ขี่ม้าเหล็กข้าม ไซบีเรีย ตอนที่2

การแสดงเยี่ยมมากเป็นที่ถูกอกถูกใจทุกคน ตอนพักครึ่งเวลามีเลี้ยงค็อกเทลซึ่งรวมอยู่ในราคาตั๋วด้วย ระหว่างหยุดพักได้พบกับคนไทยกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่มากับบริษัททัวร์ ถามเขาว่าไม่หนาวหรือมาในฤดูนี้ เขาบอกว่าหนาว แต่หากมาในฤดูร้อนก็จะมีนักท่องเที่ยวมากเกินไป

การนั่งเรือชมเมืองไปตามแม่น้ำลำคลองเรามักจะได้เห็นเมืองอีกมุมหนึ่งเสมอ ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็เช่นกัน ฉันได้เห็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามของเมืองซึ่งแตกต่างไปจากที่เห็นทางบกเพราะไม่มีป้ายโฆษณาขวางตาให้รำคาญ ไม่มีผู้คนเดินพลุกพล่าน ไม่มีกระดิ่งจากรถจักรยาน และไม่มีเสียงแตรจากรถ

อีกสิ่งหนึ่งก็คือการที่ได้เข้าไปฟังการร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าในโบสถ์ออโธด็อกซ์

เป็นการร้องสวดที่ขรึมขลัง มีจังหวะจะโคน ฟังแล้วเคลิบเคลิ้มไม่เบื่อเลย ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็เช่นกัน ฉันได้เข้าไปฟังในโบสถ์ Preobrajenski ถึง ๒ วันติดๆกัน ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังบนเพดานที่สวยงามมากให้ชมอีกต่างหาก

การเดินทางโดยม้าเหล็กเริ่มขึ้นแล้วจากจุดนี้

ไนท์เอ็กซ์เพรสที่จองไว้จากสวิสออกเดินทางกลางดึกจากสถานีรถไฟที่ชื่อว่ามอสโกหรือวิเท็บสค์ (Vitebsk) เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมีสถานีรถไฟทางไกลสายสำคัญอยู่ด้วยกัน ๔ สถานี สถานีมอสโกเป็นสถานีหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ใช้ขึ้นรถไฟไปไซบีเรีย ในฐานะที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นที่กำเนิดของการรถไฟ จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีสถานีหรูหราอยู่หลายแห่ง ที่หรูและใหญ่ที่สุดก็คือสถานีแห่งนี้นี่เอง สร้างขึ้นใน ค.ศ.๑๘๓๗ เพื่อเชื่อมไปยัง “ซาร์โกอี เซโล” (Tsarkoe Selo) ซึ่งเป็นหมู่บ้านของพระเจ้าซาร์ อาคารที่ใช้เป็นสถานีในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงใหม่เมื่อ ค.ศ.๑๙๐๔ เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัสเซียสมัยใหม่ ภายในจะเห็นภาพวาดสีบนเพดาน มีรูปปั้นของซาร์ปีเตอร์มหาราชอยู่ที่ทางเข้าใกล้ๆกัน บนฝาผนังด้านหนึ่งเล่าประวัติศาสตร์แรกเริ่มของการรถไฟ

เจ้าหน้าที่รถไฟหญิง หรือที่คนรัสเซียเรียกว่า Provodnitsa ในเครื่องแบบสีน้ำเงินทับด้วยเสื้อโค้ทสีเดียวกันพร้อมหมวกขนสัตว์กันหนาว ยืนต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอยู่บนชานชาลาริมขั้นบันไดชั้นหนึ่ง เขากล่าวคำสวัสดีในภาษารัสเซีย “dobry vecher” พร้อมกับขอดูตั๋วและหนังสือเดินทาง พอตรวจเสร็จเขามองหน้าเราสองคนกลับไปกลับมา พร้อมถามเป็นภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นอย่างน่ารักว่า “Family? Family?” เมื่อพยักหน้าบอกว่าใช่เขาก็เชิญให้ขึ้นรถไฟไปเข้าห้องนอนในรถตู้ที่ได้จองไว้ล่วงหน้าแต่ยังคงเก็บตั๋วเอาไว้ตรวจอีกทีหนึ่ง เพื่อที่จะคืนให้ในวันรุ่งเช้าก่อนที่รถไฟจะถึงกรุงมอสโกเล็กน้อย

“โล่งอกไปหน่อย” ฉันหันไปพูดกับสามีเพราะได้อ่าน เรื่องความโหดของเจ้าหน้าที่รถไฟ ประจำสายไซบีเรียมามาก จนขยาดไปล่วงหน้าว่าจะโดนแกล้งอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะพูดภาษารัสเซียไม่ได้ เมื่อมาเจอเจ้าหน้าที่พูดจาอ่อนหวาน แถมสวยอีกต่างหาก ฉันก็ถอนใจโล่งอกที่ไม่ได้ร้ายอย่างที่คิดไว้

ห้องนอนในตู้ชั้นหนึ่งเรียกว่า “twoberth cabin” มีเตียงอยู่ ๒ เตียงวางคู่กัน มีโต๊ะตั้งอยู่ระหว่างเตียง ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มสะอาดเรียบร้อยชวนให้นอนเป็นที่ยิ่ง ใต้เตียงวางกระเป๋าเดินทาง ๒ ใบได้พอดี และเหนือเตียงสามารถวางกระเป๋าที่ใช้หิ้วขึ้นเครื่องได้ ๒ ใบสบายๆ มีขอไม้แขวนเสื้อ พร้อมกับตาข่ายแบบเปลไว้สำหรับวางหนังสืออ่านก่อนนอนให้ด้วย มีน้ำชา กาแฟ และกล่องอาหารเช้าวางไว้ให้เรียบร้อยบนโต๊ะเหมือนอย่างบนเครื่องบิน หากต้องการน้ำร้อนสำหรับชงชาหรือกาแฟก็เดินไปรินเอาได้ที่ริมประตูทางเข้าตู้รถ ที่นั่นมีหม้อน้ำร้อน หรือที่เรียกว่า “ซาโมว่า” (Samovar) ติดตั้งไว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ฉันนอนหลับสบายตลอดคืน รถไฟใช้เวลาวิ่งแปดชั่วโมงครึ่ง ก็เข้าเทียบชานชาลาสถานีในกรุงมอสโกในเวลาเจ็ดโมงครึ่ง

เมืองหลวงของรัสเซีย

จากสถานีรถไฟใช้เวลาเดินทาง ๑๕ นาทีก็ถึงโรงแรมเมโทรโพล ซึ่งเป็นโรงแรมมีชื่อเสียงเก่าแก่ ข้างนอกตัวตึกตรงกันสาดตอนกลางมีภาพวาดสวยบนกระเบื้องเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่มุ่งมั่นอยู่ในความรักเดินทางไปค้นหาเจ้าหญิงในฝันจนล้มเจ็บในระหว่างการเดินทาง พอพานพบหญิงในดวงใจ ก็ตายในอ้อมกอดของเธอ ส่วนตัวเจ้าหญิงเองก็สละสมบัติพัสถานไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอกอีกต่อไป ภายในห้องอาหารมีจิตรกรรมภาพวาดบนเพดานและฝาผนังห้องสีฉูดฉาดบนกระจก แบบหน้าต่างในโบสถ์แถวยุโรป ถ้ากินอาหารไม่อร่อยจะถือโอกาสนั่งดูภาพวาดไปพลางๆก็เพลินแล้ว ห้องนอนมีเพดานสูงทำให้ดูกว้างขวางและสว่าง แถมโรงแรมยังอยู่ใกล้โรงละคร “บอลชอย” (Bolshoi) อีกต่างหากจัตุรัสแดง (Red Square) ก็อยู่ไม่ไกลนัก เดิน ๕ นาทีก็ถึง ทำให้มีเวลาได้ชมสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทางบนถนนที่มีรถติดมโหฬาร

บ่ายวันแรกไกด์และรถพร้อมคนขับมารับเราไปดูบริเวณรอบนอกปริมณฑลของกรุงมอสโกผ่านที่สำคัญหลายแห่ง มีวัดวาอารามและวิหารเก่าแก่ที่สร้างในศตวรรษที่ ๑๔ และ ๑๕ ผ่านวิหารเซนต์นิโคลาสที่ทาสีเขียวและขาวดูแปลกตา มหาวิหาร Christ the Saviour ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าเห็นได้แต่ไกล

สิ่งสำคัญที่ฉันอยากจะกล่าวถึงก็คือ “พี่สาวและน้องสาว ๗ คน ของสตาลิน” (Stalin’s Seven Sisters) ซึ่งเป็นตึกสูงเสียดฟ้า ๗ แห่งในสถาปัตยกรรมที่เป็น “แบบของสตาลิน” โดยเฉพาะ เริ่มสร้างตั้งแต่ ปี ค.ศ.๑๙๔๗ เพื่อฉลองครบรอบ ๘๐๐ ปี ของกรุงมอสโก แต่ตึกทั้ง ๗ หลัง แลดูคล้ายคลึงกันจนบางครั้งก็แยกไม่ออกว่าตึกอะไรเป็นตึกอะไรกันแน่ เช่น ตึกที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศที่สร้างขึ้นใน ค.ศ.๑๙๕๒ ก่อนสตาลินจะตายไม่นาน หรือว่าตึกโรงแรมยูเครนและตึกที่สูง ๓๖ ชั้น ของมหาวิทยาลัยมอสโก (Moscow State University) ซึ่งใช้เวลาสร้างถึง ๔ ปี คือตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๔๙ ถึง ๑๙๕๓

อนุสาวรีย์ของซาร์ปีเตอร์มหาราชยืนสูงเทียมเมฆดูพิลึกพิลั่นอยู่หน้าโรงงานทำช็อกโกเลต ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ “ซารุบเซเร็ทเทลลี่” (ZarubTseretelli) ที่เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบสร้างมหาวิหาร Christ the Saviour อนุสาวรีย์ของซาร์ปีเตอร์ถูกชาวเมืองวิจารณ์กันมากว่า นอกจากจะสร้างแบบไม่มีรสนิยมแล้ว ยังน่าเกลียดอีกต่างหาก เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาประท้วงว่า เหตุใดจึงต้องมีอนุสาวรีย์ของซาร์ปีเตอร์อยู่กลางกรุงมอสโก ในเมื่อพระองค์ไม่เคยโปรดมอสโกเลยแม้แต่สักนิด ถึงกับย้ายเมืองหลวงไปอยู่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในสมัยนั้นพวกหัวรุนแรงถึงกับพยายามจะขว้างระเบิดอนุสาวรีย์ทิ้ง แต่ไม่สำเร็จ ปัจจุบันจึงมีเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ฉันพออกพอใจกับไกด์ในมอสโก เพราะเขามีความรู้ดี แต่ออกจะค่อนข้างหยิ่งและภูมิใจในความเป็นชาว “มอสโก” แต่เขาก็ได้ทำหน้าที่เป็นไกด์ได้อย่างไม่มีที่ติ ฉันจึงต่อเวลาให้เขาอยู่ต่อไปเขาบอกว่าเคยเป็นนักฟิสิกส์ แต่ตอนหลังเบื่องานจำเจ จึงออกมาเป็นไกด์เพราะรายได้ดีกว่าและได้พบปะผู้คนหลายชาติหลายภาษา

นาย “อิกอร์” (lgor) พาไปดูเมือง “เซอร์กีฟ โพซาด” (Sergiev Posad) ซึ่งอยู่ห่างจากมอสโกไป ๖๐ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของอาราม Trinity of St. Sergius ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอารามที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในรัสเซีย สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.๑๓๔๐ โดยนักบุญชื่อเดียวกันและได้รับสถาปนาให้เป็นนักบุญคู่บ้านคู่เมืองของรัสเซีย (Patron Saint) หากใครมีเวลาก็ควรจะไปเที่ยวชมอารามแห่งนี้

“คุณอิกอร์คะ ชาวรัสเซียมีรายได้ถัวเฉลี่ยเท่าไรคะ?” ฉันถามเพราะอยากรู้

“ผมไม่ใช่ชาวรัสเซีย แต่เป็นชาวเมืองหลวง จึงมีรายได้ที่แตกต่างไปจากชาวรัสเซียที่เมืองอื่น” นายอิกอร์ตอบอย่างหยิ่งๆ แต่ฉันก็ไม่ละความพยายาม ถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้นชาวเมืองหลวงมีรายได้ต่อหัวเท่าไรคะ”

“ในราว ๖๐๐ ยูโรต่อเดือน” นายอิกอร์ตอบ “ส่วนนอกเมืองออกไป ก็คงจะอยู่ในราว ๒๐๐ ยูโร” (๑ ยูโรเท่ากับ ๕๐ บาท)

“นายอิกอร์ดูไม่ค่อยจะสนใจไยดีกับเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ในชนบทเลยนะคะ” ฉันแอบนินทาไกด์กับสามี ดีใจที่ใช้ภาษาสวิสเยอรมันสำหรับพูดความลับกันได้

“ทำไมคุณพูดอย่างนั้นเล่า?” สามีถาม

“ก็แค่ถามนายอิกอร์ในเรื่องที่นักท่องเที่ยวทั่วไปถามกัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอเมริกาของธรรมดาแท้ๆ เขาต้องตอบว่าเขาไม่ใช่ชาวรัสเซียแล้วชาวมอสโกไม่ใช่ ชาวรัสเซียหรือคะ?” ฉันเถียง

“คุณก็รู้รัสเซียเป็นประเทศใหญ่ มีคนหลายชาติหลายภาษาอยู่ด้วยกันถึง ๑๔๗ ล้านคนในมอสโกเองมีประชากรถึง ๙ ล้าน ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีก ๔-๕ ล้าน ประมาณ ๘๑ เปอร์เซ็นต์ของประชากรเป็นชาวรัสเซียเชื้อสายยุโรปที่เหลือเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นายอิกอร์แค่คงจะอยากบอกเราว่าเขาไม่ใช่ชาวรัสเซียโดยทั่วไปต่างหากเล่า อย่าไปคิดมากเลย” สามีพูดอย่างยืดยาว

ฉันไม่สู้จะเห็นด้วยนัก แต่ก็ไม่ได้ต่อล้อต่อเถียง ด้วยความที่อยากได้นายอิกอร์ไว้เป็นไกด์ เพราะสามารถอธิบายอะไรต่ออะไรหลายอย่าง ทำให้การไปชมเมืองน่าสนใจกว่าที่จะไปกับไกด์ที่ทำหน้าที่ให้พ้นไปวันๆ

“ทำไมโบสถ์สไตล์รัสเซียจึงมีหอคอยเป็นรูปหัวหอมล่ะคะ?”

“หากคิดในด้านศิลปะ ผมอยากจะเดาว่าอาจจะได้ความคิดมาจากเปลวเทียนที่จุดไว้ก็เป็นได้เพราะดูสวยอ่อนช้อย หรือไม่ก็อาจจะเอาแบบขึงขังมาจากหมวกของทหารที่ยืนระวังตรงก็ได้นะครับ” นายอิกอร์อธิบาย สิ่งเล็กๆน้อยๆนี้แหละที่ทำให้ฉันติดใจและยกโทษให้นายอิกอร์ในเรื่องอื่นและภาษาอังกฤษของเขาก็ฟังไม่ขัดหู

ไกด์ของเราชี้ตึกสีเทาทึมให้ดู พร้อมอธิบายว่าเป็นตึกที่พวก KGB สายลับของโซเวียตรัสเซียใช้เป็นที่สอบสวนผู้ต้องสงสัยในเรื่องต่างๆในสมัยก่อน โดยเฉพาะในสมัยที่สตาลินยังครองอำนาจ ปัจจุบันได้กลายเป็นที่ทำการของ FSB (Federal Security Service) ไปเสียแล้ว แต่ FSB ก็ไม่มีหน้าที่สายลับนอกประเทศแต่อย่างใดแต่มีหน้าที่ดูแลความสงบในประเทศอย่างเคร่งครัดในปัจจุบัน SVR (External Intelligence Service) ต่างหากที่ทำหน้าที่สายลับในต่างประเทศแทน KGB ตึกที่ทำการแห่งนี้ไม่เปิดให้ประชาชนเข้าชม นายอิกอร์ชี้ไปยังตึกใหญ่อีกหลังหนึ่ง “คุณดูตึกตรงข้ามนั่นสิครับ เป็นตึกที่สวยมากอีกแห่งหนึ่ง สร้างแบบศิลปกรรมของรัสเซียแท้ๆ แต่เป็นสถานทูตฝรั่งเศส น่าเสียดายจริงๆ”

ตรงกันข้ามกับสถานทูตซึ่งตั้งอยู่บนถนนใหญ่ เข้าไปในซอยอีกเล็กน้อยก็จะมาถึงโบสถ์ของเซนต์จอห์น สร้างในสไตล์บาโร้คแบบรัสเซีย เป็นโบสถ์หลังสุดท้ายที่สร้างด้วยอิฐหลังจากนั้นซาร์ปีเตอร์ก็ทรงสร้างโบสถ์ด้วยวัสดุชนิดนี้อีก

ถัดไปไม่ไกลเป็นโบสถ์เซนต์นิโคลาสนักเขียนชื่อก้องโลกชาวรัสเซียลีโอ ทอลส์ตอย เคยมาสวดมนต์ภาวนาที่นี่ ตอนที่เขาย้ายที่พำนักมาอยู่ในถิ่นนี้ในปี ค.ศ.๑๘๘๓ จึงมีอนุสาวรีย์ของเขาตั้งอยู่

สีทองของยอดโดม “คอนแวนต์โนโวเดวิชี่” (Novodevichy Convent) ริมฝั่งแม่น้ำมอสโกเปล่งประกายระยิบระยับเห็นได้แต่ไกล นายอิกอร์ไม่ได้พาลูกทัวร์เข้าไปดูภายใน ได้แต่ยืนอยู่ในปาร์คบนฝั่งตรงกันข้าม

“คอนแวนต์นี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.๑๕๒๔ ต่อมาได้รับการบูรณะจากโซเฟีย พระพี่นางเธอคนละมารดากันของซาร์ปีเตอร์ตอนที่ทรงอยู่ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ค.ศ.๑๖๘๐ และทรงใช้สถานที่นี้เป็นบ้านที่สอง” ไกด์อธิบาย “พอซาร์ปีเตอร์มีพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา ในปี ค.ศ.๑๖๗๙ พระองค์ก็ทรงกำจัดโซเฟียให้พ้นทางไปด้วยการจำกัดให้พำนักอยู่แต่ในเขตนี้จนตลอดชีพเพราะชอบไปยุ่งกับพวกกบฏ ถึงกับลือกันว่าซาร์ปีเตอร์สั่งให้จับพวกกบฏแขวนคอไว้ที่หน้าบัญชรของพระพี่นางองค์นี้ เพื่อเป็นบทเรียนว่าอย่าได้มาวุ่นวายกับการเมืองอีก”

“ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือซาร์ปีเตอร์ยังขังพระมเหสีองค์แรกไว้ที่นี่ด้วย” ไกด์ขยายความต่อเมื่อเห็นลูกทัวร์ฟังอย่างสนใจ “เดี๋ยวนี้คอนแวนต์ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ข้างในมีของมีค่าน่าดูแยะนะครับ” เราสองคนเสียดายที่ไม่มีเวลาพอที่จะเข้าไปดู

ใกล้ๆกันเป็นสุสานที่สำคัญเป็นที่ ๒ รองลงมาจาก สุสานที่กำแพงเคร็มลิน เพราะมีหลุมฝังศพ ของผู้มีชื่อเสียงหลายคน ในจำนวนนี้มีโซเฟีย และพระญาติสนิทของพระนางรวมอยู่ด้วย ตลอดไปจนถึงพระมเหสีองค์แรกของซาร์ปีเตอร์