ปีนี้ฤดูใบไม้ผลิมาเยือนก่อนถึงเวลาอันควรถึงสามสัปดาห์ พุ่มไม้ใบหญ้าต่างก็เริ่มแตกใบสีเขียวอ่อนแทนต้นที่ยืนโกร๋นมาตลอดช่วงฤดูหนาว ไม่ว่าจะมองไปทางใด ดอกไม้ต่างชนิด สีสันสวยสด ออกดอกชูช่อสว่างสไว สร้างความสดชื่นให้แก่ทุกคนที่พบเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวิสที่ต้องผจญกับฤดูหนาวอันแสนจะเยือกเย็นมาเป็นเวลาหลายเดือน พระอาทิตย์ฉายแสงให้ความอบอุ่นกันทั่วหน้า ทุกคน ต่างก็เฝ้ารอแสงแดดกันอย่างหิวโหย เขามีความสุขกับวันเวลาเหล่านี้แม้จะตระหนักดีว่า อากาศในฤดูนี้จะเปลี่ยนแปลงอีกเมื่อไรก็ได้ อาจจะมีหิมะตกลงมาอีก อาจจะมีฝน แต่ไม่เป็นไร ตราบใดที่มีแสงแดดแม้เพียงไม่กี่วันก็พอแล้ว หากจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีก ก็เป็นเรื่องของอนาคตในวันต่อไป สำหรับชาวยุโรป ฤดูใบไม้ผลิหมายถึงว่าช่วงเวลากลางวันจะเริ่มยาวกว่ากลางคืนสองสามชั่วโมง และฤดูร้อนกำลังจะย่างเข้ามา
อย่างไรก็ดี แม้ว่าฤดูใบไม้ผลิจะมาเยือนก่อนเวลา แต่ทว่า เทศกาลฉลองอีสเตอร์ หาได้มาถึงรวดเร็วด้วยไม่ แต่กลับเนิ่นนานออกไปจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ซึ่งนับว่านานกว่าปีอื่นๆ
ในความเห็นของชาวคริสต์ (Christian) ทั่วๆไป งานฉลองอีสเตอร์นั้น (Easter) มีความศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญยิ่งไปกว่างานฉลองคริสต์มาสเสียอีก เพราะคริสต์มาสหมายถึงการประสูติของพระเยซู และงานฉลองคริสต์มาสในปัจจุบันก็แทบจะกลายเป็นประเพณีและการพาณิชย์ยิ่งไปกว่างานฉลองทางศาสนาไปเสียแล้ว ทว่างานฉลองเทศกาลอีสเตอร์นั้น เป็นการฉลองอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ทั่วโลก นั่นคือการรำลึกถึงการฟื้นคืนชีพของพระเยซู จากการสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกตรึงบนไม้กางเขนโดยน้ำมือของทหารโรมันภายใต้การบังคับบัญชาของอัศวิน Pontius Pilate ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ Herod
พระเยซูถูกกล่าวโทษโดยพระสงฆ์ว่าไม่ได้เสียภาษีต่อ ซีซาร์ (Caesar) ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ซึ่งเป็นเป็นภัยที่ร้ายแรงต่ออาณาจักรโรมันอีกต่างหาก พวกเขาจึงได้จับตัวพระเยซูมาตรึงกางเขนพร้อมด้วยโจรอำมหิตอีกสองคน คนหนึ่งชื่อ บาราบาส (Barabas)
แม้ว่าอัศวินไพเลท จะทัดทานถึงสามครั้งสามหนว่า เขาไม่เห็นว่าพระเยซูจะมีความผิดอันใดที่สมควรจะต้องถูกตรึงกางเขนก็ตาม โดยประกาศว่าเขาจะทำโทษพระเยซู แล้วจะปล่อยตัวไป แต่พวกกระหายเลือดไม่ยินยอม กลับบอกว่าหากจะต้องปล่อยนักโทษคนหนึ่งคนใดแล้ว พวกเขาขอให้ปล่อย บาราบาส นักโทษคนหนึ่งไปแทนพระเยซู เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ผู้มีอำนาจสามารถจะนิรโทษกรรมนักโทษคนหนึ่งคนใดก็ได้ อัศวินไพเลท ใช้ความพยายามขอร้องอีกเป็นครั้งสุดท้าย ให้ปล่อยตัวพระเยซู แต่พวกพระสงฆ์ก็ยังคงตะโกนว่า “Crucify him, Cruify him””ตรึงกางเขนเขาเสีย ตรึงกางเขนเขาเสีย”
ในที่สุดพระเยซูก็ถูกตรึงกางเขนอย่างที่พวกเราทุกคนรู้ๆกัน พร้อมกับพวกโจรอีกสองคน โดยจับพระองค์ให้อยู่ระหว่างกลางของนักโทษทั้งสอง เมื่อเสียชีวิตแล้ว ร่างพระองค์ถูกนำลงมาจากไม้ตรึงกางเขนโดยชายคนหนึ่งชื่อ โจเซฟ จากเมือง อารามาเธีย (Aramathea) และพรรคพวก โจเซฟได้ขออนุญาตไพเลท นำร่างของพระเยซูไปฝังไว้ใต้ก้อนหินใหญ่นอกกรุงเยรูซาเล็ม
วันนั้นเป็นวันศุกร์ ชาวคริสเตียนจึงเรียกวันนี้ว่า Good Friday แต่เมื่อวันที่สามคือวันอาทิตย์มาถึง พวกที่นำพระเยซูไปฝังได้พบว่าก้อนหินที่มีร่างของพระองค์ฝังอยู่ภายใต้ ถูกเลื่อนและร่างของพระองค์หายไป ใกล้ๆกับที่หลุมฝังศพพวกเขาได้เห็นชายคนหนึ่งในเสื้อผ้าที่สวยงามอลังการมาปรากฏกายที่ตรงหน้า และได้บอกพวกเขาว่า ไม่จำเป็นต้องไปมองหาผู้ชายที่เป็นลูกชายของมนุษย์ เพราะเขาได้ตายไปแล้วจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน ที่พวกเขาเห็นอยู่ตรงหน้านั้นเป็นโอรสของพระผู้เป็นเจ้า พร้อมกับมีบัญชาให้พวกที่ได้เห็นเล่า เรื่องนี้กันต่อไปให้คนอื่นๆได้ล่วงรู้ ว่าแท้จริงแล้ว พระเยซูที่ถูกตรึงกางเขนและพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระบิดานั้นเป็นองค์เดียวกัน หมายถึงในร่างของคนๆเดียวประกอบไปด้วยสามพระองค์คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต (Father, Son and the Holy Ghost) หลักความเชื่อและศรัทธา (Faith) ของชาวคริสเตียน จึงมีหัวใจอยู่ที่ตรงจุดนี้
ไม่ต้องการเขียนถึงเรื่องความเชื่อและศาสนา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล การที่ได้กล่าวถึงเรื่องของพระเยซูจึงเป็นแต่เพียงเกริ่นให้รู้ที่มาที่ไปของเรื่องการแสดง Passion Play ในศูนย์ประชุมวัฒนธรรมในเมืองลูเซิร์นที่กำลังจะเล่าต่อไป
บ้านของฉันที่เมืองลูเซิร์น มีศูนย์ประชุมวัฒนธรรมใหญ่ของเมือง ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The Culture and Congress Centre หรือที่รู้จักกันดีในภาษาเยอรมันว่า Kultur und Kongresszentrum ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกย่อๆว่า KKL
KKL ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาปลูเซิร์น (Lake of Lucerne) หรือที่เรียกเป็นทางการในภาษาเยอรมันว่า Vierwaldstaettersee (Lake of the Four Forest Cantons) KKL เป็นความภาคภูมิใจของชาวลูเซิร์นทุกคน แต่ไม่สามารถจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นความภูมิใจของประเทศ เพราะแต่ละรัฐหรือแต่ละเมืองต่างก็มีศูนย์และสถานที่ที่เป็นความภาคภูมิใจของแต่ละแห่ง เนื่องจากประเทศสวิสเป็นสมาพันธรัฐ (Confederation) อันประกอบไปด้วยรัฐ หรือCanton ถึง ๒๖ รัฐ แต่ละรัฐก็มีเมืองหลวงเป็นของตนเอง อำนาจในการบริหารประเทศจึงไม่ได้กระจุกอยู่แต่เพียงในเมืองหลวงคือกรุงเบิร์น แต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ได้กระจายอำนาจในการปกครองไปทั่วทั้งประเทศที่ประกอบไปด้วยรัฐต่างๆถึงยี่สิบหกรัฐ หรือ Canton ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ละรัฐมีอำนาจอิสระในการปกครองตนเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลาง หรือที่เรียกว่า Federal มีงบประมาณของตนเอง ศูนย์กลางของประเทศไม่ได้อยู่ที่เมืองหลวงคือกรุงเบิร์นแต่เพียงแห่งเดียว เฉกเช่นประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาอีกหลายประเทศในโลก ดังนั้นประเทศสวิสจึงมีเพียงเจ็ดกระทรวงเท่านั้นที่บริหารประเทศในส่วนกลาง หรือ Federal และมีคณะรัฐมนตรีหรือ Bundesrat เพียงเจ็ดคน มีประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกจากสภาทุกปีสลับสับเปลี่ยนไป นอกจากนั้น ประธานาธิบดีก็มิได้มีอำนาจเหนือกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ แถมยังต้องมีภาระในการบริหารกระทรวงหรือมี portfolio เช่นรัฐมนตรีคนอื่นๆอีกต่างหาก แต่ประเทศจำเป็นต้องมีประธานาธิบดีไว้เป็นสัญลักษณ์ เมื่อมีกิจกรรมพิเศษนอกเหนือไปจากหน้าที่คุมกระทรวงของตน อีกทั้งยังเป็นตัวแทนในการไปเยือนหรือต้อนรับอาคันตุกะที่มีตำแหน่งเสมอกัน
ด้วยเหตุที่มีการผลัดเปลี่ยนประธานาธิบดีทุกปี ชาวสวิสมักจะจำไม่ค่อยได้ว่าประธานาธิบดีของตนเองชื่ออะไร ไม่ใช่เพราะเขาไม่สนใจเรื่องการบ้านการเมือง ตรงกันข้ามเลยทีเดียว การบ้านการเมืองเป็นหัวใจของชาวสวิสส่วนใหญ่ มีการถกเถียงพูดคุยถึงปัญหาของประเทศกันอย่างเปิดเผย การที่เขาจำชื่อประธานาธิบดีไม่ได้ เพราะเขามิได้ให้ความสำคัญหรือนับถือศรัทธาลัทธิบุคคลคนใดคนหนึ่ง Personality Cult แต่ถือหลักการบริหารประเทศและนโยบายการปกครองที่เรียกว่า Good Governance เป็นส่วนรวม ที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ รัฐมนตรีทั้งเจ็ดคนนี้ มีสุภาพสตรีรวมอยู่ด้วยถึงสี่คน ด้วยเหตุผลในเรื่องการไม่ยึดติดกับบุคคลนั่นเอง ชาวสวิสส่วนใหญ่ จึงจำเนื้อเพลงชาติของตนเองไม่ได้ เพราะเขาถือว่า ความรักประเทศของเขาอยู่ด้วยการแสดงออกด้วยการกระทำ ไม่ใช่ด้วยการสร้างวาทะกรรมหรือร้องเพลงชาติ
ชาวสวิสทั่วไปไว้ใจในความซื่อสัตย์ สุจริต ของนักการเมืองที่เขาเลือกให้มาบริหารประเทศ แต่พวกเขาก็มีอำนาจเต็มที่ผ่านทางรัฐสภาที่จะตรวจสอบให้ทุกอย่างโปร่งใสและดำเนินไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เขารักษาอำนาจอธิปไตยของเขาอย่างเต็มที่ หากเขาไม่พอใจในการบริหารหรือนโยบายที่ไม่เป็นผล เขาก็จะรอเวลาจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ที่จะมาเลือกคนหรือพรรคนั้นๆให้มาบริหารประเทศอีกต่อไป อาจจะมีการประท้วงบ้างในบางครั้งบางคราวเมื่อไม่พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ก็เป็นในลักษณะที่เตือนให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจ ไม่ให้ก้าวล่วงเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญหรือกฏหมาย หรือนโยบายกำหนดไว้
การป้องกันรักษาความปลอดภัยแก่ประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีก็มีน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปรกติสุขเช่นพลเมืองทั่วไป ทั้งการขึ้นรถเมล์ รถไฟ ฯลฯ อนึ่ง การตัดสินใจในนโยบายของประเทศเป็นการตัดสินใจร่วม หรือเรียกว่า collective decision ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นการตัดสินใจร่วมกันกับคณะรัฐมนตรีทั้งเจ็ดคน หากจะมีใครบังอาจคิดร้ายประหารประธานาธิบดีของประเทศสวิส ก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่า มันจะไม่มีผลให้การตัดสินใจใดๆเปลี่ยนไป
เพราะฉนั้นจึงกล่าวได้ว่า ถึงแม้ชาวสวิสคนอื่นที่ไม่ได้เป็นชาวลูเซิร์นจะมีความภูมิใจอยู่บ้างในการมีหอประชุมระดับโลกที่เมืองลูเซิร์น แต่ก็ไม่ใช่ในแบบที่ต้องถอนหายใจและบอกว่านี่แหละเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ เพราะอย่างที่บอกแล้ว พวกเขามีสถานที่ที่เขาภาคภูมิใจไม่น้อยไปกว่ากันในรัฐหรือในเมืองที่เขาอยู่ การแข่งขันเพื่อพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองจึงมีอยู่เสมอในประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยปรารถนาจะทำให้ประเทศพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไปอีก
หอประชุม KKL ออกแบบการก่อสร้างโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่มีชือเสียงของโลกคือ นาย Jean Nouvel มีระบบการเก็บเสียงเป็นเลิศ (acoustics) และให้เปิดใช้เป็นทางการเมื่อปี ๑๙๙๘ โดยจัดให้มีการแสดง classical concert ของวงดนตรี The Berlin Philharmonic Orchestra นับจากวันนั้นถึงวันนี้ การแสดงดนตรีประจำปีของลูเซิร์นได้จัดขึ้นที่นี่เป็นเวลาหนึ่งเดือนทุกปี คือตั้งแต่กลางเดือน สิงหาคม ถึง กลางเดือนกันยายน เรียกว่าInternational Music Festival of Lucerne หรือที่เรียกย่อๆว่า IMF ไม่ใช่ International Monetary Fund อันเกี่ยวด้วยการเงิน อย่างที่ประเทศไทยได้เผชิญมาเมื่อสิบกว่าปีมาแล้วด้วยวิกฤตต้มยำกุ้ง
ในระหว่างเทศกาลจะมีวงดนตรี นักดนตรี และวิทยากรที่มีชื่อเสียงทั่วโลก มาจัดการแสดงที่นี่ คนที่รักดนตรีหลั่งไหลมาจากทั่วโลก เพื่อมาชมการแสดงที่เมืองลูเซิร์น ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากทั้งประชาชนในประเทศและจากต่างประเทศ จึงถือได้ว่าเป็นการแสดงดนตรีที่มีความสำคัญมากทั้งในด้านศิลปะและช่วยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างมาก
ความจรืงการแสดงในลักษณะนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ๑๙๓๘ ในสวนซึ่งเป็นคฤหาสถ์ของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งของโลกคือ นายริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ที่ได้มาพักอาศัยในเมืองลูเซิร์นเป็นเวลาถึงหกปี คือตั้งแต่ปี ๑๘๖๖ ถึง ปี ๑๘๗๒ในปัจจุบันคฤหาสถ์หลังดังกล่าวได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ถ้าจำไม่ผิดนายวากเนอร์ ได้ประพันธ์บทดนตรี Goetterdamerung (The Twilight of the Gods) และ Siegfried Funeral’s Marchในคราวที่มาพักอยู่ที่เมืองลูเซิร์น ที่โรงแรม Schweizerhof
ในสมัยนั้นเป็นสมัยที่เผด็จการฮิตเลอร์กำลังมีอำนาจ นักดนตรีและวิทยากรชาวเยอรมัน ที่ไม่ต้องการแสดงดนตรีในประเทศของตนเอง หรือแม้แต่ในประเทศออสเตรียก็ตาม เพราะสองประเทศนี้มีบรรยากาศครุกรุ่นด้วยสงคราม ได้เดินทางมาลูเซิร์น ด้วยเห็นว่าลูเซิร์นน่าจะเป็นที่ๆดีที่สุด เพราะฉนั้น การแสดงดนตรี ที่เรียกว่า Beyreuth และ Salzburg Festivals จึงได้มาจัดการแสดงที่เมืองลูเซิร์น และเรียกเทศกาลในสมัยนั้นว่า Lucerne Music Festival ประเพณีในการแสดงดนตรีประเภท classical concert จึงได้เริ่มที่นี่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
หอวัฒนธรรมหรือ KKL ไช้ได้ทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานศิลปะและการแสดงต่างๆ จัดประชุม หรือแม้แต่เปิดให้เป็นที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศได้ชม โดยมีไกด์จัดเป็นพิเศษสำหรับอธิบายความเป็นไปเป็นมา
ตั้งแต่ปี ๒๐๐๔ วงออเคสตรา Lucerne Festival Academy ที่ตั้งขึ้นโดยนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส นาย Pierre Boulez ก็ได้มาจัดการแสดงคอนเสิร์ทที่นี่ โดยได้ฝึกฝนนักดนตรีทั้งหนุ่มและสาวในด้านการดนตรีคลาสสิคสมัยใหม่ให้มาแสดงที่นี่ วงออเคสตราสองวงที่ประจำอยู่ที่ลูเซิร์นคือ Lucerne Festival Orchestra และ the Lucerne Festival Strings นักวิทยากรประจำออเคสตราคนปัจจุบันเป็นชาวอิตาเลียนชื่อ Claudio Abbado
การแสดง Passion Play ในแบบดังกล่าวที่ได้ไปชม เป็นการร้องเพลงเป็นหมู่คณะ ประกอบดนตรีซึ่งมีชิ้นดนตรีชนิดต่างๆ ของวงดนตรี Amsterdam Baroque Orchestra ภายใต้ผู้กำกับหรือวิทยากรชาวฮอลแลนด์ชื่อ Ton Koopman เรียกว่า Johannes Passion ซึงแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Suffering (of Christ) according to John หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ถูกบันทึกโดยสาวกคนหนึ่งในสิบสองคนของพระเยซู ชื่อว่าจอห์น (as told by the Gospel of John) นักแต่งเพลงชาวเยอรมันชื่อ Johann Sebastian Bach มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ปี ๑๖๘๕ ถึง ๑๗๕๐ เป็นผู้ประพันธ์ดนตรีและคำร้องสาธยายเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นเป็นเพลงและดนตรี
ในสมัยก่อน การแสดง “การทนทุกข์ทรมารด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวในระหว่างที่ถูกตรึงกางเขนของพระเยซู” จะจัดขี้นในโบสถ์เท่านั้น ที่เมืองลูเซิร์นในสมัยก่อนเขาจะจัดขึ้นในเมืองเก่า ที่เรียกว่าจตุรัสของไวน์ Wine Market Square โดยใช้กำแพงของตึกที่ล้อมรอบอยู่เป็นแบคกราวนด์
ท่วงทำนองในการร้องเพลงจะมีนักร้องชายและหญิงออกมายืนเป็นแถวหากว่าเป็นการร้องประสานเสียงประกอบ แต่หากว่าต้องร้องโดยคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว พวกเขาก็จะนั่งลง ปล่อยให้นักร้องเดี่ยวยืนขึ้นร้องแต่เพียงลำพังจะได้ดูเด่น The Suffering of Christ ที่นาย โทน คูปแมน เป็นวิทยากรกำกับ มีทั้งหมดสี่สิบตอน แต่ละตอนจะบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่พระเยซูถูกจับเอามาตรึงกางเขน เอามงกุฎที่ทำด้วยหนามสรวมหัวพระองค์ไว้ พร้อมกับถูกโบยอย่างทารุณจนเลือดโชก พระเยซูถูกบังคับให้ต้องแบกไม้กางเขนเดินไปในระยะไกล ผ่านสถานที่ต่างๆที่เรียกในพระคัมภีร์ว่า Station of the Cross ถึงสิบสองแห่งจนถึง สถานที่แห่งกระโหลก the Place of a Skull ซึ่งแปลมาจากคำว่า Golgotha ในภาษาฮีบรู สถานที่นี้ตั้งอยู่ในเมืองเก่าของกรุงเยรูซาเล็ม ที่ฉันเคยไปมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน เมื่อแบกกางเขนมาถึงแล้ว เขาก็ยกไม้กางเขนขึ้นให้เป็นเสาเส้นตรงโดยมีพระเยซูถูกแขวนอยู่บนเสานั้นระหว่างนักโทษอาชญากรใจอำมหิตสองคน แล้วอัศวินไพเลทก็เขียนลงไปบนกางเขนว่า “นี่คือเยซูแห่งเมืองนาซาเรธ กษัตริย์ของชาวยิว” เป็นภาษาฮีบรู ภาษากรีก และภาษาลาติน
การร้องเพลงประกอบดนตรีเป็นการบรรยายเหตุการณ์ในตอนนี้อย่างละเอียด โดยเป็นการสนทนาโต้ตอบกันระหว่าง Pontius Pilate พระเยซู และฝูงชนที่มารวม
ท่วงทำนองการร้องมีทั้งเสียง tenor และ soprano สลับกับการร้องทั้งคณะและวงดนตรี สกดให้ผู้ชมเงียบงันไปด้วยความเศร้าสลด รันทด และประหวัดไปถึงภาพที่เกิดขึ้นที่ Golgotha เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว นายโทน คูปแมน ชาวฮอลแลนด์ ได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ความสามารถของเขาสมควรแล้วที่ได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง การแสดงของวงดนตรีของเขาไม่จำกัดอยู่แค่ในยุโรป แต่รวมไปถึงอเมริกา และอาเซียอีกด้วย
ในขณะที่ถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน พระเยซูขอร้องว่า “Mich duerstet” หรือในภาษาอังกฤษโบราณว่า “I thirst” ฉันกระหายน้ำ (โปรดสังเกตว่าภาษาเยอรมันที่ใช้เป็นภาษาในเนื้อเพลงโบราณ) พวกใจดำอำมหิตก็เอาผ้าชุบน้ำส้มในกระถางที่ตั้งอยู่ ยื่นส่งขึ้นไปจ่อปากพระองค์ เมื่อมาถึงตอนนี้ พระองค์ก็ร้องด้วยความเจ็บปวดว่า “Es ist vollbracht” จำเป็นต้องแปลท่อนนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “All things are now accomplished” ถ้าหากจะให้แปลเป็นภาษาไทยก็จำต้องขยายความนิดหน่อยว่า ได้มีการทำนายกันไว้ตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่า พระเยซูเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า เกิดมา เพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ เพราะศาสนาคริสต์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมา มีบาปติดมาด้วย เรียกว่า original sin อันเนื่องมาจากบรรพบุรุษ คืออาดัมและเอวา ได้ไปกินผลแอ็ปเปิ้ลที่พระผู้เป็นเจ้าห้ามไว้ หลังจากที่ได้ทำหน้าที่สั่งสอนเผยแพร่คำสอนของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระองค์ก็จะถูกตรึงกางเขนด้วยน้ำมือมนุษย์ในที่สุดสิ่งที่ได้ทำนายไว้ก็เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ก่อนจะสิ้นชีวิต พระเยซูจึงได้ร้องว่า “Es ist vollbracht” หรือ “All things are now accomplished” ก่อนที่ศีรษจะค้อมต่ำลง แล้วปล่อยให้วิญญานไปสู่ พระจิต (Holy Ghost) ต่อไป ลักษณะที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนคงจะเป็นภาพที่คุณผู้อ่านได้เคยเห็นในโบสถ์ทั่วๆไปของชาวคาธอลิก แต่จะไม่ค่อยเห็นในโบสถ์ของชาวโปรเตสเตนท์
ผู้ชมส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ไปชมการแสดง ต่างก็รู้พระคัมภีร์และเรื่องราวของพระเยซูเป็นอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องดูเนื้อเพลง ได้แต่ฟังคำร้องและดนตรีด้วยความซาบซึ้งและสะเทือนใจ ส่วนตัวฉันเองนั้น ในฐานะที่เป็นชาวคริสต์คนหนึ่งก็เคยจำพระคัมภีร์ที่เขียนโดยสาวกเซ็นต์ลุกได้ขึ้นใจ (Gospel according to St.Luke) เพราะฉนั้นการแสดงในลักษณะนี้เทียบได้กับมหาอุปรากรอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่า ฉากการแสดงของมหาอุปรากรนั้น เป็นฉากที่มโหฬาร ในขณะที่การแสดงฉากความทุกข์และทรมารของพระเยซูนั้น ไม่มีฉากประกอบ แต่ใช้การฟัง ความรู้และจินตนาการเป็นสำคัญ
การได้ชม Passion Play หรือ The Suffering of Christ อาจจะทำให้เครียดเล็กน้อย แต่ในความเห็นส่วนตัวของฉันเอง ก็ยังดีกว่าการได้ไปเห็นการแบกกางเขน ของคริสตศานิกชนในหลายประเทศในช่วงเทศการอีสเตอร์ พร้อมกับเฆี่ยนตีทรมารตนเองในวิธีต่างๆกัน