เที่ยวไปบนหลังคาโลก ตอนที่ 5

หลังจากที่ “พันเช็น” องค์ที่สิบสิ้นพระชนม์เมื่อต้นปี ๑๙๘๙ ถึงแม้ว่าจะได้ค้นพบองค์ที่สิบเอ็ดแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าจะได้รับการสถาปนาให้เป็น “พันเช็น” สืบต่อองค์ที่สิบหรือไม่ ส่วนดาไลลามะที่คนส่วนใหญ่รู้จัก มีอยู่ทั้งหมดสิบสี่องค์ องค์สุดท้ายคือองค์ดาไลลามะที่ประทับอยู่ที่อินเดียในปัจจุบัน จีนได้เข้ายึดทิเบต เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้สิบหกพรรษา หลังจากที่ทรงครองทิเบต ภายใต้การปกครองของจีนได้สิบปี พระองค์ก็เสด็จหนีไปประทับที่อินเดีย กับผู้ติดตามอีกแปดหมื่นคน ในปี ๑๙๕๙

ดาไลลามะองค์ที่หนึ่งมีหลุมฝังศพอยู่ในวัด “ทาชิลฮุนโป” ที่ได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๔๔๗ ทิเบตเคยอยู่ภายใต้การปกครองขององค์ดาไลลามะถึงห้าร้อยปี คำว่า “ดาไล” แปลว่า มหาสมุทร เป็นคำยกย่องที่กษัตริย์แห่งมองโกเลียทรงมอบให้ดาไลลามะองค์ที่สาม ในปี ค.ศ. ๑๕๗๘ มีความหมายว่าเป็นพระมหาสมุทรแห่งความรอบรู้ ส่วนองค์ที่หนึ่งและที่สองนั้นได้รับการสถาปนาหลังจากสิ้นพระชนม์แล้วองค์ที่ห้าทรงยกตำแหน่งให้พระองค์เองพร้อมๆกับดาไลลามะองค์ที่หนึ่งถึงที่สี่ โดยประกาศว่าทั้งหมดเป็นพระพุทธโพธิสัตว์กลับชาติมาเกิด ด้วยติดอยู่ในความเชื่อที่ว่าดาไลลามะแต่ละองค์ถือกำเนิดมาจากดวงวิญญาณของดาไลลามะองค์ก่อนที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

ส่วนธรรมเนียมอื่นๆก็ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับ “พันเช็น” ลามะ เมื่อองค์ดาไลลามะสิ้นพระชนม์ ก็จะมีการแสวงหาดาไลลามะองค์ใหม่มาทดแทนในทันทีเด็กผู้ชายที่จะหามานี้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกเฟ้นมาแล้วอย่างถี่ถ้วน โดยมีความฝันเป็นเครื่องชักนำเด็กชายที่หามานี้จะต้องมีรูปพรรณสัณฐานถูกต้องโฉลกคือ มีหูใหญ่ ตายาวรี เด็กจะถูกทดสอบในเรื่องต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องสามารถระบุชี้เครื่องใช้ของดาไลลามะองค์ก่อนได้ถูกต้อง จากสิ่งของหลายอย่างที่ปะปนกันมาให้ดู ถ้าหากเกิดมีเด็กชายที่มีความสามารถพิเศษเช่นนี้มากกว่าหนึ่งคน เขาก็จะต้องจับฉลากเลือกคนที่จับฉลากชนะจะได้รับสถาปนาให้เป็นองค์ดาไลลามะเมื่ออายุครบสิบแปด ในระหว่างที่รอ ก็จะมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจมหาศาลบงการความเป็นไป เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กชายที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์ดาไลลามะกลับชาติมาเกิดมักจะมาจากครอบครัวขุนนาง คนทิเบตเชื่อว่า ดาไลลามะองค์ที่ห้าและสิบสามเป็นองค์ดาไลลามะที่ยิ่งใหญ่กว่าองค์อื่นๆ เนื่องจากดาไลลามะองค์ที่ห้าเป็นผู้สถาปนา “พันเช็น” ลามะขึ้น ส่วนองค์ที่สิบสามนั้น ทรงต่อต้านการบุกรุกของอังกฤษ ในปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และประกาศให้ทิเบตเป็นเอกราช ในปี ๑๙๑๒ หลังจากที่ประเทศจีนได้ประกาศตนเองเองเป็นมหาชนรัฐได้หนึ่งปี พระองค์ทรงมีพระปฏิภาณเฉลียวฉลาดหลักแหลม ทรงพยายามที่จะพัฒนาสถาบันต่างๆในทิเบตให้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เรื่องขององค์ลามะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนพอๆกับเรื่องศาสนาของชาวทิเบต แม้ผู้เขียนจะได้อ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่สู้จะ “เข้าใจ” เท่าไรนัก มีคำถามอยู่มากมายหลายข้อที่ตกค้างอยู่ในใจ ขอเรียนว่าได้ความรู้เรื่องนี้มาจากหนังสือที่ได้อ่านหลายเล่ม โดยไม่มีอคติต่อองค์ดาไลลามะแต่อย่างใด

ทิเบตตกอยู่ภายใต้การปกครองของวัดเป็นพันๆปี วัดที่สำคัญๆ เช่น วัด “เดรปุง” (Drepung) และวัด “เซรา” (Sera) มีพระสงฆ์พำนักอยู่หลายพันส่วนวัด “ซามเย” ที่พาคุณผู้อ่านไปเที่ยวเมื่อวานนี้นั้นมีห้าร้อยองค์ แต่วัดส่วนใหญ่เป็นวัดเล็กๆ ไม่มีที่ดินหรือสมบัติมหาศาลเช่นวัดใหญ่ จึงไม่มีอำนาจในการปกครอง พระสงฆ์จำต้องรับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากญาติพี่น้อง เพราะชาวทิเบตถือว่าวัดเป็นหัวใจของชนทั้งชาติ

วัดใหญ่ที่มีที่ดินมหาศาลมักจะมีอำนาจได้รับการยกเว้นภาษีอากร เป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใดในด้านเศรษฐกิจ ใช้อำนาจที่มีอยู่กดขี่เอา “ลูกวัด” ที่อาศัยเขตวัดหรือเขตเมืองที่วัดดูแลอยู่ เป็นทาสทำงานหนักแลกกับการมีชีวิตรอดไปวันหนึ่งๆ โดยเอาศาสนาและโลกหน้ามาบังหน้า ชาวทิเบตทุกครอบครัวนิยมส่งลูกชายคนหนึ่งคนใดไปบวช เมื่อมีอายุได้ประมาณเจ็ดขวบ ส่วนเด็กหญิงที่ไปบวชเป็นชีมีจำนวนน้อยกว่ามาก และจะมีอายุอยู่ในราวสิบขวบ คำนวณกันว่าหนึ่งในห้าของประชากรชาวทิเบตบวชเป็นพระเพื่อร่ำเรียน แต่จะมีสิทธิ์ได้เข้าไปเรียนในสถาบันสูงขึ้นก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นเด็กที่ฉลาดจนเกือบจะเป็นอัจฉริยะเท่านั้น การศึกษาในสถาบันชั้นสูงจะใช้เวลานานยี่สิบถึงยี่สิบห้าปี ส่วนเด็กชายคนอื่นๆที่ไม่สู้จะฉลาดก็มักจะแบ่งไปทำงานถวายวัดในหน้าที่ต่างๆ

การมีชีวิตอยู่ในแวดวงของศาสนาช่วยให้เกิดความศรัทธา และเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยให้คนยากคนจนมีการศึกษา พัฒนาให้ตนเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน การบวชเป็นพระนำเกียรติยศและผลบุญมาสู่ครอบครัว หากศึกษาพระธรรมไปนานๆอาจจะได้รับเลื่อนเป็นลามะ วัดจึงเป็นสถานที่แห่งเดียวที่จะจำความฝันของคนยากไร้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ นอกจากเป็นศูนย์กลางของการศึกษาแล้ว วัดยังเป็นแหล่งวรรณคดีวัฒนธรรม แพทยศาสตร์ และศิลปศาสตร์อีกด้วย

เคยมีพระสงฆ์สามพันแปดร้อยรูป อยู่ในวัด “ทาชิลฮุนโป” แต่หลังจากที่กองทัพจีนได้บุกเข้าเข้ายึดเมื่อปี ๑๙๖๐ ในขณะที่ “พันเช็น” ลามะองค์ที่สิบได้ไปประทับอยู่ที่อื่น วัดยังคงมีพระสงฆ์เหลืออยู่อีกแปดร้อยรูปสำหรับดูแลความเรียบร้อย

ทางขึ้นวัดเป็นบนไดสูงๆต่ำๆหลายขั้น แดดตอนบ่ายทอแสงร้อนจัด ทำให้แสบหลัง กว่าจะถึงลานวัดอันกว้างใหญ่ที่ปูด้วยหินก็พากันหอบแฮ่กด้วยความร้อนและเหนื่อย กลิ่นเหม็นของอุจาระ ปัสสาวะลอยมาตามลม หนทางที่ผ่านมาหมักหมมด้วยขยะนานาชนิด ขนาดได้รับความช่วยเหลือดูแลจากรัฐบาลจีนยังเป็นเช่นนี้ อยากรู้นักว่า สมัยก่อนจะเป็นเช่นไรน่าแปลกที่ทิเบตเต็มไปด้วยวัดวาอารามและปราสาทสวยๆงามๆ แต่จะไปหาความจรรโลงใจในสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตนั้น อย่าไปหาให้ยากเลย

บนลานมีนักธุดงค์ชาวทิเบตหมุนกงล้อสวดมนต์อยู่หลายคน บางคนก็ทำพิธีสักการะด้วยการยืนและนอนราบใบหน้าจรดพื้นสกปรก การได้เห็นวัดอันใหญ่โตมโหฬารมั่งคั่งท่ามกลางความยากไร้ เป็นความรู้สึกที่อธิบายได้ยาก

อย่างไรก็ดี ใครที่ไปทิเบตควรจะไปเยี่ยมชมวัดนี้ให้ได้ เพราะมีสิ่งที่น่าทึ่งให้ดูมากมาย ที่น่าชมที่สุดเห็นจะเป็นโบสถ์ใหญ่ มีองค์พระพุทธรูปพระไมตรียะประดิษฐานอยู่ มีวังขององค์ “พันเช็น” ลามะ ภายในบรรจุสถูปของ “พันเช็น” ลามะองค์ที่สี่ และมีอยู่ห้องหนึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของ “พันเช็น” ลามะองค์ที่สิบซึ่งสิ้นพระชนม์ เมื่อปี ๑๙๘๙ ร่างของพระองค์ได้รับการรักษาไว้อย่างดีในหีบแก้ว ดวงพระเนตรจ้องเป๋งมายังคนที่จ้องดู เขาใช้เกลือหมักเพื่อช่วยไม่ให้ร่างเน่าเปื่อยนอกจากนั้นก็มีห้องหลังโบสถ์สำหรับบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กๆ และใช้เป็นที่เก็บท่อนไม้สลักเพื่อพิมพ์หนังสือสวดมนต์

ตั้งแต่เราย่างก้าวเข้าไปในวัด สังเกตว่ามีพระองค์หนึ่งเดินตามมาเรื่อย จีวรสีเปลือกมังคุดตัดกับสีแดงของหมวกและสีดำของแว่นตาดังฉับ มีลูกประคำแขวนห้อยคอดูอีรุงตุงนัง มีรองเท้าแตะคีบอยู่ที่เท้าเราเกิดได้ใจที่เห็นพระองค์นี้มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตรจึงขอถ่ายรูป ท่านทำท่าแปลกใจสงสัยว่าเราอยากจะถ่ายรูปท่านไปให้เสียฟิล์มทำไม เพราะท่านเองเห็นว่าท่านไม่มีอะไรที่น่าสนใจ ตาว่าแปลให้ฟังว่าพระองค์นี้เดินมา “ชีกั๊ซซี่” จากอีกเมืองหนึ่ง ใช่เวลาสิบวันกว่าจะมาถึง ได้อาศัยวัดเป็นที่กินและที่นอนหมวกที่สวมอยู่ได้มาจากนักท่องเที่ยวแล้วก็เลยสวมติดมาเรื่อย ท่านเข้าๆออกๆ เดินติดสอยห้อยตามคณะเราไปทุกหนทุกแห่ง ส่งเสียงหัวเราะคิดคักทุกครั้งที่ใครในกลุ่มทำท่าทำทางเห็นว่าแปลก

ตอนบ่ายเราแวะไปที่ตลาดกลางแจ้งขายของที่ระลึก คนขายใช้คาถาว่า “ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก” ยื้อยุดฉุดแขนไปตลอด เป็นที่น่ารำคาญมาก แต่ส่วนใหญ่ก็ยอมเสียเงินซื้อของที่วางแบกะดินขายเพราะคาดว่าคงจะถูกกว่าในเมืองใหญ่ เช่น ลาซ่า ลินดา และลูกสาวอลิเซียนั้นช่างซื้อ จึงมีของพะรุงพะรังมากกว่าใคร มาเรียและบิลล์รวมทั้งตัวผู้เขียนเองซื้อแผ่นกระดานไม้สลักเป็นตัวอักษรภาษาสันสกฤตมากันคนละสองสามแผ่น นัยว่าได้มาจากฝาผนังของวัดแห่งใดแห่งหนึ่ง จะเก็บเอาไว้แขวนฝาผนังบ้านที่ภูเก็ต ได้แต่ภาวนาขออย่าให้เจ้าของเฮี้ยนมาตามทวงเลย

“ชีกั๊ซซี่” เงียบเป็นเป่าสากในยามค่ำคืนดังนั้น ภายหลังอาหารเย็นและหลังจากที่ได้ดื่ม “ไนท์แค็พ” กันคนละแก้วแล้ว ต่างก็ล่ำลากันไปนอน

วันที่ ๒ มิถุนายน

ขณะที่เรากำลังยืนรอรถที่จะมารับเวลาเก้านาฬิกาตรงเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองลาซ่า มาเกร็ตเดินมาถามฉันว่า “อยากจะผอมลงภายในพริบตาไหม?” แล้วก็ฉุดมือให้เดินตามเข้าไปในโรงแรม บอกให้ฉันยืนหน้ากระจกหลังประตูทางเข้า “โอ้ เจ้ากระจกวิเศษ จงบอกข้าทีเถิดว่า ใครอรชรเป็นเลิศในธรณี?” “แหม ก็คุณพอลีนน่ะซี ทั่วพื้นธรณีไม่มีใครเกิน” กระจกวิเศษตอบ ส่องกระจกแล้ว ต้องยิ้มแป้นด้วยความชอบใจ เพราะเงาของกระจกส่งรูปร่างได้คล้ายคลึงกับสาวน้อยเมื่อสมัยสามสิบปีมาแล้วไม่มีผิด พอข่าวกระจายออกไป ทุกคนตื่นเต้นกันใหญ่ ต่างก็แย่งกันมายืนหน้ากระจกเป็นแถว แล้วก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ชอบอกชอบใจกับรูปร่างที่เห็นจากเงา

ไม่มีใครในคณะนอนหลับสัปหงกระหว่างทางที่รถวิ่งไปบนถนนลาดยางคับแคบแต่เรียบพอใช้ ต่างชักชวนกันให้ชมทิวทัศน์ที่ผ่านตา เราไม่รู้สึกเบื่อเลยที่จะต้องนั่งรถนานๆ มองวิวสองข้างทางทุกคนบ่นมาดังๆว่าอยากจะให้แต่ละประเทศของตนมีอากาศแสนสบายเช่นทิเบตบ้าง อยากได้แต่ภูมิประเทศและอากาศอย่างเดียวเท่านั้น อย่างอื่นไม่เอา ตาว่าชี้ให้ดูวัด “เบิน” ที่ซ่อนตัวอยู่บนเขาหลังโขดหิน เป็นวัด “เบิน” แห่งเดียวในทิเบต “เบิน” เป็นนิกายหนึ่งในสมัยโบราณ ก่อนที่กษัตริย์ “ทรีซอง เต็ทซาน” จะประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

ภูมิภาคในช่วงแรกที่รถผ่านล้อมรอบไปด้วยขุนเขาทะมึนสูงเทียมฟ้าอันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ภูเขาเอเวอเรสต์อยู่ห่างออกไปเพียง ๓๐๐ กิโลเมตรเท่านั้น ระหว่างทางมีรถคาราวานเทียมลาบรรทุกหินเต็มเพียบวิ่งผ่านมาเป็นระยะๆ คงจะขนหินมาจากแหล่งระเบิดหินที่ใดที่หนึ่งในแถบนี้ รถวิ่งเลียบแม่น้ำสีฟ้าใสเป็นตาตั๊กแตน ส่องประกายล้อแสงอาทิตย์ในยามใกล้เที่ยง บางช่วงน้ำในแม่น้ำตื้นเขินแลเห็นกรวดทรายใต้ท้องน้ำชัดเจน บางช่วงก็ไหลเร็วและแรงดูน่ากลัว

ถนนช่วงหนึ่งตัดอยู่ตรงกลางระหว่างโขดเขาที่มีแต่หินล้วนๆ ก้อนหินและก้อนกรวดขนาดใหญ่และย่อมกระจัดกระจายเกลื่อนกลาดอยู่บนถนนหากเป็นในประเทศสวิส เขาจะคลุมส่วนล่างของภูเขาไว้ด้วยร่างแหเพื่อป้องกันไม่ให้มีก้อนหินตกเรี่ยราดลงมาเกลื่อนถนนทำให้เกิดอันตรายสำหรับรถเราที่ผ่านไปมาได้ ก้อนหินที่ตั้งง่อนแง่นอยู่บนเขาดูเหมือนจะตกลงมาวินาทีใดวินาทีหนึ่ง ก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อนตั้งอยู่โดดๆปราศจากเครื่องยึดเหนี่ยว ดูแล้วรู้สึกเสียวไส้เป็นกำลัง คนที่อยู่ในแถบนี้ไม่กลัวกันบ้างหรืออย่างไร? หรือว่าชีวิตของพวกเขาไม่มีค่า? หรือว่าคนส่วนใหญ่มัวพะวงอยู่กับชาติหน้าจนไม่เกรงกลัวอันตรายกับชีวิตในชาตินี้? ในสมัยก่อนทิเบตถูกปิดตายเพราะขุนน้ำขุนนางในสมัยนั้นขยาดที่จะเปิดประตูออกไปสู่โลกภายนอก นอกเมืองหลวงออกไปไม่มีแม้แต่โรงเรียนหรือถนน ทั้งถนนและโรงเรียนนอกลาซ่าเพิ่งมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนยื่นมือเข้าไปจัดการในปี ๑๙๕๑ ทำให้ประชาชนชาวทิเบตลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้บ้าง แต่ถึงขนาดนี้แล้ว ความเชื่อที่ติดอยู่ก็ยังฝังใจอยู่ไม่รู้วาย

บนฝั่งแม่น้ำทั้งสองข้างในบางแห่งมีก้อนศิลาใหญ่ที่ถูกขัดถูจากธรรมชาติและกาลเวลาจนเกลี้ยงเกลาราบเรียบผุดขึ้นมาจากใต้ท้องน้ำ แลดูน่าพรั่นพรึงและน่าพิศวงในคราวเดียวกัน ที่ราบบางแห่งปกคลุมด้วยหญ้าสีน้ำตาลแห้งๆปลูกไว้เพื่อยึดเหนี่ยวไม่ให้ดินในแถบนั้นถูกพัดหายไปด้วยแรงเป่าของพายุทราย รถจอดบนสะพานข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งเพื่อให้ได้ถ่ายรูป ทิวทัศน์ของทิเบตช่างมีมนต์ขลัง เราอยากจะหยุดทุกหนแห่งบนฝั่งแม่น้ำเพื่อชื่นชมกับธรรมชาติอันแสนสวย แต่หากว่าทำเช่นนั้นก็คงจะไปไม่ถึงลาซ่าเป็นแน่ เที่ยงครึ่งรถหยุดให้ได้ลงไปปิกนิกกัน เราเลือกได้โขดหินแห่งหนึ่ง แล้วก็นั่งหย่อนเท้าสบายๆ วางกล่องอาหารและเครื่องดื่มไว้ข้างกาย เปิดดูกล่องมีอาหารเพียบอีกเช่นเคย แต่เรารับประทานกันคนละนิดละหน่อยเท่านั้น จึงยังมีอาหารเหลืออยู่อีกมากมายไม่มีใครสนใจกับอาหารเท่ากับภูมิประเทศที่เห็นอยู่เบื้องหน้า

ตาว่าบอกว่าภูเขาโชปู โชโม (Chopu Chomo) สูงหกพันสี่ร้อยเมตรที่เห็นอยู่แค่เอื้อมเป็นภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของทิเบต รอบบริเวณไม่มีสรรพสำเนียงอันใดนอกจากเสียงลมที่โชยหวีดหวิวพัดผ่านกับเสียงแม่น้ำไหล อยากจะนอนหลับสักงีบหนึ่งแต่เสียงตาว่าร้องเรียกให้ขึ้นรถดังมาแว่วๆ

ถนนในช่วงนี้แม้ว่าจะลาดยางราบเรียบ แต่ก็แคบและวกไปวนมาน่ากลัว รถบรรทุกทหารผ่านไปเป็นขบวน รถเราต้องจอดแอบข้างทางให้พ่อเจ้าประคุณผ่านไปก่อน ตามทางมีสะพานแขวนเล็กๆข้ามลำธารหลายสะพาน ต่างก็ประดับประดาด้วยธงห้าสีที่เจนตารถวิ่งผ่านหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง แลดูเงียบเหงาปราศจากผู้คน แต่พอโชเฟอร์ของเราบีบแตรเท่านั้น เด็กๆก็วิ่งกรูเกรียวกันออกจากหลังโขดหิน ติดตามด้วยผู้ใหญ่ทั้งคนหนุ่มคนสาวและคนชรา เราจอดรถขนเอากล่องอาหารในรถออกมาแจกจ่าย ดวงตาของทุกคนฉายแววแห่งความปราโมทย์ อารามตื่นเต้นและรีบเร่งเด็กคนหนึ่งทำกล่องตกบนพื้นถนน อาหารในกล่องตกกระจัดกระจายเรี่ยราด เปลือกไข่ต้มแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แกร้องไห้ด้วยความเสียดาย เราจึงยื่นกล่องใหม่ให้ไป จูเลียปลอบขวัญเด็กๆด้วยลูกกวาดสีสวยอีกเช่นเคย ได้เห็นความสุขของเขาแล้วเราก็พลอยชื่นใจไปด้วย ได้ผลทันตาเห็นกว่าเอาเงินไปบริจาค

รู้สึกตื่นเต้นที่ได้นั่งรถอยู่บนถนนที่สร้างสูงลิบลิ่วเหนือแม่น้ำ ฝั่งข้างหนึ่งเต็มไปด้วยดินแดนเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ มีข้าวบาร์เลย์ขึ้นอยู่หนาแน่นแต่อีกฝั่งหนึ่งแห้งแล้งไม่มีอะไรขึ้นเลย แปลกแท้ๆบริเวณบางแห่งเตือนให้ระลึกถึงทะเลทรายในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่มักจะมีพุ่มไม้ขึ้นเป็นหย่อมๆแต่งแต้มด้วยดอกไม้สีม่วงคล้ายลาแวนเดอร์ที่ขึ้นอยู่ที่นั่นและที่นี่

ถึงลาซ่าตอนบ่ายจัดๆ เช็ดอินเข้าโรงแรม “ลาซ่า” ซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่าโรงแรม “ฮอลิเดย์อินน์” มีชาวสวิสที่เรารู้จักเคยเป็นผู้จัดการอยู่ที่นี่ถึงห้าปีคริสต์มีภรรยาเป็นชาวสิงคโปร์ ฉันรู้จักเขาทั้งสองคนที่เมืองจีนตอนคริสต์มาเป็นผู้จัดการอยู่ที่โรงแรม “แบมบูโกร๊ว” ในเมืองซูโจ๊วระยะหนึ่ง ปัจจุบันเขาย้ายกลับไปประจำที่สิงคโปร์แล้ว

ตอนเย็นเรามีสิทธิ์เลือกรับประทานอาหารที่ไหนก็ได้ในภัตตาคารทั้งสามของโรงแรม ซึ่งมีทั้งจีน ทิเบต และฝรั่ง ไม่มีใครนัดหมายกับใคร แต่พอถึงเวลาทุกคนบังเอิญเลือกภัตตาคารอาหารฝรั่งเหมือนกันหมดหลายคนสั่งเนื้อสเต๊กจามรีมาลองชิม และบอกว่าอร่อยมีรสชาติเหมือนเนื้อวัวสเต๊ก ส่วนฉันเองไม่ได้ลองได้แต่รับประทานพิซซ่าแทน ไม่ใช่เพราะจัดอันดับว่าเป็นอาหารพิเศษ แต่คิดว่าคงจะเป็นอาหารที่ดีกว่าชนิดอื่นเป็นแน่