ตามรอยชนเผ่าอินค่า (ตอนที่ ๓)

เมืองหลวงของเอวิต้า เพรอง

จากอารีคิปป้าเพ็ญและฮันส์ต้องบินกลับไปพักที่ลีมาอีกหนึ่งคืน ก่อนจะบินไปบัวนอส แอเรส (Buenos Aires) โดยแวะผ่านสนามบิน ลาปาส และซานตาครูซ ในโบลิเวีย วุ่นวายกับ “เรดเทป” ที่สนามบินทั้งสองแห่งอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เครื่องบินก็พามาร่อนลงที่เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนติน่า

ท่ามกลางฝนที่ตกพรำๆและอากาศที่ขมุกขมัวของบ่ายวันนั้น เพ็ญและฮันส์ออกไปเดินเล่นในตัวเมือง พากันเดินไปจนถึงถนน เอเวนิดา เดอ มาโย (Avenida de Mayo) ที่ทอดไปจนถึงสภาคองเกรสที่มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างเหมือนกับไวท์เฮาส์ในกรุงวอชิงตัน ถนนสายนี้วิ่งตัดกับถนน Avenida 9 de Julio ซึ่งกว้างถึงหนึ่งร้อยสามสิบเมตร จัดว่าเป็นถนนที่กว้างที่สุดในโลก มีโอเบลิสค์ หรือแท่งหินสีขาวสูงเทียมฟ้าสร้างไว้ตอนกลาง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันครบรอบสี่ร้อยปีของการสร้างเมืองหลวง ชื่อถนนเป็นอนุสรณ์ของวันที่ประเทศอาร์เจนติน่าได้รับเอกราชคือ วันที่๙ กรกฎาคม มีต้นแจ๊คคาแรนดา (Jacaranda) ที่มีดอกสีม่วงปลูกประดับถนนอยู่ทั่วไป แต่มันจะออกดอกก็แต่ในฤดูหนาวเท่านั้น เช่นเดียวกับในประเทศออสเตรเลียเหมือนกัน ตีกรามส่วนใหญ่สร้างแบบบตะวันตก ตามขอบและบริเวณหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปของเทพนิยายกรีก มีบันไดสร้างด้วยหินอ่อนทอดขึ้นไปชั้นบนที่ปกคลุมด้วยหลังคารูปโดม ลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับอาคารบ้านเรือนในยุโรป

ในใจกลางเมืองมีบริเวณที่จัดไว้ให้เป็นที่ปลอดรถเรียกว่า Pedestrian Zone ถนน Florida วุ่นวายและอัดแน่นไปด้วยชาวเมืองหลวงหรือชาว portenos พอร์เทนโยส (แปลว่าผู้คนชาวเมืองท่าเรือ) แต่งตัวทันสมัยเดินช็อปปิ้งกันอยู่ขวักไขว่ ทุกคนดูจะรีบร้อนไปทำกิจการอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่มีใครเดินทอดน่องอย่างเพ็ญและฮันส์เลย สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านกาแฟซึ่งมีคนนั่งอยู่เต็ม มีร้านอาหาร โรงหนังและร้านรวงทันสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านจำหน่ายเครื่องหนังที่ส่งนายหน้าออกมาล่อลูกค้าตามหน้าร้าน ราคาที่ติดไว้ไม่ใช่ราคาสุดท้ายเพราะต่อได้หั่นแลก คิดว่าคงจะถูกใจลูกค้าคนไทย แต่เพ็ญได้แต่ดูเฉยๆ ไม่ได้ซื้ออะไรติดมือกลับบ้านเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

ที่ภัตตาคาร Sorrento ในเย็นวันนั้น ฮันส์และเพ็ญได้ทำความรู้จักกับชาวอาร์เจนติเนียนหญิงชายคู่หนึ่งโดยบังเอิญ เขาเลือกมานั่งโต๊ะอาหารติดกันทั้งๆที่มีโต๊ะว่างให้เลือกอีกหลายโต๊ะ เพราะเป็นเวลาเพียงหนึ่งทุ่มและร้านอาหารเพิ่งเปิดบริการ ชาวอเมริกาใต้กินอาหารดึกพอๆกับชาวสเปนและชาวอิตาเลียน คือในราวสามสี่ทุ่ม เขาได้ยินเพ็ญและฮันส์คุยกัน จึงถามว่าเป็นชาวอเมริกันใช่หรือไม่ ฮันส์บอกว่าเป็นสวิส เขาก็เลยชวนคุยในเรื่องต่างๆและเสนอให้เอาโต๊ะมาต่อกันหลังกินอาหารเสร็จแล้วเพื่อจะได้ดื่มกาแฟคุยกันได้สะดวก

เพ็ญตั้งข้อสังเกตกับเจ้าของประเทศว่า “ถ้าหากที่นี่เป็นภัตตาคารในประเทศสวิส คุณสองคนจะไม่เลือกมานั่งโต๊ะติดกับเรา แต่จะเลือกไปนั่งโต๊ะที่ไกลที่สุด หากว่ามีโต๊ะว่างให้เลือกหลายโต๊ะ”

“ทำไมล่ะครับ?” ชาวพอร์เทนโยสถาม

“เราชาวสวิสค่อนข้างจะเก็บตัวน่ะครับ ไม่ค่อยจะพูดคุยกับใครง่ายๆ” คนสวิสตัวจริงตอบ

“แล้วทำไมคุณสองคนจึงคุยกับเราล่ะครับ?” ชาวเมืองหลวงสงสัย

“ก็เราสองคนเป็นอินเตอร์นี่ครับ เคยอยู่ต่างประเทศมาแล้วหลายประเทศ และคุ้นกับการพูดคุยกับคนแปลกหน้า ต่างชาติ ต่างภาษา” ฮันส์ตอบ “อีกอย่างหนึ่งการที่ได้มีโอกาสคุยกับชาวพื้นเมืองก็ถือว่าเป็นกำไร ได้รู้ความเป็นไปของเมืองที่เราไปเที่ยว นอกเหนือจากที่ได้อ่านจากหนังสือหรือจากไกด์”

“ครับ เราชาวพอร์เทนโยสก็เป็นอย่างนี้แหละครับ ผสมปนเปกันหลายชาติหลายภาษาจนผมอยากจะบอกว่า เราเป็นชาวอิตาเลียน ซึ่งพูดภาษาสเปนที่ดัดจริตทำตัวเหมือนผู้ดีชาวอังกฤษ แต่สำคัญผิดคิดว่าตนเป็นชาวฝรั่งเศส เพราะชอบแต่งตัวโก้ทันสมัย ติดหนัง ติดละคร และความสนุกทั้งหลายทั้งปวง วุ่นวายสับสนไปหมด จนใครๆบอกว่าในกรุงบัวนอส แอร์เรสมีจำนวนจิตแพทย์ต่อชาวเมืองหนึ่งคน มากกว่าในแมนฮัตตันเสียอีก” ชายชาวเมืองหลวงอธิบายยืดยาว

เพ็ญและฮันส์หัวเราะขึ้นพร้อมกันในความเปิดเผยของชายผู้นี้ ตอนแรกที่พบกันเขาแนะนำว่าสุภาพสตรีที่มาด้วยเป็นภรรยา เธอเป็นคนสวย แต่งตัวดี พูดภาษาอังกฤษได้ชัดเจนถูกต้อง เธอบอกว่ามีความสัมพันธ์กันมาแล้วยี่สิบปี ลักษณะการพูดและการแสดงออก ทำให้เพ็ญเดาว่าคงจะไม่ใช่สามีภรรยากันในลักษณะที่เพ็ญเข้าใจ ผู้หญิงอาจจะเป็น “บ้านที่สอง” ของเขาก็ได้ แต่เพ็ญก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากนักเพราะไม่ใช่ธุระอะไรของเพ็ญ

เช้าวันรุ่งขึ้นอากาศแจ่มใส ไม่น่าเชื่อว่าฝนตกเมื่อวานทั้งวัน อิ๊คนาซีโอ ไกด์ชาวเมืองหลวงมารับพร้อมรถและคนขับเพื่อพาไปชมเมือง รถวิ่งผ่านหอนาฬิกาแบบหอบิ๊กเบ็นในลอนดอน ผ่านสภาคองเกรสไปหยุดที่หน้าวิหารที่ภายในบรรจุหลุมฝังศพของ โฮเซ่ เดอ ซังมาร์แตง ซึ่งเป็นผู้ปลดแอกที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพของชาวอาร์เจนตีเนียนผู้หนึ่ง

“ผมจะหยุดรถที่นี่ แล้วเราค่อยเดินไปในเขตจตุรัส Plaza de Mayo คุณจะได้ถ่ายรูปตามสบาย” ไกด์บอก จตุรัสเดอ มาโย ใหญ่โตกว้างขวางสมกับเป็นจตุรัสของเมืองหลวง มีรั้วลวดเหล็กขนาดใหญ่ยาวตั้งแอบไว้มุมหนึ่ง ไกด์บอกว่าสำหรับใช้เวลามีการเดินขบวนซึ่งมักจะมีอยู่เป็นประจำวัน เขาเล่าต่อไปว่าทุกบ่ายวันพฤหัสบดีจะมีกลุ่มผู้หญิงกลุ่มหนึ่งเรียกตนเองว่า Madres de la Plaza de Mayo หรือมารดาแห่งจตุรัสเดอ มาโย ผลัดเวียนกันมารวมตัวอยู่ที่นี่แบบเงียบๆ เป็นการประท้วงการสูญหายไปอย่างไม่มีร่องรอยของเด็กหนุ่มสาวลูกๆหลานๆจากครอบครัวชั้นกลางที่มีการศึกษาดีประมาณสามหมื่นคนที่ทำตัวเป็นกองโจรต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในสงคราม ที่เรียกว่า “สกปรก” Dirty War ระหว่างปี ๑๙๗๖ ถึงปี ๑๙๘๓ พวกเขาบอมบ์สถานทูต ปล้นธนาคารลักพานักธุระกิจเอาไว้เรียกค่าไถ่ เพื่อนำเงินมาใช้ในการสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ในช่วงนั้นผู้คนหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นหมอ นักเขียน ปัญญาชน หรือกรรมกรในโรงงาน อาจจะถูก “อุ้ม” หายไปในรถฟอร์ด ฟัลคอนสีดำ หาก “ผู้ที่อยู่เบื้องบน” สงสัยว่าคนเหล่านี้จะเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นในการขีดเขียนหรือการพูดจา หรือการกระทำ ผู้หญิงกลุ่มนี้มารวมตัวเฝ้าคอยที่จตุรัส เดอ มาโย อย่างสงบทุกสัปดาห์ จนกว่าจะได้รับคำตอบที่น่าพอใจว่าลูกหลานที่สาบสูญไปนั้นหายไปได้อย่างไร

“ตึกใหญ่สีชมพูอ่อนที่คุณเห็นเป็นวังของประธานาธิบดี Casa Rosada ในปี ๑๙๔๐ เอวา เพรอง ใช้ระเบียงของวังเป็นที่ปราศัยกับประชาชนในสมัยที่ชีวิตทางการเมืองของเธอและสามียังรุ่งโรจน์ ตอนที่ฮอลลี่วู๊ดมาถ่ายหนัง มาดอนน่าซึ่งแสดงเป็นเอวาได้ขึ้นมาร้องเพลง Don’t cry for me Argentina บนนี้” อิ๊คนาซีโออธิบาย “ตอนตายเธอมีอายุได้เพียง ๓๓ ปีเท่านั้นด้วยโรคลูคีเมีย”

ที่ตำบล เรโคเลต้า Recoleta อันเป็นแหล่งที่เศรษฐีและผู้มี่ชื่อเสียงอาศัยอยู่ มีป่าช้าขนาดมหึมาตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงใหญ่ มีต้นไม้เขียวชะอุ่มทั่วบริเวณ แม้แต่ในยามตายเขาเหล่านี้ก็มีที่นอนตายอย่างสงบและหรูหรา หลุมฝังศพแต่ละหลุมสร้างอย่างมโหฬารด้วยหินอ่อน บ่งบอกความยิ่งใหญ่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แน่นอนในจำนวนนี้ย่อมต้องมีหลุมฝังศพของเอวา เพรองรวมอยู่ด้วย หน้าหลุมศพที่สร้างด้วยหินอ่อนสีดำของเธอมีดอกไม้สวยวางประดับไว้ทุกวัน จากผู้คนที่มาเยี่ยมเคารพ อิ๊คนาซีโอเล่าเรื่องอันเป็นอมตะให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง

“นายพลฮวน โดมิงโก เพรอง Juan Domingo Peron ได้พบกับเอวา ด๊วร์ทเต้ Eva Duarte หรือเอวิต้าอย่างที่คนทั่วไปเรียกขาน ตอนที่เพิ่งกลับจากอิตาลีมาใหม่ๆ ในฐานะข้าราชการสถานทูตอาร์เจนตีน่าในประเทศนั้น เขาเป็นคนหนึ่งที่เลื่อมใสในตัวมุซโสลินีเป็นอันมาก เมื่อกลับมาประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน จึงพยายามนำเอาวิธีของมุซโสลินีมาใช้ ด้วยการรนณรงค์ให้พวกกรรมกรมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้ง เขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอนนั้นเองที่เขาได้พบกับเอวิต้าเป็นครั้งแรก ในขณะที่เธอเป็นตัวตั้งตัวตีจัดกิจกรรมหาเงินเข้ามูลนิธิช่วยเหลือคนจน และสนับสนุนโครงการด้านเสรีภาพของสตรี ในเมื่อทั้งคู่มีจุดประสงค์ในการทำงานเดียวกัน จึงไม่ยากที่ต่างฝ่ายจะตกหลุมรักในกันและกัน แต่เอวิต้าถูกสังคมชั้นสูงรังเกียจเพราะเธอถือกำเนิดมาจากครอบครัวชาวนาที่ยากจน ในระยะนั้นอิทธิพลของเพรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเป็นที่หวาดระแวงของนายพลทั้งหลาย พวกเขาจึงจับเพรองไปขังไว้ แต่เอวิต้ารวมพรรคพวกของเธอได้ถึงสามแสนคน จัดการเดินประท้วง จนพวกนายพลยอมปล่อยตัวเพรองในที่สุด หลังจากนั่นอีกไม่นานทั้งคู่ก็แต่งงานกัน เมื่อถึงวาระการเลือกตั้ง เพรองได้รับการเลือกตั้งอย่างง่ายดาย เขาได้กลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศในปี ๑๙๔๖ สิ่งแรกที่เขาทำก็คือจัดให้อุตสาหกรรมทั้งหมดตกเป็นของรัฐบาลเพราะง่ายกับการควบคุม การบริหารประเทศของเขาถูกใจคนชั้นกรรมกรและพวกอนุรักษ์นิยมในคราวเดียวกัน ลูกจ้างแรงงานได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น มีสวัสดิการดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ในระยะที่เขาดำรงตำแหน่งเขาใช้อำนาจควบคุมและบังคับสื่อทั้งปวงรวมถึงข่มขู่พวกที่ต่อต้านทางการเมือง ในขณะที่เอวิต้าถือโอกาสใช้อำนาจทางการเมืองแก้แค้นพวกที่เคยเป็นปฏิปักษ์ แต่เธอก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่เพราะเธอเป็นแชมเปี้ยนในเรื่องสิทธิของสตรี พอเธอตายด้วยโรคมะเร็งในเลือดขาวในปี ๑๙๕๒ มนต์ขลังของเพรองที่เกิดจากเอวิต้าเป็นส่วนใหญ่ก็เริ่มจะลดลง มีการปฏิวัติรัฐประหารในปีเดียวกัน จนในที่สุดเพรองต้องหนีไปอยู่ประเทศสเปน กลับมาอาร์เจนติน่าในปี ๑๙๗๓ และได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งก่อนจะถึงอนิจกรรมในปีต่อมา แม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแล้ว แต่ในปัจจุบัน เอวิต้าก็ยังเป็นที่รักใคร่ของประชาชนที่ด้อยโอกาสอย่างไม่เสื่อมคลาย หลังจากที่เพรองตาย ประเทศอาร์เจนติน่าก็จมอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดของการปฏิวัติรัฐประหารของพวกทหาร มีการคอรรัปชั่นกันอย่างมโหฬาร ในช่วงนี้เองที่ประเทศต้องตกอยู่ในความมืดมนอันธกาลทั้งในด้านการปกครองและเศรษฐกิจ”

“So what else is new? เรื่องที่ประเทศถูกปกครองด้วยพวกเผด็จการนี่ฟังดูคุ้นหูนะ” เพ็ญพูดเล่น (แต่เอาจริง) กับสามี ฮันส์รีบสงบปากสงบคำ เพราะรู้ว่าภรรยาทนไม่ได้กับเรื่องแบบนี้

ขณะที่รถวิ่งผ่านปาร์คในตำบล Parlemo ซึ่งเป็นย่านคนรวยอีกแห่งหนึ่ง มีคนนั่งพักผ่อนเดินเล่นและขี่จักรยานไปตามทางที่ร่มรื่น เพ็ญเห็นคนๆเดียวจูงหมาเดินมาตามถนนหลายตัว คะเนว่าคงจะในราวสิบห้าตัวคงจะได้ แต่ละตัวมีขนาดและพันธุ์ต่างๆกัน คนจูงถือเชือกล่ามคอหมาไว้ทั้งสองมือแบบไม่ยอมให้เชือกหลุดจากมือไปได้ คงจะต้องฝึกฝนและมีความชำนาญมาก อิ๊คนาซีโอบอกว่าเป็นภาพที่เห็นกันเจนตาในแถบนี้ของเมืองหลวง เพราะการจูงหมาคราวเดียวกันหลายตัวแบบนี้เป็นอาชีพอย่างหนึ่งของคนหลายคน เขาเรียกคนจูงหมาว่า paseaperros หรือ professional dog walker “คุณรู้ไหมว่าอาชีพนี้ทำรายได้ได้ดีกว่าการเป็นครูหรือเป็นทนายความในสำนักงานเสียอีก?”อิ๊คนาซีโอถามคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ “ชาวเมืองหลวงที่มีฐานะดีหลายคนชอบเลี้ยงหมาไว้เป็นเพื่อน แต่ไม่มีโอกาสหรือเวลาพาหมาไปเดิน จึงต้องจ้างคนมาช่วย เพราะฉนั้นคนจูงหมาคนหนึ่งจึงมีผู้ว่าจ้างหลายคน และต้องพาหมาหลายตัวไปเดินในคราวเดียวกัน”

ไม่ไกลจากจตุรัส เดอ มาโย เท่าไรนัก เป็นตำบล ซาน เทลโม San Telmo ซึ่งเคยเป็นถิ่นหรูหราในสมัยก่อน สังเกตได้จากตึกรามใหญ่โตแต่ดูเก่าเพราะไม่มีการซ่อมแซม เจ้าของทิ้งตึกให้ร้างและย้ายไปอยู่ที่อื่นด้วยโรคระบาด ถิ่นนี้จึงกลายเป็นถิ่นที่อาศัยของชาวต่างชาติแบบเสื่อผืนหมอนใบ ที่เข้ามาเพื่อหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศของตน ตึกรามแถวนี้จึงถูกแบ่งออกเป็นห้องเล็กห้องน้อยให้เช่า ส่วนใหญ่เป็นอาร์ติสท์หากินด้วยการวาดภาพขาย และได้กลายเป็นแหล่งค้าของเก่าอีกแห่งหนึ่ง “ชาวอิตาลีที่อพยพมาจากเมืองเยนัว มาสร้างแหล่งที่อยู่ใหม่ที่ปากแม่น้ำ รีอาชูเอโล Riachuelo ตั้งชื่อตำบลนี้ว่า ลา โบค่า La Boca แปลว่าปากน้ำ อันเป็นบ้านเกิดของมาราดอนน่า ในสมัยที่ยังเพิ่งเข้าสู่วัยรุ่นและยังไม่มีชื่อเสียงเขาลงเล่นในสนามฟุตบอลล์ที่นี่ ซึ่งเป็นโฮมทีมของ the Boca Juniors เวลามีการแข่งขัน คุณจะเห็นแฟนฟุตบอลล์ใส่เสื้อและหมวกแก๊ปสีฟ้าและสีทองเดินกันเต็มถนน ยกป้ายและโบกธงสีเดียวกัน” อิ๊คนาซีโออธิบาย รถไปจอดที่ คามินิโต Caminito เพื่อให้ลงไปเดินเล่นตามถนนที่ปราศจากรถยนต์

สองข้างทางเป็นบ้านเรือนของคนรายได้น้อย สังเกตได้จากหลังคาสังกระสีและกำแพงที่เสื่อมโทรมภายนอก แต่ลักษณะทั่วไปคึกคักและมีสีสันคล้ายคลึงกับหมู่บ้านในอิตาลีซึ่งสมกับนิสัยประจำชาติของชาวอพยพ ถึงแม้ว่าจะเป็นแหล่งเสื่อมโทรม แต่ก็มีร้านรวงของศิลปินที่นำเอาภาพวาดที่มีสีฉูดฉาดออกมาวางขาย เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับถนนแห่งนี้ขึ้นอีกมาก “พวกอพยพมีด้วยกันหลายชาติ หลายภาษา เช่นชาวสเปน คิวบา และอิตาเลียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมกรใช้แรงงานตามท่าเรือ เมื่อได้มารวมกลุ่มกันเข้า แต่ละชาติก็นำเอาศิลปะประจำชาติของตนออกมาแสดง ในที่สุดก็ได้กลายเป็นดนตรีแบบแทงโกขึ้นมา การเล่นดนตรีในลักษณะนี้ ได้กลายเป็นสิ่งหล่อหลอมวัฒนะธรรมประจำชาติของชาวอาร์เจนตีเนียนที่แท้จริงในเวลาต่อมา ดนตรีชนิดนี้ผสมความเปล่าเปลี่ยว ผิดหวังและทอดอาลัย ตลอดจนถึงความริษยาหึงหวง และโหยหาชีวิตของบ้านเกิดเมืองนอน ในที่สุดก็ตามมาด้วยการเต้นรำแบบแทงโกซึ่งเกิดขึ้นที่ท่าเรือในขณะที่พวกผู้ชายรอคิวที่จะเข้าไปเที่ยวโสเภณี แทงโกกลายเป็นการเต้นรำยอดนิยมในในบาร์และคลับของแหล่งสลัม ทุกคนคลั่งกับการเต้นแทงโก พวกไฮโซสมัยนั้นถือว่าการเต้นแทงโกหยาบและลามกเป็นการเต้นรำแบบคนชั้นต่ำ จึงไม่ยอมเอาไปเต้นในสังคมของตน แต่เมื่อแทงโกกลายเป็นการเต้นรำที่ฮิตในยุโรป พวกไฮโซชาวอาร์เจนตีเนียนก็เริ่มเอาไปเต้นในสังคมของตนบ้าง ในปี ๑๙๑๗ คาร์โลส การ์เดล Carlos Gardel ซึ่งเป็นนักร้องที่ไม่มีใครรู้จักได้กลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงดังเป็นพลุแตกภายในเวลาข้ามคืนเพราะเพลงแทงโกชื่อ Mi Noche Triste เมื่อเขาเสียชีวิตลงเพราะเครื่องบินตกที่ประเทศโคลัมเบียในปี ๑๙๓๕ ในขณะที่ชื่อเสียงของเขากำลังโด่งดังที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาได้กลายเป็นอมตะไปแล้ว แม้ต่อมาจะมีร๊อกแอนด์โรลเกิดขึ้น แต่แทงโกก็ยังคงเป็นที่นิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย” อิ๊คนาซีโออธิบายพร้อมกับเตือนเพ็ญและฮันส์ไม่ให้เดินออกไปจากบริเวณนี้ เพราะถึงอย่างไรแหล่งนี้ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นสลัมที่มีอาชญากรรมเกิดขึ้นทั้งกลางวันกลางคืน

ในเย็นวันเดียวกันเพ็ญและฮันส์ก็ได้มีโอกาสไปชมการเต้นแทงโกที่สวยงามประทับใจที่คลับที่มีชื่อเสียงของบัวนอสแอเรส จะชื่ออะไรเสียอีกนอกจาก “Carlos Gardel” เพราะ “แข็งเท่าแข็ง เงินง้างอ่อนได้ดังประสงค์” สองสามีภรรยาจึงได้ตั๋วที่นั่งข้างหน้า แม้ว่าจะซื้อตั๋วได้ในวินาทีสุดท้ายและมีผู้เข้าชมแน่นขนัดจากหลายประเทศ ความจริงถ้าไม่ต้องการเสียเงินตีตั๋วเข้าไปดูอย่างเป็นทางการ ตามถนนในย่านปลอดรถก็มีการเต้นแทงโกให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ดู คู่เต้นส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชายอายุมากสักหน่อยและผู้หญิงซึ่งยังสาว ดูแล้วก็อย่าลืมหยอดเหรียญลงในหมวกของผู้เต้นบ้างเพราะเป็นอาชีพของเขา

ที่จตุรัสบางแห่งมีคนยืนออกันเป็นกลุ่มทั้งหญิงและชาย ลักษณะการแต่งตัวไม่บอกว่าเป็นคนยากจน อิ๊คนาซีโอบอกว่าเขารอคิวรับอาหารที่มีผู้นำมาบริจาค บางแห่งก็มีคนเดินเข็นรถไปตามถนนมีถังหรือกล่องใหญ่วางอยู่บนรถ ไกด์บอกว่าเขาเก็บของที่ทิ้งแล้วเอาไปขายต่อ ส่วนเศษอาหารก็เก็บเอาไปกิน

เพ็ญฟังแล้วรู้สึกสลดใจ เพราะประเทศอาร์เจนติน่าเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง นอกจากมีทรัพยากรธรรมชาติและภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว ยังเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมอันสูงส่ง มีชื่อเสียงในกีฬาฟุตบอลล์และผลิตเนื้อเสต๊คที่เป็นเยี่ยมของโลก

ส่วนกรุงบัวนอสแอเรสนั้นเล่าก็เป็นเมืองหลวงที่สวยงามเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความมีชีวิตชีวา เป็นที่กำเนิดของการเต้นรำแบบแทงโก ร้านกาแฟ ทอร์โทนี่ Tortoni ที่หรูหราและมีชื่อเสียงในใจกลางกรุงบัวนอสแอเรส ที่เพ็ญและฮันส์แวะเข้าไปดื่มกาแฟก็เคยเป็นสถานที่ที่พวกปัญญาชนและนักเขียนที่มีชื่อเสียงนัดมาพบกันในศตวรรษก่อน เท่าที่เห็นจากในรูปที่แขวนเอาไว้ให้ดู โซฟาหนังสีแดง กระจกของเก่า ตลอดจนโคมไฟสมัยครั้งหนึ่งนานมาแล้วก็ยังคงประดับร้านเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

การที่อาร์เจนตีน่าต้องตกต่ำลงจนประชาชนประมาณห้าสิบเปอร์เซ็นต์ยากจนค่นแค้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ถึงขนาดที่ประเทศจำเป็นต้องรอคอยความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศเพราะความล้มเหลวในการบริหารประเทศของผู้นำเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวอาร์เจนติเนียนรู้สึกเจ็บปวด การแสดงออกที่ยะโสในบางครั้งจึงเป็นการซ่อนความหงุดหงิดไว้ภายในใจมากกว่า เพราะอย่างที่เล่ามาแล้วข้างต้นว่าชาวอาร์เจนติเนียนมีความเป็นมิตรน่าคบและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้ความอบอุ่นแก่ผู้คนแปลกหน้า สนใจใครรู้ว่าคนที่เขาพบมาจากไหน เพ็ญแปลกใจอยู่นิดเดียวที่ชาวบัวนอสแอเรสคู่ที่พบกันในร้านอาหารไม่ได้จูบลา เพราะชายหนุ่มชาวอาร์เจนตีเนียนที่เพ็ญรู้จักที่ออสเตรียจูบแก้มเพ็ญเมื่อได้รับการแนะนำให้รู้จักกันเป็นครั้งแรก