James Bond In Concert

“My name is Bond, James Bond” Sean Connery (ฌอง คอนเนอรี่)นักแสดงหนุ่มหล่อชาวสก็อตในสมัยนั้นได้แนะนำตัวเองในหนัง เจมส์ บอนด์ เรื่องแรกคือ Dr. No. เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้ว เป็นการยากที่จะเชื่อว่าหนังเจมส์ บอนด์ได้เข้าฉายในโรงเป็นครั้งแรกเมื่อ วันศุกร์ที่ ๕ ตุลาคม ๑๙๖๒ คือเมื่อห้าสิบปีมาแล้วนั่นเอง

นวนิยายหลายตอน ที่เขียนโดย Ian Fleming ที่วางตัว เจมส์ บอนด์ เอเยนต์ชาวอังกฤษให้เป็นตัวเอกของเรื่อง ได้ถูกทำเป็นภาพยนต์ มาแล้วหลายตอน สำหรับใครที่ไม่เคยดูหนังเจมส์ บอนด์ ก็อยากจะขอแนะนำให้รีบไปหาดีวีดี หรือหนังเก่าๆมาดูเสีย แล้วจะไม่ผิดหวัง ถ้าต้องการคลายเครียด ดูหนังเจมส์ บอนด์

แล้วจะสดชื่นทันตาเห็น เมื่อคืนได้ไปดู James Bond in Concert ที่โรงละคร KKL หรือ Congresss Hall ของเมืองลูเซิร์น โรงละครที่เคยเล่าให้คุณผู้อ่านฟังไปแล้วจากเรื่อง “ไปดู Passion Playที่เมืองลูเซิร์น” โดยเหตุที่สวิสเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะมีคอนเสิร์ทแบบคลาสสิค หรือ คอนเสิร์ทชนิดใด โรงละครก็มักจะเต็มเสมอ แม้ว่าจะต้องเสียค่าตั๋วแพงมาก สำหรับชาวสวิสแล้วไม่ใช่เฉพาะปัจจัยสี่เท่านั้น ที่เป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิต แต่การไปชมมหรสพและการไปเที่ยวในวันหยุด หรือการไปฮอลลิเดย์ก็เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตเช่นเดียวกัน

เหนือเวทีที่วงออเคสตร้า 21st Century Symphony Orchestra ตั้งอยู่มีจอหนังใหญ่ขึงไว้ เวลาทุ่มครึ่งตรงนักดนตรีต่างก็เริ่มทะยอยเดินเข้ามาแต่ละคนถือชิ้นดนตรีไว้ในมือ นับนักดนตรีได้คร่าวๆมีประมาณหนึ่งร้อยคน รวมทั้งหญิงและชาย ผู้ชมตบมือให้การต้อนรับ ไม่มีการวุ่นวายในการหาที่นั่ง ไม่มีเสียงพูดคุยให้ได้ยิน มีแต่สีหน้ายิ้มแย้ม พอนั่งแล้ว หัวหน้านักดนตรีไวโอลิน หรือนักไวโอลินเบอร์หนึ่งก็ลุกขึ้นเล่นเสียงที่ต้องการให้นักดนตรีเล่น เสียงที่ได้ยินใน

ตอนนั้นคือเสียงจากการปรับเสียงเครื่องดนตรีของตนเอง เท่าที่สังเกตชิ้นดนตรีในคืนวันนั้นมี ไวโอลิน ไวโอลา ไวโอลินแชลโล เครื่องบาส หรือที่เรียกว่า contrabass แคลรีเนต โอโบ แซ็กโซโฟน แตรแบบฮอร์น ทรัมเป็ต ทิวบา ปีอาโน ฮาร์ป กีตาร์ กลอง

เมื่อการปรับเสียงเสร็จลง conductor หรือ ไวทยากร ก็เดินเข้ามา ท่ามกลางการตบมือกราวใหญ่ของผู้ชม นาย Ludwig Wicki ไวทยากร เป็นชาวลูเซิร์นโดยกำเนิด ได้ศึกษาวิชาการดนตรีที่เมืองลูเซิร์น เพราะลูเซิร์นมีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยสำหรับสอนดนตรีในระดับปริญญาโดยเฉพาะ ไปต่อที่กรุงเบิร์น หลังจากนั่นก็ไปศึกษาต่อที่เมืองเดรสเดน (Dresden) ในประเทศเยอรมันนี นอกจากเป็นไวทยากรของวงออเคสตร้า 21st Century Syphony Orchestra แล้ว ตั้งแต่ปี ๒๐๐๔ ลุดวิค วิกกี้ ยังเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปะในกรุงเบิร์นอีกต่างหาก หลายปีมาแล้วที่ ลุดวิค ได้หันมาให้ความสนใจกับการกำกับวงดนตรีประกอบหนังหลายเรื่อง โดยร่วมมือกับนักดนตรีและนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงของโลกหลายคน

จนมาถึงปี ๒๐๐๘ ถึง ปี ๒๐๑๐ ลุดวิค ได้กำกับวงดนตรีที่ฉายเป็นปฐมฤกษ์มาแล้วหลายเรื่อง เช่น The Lord of the Rings เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้ร่วมมือกับวงออเคสตร้าที่มีชื่อเสียงของโลกอีกหลายวง จนในที่สุด ลุดวิคก็ได้ไปกำกับวง 21st Century Symphony Orchestra ที่ Radio City Music Hall ที่เมืองนิวยอร์ค ในปี ๒๐๑๑ ลุดวิคได้เขยิบไปกำกับวงเพื่อเล่น Live in Concert รอบปฐมฤกษ์ ในหนังเรื่อง Pirates of the Caribbean ตอน The Curse of the Black Pearl และในเดือนมกราคมปีนี้เอง ที่ได้ไปแสดงฝีมือรอบปฐมฤกษ์ประกอบหนังคลาสสิคของดิสนีย์ชื่อ Fantasia

การแสดงในค่ำคืนนี้ แบ่งออกเป็นสองตอน ตอนแรกมีการบรรเลงดนตรีประกอบหนังที่จะฉายทั้งหมดเจ็ดเรื่อง มีการแสดงดนตรีและร้องเพลงในขณะที่มีการฉายหนังเป็นบางส่วน เรื่องแรกคือ Dr. No ที่ฉายในปี ๑๙๖๒ เริ่มต้นของหนังเจมส์ บอนด์ ก็เป็นการแสดงฉากทั่วๆไป คือ เจมส์ บอนด์ แต่งสูทวิ่งออกมาพร้อมปืนแล้วเหนี่ยวไก ในขณะที่หนังฉาย ดนตรีก็เล่น The James Bond Themeที่รู้จักกันทั่วไปประกอบ เพียงแต่การเล่นดนตรีชิ้นแรกก็ได้สร้างความตื่นเต้น ร่าเริงและสนุกสนานแก่ผู้ชมแล้ว

เมื่อพูดถึงดนตรีและเพลงประกอบภาพยนตร์แล้ว อยากจะเล่าให้คุณผู้อ่านฟังถึงผู้แต่งเพลงและดนตรีของเจมส์ บอนด์ ด้วย คือ นาย John Barry เมื่อเขาได้สิ้นชีวิตลงเมื่อปี ๒๐๑๑ วงการบันเทิงของโลกได้สูญเสียนักแต่งดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ไปอีกคนหนึ่ง ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ จอห์น ได้รับรางวัลระดับโลกมากมายสำหรับการแต่งเพลงและดนตรีประกอบหนังของเขา ในจำนวนนี้มีรางวัลออสคาร์รวมอยู่ด้วยถึงห้ารางวัล จอห์น แบรี่ ได้แต่งดนตรีและเพลงประกอบให้หนังเจมส์ บอนด์ ถึงสิบเอ็ดเพลง นอกจากนั้นแล้วยังแต่งดนตรีชื่อ Born Free ในปี ๑๙๖๖ อีกสองปีต่อมาได้แต่งเพลงประกอบหนังเรื่อง The Lion in Winter และที่คอหนังทุกคนคงจะจำได้ก็คือดนตรีในหนังเรื่อง Out of Africa ในปี ๑๙๘๕ และ Dances with Wolves ในปี ๑๙๙๐

แม่ของจอห์นเป็นนักเล่นปีอาโนโดยอาชีพ ในขณะที่พ่อเป็นเจ้าของโรงหนังถึง แปดโรง ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ ดังนั้น จอห์น จึงเติบโตมาท่ามกลางเสียงดนตรีและในโลกมายาของภาพยนตร์ แต่ก่อนที่เขาจะมาแต่งดนตรีประกอบหนัง เจมส์ บอนด์ เขาต้องไปรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารในกองทัพอังกฤษอยู่ถึงสามปี ในระหว่างที่รับใช้ชาติอย่างลูกผู้ชายที่รักชาติทั่วไป เขาได้เป็นสมาชิกเล่นดนตรีให้กับวงทหารของอังกฤษ ในระหว่างนี้เองที่เขาได้เริ่มเรียนดนตรีแจ๊ซและดนตรีป็อป ซึ่งผสมผสานกันด้วยดีในการแต่งดนตรีประกอบหนังเจมส์ บอนด์ ในเวลาต่อมา

ในขณะที่ฉายหนังเรื่องที่สองคือ From Russia with Love ที่ฉายเป็นครั้งแรกในปี ๑๙๖๓ ดนตรีก็เล่นประกอบหนังไปด้วย มีการออกมาร้องเพลงlive บนเวที เรื่องที่สามที่ฉายก็คือ Goldfinger ที่ฉายเป็นครั้งแรกในปี ๑๙๖๔ นาย กาย ฮามิลตัน Guy Hamilton เป็นผู้กำกับการแสดง มีฉากบนหาดไมอามี่ และการปล้นทองตอนเช้ามืดที่ Fort Knox สลับมาที่สวิสซึ่งเป็นฉากที่พวกเราสนุกกันมาก ตอนที่ เจมส์ บอนด์ ขับรถ Aston Martin DB5 ที่โด่งดังของเขา (ตั้งแต่ปี ๒๐๑๐ รถคันนี้ได้ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ คมนาคมของเมืองลูเซิร์น Lucerne Transport Museum) ตามหญิงคนหนึ่งไปตามถนนที่วกวนไปมาตามเทือกเขาแอลป์ ที่พวกเราคุ้นเคย คือทางผ่าน Furkapassstrasse มีการวิพากษ์วิจารณ์จากนักเขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ว่า Aston Martin คันนี้เป็นรถที่มีชื่อเสียงที่สุด แห่งโลกมายา ในเย็นวันนั้นเขาเอารถคันนี้แหละมาตั้งโชว์ไว้ที่โรงละคร มีนักร้องหญิงออกมาร้องเพลง Goldfinger ประกอบ เธอมีเสียงที่มีพลังมากเข้ากับวงดนตรีได้อย่าง แนบเนียนและกลมกลืน หลังจากที่ร้องเพลงแต่ละเพลงจบลง

เธอได้รับการปรบมืออย่างกึกก้องจนได้รับ curtain call หลายครั้ง ต้องออกมาโค้งแล้วโค้งอีก ในที่สุดต้องออกมาร้องเพลงอีกเป็นของแถม เพื่อสนองการเรียกร้องของผู้ชม ธรรมดาฉันเองเป็นคนที่ค่อนข้างจะพิถีพิถันในการปรบมือในระหว่างที่ดนตรียังเล่นไม่จบ ถึงกับอดใจไว้ไม่ได้ ลืมตัวปรบมือไปก่อนที่ดนตรีจะสิ้นสุดค่อยๆหายไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร เพราะใครๆก็รอที่จะทำเช่นนั้นเช่นเดียวกัน หญิงคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างๆหัวเราะออกมาด้วยความขันในความตื่นเต้นของฉัน

นักร้องหญิงคนนี้ Clara Sanabras มีสัญชาติอังกฤษ พำนักอยู่ทางตะวันออกของกรุงลอนดอนที่เรียกว่า East London แต่เธอเกิดที่ประเทศฝรั่งเศส เข้าใจว่าแม่ของเธอเป็นฝรั่งเศส ได้เติบโตมาที่เมืองบาร์ซีโลน่า (Barcelona) ประเทศสเปน อ่านประวัติของเธอแล้วรู้สึกว่าค่อนข้างจะมีเลือดชาวยิปซีอยู่ในตัวพอสมควร นอกจากการร้องเพลงแล้ว เธอยังแต่งเพลงและเล่นดนตรีหลายชนิด ต้องขอสารภาพว่าติดใจในน้ำเสียงของเธอมากๆ ขอเล่าแถมอีกนิดว่าเธอยังร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Game อีกต่างหาก ตอนที่สร้างหนังเรื่อง Goldfinger นั้น นักเขียน Ian Fleming ได้ขายหนังสือของเขาไปแล้วถึงสามสิบห้าล้านเล่ม แต่หนังเรื่องนี้ได้สร้างความฮือฮาเป็นพิเศษ ด้วยเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับการผจญภัยในสวิตเซอร์แลนด์

ด้วยเหตุที่หนังเจมส์ บอนด์ เรื่องแรกได้มีการถ่ายทำ ที่สวิตเซอร์แลนด์ จึงทำให้นักแสดงชาวสวิส ได้กลายเป็น ดาราที่มีชื่อเสียงของโลกหลายคน เช่น Ursula Andress ที่เป็น “สาวบอนด์” (Bond’s Girls) คนแรกและมีชื่อเสียงที่สุด มาจนทุกวันนี้ ใครจะลืมฉากในหนังเรื่อง Dr. No ได้ ตอนที่เออร์ซูล่า ใส่ชุดบีกินีสีขาวโผล่ขึ้นมาจากทะเล หรือภาพที่เธอกลิ้งเกลือกอยู่บนชายหาด นาย Marc Forster ชาวสวิสเช่นกัน ได้กำกับหนังเรื่อง Quantum of Solace และนาย Anatol Taubman ชาวสวิสอีกคนหนึ่ง ได้มีโอกาสแสดงเป็นตัวร้ายในหนังเรื่องเดียวกัน

เมื่อพูดถึง “สาวบอนด์” ซึ่งมีอยู่Moneypennyด้วยกันทั้งหมดกว่าสี่สิบคน ในจำนวนนี้มีสามสิบคนที่ต้องการประหารบอนด์ สาวคนหนึ่งที่ตกหลุมรักเจมส์ ก็คือ Miss Moneypenny เลขานุการยอดเก่งของ Mr. M ซึ่งเป็นบอสของ บอนด์ และเป็นหญิงคนเดียวที่บอนด์ ไม่เคยจีบ แม้ว่าเธอเองอยากจะให้จีบใจจะขาด ทั้งๆที่บอนด์ เจ้าชู้จีบไม่เลือก แต่ก็คงจะเป็นผู้ชายประเภท “สมภารไม่กินไก่วัด” ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๙๕ เป็นต้นมา บอสของบอนด์เป็นผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชายอีกต่อไป Mr. Q เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง เพราะเขาเองเป็นผู้คิดค้นเครื่องไม้เครื่องมีออันมหัศจรรย์ให้ บอนด์ ใช้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงบัดนี้มีผู้แสดงเป็นเจมส์ บอนด์ ด้วยกันทั้งหมดหกคนด้วยกัน George Lazenby ชาวออสเตรเลีย ได้แสดงเป็นเจมส์ บอนด์ ด้วยวัยเพียงสามสิบปีซึ่งเป็นเจมสห์ บอนด์ ที่มีอายุน้อยที่สุด และได้แสดงเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น

เรื่องต่อไปคือ On Her Majesty’s Secret Service ที่ฉายครั้งแรกในปี ๑๙๖๙ มีการเล่นสกีด้วยความรวดเร็ว ผาดโผนและน่าหวาดเสียวลงมาจากภูเขา วงดนตรีแบบ live บนเวทีก็เล่นประกอบอย่างเต็มที่ เร้าใจ ฌอง คอนเนอรี่ ไม่ได้สกีเอง แต่ใช้ตัวแทน stuntman นาย Bernhard Russi นักแข่งสกีชาวสวิส ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียงยี่สิบเอ็ดเท่านั้นก็ได้ร่วมแสดงด้วย จนได้รับอุบัติเหตุจนคอเกือบหัก ฉากที่ถ่ายทำ คือหมู่บ้าน Murren ในเขตBerner Oberland เชิงเขา Schiltorn ซึ่งสูงถึง ๒๙๗๓ เมตร ภูเขาที่ฉันเองก็เคยสกีลงมาแล้ว จนยังมีผีเสื้อบินอยู่ในท้องถึงทุกวันนี้ เมื่อนึกไปถึงการสกีครั้งนั้นทีไร ที่เล่าให้ฟังก็เพราะอยากให้คุณผู้อ่านได้ภูมิใจว่านักเขียนหญิงไทยธรรมดาๆที่ไม่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของ สกุลไทย ได้มีการเล่นสกีหิมะที่คงจะไม่มีคนไทยสักกี่คนนักหรอกที่ได้มีโอกาสเช่นนี้

อย่างไรก็ดี การถ่ายทำช่วงสุดท้ายได้ทำกันที่หมู่บ้าน อันเดอร์มัท (Andermatt) ในรัฐลูเซิร์น ดังนั้นจึงมีการหาตัวแสดงเพื่อรับบทนักเล่นสกีเพื่อเป็น stuntman Bernhardt Russi จึงได้มาสมัครเป็นตัวประกอบ เพราะเขาบอกว่ามีรายได้ดีคือ แทนที่จะได้ ๑๒๐ ฟรังค์ ต่อวัน เขาจะได้ถึง ๑๕๐ ฟรังค์ต่อวันทีเดียว ในสมัยนั้น หนึ่งฟรังค์เท่ากับห้าบาท

แต่อย่าลืมว่านั่นมันเกือบห้าสิบปีมาแล้ว และค่าของเงินในสมัยนั้นก็แพงมาก ในหนังเรื่อง On Her Majesty’s Secret Service มีฉากหนึ่งที่ เจมส์ บอนด์ สกี หนีศตรูที่สกีตามติดๆมาข้างหลัง และเบอร์นฮาร์ด รุสซี่ ได้แสดงเป็นศตรูติดตามเจมส์ บอนด์ ไปติดๆ เนื่องจากเป็นฤดูใบไม้ผลิ หิมะยังคงนิ่มไม่สามารถทรงตัวได้ดี สกีไปชนเข้ากับกำแพงหิมะ ทำให้สกีข้างขวาหัก จนเขาเสียหลักล้มลง หัวทิ่ม กระดูกที่คอร้าวจนเกือบหัก อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทำให้เขาสิ้นสติ ถูกหามส่งโรงพยาบาล เมื่อหายแล้ว มือข้างขวาก็ยังปวดใช้การไม่ได้ ทำให้เขาไม่สามารถจะใช้จับไม้สกีเพื่อฝึกฝนการเล่นสกีประเภทสลาลม (Slalom)ได้ อย่างไรก็ดี ในอีกแปดเดือนต่อมา เมื่อมีการแข่งขันสกีชิงชนะแชมป์โลก เขาก็ร่วมการแข่งขันด้วยจนได้รับชัยชนะเป็นแชมป์โลกประเภท alpine ski หรือเรียกง่ายๆว่า สกีลงเขานั่นเอง

การแข่งประเภทนี้ต้องอาศัยความเร็วเป็นพิเศษ และเป็นการแข่งที่ตื่นเต้นที่สุด You Only Live Twice ฉายตัวแคปซุลที่ลอยอยู่ในอวกาศ ในขณะที่ Diamonds are Forever มี Mr. Wint และ Mr. Kidd เป็นตัวชูโรง ตามด้วย The Spy Who Loved Me เป็นตอนสุดท้ายสำหรับการบรรเลงดนตรีในส่วนแรก รอเจอร์ มัวร์ (Roger Moor) แสดงเป็นเจมส์ บอนด์ แต่ไม่มีหนังฉายให้ดู ทว่า คลาร่า ซานาบราส ออกมาร้องเพลง Nobody Does it Better, Ride Atlantis และ The Tanker หลังจากการพักยี่สิบนาทีเพื่อให้ผู้ชมได้ออกไปดื่มน้ำดื่มท่ากันแล้ว ก็กลับเข้าไปใหม่ เพื่อชมเจ็ดตอนสุดท้ายคือ The Living Daylights และ For Your Eyes Only ที่แสดงโดย Pierce Brosnan ดาราที่หล่อเหล่าอีกคนหนึ่ง

ในชีวิตจริงเพียร์สเป็นคนที่รักเมียมาก ถ้าจำไม่ผิดเธอตายด้วยโรคมะเร็ง ทำให้เขาเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง หนังเรื่องนี้ นาย Bill Conti เป็นผู้แต่งดนตรีประกอบ ส่วน Octopussy ที่แสดงโดยรอเจอร์ มัวร์ ไม่มีหนังฉายให้ดู แต่มีดนตรีสดบรรเลง ส่วนLicence to Kill ดนตรีประกอบแต่งโดย Michael Kamen แสดงโดย Timothy Dalton ไม่มีหนังฉายแต่มีดนตรีบรรเลง

เรื่อง Goldeneye แสดงโดย เพียร์ส บรอสนันเช่นเดียวกัน ดนตรีประกอบหนังแต่งโดย Monty Norman และ Bono & The Edge มีฉากขับรถถังไปรอบๆเมือง St. Petersburg ของบรอสนันและทหารโซวียต Tomorrow Never Dies ก็แสดงโดยบรอสนันเช่นกัน มี Clara Sanabras ออกมาร้องเพลง Surrender ได้เยี่ยมยอดมาก สองเรื่องสุดท้ายสำหรับคอนเสิร์ทในค่ำคืนวันนี้คือ Quantum of Solace แสดงโดย Daniel Craig นักแสดงรูปหล่ออีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนสุดท้ายของหนังเจมส์ บอนด์ เป็นฉากแสดง ค่ำคืนในโรงละครอุปรากร วงดนตรีและหนังจบลงด้วย

The World is not Enough หนังทั้งสองเรื่องนี้ดนตรีประกอบแต่งโดย David Arnold Daniel Craig คนนี้แหละที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในวังบัคกิ้งแฮม เพื่อขึ้นไปกราบทูลเชิญ Queen Elizabeth ให้ลงไปข้างล่างกับเขาเพื่อไปโดดร่มในวันเปิดการฉลองโอลิมปิคที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนกรกฎาคม ฉากที่ขึ้นไปทูลเชิญถึงชั้นบนนั้นเป็นฉากจริง ส่วนหลังจากนั่นก็เป็นแต่เพียงการแสดง

ดนตรีจบลงด้วยการเล่น Main Theme ของหนังเจมส์ บอนด์ และเพลง Ice Bandits ท่ามกลางความอิ่มเอิบอิ่มใจของผู้ชมโดยถ้วนหน้า ที่ลูเซิร์นได้ทำการฉลองครบห้าสิบปีของหนังเจมส์ บอนด์เป็นพิเศษ ซึ่งเท่าที่รู้ไม่มีที่ไหนทำกัน ก็เพราะหนังเรื่องแรกได้ถ่ายทำกันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ซึ่งหนังเรื่องแรกคือ Dr. No นั้นได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว นอกจากนั้นนวนิยายที่ Ian Fleming เขียน ก็เขียนในลักษณะที่เป็นคุณแก่ประเทศในเทือกเขาแอลป์แห่งนี้ เนื่องด้วย Ian Fleming มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศสวิสนั่นเอง แม้แต่รอเจอร์ มัวร์ นักแสดงเป็นเจมส์ บอนด์ คนหนึ่งก็ได้รับเกียรติให้เป็นชาวสวิสกิติมศักดิ์ อีกต่างหาก เพราะอยู่ในประเทศนี้มาเนิ่นนาน แม้ว่านักวิจารณ์หนังชาวสวิสจะติว่า เขาได้รับบทให้แสดงเป็นเจมส์ บอนด์ มากไปหน่อยก็ตาม