปจุดเทียนบูชาพระตามเคย ขอพรให้พระผู้เป็นเจ้าทรงคุ้มครองให้เดินทางไปบนทางรถไฟทรานไซบีเรียอย่างปลอดภัยและราบรื่นจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่ฮ่องกง “ผมอยากให้แวะไปดูพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำกันสักหน่อย ไหนๆเราก็ได้มาถึงทะเลสาบไบข่าลกันแล้ว” ยูจีนใช้คำว่า Baikal Ecological Museum

แผนผังตลอดจนวิดีโอที่แสดงถึงชีวิตสัตว์น้ำแปลกๆน่าสนใจพอสมควร มีแผนที่โดยละเอียดเกี่ยวกับทะเลสาบให้ดู ทำให้รู้ว่าน้ำในทะเลสาบใสสะอาดดื่มได้ เพราะมีเครื่องกรองธรรมชาติใต้น้ำคือสัตว์ที่มีเปลือกแข็งตัวกระจิ๋วหลิวเป็นล้านๆตัว เรียกว่า เอพิชูร่า (Epishura) ซึ่งกรองน้ำให้ใสสะอาด นอกจากนั้นแล้วยังเป็นทะเลสาบแห่งเดียวที่มีแมวน้ำจืดอาศัยอยู่ ภายใต้ท้องน้ำมีฟองน้ำชนิดหนึ่งเรียกว่า สปันช์ (Sponge) ซึ่งเป็นชนิดเดียวในโลกที่ใช้ขัดถูเครื่องเงินให้เงางามได้อีกต่างหาก

“มิน่าถึงได้เห็นผู้ชายคนหนึ่งเดินไปที่ชายฝั่ง แล้วเอาขวดกรอกน้ำเข้าไปในร้านกาแฟ ยังนึกในใจว่าเขาจะเอาน้ำสกปรกนี่ไปชงกาแฟให้ลูกค้าดื่มหรืออย่างไร ไม่ทันนึกว่า น้ำในทะเลสาบสะอาดดื่มได้โดยไม่ต้องกรอง” ฉันหันไปพูดกับสามี

พอเล่าให้ยูจีนฟัง เขาก็บอกว่ามีบางแห่งเหมือนกันที่น้ำสกปรก เพราะเกิดจากที่มีโรงงานปล่อยน้ำเสียลงในทะเลสาบ แต่เป็นบริเวณน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับความใหญ่โตของทะเลสาบ ผลกระทบกระเทือนกับคุณภาพของน้ำจึงมีไม่เท่าไร ตึกอีกแห่งหนึ่งสร้างเป็นตู้ปลากระจกใหญ่ (Aquarium) เห็นปลาชนิดต่างๆว่ายวนไปมา มีแมวน้ำเชื่องอยู่ตัวหนึ่งพอมีคนเดินผ่านมาเจ้าแมวน้ำไลค่าก็จะว่ายเข้ามาใกล้ๆเอาหัวชนตู้ทักทายอย่างน่ารัก ก่อนจะว่ายโฉบไปโฉบมาเพื่ออวดโฉมตัวเอง

โชเฟอร์ขับรถขึ้นไปบนจุดชมวิวซึ่งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆในบริเวณโรงแรมไบข่าล ซึ่งสูงเหนือทะเลสาบประมาณ ๔๐๐ เมตร บนจุดที่ยืนไม่มีสิ่งใดมาปิดบังสายตาจึงแลเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบ

“ทะเลสาบไบข่าลได้ชื่อว่าเป็น ‘ไข่มุกแห่งไซบีเรีย’ เป็นทะเลสาบที่มีน้ำสีฟ้าสดใสดังแก้วเจียระไน ริมฝั่งล้อมรอบไปด้วยหินและหน้าผาที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ทั่วไป อย่างที่คุณเห็น” ยูจีนชี้มือไปรอบๆ เขาบอกว่า หมู่บ้านลิสท์วิยานก้าที่เป็นที่ตั้งโรงแรมที่พักของเราเต็มไปด้วยกระท่อมไม้เล็กๆสีสวยที่เราได้เห็นเมื่อวานนี้สัตว์น้ำส่วนใหญ่ที่อยู่ในทะเลสาบ จะไม่เห็นที่ใดในโลกนอกจากที่นี่ มีสัตว์ปีกเช่นนกหลายชนิดอาศัยอยู่ในแถบนี้แต่หายากในที่อื่น มีกวางชนิดต่างๆและที่ไม่ควรลืมก็คือตัวเซเบิ้ล (Sable) ซึ่งเป็นสัตว์ที่หาได้เฉพาะในไซบีเรียเท่านั้นหลายคนคงจะรู้จักเสื้อหนาวขนเซเบิ้ล ซึ่งมีขนหนาหนักอ่อนนุ่มน่าจับต้อง เป็นสีน้ำตาลแก่และขายได้ราคาแพงสุดสุด เพราะความสวยของขนมันนี่แหละทำให้มนุษย์ฆ่ามันตายเป็นเบือเพื่อจะได้ขนมาทำขายเป็นเสื้อ ฆ่ากันจนแทบจะสูญพันธุ์เลยทีเดียว กว่าจะมีกฎหมายห้ามและต้องเริ่มเลี้ยงกันขึ้นใหม่ แต่เดี๋ยวนี้ขนเซเบิ้ลที่มีขายทั่วไปมาจากฟาร์มเลี้ยง สีของเซเบิ้ลจะคงเป็นสีน้ำตาลแก่หรือมีสีออกไปค่อนข้างดำโดยไม่เปลี่ยนทั้งปี ซึ่งผิดกับขนของสัตว์บางชนิด

“ทะเลสาบไบข่าล มีรูปร่างเหมือนกล้วยหอมอย่างที่คุณเห็นในรูปที่พิพิธภัณฑ์มีความยาวถึง ๖๓๖ กิโลเมตรจากเหนือจดใต้แต่กว้างเพียง ๖๐ กิโลเมตรเท่านั้น เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ลึกที่สุดในโลก ส่วนลึกที่สุดอยู่ทางฝั่งด้านตะวันตกซึ่งลึกถึง ๑,๖๓๗ เมตร ด้วยเหตุนี้จึงมีน้ำจืดเป็นเศษหนึ่งส่วนห้าของน้ำจืดทั้งหมดในโลก มากกว่าทะเลสาบใหญ่ทั้งห้าแห่งของอเมริกาเหนือรวมกัน ใครที่กล้าหาญชาญชัยลงไปว่ายน้ำเล่นในทะเลสาบ ซึ่งมีน้ำที่มีอุณหภูมิไม่เคยสูงกว่า ๑๕ องศาเซลเซียสอาจจะเกิดการวิงเวียนจนทนไม่ได้ เพราะสามารถแลเห็นน้ำใสลึกได้ถึง ๔๐ เมตร” ยูจีนอธิบายยาวเหยียดเมื่อเห็นเราสองคนยืนฟังตาแป๋ว

“ในฤดูหนาวทะเลสาบไบข่าลกลายเป็นน้ำแข็งหมด เพราะอุณหภูมิลดลงถึงกว่าลบ ๒๕ องศาเซลเซียส ทำให้การเดินทางโดยรถสะดวกมาก เพราะแม้ว่าบ่อน้ำหรือร่องน้ำจะไม่มีสะพานรถก็สามารถวิ่งข้ามได้ แถมที่ไหนเป็นหลุมเป็นบ่อหิมะก็จะกลบจนแข็งอีกต่างหาก ทำให้ไม่ขรุขระ ทิวทัศน์ก็สวยขึ้น เพราะมองไม่เห็นความสกปรกของเส้นทาง”

“แล้วหิมะเริ่มละลายเมื่อไหร่คะ?” ฉันถาม

“ในเดือนเมษายนต่อพฤษภาคมช่วงนั้นเป็นอันตรายสำหรับรถที่จะวิ่งไปมาเพราะน้ำแข็งเริ่มจะบางลง อาจจะยุบตัวเมื่อไรก็ได้ นอกจากนั้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนยังมีแมลงที่เป็นพาหะของโรคเท้าช้างส่วนเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม มียุงชุมกว่าจะหมดก็เดือนสิงหาคม พอถึงเดือนตุลาคมป่าไม้จะกลายเป็นสีทองสวย และอุณหภูมิก็กำลังดี แต่ว่าฤดูหนาวจะมาถึงเร็วกว่าที่อื่นสักหน่อย” ยูจีนอธิบายสภาพดินฟ้าอากาศให้ฟัง

หลังจากจุดชมวิว โชเฟ่อร์พารถวิ่งไปตามถนนสายเก่าที่เราเดินทางมาจากเมืองเอียร์คุทซ์ค เขาจอดในที่แห่งหนึ่ง ยูจีนชี้ให้ดูแม่น้ำและบอกว่า เป็นจุดที่แม่น้ำอังการ่า (Angara) ไหลมาบรรจบกับทะเลสาบไบข่าล ก่อนที่จะไหลลงไปในทะเลสาบ มีเขื่อนซึ่งสร้างตั้งแต่ ๕๐ ปีมาแล้ว ตั้งอยู่ด้วย

เรามาถึงเอียร์คุทซ์คตอนบ่ายโมงยูจีนพาไปเช็คอินที่โรงแรม Sun ซึ่งเป็นโรงแรมสี่ดาวโรงแรมเดียว เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากสนามบินนัก แขกที่มาพักส่วนใหญ่จึงเป็นนักธุรกิจจากต่างประเทศ ใกล้ๆกันมีอาคารให้เช่าสำหรับแสดงนิทรรศการสินค้าหลายแห่ง โรงแรมซันเป็นโรงแรมใหม่สะอาดสะอ้านโอ่โถงพนักงานต้อนรับสุภาพ เหนือสิ่งอื่นใดมีห้องอาหารหรูที่มีอาหารอร่อยกับมีไวน์แซลเลอร์ที่ค่อนข้างใหญ่มีไวน์ให้เลือกมากพอสมควร

เมืองหลวงของไซบีเรีย

เอียร์คุทซ์คเป็นเมืองหลวงของไซบีเรียนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางโดยรถไฟสายนี้จากมอสโกมักจะมาหยุดพักกันที่นี่หลังจากที่ได้นั่งรถไฟมาแล้วสี่วันสี่คืนเต็มๆ มีไม่กี่คนที่จะนั่งต่อไปจนถึงมองโกเลียหรือจีน รถไฟสายใหญ่ๆสายอื่น ไม่ว่าจะเป็น Trans-Manchurian ทรานส์แมนจูเรียน หรือ Trans-Mongolian ทรานส์มองโกเลียน ต่างก็วิ่งมาจากมอสโกโดยใช้เส้นทางเดียวกัน คือผ่านเทือกเขาอูราลเข้าไปในไซบีเรียตะวันตกผ่านข้ามแม่น้ำเยนิเซ่ (Yenisey) จนถึงเอียร์คุทซ์คที่อยู่ทางตะวันออกของไซบีเรีย

ในวันที่ห้าหลังจากที่วิ่งอ้อมไปทางด้านใต้ของทะเลสาบไบข่าลแล้ว รถไฟสายทรานส์มองโกเลียนจะแยกลงใต้ถึงพรมแดนประเทศมองโกเลียที่อยู่ห่างเอียร์คุทซ์คไปประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร ส่วนรถไฟสายแมนจูเรียนจะวิ่งในเส้นเดิมต่อไปอีกประมาณ ๑๒ ชั่วโมง ผ่านทะเลสาบไบข่าล ก่อนที่จะเลี้ยวแยกลงไปพรมแดนประเทศจีนที่อยู่ออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้อีกประมาณ ๓๖๘ กิโลเมตร

รถไฟสายทรานส์แมนจูเรียนนี้จะวิ่งผ่านเมืองชิต้า (Chita) ไปจนถึงเมืองวลาดิวอสต๊อค (Vladivostok) เป็นระยะทางนับจากมอสโกได้ ๙,๒๕๙ กิโลเมตร หากต้องการต่อไปเมืองฮาร์บิน (Harbin) ทางทิศเหนือของประเทศจีนก็จะต้องเปลี่ยนรถไฟไปอีกสายหนึ่ง (เรื่องเมืองฮาร์บินฉันได้เคยเล่าแล้วในเรื่อง จากหิมะและน้ำแข็งด้วยความรัก) ส่วนรถไฟสาย Trans-Mongolian ทรานส์มองโกเลียน จะวิ่งผ่านเมืองอูลานอูเด (Ulan Ude) ไปหยุดที่เมืองอูลาน บาทาร์ (Ulaan Bataar) เมืองหลวงของมองโกเลียนอกก่อนจะไปถึงกรุงปักกิ่ง (เรื่องของมองโกเลียนอกฉันก็เคยเล่าแล้วเช่นกันในเรื่อง ดินแดนของกษัตริย์เจงกิสข่าน)

รถไฟชั้นดีของรัสเซียเรียกว่าเฟิร์มเมนยา เพิซดี (Firmennye Poezdy) แต่ละขบวนจะมีชื่อเช่น Rossiya ที่เราโดยสารมา โบกี้จะสะอาด มีสภาพดี และมีการบำรุงรักษาอยู่เสมอ บนระเบียงของรถจะมีตารางเวลาเข้าและออกของรถไฟไว้ให้ดู รวมถึงชื่อสถานีที่รถจะจอด แม้ว่าจะเป็นภาษาซิริลลิค (Cyrillic) ก็ตาม พนักงานในโบกี้ (Provodnitsa/Provodnik) ก็สุภาพเรียบร้อย จึงอดไม่ได้ที่จะต้องแปลกใจ ด้วยเหตุที่เคยอ่านเกี่ยวกับความร้ายกาจของพนักงานรถไฟไว้มาก แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นอาจจะเป็นเพราะเราโดยสารมาในรถชั้นหนึ่งก็เป็นได้ จึงได้รับความสะดวกสบายและการดูแลอย่างดีเยี่ยม

เอียร์คุทซ์คกลายเป็นเมืองที่สำคัญทางด้านการปกครองและด้านการค้า เมื่อสินค้าจำพวกขนสัตว์และงาช้างได้ถูกส่งเข้าไปขายยังประเทศมองโกเลีย ทิเบต และจีน โดยแลกกับสินค้าประเภทชาและผ้าไหม ประกอบกับเป็นศูนย์กลางที่นักการเมืองที่มีชื่อเสียงได้ถูกเนรเทศมาอยู่ที่นี่ ในศตวรรษที่ ๑๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปฏิวัติชาวโปแลนด์และที่เรียกกันว่าดีเซมบริสท์ (Decembrists) พวกที่ถูกเนรเทศหมู่นี้ได้รับการจัดระดับให้เป็นขุนน้ำขุนนางของเมือง ด้วยเป็นผู้มีความรู้ดี จึงได้จัดระบบการศึกษาขึ้นใหม่ วางรากฐานในด้านศิลปะ และปลุกความรู้สึกในด้านการเมืองให้กับชาวเมือง

เมื่อทองถูกขุดพบใน ค.ศ.๑๘๘๐ เอียร์คุทซ์คก็เริ่มพัฒนา พวกเศรษฐีต่างก็สร้างตึกรามบ้านช่องหรูหรา บางแห่งยังคงมีเหลือเอาไว้ให้เห็น ร้านรวงต่างๆมีสินค้าฟุ่มเฟือยวางขาย จนเอียร์คุทซ์คถูกขนานนามว่าเป็นกรุงปารีสของไซบีเรีย

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในรัสเซีย ชาวเมืองจึงไม่สู้จะยินดีด้วยนักเพราะมีความเป็นอยู่ที่ดีอยู่แล้ว แต่ในที่สุดก็ต้องยอมพ่ายแพ้ต่อระบบคอมมิวนิสต์ที่แผ่ขยายมาแรงจนถึงดินแดนแห่งนี้ใน ค.ศ.๑๙๒๐

ยูจีนพาเราสองคนไปชมเมืองเก่าซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของวิหาร (Annunciation) แต่ได้ถูกทำลายในระหว่างสงครามกลางเมืองปัจจุบันกลายเป็นที่ว่าการจังหวัด ถัดไปเป็นโบสถ์ของชาวโปแลนด์ Polish Church สร้างโดยพวกที่ถูกเนรเทศมาอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ได้กลายเป็นที่แสดงคอนเสิร์ตในฤดูร้อนไปแล้ว

อาราม ซนาเมนสกี้ (Znamensky) ซึ่งสร้างขึ้นใน ค.ศ.๑๗๖๓ และได้รับการบูรณะจากแม่ชีที่ถูกเนรเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีเรื่องราวเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ต่างๆเล่ากันมากมายแต่ที่ฉันเห็นว่าน่าสนใจก็คือ ภายในบริเวณวิหารแห่งนี้เป็นหลุมฝังศพของผู้มีชื่อเสียงที่ทำคุณประโยชน์ให้เมืองมากมาย เช่น นายกรีกอรี่ เชเลคอฟ (Grigory Shelekhov) และเจ้าหญิงทรูเบทส์คาย่า (Princess Trubetskaya) พร้อมลูกทั้งสามคน หรือมารีย่า วอลคอนสคาย่า (Maria Volkonskaya) ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น Princess of Siberia นายกรีกอรี่เป็นพ่อค้าและนักสำรวจในคนเดียวกันได้นำลูกน้องเดินทางข้ามช่องแคบแบริ่ง (Bering Strait) ไปจนถึงอลาสก้านำความรุ่งเรืองในทางการค้ามาให้กับเมือง แต่อายุสั้นตายเมื่ออายุได้เพียงสามสิบเท่านั้นเองส่วนเจ้าหญิงทรูเบทส์คาย่านั้นเล่า ก็ได้ติดตามสามีคือ นายเซอร์เก ทรูเบทส์คาย่า เมื่อเขาถูกเนรเทศจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปไซบีเรีย เล่าขานกันว่าเธอได้นั่งรถม้าเป็นระยะทางถึง ๖,๐๐๐ กิโลเมตร เพื่อไปค้นหาสามีที่เหมืองที่ขุดแร่เงิน ในใจกลางไซบีเรียเช่นเดียวกับ มารีย่าวอลคอนสคาย่า หรือที่เรียกกันว่า Princess of Siberia ที่ได้ติดตามสามีที่ถูกเนรเทศเช่นกัน ระหว่างที่พำนักอยู่ที่ไซบีเรียเธอได้สร้างโรงพยาบาล จัดให้มีโรงละครขึ้น จัดให้มีการแสดงดนตรีภายในบริเวณที่พักของเธอเองหญิงเหล่านี้เคยอยู่ในวงสังคมชั้นสูงในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่ก็ได้เสียสละความสะดวกสบายเพื่อติดตามสามีไปอยู่ในที่กันดารแทนที่จะเสวยสุขอยู่ตามลำพังในเมืองที่เจริญจึงได้รับการยกย่องจากชาวเมือง

วันรุ่งขึ้นฉันชวนสามีไปดูบ้านของสุภาพสตรีทั้งสองที่ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ชวนให้ซาบซึ้งถึงความรักและความจงรักภักดีของภรรยาต่อสามี ในบ้านยังคงรักษาเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไม้สอยเอาไว้อย่างดี มีรูปภาพในค่ายที่เป็นที่พำนักของทั้งสามีที่ถูกเนรเทศ และของภรรยาที่อยู่แยกจากกันต่างหาก ในความกันดารแห้งแล้งของไซบีเรียในสมัยนั้นให้ดูด้วย

การเคลื่อนไหวของคณะผู้ก่อการดีเซ็มบริสท์ (Decembrists) เกิดขึ้นในสมัยที่พระเจ้าซาร์อเล็กซารเดอร์ ที่ ๑ ยังทรงครองราชย์คณะนายทหารหนุ่มผู้ดีที่มีการศึกษาต้องการเรียกร้องให้เปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นแบบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข และยกเลิกการมีทาส แต่พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากกลุ่มอื่นนอกจากพรรคพวกในกลุ่มปัญญาชนของตนเองในจำนวนนี้มีสมาคมในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเรียกว่า คณะกลุ่มชาวเหนือ The Northern Society ได้ฉวยโอกาสยุยงนายทหารกลุ่มที่ต้องการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ยึดอำนาจมาจากซาร์นิโคลาส ที่ ๑ ซึ่งได้รับสถาปนาให้เป็นรัชทายาทสืบต่อจากซาร์อเล็กซานเดอร์ ที่ ๑ ภายหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตใน ค.ศ.๑๘๒๕

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันให้สัตย์ปฏิญาณตน แทนที่จะไปเข้าเฝ้า พวกเขากลับบุกเข้ายึดที่ตั้งวุฒิสภา แต่ไม่สำเร็จเพราะไม่ได้วางแผนไว้อย่างรอบคอบ จึงถูกจับกุมโดยกองทัพทหารที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าซาร์ การต่อสู้ดำเนินไปเพียงวันเดียวก็ยุติ มีหลายคนถูกยิงตาย และบาดเจ็บ ส่วนพวกกบฏที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ถูกเนรเทศ ไปจำขังไว้ที่ไซบีเรีย แทนการประหารชีวิต เพราะซาร์นิโคลาสไม่ทรงต้องการให้มีการนองเลือดเกิดขึ้นในระยะแรกของการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ นายทหารเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า คณะก่อการดีเซ็มบริสท์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของชาวเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภรรยาของพวกเขาติดตามสามีไปอยู่ในไซบีเรียด้วย คณะผู้ก่อการดีเซ็มบริสท์ได้รับนิรโทษกรรม หลังจากที่ซาร์นิโคลาส ที่ ๑ เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.๑๘๕๕ ส่วน Princess of Siberia หรือมารีย่าวอลคอนสคาย่า เดินทางกลับไปพำนักอยู่ที่บ้านเดิม คือ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่มาดามทรูเบทส์คาย่าเสียชีวิตก่อนหน้านี้ ๓ ปี เธอและลูกๆอีก ๓ คน จึงถูกฝังอยู่ที่อารามซนาเมนส์กี้ มีโบสถ์อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โบสถ์ Raising of the Cross ที่เปิดให้ผู้เคร่งศาสนาได้เข้าไปสวดภาวนาในระหว่างการปกครองแบบโซเวียตคอมมิวนิสต์ ในขณะที่โบสถ์ส่วนใหญ่ถูกปิด ยอดแหลมของโบสถ์เห็นได้แต่ไกลจากรถไฟสายทรานไซบีเรีย

ใกล้ๆท่าเรือมีเรือที่ใช้แหวกน้ำแข็งให้เป็นช่องให้เรือโดยสารผ่านได้ Icebreaker ชื่อ Angara ลำนี้เคยใช้บรรทุกผู้โดยสารรถไฟทรานไซบีเรียและรถไฟในสมัยก่อนสำหรับข้ามทะเลสาบไบข่าล มีแผนที่จะแปลงเรือลำนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่น่าดู คือ Irkutsk Regional Museum ตั้งอยู่ในอาคารชื่อวิคตอเรีย ภายในมีรูปภาพและรูปปั้นแสดงให้เห็นชนชาติต่างๆในไซบีเรีย ตลอดจนถึงวัฒนธรรมหลากหลาย มีรูปภาพขาวดำของผู้นำโซเวียตในอดีตในกิจกรรมต่างวาระกัน เช่นครุชอฟ เบรชเนฟ ฯลฯ ตรงกันข้ามตัวอาคารเป็นอนุสาวรีย์ของซาร์อเล็กซานเดอร์ ที่ ๓ ซึ่งทรงเป็นผู้วางเสาหลักหินของรถไฟทรานไซบีเรียที่เมืองเวลาดิวอสต๊อค

ในห้องอาหารของโรงแรมเย็นวันนั้นฉันและสามีได้มีโอกาสเห็นว่าชาวรัสเซียหรือที่จะให้ถูกต้องชาวไซบีเรียฉลองงานวันเกิดของเขาอย่างไร แน่นอนเต็มไปด้วยความสนุกสนามและเสียงหัวเราะที่ร่าเริง ความจริงในระยะที่พักอยู่ในรัสเซียทั้งสองสามีภรรยาต่างก็ได้เห็นพิธีการแต่งงานและงานปาร์ตี้สามสี่ครั้ง

ฉันสังเกตว่าชาวไซบีเรียมักจะเรียกดินแดนของเขาว่า “ประเทศของผม” เมื่อกล่าวถึงดินแดนในไซบีเรีย แต่ไม่กล่าวว่าตนเองเป็นรัสเซีย เช่นเดียวกับที่นายอิกอร์ ไกด์ในมอสโกพูดถึงตนเองว่าเป็นชาวมอสโกหาใช่ชาวรัสเซียโดยทั่วไปไม่

คืนนั้นหิมะตกตลอดทั้งคืน วันรุ่งขึ้นต้นไม้ใบหญ้าตลอดจนถนนหลวงทางจีนปกคลุมไปด้วยหิมะจนแลดูขาวโพลนไปทั่ว ทำให้ภูมิประเทศเป็นฤดูหนาวโดยแท้ หาใช่ฤดูใบไม้ร่วงอย่างที่ควรจะเป็นไม่

เราสองคนว่าจ้างรถแท็กซี่ให้พาเข้าไปในเมือง เพราะต้องการไปเที่ยวตามลำพังโดยไม่มีไกด์ หลังจากที่ได้เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ทรูเบทส์คาย่า ของคณะผู้ก่อการนายทหารหนุ่มที่ถูกเนรเทศและมีภรรยาผู้จงรักภักดีติดตามไปด้วยแล้ว ก็เดินผ่านไปดูบ้านหลายหลังที่สร้างด้วยไม้ สลักเสลาอย่างสวยงามโดยเฉพาะที่บานหน้าต่างและตามชายคาคล้ายคลึงกับบ้านที่เห็นบนชายฝั่งของทะเลสาบไบข่าลและตามทางรถไฟที่ผ่านมา บางหลังมีบานหน้าต่างสูงหันเข้าหาถนน ซึ่งยังรักษาสภาพไว้ได้เป็นอย่างดี

สถาปัตยกรรมการสร้างบ้านในลักษณะนี้เป็นแบบที่ถูกนำมาในไซบีเรียโดยผู้ที่เข้ามาพำนักในถิ่นนี้ในสมัยโบราณ ซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวนาที่อพยพมาจากแหล่งอื่น แล้วนำเอาวัฒนธรรมการปลูกบ้านเรือนของตนมาด้วย พัฒนาให้สวยขึ้นให้สมบูรณ์แบบขึ้น จนเป็นลักษณะเฉพาะของไซบีเรีย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเศรษฐี คนชั้นกลางหรือยาจกต่างก็พยายามทำบ้านของตนให้มีสีสันด้วยการสลักอย่างวิจิตรบรรจง หรือไม่ก็ทาสี ให้เป็นที่ถูกตาถูกใจของผู้ที่ได้พบเห็น แม้แต่บ้านที่แสนจะธรรมดาก็มีการสลักเสลาอย่างประณีตแต่เนื่องจากเป็นบ้านไม้ส่วนใหญ่จึงพังไปด้วยกาลเวลาและสภาพอากาศที่ทารุณ ยังคงมีเหลืออยู่บ้างไม่กี่หลัง เก็บไว้เป็นมรดกให้คนรุ่งหลังได้ดูเป็นขวัญตามาจนถึงทุกวันนี้

“เราไปดูตลาดของชาวเอียร์คุทซ์คกันดีกว่านะ” สามีชวน “ดูตามแผนที่ไม่ไกลจากนี่สักเท่าไร ถ้าเดินย้อนกลับไปตามทางเดิมเดี๋ยวก็คงถึง”

เราสองคนเดินไปตามถนนคาร์ลมาร์กซ์ที่พ่อหนุ่มยูจีนบอกว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในเมืองขณะนั้นเป็นเวลาเกือบเที่ยง หิมะตามทางเดินกำลังละลายเพราะพื้นดินยังเย็นไม่พอที่จะรักษาสภาพของหิมะไว้ได้ ประกอบกับรถราที่วิ่งผ่านไปมาบนท้องถนนเป็นจำนวนมากปล่อยควันดำเหม็น ทำให้สีที่ขาวของหิมะหลายเป็นดำสกปรก ถนนเฉอะแฉะ แถมทางเท้ายังเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้ไม่น่าเดิน เพราะต้องคอยระวังที่จะไม่ให้หกล้มและระวังไม่ให้รถเฉี่ยวอีกต่างหากเพราะคนขับรถที่นี่ไม่ค่อยจะมีระเบียบสักเท่าไร

“นี่ขนาดเป็นถนนที่สวยที่สุดนะอยากรู้ว่าถนนที่ไม่สวยจะเป็นอย่างไร” ฉันบ่นตามเคยแต่ก็เดินกันไปเรื่อยๆจนถึงตลาดหรือ Super Market ซึ่งอยู่ในบริเวณ Centre ของเอียร์คุทซ์ค

“Oh Holy Cow” ฉันอุทานอย่างลืมตัวเมื่อได้เห็นความใหญ่โตของตลาดภายในไม่น่าเชื่อเลยว่า เมื่อสักไม่กี่ปีมานี่เอง ที่เห็นในโทรทัศน์ว่าชาวรัสเซียต้องยืนแถวยาวเหยียดเข้าคิวกันเพื่อจะซื้อเนื้อชิ้นเล็กๆและขนมปังสักก้อน มาวันนี้ของกินของใช้มีพร้อมบริบูรณ์จะเอาอะไรมีขายทั้งนั้น

“เป็นเพราะการจัดการไม่ดีในสมัยโซเวียตน่ะสิ ผู้คนถึงได้อดๆอยากๆมีเงินก็ไม่มีของให้ซื้อ มาในปัจจุบันมีของให้ซื้อมากมายแต่คนไม่มีเงินจะซื้อ โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณอายุเพราะค่าของเงินรูเบิ้ลเหลือน้อยเต็มที” สามีกล่าว “ความจริงประเทศนี้แสนจะร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติจนเหลือล้น ประชาชนก็มีไม่มากเท่าประเทศจีน แต่การจัดการยังไม่ดีเท่าที่ควร รายได้ของประชาชนจึงไม่กระจายออกไปเฉกเช่นประเทศอื่นที่มีการจัดการดี หลายประเทศที่เคยปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์พัฒนาไปถึงไหนๆแล้ว แต่รัสเซียซึ่งเคยเป็นแม่แบบของจีน ยังคงย่ำอยู่กับที่ ทั้งๆที่ นายวลาดิเมียร์ปูติน ก็เป็นประธานาธิบดีที่เก่งและมีวิสัยทัศน์พอตัว”

ส่วนหนึ่งของชั้นล่างเต็มไปด้วยพืชผักผลไม้ที่ขึ้นในประเทศหนาวและประเทศร้อนวางขายกันแน่นขนัด มีวางขายตั้งแต่มะเขือเทศ กะหล่ำปลี มันฝรั่ง ผักชี ยี่หร่า หัวหอม แตงกวา มะนาว ขิง ข่า ตะไคร้ คะน้า กระชาย ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งภายในตู้ชั้นกระจกมีไส้กรอก ซาลามี่ เนื้อสัตว์ หมู เห็ด เป็ด ไก่ เดินไปด้านหลังเป็นพวกเครื่องกระป๋องมีทั้งคาเวียร์ ปลาอบรมควันทั้งโอมุล แซลมอน และปลาชนิดต่างๆ อีกส่วนหนึ่งขายดอกไม้สวยๆหลายประเภททั้งดอกกุหลาบสีสดต่างๆ ดอกเยอบีร่า ดอกพลับพลึง เห็นแล้ว ฉันอยากซื้อเป็นกำลัง แต่ติดที่จะว่าจะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน เพราะวันรุ่งขึ้นก็ต้องออกเดินทางแล้วคุณผู้อ่านดูรูปเอาเองก็แล้วกันนะคะว่า ตลาดแห่งนี้ใหญ่โตมโหฬารเพียงไร

สามีชวนซื้อคาเวียร์สักกระป๋อง เอาไว้กินแกล้มกับวอดก้าระหว่างทางในรถไฟ ฉันไม่แน่ใจว่าคาเวียร์ของเขาจะดีหรือเปล่า ซื้อไปแล้วไม่ดีก็ต้องขว้างทิ้ง เสียดายเงิน จึงเลือกเอาแบบสีดำก็แล้วกัน ไม่ค่อยจะคาวเหมือนสีเหลือง

หญิงคนขายแต่งชุดสีฟ้า คาดผมสีสวยยืนอยู่ข้างหลังเคาน์เตอร์กล่าวเชื้อเชิญด้วยสีหน้ายิ้มแย้มให้ซื้อของ เห็นราคาที่ติดไว้บนกระป๋องคาเวียร์ขนาดกลางเป็นเงิน ๕๕๐ รูเบิ้ล คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๑,๔๖๐ บาท ซึ่งก็ไม่แพง แล้วก็แวะไปซื้อวอดก้าอย่างดีมาขวดหนึ่งกับหัวหอม แตงกวา และมะนาว

ออกจากตลาดทั้งคู่เดินไปเที่ยวในย่านขายของซึ่งเป็นที่ปลอดรถ Pedestrians Zone ถนนค่อนข้างเงียบเหงาปราศจากผู้คน และร้านรวงก็ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร หิมะที่กลายจากขาวเป็นดำถูกเก็บกวาดกองไว้ข้างถนนข้างหนึ่งแม้แต่ร้านแบกะดินก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นวางขาย

ไกด์และคนขับซึ่งเป็นคนละคนกับวันก่อนมารับเราสองคนแต่เช้าตรู่เวลาตีสี่ครึ่งเพื่อพาไปส่งขึ้นรถไฟ ด้วยเหตุที่ยังค่อนข้างเช้าอยู่ ไกด์ที่น่ารักคนนี้จึงให้รถขับวนไปรอบเมืองเพื่อจะได้ดูเมืองในยามเช้าตรู่กันอีกรอบหนึ่งแทนที่จะต้องไปนั่งแกร่วคอยที่สถานีรถไฟซึ่งอยู่ไปทางตะวันตกอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำอังการ่า (Angara) การที่จะไปอีกฝั่งหนึ่งรถจะต้องข้ามสะพานจากใจกลางเมือง ไกด์ถามว่าอยากจะไปซื้อเหล้าหรือเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์บ้างไหมสามีตอบปฏิเสธและถามไกด์ว่าหากต้องการจะซื้อจริงจะมีขายหรือเนื่องจากเป็นเวลาเช้าได้รับคำตอบว่าไนท์คลับยังคงเปิดอยู่ ยังหาซื้อได้ ทำให้สงสัยเป็นกำลังว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้ออกจากคลับแล้วตรงไปทำงานเลยหรืออย่างไรแล้วสมรรถภาพในการทำงานจะมีถึงขีดไหน

ที่สถานีมีผู้โดยสารนั่งรถไฟอยู่ในห้องโถงแล้วหลายคนนั่งสัปหงกอยู่บนเก้าอี้ที่จัดไว้ให้ กลิ่นเหงื่อของคนกลุ่มใหญ่คลุ้งไปทั่วบริเวณ ส่วนมากเป็นชาวพื้นเมืองที่จะเดินทางไปมองโกเลีย มีพวก Backpackers แบกข้าวของพะรุงพะรังอยู่ด้วย

เวลาหกโมงสี่นาทีรถไฟสายทรานส์มองโกเลียน (Trans-Mongolian) เบอร์สี่ก็แล่นออกจากเมืองเอียร์คุทซ์คโดยมีจุดหมายปลายทางที่กรุงปักกิ่ง