เที่ยวบ้านเกิดของ Pope John Paul II (2)

Krakov

ความที่ชอบไปไหนมาไหนโดยรถไฟ เราจึงได้จองที่นั่งในรถไฟจากวอร์ซอไปเมือง Krakov มาเรียบร้อยแล้วจากสวิส รถไฟที่โดยสารไปในเช้าวันนั้นเป็นรถไฟ Inter City ชั้นหนึ่ง เป็นรถไฟที่จัดว่าอยู่ในระดับดีมากสำหรับโปแลนด์ ใช้เวลาเดินทางเพียงสามชั่วโมงก็มาถึง Krakov ว่าจ้างรถแท็กซี่ไปส่งที่โรงแรมแล้ว ก็เตรียมไปดูเมือง โรงแรมที่อยู่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำและใกล้กับปราสาทวาเวล Wawel Castle ซึ่ง อยู่บนเนินสูงประมาณ ๕๐ เมตร เหนือฝั่งแม่น้ำ Wisla หรือ Vistula เช่นเดียวกับโรงแรมที่เราพักอยู่ จากโรงแรมเดินห้านาทีก็ถึง ปราสาทนี้เป็นปราสาทแห่งเดียวกับที่พระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ สอง ได้ใช้เป็นที่พำนักตอนที่ยังเป็น Bishop หรือ หัวหน้าบาทหลวงอยู่เมื่อปี ๑๙๕๘ ก่อนอื่นเราเช่าเรือล่องไปตามแม่น้ำครึ่งชั่วโมง เพื่อถ่ายรูปและดูวิวทั่วไปของเมือง การท่องไปตามลำน้ำสำหรับตัวเองแล้ว มักจะเป็นไฮไลท์ของการไปเที่ยวเสมอ แม้แต่การมาเยี่ยมบ้านเกิดในกรุงเทพฯพระมหานคร ก็อดไม่ได้ที่จะเที่ยวเรือไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา

วังวาเวล หรือ Wawel Royal Castle เคยเป็นศูนย์กลางทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมของโปแลนด์มาตลอดจนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่สิบหก นอกจากนั้น วิหารวาเวล ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นชาติของโปแลนด์อีกต่างหาก เพราะเคยเป็นวังที่ประทับของกษัตริย์โปแลนด์มาเป็นเวลาถึงห้าร้อยปี ปัจจุบันวังแห่งนี้ถือกันว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาที่เฝ้าดูประเทศอยู่อย่างสงบเงียบ ในศตวรรษที่สิบเอ็ด พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งได้สร้างวังเล็กๆ ในบริเวณนี้ไว้เป็นที่ประทับใกล้เคียงกับโบสถ์ที่อุทิศให้พระแม่มารีอาผู้บริสุทธิ์ ต่อมาเมื่อถึงสมัยของกษัตริย์ Kazimierz Wielki พระองค์ก็ได้ขยายวังให้ใหญ่ขึ้นในสถาปัตยกรรมแบบโกธิค หลังถูกไฟไหม้ กษัตริย์ Zigmunt Stary ได้บงการให้สร้างวังที่ประทับขึ้นใหม่ในปี ๑๔๙๙ อีกสามสิบปีต่อมา วัง อันหรูหราแบบเรเนซองส์ ก็เข้ามาแทนที่ ถึงแม้ว่าจะมีการขยับขยายวังให้ใหญ่โตขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป แต่วังสามชั้นก็ยังมีลักษณะเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงแบบเรเนซองส์เอาไว้ ให้เห็นจนทุกวันนี้ โดมของโบสถ์ที่เห็นทำด้วยทองแท้ๆ บนกำแพงด้านหน้าทางเข้า มีอิฐสี่เหลี่ยมสลักชื่อสปอนเซอร์ของผู้ที่ได้บริจาคสำหรับการบูรณะวัง แต่ละชิ้นมีเบอร์สลักไว้ด้วย เคยมีทั้งหมดหกพัน แต่ได้ถูกทำลายไปจนเกือบหมด ด้านหน้าวังมีรูปปั้นของพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่สอง ประดับไว้ เป็นที่ระลึกถึงการเสด็จเยือนของพระองค์ก่อนที่จะสิ้นชีพ

จากวัง วาเวล เราเดินตัดผ่านปาร์คอันเขียวชอุ่มไปเมืองเก่า ตามทางที่ผ่านมีรูปภาพอันใหญ่โตของพระสันตะปะปา จอห์น พอล อยู่มากมาย แสดงให้เห็นการเข้าพบบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆดังที่เล่าให้ฟังแล้วข้างต้น เดินต่อมาอีกประมาณสิบห้านาที ก็มาถึงเมืองเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ กลางศตวรรษที่สิบสาม เคยมีป้อมปราการล้อมรอบ ประกอบไปด้วยหอคอยถึง ๔๗ หอ แต่ทั้งป้อมปราการและหอคอยได้ถูกรื้อไปหมดแล้วเมื่อการป้องกันเมืองไม่จำเป็นอีกต่อไป เหลือไว้แต่เพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งเท่านั้น สถานที่ว่างได้กลายเป็นปาร์ค Planty Park ที่เราเดินผ่านมา เมืองเก่าจึงดูเสมือนว่าถูกโอบไว้ด้วยปารค์ที่เคยเป็นป้อมปราการมาก่อน

เมืองเก่าเต็มไปด้วย โบสถ์ หอคอย และอนุสาวรีย์มากมายหลายแห่ง จนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกอีกแห่งหนึ่งเมื่อปี ๑๙๗๘ ตึกสีเหลืองเลขที่ ๑๙ เป็นที่พำนักของพระสันตะปาปาจอห์น พอล สมัยยังเป็นพระสงฆ์ และได้อยู่ต่ออีกถึง ๒๑ ปี ตอนที่เป็น Bishop แล้ว นอกเหนือไปจากวังวาเวล ทางเดินเข้าเมืองเป็นถนนที่สร้างด้วยหิน cobble สวย บ้าน หรือสิ่งก่อสร้างทุกหลังอยู่ใต้รูปปั้นสัญลักษณ์สัตว์ที่ มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสี่ ซึ่งหัวเป็นสุนัขแต่มีร่างเป็นสิงห์โต ผ่านตึกอีกหลังหนึ่งมีรูปพระสันตะปาปาขนาดตัวจริงยืนโบกมืออยู่หลังหน้าต่าง สมัยยังมีชีวิต เมื่อมาเมือง Krakov ครั้งใด พระองค์จะมาประทับอยู่ที่นี่ มีผู้คนแห่แหนกันมาเฝ้า พระองค์ก็คุยด้วยเรื่องธรรมดา ส่วนใหญ่พูด ถึงกีฬาที่ทรงโปรด ไกด์บอกว่าตอนที่สิ้นชีพตักษัย ชาวเมืองได้ชวนกันจุดเทียนนับหมื่นดวงไว้อาลัย ปัจจุบันตึกนี้เป็นที่อยู่ของ Archbishop ของโปแลนด์ ติดกันเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ คือ มหาวิทยาลัย Jagillonian University ปัจจุบันตึกหลังหนึ่งในมหาวิทยาลัยอันเป็นตึกที่รักษาไว้อย่างดีเยี่ยมได้ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ด้านหน้าเป็นอนุสาวรีย์ของนักดาราศาสตร์ Nicholas Copernicus คนเดียวกับที่เราเห็นในวอร์ซอ Krakov มี มหาวิทยาลัยทั้งหมดถึงสิบสองแห่ง และมีนิสิตห้าหมื่นคน

ไม่นานเราก็เดินมาถึงจัตุรัสอันกว้างใหญ่รายล้อมไปด้วย ร้านอาหาร หลายหลากชนิด ร้านกาแฟ ร้านขายขนม รวมถึงร้านไอศกรีมอร่อยอีกหลายร้าน Main Market Square หรือ Rynek Glowny มีบริเวณกว้างถึง ๒๐๐ เมตร คูณ ๒๐๐ เมตร จึงเป็นจัตุรัสของยุคกลาง Medieval ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นลักษณะของจัตุรัสประเภทนี้ที่สวยงามที่สุด ต้องยอมรับว่าเป็นจัตุรัสที่งดงามน่าทึ่งและน่าตื่นเต้นในคราวเดียวกัน ไม่มีการตั้งตลาดสดซื้อขายผักผลไม้เยี่ยงจัตุรัสอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการจัดงานเฉลิมฉลอง แสดงคอนเสิรท์ ตอนที่ไปชมก็มีการแสดงดนตรีต่างๆ รวมถึง Flash Dance ด้วย การออกแบบเป็นลักษณะค่ายทหารโรมันที่มีมาตั้งแต่ปี ๑๒๕๗ และยังคงไว้เช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าสิ่งก่อสร้างอื่นๆจะได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบ Ba24_IMG_0427neoclassical แล้วก็ตาม แต่ถ้าสังเกตBa25_IMG_0609-aประตูทางเข้าและจากผนังภายในจะเห็นว่ายังมีของเก่าเหลืออยู่มากมาย สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ห้องใต้ดิน cellar ที่มีอยู่ทั่วไปและมีมาตั้งแต่เริ่มแรกในยุคกลาง Medieval ในอดีตเคยใช้เป็นที่ทรมานนักโทษ แต่ปัจจุบันเป็นร้านอาหารและบาร์ เราเพียงแต่ลงไปดูและนั่งดื่มเบียร์เย็นๆเท่านั้น คงจะอบอุ่นและ โรแมนติกไม่น้อยหากว่าได้ไปรับประทานอาหารใต้แสงเทียนที่นั่นในยามที่มีอากาศเยือกเย็น แต่ในยามที่อากาศอบอุ่นแจ่มใสเช่นวันที่ไปเที่ยว คงจะเป็นที่น่าเสียดายมากหากจะพลาดการไปนั่งกินอาหารในร้านที่มีแสงแดด พร้อมกับเพลินดูผู้คนที่เดินผ่านไปมาขวักไขว่

ที่เด่นเหนือสิ่งใดในจตุรัสนี้ คงจะเป็นห้องโถงซึ่งเป็นศูนย์กลางของสินค้านานาชนิด เรียกว่า Cloth Hall ที่เคยเป็นศูนย์การค้าผ้าของเมือง Krakov ในยุคกลาง Medieval มีขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ สิบสี่ ด้วยการสร้างหลังคาคลุมห้องโถงสองห้อง พอถึงกลางศตวรรษก็ขยายเพิ่มขึ้น จนมีความยาวถึง หนึ่งร้อยแปดเมตร ในแบบโกธิค แล้วก็มาเปลี่ยนแบบเป็นเรเนซองส์ หลังถูกไฟไหม้ในปี ๑๕๕๕ ช่องทางเข้าแบบโค้งหรือ arch เพิ่งจะมาสร้างเมื่อปลายศตวรรษที่สิบเก้า ชั้นล่างของห้องโถงมหึมายังเป็นร้านค้าที่มีสินค้านานาชนิดล่อใจให้ซื้อ ส่วนชั้นบนใช้เป็นแกลเลอรี่รวบรวมภาพศิลปะต่างๆ

นอกจากนั้นก็มีหอคอย มีโบสถ์เก่าหลายแห่ง มีรูปปั้นของนักกวี Adam Mickiewicz ที่เห็นแล้วในวอร์ซอ มีร้านขายดอกไม้ ที่จะกล่าวถึงไม่ได้ก็คือฝูงนกพิราบที่มีมากมาย แถมยังได้รับการสนับสนุนให้อาศัยในบริเวณนี้ด้วย ในขณะที่เมืองอื่นๆต่างพยายามกำจัดนกพวกนี้อย่างสุดฤทธิ์ เพราะทำความเสียหายให้สิ่งก่อสร้างและเป็นที่เกิดของโรคอีกต่างหาก มีรถม้าแต่งสวยงามไว้ให้เช่าไปเที่ยวรอบเมือง อดใจไม่ได้ ต้องถือโอกาสเช่านั่งไปดูเมืองเก่าเสียรอบหนึ่ง

อันที่จริงได้ว่าจ้างไกด์ไว้แล้วจากสวิส ซึ่งจะมาดูแลในอีกสองวันต่อมา หลังจากที่ได้ไปเที่ยวที่อื่นๆแล้ว แต่เมื่อเล่าเรื่องเมืองเก่าของ Krakov เลยถือโอกาสเล่าเสียในคราวเดียวกันถึงรายละเอียดต่างๆที่ได้ทั้งจากไกด์ รวมกับที่ได้ไปดูเป็นส่วนตัวโดยไม่มีไกด์อีกต่างหาก เพราะฉะนั้นการดูเมืองทั้งหมดจึงไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว แต่เป็นสองวัน

Basilica of the Assumption of Our Lady เป็นวิหารเดียวที่จะกล่าวถึง เพราะมีความสำคัญมากในเมือง Krakov และในยุโรป เนื่องจาก ภายในมี แท่นบูชาที่นับว่าเป็นมาสเตอร์พีสแห่งสถาปัตยกรรมแบบโกธิคในประเทศโปแลนด์ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ Pablo Picasso ถึงกับยกให้เป็นมหัศจรรย์แห่งที่แปดของโลกเลยทีเดียว แท่นบูชามีลักษณะคล้ายตู้บานใหญ่ ที่เมื่อเปิดออกทั้งสองข้างจะเห็นไม้สลักอ่อนช้อยทาสีและฉาบด้วยทอง ตรงส่วนกลางของตู้จะเห็นพระแม่มารีอาห้อมล้อมด้วยสาวกทั้งสิบสองของพระเยซู (The Apostles)

ภายนอกมีฉากหลายฉากซึ่งบรรยายถึงประวัติของพระนางและของพระเยซูด้านบนของแท่นบูชาเป็นพิธีสรวมมงกุฎให้แก่พระแม่มารีอาผู้บริสุทฺธิ์ในสรวงสวรรค์ ในขณะที่ด้านข้างเป็นรูปปั้นของนักบุญประจำชาติของโปแลนด์ เซ็นต์ สตานิสลาอุส (St. Stanislaus) และเซ็นต์ เอดัลเบิร์ท (St. Adalbert) แท่นบูชาอันวิจิตรเลิศเลอสูงถึงสิบสามเมตร กว้างสิบเอ็ดเมตร เป็นแท่นบูชาที่ใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญที่สุดในประเภทนี้ของยุคกลาง ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างถึงสิบปีก่อนที่จะมีพิธีเสกเปิดในปี ๑๔๘๙ นอกจากนั้นภายในโบสถ์ยังมีสิ่งอื่นๆที่น่าชมอีกหลายอย่าง

ชาวเมืองเรียกโบสถ์นี้ว่า Mariacki ด้านหน้ามีหอคอยสองหอที่มีความสูงไม่เท่ากัน หอคอยหนึ่งสูง ๖๙ เมตร เป็นแบบเรเนซองส์ ประกอบด้วยระฆังห้าอัน ใช้เป็นหอระฆัง ส่วนอีกหอคอยหนึ่งสูงถึง ๘๑ เมตร ใช้เป็นหอสำหรับเฝ้าดูเหตุการณ์ ในปี ๑๖๖๖ ยอดกลมแบบมงกุฎของหอได้รับการฉาบด้วยทองถึง ๓๕๐ กิโลกรัม ประวัติศาสตร์ของเมือง Krakov ที่จารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ถูกบรรจุอยู่ภายใน

จากหน้าต่างของหอคอยจะมีคนเป่าแตรทุกๆชั่วโมง อันมีมาไม่ขาดตั้งแต่ยุคกลาง เป็นแตรเป่าเตือนถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น ตกมาในสมัยนี้ เพลงที่เป่าจะหยุดชะงักกลางคันทุกครั้ง ไม่มีการเป่าจนจบ เล่ากันว่าสมัยนั้น ขณะที่ยามเฝ้าหอกำลังเป่าแตรเตือนภัยว่าศตรูกำลังยกกำลังเข้ามาจู่โจม ทำให้ชาวบ้านมีเวลาเตรียมตัวพอที่จะลุกขึ้นต่อสู้ทันเวลา แต่ทว่า ยามเป่าแตรถูกลูกธนูแล่นมาปักอกเสียก่อนที่จะเป่าจนเพลงจบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเพลงที่เป่าจะหยุดลงตรงนั้นพอดี เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แหงนมองขึ้นไปที่หอคอย แลเห็นคนเป่าแตรยื่นแตรเป่าออกมาทางหน้าต่าง เขาจะเป่าอยู่เช่นนั้น ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า โดยไม่จบเพลงแม้แต่สักครั้ง

Salt Mine (Wieliczka)

วีลีชก้า เป็นเหมืองทำเกลือ อยู่ห่างจาก Krakov ประมาณสิบสี่กิโลเมตร เหมืองนี้ผลิตเกลือติดต่อกันมาเจ็ดร้อยปีแล้วและเป็นโลกลึกลับของตนเองอันประกอบไปด้วยหลุมและห้องหับต่างๆซึ่งสร้างและแกะสลักด้วยมือแท้ๆจากก้อนเกลือมหึมาโดยไม่มีเครื่องจักรเข้าช่วยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้เหมืองทำเกลือที่นี่จึงได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งจากองค์การยูเนสโกในปี ๑๙๗๘

เหมืองวีลีชก้ามีกิติศัพท์ในการรักษาคุณภาพของอากาศซึ่งช่วยบำรุงสุขภาพ ห้องรักษาโรคใต้บาดาลที่ลึกถึง ๑๓๕ เมตร จึงได้ถูกสร้างขึ้นในปี ๑๙๙๗ เพื่อบรรเทาและรักษาโรคภูมิแพ้ต่างๆให้ทุเลาลงได้เพียงชั่วระยะเวลาข้ามคืน คนไข้สูดเอาอากาศที่เต็มไปด้วยโซเดียม แคลเซียม และ แม็กนีเซียมคลอไรด์เข้าไป มีสรรพคุณช่วยทุเลาอาการภูมิแพ้ ได้อย่างฉมัง เหมืองเกลือเต็มไปด้วยอุโมงค์ ห้องหับซับซ้อน วกไปเวียนมา มีความยาวถึงสามร้อยกิโลเมตร ประกอบกันทั้งหมดเก้าชั้น ชั้นที่ลึกที่สุดลึกถึง ๓๒๗ เมตร ส่วนหนึ่งของเหมืองอันประกอบด้วยห้องยี่สิบสองห้องเชื่อมต่อกันด้วยห้องแกลเลอรี่ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะให้ประชาชนเข้าชมได้ แต่ต้องมีไกด์ประจำเหมืองเป็นผู้พาเข้าไป อยากจะแนะนำคุณผู้อ่านว่าถ้ามีโอกาสไปเมือง Krakov ไม่ควรจะพลาด เพราะมันเป็นการเปิดไปสู่โลกอันน่าพิศวงอีกโลกหนึ่ง แต่ควรจะสรวมรองเท้าแบบแข็งแรงเดินสบาย เพราะต้องไต่ลงบันไดเป็นพันๆคั่น

ไกด์พาเราลงบันไดไปชั้นล่างชั้นแรกซึ่งมีบันไดเท่าที่นับได้ถึง กว่าห้าร้อยคั่น ผ่านตามห้องต่างๆที่ทำจากก้อนเกลือล้วนๆและสร้างจากมือแท้ๆอย่างที่เล่าแล้วข้างต้น บางห้องสร้างเป็นโบสถ์เล็กๆมีแท่นบูชา มีรูปปั้น ใช้จินตนาการไปด้วยนะคะว่า ที่เห็นทุกอย่างนี่เป็นเกลือทั้งสิ้น ภายในห้องและในโบสถ์มีอนุสาวรีย์ สิ่งประดับ ตกแต่งมากมาย มีแม้กระทั่งทะเลสาบ

อย่างไรก็ดี ที่เป็นโชว์พีสก็คือ โบสถ์ เซ็นต์ คิงก้า (St. Kinga’s Chapel) ซึ่งเป็นโบสถ์ขนาดกลางดีๆนี่เอง กว้าง ๕๔ เมตร คูณ ๑๘ เมตร และสูง ๑๒ เมตร ของทุกชิ้นในโบสถ์ล้วนแต่เป็นเกลือก้อนทั้งสิ้น ตั้งแต่ช่อโคมไฟฟ้าที่เป็นจุดเด่นที่สุด จนถึงแท่นบูชา มีรูปแกะสลักอันมีชื่อเสียงที่มีที่มาจากเรื่องราวในพระคัมภีร์หลายเรื่อง เช่นรูปแกะสลักอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู

(The Last Supper) กับสาวกทั้งสิบสองคน ลอกแบบจากภาพของ Leonardo da Vinciใช้เวลาในการสร้างและแกะสลักทั้งหมดถึงสามสิบปี ด้วยน้ำมือของพี่น้องสองคนคือ Markowski Brothers และช่างสลักอีกคนหนึ่งคือ Antoni Wyrodek ซึ่งเป็นผู้สลักก้อนเกลือในลักษณะต่างๆอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เมื่อ Markowski ผู้พี่ตายลง น้องชายก็ได้ทำการสร้างต่อจนแล้วเสร็จ เฉพาะโบสถ์หลังนี้ใช้เกลือก้อนถึงสองหมื่นตันขุดเอามาจากแร่เกลือ โบสถ์ทำหน้าที่เหมือนโบสถ์ทั่วไป มีการประกอบพิธีมิสซา (การทำพิธีทางศาสนาของชาวคาทอลิก) และการแสดงคอนเสิร์ตเป็นบางครั้งบางคราว

สิ่งที่น่าชมอื่นๆก็มีทะเลสาบเกลือในห้อง Eram Baracz Chamber ซึ่งมีเกลือ ๓๒๐ กรัม ต่อน้ำหนึ่งลิตร และห้อง Staszic Chamber ที่มีลิฟท์พาโนราม่าด้วย ที่ประทับใจมากที่สุดก็ตอนที่ไกด์พาเดินผ่านข้ามอุโมงค์ เข้าไปยืนในห้องๆหนึ่ง เข้าใจว่าคงเป็นห้อง The Jozef Pilsudski Chamberในห้องมืดสนิท ปราศจากสนับสำเนียงใดๆ มองต่ำลงไปเห็นทะเลสาบลึกสุดสายตา ทันทีทันใดนั้นก็มีดนตรีอันแสนจะหวานและไพเราะที่บรรเลงโดยวงดนตรี The Saline Orchestra ดังขึ้นมา ท่ามกลางความเงียบ ฟังแล้ว ขนลุกเพราะในบรรยากาศเยี่ยงนี้ มันช่างให้ความ รู้สึกที่ดีๆ สดชื่นและโรแมนติก เหลือที่จะกล่าว เมื่อไฟเปิด มองข้ามทะเลสาบไปอีกด้านหนึ่ง แลเห็นรูปปั้นของ St.John Nepomucen ตั้งอยู่ ภายในห้องมีเครื่องเก็บเสียง (acoustics) อันสุดยอดเช่นเดียวกับโบสถ์หลายแห่งในยุโรป

ใช้เวลาสองชั่วโมงการชมเหมืองเกลือก็สิ้นสุดลงที่ชั้นล่างที่สาม มีระยะทางเดินทั้งหมดสองกิโลเมตรเท่านั้น ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องไต่บันไดกลับขึ้นไปอีกพันกว่าคั่น เพราะเขามีลิฟท์ จากใต้บาดาล พากลับขึ้นไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง อุณหภูมิภายในเหมืองอยู่ในราว ๑๔ องศา เซลเซียส สำหรับคนที่ไม่คุ้นกับอากาศเย็นจะรู้สึกหนาว ส่วนฉันเองชาติก่อนคงจะเป็นชาวเอสกิโม จึงมีความรู้สึกว่าอุณหภูมิคงจะสูงกว่านั่น เพราะรู้สึกร้อนมีเหงื่อออกในตอนเดิน

The Concentration Camps at Auschwitz and Birkenau

ค่ายกักกันเยอรมันนาซีที่ Auschwitz อยู่ห่างจาก Krakov ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๔๐ กิโลเมตร โชเฟอร์มารับตอนเช้า เพื่อพาไปเมือง Oswiecim ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดกลางของโปแลนด์ ชื่อนี้คงจะไม่คุ้นหูใครเลย เพราะเป็นชื่อในภาษาโปแลนด์ ของ Auschwitz ซึ่งเป็นค่ายกักกัน ชาว ยิวของเยอรมันนาซีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็น สถานที่ๆ เยอรมันนาซีใช้เป็นสถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาว ยิวอีกต่างหาก เผด็จการอำมหิตฮิตเลอร์เรียกการกำจัดนี้ว่า Final Solution

ก่อนสงครามระเบิด เยอรมันสร้างค่ายกักกันนี้ขึ้นนอกเมือง Oswiecimในเดือนเมษายน ปี ๑๙๔๐ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของค่ายทหารโปแลนด์ สำหรับเป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองชาวโปแลนด์ ภายหลังได้ดัดแปลงค่ายกักกันนี้ใหม่เพื่อไว้เป็นที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวทั้งยุโรป

แต่ก็ยังไม่ใหญ่พอจึงได้สร้างสถานที่กักกันขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งในปี ๑๙๔๑ และ ๑๙๔๒ ที่เมือง Birkenau ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีก ๒ กิโลเมตรจึงได้ชื่อว่าค่าย Auschwitz ที่สอง มีการคำณวนว่ามีคนที่ถูกฆ่าเฉพาะในค่ายที่กล่าวนี้ถึงหนึ่งล้านหกแสนคน มีทั้งหมดด้วยกัน ๒๗ เชื้อชาติ เป็น ยิว หนึ่งล้านหนึ่งแสนคน ชาวโปแลนด์ หนึ่งแสนห้าหมื่นคน และพวกยิบซีอีก สองหมื่น สามพันคน ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงค่ายกักกัน Auschwitz ก็มักจะรวม Birkenau เข้าไว้ด้วย ในปี ๒๐๐๗ สำนักงานมรดกโลกแห่งองค์การยูเนสโกได้ทำรายการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสม จาก Auschwitz Concentration Camp มาเป็น Auschwitz-Birkenau German Nazi Concentration & Extermination Camp (1940-1945) เพราะไม่ใช่เฉพาะเป็นค่ายกักกันเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่ง ฆาตรกรรมโหดเหี้ยม อีกต่างหาก ทั้งสองแห่งเปิดรวมเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะให้เข้าชมได้ในชื่อว่า State Museum Auschwitz-Birkenau

ไกด์รออยู่แล้วที่ห้องโถง เมื่อโชเฟอร์พาเราไปถึง หลังจากที่ได้ดูหนังที่เล่าถึงการปลดปล่อยนักโทษชาว ยิวโดยกองทัพโซเวียตรัสเซียเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๑๙๔๕ แล้ว เธอก็พาเดินเข้าไปในบริเวณ ค่ายที่มีลวดหนามหนาแน่นล้อมรอบ เหนือประตูกลางทางเข้ายังมีร่องรอยความน่าสยดสยองไว้เป็นพยาน เพราะมีอักษรเป็นภาษาเยอรมันตัวใหญ่ว่า Arbeit Macht Frei แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Work Brings Freedom (การทำ) งานเท่านั้นที่จะทำให้เป็นอิสระ เราเข้าดูห้องต่างๆภายในบริเวณค่ายหลายแห่ง แต่อยากจะเล่าถึงบล็อคที่ ๔ และที่ ๕ ก่อน เพราะเป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง มีป้ายใหญ่เขียนไว้ว่า “เราจะต้องกำจัดพวกโปแลนด์ รัสเซีย ยิว และยิบซี ออกจากเยอรมันให้หมด” ลงชื่อ Otto Thereck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของอาณาจักรที่สาม (the Third Reich) ผู้อำนวยการใหญ่ของค่ายชื่อนาย Hoess เฮิสส์ บ้านที่เขาพักกับครอบครัวอันประกอบด้วยภรรยาและลูกสองคนอยู่ติดกับค่ายกักกัน บ้านนี้ยังรักษาเอาไว้ นายเฮิสส์ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี ๑๙๔๗ มีคำถามผุดขึ้นในใจว่า แล้วลูกเมียของเขาจะไม่รู้เทียวหรือว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ เพราะมันจะต้องมีทั้งเสียง ทั้งกลิ่นอันเหม็นจากการจับนักโทษรมด้วยแก๊ส

มีหิ้งที่เรียกว่า Shrine of Ashes อันเป็นสัญลักษณ์ของความตาย เขียนไว้ว่า “ชาวยิวเป็นชาติที่จะต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก” ลงชื่อ Hans Frank 1944 ผู้ว่าราชการในโปแลนด์ส่วนที่เป็นของเยอรมันนาซี ไกด์บอกว่าพื้นหินอิฐสีแดงที่เห็นเป็นของเก่ามีมาตั้งแต่ในสมัยนั้น

ในแต่ละครั้งนักโทษชาว ยิว จำนวนสองพันคนจะถูกโกนผมจนเกลี้ยง ได้รับคำสั่งให้ถอดเสื้อผ้า ถอดรองเท้า ถอดฟันปลอม เพื่อจะได้ไปอาบน้ำฝักบัว แล้วเดินเรียงแถวเข้าไปในห้องอาบน้ำที่มีอุณหภูมิ ๒๕ องศา เซลเซียส มีฝักบัวติดอยู่บนเพดาน แต่แทนที่จะเป็นน้ำไหลลงมา กลับเป็นแก๊สพิษไซยาไนด์ซึ่งใช้เวลาเพียงยี่สิบถึงยี่สิบห้านาทีเท่านั้นพวกเขาก็ขาดใจตาย ทหารที่คุมค่ายใช้เวลาสองวันกว่าจะทำความสะอาดจนหมดเพื่อลบร่องรอย

ผมของชาว ยิว ถึงสองพันตันยังเก็บไว้ให้เห็นในห้องหนึ่ง พวกนาซีใช้ผมของมนุษย์สำหรับถักเป็นเสื่อและใช้ยัดที่นอน ไม่ใช่ขนม้าอย่างที่กล่าวอ้าง ในปี ๑๙๔๔ มีนักโทษหนีออกไปจากค่ายนี้ได้หนึ่งร้อยสี่สิบคน แต่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ นาย Roosevelt ไม่ยอมทิ้งลูกระเบิดลงในค่ายโดยแสร้งทำเป็นไม่รู้ว่าเป็นค่ายกักกัน กลับไปทิ้งลูกระเบิดลงในโรงงานแทน

สมบัติที่ติดตัวมากับชาวยิวถูกคัดเลือกและนำไปเก็บไว้ที่ค่ายอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า แคนาดาที่หนึ่ง ให้ชื่อเช่นนี้เพราะคิดว่าประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่ร่ำรวย นักโทษคนไหนที่ประจบประแจงผู้คุมก็จะได้รับเลือกให้ไปอยู่ที่ค่ายแคนาดา จะได้มีความเป็นอยู่ดีกว่านักโทษคนอื่นๆ ความที่โลภและไม่ต้องการทิ้งสิ่งใด ทั้งๆที่รู้ว่าจะเป็นหลักฐานมัดตนได้ในภายหลัง แต่เยอรมันนาซีก็ได้รวบรวมสิ่งต่างๆของชาวยิวทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เช่น ผ้าคลุมไหล่ของชาวยิวเวลาสวดภาวนา แว่นตา ขาปลอม และแม้แต่แปรงสีฟัน เราจึงได้เห็นว่าในแต่ละห้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่

ก่อนจะถูกส่งตัวไปค่ายกักกัน ชาวยิวถูกหลอกว่าจะอพยพไปอยู่ในที่ๆดีกว่า พวกเขาจึงขนสมบัติที่จะนำติดตัวไปได้ หวังจะเก็บไปไว้ใช้ในที่ใหม่ จึงได้เห็นห้องที่รวบรวมภาชนะต่างๆเช่นกระโถน และเครื่องใช้ในการทำครัวเป็นต้น ของเหล่านี้ชาวยิวใส่มาในกระเป๋าเดินทาง และตะกร้าอันเป็นหลักฐานหนาแน่นว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริง เราได้เห็นกระเป๋าเดินทางสมัยก่อนวางสุมกันมากมาย มีชื่อติดไว้บนกระเป๋า พร้อมวันเดือน ปีเกิด เช่น Klara Goldstein เกิดเมื่อปี ๑๙๔๑ ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าคนที่ถูกรมแก๊สคนนี้ยังเป็นเด็ก ไกด์เล่าว่ามีเด็กถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ในกลุ่มผู้ที่ถูกฆาตรกรรม ส่วนมากเป็นเด็กกำพร้า สังเกตได้จากรองเท้าและเสื้อกันหนาว มีห้องเก็บรองเท้าถึงสี่หมื่นคู่ มีรองเท้าแตะไม้ แต่ไม่มีถุงเท้าให้เห็นเลย บางห้องมีแม้แต่แปรงสำหรับโกนหนวดและยาขัดรองเท้าซึ่งยังมียี่ห้อติดอยู่

ทุกๆเช้าและทุกๆเย็นจะมีการขานชื่อในบริเวณนอกห้องขังซึ่งเป็นพื้นดินเฉอะแฉะ บางครั้งถูกทำโทษต้องยืนอยู่นานถึงสิบเก้าชั่วโมง หากมีใครหายไป จึงไม่มีใครกล้าหือ เพราะกลัวการลงโทษ

ส่วนในบล็อคที่ ๖ แสดงให้เห็นชีวิตของนักโทษ เมื่อมาถึงใหม่ๆ จะได้รับเครื่องแบบที่เป็นทางยาวแบบชุดนอนผู้ชาย ได้รับอนุญาตให้ซักทุกๆสามเดือน เด็กหญิงวัยรุ่นจะไม่มีประจำเดือน เพราะความอด หยาก หนีก็ไม่ได้เพราะถูกโกนหัวจนเกลี้ยงเพื่อกำจัดเหา มีรูปหลายรูปติดไว้บนบอร์ดของ เด็กชายชาว ยิว ของหญิงวัยรุ่นชาวยิบซี ของเด็กหญิงชาวโปแลนด์ ที่ถูกลงทะเบียนเป็นนักโทษ แบบเดียวกับบัตรประชาชน เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ขอนอกเรื่องหน่อยว่า ด้วยเหตุนี้เอง พลเมืองของประเทศอังกฤษจึงต่อต้านการทำบัตรประชาชน

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ๑๙๔๓ พวกนาซีเห็นว่าการถ่ายรูปนักโทษอย่างเมื่อก่อนแพงเกินไป จึงใช้วิธีสักด้วยตัวอักษรตัวแรกเป็นการบอกเชื้อชาติแทน พวกเขากลายเป็นคนไม่มีชื่อ มีก็แต่ตัวเลขที่สักไว้บนแขน หลังจากที่นักโทษถูกกักกันไว้ที่นี่ห้าเดือน ก็จะถูกส่งต่อไปยังค่ายกักกัน Birkenau มีหลักฐานที่ชัดเจนของเด็กหญิงในวัยทีนเอจคนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าทนมีชีวิตอยู่ได้นานถึงห้าปี ส่วนเด็กๆชาวยิบซีอายุประมาณ ๑๕ ถึง ๑๖ โดยเฉพาะเด็กฝาแฝด และหญิงมีครรภ์จะกลายเป็นเหยื่อหนูตะเภาทดลองสมองของ นายแพทย์ Josef Mengele พญามัจจุราช หรือ Death Angel หมอเพชฌฆาตคนนี้ ได้หลบหนีไปตอนปลายสงคราม ปะปนไปกับคนอื่นๆ โดยปลอมหนังสือเดินทาง ใช้ชื่อปลอม และติดสินบนไปเรื่อยๆ จนในที่สุดไปอยู่ที่กรุงโบเอโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชั้นสูงท่ามกลางพวกนาซีหัวกระทิด้วยกัน โดยไม่มีใครสามารถจับมาลงโทษได้ตามกฎหมาย นายพลเปรองเอง ก็สนับสนุนพวกนาซี ด้วยมีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน พวกนี้จึงอยู่ได้ในประเทศอาร์เจนตินา อย่างสบาย ปัจจุบันจะตายหรือยังไม่ทราบ แต่ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็น่าจะมีอายุในราวเก้าสิบกว่าปี เขาใช้บล็อกที่ ๑๐ เป็นห้องทดลอง แต่ไกด์ไม่ได้พาเข้าไปดู

บล็อก ที่ ๑๑ ยังเป็นของดั้งเดิม มีมาตั้งแต่สร้าง คือเดือนพฤศจิกายน ๑๙๔๑ เรียกว่าDeath Block หรือ บล็อกมัจจุราช เป็นกำแพงหิน ระหว่างบล็อกที่ขังนักโทษ พวกที่ถูกคุมขังพยายามอย่างเต็มที่ในอันที่จะรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตน ด้วยการต่อต้านอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พยายามส่งข่าวป่าวประกาศความชั่วร้ายของพวกนาซีให้โลกภายนอกได้รู้ ขอให้ร่วมมือกันช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นอันตรายถึงชีวิต เพราะใครก็ตามที่บังอาจขัดขืนคำสั่ง หรือพยายามช่วยนักโทษให้หนี จะถูกส่งมาไว้ที่บล็อกนี้ เพื่อรอการประหารด้วยการยิงเป้า ชาว ยิวเชื้อสายโปแลนด์ถึงเจ็ดพันคนถูกจับแก้ผ้า หันหน้าเข้าหากำแพงและถูกยิงทะลุหลังอย่างเลือดเย็น เพื่อที่จะอำพราง ฆาตรกรรม หฤโหดเป็นความลับ เพชฌฆาต จำต้องใช้ปืนที่มี silencer กำจัดเสียง และใช้ผ้าผืนใหญ่ปิดหน้าต่างคุกทุกบานไม่ให้มีใครได้เห็น วันที่ไปมีดอกไม้หลายช่อวางไว้เป็นที่ระลึกและไว้อาลัย ภายในอาคารมีห้องที่พวกเกสตาโปใช้เป็นที่บัญชาการ พร้อมทั้งห้องเล็กๆของหัวหน้าบล็อกซึ่งก็เป็นนักโทษที่ถูกจับมาด้วยกันนั่นเอง แต่เขาต้องการอยู่อย่างสะดวกสบายกว่านักโทษคนอื่นๆ จึงยอมพลีตนเป็นสุนัขรับใช้ของเกสตาโป ด้วยการทรยศต่อคนของตนเอง

ห้องที่ขังนักโทษเป็นห้องเล็กๆ มีบังเกอร์เป็นเตียงแคบๆซ้อนกันสามเตียง แออัดยัดเยียด นอกจากนั้นก็มีห้องที่แคบลงไปอีกสำหรับทำโทษด้วยการยืนคราวละสามถึงสี่คน ซึ่งมีเพดานเตี้ยจนต้องค้อมหัว ลองวาดภาพดูหากต้องยืนแบบนั้นทั้งวันทั้งคืน แค่คิดก็สยองแล้ว

มีห้องรมแก๊ส Gas Chamber และเตาเผา Crematorium สามารถส่งคนเข้าไปรมได้คราวละเจ็ดร้อยคน ก่อนจะเข้าไป นักโทษจะต้องเปลื้องผ้าออกนอกห้องเสียก่อน อุณหภูมิที่ใช้สูงถึง ๑๐๐๐ องศาเซลเซียส ส่วนเถ้าที่เหลือเอาไปทิ้งแม่น้ำ หลักฐานทั้งหลายมีให้เห็นตำตา มีแม้แต่กระทั่งช่องระบายแก๊สพิษลงไปสู่นักโทษในห้องเบื้องล่าง

Birkenau

ค่ายกักกัน เบอร์เคนเนา อยู่ห่างจากค่าย Auschwitz ประมาณสองกิโลเมตร อันที่จริงการสังหารชาวยิวกว่าหนึ่งล้านคนเกิดขึ้นที่นี่มากกว่าเกิดขึ้นที่ Auschwitz ค่ายกักกันสร้างขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพราะมีค่ายกักกันถึง ๓๐๐ แห่ง เรียกว่า barracks แต่ละแห่งเคยเป็นคอกม้ามาก่อน คอกหนึ่งอยู่ได้ ๕๒ ตัว แต่นาซีจับเอานักโทษยัดเข้าไว้ถึง ๓๐๐ คน ในแต่ละคอก ในค่ายมีห้องรมแก๊สขนาดใหญ่ถึงสี่ห้อง Gas Chamber มีเตาเผา Crematorium อยู่ติดกัน เตาเผาแต่ละเตาสามารถเผาศพได้คราวละสองพัน มีลิฟท์ไฟฟ้าหลายตัวที่ใช้ยกศพไปใส่ในเตา ค่ายเบอร์เคนเนาขังนักโทษได้ถึงสองแสนคน

ตอนที่ไป ถึง สังเกตว่าสถานที่ตอนทางเข้าเป็นที่ร้าง ไกด์บอกว่าทหาร SS หรือนาซีเกสตาโปได้ทำลายหลักฐานไปมากมายก่อนจะหนีกองทัพทหารโซเวียตที่มาทำการปลดปล่อย ในปี ๑๙๔๕ อย่างไรก็ดี ค่ายกักกันแห่งนี้ใหญ่มหึมาสุดลูกหูลูกตา ไม่อาจจะทำลายทุกอย่างได้หมด ความชั่วร้ายหฤโหดในครั้งนั้นจึงยังมีอยู่อย่างชัดแจ้ง อาจจะมีคำถามจากคนรุ่นหลังผู้ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ว่า แล้วพวกนาซีจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ยิวไปทำไม? เหตุผลง่ายๆสั้นๆก็คือ เพราะพวกเขาบังเอิญเป็น ยิวแต่เพียงประการเดียวก็เพียงพอ ทำให้นึกถึงเรื่อง Merchant of Venice ที่เขียนโดยเชคสเปียร์ การดูถูกเชื้อชาติและสีผิวมีมาแต่ไหนแต่ไร ในเรื่องนี้ Shylock ถูกสร้างให้เป็นผู้ร้ายเพียงเพราะเขาเป็นยิว ร่ำรวย และมีเงินให้กู้เท่านั้น

เห็นบังเกอร์ที่นักโทษอยู่แล้วแสนจะสะเทือนใจ นอกจากจะแออัดยัดเยียดแล้ว พื้นดินข้างใต้ยังเป็นแผ่นหินเสียอีก คนที่ไม่เคยอยู่ประเทศหนาวอาจจะไม่เข้าใจว่าในยามฤดูหนาวอากาศหนาวทารุณเพียงใด โดยเฉพาะห้องที่ไม่มีหน้าต่าง พวกเขาไม่มีแม้แต่ผ้าห่ม ให้ความอบอุ่น ห้องน้ำมีแต่เพียงอ่างเล็กๆ ในแต่ละวันนักโทษจะได้กินซุปใสๆ เนยแข็งชิ้นเล็กๆ และขนมปังนิดหน่อย ค่ายกักกันที่ Auschwitz นับว่าแย่แล้ว ที่แห่งนี้ยิ่งแย่ไปกว่าหลายเท่า หัวหน้าแคมป์แต่ละส่วนเป็นนักโทษอาชญากรชาวเยอรมันที่ถูกส่งให้มาทำหน้าที่ควบคุม แต่ละฝ่ายมีครัวของตนเองทำอาหารให้นักโทษ มีรถเข็นสำหรับบรรทุกอาหารและใช้สำหรับบรรทุกศพในคราวเดียวกัน

ภายในบริเวณมีรางรถไฟตัดผ่าน รถไฟขนนักโทษมาทิ้งไว้ที่นี่ แต่ละแห่งที่เป็น “สถานี” unloading platform สามารถให้นักโทษลงได้คราวละหนึ่งพันคน เมื่อลงมาแล้ว ก็จะมีนายทหารเกสตาโป รวมถึง พญามัจจุราช หมอปีศาจ Josef Mengele รวมอยู่ด้วย ที่คอยชี้บอกว่านักโทษที่มาถึงคนไหนควรจะไปทางไหน ซึ่งหมายความว่าคนไหน “สมบูรณ์” พอที่จะเอาไว้ ส่วนคนที่เห็นว่าไม่มี ประยชน์ ก็จะถูกส่งไปอีกทางหนึ่งหมายถึงส่งไปตายนั่นเอง ส่วนมากจะเป็นเด็ก ผู้หญิง คนเจ็บ คนท้อง และคนชรา

ที่ทำความแปลกใจให้อย่างมากในปัจจุบันก็คือ ทั้งเมือง Auschwitz และ เมือง Birkenau น่าจะเป็นเมืองร้างปราศจากผู้คน เพราะเป็นหลุมฝังศพและเชิงตะกอนมหึมา แต่ก็ยังมีบ้านเรือนให้เห็นอยู่อย่างหนาแน่น แถมยังมีบ้านสวยหลายหลังอีกต่างหาก ถามไกด์ ก็ได้คำตอบว่า บางคนเมื่อได้รับการปลดปล่อยในครั้งนั้นแล้ว ก็กลับมาติดตามหาสมาชิกของครอบครัว ญาติมิตร ที่บ้านเดิมอีก เพราะเป็นสถานที่ๆคุ้นเคย ในที่สุดก็ปลูกสร้างบ้านอยู่อย่างถาวร ดังที่เห็น

เหตุการณ์อันน่าระทึกใจ

เราต้องเดินทางย้อนกลับไปวอร์ซออีกครั้งหนึ่ง เพื่อไป ขึ้นเครื่องบินกลับสวิส เราเดินทางโดยรถไฟเช่นเคย เพราะได้จองมาล่วงหน้าเช่นเดียวกับตอนขาไป แต่คราวนี้รถไฟที่จะโดยสารกลับ ไม่ใช่รถขบวน Inter City แต่เป็นรถด่วนธรรมดา โบกี้ผู้โดยสารจัดเป็นห้องเป็นแถวยาว แต่ละห้องมีที่นั่งหกที่ด้วยกัน โดยมีทางเดินเป็นแนวยาวแคบๆ เมื่อรถไฟมาถึงสถานี Krakov เราก็ลากกระเป๋าขึ้นไปบนโบกี้หมายเลขเจ็ดที่ได้จองไว้ พอจะเดินเข้าประตูก็มีชายร่างใหญ่คนหนึ่งขวางประตูทางเข้า วอลเตอร์ ซึ่งเดินนำหน้า ขอทางอย่างสุภาพ แต่ชายคนนี้ก็ไม่ยอมให้เข้า พยายามจะดันออกมาให้ได้ ถ้าเขาจะให้ทางก็ง่ายนิดเดียว เพียงแต่เดินเข้าห้องผู้โดยสารไปเท่านั้น ส่วนฉันเองจะร่นถอยหลังก็ไม่ได้ เพราะมีชายอีกคนหนึ่งตามมาติดๆข้างหลัง เขาเองก็ไม่ยอมถอยทั้งๆที่ไม่มีใครอยู่ข้างหลังเขาเลย จึงได้แต่ดันกันไปดันกันมา จนฉันฟิวส์ขาด พูดกระชากๆว่า “ต้องการอะไร ทำไมไม่ให้ทาง you idiot” ในที่สุดชายที่อยู่ด้านหลังก็แซงขึ้นไปข้างหน้า ส่วนชายร่างใหญ่ก็เดินสวนมาพร้อมกับชายที่แซงขึ้นไปก่อนเดินนำไปข้างหน้า มีชายร่างใหญ่ตามไปข้างหลังติดๆกัน ทันใดนั้น วอลเตอร์ ก็ร้องว่า “กระเป๋าสตางค์ของผมถูกขโมย”

ฉันเฉลียวใจขึ้นมาทันทีว่าเหตุที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆเป็นแผนการปล้นกลางวันแสกๆ ฉันจึงใช้มือขวากระชากคอเสื้อ ชายร่างใหญ่ซึ่งกำลังจะเดินจากไปเอาไว้ ต้องขอบคุณกีฬาที่เคยเล่นคือเทนนิส และกอลฟ์ ที่เล่นอยู่สม่ำเสมอ เพราะทำให้ข้อมือมีกำลังมาก กระชากคอเสื้อด้านหลังของเขาไว้ แบบว่าเป็นตายอย่างไรจะไม่ยอมปล่อยเป็นอันขาด ปากก็ตะโกนว่า “This is the guy, this is the guy.” หมายถึงชายคนนี้แหละที่ขโมยกระเป๋าสตางค์ ในขณะเดียวกันทั้งตำรวจและทหารที่รักษาการณ์อยู่บนชานชาลาต่างก็กรูเข้ากักตัวชายคนนี้ไว้ ขอค้นกระเป๋ากางเกง และกระเป๋าเสื้อ แต่ไม่ได้พบอะไร ตอนที่ฉันกระชากคอเสื้อเขา จำได้ว่าเขาควักเอาโทรศัพท์มือถือออกมา เข้าใจว่าคงจะส่งสัญญาณให้อีกคนหนึ่งหนีไป พอถูกค้น เขาชูมือขึ้นเหนือศีรษะ บอกว่าค้นได้เลยเพราะไม่มีอะไร ไม่ได้เป็นคนขโมยกระเป๋า ส่วนวอลเตอร์ ลงไปให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งได้จดชื่อพร้อมที่อยู่เอาไว้ เพื่อการติดต่อในภายหลัง กว่าจะเสร็จก็เป็นเวลาที่รถไฟจวนจะออกจากสถานีพอดี

ส่วนฉันเองจำต้องลากกระเป๋าสองใบเข้าไปหาที่นั่ง เพราะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นกลุ่มใหญ่กำลังขึ้นมาและกำลังจะเข้าห้องพัก พยายามจะอธิบายให้เขาฟังว่าทำไมจึงยืนเก้ๆกังๆอยู่หน้าประตู แต่พวกเขาก็พูดและฟังภาษาอังกฤษไม่ออกเอาเสียเลย ฉันไม่มีทางเลือกนอกจากจะลากกระเป๋าไปยังที่นั่งของตนเอง โชคดีมีชายชาวโปแลนด์คนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องเดียวกันก่อนแล้ว ช่วยยกกระเป๋าขึ้นไปเก็บไว้ให้บนหิ้งเหนือศีรษะ เขาพูดภาษาอังกฤษได้พอสมควร มารู้ภายหลังว่า เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่เมือง Krakov กำลังเดินทางไปวอร์ซอกับลูกสาว

พอรถไฟออกขณะที่ วอลเตอร์ กำลังจะเดินเข้าโบกี้ ก็มีเสียงตะโกนว่า “ผมเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ เป็นของคุณหรือเปล่า? ผมเก็บได้ที่ทางเดินหน้าห้อง” วอลเตอร์ เดินไปรับเอากระเป๋าสตางค์มา บอกว่าเป็นของเขาเอง พร้อมกับกล่าวคำขอบคุณชายชาวเดนมาร์คคนนั้น ตรวจดูปรากฏว่ามีทุกอย่างครบถ้วน รวมทั้งเงินและบัตรต่างๆ มาคิดได้ภายหลังว่า ในขณะที่ถูกกระชากคอ ไอ้หัวขโมยมันคงรู้ว่าไปไม่รอดแน่ และอาจจะไม่คิดไม่ฝันว่าจะถูกต่อต้านจาก คุณป้ามหาภัย ไม่ใช่เหยื่อที่จะกินได้อย่างคล่องคอ จึงทิ้งกระเป๋าบนทางเดิน เพื่อกำจัดหลักฐาน เมื่อนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นลากกระเป๋าขึ้นมา ก็ลากเอากระเป๋าสตางค์ติดไปด้วย ตามทางเดิน วันนั้นเป็นวันโชคดีของเรา ที่ได้ทุกอย่างกลับคืน เงินหายไม่เป็นไร แต่ถ้าบัตรทั้งหมดหายคงจะยุ่งยากไม่น้อย อันที่จริงเรารู้มาก่อนแล้วว่า พวกหัวขโมยพวกนี้ มีกลเม็ดต่างๆมากมายในการเบี่ยงเบนความสนใจของเหยื่อ แต่ในขณะที่เกิดเหตุ ไม่ทันนึกว่ากำลังเป็นแผนปล้นเราทั้งสองคน ขอบคุณ พระเจ้าที่ไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น

พอรถไฟเข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟกรุงวอร์ซอ ก็มีตำรวจหญิงชาวโปแลนด์รออยู่แล้ว ขอให้ไปสถานี เพื่อสอบปากคำ บอกว่าจะใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น ดีที่เรามีเจ้าหน้าที่จากบริษัทท่องเที่ยวมาคอยต้อนรับเพื่อพาไปสนามบิน จึงเล่าเรื่องให้เขาฟัง บอกให้เขาแปลให้ตำรวจฟังด้วยว่า ได้ของทุกอย่างคืนมาหมดแล้ว ไม่ติดใจจะเอาเรื่อง และไม่ต้องการพลาดเที่ยวบิน เพราะเรารู้จากประสบการณ์ในต่างประเทศที่ค่อนข้างจะ “ด้อยพัฒนา” ว่า ถ้าเขาบอกชั่วโมงเดียว อาจจะเลยเถิดเป็นสามสี่ชั่วโมงก็ได้ ฉันเองไม่ต้องการอะไรมากกว่าขึ้นเครื่องบินกลับประเทศที่คุ้นเคย ประเทศที่ให้ความปลอดภัยและอบอุ่นใจเสมอมา

- จบ -