ขี่ม้าเหล็กข้าม ไซบีเรีย ตอนที่8

ผิงเหยา เมืองโบราณของจีน

วันรุ่งขึ้นฉันและสามีตรงไปยังสนามบินเพื่อเดินทางไปเมืองไท้หยวน (Taiyuan) ซึ่งอยู่ขึ้นไปทางเหนือของปักกิ่งเล็กน้อย ใช้เวลาบินเพียงหนึ่งชั่วโมงก็ถึง ไกด์พร้อมโชเฟ่อร์มารับที่สนามบินเช่นเคย เหตุที่มาเมืองนี้ก็เพราะความอยากจะเห็นเมืองผิงเหยา (Pingyao) ซึ่งอยู่ห่างจากไท้หยวนไปประมาณเกือบสองชั่วโมงโดยทางรถยนต์ จึงจำเป็นต้องมาค้างที่นี่หนึ่งคืนเพราะไท้หยวนเป็นที่เดียวที่มีโรงแรมในขั้นดีที่เพิ่งเปิดใหม่ส่วนที่ผิงเหยานั้นมีแต่โรงเตี๊ยมซึ่งเป็นสวรรค์สำหรับพวก Backpackers ไม่เหมาะสมสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่อย่างสามีภรรยาคู่นี้

เมืองไท้หยวนเป็นที่ที่มีถ่านหินมากอุตสาหกรรมจึงหนักไปด้านนี้ ทั้งเมืองจึงคลุ้งไปด้วยฝุ่นละอองจากถ่าน ตัวเมืองเองไม่มีอะไรน่าดู แต่มีวัดโบราณแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไปจากเมืองประมาณยี่สิบห้ากิโลเมตร ซึ่งทางรัฐบาลจีนกำลังขอให้วัดแห่งนี้ได้รับการดูแลจาก UNESCO คือ วัด จิ้นสือ ซื่อ (Jinci Si) เป็นวัดที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของจีนมีอายุยาวนานกว่าพันปีมาแล้ว แต่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างดีมาตลอด เมื่อได้เข้าไปในบริเวณจะแลเห็นระเบียงกระจก มีโรงละครสมัยพระราชวงศ์หมิงอยู่ฉันแลเห็นรูปภาพวาดสีสวยใต้หลังคา เมื่อพินิจดูปรากฏว่าเป็นภาพจากตำนานของหญิงสาวสวยชื่อ มู่หลาน ซึ่งกำลังจะลาครอบครัวไปทำสงครามแทนพ่อผู้ชราแล้ว มู่หลานมีอาชีพทอผ้าไหมอยู่ในหมู่บ้านยากจนแห่งหนึ่ง เธอได้รับการฝึกฝนจากพ่อซึ่งเป็นนายทหาร ในศิลปะการต่อสู้จนเก่งกาจ เมื่อมีบัญชามาจากฮ่องเต้ให้พ่อเธอไปออกรบในสงครามเธอจึงปลอมตัวเป็นผู้ชายออกรบแทนพ่อ จนชนะได้รับรางวัลและเกียรติยศมากมายจากฮ่องเต้

ฉันเคยฝึกเล่นดาบที่เรียกว่ามู่หลานฉวนที่เมืองจีนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จนสามารถเป็นครูสอนได้ ปัจจุบันก็ยังฝึกอยู่ทุกเช้าที่สนามในบ้านไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ตหรือที่สวิส แต่ยังไม่เคยเห็นรูปภาพสวยๆของมู่หลาน จึงดีใจมาก ถือว่าเป็นมงคลอย่างใหญ่หลวงที่มีโอกาสได้ไปเยือนวัดแห่งนี้

หลังจากที่เดินข้ามสะพาน “ชั่วนิรันดร์” ไปอีกฟากหนึ่งแล้ว จะมาถึงระเบียงที่มีรูปแกะสลักด้วยเหล็กกล้าในศตวรรษที่ ๑๑ หลายรูป ด้านหลังเป็นห้องโถงไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง ภายในมีรูปแกะสลักด้วยดินเผาของหญิงสาวสวยในวังถึง ๔๒ รูปยืนห้อมล้อม รูปปั้นของสุภาพสตรีคนหนึ่งที่กำลังนั่ง ไกด์บอกว่าเป็นพระราชมารดาของเจ้าชายองค์หนึ่งในพระราชวงศ์โจ๋ว สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้นไซปรัส (Cypress) สองต้นซึ่งมีอายุ ๓,๐๐๐ ปีแล้ว ปลูกในสมัยพระราชวงศ์โจ๋ว และได้เติบโตในลักษณะบิดเบี้ยว เลยไปทางเหนือของวัดเล็กน้อยเป็นห้องโถงใหญ่ซึ่งบรรจุรูปสลักที่ทำด้วยเหล็กสี่รูป มีตัวหนังสือที่สลักไว้ด้วยลายพระหัตถ์ของฮ่องเต้พระราชวงศ์ถังองค์หนึ่ง ทางด้านใต้เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมสูงเจ็ดชั้นสร้างในศตวรรษที่ ๘ ตั้งอยู่

วันรุ่งขึ้นไกด์มารับไปเมืองผิงเหยาระหว่างทางได้หยุดไปเที่ยวบ้านของเศรษฐี เฉา (Qiao Family Courtyard House) สถานที่แห่งนี้เคยใช้เป็นที่ถ่ายหนังเรื่อง Raisa the Lantern ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายอมตะที่เขียนโดยนักเขียนมีชื่อของจีน จุดประสงค์ของการเปิดบ้านนี้ให้ชมก็เพื่อให้ชาวโลกได้รู้ว่านายเฉาได้ก่อสร้างตนเองมาจากพ่อค้าขายใบชาและเต้าหู้ จนร่ำรวยเป็นเศรษฐีด้วยความขยันและมานะบากบั่น ภายในบริเวณกว้างขวางแบ่งออกได้เป็นหกส่วน แต่ละส่วนก็มีสิ่งของเครื่องใช้พร้อมเฟอร์นิเจอร์ในพระราชวงศ์ฉิงที่น่าชมให้ดูมากมาย นายเฉาสั่งสอนให้ลูกหลานมีความซื่อสัตย์ กตัญญู ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติพิเศษของคนจีนโดยทั่วไปอยู่แล้ว เหนือสิ่งอื่นใดลูกชายจะต้องมีเมียเพียงคนเดียว คำสั่งสอนของนายเฉาเป็นเหมือนประกาศิตติดอยู่หน้าบ้าน ซึ่งกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ในสมัยนี้

เมืองผิงเหยาอยู่ห่างจากไท้หยวนประมาณหนึ่งร้อยกิโลเมตร ตัวเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงยาวกว่าหกเมตร พูดกันว่ากำแพงมีความกว้างสามารถให้รถม้าวิ่งได้สองคันขนานกันไป มีหอคอยถึง ๗๐ แห่งเพื่อใช้เฝ้าศัตรูที่จะมารุกรานแต่ละมุมก็มีหอคอยตั้งอยู่ในใจกลางเมือง มีหอคอยสามชั้นสูง ๑๘.๕ เมตร ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดของเมือง ก่อด้วยอิฐและไม้สลักเสลาและประดับด้วยอิฐขัดเงาสีเหลืองและเขียว เป็นรูปสัตว์เช่นมังกรพันอยู่ตามหน้าจั่วและเสาซึ่งเป็นจุดเด่นของผิงเหยา

ไกด์พาไปดูบ้านของนายธนาคาร ซึ่งได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเครื่องประดับบ้าน ภายในบริเวณมีหน้าต่างสลักด้วยไม้อย่างวิจิตรบรรจง ซึ่งเป็นแบบบ้านโดยทั่วไปของนายธนาคารในสมัยนั้นฉันตื่นเต้นที่ได้รู้ว่า ธนาคารจีนแห่งแรกมีกำเนิดจากที่นี่ นายหลีต้าฉวน เป็นเจ้าของร้านย้อมผ้าในปลายศตวรรษที่ ๑๘ กิจการของเขารุ่งเรืองมากจนต้องเปิดสาขาหลายแห่งและขยายเรื่อยไปจนถึงเสฉวน เขาเป็นผู้ริเริ่มการใช้เช็คและวิธีการชำระและจ่ายเงินล่วงหน้า จนใครๆนำเอาวิธีของเขามาใช้รวมถึงรัฐบาลในสมัยพระราชวงศ์ฉิงด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ผิงเหยาได้กลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในแถบนี้ในสมัยนั้น

พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ด้านหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยร้านค้าต่างๆในบริเวณสี่เหลี่ยม ส่วนด้านหลังเป็นที่พักอาศัย รูปปั้นด้วยขี้ผึ้งแสดงให้เห็นชายชาวจีนสองคน คนมีอายุหนึ่งคนกำลังใช้ตาชั่งชั่งของอยู่ อีกคนหนึ่งเป็นคนหนุ่มกำลังดีดลูกคิดทั้งสองแต่งตัวนุ่งกระโปรงยาวแบบในสมัยโบราณสวมหมวกรูปทรงกลม

การที่จะนำเอาเงินซึ่งเป็นเหรียญทำด้วยโลหะใส่ถุงขึ้นรถม้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจำจะต้องมีผู้คุ้มกันให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายที่มีอยู่ชุกชุม จึงมีพิพิธภัณฑ์แสดงให้เห็นว่ารถม้าของผู้คุ้มกันเป็นอย่างไร พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างไรนอกจากนั้นก็มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆน่ารักหลายแห่ง มีวัด สถูป และเจดีย์ มีแม้แต่โบสถ์ของชาวคาทอลิกถนนสองข้างเต็มไปด้วยร้านค้าขายของหลายชนิดตั้งแต่ขนม ผลไม้แห้ง ตลอดจนถึงพวกสินค้าต่างๆเช่น เสื้อผ้า ใบชา ของเก่า กระดาษเขียนหนังสือ ฯลฯ ดูลานตา หน้าร้านก็ประดับประดาด้วยธงคู่และโคมไฟแบบจีนสีแดงมีทั้งรูปเหลี่ยมและรูปกลมมีภาพวาดและรูปสลักติดอยู่มากมาย อีกร้านหนึ่งแขวนที่รองรองเท้าไว้เป็นแผงใหญ่เป็นสีแดง ปักด้วยลวดลายที่เป็นนิทานและตำนานของชาวบ้าน ไกด์บอกว่าที่ผิงเหยามีสมบัติอันล้ำค่าอยู่สามอย่าง คือเนื้อ เผือก และภาชนะ เช่น หีบ และโถที่เคลือบสีทองทำจากครั่ง ขัดถูจนเงาวับราบเรียบ ฉันเห็นด้วยว่าภาชนะเหล่านั้นสวยงามและทำด้วยฝีมือประณีตจริงๆ ส่วนสมบัติมีค่าอีกสองชนิด เช่น เนื้อและเผือกต้องขอคิดดูก่อน

แม้ว่าถนนจะแคบด้วยมีกำแพงบ้านสูงกั้นอยู่ทั้งสองข้าง แต่ก็กว้างพอที่จะให้รถม้าวิ่งสวนกันได้ ประตูทางเข้าบ้านหลายแห่งก่อด้วยอิฐสลักเสลาเป็นรูปสี่เหลี่ยมสร้างลึกเข้าไปในกำแพงบ้าน บางแห่งมีเสาอิฐหน้าบ้าน ส่วนยอดของเสามักจะสลักเป็นหัวลิง ใช้สำหรับผูกเชือกม้า

จากนั้นเขาก็พาไปดูที่อยู่อาศัยของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งมักจะสร้างแบบอยู่ในถ้ำ เพื่อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวและให้ความเย็นสบายในฤดูร้อนแต่ละห้องมีม่านกั้นปักอย่างสวยงามมีสีสัน บ้านไหนที่รวยก็มักจะอวดความรวยด้วยการตกแต่งบ้านให้หรูหราสวยงามด้วยเครื่องตกแต่งมีค่าหลายอย่างเช่น ตั่ง และเตียงไม้สลักลวดลายหรือฝังมุก หลืบหรือฉากวาดเป็นรูปหญิงสาวสวยที่วางกั้นอยู่ในแต่ละห้อง ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว บนชั้นในตู้ลายครามมีแจกันสวยๆวางอวดเป็นหมู่ๆ บนฝาผนังมีภาพวาดจากจิตรกรที่มีชื่อเสียงของจีนประดับอยู่

หลังจากที่ได้รุ่งเรืองจนถึงขีดสุดแล้วผิงเหยาก็เสื่อมลง เมื่อไม่มีเงินมาบำรุงท้องที่ ถนนหนทางหลายสายในผิงเหยาก็เริ่มทรุดโทรม แต่ยังคงสภาพเดิมเหลือไว้ให้เห็นจนทุกวันนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ภายในกำแพงเมืองเช่นในสมัยโบราณ ซึ่งผิดกับเมืองโบราณหลายเมืองในจีนที่ได้ถูกปรับปรุงจนจำสภาพเดิมไม่ได้ แม้ว่าถนนจะเต็มไปด้วยฝุ่นละออง แต่เป็นลักษณะอย่างที่ควรจะเป็นในสมัยก่อน ตอนที่ฉันไปกำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนร้านค้ากันขนานใหญ่เนื่องจากว่าผิงเหยาได้รับการสถาปนาจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกอีกแห่งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๗ ดังนั้น อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ซึ่งถือว่ามีค่าในประวัติศาสตร์จึงไม่ได้รับอนุญาตให้รื้อถอนหรือแก้ไขตามใจชอบ ไกด์บอกว่าด้วยเหตุนี้จึงมีบ้านพักให้เช่าหรือพิพิธภัณฑ์เปิดขึ้นใหม่แทบทุกอาทิตย์ก็ว่าได้

เขาพาไปดูโรงเตี๊ยมในบริเวณหลังร้านอาหารที่ไปกินกลางวัน ซึ่งจัดเป็นห้องนอนเล็กๆแต่ละห้องมีที่นอนปูบนพื้น มีห้องน้ำแบบตะวันตกกั้นด้วยม่านสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้มาเช่า แต่ฉันต้องยอมรับว่าคงจะพักที่นี่ไม่ได้ เพราะดูจากสภาพห้องน้ำ แถมยังต้องอยู่ในบริเวณที่ติดกับห้องนอนที่ให้เช่านี้อีกต่างหาก

เมืองนี้ดูน่าชมจริงๆ สมกับที่เป็นเมืองโบราณเก่าแก่มีอายุเป็นพันๆปี วัดวาอารามโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดชวงหลิน (Shuanglin) ที่ใหญ่โตแบ่งออกเป็นห้องโถงใหญ่ๆหลายห้อง มีห้องโถงที่แสดงรูปปั้นของยามรักษาการณ์ในนรกแต่ละคนมีหน้าตาน่ากลัว คงจะทำให้คนขยาดที่จะทำความชั่ว ส่วนห้องอื่นๆก็จัดแสดงรูปปั้นของผู้คนในท่าทางที่เป็นท่าเฉพาะตัวของเขา เช่น กวนอูซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักรบ หรือไม่ก็ยามรักษาประตู ที่ยืนเฝ้าพระพุทธเจ้า รวมถึงพระพุทธรูปปางต่างๆปั้นด้วยดินเหนียวทาสีสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระโพธิสัตว์หรือเจ้าแม่กวนอิมที่มีหลายพระหัตถ์ฉันอยากให้ใครๆได้มาเที่ยว เพราะทึ่งในศิลปะประเภทนี้ของเขา มิน่าคนจีนจึงมั่นใจว่าเขาเป็นผู้เจริญมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณกาล

สามีชาวสวิสบอกว่า “ผมชอบมากนะสมแล้วกับที่ได้ให้ผิงเหยาเป็นมรดกโลก จะได้มีเงินมาช่วยบูรณะเมือง ลำพังรัฐบาลจีนเองก็คงจะไม่ไหวเพราะมีสถานที่หลายแห่งที่จะต้องปรับปรุง แต่เมื่อได้รับสถาปนาให้เป็นมรดกโลกก็จะมีเงินช่วยเหลือและก็ไม่มีใครมารื้อถอนหรือทำลายและปรับปรุงตามอำเภอใจ ความจริงวันนี้เราก็ได้เห็นอะไรต่ออะไรมากมาย แต่ผมยังอยากดูต่อให้ทั่วมากกว่านี้ หากมีโรงแรมดีๆสักหน่อยเราก็คงจะได้พักอยู่อีกสักวันสองวัน”

คืนนั้นทั้งสองบินกลับไปปักกิ่งและพักที่โรงแรมจิ๊งกั๋วเช่นเดิม พอย่างเข้าไปในล็อบบี้ก็ไม่อยากจะเชื่อสายตาตนเอง เพราะในห้องโถงเต็มไปด้วยฝรั่งชาติต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นชาวสวีเดนและอเมริกันบางคนมีทารกอยู่ในอ้อมแขน บางคนก็จับจูงเด็กเล็กๆชาวจีน มีเด็กๆหน้าตาเป็นฝรั่งซึ่งเข้าใจว่าเป็นลูกแท้ๆเดินตาม ดูราวกับว่าได้เดินหลงเข้าไปในโรงเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลมากกว่าจะเดินเข้าไปในโรงแรม ไต่ถามได้ความว่าพวกเขามารับเด็กที่จะขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมในประเทศของตน เด็กเหล่านี้เป็นเด็กกำพร้ามาจากสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าหลายแห่ง สมัยที่ฉันยังอยู่ในเมืองจีนก็มีเพื่อนๆหลายคนไปคอยให้ความช่วยเหลือสถานเด็กกำพร้าทุกสัปดาห์ เมื่อสมาคมคนต่างชาติจัดงานสังสรรค์อะไร ก็มักจะเอารายได้ที่เป็นกำไรไปมอบให้สถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าด้วยตนเอง เพราะรู้ว่าจะตกไปถึงมือของเด็กโดยตรง ดีกว่าจะไปบริจาคให้องค์กรใหญ่อื่นๆ ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้ว่าเงินนั้นนำไปเป็นค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรได้ไปพักในโรงแรมหรูๆ หรือว่าไปจัดงานกาลาดินเนอร์กันที่ไหน

วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ได้ไปเคารพศพของท่านประธานเหมากันแล้ว ฉันชวนสามีนั่งรถไฟใต้ดินไปเที่ยวตลาดหงเฉา (Hongqiao) สมัยนี้การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินในเมืองจีนสะดวกมากเพราะป้ายต่างๆมีภาษาอังกฤษกำกับอยู่ด้วย และเจ้าหน้าที่จีนก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ยิ่งรู้ว่าเหลาไว่ (Laowai คนต่างชาติ) พูดภาษาของเขาได้แล้วละก็ ยิ่งได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น

ตลาดหงเฉาตั้งอยู่บนถนนชื่อเดียวกันเป็นตึกใหญ่สามชั้น ชั้นสามขายสินค้าจำพวกมุกและสินค้าสัพเพเหระหลายชนิด แม้แต่ นายบิลล์คลินตัน ประธานาธิบดีคนก่อนของสหรัฐฯ ก็เคยมาซื้อของที่นี่กับภรรยาและลูกสาวเมื่อครั้งที่มาเยือนจีน ชั้นที่ ๒ ของตึกขายสินค้าปลอม เช่น ปราดา กุชชี่ เป็นต้น ส่วนชั้นล่างสุดขายตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่มจนถึงหม้อไห ถ้วยชาม หากมีเวลาและไม่มีอะไรทำที่นี่เป็นที่ดีอีกแห่งหนึ่งสำหรับมาเที่ยวดูสินค้าและดูนักท่องเที่ยวที่มาจับจ่ายซื้อของ บางคนซื้อเอาๆเพราะเห็นว่าราคาถูกเหมือนได้เปล่า แม้จะพูดภาษาของเขาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะคนขายมีเครื่องคิดเลขกด จะเอาราคาเท่าไรก็กดตัวเลขลงไป แม้ฉันจะชินกับสิ่งของในเมืองจีน แต่บางครั้งก็ก็มันเขี้ยวอยากซื้ออีก แต่ซื้อแล้วก็เป็นภาระเพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรหรือแจกใคร

คืนสู่เหย้าที่มหานครเซี่ยงไฮ้และซูโจ๊ว บ้านอันเป็นที่รัก

รถไฟเบอร์ที่ ๑๓ ซึ่งเป็นรถไฟชั้น Super Deluxe ของจีนเดินทางออกตามเวลาคือหนึ่งทุ่มสี่สิบสามนาที โบกี้ของเราเป็นแบบที่คนจีนเรียกว่าหรวนโว่ (Ruan Wo) ซึ่งแปลว่า Soft Sleeper ในภาษาอังกฤษ ในห้องมีเตียงนอนแบบซ้อนกันสองเตียง ฝั่งตรงกันข้ามจัดเป็นโซฟาสำหรับนั่งพักในตอนกลางวัน ที่หน้าต่างแขวนผ้าม่านลูกไม้สีขาวฝาหนังห้องเป็นไม้ขัดเงา มีห้องน้ำเล็กๆติดกับห้องนอน ตู้รถไฟขบวนนี้เป็นตู้รถไฟที่ดีที่สุดเท่าที่เรานั่งมาตลอดระยะทางสายทรานไซบีเรีย บนโต๊ะมีถ้วยน้ำชาและแก้วน้ำสะอาดจัดไว้ให้ในถาด เจ้าหน้าที่ประจำโบกี้เป็นหญิงสาวชาวจีนสุภาพเรียบร้อย พูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย ไม่จุ้นจ้านอยากรู้อยากเห็นทำแต่หน้าที่ของตนเสร็จแล้วก็แล้วไป

ฉันตื่นแต่เช้าตรู่ เมื่อดูจากเส้นทางแล้วก็ใกล้จะถึงเมืองหนานจิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจียงสู

“ฉันอยากเห็นตอนรถไฟของเราวิ่งข้ามสะพานแยงซีเกียง ที่แล้วมาเคยแต่นั่งรถข้าม” ฉันหมายถึงสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดของจีนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเปิด ใช้เมื่อ ค.ศ.๑๙๖๘ ก่อนหน้านี้ไม่มีทางรถไฟเชื่อมปักกิ่งเซี่ยงไฮ้เพราะมีแม่น้ำกั้นอยู่ ต้องอาศัยเรือข้ามฟาก ชาวจีนภูมิใจสะพานนี้มากเพราะเป็นฝีมือของช่างจีนล้วนๆ ไม่มีคนต่างชาติมาเกี่ยวข้องเลยสะพานแยงซีเกียงเป็นสะพานสองชั้น ชั้นบนยาวถึง ๔,๕๐๐ เมตร สำหรับให้รถยนต์วิ่ง ส่วนชั้นล่างสำหรับรถไฟวิ่ง ชาวจีนยอมเสี่ยงสร้างสะพานนี้ด้วยตนเอง หลังจากที่สถาปนิกชาวรัสเซียบอกเลิกศาลาว่าเกินความสามารถที่จะสร้างได้ พร้อมกับเอาแบบสะพานกลับไปประเทศด้วย แต่แล้วชาวจีนก็สร้างได้สำเร็จจนสามารถใช้การได้มาจนทุกวันนี้ แม้แต่วัสดุที่ใช้ทั้งหมดก็เป็นของที่หาได้จากประเทศทั้งสิ้น

มีคนเคยพูดเป็นทำนองว่า ฉันลำเอียงเข้าข้างชาวจีนและประเทศจีนมากกว่าประเทศตะวันตกฉันยอมรับว่าเป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนิยมในความขยันหมั่นเพียร ความกตัญญูรู้คุณความจงรักภักดี ความพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆเพื่อพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น จึงสามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์ของตนเองและของสามี

“ดูสิคะ ขนาดเมืองหลวงใหญ่แบบนี้ รถไฟยังไม่จอดเลย แปลกแท้ๆ จำได้ไหมตอนที่ก๊อทฟรีด (Gottfried) มาเยี่ยมเราที่ซูโจ๊วน่ะ เขาไม่เข้าใจว่าทำไมรถไฟจึงวิ่งผ่านเลยไปโดยไม่แวะ ทั้งๆที่ซูโจ๊วมีพลเมืองอาศัยอยู่ถึงหกล้านกว่าคนเกือบเท่ากับประชากรในประเทศสวิสทั้งหมด คงต้องเอารถไปรับถึงเซี่ยงไฮ้โน่นแน่ะ” ฉันคุยถึงความหลังเมื่อตอนเพื่อนชาวสวิสมาเยี่ยม “แล้วนี่เมืองหนานจิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของเจียงสูซึ่งมีพลเมืองถึงเจ็ดสิบแปดกว่าล้าน รถยังวิ่งผ่านไปเฉยเลย” ฉันอดหัวเราะไม่ได้ในความพิสดารของการกระทำของชาวจีนในบางครั้ง “สงสัยจะไปจอดเอาที่เซี่ยงไฮ้เลยก็ไม่รู้”

รถวิ่งผ่านซูโจ๊วเมืองที่เราสองคนเคยพำนักอยู่ถึง ๔ ปีเต็ม หลังจากที่ย้ายมาจากเซี่ยงไฮ้รถไฟเทียบที่ชานชาลาสถานีเซี่ยงไฮ้เวลาประมาณสิบโมงเช้า นายเหลียว โชเฟ่อร์ที่เคยรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์มาห้าปีเต็ม พร้อมรถคันเดิมมารับที่สถานีไปส่งที่โรงแรมโซฟิเทล เพราะอยู่ใจกลางเมืองไปไหนมาไหนสะดวก เย็นวันนั้นเพื่อนชาวอเมริกันมารับไปทานอาหารเย็นในร้านอิตาเลี่ยนที่อยู่บนชั้นห้าสิบกว่าๆของโรงแรมมารีอ๊อท (Marriott) ซึ่งเป็นโรงแรมใหม่มองลงไปเห็นแสงไฟของนครเซี่ยงไฮ้ในยามราตรีระยิบระยับอยู่โดยรอบ หากฉันและสามีได้กลับไปอยู่เซี่ยงไฮ้อีกครั้งหนึ่งก็คงจะมีที่พำนักให้เลือกมากมาย

เช้าวันรุ่งขึ้นนายเหลียวมารับเราไปยังเมืองซูโจ๊ว หลังจากที่เช็คอินที่โรงแรมเชอราตันแล้วก็เป็นเวลากลางวันพอดี นึกอยากไปทานอาหารเบาๆแบบติ่มซำในร้านน้ำชากลางสวนแบบโบราณที่เคยพาแขกต่างเมืองไปกินในสมัยก่อนและทุกคนติดใจในร้านที่แสนจะโรแมนติคและอาหารที่อร่อย เมื่อไปถึงร้านดังกล่าวถูกรื้อทิ้งไปเสียแล้ว มีร้านน้ำชาสมัยใหม่ผุดขึ้นหลายแห่งในเมืองในชั่วระยะเวลาสั้นๆที่เราได้จากเมืองจีนไป มันเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของฉันที่ประเทศจีนได้พัฒนาไปเร็วจนเกินควรในบางครั้ง

ตอนเย็นมีการเลี้ยงต้อนรับใหญ่โตที่คนจีนเรียกว่า ย่านฮุ่ย (Yanhui) หรือ Banquet ในภาษาอังกฤษ ลูกน้องระดับอีลิท (Elite) ของสามีมากันถ้วนหน้า แม้แต่คนที่ลาออกจากบริษัทไปแล้วหลังที่สามีปลดเกษียณ ก่อนเลี้ยงเขาจัดเรือล่องไปตามลำคลองซูโจ๊ว ฉันไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองเลยที่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหลังมือเป็นหน้ามือ คลองที่เคยสกปรกและมีกลิ่นเหม็นอยู่ในเมื่อปีกลายได้กลายเป็นคลองที่มีน้ำใสสะอาด ตามตลิ่งกลายเป็นทางเท้าที่เดินสบาย ที่ดินที่เคยว่างเปล่าได้กลายเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้มาพักผ่อน บ้านเรือนร้านค้าและวัดวาอารามที่อยู่ตามชายฝั่งจุดโคมไฟสว่างไสวเหมือนในเทพนิยาย เขาเล่าว่าการสัมมนาของยูเนสโกในระดับโลกเพิ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อในฤดูร้อนที่ผ่านมา

แน่นอนการเลี้ยงของจีนจะไม่สมบูรณ์หากไม่มีก๊านไบ๋ (Ganbai) แปลตรงๆว่า Dry Your Glass หรือ Bottoms up อยู่ด้วย สลับกับสุนทรพจน์สั้นๆ แต่จับใจจากหลายคน เรียกน้ำตาให้ไหลไม่หยุดเช่นเดียวกับการเลี้ยงลาเมื่อปีก่อนโน้น

เดือนตุลาคมและพฤศจิกายนเป็นเดือนที่มีปูขนชุกชุม อาหารในแต่ละมื้อจึงมีปูขนเป็นอาหารจานโปรดแทรกอยู่แทบทุกมื้อ เซี่ยงไฮ้หลังปีครึ่งที่ผ่านไปเปลี่ยนไปอย่างมากมาย ดังนั้น สำนวนที่เราเคยใช้ในอดีต Shanghai Speed กับอาคันตุกะผู้มาเยือน จึงยังคงใช้ได้ไม่ตกอันดับ ในปัจจุบันเซี่ยงไฮ้มีรถไฟใต้ดินสามสายและรถไฟเล็กที่เรียกว่า Light Train อีกสองสาย ช่วยให้ผู้คนได้เดินทางรวดเร็วยิ่งขึ้น ตั้งแต่เปิดสนามบินแห่งใหม่ที่ปู้ต๋อง เราสองคนยังไม่เคยใช้รถไฟด่วนแม็คเลฟ (Maglev) เลยจนเช้าวันหนึ่งจึงชวนกันนั่งรถไฟสายนี้จากเซี่ยงไฮ้ไปปู้ต๋องและกลับ ใช้เวลาเดินทางรวมแล้วเพียงสิบสี่นาทีในระยะทาง ๖๐ กิโลเมตร ความเร็วที่สุดของรถไฟคือ ๔๓๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์อีกอันหนึ่งในวงการวิศวกรรมรถไฟ

หลังจากที่ได้พักผ่อนเยี่ยมเพื่อนฝูงในเซี่ยงไฮ้ได้ ๖ วัน วันจากกันก็มาถึง สงสารก็แต่นายเหลียวคนขับรถ อยากจะตามไปขับรถให้ถึงที่สวิส บอกว่าเขาขับขึ้นลงภูเขาได้เพราะในสมัยก่อนเคยขับรถให้นักท่องเที่ยวไปจนถึง หวง ช้าน (Huang Shan ภูเขาเหลือง) ในมณฑลอันฮุ้ยมาแล้ว หากเป็นไปได้เราก็อยากได้เขาไว้ใช้ เพราะคนซื่อสัตย์จงรักภักดีหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร