เมืองเนรมิตร

ได้ไปเมืองเนรมิตรเป็นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1976 ในสมัยนั้นเมืองนี้หาใช่เมืองเนรมิตรดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ แต่เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนทะเลทรายอันแห้งแล้ง มองไปทางไหนมีแต่ทราย ทราย และทราย บางแห่งแลเห็นหอคอยและเครื่องมือสำหรับขุดเจาะน้ำมันอยู่ที่นั่นและที่นี่เพราะน้ำมันเพิ่งถูกค้นพบในประเทศต่างๆที่ตั้งอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย(Persian Gulf) หรือ(Arabian Gulf) แห่งนี้เมื่อปีค.ศ. 1966 หรือเมื่อสิบปีก่อนที่เราจะไปเยือนเป็นครั้งแรกนั่นเอง

เมื่อบินอยู่เหนือฟ้าในขณะนั้นเป็นช่วงกลางคืน มองจากเครื่องบินลงไปบนพื้นดิน จะแลเห็นแสงไฟโชติช่วง ที่เกิดจากการเผาก๊าส ที่เกิดจากบ่อน้ำมันทั่วไป อยู่เป็นหย่อมๆ และเมื่อลงจากเครื่องแล้ว สิ่งแรกที่โชยมาตามสายลมกระทบจมูก ก็คือกำมะถันอันเกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมัน จึงได้ส่งกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาอยู่ทั่วทุกอณู

ในปัจจุบันหรือสามสิบกว่าปีให้หลัง นครรัฐดูไบ (Dubai) ที่อยู่ในกลุ่ม A5A2 ประเทศสหรัฐเอมิเรสต์ (UAE United Arab Emirates) ได้พัฒนาขึ้นไปมากมาย จนยากที่ประเทศส่วนใหญ่จะตามทัน เพราะรัฐบาลอันมี Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum (ชีคโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคตูม) เจ้าผู้ครองนครรัฐดูไบทรงเป็นประมุข ประเทศแห้งแล้งในทะเลทราย จึงได้กลายเป็นเมืองเนรมิตรในช่วงระยะเวลาอันสั้นๆเพียงไม่กี่สิบปี

พระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนนั้นล้นเหลือยิ่งนัก พระองค์ได้แบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า คือน้ำมันให้แก่พสกนิกรของพระองค์แทนที่จะงุบงิบเก็บเอาใส่กระเป๋าไว้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าพระองค์จะทำเยี่ยงนั้นก็อาจจะทำได้ เพราะการปกครองของประเทศยังไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยเช่นในสากลโลก แต่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์เป็นเจ้าเหนือชีวิต มีสิทธิโดยชอบธรรมในการจัดการกับประเทศ และชีวิตของประชาชนเช่นไรก็ได้

อย่างไรก็ดี ด้วยพระเมตตาอันเปี่ยมล้น พระองค์จึงช่วยประชากรของพระองค์ให้มีฐานะที่ดีขึ้น จากประชาชนที่เคยเป็นเผ่าเบดูอิน อาศัยอยู่ในประเทศที่แห้งแล้งและกันดาร ได้ลืมหน้าอ้าปาก มีเงินมีทองจับจ่ายใช้สอย เพื่อปัจจัยทั้งสี่และมากยิ่งไปกว่านั้นเสียอีก ถ้าราษฎรของพระองค์จะไม่ทำงานทำการเลยก็ได้ เพราะจะมีเงินจากรัฐเลี้ยงดูตลอดชีวิต พวกเขาสามารถไปเรียนต่อ และเที่ยวต่างประเทศได้อย่างสบายๆ

ชาวดูไบได้กลายจากเผ่าที่เร่ร่อนในทะเลทราย กลับเป็นชาวโลกที่ทันสมัย แทนที่จะต้องย้ายที่พักอาศัย พร้อมเต็นท์ที่พักกับอูฐและสัตว์เลี้ยง ท่ามกลางความร้อนด้วยแสงแดดที่แผดเผาของทะเลทราย และความลำบากแสนเข็ญแทบเลือดตากระเด็น นอกเหนือไปจากนี้ พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์อันเป็นเลิศ จึงทำให้ประเทศดูไบพ้นจากความจมปลักกับความโง่เขลาและยากจน ประเทศได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วผิดหูผิดตาแทบไม่น่าเชื่อ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

โรงแรม Crown Plaza ที่เราไปพัก ตั้งอยู่บนลำธารทะเลหรือ Creek และอยู่ติดกับ Intercontinental Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมชั้นดีแห่งเดียวในสมัยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ที่เราเคยไปพัก ดูไบในสมัยนี้ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับในอดีต มองจากหน้าต่างห้องนอนของโรงแรม แลข้ามลำธารออกไปแลเห็นอาคารที่สูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน Burj Khalifa (เบิร์จ คาลิห์ ลีฟ่า) หอคอยสูงเสียบฟ้า

ท่ามกลางท้องฟ้าที่ค่อนข้างขมุกขมัว สลัวๆ ด้วยความชื้นสูงในบรรยากาศของทะเลทราย อากาศในตอนเช้ากำลังสบาย มีลมพัดอ่อนๆโชยมาต้องผิวกาย ในขณะที่เรานั่งกินอาหารเช้าอยู่ภายนอกห้องอาหารของโรงแรม เท่าที่สังเกตดู แขกของโรงแรมมีทั้งนักธุระกิจใส่สูทผูกเน็คไท และนักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนหรือไม่ก็ครอบครัวที่ติดตามสามีไปเที่ยว หลังอาหารเช้า เราเดินเลียบผ่านโรงแรมคอนติเนนเติ้ล ไปยังศูนย์การค้า อันเป็นที่ขายตั๋วของรถบัส แบบ hop on hop off ซึ่งมีอยู่สองสาย คือสายสีแดง และสีฟ้า เราซื้อตั๋วที่ใช้ได้สองวันสำหรับวันละสาย แล้วก็ขึ้นแท็กซี่ ไปขึ้นรถ Double Decker ที่จอดอยู่ที่ศูนย์การค้า Wafi Mall เพื่อชมเมือง

เช้าวันแรกเราใช้บริการรถสายสีฟ้า ในรถไม่มีไกด์แบบตัวเป็นๆ แต่เป็นแบบเทปซึ่งมีอยู่สิบภาษาให้เลือกกันฟังตามใจปรารถนา รถวิ่งผ่านถนนที่ตัดอย่างกว้างขวาง ราบเรียบไม่ขรุขระ ทุกอย่างแลดูเป็นระเบียบ ไม่เห็นมีอะไรที่สร้างแบบสุกเอาเผากิน หรือสกปรกรกรุงรังให้รำคาญตา ธรรมดาฉันเองไม่ใช่คนที่จะทึ่งหรือประทับใจอะไรง่ายๆ โดยเฉพาะในสิ่งที่ทันสมัยใหม่ เพราะเห็นกันอยู่ทั่วโลก

เนื่องจากชอบไปดูโบราณวัตถุและสิ่งปรักพังเก่าๆมากกว่า แต่ต้องสารภาพว่า เมื่อได้มาเห็นความทันสมัยของประเทศนี้ ก็อดตื่นตาตื่นใจไปกับสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ที่เห็นในขณะที่รถผ่านไปเสียมิได้ จุดแรกที่น่าสนใจก็คือ ตึก Burjuman ที่เป็นศูนย์การค้าใหญ่โต ขายสินค้าส่วนใหญ่ประเภทแบรนด์เนม ซึ่งเขาบอกว่าขายดิบขายดีเหมือนขายขนม เพราะประชาชนมีกำลังซื้อมหาศาล ส่วนนักท่องเที่ยวนั้นเล่าก็ได้อานิสงฆ์ไปด้วย เนื่องจากไม่มีภาษีขาเข้าหรือถ้ามีก็น้อยมาก สินค้าในประเทศนี้จึงค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

คำอธิบายจากเทปบอกว่าประวัติศาสตร์ที่ไม่นานมานี้ของดูไบ นอกจากจะเป็นชาวเผ่าเบดูอินที่เร่ร่อนอยู่ในทะเลทรายแล้ว ยังมีอาชีพหากินด้วยการดำน้ำลึกไปหาหอยนางรม เพื่อแกะเอาไข่มุกด์ออกมาขาย เนื่องจากเขตที่ตั้งของประเทศอยู่ระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียน และมหาสมุทรอินเดีย และมีการเชื่อมทางอากาศ และทางทะเลกับประเทศอื่นๆในอ่าว ตลอดจนถึงทวีปอัฟริกาและอาเซียตะวันออกไกล

นครรัฐดูไบจึงเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายทองคำ เนื่องจากสนธิสัญญาของราชวงศ์ อัล มักตูม กับสหราชอาณาจักรที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๙๒ จนถึงทุกวันนี้ ที่ยกเว้นภาษีให้แก่พ่อค้าวาณิชย์ต่างชาติ จึงทำให้สินค้าราคาถูกสามารถนำเข้ามาในท่าเรือปลอดภาษีแห่งนี้ได้ และสามารถส่งต่อไปขายยังตลาดต่างประเทศได้ในทันทีทันใดโดยฉพาะแถวทางทวีปยุโรป

ชีค ราชิด (Sheikh Rashid) ซึ่งได้รับการยกย่อง ให้เป็นพระบิดาแห่งนครรัฐดูไบ ประสูตรเมื่อปีค.ศ. ๑๙๑๒ เป็นพระองค์แรก ที่ได้แลเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้พัฒนาให้ท่าเรือ ราชิด หรือ Port Rashid เป็นท่าเรือทันสมัยที่ทำการนำเข้าและนำออกสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทองคำ ชีคราชิด ทรงเป็นตัวตั้งตัวตี ก่อให้เกิดการขุดและขยายท่าเรือ เจเบล อาลี Jebel Abel Ali Port ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีสัมพันธภาพอันดีกับสหราชอาณาจักรอังกฤษและพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่สองอีกต่างหาก พระโอรสทุกพระองค์สำเร็จการศึกษาจากแซนด์เฮิรสท์ (Sandhurst) ประเทศอังกฤษ เมื่อ ชีคราชิดสิ้นพระชนม์ ในปีค.ศ. ๑๙๙๐ ความสัมพันธ์ก็ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้เนื่องจากมีพระโอรสเป็นตัวเชื่อมนั่นเอง

อย่างไรก็ดีอังกฤษได้ตัดสินใจที่จะถอนอำนาจ จากประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของคลองซูเอส ตั้งแต่น้ำมันถูกขุดพบในปีค.ศ. ๑๙๖๖ การแต่งตั้งประทศสหรัฐเอมิเรสต์(United Arab Emirates) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๑๙๗๑

ชีคมัคตูมได้สืบบัลลังค์ต่อจากพระบิดาชีคราชิด แต่เมื่อพระองค์เองได้เสด็จสวรรคตในปี ๒๐๐๖ พระโอรสคือชีคโมฮัมเหม็ด ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองรัฐองค์ปัจจุบันได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา จึงเป็นที่แน่นอนว่าพระองค์จะดำเนินโครงการสานต่อจากพระบิดา อันมีจุดประสงค์ที่จะทำให้นครรัฐดูไบเป็นประเทศที่พัฒนาและทันสมัยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใด ประเทศกลางทะเลทรายแห่งนี้ จึงได้มีการดำเนินงานพัฒนาอย่างรวดเร็ว แทบจะหายใจหายคอไม่ทัน จนได้กลายเป็นเมืองเนรมิตรดังที่เห็นในปัจจุบัน การกลับไปเยือนนครรัฐดูไบของเราในครั้งนี้ จึงน่าตื่นเต้นและนำความทึ่งพร้อมกับความสุขใจมาให้อย่างหาที่เปรียบมิได้ ที่ได้เห็นความเจริญอย่างผิดหูผิดตา ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ แน่นอนหากประเทศไม่มีผู้ครองนครที่มีความห่วงใยใฝ่ใจกับพสกนิกร และความเป็นไปภายในประเทศอย่างสุจริตใจ เราจะไม่ได้เห็นความรุ่งเรืองแบบนี้แน่นอน

รถบัสสีฟ้าได้พาเราผ่านไปยังสถานที่ต่างๆ ถนนหนทางกว้างขวางมีระเบียบ ที่น่าทึ่งจนเหลือเชื่อ ก็คือปาร์ค ที่เขียวชะอุ่มหลายแห่ง มีต้นไม้ร่มครึ้ม มีหญ้า ที่เขียวขจี มี ดอกไม้ ชูช่อ ออกดอก เหมือนในประเทศที่มีลักษณะภูมิประเทศ ในเขตที่มีอากาศธรรมดา ได้รับคำบอกเล่าว่า ดูไบเป็นประเทศที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลกคือ หนึ่งพันห้าร้อยล้านลิตรต่อวัน (ข้อนี้อาจจะจำผิดก็ได้นะคะ เพราะลืมจดข้อมูลเอาไว้) แต่ที่แน่ที่สุดก็คือ ดูไบใช้น้ำมากเป็นที่สุดของโลก การดูดน้ำไปรดต้นไม้ ก็ใช้ระบบที่คล้ายคลึงกับสปริงเกลอร์(sprinkler) ที่เราใช้กันในสวนที่บ้าน คือเอาท่อฝังลงในดิน และปล่อยให้ฟองฝอยของน้ำพรมไปทั่วบริเวณทุกหนทุกแห่งโดยจัดทำเวลาเอาไว้ว่าจะให้พรมเมื่อไหร่ หรือ จะกำหนดให้พรมทั้งวันทั้งคืน

การจะใช้ระบบนี้ให้มีสิทธิภาพจึงจำต้องใช้น้ำอย่างมหาศาล ในประเทศมีโรงกลั่นน้ำจากทะเลที่เรียกว่า Desalination Plant เราคุ้นเคยกับระบบการกลั่นน้ำชนิดนี้ มาตั้งแต่สมัยที่อยู่ประเทศคูเวต เมื่อสมัยสี่สิบปีก่อน แต่ในสมัยนั้น เมื่อเขากลั่นน้ำมาจากทะเลแล้ว จำต้องส่งรถโกดังใส่แทงค์น้ำไ ปรับมาส่งที่ที่พัก แล้วสูบขึ้นไปเก็บไว้ ในแทงค์น้ำบนหลังคาบ้าน บางครั้งหากแทงค์เป็นสนิม ก็จะได้น้ำที่ขุ่นเป็นสีน้ำตาล ในบ้านจึงต้องมีเครื่องกรองน้ำพิเศษ และจำต้องถอดเอาออกมาขัดล้างบ่อยๆ

มาในปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก ระบบนี้จึงมีประสิทธิภาพ อย่างเทียบกันไม่ได้กับในสมัยก่อน ได้รับคำอธิบายว่า น้ำที่กลั่นมาจากน้ำทะเลเป็นน้ำที่ ปลอดภัยสามารถดื่มได้จากก๊อกเลย แต่อาจจะมีรสกร่อยเพราะสารเคมี อย่างไรก็ดี ผู้คนทั่วไปมักจะซื้อน้ำขวดดื่ม หรือไม่ก็มีคูลบ็อกซ์ไว้ใส่น้ำ เมื่อไปพักอยู่ในประเทศนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะแขกของประเทศหรือไปทำงาน ทุกคนควรจะระลึกเสมอว่า น้ำเป็นสิ่งที่หายาก ในประเทศที่ฝนแทบจะไม่ตกเลย จึงจำเป็นต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและระมัดระวัง

เจ้าผู้ครองนครรัฐและประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐเอมิเรสต์(UAE) คือ ชีค คาลีฟา บิน ซาเยด อัล นายัน (Sheikh Khalifa bin Zayed al Nahyan) ซึ่งเป็นโอรสของ ชีค ซาเยด บิน สุลต่าน อัล นายัน (Sheikh Zayed bin Sultan Al Nahyan) อันเป็นผู้ครองนครอันเป็นที่รักและนิยมของประชาชน แต่ได้เสด็จสวรรคตใน ปี ค.ศ. ๒๐๐๔

ส่วนชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชีด อัล มัคตูม เจ้าผู้ครองนครรัฐดูไบในปัจจุบัน เป็นทั้งรองประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีของสหรัฐเอมิเรสต์ในคราวเดียวกัน พระองค์ทำงานต่อจากพระเชษฐาคือ ชีค มัคตูม ที่สวรรคตเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๖ ชีคฮัมเหม็ดเป็นผู้ครองนครที่มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นที่รู้จักกันดี อันเนื่องมาจากความรักที่พระองค์มีต่อการแข่งขันม้า และวิสัยทัศน์กว้างไกลที่จะทำให้นครรัฐดูไบมีชื่อเสียง ขจรขจายไปทั่วโลก

นอกจากนั้น ชีค อาเหม็ด บิน ซาอีด อัล มัคตูม (Sheikh Ahmed bin Saeed Al Maktoum) ยังเป็นประธานของสายการบินเอมิเรสต์อีกต่างหาก อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ก็เป็นได้ ที่สายการบิน เอมิเรสต์ จึงเป็นสายการบินที่ดีสายหนึ่งและมีราคาไม่แพงจนเกินไป

คุณผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า สมาชิกของราชวงศ์แทบทุกพระองค์ ต่างทรงถือบังเหียนของประเทศเอาไว้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะนครรัฐดูไบ มีการปกครอง ด้วยระบอบบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย นครรัฐดูไบมีพลเมืองทั้งหมดเพียงสองล้าน แต่แปดสิบเปอร์เซ็นต์ เป็นชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ ที่เข้ามาทำงานที่นี่ เพราะนอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีรายได้แล้ว ยังได้รับอานิสงค์จาก เศรษฐกิจที่กำลังบูมอย่างสุดๆ และเหนือสิ่งอื่นใด แทบจะไม่มีอาชญากรรม ในประเทศนี้เลย

บรรยากาศก็เต็มไปด้วยมิตรภาพและไมตรีจิตระหว่างกันในหมู่คนหลายชาติที่มาอยู่และทำงานร่วมกัน แม้แต่นักท่องเที่ยวอย่างเรายังรู้สึกได้ถึงความมีไมตรีจิตของผู้คน ตั้งแต่ย่างก้าวเข้าไปถึงสนามบินเป็นต้นไป รถพาเราผ่านศูนย์การค้าใหญ่โตและทันสมัยหลายแห่ง ผ่านชายหาดที่มีทรายขาวสะอาด มีสถานที่สำหรับให้ออกมาปิคนิค เห็นคนออกมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ส่วนใหญ่คงจะเป็นนักท่องเที่ยวฝรั่งที่เดินทางมาพักผ่อนฮอลลิเดย์ ในยามที่อากาศที่ยุโรปกำลังหนาวเหน็บ

และเมื่อมาเที่ยวประเทศนี้ นอกจากจะได้รับไออุ่น จากแสงแดดแล้ว ยังได้ช็อปปิ้งในศูนย์การค้าที่หรูหรา และปลอดภาษีอีกต่างหาก ผ่านศูนย์การกีฬา ประเภทเมืองหนาวเช่น ลานเล่นสกีหิมะ มีริงค์สำหรับ เล่นสเก็ตน้ำแข็ง ไปสิ้นสุดและกลับรถที่ เกาะปาล์มจูเมราห์ หรือที่เรียกว่า Atlantis on the Palm ซึ่งเป็น ศูนย์กลางทางน้ำหลายชนิด เช่นมีอะเควเรียมใหญ่โต มีปลาโลมาแสดงให้ดูอีกต่างหาก

เราผ่านอาคารอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า The Sail ซึ่งอยากจะกล่าวถึงคือ บนหลังคาเป็นสนามเทนนิสที่เคยมีนักเทนนิสที่มีชื่อเสียงของโลกหลายคนเช่น รอเจอร์ เฟเดอเรอ (Roger Federer) อังเดร อักกัสซี่ (Andre Agasi)พีท เซมปรัส (Pete Sempras) ฯลฯ เคยมาเล่นเทนนิสกัน

เราเข้าไปรับประทานอาหารกลางวันในร้านอาหารอิตาเลียนแห่งหนึ่ง โต๊ะติดๆกัน มีผู้หญิงนั่งอยู่สามคน คนหนึ่งเป็นชาวอินเดียน อีกสองคนเป็นหญิงสาวชาวดูไบหรือที่เรียกกันว่า (Emirati) ใส่ชุดพื้นเมืองคือ อาบาย่าสีดำ (abaya) ทำด้วยไหม ที่คลุมตั้งแต่หัวจดเท้า คาดหัวด้วยเครื่องประดับ มีผ้าคลุมผมสีดำเรียกว่า ชีล่า (Sheyla) ถ้าหากเธอสองคนมีอายุสักหน่อย ก็คงจะมีผ้าคลุมหน้า ที่เรียกว่า เบอร์ก้า (burkha) เมื่อได้เล่าถึงการแต่งกายของหญิงชาวเอมิเรตตี้แล้ว ก็อยากจะเล่าให้ฟังถึงการแต่งกายแบบพื้นเมืองของผู้ชายบ้าง

พวกเขาสรวมชุดยาวสีขาวสะอาดโปร่งสะบาย ที่เรียกว่า ดิชดัชช่า (dishdasha) หรือ คานดูร่า (khandoura) คลุมศรีษะด้วยผ้าคลุมที่เรียกว่า กัตตร้า (ghuttra) ซึ่งเป็นสีขาว พันทับโดยรอบด้วยเชือกคาดสีดำเรียกว่า เอกาล (agal) ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องประดับแล้ว ยังใช้สำหรับเป็นเชือกผูกอูฐในตอนกลางคืนอีกต่างหากในสมัยก่อน

ขอกลับมาถึงอาหารกลางวันที่เล่าค้างอยู่ ฉันต้องหันไปมองโต๊ะติดๆกันด้วยความสนใจโดยไม่กลัวจะเสียมารยาท เพราะหญิงชาวดูไบทั้งสองคนพูดภาษาอังกฤษได้เยี่ยมมาก เดาได้ว่าได้รับการ ศึกษามาอย่างดี วิธีกินอาหารแบบตะวันตกก็ถูกต้อง ไม่เกร็ง ซึ่งรู้ได้ว่าได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ทำให้ได้รับความรู้ว่า ประมุขของประเทศ มีวิสัยทัศน์ที่จะให้การศึกษาแก่พสกนิกรอย่างดีเลิศ

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าภาษาอาหรับจะเป็นภาษาประจำชาติ แต่คนส่วนใหญ่ ก็สามารถสื่อสารในภาษาที่สองคือภาษาอังกฤษได้อย่างดี มีโรงเรียนนานาชาติ อยู่ในประเทศมากมาย การศึกษาของเขามีมาตรฐานสูงและมีสิทธิภาพ ประชาชนจึงมีการศึกษาที่ดี มีการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และเนื่องด้วยเศรษฐกิจที่กำลังบูม แทบจะทุกคนสามารถไปศึกษาต่อได้ดังที่ใจต้องการ

ได้คุยกับพนักงานชาวปากีสถานคนหนึ่งที่ทำงานที่โรงแรม เขาบอกว่าได้ทำงานที่นี่มาสามสี่ปีแล้ว และชอบมาก เพราะมีสวัสดิการเยี่ยมให้พนักงาน เช่นมีที่อยู่อาศัย มีสวัสดิการทางสุขภาพ ฯลฯ

เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเขาที่จะเก็บเงินส่งกลับประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ของชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงาน ในประเทศนี้ก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่ก็มีเหมือนกันที่บ่นว่า มาอยู่ดูไบก็เพื่อจะทำงานเท่านั้น ไม่มีอะไรอย่างอื่นเป็นพิเศษ แต่คนประเภทนี้ก็คงจะเป็นส่วนน้อย แล้วแต่ใครจะมีทัศนะคติอย่างไร จะทำงานอย่างมีความสุข แถมมีเงินเดือนส่งกลับประเทศของตน หรือว่าจะทำแบบปราศจากความสุข อยู่ไปวันๆ ความจริงในโลกนี้มี “แขกทำงาน” หรือ guest workers อยู่มากมาย ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ระดับสูง กลาง หรือระดับต่ำ

ในระหว่างการเดินทาง รถบัสหยุดให้เราไปเดินเที่ยวชมตลาด คานมูราน หรือ Khan Murjan Souk ในราวสิบห้านาที เพื่อให้ไปชมตลาดที่ส่วนใหญ่ ขายพวกเครื่องเทศชนิดต่างๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับตลาดใน อินเดียและประเทศในตะวันออกกลางทั่วไป สิ่งที่น่าซื้ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ลูกอินทผาลัม

อีกวันต่อมา เราใช้รถสายสีแดง ซึ่งจอดอยู่ที่ Wafi Centre เช่นเดียวกับสายสีฟ้า แต่จอดกันคนละจุด สิ่งที่น่าสนใจของศูนย์วาฟี คือสถาปัตยกรรมแบบที่เลียนมา จากกรุงแบกแดดในศตวรรษที่ ๑๔ ที่ใช้เป็นที่พักของผู้เดินทางในสมัยนั้น บนฝาผนังติดกระจกด้วยสีต่างๆ บรรยายถึงผู้ค้าวานิชชาวอาหรับที่ เดินทางข้ามทะเลทรายจากประเทศอื่น มาแลกเปลี่ยนสินค้ากัน การก่อสร้างในลักษณะของชาวมอร็อคโค อียิปต์ และตุรกี ทำให้ผู้ชมรู้สึกทึ่งและประทับใจในความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมประเภทนี้ในสมัยก่อน รถหยุดให้ไปลงที่ท่าเรือ ที่มีเรือ Dhow สร้างด้วยไม้ หรือเรียกกันง่ายๆว่าเรือสำเภารออยู่ เพื่อพาเราไปล่อง Dubai Creek

ในสมัยก่อนชาวอาหรับสร้าง เรือดาวเป็นอาชีพ เพื่อขายให้พ่อค้าใช้บรรทุกสินค้าล่องไปขายในประเทศต่างๆ ในปัจจุบันเมื่อการคมนาคมเปลี่ยนไป เขาจึงใช้เรือประเภทนี้มาเป็นพาหนะ พานักท่องเที่ยวไปชมลำธารทะเล ตามรอยที่พ่อค้าชาวดูไบ ใช้แล่นค้าขายไปยังประเทศอื่นๆในสมัยโบราณ บางครั้งก็ใช้เรือประเภทนี้เป็นร้านอาหารทั้งในกลางวันและยามค่ำคืน จากเรือเราสามารถเห็นบ้านช่อง ในสมัยก่อนของชาวดูไบที่สร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่สิบเก้า

ศิลปะการก่อสร้างในสมัยก่อนที่จะมีเครื่องแอร์ให้ความเย็น บ้านของชาวอาหรับมีบริเวณที่เรียกว่า Courtyard มีกำแพงล้อมรอบ หลังคาสูงเปิดรับลม มีหอคอยลม หรือ wind tower ที่สามารถช่วยเป่าลมลงไปในบริเวณล่างของบ้านได้ ส่วนประตู เป็นไม้สลักด้วยมืออย่างสวยงาม บ้านแบบนี้ยังมีให้เห็นในยามที่เรานั่งเรือไปตามลำธารทะเล หรือเมื่อเดินเข้าไปในตลาดเก่าของดูไบ เป็นภาพที่ทำให้เราระลึกถึงดูไบในสมัยก่อนที่ยังมีการค้าขายในระบอบเก่า ตลาดเก่าของดูไบตั้งอยู่ทางตอนเ Dubai Creek นครรัฐดูไบสั่งเข้าทองคำประมาณสามร้อยตันต่อปี อัน ปริมาณที่มหาศาล

จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งทองคำ เนื้อทองคำก็มีการตั้งค่าต่างกันไป เช่น สิบแปดการัต ยี่สิบเอ็ดการัต ยี่สิบสองการัต ยี่สิบสี่การัต การคิดค่ากำเหน็ดและฝีมือการประดิษฏ์ก็น้อยมาก ประกอบกับภาษีขาเข้าไม่สูงนัก อาศัยที่ขายกันเป็นจำนวนมาก ดูไบจึงได้กลายเป็นตลาดขายทองคำที่ถูกที่สุดในโลก ร้านขายทองคำสร้างใหญ่โต เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งต่างกับในสมัยก่อนที่เราไปเห็น ภายในตลาดมีทองคำวางขายเหมือนขายผักหรือผลไม้ตั้งอยู่ เป็นกองๆ ระดับการตั้งวางขายทองอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนของเดิม ซึ่งในความเห็นส่วนตัว เห็นว่าน่าเสียดายมาก

อย่างไรก็ดี การค้าขายจำต้องมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับวันและเวลาที่เปลี่ยนไป ไม่อาจจะยึดเยื้อให้อยู่ในระบอบเก่าได้ เมื่อไปซื้อทอง ผู้ซื้อก็สามารถต่อรองราคาได้เช่นเดียวกับสินค้าทั่วไป ตลาดที่ขายเครื่องเทศตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน มีเครื่องเทศมากมายหลายชนิดวางขายอยู่มากมาย เป็นกระสอบๆ กลิ่นหอมและฉุนของเครื่องเทศเช่น พริกแห้ง อบเชย ยี่หร่า กานพลู ขมิ้น เครื่องแกงแห้งชนิดต่างๆ ตลบอบอวลไปทั่วตลาด กระตุ้นต่อมความหิว

มีผลไม้แห้งหลายชนิดประเภทอินทผาลัมวางขายอยู่มากมาย พร้อมขายให้กินได้ทันทีและหีบห่อแบบซื้อไปบ้านหรือเป็นของฝาก ชาวอาหรับใช้ลูกอินทผา ลัมเป็นเสบียง ในการเดินทางในทะเลทรายด้วยอูฐในสมัยก่อน เพราะนอกจากจะมีต้นขึ้นอยู่มากมายในทะเลทรายแล้ว อินทผาลัมยังเก็บรักษาได้ง่าย และนานโดยไม่เสียเหมือนผลไม้อื่น

ประเทศดูไบใช้สกุลเงินที่เรียกว่า Emirati Dirham เอมิเรสท์เดอรัม ซึ่งอาจจะเขียนเป็น AED (Arab Emirati Dirham) หรือ DHS (Dubai Dirham) ค่าของเงินและการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงอยู่กับการขึ้นลงของเงินดอลล่าร์สหรัฐ หนึ่งดอลล่าร์เท่ากับ ๓.๖๗ เดอรรัม และหนึ่งยูโรเท่ากับ ๕.๖๒ นอกเหนือไปจากเงินเดือนที่สูงแล้ว สวัสดิการของประเทศ ยังรวมถึงการได้รับการรักษาพยาบาลฟรี และการใช้โทรศัพท์ภายในประเทศ ก็ยังฟรีอีกต่างหาก การขอวีซ่าเข้าประเทศ เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถขอได้ที่สนามบินโดยไม่มีปัญหา ระยะเวลาที่นักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศนานถึงหนึ่งเดือนเต็ม มีสามสิบสามประเทศที่สามารถขอวีซ่าได้ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศนั้น

สำหรับกีฬาเช่นกอลฟ์ ก็มีสนามกอลฟ์มากมายหลายแห่งให้เลือก สามารถจองสนามได้ทางอินเตอร์เน็ต เกร็ก นอร์แมน (Greg Norman) นักกอลฟ์ชาวออสเตรเลียซึ่งเคยเป็นมือวางอันดับหนึ่งของโลก ได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้สร้างสนามกอลฟ์ อีกสี่แห่งเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว และสนามนี้ก็ได้สร้างเสร็จภายในเวลาประมาณสิบสองเดือน ส่วนกีฬาเทนนิสนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะมีการแข่งขันระดับโลกคือ ดูไบโอเพ่น ทุกปี นอกจากนั้นก็มีการจัดทัวร์ไปซาฟารีทะเลทราย มีการพาทัวร์ไปกินอาหารในเต็นท์กลางทะเลทราย ฯลฯ

หลายคนอาจจะมองว่านครรัฐดูไบเป็นประเทศที่ “ปลอม” คือทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ดูดี ทันสมัย เพื่อเป็นที่หนึ่งของโลกในทุกเรื่อง อย่างไรก็ดี เมื่อมองประเทศนี้ด้วยใจเป็นธรรม ฉันเห็นว่าประมุขผู้ปกครองประเทศ ได้ทำทุกวิถีทางที่จะสร้างประเทศให้ประชาชนมีการอยู่ดีกินดี และอานุสงฆ์อันนี้ ได้เผื่อแผ่ไปยังชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัย และทำงานในประเทศนี้ได้ต่างหาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประเทศหลายประเทศโดยทางอ้อม

จากเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน มาจนถึงปัจจุบัน สามารถจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า นครรัฐดูไบได้แปลงโฉมใหม่ จากทะเลทรายที่แห้งแล้ง มาเป็นเมืองเนรมิตร เฉกเช่นกับนิยายอาหรับราตรี หนึ่งพันหนึ่งทิวาราตรี(Thousand and One Night) อย่างแท้จริง

แสงไฟที่โชติช่วงระยิบระยับราวเมืองในเทพนิยายที่เราเห็นในปัจจุบัน หาได้เกิดจากการเผาไหม้ของก๊าซเฉกเช่นในอดีตไม่ แต่เป็นความสว่างสไวจากดวงไฟที่ติดอยู่บนอาคารสูงระฟ้าแห่งนครรัฐดูไบนั่นเอง อย่างนี้แล้วจะไม่ให้ฉันทึ่ง และประทับใจในความเปลี่ยนแปลงไป ในทางที่ดีของประเทศนี้ได้อย่างไร

จริงอยู่มีบางคนคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในดูไบเป็นของ “ปลอม” เพราะถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมด หาได้มีสิ่งไรเป็นธรรมชาติไม่ อย่างไรก็ตาม หากจะคิดด้วยใจที่เป็นธรรม ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการ “สร้าง” หรือ “แปลกปลอม” ทว่า ผู้ปกครองประเทศ ได้ให้ความสำคัญแก่ประชาชน มีประชาชนเป็นศูนย์รวมของความสำคัญในประเทศ มีความประสงค์อยากให้อยู่ดีกินดี ให้พวกเขารอดพ้นจากการเป็นเผ่าที่เร่ร่อนในทะเลทรายอันร้อนเร่าและแห้งแล้ง มามีความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียง กับอารยชนทั้งหลายในโลก อย่างนี้สิคะ ที่เขาเรียกว่าความรักความเมตตาอย่างแท้จริง