ข้ามไซบีเรีย
“เราคงกำลังข้ามไซบีเรียแล้วนะ” สามีพูดขึ้นระหว่างอาหารเช้า “ข้ามตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ ๒๑๐๒ กิโลเมตรแล้วละ คิดว่าผ่านเมืองทียูเมน (Tyumen) ซึ่งเป็นเมืองน้ำมันและเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของไซบีเรียมาตั้งแต่เมื่อคืนแล้วด้วย” ฉันตอบเพราะดูแผนที่ประกอบเส้นทางอยู่
ตอนแปดโมงเช้ารถจอดที่สถานีอีชิม (Ishim) ประมาณ ๑๕ นาที ผู้โดยสารลงไปยืดแข้งยืดขาตามเคย อีชิมดูเป็นเมืองที่ไม่ค่อยจะสวยนักตามเส้นทางที่ผ่านมาเห็นแต่บ่อน้ำสกปรกจับกันเป็นน้ำแข็ง มีหมู่บ้านเก่าๆหลังคาสังกะสี ป่าไม้ไทก้า (Taiga) เริ่มบางตาลงกลายเป็นทุ่งหญ้าที่ควรจะเขียวขจีในฤดูร้อน กลับเป็นสีน้ำตาลแห้งแล้งเอนไหวไปมาตามสายลม มีดั๊ชช่าเล็กๆสร้างด้วยไม้หลายหลัง วาซิลี่บอกว่าเขาก็มีดั๊ชช่าอยู่นอกกรุงมอสโกเช่นกัน
เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๔๙๗ เวลาท้องถิ่นก็เพิ่มจากเวลาในมอสโกอีก ๓ ชั่วโมง แต่ทุกคนต้องใช้เวลาในมอสโกซึ่งเป็นเวลาของประเทศทำให้ยุ่งยากมาก หากเป็นเวลาสิบเอ็ดโมงเช้าตามเวลาท้องถิ่น เวลาในมอสโกก็จะเป็นเวลา ๙ นาฬิกาถึงแม้ว่าเราจะแก้ปัญหาความสับสนด้วยการใส่นาฬิกาข้อมือทั้งสองข้าง แต่บางครั้งก็ยังงง
หลังจากที่รถวิ่งขึ้นสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำเอียร์ทิช (Irtysh) ไปแล้วก็ถึงเมืองออมส์ค (Omsk) รถเทียบจอดที่สถานีเพื่อเพิ่มโบกี้ให้พอกับผู้โดยสารที่ขึ้นมาใหม่มากพอสมควร ไม่ไกลจากสถานีนักมีรถปั้นจั่นขนาดยักษ์จอดอยู่เป็นทิวแถวแลดูเหมือนยีราฟคอยาว รายรอบสถานีรถไฟเป็นแฟลตเก่าๆในสไตล์ของสตาลินหลายหลัง เมืองนี้ก็เหมือนกับเมืองในไซบีเรียหลายแห่งที่เคยใช้เป็นที่กักขังนักโทษ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรอุกฉกรรจ์ หรือว่าพวกนักเขียนและใครก็ตามที่โชคร้ายเกิดมาเป็นชาวยิวในสมัยนั้น
นักเขียนคนหนึ่งที่เคยถูกขังคุกเขียนหนังสือเล่าในภายหลังว่า เขาเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดเพราะถูกโบยเจียนตายที่นี่ นักเขียนชื่อก้องโลกอีกคนหนึ่งคือ อเล็กซานเดอร์ ซอลเชน นิทซิน (Alexander Solzhenitsyn) ที่เขียนเรื่อง The Gulag Archipelago ก็เคยแวะมาที่เมืองนี้ก่อนจะไปเข้าคุกที่คาซัคสถาน (Kazakhstan)
เมืองออมส์คมีรายได้จากน้ำมันและกำลังบูมในทางเศรษฐกิจ ระยะทางสายนี้จึงมีรถไฟบรรทุกน้ำมันผ่านไปมาไม่ขาดสาย รวมทั้งรถไฟที่ขนถ่านหินไปหลอมที่โรงงานในแถบเทือกเขาอูราลอีกด้วย บางบริเวณที่เป็นป่าโปร่งจะมีคนขี่ม้าวิ่งเหยาะช้าๆไประหว่างต้นเบิร์ช อาณาบริเวณไม่มีหิมะอย่างที่เห็นเมื่อคืนก่อน แต่เป็นสีน้ำตาลอันเป็นธรรมชาติของฤดูใบไม้ร่วง
ม้าเหล็กห้อตะบึงไปเต็มฝีเท้า และค่อยๆชะลอลงก่อนจะถึงฝั่งแม่น้ำอ๊อบ (Ob) ซึ่งมีความยาวถึง ๔,๐๐๐ กิโลเมตร และเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลกที่ไหลจากเทือกเขาอัลไต (Altay) ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นมรดกโลกใน ค.ศ.๑๙๙๘ ไปลงในมหาสมุทรอาร์กติก
ก่อนที่จะข้ามสะพานซึ่งมีความยาว ๘๗๐ เมตร ทิวทัศน์สองข้างทางเปลี่ยนไปเป็นหมู่บ้าน ซึ่งมีแสงไฟวับแวมลอดมาจากกระท่อมเล็กกระท่อมน้อยน่ารักหลายหลัง ดูต่างไปจากเมืองใหญ่ๆที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง ประมาณเกือบสองทุ่มตามเวลาในมอสโกหรือห้าทุ่มเวลาท้องถิ่น ม้าเหล็กก็มาจอดที่สถานีของเมืองโนโวซิเบิร์กซ์ค (Novosibirsk) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของไซบีเรีย สถานีรถไฟจึงใหญ่ไปด้วย เพราะเป็นเมืองที่สำคัญที่เชื่อมรถไฟทรานไซบีเรียที่วิ่งผ่านเข้ากับรถไฟสายอื่นๆอีกถึง ๕๙ สาย และเป็นศูนย์กลางในการขนส่งถ่านหินและแร่ธาตุอีกต่างหาก
คืนนั้นฉันนอนกระสับกระส่ายทั้งคืนอาจจะเป็นเพราะออกกำลังกายไม่เพียงพอมาสองสามวันแล้วก็เป็นได้ จึงตื่นขึ้นมาตั้งแต่ตีห้าของเวลาในมอสโก แต่เป็นเวลา ๘ นาฬิกาในท้องถิ่นมองออกไปนอกหน้าต่างแลเห็นธรรมชาติที่ทำให้ต้องหายใจเข้าปอดอย่างมีความสุข หิมะสีขาวโพลนครอบคลุมไปทั่วบริเวณ ต้นไม้ใบไม้สีขาวของหิมะจับอยู่ทั่วไป แลดูคล้ายน้ำตาลขาว ทำให้คิดถึงบ้านที่สวิสและลูกสาวเป็นกำลัง ไกลออกไปเป็นสีเขียวของเนินเขาซึ่งฉันคาดว่าอาจจะเป็นน้ำในทะเลสาบก็ได้
วันที่ ๔ ของการเดินทางโดยรถไฟ Rossiya รถวิ่งวกวนผ่านป่าไม้และเทือกเขาซึ่งมีทิวทัศน์งดงามปกคลุมไปด้วยหิมะเหมือนที่เห็นในหนังท้องฟ้าเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆตามลักษณะของภูมิประเทศบางครั้งก็ปกคลุมไปด้วยหมอกเมฆ บางครั้งก็แต่งแต้มด้วยสีทอง ขาวและฟ้า แล้วแต่ภูมิประเทศที่ผ่านไป รถไฟจอดที่สถานีต่างๆอีกสองสามแห่งในที่สุดก็มาถึงสถานีคราสโนยาร์สค (Krasnoyarsk) ที่กิโลเมตรที่ ๔๐๙๘ เมืองคราสโนยาร์สคตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเยนิเซ่ (Yenisey) อันเป็นที่ตั้งของเขื่อนไฮโดรอิเล็กทริคและโรงงานหลายแห่ง
ในสมัยที่ประเทศยังอยู่ในระบบโซเวียตคอมมิวนิสต์ คนต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองนี้เหมือนกัน เพราะเป็นที่ตั้งของเรดาร์ที่สูงใหญ่เกือบเท่าปิระมิดของอียิปต์ ในปัจจุบันได้ข่าวว่าเป็นเมืองที่มีศูนย์กลางสำหรับชาวต่างชาติมาขอเด็กทารกไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมในประเทศของตน ในจำนวนนี้มีชาวอเมริกันมากที่สุด
จากเมืองนี้ต่อไปจนถึงสถานีเมืองเทเช็ต (Tayshet) ทัศนียภาพเปลี่ยนไปเป็นป่าไม้จำพวกสนและเบิร์ชอีก ซึ่งเรียกว่าไทก้า (Taiga) แต่ในฤดูใบไม้ร่วงต้นไม้เหล่านี้ต่างก็พากันผลัดใบจนเกือบหมดทำให้ได้เห็นอาณาบริเวณกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตารถวิ่งผ่านเทือกเขาซายัน (Sayan Mountains) ทำให้รู้สึกได้ถึงความเปล่าเปลี่ยวของดินแดนที่เรียกว่าไซบีเรีย “ผมอ่านพบว่าถ้าหากลงจากสถานีรถไฟที่เมืองคราสโนยาร์สค แล้วเดินทางต่อไปอีก ๑ ชั่วโมงคุณก็อาจจะขึ้นเรือโดยสารไปตามแม่น้ำเยนิเซ่ไปจนถึงบริเวณช่วงวงกลมของอาร์กติกได้ (Arctic Circle) มีคนเคยไปมาแล้ว” นิชช่าเพื่อนร่วมโบกี้ชวนสนทนา ส่วนเบเลนบอกว่าหากไปถึงที่นั่นคงจะได้เห็นทันดร่า (Tundra) ซึ่งพูดกันว่าเป็นแหล่งที่โหดร้ายเพราะกันดารด้วย มีน้ำแข็งบางๆเกาะคลุมพื้นหญ้าเกือบตลอดปี ที่ไหนอุ่นขึ้นก็จะกลายเป็นป่าไม้ที่เรียกว่าไทก้า (Taiga) ที่เราเห็นตามระยะทางที่ผ่านมา จากนั้นก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าที่ไม่มีต้นไม้หรือที่เรียกว่า (Steppe) ที่เห็นในมองโกเลียหรือประเทศจีนนั่นแหละ หากสังเกตแล้วจะรู้ว่าที่ไหนที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ทึบจะไม่ค่อยมีผู้คนปลูกบ้านอาศัยอยู่ เพราะแสงแดดส่งเข้าไปไม่ถึง ผู้คนจึงหนีไปปลูกบ้านเรือนอยู่ตามข้างทางรถไฟหรือไม่ก็ตามฝั่งแม่น้ำ เพราะหากินง่ายกว่า
ในเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันที่ ๕ นับจากเดินทางออกจากมอสโก รถไฟวิ่งข้ามแม่น้ำเอียร์คุท (Irkut) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เอียร์คุทซ์คได้แผลงเป็นชื่อเมือง รถจอดที่สถานีรถไฟในเวลาเจ็ดโมงครึ่ง ซึ่งเป็นเวลาท้องถิ่น แต่เป็นเวลาตีสองครึ่งตามตารางรถไฟในมอสโก รวมระยะทางที่ม้าเหล็กวิ่งมาแล้วจากมอสโกถึงสถานีนี้ได้ ๕,๑๘๕ กิโลเมตรพอดี
เรานั่งรถไกด์มารับที่ห้องโถงของสถานีที่เกือบจะว่างเปล่าไม่มีผู้คน เนื่องจากยังคงเป็นเวลาเช้าของปลายฤดูใบไม้ร่วง แต่ถนนหนทางปกคลุมไปด้วยหิมะโดยทั่ว อากาศหนาว สามีพยายามโทรศัพท์ติดต่อบริษัททัวร์ตามเบอร์ที่ได้มาจากสวิส แต่ไม่มีคนรับสาย รออยู่ประมาณ ๕๐ นาที เห็นท่าไม่ดีเลยว่าจ้างแท็กซี่ป้ายดำให้ไปส่งที่โรงแรม Hotel Complex ในหมู่บ้านลิสท์วิยานก้า (Listvyanka) บนฝั่งทะเลสาบไบข่าล (Lake Baikal) ที่ห่างจากเมืองเอียร์คุทซ์คไปประมาณหกสิบกว่ากิโลเมตรแม้ว่าจะเป็นเวลาแปดโมงครึ่ง แต่สำหรับฤดูนี้อากาศยังคงขมุกขมัวและหมอกยังลงค่อนข้างทึบ ตลอดระยะทางที่ผ่านเห็นทะเลสาบเล็กๆและบ่อน้ำจับกันเป็นน้ำแข็ง ส่วนต้นไม้ใบหญ้าก็เป็นสีขาวด้วยมีหิมะจับอยู่ตามกิ่งก้าน โฮเต็ลคอมเพล็กซ์ สร้างในแบบล็อค เคบิน (Log Cabin) ที่เห็นในประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นเรือนไม้น่ารักมากตั้งอยู่บนเนินเขาเห็นได้แต่ไกล
เมื่อเช็คอินเรียบร้อยแล้ว สามีก็ติดต่อบริษัททัวร์ได้ อีกประมาณเกือบ ๑ ชั่วโมงต่อมาไกด์และรถก็มาถึงเพื่อพาไปชมเมืองและดูวิวรอบทะเลสาบไบข่าล
ลิสท์วิยานก้าเป็นหมู่บ้านเล็กๆตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาบไบข่าลด้านตะวันตกเฉียงใต้ ใจกลางหมู่บ้านเป็นท่าเรือรับส่งผู้โดยสารและมีโรงงานซ่อมแซมบำรุงรักษาเรือติดๆกันหลายแห่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในส่วนที่เรียกว่าเครสโทฟก้า (Krestovka) ซึ่งแอบอิงอยู่ในใจกลางหุบเขาของเนินเล็กๆ
“ก่อนอื่นผมอยากจะพาคุณไปชมพิพิธภัณฑ์ที่ทำด้วยไม้เสียก่อน” ไกด์ยูจีนบอก “คุณจะได้เข้าใจว่าเมื่อสมัยก่อนลักษณะบ้านเรือนในแถบนี้เป็นอย่างไร”
รถมาจอดอยู่ที่ชายป่าบนถนนสายที่เราสองคนเดินทางมาจากเอียร์คุทซ์คไปลิสท์วิยานก้าในตอนเช้า มีป้ายเขียนด้วยหนังสือตัวใหญ่ว่า Museum of Wooden Architecture ยูจีนพาเราเดินย่ำไปบนหิมะผ่านป่าต้นสนและเบิร์ชไปประมาณ ๑๐ นาที ก็มาถึงหมู่บ้านที่สร้างด้วยไม้ซึ่งเป็นลักษณะโดยเฉพาะของไซบีเรีย ภายในใจกลางหมู่บ้านมีสิ่งก่อสร้างที่แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนประกอบไปด้วยโบสถ์ ๒ หลังหอคอยและป่าช้า
“นั่นอะไรคะ?” ฉันชี้ไปที่สิ่งก่อสร้างซึ่งมีไม้กลมๆแท่งหนึ่งติดอยู่บนไม้อีก ๒ ต้น ยึดไว้ด้วยท่อนไม้ ๔ หลักทั้งสองด้าน
“เป็นหลุมฝังศพชาวบ้านธรรมดาของเผ่าเบอร์ยัท (Buryats)” ยูจีนตอบ “เขาจะเอาศพวางไว้บนท่อนไม้ให้นกกากินแบบเดียวกับในทิเบตส่วนอีกหลังหนึ่งที่มีกำแพงสร้างด้วยไม้เป็นท่อนๆวางเรียงกันและมีหลังคาคลุมนั่นก็เป็นหลุมฝังศพเช่นกัน สำหรับคนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ เขาจะเอาศพวางไว้เฉยๆข้างในใต้หลังคาให้เน่าเปื่อยไปเองโดยไม่ต้องขุดหลุมฝัง เป็นความเชื่อถือในเรื่องภูตผีปีศาจและวิญญาณของศาสนาในนิกายชามานิสท์ (Shamanist)”
“แล้วบนพุ่มไม้เขาแขวนเศษผ้าไว้ทำไมคะ?” ฉันสงสัย
“แขวนไว้เพื่อให้มีโชคดีครับ นี่ก็เป็นการเชื่อถือโชคลางของเผ่าเบอร์ยัทเช่นกัน” ยูจีนอธิบาย
“แหม ทำคล้ายกับธงสีของชาวทิเบตเลยพวกเขาก็นับถือดิน ฟ้า และน้ำคล้ายๆกัน” ฉันเล่าถึงสิ่งที่เคยได้เห็นมา
“ใช่แล้วครับ แม้ว่าพวกเบอร์ยัทจะนับถือศาสนาพุทธคล้ายกับชาวทิเบต แต่เขาก็เชื่อถือโชคลางด้วยในขณะเดียวกัน”
ภายในหมู่บ้านมีเต็นท์แบบทีพี (Teepee) รูปกรวยมีหลังคาทำด้วยเปลือกไม้ บางหลังเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูมีหลังคาคลุมด้วยหนังสัตว์ บางหลังเป็นกระโจมที่ทำด้วยผ้าสักหลาดที่เรียกว่า Gerในประเทศมองโกเลีย หรือ Yurt ในแถบเส้นทางสายไหมที่ฉันเคยเล่าแล้วใน “ดินแดนของกษัตริย์เจงกิสข่าน”
ล้อมรอบหมู่บ้านเป็นกำแพงไม้ มีโรงเรียนมีโบสถ์ที่สร้างด้วยไม้ จำพวกสนและ “ลาช” (Larch) แม้ว่าจะใช้ไม้เนื้อแข็งสร้าง แต่โบสถ์เก่าๆในไซบีเรียไม่สามารถทนทานกับอากาศที่หนาวรุนแรงได้ จึงไม่ค่อยเหลือไว้ให้เห็นกี่หลัง แต่ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นหอคอยสูงสำหรับยืนยามรักษาการณ์ทำด้วยไม้สร้างในศตวรรษที่ ๑๗ มีโรงสีที่ใช้กำลังน้ำ (Watermill) โดยใช้น้ำจากแม่น้ำเล็กๆที่อยู่ใกล้ราวป่าอันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านนั่นเอง มีบ้านแบบ Log Cabin สร้างอยู่เป็นกลุ่มซึ่งภาษารัสเซียเรียกว่า Izba อยู่หลายหลัง ตามหน้าต่างประตูและชายคาสลักเสลาเป็นตาข่ายลูกไม้ในแบบต่างๆ ยูจีนบอกว่าคนในสมัยก่อนเชื่อว่าการสลักเสลาแบบนี้จะป้องกันภูตฝีปีศาจได้ ตามเส้นทางที่รถไฟผ่านมาจึงได้มีบ้านสวยๆแบบนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เขาคงจะยังรักษาธรรมเนียมเก่าแก่เอาไว้
ตอนกลางวันยูจีนพาไปกินข้าวกลางวันที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งบนฝั่งทะเลสาบไบข่าล เขาเสนอให้กินปลาที่มีชื่อเสียงในทะเลสาบคือปลาโอมุล (Omul) เป็นปลาที่อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาซัลมอน (Salmon) และปลาเทร้าต์ (Trout) นำไปปิ้งแล้วเสิร์ฟมากับ เฟรนช์ฟรายด์ (French Fried) ก็อร่อยดี เขาเล่าว่าเวลาถูกจับปลาโอมุลจะส่งเสียงร้องโหยหวน โชคดีที่เขาเล่าให้ฟังตอนเรากินอาหารอิ่มแล้ว ปลาโอมุลอาจจะกินแบบรมควันหรือต้มหรืออบด้วยเกลือก็ได้ ที่ท่าเรือบนฝั่งทะเลสาบเห็นคนขายปลาโอมุลรมควันอยู่หลายเจ้า ใครไปใครมาก็มาแวะซื้อเอากลับบ้าน
ตอนบ่ายเราสองคนไปเดินเล่นตามชายฝั่งทะเลสาบจนถึงตลาดที่ตั้งอยู่ที่ท่าเรือ มีร้านแบกะดินอยู่หลายแห่งขายของที่ระลึกและปลาโอมุลรมควันที่เล่าแล้ว ตามฝั่งทะเลมีบ้านเรือนเล็กๆทาสีต่างๆกันน่ารัก เช่น สีฟ้า ชมพู เขียว และเหลือง เป็นต้น ตามกรอบหน้าต่างประตู และชายคาก็มีการสลักเสลาอย่างอ่อนช้อยสวยงาม
บ่ายวันนั้นแม้ว่าอากาศจะเย็นติดลบ แต่ว่าท้องฟ้าใสเป็นสีครามปราศจากเมฆหมอก ทำให้แลเห็นท้องน้ำของทะเลสาบไบข่าล เป็นประกายระยิบระยับอยู่ในแสงแดด