ขี่ม้าเหล็กข้าม ไซบีเรีย ตอนที่4

เริ่มขี่ม้าเหล็ก

เย็นวันที่จะขึ้นรถไฟสายทรานไซบีเรียฝนและหิมะตกตลอดวัน แต่เราสองคนก็ไม่ย่อท้อที่จะเดินไปเที่ยวหาอาหารแห้งมาตุนไว้ เพราะไม่รู้ว่าการข้างหน้าจะเป็นอย่างไร รถไฟจากนครเซนต์เตอร์สเบิร์กมามอสโกอาจจะสะดวกสบายก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่ารถไฟที่จะออกจากมอสโกไปถึงเมืองเอียร์คุทซ์ค (Irkutsk) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไซบีเรียนั้นจะมีสภาพเช่นไร หากจะต้องเผชิญกับความหิวโหย ในระหว่างนั่งรถไฟถึง ๔ วัน ๔ คืนเต็มๆจากมอสโกไปเอียร์คุทซ์ค ก็คงจะไม่สนุกแน่ ความจริงก็ได้เอาอาหารกระป๋องมาจากสวิสบ้างแล้ว เช่น คอร์นบีฟ ซาลามี่ ขนมปังกรอบ และผลไม้อบแห้ง เป็นต้น ที่เดินไปหาซื้อนั้นก็คือคาเวียร์และว้อดก้า ในที่สุดก็ซื้อว้อดก้าชั้นดีมาได้ขวดหนึ่ง ส่วนราคาของคาเวียร์อย่างดีแม้แต่กระป๋องเล็กๆก็แพงจนจดไม่ลง จึงคิดว่า “อดขนมปังดอกนะเจ้า ชีวาวาย ไม่ตายดอกเพราะอดคาเวียร์” จึงไม่ได้ซื้อ

สามีได้จองรถไว้เรียบร้อยแล้วจากโรงแรมให้ไปส่งที่สถานีรถไฟยาโรสลาเวิล (Yaroslavl) ซึ่งสร้างขึ้นใน ค.ศ.๑๙๐๒ ทับลงไปบนป้อมเก่าในสไตล์รัสเซียและเป็นสัญลักษณ์แรกเริ่มของรถไฟสายทรานไซบีเรีย สถานีของเมืองหลวงรัสเซียผิดกับสถานีรถไฟในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กลิบลับโดยเฉพาะในยามค่ำคืนที่มีอากาศเลวร้ายเช่นในคืนนี้

หลังจากที่ได้ช่วยยกกระเป๋าพาไปส่งถึงชานชาลาแล้ว คนขับก็ลาจากไป ทิ้งให้สองคนตายายเผชิญกับอากาศอันเย็นยะเยือกด้วยแรงลมแม้ว่าอุณหภูมิจะอยู่เพียงแค่ ๗ องศาเซลเซียสก็ตามเพราะที่ชานชาลาที่ต้องไปรอรถไม่มีหลังคาหรือกำแพงอย่างใดป้องกันลม โชคดีที่ฝนหยุดตกแล้วเหลือแต่ความเฉอะแฉะไว้รอบๆบริเวณ ฉันต้องเดินไปเดินมาเพื่อไม่ให้เท้าเป็นเหน็บ ทั้งๆที่ใส่รองเท้าบู๊ตและโค้ทหนามีหมวกคลุมหัวแถมถุงมืออีกต่างหาก

ชาวรัสเซียขนข้าวขนของพะรุงพะรังใส่มาในกระเป๋าพลาสติกลายสลับสี ที่เห็นกันตามสถานีรถไฟในเมืองจีนหรือสถานีรถขนส่งในต่างจังหวัดพวกเขาคงจะมีจุดหมายปลายทางที่เมืองเอียร์คุทซ์คเช่นเดียวกัน น่าแปลกใจที่แม้ว่าจะมีผู้โดยสารรออยู่มาก แต่ก็ไม่มีเสียงอึกกระทึกครึกโครมเซ็งแซ่อย่างที่ควรจะเป็นเช่นในบางประเทศ

ในที่สุดรถไฟเบอร์สองที่เรียก “Rossiya” ก็เข้าเทียบชานชาลา เจ้าหน้าที่ดูแลโบกี้ชั้นหนึ่งหรือ Provodnik ในภาษารัสเซีย คนนี้เป็นหนุ่มหน้าตาดีผมดำ ตาดำ มารู้ภายหลังว่าวาซิลี่ (Vasily) มาจากตระกูลยิปซี หลังจากตรวจหนังสือเดินทางและตั๋วเรียบร้อยแล้ว เขาก็ช่วยยกกระเป๋าเข้าไปไว้ในห้องซึ่งไม่ต่างไปจากห้องที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเท่าไรนักนับรวมไปถึงที่ไว้ของและเครื่องประดับห้องต่างๆ

รถไฟออกสามทุ่มยี่สิบสองนาที ตรงตามเวลาเหมือนรถไฟสวิสเลย เมื่อเดินออกมาที่ระเบียงยืนดูแสงไฟและอาคารบ้านเรือนที่ม้าเหล็กวิ่งผ่านแรกๆก็ยังมีบ้านเรือนตึกรามหนาแน่น ในที่สุดก็บางตาลงเห็นแต่สลัมเป็นแห่งๆ ไม่ช้าก็มี dacha “ดั๊ชช่า” บ้านเล็กบ้านน้อยสร้างด้วยไม้เรียงรายอยู่ทั่วไป

“ตามธรรมชาติดั๊ชช่านี่เป็นบ้านพักฤดูร้อนของคนรัสเซียใช่ไหมคะ?” ฉันเอ่ยถามเมื่อสามีเดินออกจากห้องมายืนข้างๆ ใต้เสื้อผ้าตุงนิดหน่อยด้วยกระเป๋าเล็กใส่หนังสือเดินทางและกระเป๋าเงิน ฉันเองก็ทำเช่นนั้นที่คาดกระเป๋าใส่หนังสือเดินทางและเงินไว้รอบเอวตลอดเวลาพร้อมไว้เสมอ หากมีเหตุอาจที่จะทำให้ต้องตกรถไฟ

“ใช่แล้ว ดั๊ชช่าส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังเล็กมีสวนหย่อมนิดหน่อยหรือต้นไม้ และมีส้วมอยู่นอกบ้าน มันเป็นความฝันของชาวมอสโกทุกคนที่จะมีที่พักในฤดูร้อน หรือในระหว่างหยุดสุดสัปดาห์เพื่อหนีความวุ่นวายของเมืองหลวง” สามีตอบ

ฉันนึกย้อนไปตอนที่นั่งแท็กซี่จากสถานีรถไฟไปโรงแรมเมโทรโพลตอนที่มาถึงมอสโกในตอนเช้าของวันพฤหัส รถแท็กซี่เป็นรถยี่ห้อเฟียตลาด้าป้ายดำ คนขับอัธยาศัยดี พูดภาษาอังกฤษได้เล็กน้อยเราสองคนจึงอยากจะว่าจ้างเอาไว้ระหว่างที่พักอยู่ที่มอสโกโดยไม่ต้องไปหาแท็กซี่ที่อื่น แต่โชเฟอร์บอกว่าเขามีเวลาเฉพาะวันนั้นเท่านั้น วันรุ่งขึ้นจะไปพักผ่อนที่ดั๊ชช่านอกเมือง

“ได้ข่าวว่าในระหว่างฤดูร้อน ๓ เดือนชาวมอสโกเป็นล้านๆสนใจอยู่เพียงอย่างเดียวว่าอากาศในช่วงวันสุดสัปดาห์จะเป็นอย่างไร” เขาเล่าต่อ “พวกขุนน้ำขุนนางและปัญญาชนในรัสเซียมีดั๊ชช่ากันมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติเสียอีก โดยมากมักจะเป็นมรดกตกทอดต่อๆกันมา แต่ในสมัยนี้ดั๊ชช่าหลายแห่งสร้างเป็นตึกใหญ่โตทำด้วยอิฐถือปูน มีรั้วล้อมรอบขอบชิด ยิ่งเป็นตึกใหญ่สร้างอยู่ในทำเลที่ดีเท่าไรก็ทำให้เจ้าของหรือ dachaniki มีหน้ามีตาขึ้นเท่านั้น ส่วนบริเวณที่ชอบสร้างกันมักจะเป็นเขตสวยๆเงียบๆบนเนินเขามีป่าละเมาะและลำธารไหลผ่าน”

ประมาณครึ่งชั่วโมงวาซิลี่ก็นำอาหารและเครื่องดื่มมาตั้งที่โต๊ะ ใช้ภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นบอกว่ากาแฟและชาที่ตั้งไว้ดื่มได้ฟรี น้ำร้อนมีอยู่พร้อมแล้วตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ในซาโมวา “samovar” กระติกน้ำร้อนที่ตั้งอยู่หน้าห้องของเขาที่ปลายโบกี้ หากต้องการเบียร์หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นเขาจะไปเอามาให้จากตู้เสบียง ความที่ฉันเกรงว่าจะได้รับบริการไม่ดีเท่าที่ควร เลยรีบเดินเข้าห้องไปหยิบช็อกโกเลตยี่ห้อ Toblerone ที่เอามาจากสวิสมาให้เป็นสินน้ำใจ วาซิลี่บอกขอบคุณแล้วบอกว่าชอบช็อกโกเลตของสวิส แต่ไม่ชอบของอเมริกัน แล้วก็เดินไปเข้าห้องของเขาซึ่งอยู่ร่วมกับผู้ช่วยซึ่งเป็นผู้หญิง provodnitsa คนนี้หน้าตาสวย พอๆกับความหล่อของวาซิลี่

รถไฟในรัสเซียหรือในเมืองจีนมักจะจัดห้องโดยไม่คำนึงถึงเพศว่าเป็นชายหรือหญิง ถ้าเป็นชั้นหนึ่งที่เป็นห้องสองเตียง หากเป็นผู้หญิงและมาคนเดียว ก็อาจจะพบว่าต้องอยู่ร่วมกับผู้โดยสารชายแปลกหน้า หรือรถไฟชั้นสองที่มี ๔ เตียง ก็อาจจะต้องอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าอีก ๓ คนก็ได้แต่ถ้าแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนและหากเขามีห้องว่างให้ เขาก็จะเปลี่ยนให้ไปอยู่กับเพศเดียวกันโบกี้ที่เราสองคนโดยสารมามีหญิงสาวชาวสวีเดนคนหนึ่งร่วมห้องกับชายมองโกเลียนตัวใหญ่คนหนึ่งทุกคนเรียกเธอว่า “สุภาพสตรีในชุดสีชมพู” เพราะหล่อนแต่งสีชมพูทุกวันและไม่กล่าวคำสวัสดีทักทายกับใครเลย ทั้งๆที่เดินผ่านไปใช้ห้องน้ำวันละหลายครั้งอีกสองสามวันต่อมา จึงได้รู้เหตุผลว่าทำไมหล่อนจึงไม่มีความสุขถึงปานนี้

เสียงคุยเป็นภาษาสเปนแว่วมาจากห้องติดกัน ไม่ช้าไม่นานประตูห้องก็เปิดออก มีหนุ่มและหญิงสาวคู่หนึ่งเดินออกมา ฉันยิ้มให้กล่าวเป็นภาษาอิตาเลี่ยนที่เคยเรียนมาว่า “Buona Sera” สวัสดีตอนเย็น ทั้งคู่ยิ้มแต้ก่อนกล่าวสวัสดีตอบเป็นภาษาเดียวกัน และบอกว่าเขาเป็นชาวสเปน ด้วยคำทักทายเพียงไม่กี่ประโยค ชาวสเปนจากมาดริดและชาวสวิสไทยก็กลายเป็นเพื่อนคู่หูกันตลอดเวลาที่โดยสารรถไฟไปด้วยกัน

Ignacio (อิ๊กนาชีโอ) หรือ นัชช่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่าสั้นๆว่าไอที และ Belen เบเลน เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภายใน แต่งงานกันได้สองสามปีแล้ว แต่ยังอยากจะท่องเที่ยวหาประสบการณ์ก่อนที่จะเริ่มตั้งครอบครัวมีลูก ทั้งคู่คงจะมีรายได้ดีพอสมควรจึงสามารถโดยสารรถไฟชั้นหนึ่ง และพักอยู่โรงแรมสี่ห้าดาวได้ ซึ่งต่างไปจากหนุ่มสาวส่วนใหญ่ทั่วไปที่หากจะเดินทางก็เป็นแบบพวก “backpackers” แบกของพะรุงพะรังเสียมากกว่า มีไม่กี่คนนักหรอกที่มีสตางค์แต่อยากจะหาประสบการณ์โดยไปเที่ยวแบบมีเป้ห้อยหลังให้ลำบาก คุยกันได้ไม่นานต่างก็ลากันไปนอนเพราะค่อนข้างจะดึกพอสมควร ฉันหลับไปด้วยความอ่อนเพลียภายใต้ผ้านวมนุ่มและอบอุ่นถึงแม้ว่าจะโดนรถไฟเขย่าไปตลอดทาง รู้สึกตัวเมื่อรถหยุดตามสถานีต่างๆเป็นระยะๆ ก่อนจะข้ามแม่น้ำวอลก้า (Volga) ที่นิชนี่ โนฟโกร้อด (Nizhny Novgorod) ไปยังอีกฟากหนึ่ง

นิชนี่ โนฟโกร้อด เป็นเมืองใหญ่ที่ ๓ รองลงมาจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโกพูดกันว่าถ้ายกนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้เป็นหัวของประเทศ มอสโกจะเป็นหัวใจและนิชนี่ โนฟโกร้อดก็เป็นกระเป๋า (เงิน) เพราะเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักผลิตยุทโธปกรณ์ที่ใช้ทางทหาร เป็นที่สร้างเรือใต้น้ำให้สหภาพโซเวียตในสมัยเมื่อ ๒๐ ปีมาแล้วในช่วงนั้นรัฐบาลโซเวียตได้ปิดเมืองไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าไป สาเหตุหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ชื่อ นาย Andrey Sakharov ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวโซเวียตถูกเนรเทศให้มาอยู่ที่นี่กับภรรยาคือ นางเยเลน่า (Yelena) ในปี ค.ศ.๑๙๘๐ ก็เพื่อทำงานด้านค้นคว้าในปัจจุบันผู้บริหารจังหวัดหัวใสอาศัยชื่อเสียงของเมืองที่เคยจัดงานแสดงสินค้านานาชาติจนเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักธุรกิจเป็นอย่างดี สนับสนุนให้บริษัทต่างประเทศมาลงทุนร่วมหรือ joint venture เพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของเมืองเป็นตุ๊กตาสีสวย matryoshka และสินค้าโคโคลม่า (Khokloma) ซึ่งเป็นช้อน ถ้วยและชามที่ทำด้วยไม้ทาสีทอง แดงและดำ มีรูปดอกไม้วาดทับแลเห็นวางขายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวอยู่ทั่วไป

วันรุ่งขึ้นฉันรีบตื่นแต่เช้าไปใช้ห้องน้ำก่อนใคร รู้สึกแปลกๆที่ไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกายเช่นทุกวันในตอนเช้า ได้แต่ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กที่เขาจัดไว้ให้ลูบตัว เสร็จธุระแล้วจึงมาเรียกสามีให้ไปเข้าห้องน้ำ ฉันเดินตัวโคลงไปเอาน้ำร้อนจากซาโมว่ามาชงกาแฟ ในขณะที่นั่งกินอาหารเช้า มองออกไปนอกหน้าต่างยังเห็นอะไรไม่รู้สู้ชัดนักเพราะอากาศยามเช้าตรู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงยังขมุกขมัวด้วยหมอก

ตกสายอีกหน่อยเมื่อพระอาทิตย์เริ่มจะโผล่พ้นท้องฟ้า ก็แลเห็นต้นเบิร์ช (Birch) ที่สลัดใบจนโกร๋นขึ้นสลับกันต้นสนที่ขึ้นสลอนเรียงรายอยู่ตามสองข้างทาง ป่าไม้พวกนี้คงจะปลูกไว้สำหรับป้องกันลม (Windbreaker) และพายุ

ไม่กี่ชั่วโมงรถไฟเริ่มไต่ขึ้นไปบนเนินเขาหากไม่สังเกตให้ดีจะไม่รู้สึก ถ้าไม่คอยดูทิวทัศน์เหนือยอดไม้ แลเห็นกระท่อมไม้แบบ log cabin ทาสีชมพู ฟ้าและน้ำเงินเป็นระยะๆ บางแห่งมีประตูและหน้าต่างสลักอย่างงดงาม

นั่งดูเพลินๆรถไฟก็จอดที่สถานีบาลีเอสซิโน (Balyezino) ๒๐ นาที เพื่อเปลี่ยนหัวจักรและอนุญาตให้ช่างตรวจดูความเรียบร้อยภายใต้ท้องรถ ผู้โดยสารถือโอกาสลงจากรถไปเหยียดแข้งเหยียดขาและสูดอากาศบริสุทธิ์ภายนอกตัวรถหลังจากที่อุดอู้มากว่าหนึ่งคืนหนึ่งวัน ฉันใส่เสื้อแจ็คเก็ตและเปลี่ยนจากรองเท้าแตะที่ใส่ในรถเป็นรองเท้าบู๊ต ลงไปบนชานชาลาบ้าง ได้แต่เดินไปมา ไม่กล้าเดินไปไกลนักเพราะกลัวจะตกรถ ค่าที่อ่านเรื่องเลวร้ายของรถไฟสายนี้มามากก่อนออกเดินทาง ฉันเอากระเป๋าที่ใส่หนังสือเดินทาง ตั๋วและเงินคาดเอวติดตัวไปด้วยและกำชับให้สามีทำตาม ในขณะที่ผู้โดยสารจากชั้นสองรีบเดินไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่วางขายบนชานชาลามาเก็บตุนเอาไว้ เพราะถูกกว่าที่ขายบนรถเสบียง โดยมากก็เป็นอาหารจำพวกไส้กรอกและซาลามี่

ภูมิประเทศในแถบนี้ ชวนให้ระลึกถึงหนังเรื่อง ดร.ชิวาโก เป็นที่สุด ด้วยความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวแลดูเวิ้งว้าง มีหิมะจับอยู่บนพื้นดินและบนยอดไม้ ฉันจับความจากวาซิลี่ได้ว่ามีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากในแถบนี้ที่ต้องขุดรูสร้างบ้านอยู่เพื่อหนีความหนาว รถไฟวิ่งผ่านเทือกเขาอูราล “Ural Mountains” ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ แต่ทางที่รถไฟผ่านมีความสูงไม่เกิน ๕๐๐ เมตร จึงยากที่จะรู้ว่ากำลังข้ามภูเขาขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ตกเย็นนัชช่าและเบเลนเดินมาคุย “วาซิลี่จะเอาอาหารเย็นมาเสิร์ฟไหมครับนี่?” นัชช่าอยากรู้ “ผมกับเบเลนหิวแล้วละ คุณสองคนไม่หิวหรือ?”

“ก็ไม่รู้เหมือนกัน ประเดี๋ยวค่อยถามวาซิลี่ รอให้เขาเดินมาก่อน แต่ตอนนี้เรามาดื่มว้อดก้าเรียกน้ำย่อยกันดีกว่า” สามีเชิญพร้อมกับหยิบเอาชุดแก้วสำหรับใส่ว้อดก้าเล็กๆที่ทำด้วยโลหะออกมาจากกระเป๋าหนังกลม ในขณะที่ฉันหยิบเอาขนมปังแห้งออกมาใส่จาน “คุณสองคนต้องเรียนวิธีอดอาหารให้ชินก่อนไปมองโกเลีย” ฉันบอกยิ้มๆเพราะรู้ว่าสองคนนี่จะไปที่อูลันบาทาร์ (Ulaan Bataar) เมืองหลวงของมองโกเลียนอก Outer Mongolia หลังจากไปหยุดพักที่เมืองเอียร์คุทซ์คแล้ว “ตอนฉันไปอดแทบตาย เพราะกินอาหารเขาไม่ลง ได้แต่อาศัยกินขนมปังกรอบกับเนยถั่วแก้หิว”

“คุณชอบมอสโกไหม?” เบเลนถาม

“ชอบสิครับ วิหารอารามเก่าๆสวยและน่าสนใจ แต่รู้สึกว่ามีอะไรต่ออะไรใหม่ๆเกิดขึ้นแยะเหมือนกันนะครับ” สามีตอบ “แล้วคุณล่ะชอบไหม”

“ชอบครับ ผมละเบเลนเคยไปเที่ยวมาครั้งหนึ่งแล้ว จริงอย่างที่คุณพูด มอสโกมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นแทนของเก่า นี่ก็เป็นเพราะผู้ว่าราชการคนใหม่ของมอสโกนั่นเอง” นัชช่าตอบ “ตั้งแต่นายยูรี ลุชคอฟ (Yuri Lazhkov) ได้ครองตำแหน่งนี้เมื่อ ค.ศ.๑๙๙๒ แกก็เปลี่ยนโฉมหน้ามอสโกไปเยอะแยะ อาจจะเป็นเพราะแกขี้เหร่ก็เป็นได้เพราะตัวเล็กอ้วน แถมหัวล้านอีกต่างหาก จึงต้องทำอะไรต่ออะไรให้เป็นจุดเด่นเพื่อเรียกร้องความสนใจจากชาวเมืองหลวง และแกก็ทำได้สำเร็จด้วย เข้าถึงประชาชน และตั้งแต่ได้ตำแหน่งมา แกก็สั่งการให้บูรณะทุกอย่างในเมืองตั้งแต่ถนน จนถึงตึกรามบ้านช่องและวัดวาอาราม แม้แต่มหาวิหาร Christ the Saviour ก็สร้างขึ้นมาใหม่แทนของเก่า คุณคงเห็นแล้วใช่ไหม?”

“เห็นแล้วครับ” สามีตอบ “อ๋อ นายคนนี้นี่เองที่สั่งให้ นายซารุบ เซเรทเทลลี่ สถาปนิกซึ่งเป็นเพื่อนแกสร้างอนุสาวรีย์มหึมาของซาร์ปีเตอร์ไว้บนเรือ จนเป็นที่ฮือฮากันไปทั่ว”

“ใช่แล้วครับ ไม่ใช่แต่เพียงอนุสาวรีย์แห่งนี้แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสถานที่แห่งอื่นอีกที่แกสร้างและก่อความไม่พอใจให้คนหลายคน”

วาซิลี่เดินมา นัชช่าจึงถามถึงอาหารเย็นเขาบอกว่าเขาเสิร์ฟแต่อาหารเช้าและกลางวันเท่านั้นหากต้องการอาหารเย็นต้องเดินไปกินที่รถเสบียงฉันจึงเปิดกระป๋องเอาคอร์นบีฟออกมากินกับขนมปังกรอบและเชิญชวนให้ทั้งคู่กินร่วมกัน ทั้งสี่คนจึงเลยนั่งดื่มว้อดก้าแกล้มอาหารคุยกันสนุกจนถึงเวลาเข้านอน

บ้านเกิดของ นายบอริส เยลซิน

เมื่อมีความรู้สึกว่ามีแสงสว่างจ้าส่องเข้ามาทางหน้าต่างหัวนอนที่เปิดม่านทิ้งไว้ ลืมตาลุกขึ้นชะโงกดู เห็นหิมะกำลังตกหนัก พื้นที่ปกคลุมไปด้วยหิมะสีขาวโพลนจึงแลดูสว่างไสว รถไฟจอดเทียบชานชาลาหน้าสถานีสีขาวใหญ่โตแห่งหนึ่ง นาฬิกาใหญ่ที่แขวนไว้บนกำแพงข้างฝาตอนหน้าบอกเวลาห้าทุ่มครึ่ง แลเห็นผู้คนซึ่งคาดว่าคงจะเป็นผู้โดยสารแต่งกายรัดกุมด้วยเสื้อโค้ทและหมวกไหมพรมเดินกันอย่างรีบเร่ง ดูไปที่ป้ายสถานีก็อ่านไม่ออกเพราะเขียนเป็นภาษาซีริลลิคที่ใช้กันในยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ฉันจึงลุกขึ้นนั่งแล้วเปิดไฟหัวเตียงหยิบปากกาและกระดาษออกมาจดเอาไว้ ย่องออกไปนอกห้องแล้วเปรียบเทียบตัวอักษรกับตารางบอกเวลาของรถไฟดูก็รู้ว่าเป็นเมืองใหญ่ชื่อ เยคาเทอริ่งเบอร์ก (Yekateringburg)

ฉันรีบปลุกสามีด้วยความตื่นเต้นเพราะเมืองนี้เป็นบ้านเกิดของ นายบอริส เยลซิน ประธานาธิบดีคนก่อนของรัสเซีย เป็นจุดศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยในเขตนี้ของเทือกเขาอูราลเคยเป็นข่าวใหญ่ในปี ค.ศ.๑๙๙๐ เรื่องที่พวกมาเฟียฆ่ากันนองเลือด ซาร์ปีเตอร์มหาราชตั้งเมืองนี้ขึ้นใน ค.ศ.๑๗๒๓ เพราะรวยด้วยแร่ธาตุต่างๆโดยเฉพาะทอง พระองค์ขนานนามเมืองนี้ตามชื่อของพระมเหสีคือจักรพรรดินีแคทรีน ที่ ๑ และตามชื่อของนักบุญอุปถัมภ์แร่ธาตุ อีก ๑ ปีต่อมา พระองค์จับได้ว่าพระมเหสีมีชู้ จึงได้ตัดหัวชู้รักดองไว้ในไหที่ใส่น้ำยาสำหรับล้างแผลผ่าตัด แล้ววางไหไว้ในห้องบรรทมของพระนาง

ตอนที่มีการขุดอุโมงค์สร้างรถไฟใต้ดินเมโทรที่เยคาเทอริ่งเบิร์ก ใน ค.ศ.๑๙๘๐ เขาได้พบแร่ทองคำ จึงได้ใช้สำหรับเป็นทุกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอย่างสบาย

แต่ประวัติที่นองเลือดของเมืองนี้มีมาตั้งแต่ระหว่างปฏิวัติของพวกบอลเชวิคที่ได้จับเอาพระเจ้านิโคลาส ที่ ๒ กับพระมเหสีและพระโอรสพร้อมทั้งธิดามากักกันตัวไว้ที่นี่ และในที่สุดก็ถูกปลงพระชนม์เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.๑๙๑๘ อีก ๖ ปีให้หลังเมืองก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เซเวิร์ดโลฟสค์ (Sverdlovsk) ตามชื่อของหัวหน้าพรรคบอลเชวิคคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินการ แต่พอมาปี ค.ศ.๑๙๙๑ เมืองนี้ก็ได้กลับไปใช้ชื่อเดิมอีก อย่างที่เกิดเป็นประจำในประเทศนี้