บ้านเกิดของนักเดินเรือสำรวจผู้เกรียงไกร Vasco da Gama (1)

คิดว่าคุณผู้อ่านคงจะเคยได้ยินชื่อของนักเดินเรือสำรวจที่ชื่อว่า Vasco da Gama วาสโก ดา กามา กันมาบ้างแล้วตอนเรียนหนังสือ เขาผู้นี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการค้นพบเส้นทางการเดินเรือจากยุโรปสู่อินเดียระหว่าง พ.ศ. ๒๐๔๐ ถึง ๔๒ โดยแล่นเรือตรงจากลิสบอน ประเทศปอร์ตุเกสไปถึงชายฝั่งมะลาบาร์ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย โดยแล่นเรืออ้อมผ่านแหลม กู๊ดโฮป (Good Hope) ทางตอนใต้แอฟริกา ซึ่ง Bartolomew Dias เป็นผู้ค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๑ วาสโก ดา กามา มีชีวิตอยู่ในสมัยอยุธยาตรงกับสมัย พระบรมไตรโลกนาถและสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระ เชษฐา ธิราช)

สมัยนั้น นักเดินเรือสำรวจนอกจากจะออกเดินเรือไปหาเส้นทางและเมืองใหม่ๆด้วยจุดประสงค์ที่จะขยายอาณาเขตของตนเพื่อความยิ่งใหญ่ของประเทศ ล่าอาณานิคมแล้ว การค้า เศรษฐกิจ และการเสาะแสงหาความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆก็เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นเขายังต้องการเอาทองที่ขุดพบในประเทศบราซิลไปขาย พร้อมกับนำเอาสินค้าจำพวกไหม งาช้าง กระเบื้องและเครื่องเทศต่างๆ เช่น พริกไทยดำ (black pepper) ที่หาได้ในทวีปอันไกลโพ้นเช่นอินเดียและแอฟริกากลับมาประเทศของตนอีกตางหาก เพราะเครื่องเทศเป็นสิ่งที่มีค่าและหายากในอดีต เช่นเดียวกับใบชา วาสโก ดา กามา ล้มป่วยและเสียชีวิตที่เมือง โคชิน (Cochin) ในประเทศอินเดีย

Lisbon เมืองหลวงระหว่างเนินเขาเจ็ดลูก

ลิสบอนตั้งอยู่บนปากแม่น้ำอันกว้างใหญ่ของ Rio Tejo หรือ Tagus ซึ่งจัดว่าเป็นท่าเรือธรรมชาติที่เยี่ยมที่สุด อยู่ไปทางเหนือของประเทศ วันที่ บินออกจาก ซูริค ไปกรุงลิสบอนเมืองหลวงของ ปอร์ตุเกส นั้น เป็นวันที่มีอากาศแจ่มใสในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เมื่อเครื่องบินลดระดับต่ำลง เพื่อร่อนสู่สนามบินกรุงลิสบอน มองลงไปจากเครื่องแลเห็นท้องน้ำเป็นสีคราม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสีของน้ำจากมหาสมุทรแอตแลนติก และอีกส่วนหนึ่งเป็นสีฟ้าใสของแม่น้ำ Tagus เทจู หรือที่เรียกในภาษาปอร์ตุเกสว่า Rio Tejo รืโอเทจู บ้านเรือนและตึกรามของกรุงลิสบอนที่เห็น เหมือนชิ้นส่วนของกระเบื้องหินโมเสกวางเรียงเอาไว้ เป็นสีแดงสดใสของหลังคา ผุดพ้นแน่นขนัดอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ แลดูเหมือนว่าตึกรามเหล่านี้จะกลมกลืน เชื่อมเข้าเป็นผืนเดียวกับสายน้ำที่จะแยกออกจากกันเสียมิได้ ไกลออกไปเนินเขา Sao Jorge หรือ St. George หนึ่งในจำนวนเจ็ดเนินที่ลิสบอนตั้งอยู่ บนยอดเขา เซ็นต์จอร์จมีปราสาทชื่อเดียวกันเห็นเด่นแต่ไกล อาจจะกล่าวได้ว่าปราสาทแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของกรุงลิสบอนก็ว่าได้

แต่แทนที่จะได้เห็นเรือใบแล่นไปมาเช่นในอดีต กลับมีเรือบรรทุกสินค้าที่ล่องไปมาในแม่น้ำ เทจู สร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่ท้องน้ำเป็นที่ยิ่ง แลเห็นสะพานแขวนสองสะพาน คือ สะพาน ๒๕ เมษายน หรือ Ponte 25 de Abril สร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๖๖ โดยบริษัทเดียวกับที่สร้าง Golden Gate และ Bay Bridges ในซานฟรานซิสโก มีความยาวถึง ๑๗.๒ กิโลเมตร ซึ่งเป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในยุโรป และ สะพานวาสโก ดา กามา Ponte Vasco da Gama ซึ่งมีความยาวถึงสิบสองกิโลเมตร สร้างขึ้นในเทศกาล Expo ๙๘ ทอดเหนือท้องน้ำไปจนจด Parque das Nacoes ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของงานเอ็กซ์โป อาจจะเห็นสะพานนี้ไม่ชัดนักในวันที่มีหมอกลงหนาทึบ สะพานแห่งนี้สร้างขึ้น เพื่อความมีหน้ามีตาของประเทศผู้จัดเทศกาล และได้ตั้งชื่อสะพานให้เป็นเกียรติแก่นักเดินเรือสำรวจผู้เกรียงไกรในอดีตอันไกลโพ้น ถ้าต้องการดูสะพานให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต้องไปเที่ยวในเขต Belem หรือ Bethlehem ซึ่งจะเขียนถึงในตอนหลังเมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว

พอลงจากเครื่องบินเดินเข้าไปในตัวอาคารสนามบินมีความรู้สึกแปลกๆ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองคอยตรวจตราหนังสือเดินทางขาเข้า อย่างที่ควรจะเป็น แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า ประเทศสวิสเพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Shengen เมื่อไม่กี่เดือนมานี่เอง ชาวสวิสต้องออกไปลงคะแนนเสียง ทำประชามติว่าจะยินยอมหรือไม่ ส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะเบื่อที่จะต้องไปยืนเข้าคิวยาวเหยียด รอการประทับตราจากกรมตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินในยุโรป เช่นคนต่างด้าวชาติอื่นๆที่อาศัยอยู่นอกยุโรป แม้ว่าประเทศสวิสจะไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกของ European Union แต่ก็มี bilateral agreement ระหว่างกัน ไม่ต้องบอกนะคะว่า EU ต้องการให้ประเทศสวิสเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับเขาแค่ไหน ไม่ใช่เพราะพิศวาสคนสวิสอะไรหนักหนา แต่พิศวาสเงินฟรังค์มากกว่า อย่างไรก็ดี คนสวิสเอง รักความเป็นอิสระ ไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรุงบรัสเซลส์ ประชาชนก็เลยลงประชามติไม่ร่วมเป็นคู่ตุนาหงันด้วย ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ อำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของปวงชนเสมอ หากประชาชนส่วนใหญ่ลงมติอย่างไร รัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตามเช่นนั้นอย่างไม่มีเงื่อนไขหรือข้อโต้แย้งใดๆทั้งสิ้น เห็นได้ชัดจากการลงคะแนนมีมติให้ร่วมสนธิสัญญา Shengen ในความเห็นของผู้เขียน นี่คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ถ้าดูในแผนที่จะเห็นประเทศเล็กๆประเทศหนึ่งในใจกลางทวีปยุโรปที่ดูประหนึ่งจะเป็นเกาะร้างโดดเดี่ยวท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ EU แต่ถึงแม้จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของ EU ประเทศ สวิสเองก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินให้ EU ไปปีละไม่น้อย เพื่อความราบรื่นในการติดต่อทำการค้า เพราะ EU เป็นกลุ่มที่สวิส ติดต่อทำการค้าด้วยมากที่สุด อะไรในโลกนี้ต้องใช้เงินทั้งนั้นแหละค่ะ Nobody gets a free lunch ไม่มีใครที่ไหนได้กินอาหารกลางวันฟรีๆหรอก

ใช้เวลาในราวสิบห้านาที ก็มาถึงโรงแรมที่อยู่กลางใจเมือง ใกล้ จตุรัส Marquis of Pombal แม้ว่าจะไม่ใช่โรงแรมห้าดาว แต่ก็เป็นโรงแรมที่สะอาดสะอ้าน อาจจะเพราะยังคงใหม่เอี่ยมอยู่ก็เป็นได้ มองจากระเบียงออกไปแลเห็น Parque Eduardo VII อันเขียวชอุ่มจากสนามหญ้าที่ออกแบบตัดกันเป็นรูปเลขาคณิต อยู่เบื้องหลังวงเวียน มีอนุสาวรีย์ของ Marquis of Pombal ตั้งอยู่บนถนน Avenida da Liberdade ซึ่งเป็นถนนที่กว้างใหญ่ และสวยที่สุดในลิสบอน มีความยาว ถึง หนึ่งกิโลเมตรครึ่ง นับจากจุดนี้เข้าไปจนถึงใจกลางเมืองในส่วนที่จอแจที่สุด

ใกล้โรงแรมที่พักมีสถานีรถไฟใต้ดิน หรือ เมโทร แต่เราไม่ได้ใช้ กลับพากันเดินไปจนถึง Castle of Sao Jorge หรือ St. George’s Castle็น นั่นเอง ปราสาทนี้ได้เห็นแล้วแต่ไกลจากสนามบินและตัวเมือง เพราะตั้งอยู่บนเนินเขาสูง อันที่จริงไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนในประเทศปอร์ตุเกส ต่างก็อยู่บนเนินสูงด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุผลใหญ่ๆประการเดียวก็คือ ชาวปอร์ตุเกสในสมัยล่าอาณานิคม ไม่ต้องการให้บ้านเมืองของตนเป็นเหยื่อที่ง่ายดายต่อการโจมตีของศตรู จึงต้องสร้างบ้านเรือนไว้ในที่สูงๆ เดาเอาว่าพลเมืองของประเทศนี้คงจะมีหัวเข่าที่แข็งแรงพอสมควร สำหรับการเดินขึ้นๆลงๆไปตามถนนที่นอกจากจะสูงชันแล้ว ยังปูด้วย cobblestone เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าหากจะไปเที่ยวที่นั่น จะต้องมีรองเท้าที่ดีเยี่ยมสวมใส่สบาย

เดินไปตาม Avenida de Liberdade ใจกลางของถนนมีต้นไม้ปลูกอยู่ร่มรื่นสองข้างทาง เมื่อมาถึง จตุรัส Rossio (Rossio Square)หรือ Praca Dom Pedro IV ก็รู้ได้ว่าใกล้ใจกลางเมืองเข้าไปแล้ว เดินต่อไปผ่านถนนคนเดิน Rua Augusta ไปเลี้ยวซ้าย ที่ ถนน Rua da Conceicao จนมาถึงมหาวิหาร Se de Lisboa หรือ Lisbon Cathedral ซึ่งเป็นมหาวิหารของศตรวรรษที่ ๑๒ เริ่มสร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๑๕๐ หลังจากที่ พระเจ้า Afonso Henriques กษัตริย์องค์แรกของปอร์ตุเกส รบได้ชัยชนะจากแขกมัวร์ บนพื้นที่ๆเคยเป็นมัสยิดของพวกเขามาก่อน เป็นที่น่าสังเกตว่า พวกล่าอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นชาวสเปนหรือปอร์ตุเกสมักจะชอบสร้างวิหารหรือโบสถ์ของตนคร่อมทับลงไปบนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือเมือง Cuzco ของประเทศเปรู ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดี จะเข้าใจได้ว่าเหตุไรชาวมุสลิมหลายคนจึงเคียดแค้นและต่อต้านฝรั่งที่นับถือศาสนาคริสต์ (หมายเหตุ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง จึงโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

มหาวิหารสร้างในสไตล์ที่รวมแบบของ Romanesque และโกธิคเข้าไว้ด้วยกัน มีหน้าต่างรูปทรงกลมมีสีสันในแบบ rose window อยู่เหนือประตูทางเข้าแบบธรรมดา แต่มีหอคอยรูปสี่เหลี่ยมขนาบข้างเอาไว้สองหอ ลักษณะของวิหารดูเหมือนป้อมปราการมากกว่าจะเป็นโบสถ์ สันนิฐานได้ว่าถึงแม้ชาวปอร์ตุเกสซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิค จะได้รับชัยชนะจากชาวแขกมัวร์ซึ่งนับถืออิสลามมาแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะหมดศึกสงครามเพียงแค่นั้น จึงต้องสร้างป้อมที่แข็งแรงป้องกันเมืองเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยจากการจู่โจมของศตรู อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน ค.ศ. ๑๗๕๕ มหาวิหารได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่ได้รับการซ่อมแซมอย่างขนานใหญ่ใน ค.ศ. ๑๙๓๐

สร้างในสไตล์บาโรคเป็นส่วนใหญ่ ที่น่าสนใจก็คือแท่นฝังศพของพระเจ้า Afonso IV และมเหษี มีสิ่งมีค่าทางศาสนาตั้งวางไว้มากมาย มีกุฏิ หรือ cloister ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๓ อันประกอบไปด้วยอุโมงค์ที่มีค่าน่าสนใจทางโบราณคดีไว้ไม่น้อย มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นหินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๖ ก่อนการประสูติของพระเยซู มีถังเก็บน้ำสมัยโบราณรวมถึงพื้นฐานของศาสนาอิสลามอยู่ด้วย ตอนที่เราไปถึง กำลังมีการขุดหาสมบัติที่มีคุณค่าทางโบราณคดีกันอย่างเข้มข้น ไม่ใช่แต่เพียงที่นี่ที่เดียวเท่านั้นที่มีการบูรณะ ซ่อมแซมอย่างขนานใหญ่ แต่เป็นในหลายๆที่ ทั้งในตัวเมืองหลวง และทั่วประเทศ สันนิฐานว่า สาเหตุมาจากการที่ในปัจจุบัน ประเทศปอร์ตุเกส นอกจากจะเป็นสมาชิกเริ่มแรกของ EU ประเทศหนึ่งแล้ว

ยังมีชาวปอร์ตุเกสคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีของประเทศ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๒ จนถึง ๑๙๙๔ แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศตน ไปยื่นใบสมัครเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีของ EUหรือ President European Commission เขาคนนี้คือ นาย Jose Manuel Barrosoซึ่งได้รับเลือกให้ไปประจำอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งประจำที่ทรงเกียรติ ในเมื่อเขาเองเป็นชาวปอร์ตุเกส ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องหาทางจุนเจือ ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองให้พัฒนาก้าวไกลไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในขณะที่ยังดำรงอยู่ในตำแหน่ง ไม่มีใครเห็นว่าเขาได้ทำสิ่งไรที่เกินเลยไปกว่าความรักชาติของตนเอง

จะเห็นได้ว่าประเทศปอร์ตุเกสพัฒนาไปจนผิดหูผิดตาตั้งแต่ได้ร่วมเป็นสมาชิกของ EU โดยมีนาย บารอสโซ่ อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ อย่างไรก็ดี ตำแหน่งนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นตำแหน่งประจำ แต่มีวาระเพียงห้าปีเต็มเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะมีการเลือกตั้ง President European Commission ของ EU กันใหม่ ซึ่งก็จะเป็นในเร็วๆนี้ เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ EU เพิ่งผ่านพ้นไปโดยมีนาย Fredrik Reinfeldt ของประเทศสวีเดนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีวาระหกเดือนเต็ม ด้วยเหตุนี้นาย Barroso จึงได้ยื่นใบสมัครเป็นแคนดิเดทในตำแหน่งเดิมอีกครั้งหนึ่ง เพราะเขามั่นใจว่าจะได้รับเลือกแน่นอน เนื่องจากผู้ที่มารับตำแหน่งใหม่ๆใน EU ขณะนี้ ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นคนหน้าใหม่ทั้งสิ้น ต้องนับว่าชาวปอร์ตุเกสโชคดีค่ะ

หลังจากชมมหาวิหารแล้ว เราเดินต่อไปบนถนนที่สูงชันขึ้นเรื่อยๆ มีรถรางวิ่งไปมาบนถนนแคบสายนี้เป็นช่วงๆ ในที่สุดก็มาถึงจุดสูงสุดของเนินเขา St.George หรือ Sao Jorge ที่เห็นเด่นจากในตัวเมืองด้านล่าง สมัยเริ่มแรกป้อมปราการแห่งนี้สร้างขึ้นจากรากฐานที่เคยเป็นของชาวโรมัน มาก่อน ตลอดระยะเวลาที่อยู่ใต้การปกครองของชาวมุสลิม ป้อมปราการเดียวกันนี้ มีปราสาทที่มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๐ แต่ในที่สุดก็ถูกทำลายโดยชาวคริสเตียนครูเสด ระหว่างที่นำทัพเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษที่ ๑๒ จากการช่วยเหลือของกองกำลังครูเสดหนึ่งร้อยห้าสิบคน Dom หรือ King Afonso Henriques ก็รบได้ชัยชนะ เอาเมืองลิสบอนมาเป็นของตนได้ ตั้งแต่นั้นมาปราสาทแห่งนี้จึงได้พลิกผันมานับถือศาสนาคริสต์จนถึงปัจจุบัน

ในสมัยนั้นกรุงลิสบอนเป็นหมู่บ้านเล็กๆมีบ้านช่องเพียงไม่กี่หลังคาเรือน หลังจากการรบพุ่งผ่านไป ปราสาทเซ็นต์จอร์จ ก็มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในศตวรรษที่สิบสาม โดยที่ Dom Dinis ได้ย้ายวังทั้งหมดจากเมือง Coimbra ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน มาอยู่ที่นี่ และได้กลายเป็นที่ประทับของพระราชวงศ์ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔ จนถึง ศตวรรษที่ ๑๖ นอกจากนั้นยังได้ใช้เป็นคุกกักขังนักโทษการเมืองมาในทุกศตวรรษ จะเล่าเรื่องเมือง Coimbra ให้ฟังเมื่อไปถึงเมืองนั้นแล้ว

ด้วยเหตุที่ปราสาทแห่งนี้มีที่ว่างเปล่ามากมาย มีต้นไม้ขึ้นรกเรื้อ มีแต่นกอาศัยอยู่จึงเป็นจุดดูวิวที่ยอดเยี่ยมมาก จากข้างบนเนินเขาจะสามารถมองเห็นบ้านเรือนในเมืองหลวงได้ชัดเจน ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ไปเที่ยวลิสบอนไม่ควรจะพลาด St. George ถ้าไม่สนใจประวัติศาสตร์ ก็ถือว่าขึ้นไปเที่ยวชมวิวก็แล้วกัน

ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาท เคยเป็นที่อาศัยของชาวมัวร์ เรียกว่า Mouraria Quarter แต่ได้ตกเป็นของชาวคริสต์ หลังสงครามครูเสด ที่เรียกกันว่า Reconquista หรือ Christian Reconquest

พอออกจากวัง ก็จะถึงเขต มูราเรีย ซึ่งเป็นถิ่นอันเก่าแก่ของมุสลิมชาวมัวร์ เดินออกมาอีกสักครู่จะถึง Praca do Martim Moniz เขตช็อปปิ้งที่เต็มไปด้วยสินค้าของชาวแอฟฟริกัน อินเดียน และจีนเป็นส่วนใหญ่

เดินผ่านไปบนถนนแคบๆที่ลัดเลี้ยวไปมา ก็มาถึง Alfama ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของมุสลิมชาวมัวร์ ถิ่นนี้เคยอุดมด้วยน้ำพุร้อน ที่เรียกว่า al- hamma ในภาษาอาหรับ แปลตรงตัวเลยว่า น้ำพุรักษาโรค ก่อนแผ่นดินไหวใหญ่ในปีค.ศ. ๑๗๕๕ พวกเศรษฐีชาวลิสบอนหลายครอบครัวอาศัยอยู่ที่นี่ เพราะในสมัยนั้นแหล่งนี้จะสวยงามที่สุดในระหว่างเทศกาลเฉลิมฉลองนักบุญอุปถัมท์ของเมือง

แลเห็นตรอกและซอกซอยคดเคี้ยวไปมาปูราดด้วย cobblestone มีบันไดแคบและสูงชันอยู่ทั่วไป ราวตากผ้าที่แขวนไว้นอกตึกที่อาศัยเป็นสิ่งที่เห็นจนเจนตา บนราวมีเสื้อผ้าหลากสีรวมถึงชุดชั้นในสีลูกกวาดแกว่งไหวพะเยิบพะยาบไปมาอยู่ตามสายลม ความมีระเบียบของราวตากผ้าไม่ใช่ของประเทศญี่ปุ่นแน่นอน แต่ก็แสดงถึงความมีชีวิตชีวาแห่งสถานที่ของผู้คนในประเทศที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Navarra แห่งสเปนบังอาจทำวิจัยว่าเป็นชาติที่ขยันน้อยที่สุดใน EU

ได้กลิ่นปลาซาร์ดีนปิ้งโชยมาเข้าจมูก ชาวเมืองลิสบอนกินปลาปิ้งวางบนขนมปังเหมือนคนไทยกินข้าวผัดหรือข้าวแกง ส่วนหูก็เพลิดเพลินฟังเพลง Fado อันแสนเศร้าบ่งถึงความทุกข์ทรมานที่ซ่อนเร้นอยู่ในวิญญาณของชาวเมือง คำว่า Fado แปลว่า Fate หรือโชคชะตา ทั้งอัลฟามาและมูราเรียเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนจนและกรรมกรมาก่อน จึงเป็นแหล่งกำเนิดของเพลง ฟาโด ที่เป็นเพลงหวานเศร้าบรรยายถึงความขมขื่นในชีวิต อันมีโชคชะตาเป็นเครื่องกำหนด และไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ ส่วนหนึ่งของความโศรกเศร้าที่ซ่อนเร้น อาจจะมาจากการปกครองที่กดขี่ของ Antonio de Oliveira Salazar ก็เป็นได้ นาย Salazar เป็นผู้ถือบังเหียนประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๓๒ เป็นเวลาถึงสามสิบหกปี ก่อนที่ชาวปอร์ตุเกสจะได้มาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ในปี ๑๙๗๔

เราแวะหยุดที่จุดดูวิวอีกแห่งหนึ่งที่ Portas do Sol Belvedere ซึ่งเป็นลานกว้างเหนือแม่น้ำ ก่อนที่จะลงบันไดแคบๆหลายขั้นไปยังใจกลางเมืองด้านล่างในเขต Chiado มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันกลุ่มใหญ่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใส่หมวกสีส้ม อีกกลุ่มสีเหลือง ฟังจากที่เขาคุยกัน ได้ความว่ามาทางเรือ cruise ชายชาวเยอรมันคนหนึ่งพลัดกับกลุ่มของตนเอง ต้องการมาร่วมกับอีกกลุ่มหนึ่งด้วย แต่ไกด์ไม่ยอม อย่างไรก็ดี ในที่สุดเขาก็ได้หมวกใบหนึ่งมาสรวมไว้ซึ่งมีสีเหมือนกับชาวเยอรมันในกลุ่มที่เขาต้องการจะร่วมด้วย โดยที่ไกด์ไม่ทันสังเกต เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ผู้เขียนสังเกตเพราะจับตาดูอยู่ด้วยความสนใจว่าเขาจะทำอย่างไร

Chiado (ชีอาโด) เป็นแหล่งช็อปปิ้งทันสมัย มีบูติค วางขายสินค้าสวยๆมากมาย โต๊ะของร้านอาหารปูด้วยผ้าสีขาวสะอาด แม้ว่าจะตั้งอยู่บนทางเท้าตรงกึ่งกลางของถนนคนเดินก็ตาม ได้กลิ่นกาแฟหอมโชยมาจากคาเฟ่หลายแห่งที่ขายขนมเพสตรี่อร่อยๆ มีคนนั่งจับจองกันเต็มจนแทบทุกโต๊ะ เพราะเป็นเวลาบ่ายสี่โมงเศษๆ

ใกล้ๆกันเดินขึ้นเนินที่สูงชันไปอีกหน่อยก็จะมาถึง Bairro Alto ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เก่าแก่ของชาวเมือง ประกอบไปด้วยตึกแบบโบราณสง่างาม สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปดและไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในปี ๑๗๕๕ แต่อย่างใด เขตไบโรอัลโตสร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๑๗ ในปัจจุบันเป็นแหล่งสำราญแห่งหนึ่งของชีวิตในยามค่ำคืน ด้วยเหตุที่มีร้านอาหาร ที่พัก ตลอดจนไนท์คลับ มากมาย

ใครที่ได้ไปถึงเขต Belvedere of St.Pedro de Alcantara ซึ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ จะสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาของเมืองเก่ากรุงลิสบอน จากนี่อาจจะเดินหรือใช้ funicular of Gloria กลับไปยังใจกลางเมืองอีกแห่งหนึ่งได้ คือ Baixa Pombalina ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ ได้รับการซ่อมแซมใหม่หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปีค.ศ. ๑๗๕๕ ถนนที่กว้างและตึกห้าชั้นทำให้ศูนย์กลางแห่งนี้มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากส่วนอื่นๆของเมือง

Santa Justa Lift ที่ตั้งอยู่บนถนน Rua de Santa Justa สร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ มีลักษณะโดดเด่นผิดจากลิฟท์อื่นๆทั่วไป เป็นแบบ Neo-Gothic สร้างโดยวิศวกรชาวปอร์ตุเกส ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของนายไอเฟิล ที่สร้างหอคอย Eifel ที่กรุงปารีส ลิฟท์นี้สูง ๓๒ เมตร แต่โดยความเป็นจริงขึ้นไปได้จนถึง ๔๕ เมตร ใครที่ไม่ต้องการเดินไต่บันได้หรือเดินไปตามถนนอันสูงชันก็สามารถใช้ลิฟท์นี้ได้ นอกจากนั้นจะสามารถแลเห็นวิวของปราสาทเซ็นต์จอร์จและแม่น้ำได้อย่างชัดเจน ใกล้ๆกันเป็นคอนแวนต์ Convent of O Carmo ซึ่งนับว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งในแบบสไตล์โกธิคของกรุงลิสบอน สร้างขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพระแม่มารีอา ที่ช่วยชาวปอร์ตุเกสรบได้ชัยชนะหลุดพ้นจากแอกของผู้ยึดครองชาวสเปน หลังจากที่ได้เดินขึ้นๆลงๆเนินเขาชมเมืองมาเป็นเวลาถึงห้าชั่วโมง เราแวะหยุดรับประทานอาหารกันที่ร้านอาหารบนทางเท้าในเขตทันสมัยของ ชีอาโด

เนื่องจากกรุงลิสบอนตั้งอยู่บนชายฝั่งแอตแลนติกและแม่น้ำ เทจู จึงมีอาหารสดจากทะเลและแม่น้ำให้เลือกมากมาย เราสั่งปลาปิ้ง (grilled fish) กับสลัดมาทาน อาหารทะเล เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงมากในปอร์ตุเกส ในเขตที่อยู่ใกล้ทะเลและแม่น้ำ ไม่ขอแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกเนื้อ เพราะชาวปอร์ตุเกสไม่สู้ถนัดในการประกอบอาหารจำพวกนี้ Mater’d ที่ มารับออร์เดอร์ แนะนำว่าควรจะสั่งสลัดแต่เพียงจานเดียวเพราะเป็นจานที่ใหญ่มาก ซึ่งเมื่อเห็นแล้วก็ต้องยอมรับว่าใหญ่จริงๆ เขาเอาขนมปัง เนยแข็ง ลูกมะกอกฝรั่ง และซาลามีที่หั่นเป็นแว่นๆแล้วมาวางให้ด้วย แต่ที่ประเทศนี้ไม่เหมือนประเทศอื่น ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าอาหารที่เขาเพิ่มมาให้เป็นพิเศษอีกต่างหาก แต่ถ้าไม่ต้องการก็ส่งคืนกลับไปได้ เขาไม่ว่าอะไรและจะเอากลับไปแต่โดยดี บังเอิญอาหารเรียกน้ำย่อยที่เขาเอามาให้อร่อยถูกปากเหมาะกับไวน์ขาวที่สั่งไป จึงไม่มีปัญหาสำหรับเรา ปลาปิ้งที่สั่งมาปิ้งทั้งตัว ทำให้รู้ได้ว่าเป็นปลาสดจริงๆ ร้านอาหารแห่งนี้อร่อยที่สุดในกรุงลิสบอน ในความเห็นของผู้เขียน จึงได้กลับไปอีกครั้งหนึ่ง เพราะร้านอาหารอื่นที่ไป สั่งอาหารประเภทเดียวกัน แต่ไม่ถูกใจเท่าร้านนี้ ชาวปอร์ตุเกสมีนิสัยการกินอาหารดึกมากเช่นเดียวกับชาวสเปนและชาวอาหรับ ถ้าเป็นกลางวันก็จะเป็นบ่ายจัดๆ ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเปิดให้รับประทานอาหารเย็นก็หลังหนึ่งทุ่มครึ่งไปแล้ว ถ้าไปถึงก่อนหน้านี้ ร้านจะว่างปราศจากลูกค้า และจะไม่เสิรฟอะไรเลย

วันรุ่งขึ้น เราไปรอรถเมล์สีเหลือง ประเภท hop on hop off ที่ Praca do Rossio ในเขต La Baixa อันเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในกรุงลิสบอน มีทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายขนมเพสตรี่ ร้านหนังสือ ร้านขายดอกไม้ ร้านขายของที่ระลึกและอื่นๆมากมาย มีบรรยากาศที่ตื่นเต้นเร้าใจ ทั้งชาวเมืองและนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆมักจะมานั่งกินอาหาร ดื่มไวน์ จิบกาแฟกันที่นี่ รวมถึงผู้เขียนเองด้วยในเย็นวันหนึ่ง ความจริง Praca do Rossio มีชื่อจริงๆว่า Praca Dom Pedro IV ตามพระนามของ กษัตริย์องค์แรก ในระบอบ “รัฐธรรมนูญ” ตรงกันข้ามจตุรัสเป็นโรงละครแห่งชาติ Teatro Nacional D. Maria II ในแบบ Neo-classical ซึ่งในสมัยก่อน เคยเป็นที่บัญชาการสอบสวนผู้กระทำผิดในทางศาสนา หรือ Inquisition ใกล้ๆกัน เป็นสถานี O Rossio Station ซึ่งเป็นตัวอย่างอีกอันหนึ่งของลักษณะการก่อสร้างในแบบ Neo-Manueline ในแถบเดียวกันเป็นจตุรัส Praca da Figueira ซึ่งมีอนุสาวรีย์ ของกษัตริย์ Joao I หรือ จอห์นที่หนึ่ง ประทับเด่นอยู่บนหลังม้า

รถสายสีเหลือง พาเราออกไปนอกตัวเมือง ในเขตที่ไม่สามารถจะเดินไปถึงได้ ในเขต Belem หรือ Bethlehem กรุงลิสบอนได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเดินเรือค้นคว้าในสมัยศตวรรษที่ ๑๕ และ ๑๖ ซึ่งเป็นศตวรรษที่สำคัญและเป็นยุคทองในการค้นพบและขยายอาณาเขตใหม่ๆของประเทศปอร์ตุเกส ดังที่ได้เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วข้างต้นถึงนักเดินเรือผู้เกรียงไกรคือ วาสโก ดา กามา ทำให้กรุงลิสบอนกลายเป็นจุดเด่นและเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Manueline สไตล์ที่เกิดขึ้น ตามชื่อของพระเจ้าแมนูเอลที่หนึ่งของปอร์ตุเกสซึ่งครองราชย์อยู่ในขณะนั้น สไตล์นี้จะเห็นได้จากอนุสาวรีย์ต่างๆที่ได้สร้างขึ้นไว้เป็นสัญลักษณ์ในเขต เบเลม ชิ้นที่เป็นมาสเตอร์พีสและชัดเจนที่สุดในสไตล์นี้คือ Jeronimos Monastery หรือ Hieronymites Monastery สร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๑๖ โดยใช้สมบัติที่วาสโก ดา กามา ได้มาจากทวีปอันไกลโพ้น ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเป็นเครื่องประดับ สไตล์แมนูแอลเป็นลักษณะของปอร์ตุเกสโดยเฉพาะที่ค่อยๆแปลงมาจากโกธิค และ เรเนซองส์ (Gothic and Renaissance)

วิหารแห่งนี้ได้ชาวฝรั่งเศสคือนาย Boytac เป็นสถาปนิก ต่อเนื่องด้วยนาย Joao de Castillo ชาวปอร์ตุเกส หลังจากที่นาย บอยแท็ค เสียชีวิตไปแล้ว แน่นอนที่สุดว่าวิหารอันมโหฬารใหญ่โตซึ่งถือได้ว่า เป็นเพชรน้ำหนึ่งเช่นนี้ ย่อมได้รับการขึ้นเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกในปีค.ศ. ๑๙๘๓ นอกจากสมบัติอันล้ำค่ามากมายแล้ว ภายในยังเป็นที่บรรจุศพของ วาสโก ดา กามา และกวีคนอื่นที่มีชื่อเสียงของปอร์ตุเกสไว้ด้วย

ไม่ห่างจากวิหารเท่าไรนัก เป็น Torre de Belem หรือ Bethlehem Towerหอคอยเบเลม สร้างขึ้นในแม่น้ำระหว่างปี ๑๕๑๕ และ ๑๕๒๑ แรกเริ่มเดิมทีใช้เป็นที่ตรวจดูการแล่นเข้าแล่นออกของเรือ มาตอนหลังได้ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองในสมัยการยึดครองของสเปน แม้ว่าหอคอยเบเลมจะเป็นอนุสาวรีย์เล็กๆ แต่ก็สร้างอย่างมีศิลปะกลมกลืนกันอย่างแนบเนียน นอกจากนั้นยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกต่างหาก จึงได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโกในปีค.ศ. ๑๙๘๓ เช่นเดียวกับวิหาร Hieronymites Monastery อันขึงขังคล้ายป้อมปราการ

ใกล้ๆกันเป็นอนุสาวรีย์แห่งการค้นพบ Monument to the Discoveries ซึ่งชาวเมืองลิสบอนอุทิศให้เป็นอนุสรณ์แก่นักเดินทางสำรวจ ชาวปอร์ตุเกสทุกคน ที่แล่นเรือสำรวจในระหว่างศตวรรษที่ ๑๕ และ ที่ ๑๖ อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างเสร็จในปีค.ศ. ๑๙๖๐ เจตนาออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนกับหัวเรือ ชายที่ยืนอยู่หัวแถวคือเจ้าชาย เฮนรี่ นักเดินเรือสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ Prince Henry the Navigator พระหัตถ์ขวาถือรูปแบบเรือจำลอง มีนักเดินเรือเรียงแถวถัดมาอีก ๒๑ คน ซึ่งก็เป็นนักเดินเรือที่มีชื่อเสียงในยุคแห่งการค้นพบเช่นกัน