ขี่ม้าเหล็กข้าม ไซบีเรีย ตอนที่3

สุสานที่ฝังศพนายครุชอฟก็อยู่ใกล้กันไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุไร รัฐบาลโซเวียตรัสเซียในสมัยนั้นมีความเห็นว่านายครุชอฟไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะไปฝังอยู่ที่กำแพงเคร็มลินร่วมกับผู้นำคนอื่นๆ จึงให้ฝังอยู่กับภรรยาคนที่ ๒ ของสตาลินที่นี่ มาดามสตาลินฆ่าตัวตายในปี ค.ศ.๑๙๓๒ คนสำคัญอีกคนหนึ่งที่มีหลุมศพอยู่ที่นี่ก็คือ นางเรซ่า กอบาชอฟ ภริยาของนายมิคาเอ็ล กอบาชอฟ ที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งในเม็ดเลือดขาวในปี ค.ศ.๑๙๙๙

สามีเดินไปเข้าคิวซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปชมเคร็มลิน ในขณะที่ฉันเดินไปฝากกระเป๋าที่หอคอย “คูทาฟยา” (Kutafya) เพราะเขาห้ามเอากระเป๋าเข้าไปข้างใน แม้แต่จะนุ่งกางเกงขาสั้นก็ไม่ได้

“คุณรู้ไหมว่า เคร็มลินนี่ไม่ได้มีเฉพาะในมอสโกเท่านั้นนะ เมืองเก่าอื่นๆก็มี” สามีทำหน้าที่เป็นไกด์แทนนายอิกอร์

“เคร็มลินเป็นศูนย์กลางทางการเมืองในรัสเซียทุกแห่งรวมถึงกรุงมอสโกด้วย เคร็มลินในมอสโกไม่ได้มีความหมายเฉพาะชาวเมืองหลวงเท่านั้น แต่มีความหมายสำหรับคนรัสเซียทั้งประเทศด้วย เคร็มลินที่เราเห็นอยู่นี้ สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.๑๑๕๐ เป็นป้อมปราการเมืองที่สร้างขึ้นด้วยไม้ ต่อมาได้ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของโบสถ์รัสเซีย เคร็มลินมีประวัติมากมาย เป็นสถานที่พระเจ้าซาร์ทั้งหลาย ตลอดจนถึงผู้เผด็จการรวมไปถึงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีในระบบประชาธิปไตยได้ใช้เป็นที่บัญชาการทำสิ่งที่ทั้งดีและไม่ดีให้กับประเทศ” สามีใช้คำว่า “do their best and worst for Russia”

เท่าที่เห็นเคร็มลินมีกำแพงสูง ล้อมรอบอาณาบริเวณสามเหลี่ยมทางเหนือของแม่น้ำมอสโกขึ้นไปบนเนินเขาเล็กน้อย ฉันทำการบ้านมาบ้างแล้วจึงรู้ว่า เคร็มลินมีความยาวประมาณสองกิโลเมตรกว่าๆ

เราทั้งคู่เดินเข้าไปภายในบริเวณซึ่งมีสถานที่ราชการ มีพิพิธภัณฑ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นวังของพระสังฆราช มีวิหาร วัดวาอารามต่างๆเช่น โบสถ์อัสสัมชัญ ซึ่งมีโดมสีทอง ๕ โดมหอระฆังของซาร์อีวาน “ผู้เหี้ยมโหด” ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดภายในเคร็มลิน ก่อนหน้านี้ทางการห้ามไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างที่สูงกว่านี้ในกรุงมอสโก

“น่าเสียดายนะคะ ที่ซาร์อีวาน ที่ ๔ ถูกขนานนามแบบนี้ เพราะพระองค์ก็ได้ทำคุณงามความดีให้กับประเทศไว้มาก ก่อนที่พระมเหสีพระองค์แรกจะสิ้นพระชนม์” ฉันปรารภ “ทรงเชื่อว่าพระนาง ‘อานาสตาเซีย’ ถูกวางยาพิษ ความที่โปรดมากเลยคลุ้มคลั่ง จากที่เคยเป็นคนมีความสุขในชีวิตคู่ ก็กลายเป็นคนดุร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าจะมีมเหสีต่อมาอีกถึง ๕ พระองค์แต่ก็ไม่มีความสุขเลย การครองราชย์เปลี่ยนจากดีไปเป็นการปกครองที่น่าสะพรึงกลัว แม้แต่มกุฎราชกุมารที่ชื่อ ‘อีวาน’ ยังถูกพระองค์ฆ่าทิ้งเสียเลยตอนพิโรธจัดจนลืมพระองค์”

“แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังให้ความเคารพนับถือ เพราะพระองค์ทรงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้มาก” สามีพูด “เราอย่าเพิ่งมาคุยกันถึงซาร์อีวานเลย เข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ ‘อาร์เมอรี่’ (Armoury) กับ ‘Diamond Fund Exhibition’ กันก่อนดีกว่า ก่อนจะมีคิวยาวกว่านี่ ผมซื้อตั๋วไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อเช้านี้” เขาตัดบท

“โอ มายบูดด้า” (Oh my Buddha) ฉันอุทาน เมื่อเข้าไปเห็นความโอ่โถงของพิพิธภัณฑ์ “เราจะเริ่มดูกันที่ไหนก่อนดี?” ฉันปรารภมากกว่าจะเป็นคำถาม แต่ก็เดินไปตามลูกศรชี้มีเชือกแดงกั้น และควักหนังสือออกมา ประกอบกับที่เคยดูหนังสือสารคดีเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงได้เห็นของที่อยากเห็นสมใจ เช่น ไข่อีสเตอร์ที่ทำด้วยเพชรพลอยอันมีค่าโดยช่างเพชร Faberge เปิดให้เห็นนาฬิกาบรรจุรถไฟสายทรานไซบีเรียเล็กกระจิ๋วหลิวที่ทำด้วยทอง มีหัวจักรทำด้วยทองขาวและไฟหน้ารถทำด้วยทับทิม เห็นที่ประทับตอนพิธีบรมราชาภิเษกของซาร์ปีเตอร์มหาราชองค์น้อยและพระอนุชาต่างมารดา มีช่องลับสำหรับให้โซเฟียที่เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการคอยกระซิบทูลข้อความถวาย มีเสื้อคลุมหลายชุดที่ฝังเพชรอันหาค่ามิได้ และทรัพย์สมบัติอื่นๆจาระไนไม่หวาดไม่ไหว ต้องไปดูเอาเอง

ในห้องเบอร์ ๙ สิ่งที่ติดใจคือพระราชรถเลื่อน ที่ใช้ม้าลากถึง ๒๘ ตัวในแต่ละครั้ง ใช้ม้าเปลี่ยนทั้งหมด ๘๐๐ ตัว พระนางเจ้าเอลิซาเบธทรงประทับนั่งรถเลื่อนที่สลักเสลางดงามนี้มาจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจนถึงกรุงมอสโกเพื่องานพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์

ความจริงดูแค่นี้ฉันก็ตาลายเวียนหัวไปหมดแล้ว แต่เสียดายตั๋วที่ยังเหลืออีกใบสำหรับเข้าไปดู “ห้องเพชร” ซึ่งอยู่ในตึกเดียวกัน เลยชวนสามีให้ขึ้นบันไดไปอีกทางหนึ่ง ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจอีกครั้งหนึ่ง ภายในห้องมีโคตรเพชรที่เจียระไนแล้วแสดงให้ดูมากมาย แต่ที่ดูแล้วฉันต้องถอนใจกับความใหญ่โตของมัน ก็คือเพชรน้ำหนัก ๑๐๙ กะรัต ที่ “กรีกอรี่ ออร์โลฟ” (Grigory Orlov) ชู้รักคนหนึ่งของแคทรีนพระมหาราชินีประทานให้กับพระองค์

“พูดแล้วเหมือนริษยานะคะ ต่อให้เรามีทรัพย์สมบัติแค่ไหนก็ต้องตายด้วยกันทุกคนแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้” ฉันปลงอนิจจัง “มีคนไทยที่ฉันเคารพมากคนหนึ่งเป็นคนที่รวยจริงไม่ใช่รวยแต่เปลือก บอกฉันว่า จะมีบ้านหลังใหญ่สักกี่หลังก็จะอยู่ได้ทีละหลังเดียว หรือจะมีกี่เตียงก็นอนได้ทีละเตียง จะมีจานฝังเพชรกี่จานก็จะกินได้ทีละจานเดียว แล้วจะไปโลภทำไม? ฉันจำได้เสมอ ไม่เคยลืม” แล้วเธอผู้นี้ก็สมถะจริงๆ ไม่หลงใหลได้ปลื้มกับทรัพย์สมบัติตน

“นั่นสิ เราถึงอยู่ด้วยกันมานานแค่นี้ไงหากคุณอยากได้โน่นได้นี่เหมือนบางคน ผมคงไม่มีปัญญาไปหามาให้ แล้วเราก็คงจะทะเลาะกันทุกวัน ไม่มีความสุข” สามีตอบเบาๆ คงจะปลงเหมือนฉัน “คิดไปแล้วก็สงสารคนรัสเซีย แต่ก่อนก็ถูกกดขี่โดยพระเจ้าแผ่นดินของตนเอง ต่อมาก็โดนโขกสับโดยผู้เผด็จการและการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จนแทบจะหาความสุขไม่ได้ และคิดอะไรเองไม่ค่อยจะเป็นเมื่อมาถึงระบอบประชาธิปไตย เพราะเคยชินกับการถูกบงการให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ก็มีข้อดีมากอย่างหนึ่งคือทำให้คนรัสเซียอ่านหนังสือมาก เมื่อไม่มีเครื่องบันเทิงอย่างอื่นในชีวิต ก็แต่งเพลง แต่งบทกลอนและบทกวี จึงมีนักแต่งเพลง กลอน และกวีมากมายจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ที่ดีอีกอย่างก็คือ ระบบการศึกษาของรัสเซียดีมาก ประชาชนอ่านออกเขียนได้ถึง ๙๘ เปอร์เซ็นต์” ฉันเหลือบตามองสามีอย่างแปลกใจที่เขาช่างอธิบายยืดยาว

เรายืนเข้าคิวกันนาน กว่าจะได้เข้าไปถึงจุดตรวจที่จะเข้าไปดูมัมมี่ของเลนินได้ เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้สามีเข้าไปเพราะมีมือถือแบบที่ถ่ายรูปได้ในที่สุดฉันก็ต้องเข้าไปดูคนเดียว “ใครจะอยากเข้าไปดูมัมมี่แบบนั้น ดูมาพอแล้วที่อียิปต์” สามีบ่นอย่างหัวเสียที่ต้องรอนานแถมยังไม่ได้เข้าไปอีกต่างหาก

เมื่อกลับออกมาก็บอกไปว่าไม่ได้ดูก็ไม่น่าเสียดายอะไร เพราะได้เห็นเลนินแต่เพียงแวบเดียว นอนเหมือนรูปปั้นขี้ผึ้งตัวนิดเดียว ที่ห้ามถือกล้องเข้าไปก็เกินไปนิด ใครจะไปถ่ายรูปได้ในเมื่อทหารรักษาการณ์ยืนตรงเฝ้าอยู่ทุกซอกมุมสมัยนี้ใครมีสตางค์เหลือใช้อยากจะเป็นมัมมี่เก็บไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชม ก็เอาเงินไปจ้างให้เขาทำได้ไม่กี่ล้านดอลลาร์หรอก บรื๊อส์

ข้างหลังตึกที่เป็นสุสานของเลนินเป็นหลุมฝังศพของสตาลิน เบรชเนฟ และผู้นำคอมมิวนิสต์สำคัญๆอีกหลายคน หลังจากนั้นเราสองคนก็เดินอ้อมไป “จัตุรัสแดง” ที่ใครๆก็รู้จักและเคยได้เห็นผ่านตาในโทรทัศน์หรือรูปภาพมาแล้ว “Krasnaya Plosshchad” หรือจัตุรัสแดงอยู่ทางเหนือนอกกำแพงเคร็มลิน ที่เห็นได้แต่ไกลคือ วิหารเซนต์เบเซิล St. Basil’s Cathedral ใครที่ได้เห็นวิหารนี้เป็นครั้งแรกก็อดที่จะสะดุ้งไม่ได้ ด้วยสีสันอันฉูดฉาดบาดตา วิหารแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของรัสเซียที่ไม่มีอะไรจะเหนือไปกว่านี้อีกแล้ว

ซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหดทรงสร้างวิหารนี้ขึ้นในปี ค.ศ.๑๕๕๕ ถึง ๑๕๖๑ เพื่อฉลองชัยชนะที่ยึดเอาที่มั่นของพวกทาร์ทาร์ได้ที่เมือง “คาซาน” (Kazan) เป็นสถาปัตยกรรมที่พัฒนามาจากการสร้างแบบไม้ของรัสเซีย เล่าขานกันว่าซาร์อีวานได้สั่งให้คนปิดตาสถาปนิกเพื่อว่าเขาจะได้ไม่สร้างอะไรที่เลียนแบบเช่นนี้ได้อีก ก่อนจะสร้างวิหารแห่งนี้ขึ้น ซาร์อีวานได้ทรงสารภาพความผิดต่างๆของพระองค์ใน ค.ศ.๑๕๔๗ วิหารเซนต์เบเซิลได้ชื่อมาจากพระสงฆ์ชื่อ “วาซิลี่” หรือ “เบเซิล” ผู้ประเสริฐ ที่ได้ทำนายในขณะที่ซาร์อีวานยกกองทัพไปตี “คาซาน” ว่าพระองค์จะฆ่าลูกชาย แล้วคำทำนายก็เป็นจริง ร่างของวาซิลี่ถูกฝังอยู่ที่ใต้วิหารนี้ ต่อมาพระวาซิลี่ก็ได้รับการสถาปนาให้เป็น “นักบุญ”

ข้างหน้าทางเข้าประตูวิหารเป็นอนุสาวรีย์ของผู้ขายเนื้อและเจ้าชายอีกองค์หนึ่ง ทั้งสองได้ร่วมใจกันไล่ทหารชาวโปแลนด์ที่ยึดเคร็มลินอยู่ออกไปในปี ค.ศ.๑๖๑๒ ถัดไปอีกเล็กน้อยเป็นบริเวณกลมๆที่ดูเหมือนบ่อน้ำล้อมรอบด้วยกำแพงเตี้ยๆ มีบันไดขึ้นไปห้าหกขั้น สำหรับใช้เป็นที่ประหารนักโทษ เรียกว่า “สถานที่ที่เต็มไปด้วยหัวกะโหลก” ซาร์อีวานชอบนั่งในที่ประทับพิเศษที่อยู่ในวังฝั่งตรงกันข้ามเพื่อทอดพระเนตรนักโทษถูกประหารชีวิต และซาร์ปีเตอร์มหาราชก็ได้ใช้ที่เดียวกันนี้เป็นที่ประหารพวกกบฏ

เราพากันเดินไปจนสุด “ถนนนิโคลาส” จึงได้เห็นตึกสีเทาหลังหนึ่ง ซึ่งนายอิกอร์บอกว่าในสมัยโซเวียตรัสเซียผู้คนเรียกตึกหลังนี้ว่า “บริษัทท่องเที่ยวไซบีเรีย” เพราะเป็นตึกสำนักงานใหญ่ของพวกเคจีบี (KGB) ในสมัยก่อน พอได้ยินชื่อใครๆก็ขนหัวลุกกันทั้งนั้น เพราะกลัวจะถูกจับเข้าคุกในไซบีเรียด้วยข้อหาเพียงเล็กน้อย

“เราลงไปดูรถไฟใต้ดินเมโทรกันดีกว่านะ” สามีเอ่ยชวน “เขาบอกว่ามีถึง ๑๒๐ สถานีเชียวนะ และรางก็ยาวถึง ๒๕๐ กิโลเมตร และยังเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ในหนังสือบอกว่าเมโทรของกรุงมอสโกเป็นหนึ่งใน ‘มหัศจรรย์’ ของเมือง มีทัวร์นำเที่ยวด้วย แต่เราไปกันเอาเองก็ได้ดูแผนที่เอา” สามีสนใจเพราะพื้นเพเป็นวิศวกร “สถานีแรกเปิดตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๓๕ โดยมี นายนิกิต้า ครุชอฟ เป็นผู้บงการ ใช้คนงานเยอะแยะสร้างกันทั้งวันทั้งคืนไม่มีหยุด ทำกันแทบตายกว่าจะขุดอุโมงค์ได้ ต้องลำบากกันเลือดตาแทบกระเด็น เพราะนายครุชอฟแกกลัวลูกบอมบ์ของสหรัฐฯ สถานีแรกๆที่สร้างจึงลึกมาก แกอยากจะใช้เป็นหลุมหลบภัยด้วย แต่ถึงจะขุดให้ลึกแค่ไหนก็เห็นจะหนีลูกบอมบ์นิวเคลียร์ของสหรัฐฯไม่พ้นหากจะใช้บอมบ์กันจริงๆ”

“ไปก็ไป” ฉันเอาใจ “แต่แน่ใจนะคะว่าจะไม่หลง ฉันละไม่ค่อยจะชอบขึ้นเลยเมโทรนี่อึดอัดจะตาย นั่งนิดๆหน่อยๆละก็ได้ อยู่นานๆจะเป็นลม”

สามีเลือกสถานีที่น่าสนใจได้ ๗ แห่งแล้วก็ซื้อตั๋วแบบวงกลม Circular Line สถานีเมโทรที่ฉันเห็นว่าน่าดูจริงๆมีอยู่ ๕ แห่ง รูปแกะสลักส่วนใหญ่ที่แสดงมักจะเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศ ของสงคราม แสดงภาพประชาชนที่อยู่ใต้การปกครองของโซเวียตมีชีวิตที่ดีมีความสุขหรือไม่ก็เป็นภาพรวมๆกัน ซ้ำๆซากๆ แต่ว่าการสลักเสลารูปภาพประกอบไม่ว่าจะเป็นด้วยหินอ่อนหินกระเบื้อง สถานีที่เต็มไปด้วยรูปปั้นทองสัมฤทธิ์หรือว่าเพดานที่ตกแต่งด้วยเชิงเทียนคริสตัลห้อยย้อยสลับด้วยโลหะสีทอง เป็นศิลปะที่น่าชมยิ่ง ฉันไม่ผิดหวังที่ต้องไปอุดอู้เป็นคนใต้ดินอยู่ถึงกว่า ๑ ชั่วโมง ออกมาแล้วก็ยังงงๆอยู่ว่าชาวมอสโกใช้เมโทรกันถึง ๙ ล้านคนต่อวันได้อย่างไร

เราโผล่ขึ้นมาที่สถานีเดิมที่จัตุรัสแดงอีกครั้ง หายใจเอาอากาศเย็นเข้าปอดอีกครั้งแล้วก็ชวนกันเดินไปที่ GUM อันเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่ทันสมัยของประเทศ เมื่อก่อนเคยถูกประณามว่าเป็นแหล่งชั่วร้ายของนักช็อปชาวโซเวียต ทั้งๆที่ร้านรวงมีแต่ชั้นวางของว่างเปล่าไม่มีของให้ซื้อแต่หลังจากที่ นายมิคาเอล โกบาชฟ ได้ประกาศนโยบาย Glasnost ความโปร่งใส และPerestroika การปรับปรุงบูรณะเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ร้านรวงทั้งหลายก็ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย มีข้าวของแบรนด์เนมทั้งในประเทศและต่างประเทศวางกันแน่นขนัด ฉันสังเกตว่าหญิงสาวชาวเมืองหลวงหรือ “Devushki” แต่งตัวตามแฟชั่นผิดกับหญิงมีอายุ “Babushkas” ที่โพกหัวนั่งอยู่ตามเชิงบันไดเลื่อนของสถานีเมโทรอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สมัยที่ปกครองโดยโซเวียตคอมมิวนิสต์ ความเป็นอยู่และการแต่งกายคงจะไม่ผิดกันเท่าไร

ภายในปาร์คติดกับกำแพงเคร็มลินด้านตะวันตกบรรจุกระดูกของทหารนิรนามที่ตายในการรบกับทหารเยอรมันในปี ค.ศ.๑๙๔๑ ที่กิโลเมตรที่ ๔๑ ห่างจากมอสโกและเป็นที่ใกล้ที่สุดที่ทหารเยอรมันเข้าถึงมอสโก มีไฟชั่วนิรันดร์จุดไว้และมีทหารยามคอยเปลี่ยนเวรยืนเฝ้า ตรงกันข้ามลงบันไดใต้ดินไปเล็กน้อยมีผับแบบอังกฤษ มีเก้าอี้นวมหนังนั่งสบายๆ ฉันและสามีจึงถือโอกาสไปนั่งพักผ่อนกินแซนด์วิชและดื่มเบียร์เย็นๆแก้หิวและแก้เมื่อย ก่อนจะชวนกันเดินต่อไปจนถึงถนนอาร์บัท “Arbat”

“เดินมาเสียเวลาเปล่านะคุณ ไม่เห็นมีร้านรวงแบกะดินเท่าไรเลย อาจจะเพราะเรามาผิดฤดูก็ได้ หน้าร้อนคงแน่นทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อของถูก แต่ยังดีได้เห็นบ้านและตึกเก่าๆบ้าง เขาบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งที่อาศัยของศิลปินไม่ใช่หรือ” ฉันพูดขึ้นตอนที่เดินผ่านบ้านและรูปปั้นของนายอเล็กซานเดอร์ พุชคินกวีเอกของรัสเซีย ประวัติของเขาคล้ายคลึงกับกวีเอกสุนทรภู่ของไทย เพราะแม้ว่าจะเก่งกาจในทางกวีแต่ก็ติดจะชอบน้ำเมาและสตรีอยู่สักหน่อยเท่าที่ฉันจำได้นายพุชคินถูกยิงตายจากการดวลปืนด้วยเรื่องผู้หญิงตั้งแต่อายุยังไม่ถึงห้าสิบปีเลย พิพิธภัณฑ์ของเขามีอยู่ทั้งที่นครเซนปีเตอร์สเบิร์กและที่มอสโก วันที่ไปเที่ยวมีครูพาลูกศิษย์เข้าแถวยาวเหยียดรอเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ก่อนเข้าต้องเปลี่ยนใส่รองเท้าแตะที่เขาจัดไว้ให้ ใส่แล้วเดินก็ลำบาก ฉันใส่ไม่ค่อยจะเป็นก็เดินลากแกรกๆเข้าไปคนเดียวเพราะสามีไม่ยอมเข้าไปด้วย

พอเดินไปสุดถนนอาร์บัท ก็เห็นตึกที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งใน “พี่สาวและน้องสาว ๗ คนของสตาลิน” ที่รู้ว่าเป็นกระทรวงนี้ก็เพราะดูแผนที่ไม่เช่นนั้นก็คงจะแยกไม่ถูกกับตึกอื่นๆ เพราะเป็นสไตล์สตาลินเหมือนกันดิก ตอนเย็นกลับโรงแรมอาบน้ำอาบท่าแต่งชุดเก่ง ไปชมโอเปร่าที่โรงละครบอลชอยเรื่อง “ยูจีน” Eugene ในภาษาอังกฤษหรือ Onegin ในภาษารัสเซีย แต่งโดย นายอเล็กซานเดอร์ พุชคิน กวีที่ฉันไปชมพิพิธภัณฑ์ของเขามา มีดนตรีของไชคอฟสกี้ Tchaikovsky ประกอบ โรงละครบอลชอยสวยมาก แบ่งเป็น ๖ ชั้น งดงามด้วยสีทองเป็นประกายระยิบระยับเมื่อต้องด้วยโคมไฟ เสียดายที่ไม่ได้เอากล้องไปเพราะคิดว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูป แต่ปรากฏว่าให้ถ่ายได้ภายในโรงละครก่อนการแสดง ฉากประกอบแต่ละฉากก็จัดไว้อย่างดีเยี่ยมและสมจริงสมกับเป็นโรงละครที่ถูกกล่าวขวัญไปทั่วโลก

“คิดว่าคนที่ประเทศนี้จะดูโอเปร่าเป็นเสียอีก” ฉันกระซิบกระซาบกับสามีในตอนหนึ่ง “คุณหมายความว่ายังไง?” เขาถามงงๆ “ทำไมเขาถึงปรบมือตอนที่ผู้แสดงหยุดร้องเพลงล่ะคะแถมยังเป่าปากร้องบราโว บราโว (Bravo Bravo) ขัดจังหวะเสียอีก ตามธรรมเนียมจะต้องรอให้ม่านลงปิดฉากเสียก่อนถึงจะปรบมือกัน จะให้ดังอย่างไรก็ได้ไม่ใช่หรือคะ?” ฉันตอบอย่างรำคาญนิดหน่อย เพราะดูละครและโอเปร่าและโอปาเร็ตต่าอยู่เป็นประจำในสวิส และประเทศอื่นๆที่เดินทางไปเที่ยวหรือไปพำนักอยู่ สามีสั่นหัวในความจู้จี้จุกจิกของฉัน

ตอนหยุดพักครึ่งเวลาเราทั้งคู่ออกไปหาแชมเปญดื่ม แต่ไม่มีแม้แต่เงาของน้ำสักหยดให้ดื่มแก้คอแห้งทั้งๆที่ตอนซื้อตั๋ว ก็องเซียร์ Conciergc ก็กำชับนักกำชับหนาให้เอารูเบิ้ลติดตัวไปซื้อน้ำดื่มที่โรงละครด้วย เพราะเขาไม่รับเงินตระกูลอื่น หิวน้ำแทบตายจนแทบจะเดินออกไปโกยหิมะมาละลายกิน