ขี่ม้าเหล็กข้าม ไซบีเรีย ตอนที่1

1. ฝันที่เป็นจริง ตั้งแต่ได้ดูหนังเรื่อง “Dr. Zhivago” (ดร.ชิวาโก) เมื่อครั้งยังเป็นสาวน้อย ฉันก็ใฝ่ฝันอยากจะไปดูไซบีเรียให้เห็นกับตาสักครั้งนอกจากจะติดใจภูมิประเทศยามฤดูหนาวที่ปกคลุมไปด้วยหิมะอันขาวโพลนสวยงามแล้วก็ยังหลงใหลในความหล่อเหลาของนักแสดงชาวอาหรับชื่อดังของฮอลลีวู้ดในสมัยนั้นอีกต่างหาก “โอมาร์ ชารีฟ” ซึ่งแสดงเป็นนายแพทย์รัสเซียตระกูลขุนนางในสมัยปฏิวัติของรัสเซีย มีหน้าตาเป็นที่ถูกอกถูกใจสาวๆในสมัยนั้นยิ่งนัก

หนังเรื่อง “ดร.ชิวาโก” สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกัน ซึ่งเขียนโดยนักเขียนชาวรัสเซีย ชื่อนาย Boris Pasternak (บอริสพาสเตอร์นัค) เขาแอบลักลอบนำต้นฉบับออกไปประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.๑๙๕๘ เพื่อตีพิมพ์ที่นั่น นอกจากนายบอริสแล้ว ยังมีนักเขียนรัสเซียคนอื่นที่เขียนถึงความทารุณโหดร้ายในสมัยปฏิวัติของรัสเซีย จนโดนจับเข้าคุกในไซบีเรียกันหลายคน พวกเขาได้สะสมวัตถุดิบไว้มากพอสำหรับเขียนเรื่องราวความโหดร้ายในดินแดน จนไซบีเรียขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่ง “โซ่ตรวนและน้ำแข็ง” มีนักเขียนชาวไซบีเรียคนหนึ่ง คือ Valentin Rasputin (วเลนติน รัสปูติน) ถูกส่งไปอยู่ในคุกเนื่องจากเขาเขียนโจมตีการทำลายสิ่งแวดล้อมขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวพื้นเมือง ตลอดจนเรื่องการสร้างเขื่อนไฮโดรอิเล็กทริคอย่างเจ็บแสบ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึงไซบีเรีย ใครๆก็กล่าวขวัญกันแต่เรื่องเสียๆหายๆ เช่นเป็นดินแดนที่แห้งแล้งบ้าง เป็นสถานกักกันอันน่าสะพรึงกลัวบ้าง อยู่ห่างไกลโดดเดี่ยวบ้าง หากใครถูกส่งไปเข้าคุกที่นั่นแล้วละก็ ญาติพี่น้องก็ต้องทำใจได้เลยว่าผู้นั้นได้ตายจากไปแล้ว เพราะในสมัยก่อนไม่ว่าประเทศจะถูกปกครองในระบบใด อาชญากรทั้งหลายก็ถูกส่งไปไซบีเรียกันแทบทั้งนั้น นับตั้งแต่อาชญากรอุกฉกรรจ์จนถึงนักโทษการเมือง หรือคนที่ถูกสงสัยว่ามีฐานะร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่ชอบมาพากล รวมไปถึงนักบวชที่มีความขัดแย้งทางศาสนา หรือใครก็ตามที่ทางรัฐตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นตัวแสบก่อความไม่สงบขึ้น ในที่สุด แม้แต่คน “บริสุทธิ์” ที่ทางการไม่ “ถูกชะตา” ก็โดนยัดเข้าคุกด้วย

อันที่จริงไซบีเรียไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดแต่อาจจะเป็นเพราะว่าดินแดนแห่งนี้อยู่ไกลปืนเที่ยง ไม่อาจจะไปให้ถึงได้สะดวกก่อนจะมีรถไฟหรือการคมนาคมอย่างอื่นไว้บริการก็เป็นได้ จึงถูกมองไปในทางลบเสมอมา ความจริงในฤดูร้อนไซบีเรียจะร้อนถึง ๓๕ องศาเซลเซียส และเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่อบอุ่นเหมาะกับการเดินทางไปเที่ยวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถจะนั่งรถไปบนทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็งได้

กว่าฉันจะมีโอกาสได้เดินทางไปไซบีเรียก็ต้องรอจังหวะอยู่นานปี การเดินทางเช่นนี้แม้จะมีทุนทรัพย์ หากไม่มีเวลาและความ “กล้า” ก็ไม่อาจจะทำได้เสมอไป เว้นแต่จะไปกับบริษัททัวร์เป็นหมู่คณะ อาจจะมีบริษัททัวร์ไม่กี่แห่งที่จะจัดทริปแบบใช้เวลาถึง ๑ เดือนเต็มมีบริษัททัวร์ในยุโรปจัดทัวร์คล้ายคลึงกันนี้ในเดือนกันยายน แต่เป็นการเดินทางโดยรถไฟทรานไซบีเรียเพียง ๔ วันเท่านั้น คือ จากมอสโกไปเมืองเอียร์คุสทค์ (Irtkutsk) หรือกลับกันแต่ก็เป็นขบวนที่จัดเป็นพิเศษเพื่อนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะและมีอยู่เพียงสี่ห้าเที่ยวต่อหนึ่งปีไม่ใช่รถไฟธรรมดาที่เดินตามตารางทั่วๆไป

เดินทางตามกำหนด

หลังจากที่ได้วางแผนอยู่นาน หนุ่มสวิสและหญิงไทยก็มานั่งรอเครื่องบินอยู่ที่สนามบินซูริค ลูกสาวยังเที่ยวพักผ่อนอยู่ที่ภูเก็ตจึงไปส่งพ่อแม่ไม่ได้ ต้องหอบกระเป๋าขึ้นรถไฟจากลูเซิร์นไปสนามบิน ซึ่งก็ไม่ยุ่งยากอะไร

ฤกษ์ไม่ดีในวันนั้น เครื่องบินประจำชาติของเยอรมนีที่จะเดินทางไปแฟรงค์เฟิร์ตล่าช้าทำให้การเปลี่ยนเครื่องไปนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กต้องขลุกขลักไปด้วย และเมื่อไปถึงเมืองของซาร์ปีเตอร์มหาราชแล้ว ก็ไม่มีกระเป๋าติดเครื่องตามไปด้วย เคราะห์ดีมีกระเป๋าหิ้วขึ้นเครื่องติดมือไปด้วย จึงมีชุดเปลี่ยน แต่กว่าสมบัติจะไปถึงโรงแรมก็ล่วงเข้าตีสองของวันใหม่

จากรัสเซียด้วยความรัก

เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๐๐๔ หนาวเย็นด้วยฝนปนหิมะและลมแรง รถยนต์พร้อมคนขับและไกด์มารับหลังอาหารเช้าเพื่อพาไปชมเมือง ฉันขอให้เขาชี้จุดต่างๆที่น่าสนใจให้เท่านั้น เพราะตั้งใจจะเดินไปดูสถานที่ที่ติดใจกันเอาเอง จะใช้เวลานานเท่าไรก็ได้ แถมโรงแรมที่พักคือ Helvetia Suite อันเป็นที่ตั้งของกงสุลสวิสก็อยู่ใกล้ถนน Nevsky Prospekt ที่มีชื่อเสียงของประเทศ จึงทำให้ไปไหนมาไหนสะดวกและรวดเร็ว ไกด์ที่ว่าจ้างล่วงหน้ามาจากสวิส ซึ่งควรจะเป็นไกด์ชั้นหนึ่งสมราคาค่าจ้างกลับพูดไม่ดีทั้งเยอรมันและอังกฤษ ทำให้ฉันซึ่งมีชื่อเสีย (ง) ในเรื่องฟิวส์ขาดง่าย รำคาญจึงให้เขากลับไปนอนบ้านแทนที่จะมาผจญความหนาวอยู่ในเมือง

เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำเนวา ซึ่งยาว ๗๒ กิโลเมตร มีลำคลองตัดผ่านถึง ๖๕ ลำคลอง มีพลเมือง ๕ ล้านคนและเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นที่ ๒ รองจากกรุงมอสโกประธานาธิบดีคนปัจจุบันของรัสเซียถือกำเนิดมากจากเมืองนี้ นายวลาดิเมียร์ ปูติน จึงมักจะเชิญแขกผู้มาเยือนไปเที่ยวนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เพราะเป็นเมืองที่มีเสน่ห์จริงๆ แม้ยามที่อากาศไม่เป็นใจ อาจจะเรียกนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเมืองพิพิธภัณฑ์ก็ว่าได้ เพราะมีอยู่มากมาย ถ้าจะดูกันจริงๆก็คงจะต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ

สิ่งแรกที่สังเกตได้คือสีของตึกรามและอาคารร้านรวง ซึ่งทาสีเหลืองเป็นส่วนใหญ่อาจจะเป็นเพราะความแปรปรวนของอากาศที่นครนี้ก็ได้ ที่ทำให้ชาวเมืองอยากเห็นสีสดใสไม่หดหู่ ได้รู้มาว่าแดดอาจจะออกอยู่ดีๆ ก็มีฝนเทลงมา หรือไม่ก็หิมะตก จึงทำให้ชาวเมืองติดนิสัยถือร่มเวลาออกนอกบ้าน

ถนนเนฟสกี้ พรอสเพ็คท์ ยาวประมาณสี่กิโลครึ่ง สองข้างถนนเต็มไปด้วยร้านรวงทันสมัย ผู้คนเดินไปมาขวักไขว่ ยามเลิกงานมีชาวออฟฟิศนั่งกินกาแฟ น้ำชา และขนมพวกเพสตรี้กันเต็มร้าน ตอนที่ฉันไป ทางเท้าข้างหนึ่งสร้างเสร็จแล้ว อีกข้างหนึ่งยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง อีกไม่นานชาวเมืองก็จะมีทางเท้ากว้างขวางเดินกันสบาย นึกๆแล้วอยากให้เมืองหลวงของไทยเป็นอย่างนี้บ้าง

นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถูกยกให้เป็นเมืองหลวงโดยซาร์ปีเตอร์มหาราชในปี ค.ศ.๑๗๑๒ อนุสาวรีย์ของพระองค์ที่กำลังทรงม้าจึงเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงเริ่มสร้างป้อมปราการของเซนต์ปีเตอร์และเซนต์พอลขึ้นมาก่อนในปี ค.ศ.๑๗๐๓ ที่ฝั่งแม่น้ำเนวา ชาวเมืองจึงเชื่อว่าปีกทองของนางฟ้าที่อยู่เหนือสัญญาณบอกอากาศที่ตั้งอยู่บนหอคอยของป้อมปราการจะปกป้องคุ้มครองให้พ้นภัย

“ดูวิหารนั่นสิคะ สีสันแปลกตาจังเลยคงจะเป็น The Church of the Saviour On Spilt Blood แน่นอน” ฉันตื่นเต้นเมื่อได้เห็นวิหารแห่งนี้บนถนนเนฟสกี้ พรอสเพ็คท์ “หนังสือบอกว่าเขาเอาวิหาร The Blessed Basil บางส่วนในกรุงมอสโกมาเป็นแม่แบบและสร้างขึ้นในระหว่าง ค.ศ.๑๘๘๓ และ ๑๙๐๗ แต่ใครๆตั้งชื่อแบบเย้ยแกมเยาะให้ว่าน่าจะชื่อ ‘วิหารที่ใช้เวลาสร้างถึง ๒๔ ปี และใช้เวลาอีก ๒๗ ปี สำหรับบูรณะ’

“แล้วเขาบอกหรือเปล่าว่าทำไมชื่อน่ากลัวอย่างนี้?” สามีถาม

“เขาบอกว่าสร้างขึ้นตรงจุดที่พวกก่อการร้ายขว้างระเบิดใส่ซาร์อเล็กซานเดอร์ ที่ ๒ ในปี ค.ศ.๑๘๘๑” ฉันอธิบาย แต่เมื่อเดินเข้าไปดูข้างในก็ไม่มีอะไรที่น่าสนใจมาก ยกเว้นรูปปั้นหินอ่อนของซาร์อเล็กซานเดอร์ และหินโมเสกสีสวยตามฝาผนัง

มหาวิหารไอแซ็คมีความสง่างามไม่แพ้ใคร ใช้เวลาสร้างถึง ๔๐ ปี มีคำทำนายว่าสถาปนิกผู้ควบคุมการก่อสร้างจะต้องตายภายในเวลาไม่นานหลังจากสร้างวิหารแล้วเสร็จปรากฏว่าคำทำนายเป็นจริง คิดไปคิดมาคนรัสเซียก็เชื่อถือโชคลางแบบคนไทยเหมือนกัน

ออกจากมหาวิหาร เราเดินต่อไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ “Hermitage” ซึ่งอยู่ด้านหลังของเสาหินใหญ่เรียกว่า Alexander Column เป็นอาคารมหึมา ๕ หลัง รวมถึงวังฤดูหนาวซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าซาร์หลายพระองค์ในสถาปัตยกรรมแบบร็อคโกโกและบาโร้ค (Rococo/Baroque) มีนายรัสเตรลลี่ (Rastrelli) เป็นสถาปนิก โดยได้รับพระราชเสาวนีย์จากจักรพรรดินีอเล็กซาเบธ และต่อมาจากจักรพรรดินีแคธรีนมหาราชินี พระองค์นี่แหละที่ทรงเริ่มสะสมจิตรกรรมของศิลปินชาวฮอลแลนด์และชาวเฟลมมิชขึ้นก่อน ทรงซื้อภาพวาดมาจากกรุงเบอร์ลิน ใน ค.ศ.๑๗๖๔ ต่อมาพระเจ้าซาร์นิโคลัสก็ทรงสะสมบ้างจนมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นของที่ได้มาจากนักสะสมส่วนบุคคลบ้าง จากที่ต่างประเทศบริจาคบ้าง จนรวมได้กว่า ๓ ล้านรายการในปัจจุบัน

เรื่องสถาปัตยกรรมแบบต่างๆนี่ฉันรู้และจำได้ขึ้นใจ เพราะเป็นวิชาหนึ่งที่ฉันต้องเรียนเพื่อสอบเอาประกาศนียบัตรสำหรับเป็นไกด์ในเมืองลูเซิร์นและยุโรป หากเข้าประตูทางด้านนี้จะเห็นรูปปั้นของผู้ชายกล้ามใหญ่แบบแซมซั่นนุ่งน้อยห่มน้อยใช้มือทั้งสองข้างค้ำส่วนหน้าของอาคารไว้ ด้านนี้เป็นด้านแรกที่พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ ๑ ทรงพระเมตตาเปิดประตูให้สาธารณชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๘๕๒

“คำว่า Hermitage ในภาษาอังกฤษแปลว่า สำนักฤๅษีไม่ใช่หรือคะ?” ฉันถามสามีเป็นภาษาสวิสเยอรมัน “ทำไมเขาเอาชื่อนี้มาตั้งล่ะคะ? มันเกี่ยวกับฤๅษีตนไหน?”

“ไม่ได้แปลอย่างนั้นหรอก” สามีตอบยิ้มๆ เพราะรู้ภาษาฝรั่งเศส “Hermitage ในที่นี้คงจะหมายถึงความเงียบสงบในภาษาฝรั่งเศสมากกว่า ที่ในภาษาอังกฤษเรียก Solitude น่ะ คุณชอบไม่ใช่หรือ เห็นพูดอยู่บ่อยๆว่า หากไม่ออกไปพบเพื่อนฝูงก็เป็นเพราะอยากจะหา Solitude ให้ตนเอง” สามีหยอด ฉันชวนคุยต่อ “แหม แต่มันไม่ยักกะเงียบเหมือนชื่อเลยนักท่องเที่ยวขวักไขว่ไปหมด นี่ขนาดเป็นเดือนตุลาคมนะคะ หากเป็นฤดูร้อนละก็คงไม่มีที่เดิน” ภายในตัวอาคารมีศิลปะหลายแขนง วรรณกรรม ประติมากรรม รูปปั้น รูปภาพ ของมีค่าทุกแขนงจากทั่วทุกมุมโลกมาวางให้ชมเป็นขวัญตา มีทั้งศิลปะแบบตะวันตกและตะวันออก ไม่นับถึงศิลปะอันมากมายของเจ้าของบ้านอีกต่างหาก

ห้องแต่ละห้องมีเบอร์ติดไว้ เมื่อดูแผนที่แล้วจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง บางครั้งก็เดินหลง ต้องหาทางใหม่เอาเอง อย่าได้ไปถามเจ้าหน้าที่หน้าห้องเลย เพราะส่วนใหญ่หน้าตาบอกบุญไม่รับ ทำตัวเหมือนกับยังอยู่ในสมัยปกครองด้วยระบบโซเวียต คอมมิวนิสต์ ที่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ รัฐบาลเลี้ยงอยู่แล้ว ลืมนึกไปว่านักท่องเที่ยวนำเงินมาให้พวกเขาได้มีงานทำแทนที่จะนั่งตบยุงหรือตบอะไรก็ได้อยู่ที่บ้าน ฉันติดใจห้องสีทองมากที่สุด (Golden Rooms) เพราะมีสมบัติอันหาค่ามิได้มากมาย

วันต่อมาเราไปเดินเล่นบนกำแพงของป้อมปราการเซนต์ปีเตอร์และเซนต์พอล ซึ่งนอกจากซาร์ปีเตอร์จะสร้างไว้เพื่อเป็นกำแพงป้องกันศัตรูแล้ว ยังได้เคยใช้เป็นที่กักกันนักโทษการเมือง จากบนกำแพงจะแลเห็นทิวทัศน์ของเมืองจากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ “เนวา” ได้อย่างชัดเจน ในวันที่มีอากาศแจ่มใส ภายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวิหารชื่อเดียวกัน มียอดหอคอยแหลมเห็นได้แต่ไกล ภายในวิหารเป็นสุสานที่ฝังศพซาร์ปีเตอร์มหาราชและพระเจ้าซาร์อื่นๆอีกหลายพระองค์

พระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราชหรือพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ ที่ ๑ ได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชด้วยพระปรีชาสามารถประการหนึ่งกับการที่พระองค์ทรงมีพระวรกายสูงใหญ่อีกประการหนึ่ง อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ก็ได้ที่อนุสาวรีย์ของพระองค์จึงมักจะถูกสร้างให้สูงใหญ่โตเสียเป็นส่วนมาก

“เราน่าจะไปดูการแสดงพื้นเมืองของเขาบ้างนะ” ชาวสวิสชวนในขณะที่เดินกลับจากการไปชมพิพิธภัณฑ์

“ไปสิ แต่ว่าวันนี้ไม่มีการแสดงพิเศษอะไรหรอกนะ เพราะย่างเข้าฤดูใบไม้ร่วงแล้ว จะมีก็ต้องเป็นวันพรุ่งนี้ แต่เราก็จะออกเดินทางกันเย็นพรุ่งนี้แล้วนะ” ฉันตอบ

“ถ้างั้นเราลองไปดูการแสดงของชาวคอสแซ็คกันไหม? ผมเห็นโฆษณาในหนังสือแต่จะยังมีตั๋วหรือเปล่าก็ไม่รู้”

“ฉันก็เห็นค่ะ เขาเรียกรายการของเขาว่า ‘Feel Yourself Russian’ ถ้าเราไปแต่วันก็คงจะซื้อตั๋วที่นั่งดีๆได้”

เมื่อออกจากพิพิธภัณฑ์ Hermitage เราได้ว่าจ้างแท็กซี่ให้ไปส่งที่โรงแรม ระหว่างทางฉันสังเกตว่าคนขับเป็นหนุ่มหน้าตาดี รูปร่างสูงใหญ่ ผมสีบลอนด์ ท่าทางสุภาพ พูดภาษาอังกฤษได้พอรู้เรื่อง ฉันจึงกระซิบกับสามีว่าน่าจะจ้างเอาไว้ขับแท็กซี่ให้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นายเซอร์เก หรือเซิร์จคนขับแท็กซี่ตกลงด้วยความยินดี เขาเล่าว่าเป็นนักดนตรีเล่นเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “ทูบา” อยู่ในวงดนตรีดุริยางค์ของกองทัพบก มาขับแท็กซี่เพื่อหารายได้เพิ่มเติมยามว่าง เขาแต่งงานแล้วมีลูก ๑ คน อาศัยอยู่ในแฟลตร่วมกันกับอีกครอบครัวหนึ่ง แฟลตมีห้องนอน ๒ ห้อง ส่วนห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องน้ำต้องใช้ร่วมกันกับอีกครอบครัวหนึ่ง

“ไม่มีปัญหาหรือคะ ผู้หญิง ๒ คน ใช้ครัวเดียวกัน ต้องจัดเวลาการทำอาหารอย่างไรจึงจะลงตัว?” ฉันสงสัย

“ไม่มีปัญหาหรอกครับ เพราะเราเคยชิน ดีเสียอีกที่จะได้ช่วยเหลือกัน เราอยู่กันแบบพี่น้อง” นายเซิร์จตอบ “เมืองใหญ่ขาดแคลนที่พักอาศัย ก็ต้องรวมกันอยู่แบบนี้ทั้งนั้น ระบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยโซเวียตคอมมิวนิสต์จะเปลี่ยนแปลงก็ต้องอาศัยเวลา”

“ดีจังนะคะที่ทำแบบนี้ได้ แต่ฉันวาดภาพไม่ออกเลยว่าทำได้ยังไง ที่ประเทศสวิสแม้แต่พี่น้องคลานตามกันออกมา หรือว่าแม่กับลูกสาวก็มักจะใช้ครัวร่วมกันไม่ได้ เพราะไม่มีใครชอบให้ไปยุ่งกับครัวของเขา”

ไกด์คนแรกก็เล่าให้ฟังเหมือนกันว่าต้องอยู่ร่วมกันกับอีกครอบครัวหนึ่ง ตัวไก๊ด์เองเป็นเจ้าของบ้าน อยากจะให้ผู้อาศัยออกไปเสียก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้

เย็นวันนั้นนายเซิร์จมารับเราสองคนไปยัง Nikolaevsky Palace ซึ่งเป็นสถานที่แสดง ปรากฏว่าไปถึงเป็นคู่แรกจึงซื้อตั๋วได้ที่นั่งข้างหน้าพร้อมกับคู่สามีภรรยาชาวแคนาเดียน เลยได้คุยกันฆ่าเวลาก่อนการแสดง เขาเล่าว่าตอนเช้าถูกกรีดกระเป๋าเป้ที่แขวนไว้ข้างหลัง เมื่อตรวจดูปรากฏว่ากล้องและหนังสือเล่มหนึ่งถูกขโมยไป