เที่ยวไปบนหลังคาโลก ตอนที่ 4

ออกจากหมู่บ้านไปได้อีกครู่หนึ่งรถต้องหยุดอีก คราวนี้ยางหน้าแตก คนขับกระโดดลงมาเปลี่ยนยางมีคนขับรถขนกระเป๋าและผู้ช่วยหยิบโน่นส่งนี่ให้ข้างๆ ฉันยืนมองอยู่เงียบๆเพราะอยากจะรู้ว่าเขาจะทำอะไรกันบ้าง พอเปลี่ยนยางเสร็จ สังเกตเห็นยางที่เปลี่ยนนั้นอ่อนผิดปกติ เพราะไม่มีลม โชเฟอร์ขับรถขนกระเป๋าขับรถของเขามาจอดข้างๆ แล้วใช้ปั๊มที่ติดอยู่ในรถสูบยางให้รถบัส รู้สึกทึ่งต่อความเฉียบแหลมและฉับไวในการแก้สถานการณ์ของเขาเป็นอย่างยิ่ง

ตาว่าขอโทษขอโพยที่ทำให้เราเสียเวลาไปถึงสามชั่วโมง เขาสัญญาว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก พร้อมกับบอกว่าจะสั่งให้โชเฟอร์ล้างทำความสะอาดรถทั้งข้างนอกและข้างในจนหมดจดเมื่อไปถึงโรงแรมแล้ว เราจะได้เห็นรถที่สะอาดเอี่ยมในวันรุ่งขึ้น โดยไม่มีร่องรอยว่าได้ขึ้นภูเขาสูงถึง ๕,๑๐๐ เมตร เมื่อวันวาน

ดังนั้น แทนที่การเดินทางจะเป็นเก้าชั่วโมงกลับกลายเป็นสิบสองชั่วโมงเต็ม กระเป๋าเดินทางทุกใบเต็มไปด้วยฝุ่นละอองจนแทบจะจำสภาพเดิมไม่ได้ ทั้งๆที่มีผ้าใบคลุมไว้อย่างดี โรงแรมที่ไปพักเป็นโรงแรมสองดาว ซึ่งจัดได้ว่าดีที่สุดในเมือง ไม่มีลิฟต์ ห้องของเราอยู่ชั้นสี่ต้องลากกระเป๋าขึ้นบันไดไป โชคดีที่ไม่มีสมบัติติดตัวมามากนักเลยรอดตัว ราวบันไดเหนียวหนับไปด้วยเนย แถมขั้นบันไดหินยังผุพังและโยกคลอนอีกต่างหาก ยังดีที่เตียงนอนมีผ้าปูที่นอนสะอาดพอใช้ส่วนผ้าเช็ดตัวสีเหลืองมีกลิ่นของ “ซัมปา” และเนยที่ทำจากนมจามรีติดอยู่เช่นเคย หลังจากอาบน้ำชำระฝุ่นออกไปบ้างแล้ว เราก็ลงไปกินอาหารเย็น ปรากฏว่าอาหารทุกชนิดเย็นชืดจืดสนิทเพราะค่อนข้างจะดึกพอสมควร ไม่มีใครถ่างตามาคอยอุ่นให้

วันที่ ๑ มิถุนายน

เมื่อคืนมัวตื่นเต้นอยู่กับเรื่องการเดินทางจึงไม่ได้สังเกตเห็นรูปวาดฝาผนังสีสดในห้องอาหาร เพิ่งมาสังเกตเอาตอนกินอาหารเช้านี่เอง “แมเรียน” บอกว่าวันนี้เป็นวันเกิดของ “มาเกร็ต” เพื่อนร่วมเดินทางชาวเยอรมัน พวกเราจึงร้องเพลง “แฮปปี้เบิร์ธเดย์” กันตั้งแต่ไก่โห่ ไม่มีใครใจป้ำเลี้ยงไวน์ในเย็นวันนั้น เข้าข้างตนเองว่าหญิงเยอรมันคงจะไม่ป๊อปปูล่าร์เช่นหญิงไทย

เช็คเอ๊าท์จากโรงแรมเสร็จสรรพ ตาว่าก็พาเราไปชมวัด “พอลโช่” (Palcho Monastery) ซึ่งมีกำหนดไว้ว่าจะไปตั้งแต่เมื่อวาน พอล่วงเข้าบริเวณก็เห็นชาวบ้านหลายคนขะมักเขม้นปัดกวาดลานวัดกันอยู่ไม้กวาดอยู่ในสภาพหักๆด้วนๆ จะกวาดเท่าไรก็ไม่สะอาดเสียที่ ตาว่าบอกว่าเขากำลังเตรียมทำพิธีแขวน “ทังกา” ประจำปีในวันรุ่งขึ้น เป็นพิธีที่ขาวทิเบตในละแวกนี้ถือว่าสำคัญ

เคยเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้นๆว่า “ทังกา” เป็นผืนผ้าหรือกระดาษม้วนได้ แขวนอยู่ในวัดวาอารามตลอดจนเหนือโต๊ะหมู่บูชาในบ้านของชาวทิเบต มักจะมีรูปวาดหรือรูปสลักอยู่ข้างในกรอบ มีขนาดต่างๆกันตั้งแต่ขนาดเท่าหน้าหนังสือธรรมดา จนถึงขนาดมหึมาคลุมตึกทั้งหลังได้สบายๆ มีวัสดุบางๆทับไว้ข้างบนเพื่อป้องกันฝุ่น ตั้งอยู่บนโครงที่ทำด้วยไหมสีสวย มีไม้หนาหนักลักษณะกลมแขวนติดอยู่เบื้องล่างเพื่อใช้ม้วนเก็บหรือขนไปไหนๆได้ อาศัยความหนักของไม้ช่วยไม่ให้ลมตีจนแกว่งไปแกว่งมา ทิเบตเริ่มมี “ทังกา” ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบ เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลจากจีน วิธีการวาดระบายสีอาจจะมาจากประเทศเนปาลและแคว้นแคชเมียร์ นายช่างได้รับการฝึกฝนจากองค์ลามะที่เชี่ยวชาญ พอทำเสร็จ “ทังกา” ก็จะถูกเสกเป่าก่อนจะนำไปแขวน

อาคารที่เห็นเด่นชัดแปลกตายิ่งไปกว่าที่อื่นๆในตัวเมืองคือเจดีย์ “คุมบุม” (Kumbum Pagoda) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาราม ชาวเมือง “กานซี่” ภาคภูมิใจเจดีย์ “พอลโช่” มาก เพราะถือว่าศิลปะการก่อสร้างเป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทิเบต ตัวเจดีย์สร้างเป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทิเบต ตัวเจดีย์สร้างเป็นสี่ชั้น ไขว้ไปมาสลับกัน เป็นสีน้ำตาลและขาว ยอดเจดีย์แหลมเสียดฟ้า แต่ละชั้นมีโบสถ์และระเบียงอยู่ด้วย เราไต่บันไดขรุขระขึ้นไปจนถึงชั้นสี่ มีแต่แสงสลัวๆจากภายนอกส่องเข้ามาเพียงเล็กน้อย ระหว่างช่วงบันไดมีห้องพักของชาวทิเบตครอบครัวหนึ่ง หน้าห้องเป็นสวนหย่อมเล็กๆ มีดอกไม้และต้นไม้ปลูกอยู่ในกระถางสวย

เดินออกไปนอกระเบียงชั้นสี่ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแลเห็นตัวเมือง “กานซี่” อยู่เบื้องล่าง มีภูเขาหินสูงแบ่งตัวเมืองออกเป็นสองเขต บนยอดเป็นป้อมปราการสร้างด้วยอิฐที่ถูกปล่อยทิ้งให้รกเรื้อ ทอดเป็นแนวยาวล้อมเมืองส่วนหนึ่งไว้ จากที่ได้เห็นในช่วงเวลาเช้ารู้สึกว่า “กานซี่” เป็นเมืองที่น่าสนใจและมีทิวทัศน์แวดล้อมที่สวยงามแห่งหนึ่ง จอห์นและบิลล์ได้ไปสำรวจสภาพของเมืองมาเมื่อคืนก่อนตอนดึก คุยให้ฟังว่าลักษณะเหมือนกับอเมริกาแถบที่ยังมีฝูงปศุสัตว์และเคาบอย เราจึงขอร้องให้ตาว่าบอกคนขับให้จอดรถลงไปถ่ายรูปกันก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมือง “ชีกั๊ซซี่” หลังจากที่ชมวัด “พอลโช่” แล้ว คำขอร้องของเราไม่เป็นผล ตาว่าอาจจะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษดีพอ จึงไม่ทำตาม ส่วนนายหมานั่งทำเป็นทองไม่รู้ร้อน อาจจะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษพอๆกับตาว่า จึงทำเป็นหูทวนลมด้วยเกรงจะเสียหน้าก็ได้ พอรถวิ่งต่อไปโดยไม่หยุด เราเริ่มจะรู้สึกว่าความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันของชาวคณะกับตาว่าและนายหมาเหลืออยู่น้อยเต็มทนแล้ว เหตุการณ์เริ่มเกลียวเขม็งใกล้จะถึงจุดระเบิดเต็มที ฉันบ่นกันคณะว่าการเดินทางไปทิเบตครั้งนี้เป็นการเดินทางที่สำคัญและเสี่ยงพอสมควร เราจึงควรจะมีหัวหน้าทัวร์ที่มีประสบการณ์มีการตัดสินใจที่ดี เข้าใจภาษาอังกฤษอย่างดีเยี่ยม ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเหตุใดบริษัทท่องเที่ยวหัวติงจึงส่งนายหมามาดูแลพวกเรา โดยปกติสมาคม “ซี” จะจัดทริปแบบพิเศษสุดเพราะรู้ว่าชาวต่างชาติเช่นเรามีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศและมีประสบการณ์ในการเดินทางอย่างช่ำชอง อันนี้จึงเป็น “จุดด่าง” ซึ่งเราตั้งใจว่าเมื่อกลับเซี่ยงไฮ้แล้วจะสะสาง

เราลองดูอีกครั้งหนึ่ง ขอให้รถหยุดที่หมู่บ้าน “เบนัก” (Benak) ซึ่งมีอาณาเขตเชื่อมระหว่างเมือง “กานซี่” และเมือง “ชีกั๊ซซี่” คราวนี้ตาว่าสั่งคนขับให้จอดรถแอบข้างทาง ฉันได้ยินจูเลียเตือนนายหมาให้เขา “Get His Act Together” ที่แล้วๆมาเขาไม่เอาใจใส่กับอะไรเลย ใครถามอะไรก็ไม่รู้เรื่อง หัวหน้าทัวร์ที่ดีจะต้องกระตือรือร้นทำการบ้านมาล่วงหน้ามาอย่างดี “เผื่อ” เอาไว้ อาจจะเป็นเพราะจูเลียขู่นายหมาเสียจนหงอก็เป็นได้ เราจึงมีโอกาสได้เข้าไปชมหมู่บ้านที่ไม่ได้มีอยู่ในโปรแกรมดั้งเดิม

พากันเดินข้ามถนนใหญ่เข้าสู่ถนนลูกรังสีแดงแคบๆที่ตัดผ่าใจกลางหมู่บ้าน “เบนัก” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีชาวบ้านอาศัยอยู่รวมกันไม่กี่หลังคาเรือน ลักษณะภายนอกเห็นได้ว่าคงจะเป็นหมู่บ้านที่ไม่อัตคัด ทุกหลังมีรั้วล้อมรอบสร้างด้วยหินและอิฐเผาง่ายๆ ตามรอยต่อปะไว้ด้วยยางเหนียวที่ชาวบ้านทำขึ้นเอง คาดว่าคงจะไม่เคยมีนักท่องเที่ยวจากที่ใดเคยย่างกรายเข้าไปเลย ชาวบ้านจึงยังคงเอกลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างสมบูรณ์

เขาใช้กำแพงเป็นที่ตากขี้จามรี ใช้ฝ่ามือกดขี้ที่ปั้นเป็นก้อนๆให้ติดไปบนกำแพง ยังคงเห็นรอยมือและรอยนิ้วได้ชัด ขี้ที่ตากแห้งแล้วเก็บไว้สำหรับเป็นเชื้อเพลิง คล้ายกับชาวอินเดียที่ใช้วิธีเดียวกันนี้ตากขี้วัวไว้บนกำแพงบ้าน

หญิงชาวบ้านคนหนึ่งแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ นุ่งกระโปรงกรอมเท้าสีดำ มีผ้ากันเปื้อนลายแดงสลับเขียวคาดอยู่ แสดงว่าเป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว ใส่เสื้อแขนยาวสีเขียว คลุมหัวด้วยผ้าโพกสีเขียวสลับแดงและดำเป็นตาหมากรุกเดินผ่านมา หล่อนแบกตะกร้ามาสองใบ ข้างในบรรจุเบียร์ที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ กำลังจะเดินไปร่วมงานฉลองของหมู่บ้าน มีหญิงชาวทิเบตอีกสองคนกับเด็กชายคนหนึ่งยืนอยู่นอกประตูรั้วจ้องมองพวกเราด้วยความสงสัย ชายชาวทิเบตวัยกลางคนคนหนึ่งอยู่ในชุดประจำชาติเช่นกัน นุ่งกางเกงรัดข้อเท้าสีดำ ใส่เสื้อถักขนสัตว์เป็นทางๆ มีแจ๊คเก้ตสีน้ำตาลมอๆ ทับอยู่ ใส่หมวกแบบชาว “อ๊อสซี่” สีดำ ยืนเท้าสะเอวมองเรา เขามากับหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งในชุดประจำชาติสีสดใส คงจะเป็นเมีย เพราะหล่อนมีผ้ากันเปื้อนคาดไว้บนตัวกระโปรง นอกจากนั้นก็ไม่มีวี่แววของชาวบ้านคนอื่นๆเลย เดาว่าคงจะพากันไปเที่ยวงานฉลองหมู่บ้านในวันนั้นกันหมด

ในท้องทุ่งที่รถผ่าน มีดอกไม้สีม่วงคล้ายๆดอกลาเวนเดอร์แตะแต้มอยู่ทั่วไปทั้งสองข้างทาง

เพิ่มสีสันให้กับสีน้ำตาลของเนินทรายในบางแห่ง เราไปถึงเมือง “ชีกั๊ซซี่” ในเวลาประมาณบ่ายโมง

และเข้าเช็คอินในโรงแรมชื่อเดียวกัน

หลังอาหารกลางวัน ตาว่าพาไปชมวัด “ทาชิลฮุนโป” (Tashilhunpo) อันเป็นแหล่งพำนักขององค์ลามะ “พันเช็น” (Panchen Lama) ซึ่งหมายถึงผู้คงแก่เรียน องค์ดาไลลามะที่ห้าประทานตำแหน่ง “พันเช็น” ให้แก่ครูอันเป็นที่รักและคงแก่เรียนคนหนึ่งของท่านในศตวรรษที่สิบเจ็ด หลังจากนั้นไม่นานก็มีคนพบตำราที่ซ่อนเอาไว้ระบุว่า “พันเช็น” องค์เดียวกันนี้เป็นพระพุทธเจ้าแห่งแสงสว่างที่ทรงกลับชาติมาเกิด มีร่องรอยให้เชื่อได้ว่าพระองค์เคยเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกๆของวัดเมื่อสองพันปีมาแล้ว หลังจากการค้นพบตำราเป็นต้นมา ทั้งดาไลลามะและ “พันเช็น” ลามะต่างก็สามารถทำพิธีสถาปนากันและกันให้เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์เหนือคนเดินดินกินข้าวแกงได้ ถือเป็นธรรมเนียมที่องค์ลามะที่มีอาวุโสกว่าจะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ลามะที่ด้วยอาวุโสกว่าเมื่อ “พันเช็น” ลามะองค์หนึ่งองค์ใดสิ้นชีพลง ลามะองค์อื่นก็เริ่มค้นหาเด็กผู้ชายคนใหม่ที่เชื่อว่าเป็นลามะองค์เก่ากลับชาติมาเกิด

ชาวทิเบตบางคนเชื่อว่า “พันเช็น” ลามะเคร่งและน่าเชื่อถือมากกว่าดาไลลามะเสียอีก เพราะ “พันเช็น” ลามะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความเป็นไปของโลกภายนอกและไม่ใส่ใจในความเป็นไปของฆราวาส ความเชื่อถืออันนี้เกิดจากคนต่างชาติบางคนที่กุเอาเองว่า “พันเช็น” ลามะมีความเฉลียวฉลาดเป็นยอดและเคร่งครัดในเรื่องศาสนาเป็นที่ยิ่ง แต่เขาบอกว่าในความเป็นจริงแล้ว “พันเช็น” ลามะวุ่นวายกับการเมืองพอๆกับดาไลลามะ บางครั้งถึงกับเป็นตัวตั้งตัวตีดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยไม่ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของบ้านเมือง จนตกเป็นเหยื่อให้ชาวต่างชาติใช้เป็นเครื่องมือในหลายโอกาส “พันเช็น” ลามะมีด้วยกันทั้งหมดสิบองค์ องค์ที่สี่คือผู้ที่ได้รับการยกย่องจากดาไลลามะองค์ที่ห้าที่เล่าให้ฟังแล้วข้างต้นให้มีสมณศักดิ์นี้ ส่วนองค์ที่หนึ่งถึงสามได้เป็น “พันเช็น” โดยอัตโนมัติในเวลาต่อมาหลังจากที่ได้สิ้นพระชนม์แล้ว