ชาวจีน ชาวไทย (สวิส) มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน

“นี่เจมส์ ทำไมคนจีนถึงชอบถ่มน้ำลาย ขากเสลดกันจัง” ฉันถามโชเฟ่อร์ของเราในวันหนึ่งหลังจากที่คุ้นเคยกันมาแล้ว โดยฉันให้เขาติดตามไปซื้อของด้วยได้ จะได้ช่วยถือให้ และอีตานี่ก็สปอยเสียจนฉันเกือบจะเผลอคิดว่าตนเป็นปริ๊นเซสตกบัลลังก์ แม้แต่ถุงเล็กถุงน้อย แกก็คว้าเอาไปถือเสียหมด

เวลาขับรถพาฉันไปตีกอล์ฟ แกจะรีบกุลีกุจอไปหยิบกระเป๋าใส่รองเท้ามาให้เปลี่ยน แล้วก็ยืนเปิดประตูเฝ้าจนฉันเปลี่ยนรองเท้าเสร็จ ฉวยเอารองเท้าที่เปลี่ยนแล้วเข้ากระเป๋าไปเก็บให้ คิดว่าหากพี่แกไม่กลัวนายผู้ชายจะเตะเอาละก็ แกคงจะนั่งยองๆสวมรองเท้าให้ฉันเป็นแน่

ความจริงนายคนนี้แกไม่ได้ชื่อเจมส์หรอก ฉันตั้งให้เองน่ะ แกชื่อว่า ไหลชี่ฝาน แต่ฉันขออนุญาตเจ้าตัวว่าขอเรียกเจมส์ได้ไหม แกก็อนุญาตดีใจเสียอีก รับพูดต่อว่า “หลิงหลิงชี่” แปลว่า 007 เอาตัวเป็นนักสืบเจมส์บอนด์ เสียเลย ทันสมัยเนอะ

เคยดูหนังอังกฤษเรื่องหนึ่ง มีไตเติ้ลว่า “โฮมเจมส์” เลยฝันว่าหากมีคนรถจะเรียกเขาว่าเจมส์แบบดาราเจ้ายศในหนังเรื่องนี้

ส่วนวอลเตอร์นั้นไม่เคยเรียกเขาว่าเจมส์ แต่เรียกว่า ไลไล มิไยที่ฉันจะสอนให้เขาเรียกว่า “ไหลชื้อฟู่” แปลว่า “ผู้เชี่ยวชาญไหล” เพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับรถ สามีฉันก็หาเชื่อฟังไม่ คงดื้อดึงเรียกเขาว่า ไล ทุกทีอีตาเจมส์แกก็ไม่ได้ถือสาหาความ คงจะคิดว่ายกไว้ให้มนุษย์ขาวป่าเถื่อนนี่สักคน

เรื่องตั้งชื่อเป็นฝรั่งให้คนจีนนี่ฉันเก่งนัก ตอนมาอยู่เซี่ยงไฮ้ใหม่ๆต้องไปสอนภาษาอังกฤษให้กับพนักงานใหม่หกคนของวอลเตอร์ ที่เมืองซูโจ๋ฉันก็ตั้งชื่อให้พวกเขาหมด มีตั้งแต่ชื่อ ชาร์ลี, แอนดรูว์, นิก, แดเนียล, แจ๊คไปจนถึงเคท ที่เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวแม้แต่ครูสอนภาษาจีนของฉันก็ชื่อโจนาธาน

ความจริงคนจีนเขาถือในเรื่องชื่อของเขามาก จะสนิทกันแค่ไหนก็ต้องเรียกเขาเต็มยศไม่ว่าหญิงหรือชาย เช่น นางหวูเหมจ๊วน ถ้าไม่เรียกเขาว่าพี่หรือน้องหวู ก็ต้องเรียกเต็มๆไปเลยว่าหวูเหมจ๊วน หรือไม่ก็ “หวูฟู่เหยิน” (คุณนายหวู) ถ้าหากเป็นผู้ชายชื่อจังหยุนจุ้น ก็ต้องเรียกว่า “จังเชี้ยนเชิ่ง” (คุณผู้ชายจัง) เป็นต้น นอกจากจะเป็นพี่เป็นน้อง สามี ภรรยา หรือคนในครอบครัวเดียวกันจึงจะเรียกชื่อตัวได้

อีตาเจมส์ตอบคำถามของฉันว่า “นิสัยไม่ดีน่ะสิ” (ปู๋ห่าวฉีก้วน) แต่ด้วยความที่เป็นคนซื่อ แกก็ย้อนถามฉันว่า “แล้วคนไทยไม่ขากเสลดกันบ้างหรือ” เล่นเอาฉันสะดุ้ง สมน้ำหน้า อยากไปถามหาเรื่องเขาก่อน

ฉันนิ่งคิดอยู่สักครู่ก็ตอบไปว่า “ไม่ขากหรอก ถ้าจะขากก็ไปขากในห้องน้ำ ถ้าไม่มีห้องน้ำก็จะขาก (เงียบ) ใส่ลงกระดาษทิชชู แต่เราคนไทยชอบแคะจมูกเล่นเวลาลืมตัว”

คุณผู้อ่านคงจะนึกชื่นชมฉัน (หรือด่า) อยู่ในใจว่า ยัยนี่รู้ภาษาจีนแตกฉานจนถึงกับรู้จักคำว่าเสลดกับแคะจมูกด้วย เปล่าหรอกค่ะ ฉันทำท่า “ขากถุย” กับ “แคะจมูก” ให้เขาดูน่ะส่วนคำว่าชอบหรือสบายบรื๋อก็ “ฉี้ฮ้วน” สิคะ

ชาติไหนๆก็มีเสลดกันทั้งนั้นแต่สังเกตว่าชาวจีนจะมีเสลดมากกว่าเพื่อน แบบเดียวกับคนไทยเรามีขี้มูกแยะยังงั้นแหละ ถ้ากำลังเดินไปตามถนนเพลินๆ ได้ยินเสียงขากดังมาใกล้ตัวแล้วละก็ ต้องหาทางหลบให้ดีเคราะห์หามยามร้ายอาจจะปลิวมาถูกหน้าเข้าได้ง่ายๆ

เคยเห็นผู้หญิงสาวๆชาวเซี่ยงไฮ้หลายคนแต่งตัวตามแฟชั่นสวยงามกระโปรงสั้นเหนือเข่า ใส่แจ๊คเก็ตโก้เก๋รองเท้าก็เป็นแบบตึกที่นิยมกันทั่วโลกสะพายเป้เข้าชุดทันสมัยเปี๊ยบ มองดูเพลินๆยังไม่ทันไร เจ้าหล่อนก็ขากถุยถ่มเสลดลงไปบนพื้นเอาดื้อๆเสียอย่างงั้นแหละ ถ้าฉันเป็นผู้ชายคงจะหมดความรู้สึก กลายเป็นมะเขือเผาไปทีเดียว

มิน่า นายเจมส์แกถึงแคะไค้เอาว่า “ปู๋ห่าวฉีก้วน” นิสัยไม่ดี ตะแกเองน่ะไม่เคยขากหรือถ่มเสลดให้ฉันเห็นเลยสักครั้ง ไม่รู้ว่าเวลาอยู่ตามลำพังจะขากหรือเปล่า เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งแกทำเสียงกระแอมแบบมีเสลดติดอยู่ในลำคอ แต่ก็กลืนลงไปทัน ไม่กล้าขากออกมา คงกลัวคุณนายอ้วกใส่เบาะรถ ต้องทำความสะอาดเสียเวลา

หวังเหลาชื้อ หรือครูหวังของฉันก็เหมือนกัน ชอบขากเสลดนัก เคราะห์ดีที่แกขากแบบเงียบ คือเดินไปถ่มออกข้างๆสนาม ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นเหียนแต่อยากใด

อย่าว่าแต่คนธรรมดา เดินดินกินข้าวต้มอย่างชาวบ้านเลย แม้แต่ท่านติ้งเสี่ยวผิง ในสมัยที่มีชีวิตอยู่ท่านก็ชอบขากเหมือนกัน ไปไหนมาไหนมักจะมีกระโถนติดเอาไว้ใกล้ตัวเสมอแม้ท่านจะมีความคิดทันสมัย ก็ไม่เคยแต่งตัวแบบสากลเลย ใส่แต่ชุดท่านเหมาอยู่อย่างไรก็ใส่อยู่อย่างนั้นจนวันตาย

ถึงจะขากจะถุยอย่างไร ฉันก็นิยมท่านนะคะ แบบเดียวกับที่ฉันรักครูหวังนั่นแหละ ระหว่างอยู่เซี่ยงไฮ้เขียนจดหมายถึงเพื่อนชาวสวิส เล่าเรื่องนี้ให้ฟังด้วยอารมณ์ขัน เขาตอบมาว่า ไม่เข้าใจเลยว่าฉันรักเมืองจีนและชาวจีนได้อย่างไร

บ่ายวันหนึ่งไปเดินซื้อหาหนังสือที่ถนนฟูโจ ที่อยู่ใกล้ๆกับถนนนานจิง ถนนนานจิงนี่เปรียบได้กับถนนชองป์เซลีเซ่ส์ของปารีส หรือออกซ์ฟอร์ดของลอนดอน หรือฟิฟท์อเวนิวในนิวยอร์กเพราะเป็นถนนที่ไม่เคยหลับ ในยามค่ำคืนแสงไฟนีออนสว่างเจิดจ้าน่าดู เวลาอยู่บนถนนสายนี้ไม่ค่อยจะแน่ใจว่าอยู่เมืองไหนในโลก ถ้าไม่มองป้ายโปสเตอร์ภาษาจีน

ถนนนานจิงแบ่งออกเป็นสองสายคือ นานจิงด๊อง (สายตะวันออก) และนานจิงชี้ (สายตะวันตก) ที่เซี่ยงไฮ้เขามีทำเลการค้าที่แบ่งกันไปโดยปริยายหากต้องการซื้อหนังสือหรือพวกพู่กันเครื่องเขียน หรือการ์ดชนิดต่างๆ ก็ต้องไปที่ถนนฟูโจ

พูดถึงเรื่องการ์ด สังเกตว่าคนจีนชอบซื้อการ์ดแบบอ่อนหวานหวือหวาที่พรรณนาเรื่องความรักของหนุ่มสาวหรือความรักเพื่อนอะไรเทือกนี้

อาจเป็นได้ว่า สังคมจีนเป็นสังคม “ต้องห้าม” (Prohibitve Society) แบบของไทย การแสดงออกจึงเป็นในเรื่องพูดเสียมากกว่าการกระทำซึ่งต่างไปจากชาวตะวันตก ที่เป็นสังคมแบบไม่มีขีดจำกัด (Permissive Society) จึงไม่ค่อยจะเสียเวลาให้กับการรำพึงรำพันถึงความรักหรือความใคร่แต่ลงมือปฏิบัติเลย

ส่วนถนนบ๋ายจิ๊ง หรือถนนปักกิ่งจะมีพวกเครื่องเหล็กเครื่องยนต์ขายรวมไปถึงเครื่องใช้ในการก่อสร้าง เช่น ตะปู ค้อน อะไรพวกนี้ หากไปเดินหาถนนนี้แล้วไปถามชาวจีนว่าจะไปถนนปักกิ่งได้อย่างไร เขาไม่เข้าใจหรอกค่ะต้องบอกว่าจะไปถนนบ๋ายจิ๊ง

คุยเรื่องไปซื้อหนังสือวกไปเรื่องอื่นจนได้ พอซื้อหนังสือเสร็จ เกิดอยากเข้าห้องน้ำเป็นกำลัง หากไม่จำเป็นจริงๆแล้ว ฉันจะกลั้นเอาไว้จนเต็มความสามารถ นึกกลัวเหมือนกันว่าวันหนึ่งคงจะเป็นนิ่ว บางทีกลั้นไว้จนปวดท้องน้อย มาคราวนี้กลั้นไม่ไหวจะไปหาโรงแรมชั้นดีเข้าก็ไม่มีแถวนี้เสียด้วย เลยจำใจต้องไปหาห้องน้ำที่ร้านหนังสือ

เวลาไปไหนในประเทศนี้ ฉันมักจะมีกระดาษทั้งเปียกและแห้งติดตัวไปด้วยเสมอ พอจะถามคนขาย ฉันก็เกิดอาการแบล๊คเอ๊าท์ขึ้นมาดื้อๆ นึกคำว่าส้วม “เซ่อสัว” ไม่ออก ตามป้ายก็มีแต่ภาษาจีน จะเดินตามกลิ่นไปร้านหนังสือนี้ก็ใหญ่โต มีตั้งหลายชั้นอึกอักทำท่าทางอยู่เป็นนาน กว่าคนขายหนังสือจะเข้าใจว่าจะเอาอะไร ส่วนฉันก็บีบแล้วบีบอีก ในที่สุดเขาก็เข้าใจดีพาลงบันไดไปจนถึงชั้นล่างสุดแล้วปล่อยไว้ตามยถากรรมใต้บันไดมืดๆ

พอสายตาเริ่มชินกับความมืดสลัวฉันก็คลำไปจนถึงหน้าห้องน้ำ มีผู้หญิงกลางคนนั่งอยู่คนหนึ่ง หล่อนชี้ให้ฉันเดินเข้าไปในคอกยาวเหยียด เบื้องล่างเป็นท่อแบบท่อเปิดสำหรับปล่อยน้ำเสียในจังหวัดภูเก็ต เดินผ่านไปเห็นคนหัวสลอนกำลังก้มๆเงยๆ ยุ่งอยู่กับการทำธุระส่วนตัว ประตูส้วมก็ไม่มีใครทำอะไรเห็นหมด จะไม่เข้าก็ไม่ได้เพราะเหลือทนแล้ว

ในที่สุด ตัดสินใจเดินเข้าไปเลือกเอาช่องท้ายสุด จะได้ไม่มีใครเห็น เหลียวไปมองดูก็ไม่เห็นมีใครสนใจใคร แต่ละคนต่างกำลังปลดทุกข์ของตนเองด้วยกันทั้งนั้น

พอนั่งยองๆทำธุระเสร็จ หันไปจะกดปุ่มกดน้ำล้างส้วมก็ไม่เห็นมี ไม่รู้จะทำอย่างไร นุ่งกางเกงกลับเข้าไปตามเดิม พอเดินออกประตูมา ได้ยินเสียงน้ำไหลซู่แบบน้ำตก เดินย้อนกลับเข้าไปดูใหม่ ปรากฏว่าเขาปล่อยน้ำให้ออกมาล้างโดยอัตโนมัติในคราวเดียวมิน่าถึงไม่ได้กลิ่นเลย

ฉันเดินออกจากร้านหนังสือด้วยความสบาย นึกถึงคำไทยที่ว่า “ปลดทุกข์” แล้วชอบใจจริงๆ

ครั้งหนึ่งที่เมืองซูโจ๋ กินอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ส่งนายเจมส์เข้าไปสำรวจในห้องน้ำ เขาออกมาบอกว่า “ปู๋ก๊านจิ้ง” ไม่สะอาด เลยไม่เข้า คิดว่าไปเข้าที่ตามโรงแรมก็ได้ หาโรงแรมชั้นดีไม่เจอ ไม่ได้เข้าอีก แลไปเห็นส้วมสาธารณะ ควักเงินสองเจาออกมาฝากกระเป๋าถือให้คนรถ แล้วเดินไปหน้าส้วม

ยังไม่ทันจะเข้าเลย กลิ่นอันแสนจะชวนอ้วกก็ลอยมาเข้าจมูก ต้องรีบถอยทัพ ดชคดีหาโรงแรมได้ เลยได้ไปเข้าที่นั่น แต่ที่โรงแรมนี้ “เซ่อสัว” ของเขาก็เหมือนกับส้วมสาธารณะตามสถานีรถในประเทศไทยนั่นแหละ ชาวจีน ชาวไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน

พูดอย่างไม่อคติ ส้วมในประเทศจีนเมื่อเทียบกับสมัยสี่ปีก่อนนี้ก็พัฒนาขึ้นมากแล้ว สมัยก่อนจะไปเข้าส้วมที่พระราชวังกู้กง (The Forbidden City) ในกรุงปักกิ่ง แต่เข้าไม่ไหว เพราะทนกลิ่นไม่ได้ แต่พอไปอีกเมื่อปีกลายกลิ่นส้วมมีเหลืออยู่อีกไม่เท่าไหร่

ส่วนตามร้านอาหารที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปกิน ก็สะอาดพอใช้ทว่าเล็กเสียจนหมุนตัวแทบจะไม่ได้แบบเดียวกับห้องน้ำในโรงแรมสามสี่ดาวในอิตาลีนั่นแหละ จะใช้ฝักบัวอาบแล้วถูตัวทีก็แสนจะลำบาก เพราะห้องมันแคบ

อะไรๆก็พอทนได้ในส้วมที่เมืองจีน แม้กลิ่นจะรุนแรงก็ยอมให้ แต่สิ่งที่น่าขยะแขยงที่สุดคือผ้าอนามัยสกปรกที่ทิ้งเรี่ยราดในห้องน้ำหญิง เห็นแล้วฉันนอนฝันร้ายอยู่หลายวัน

ชายชาวจีนไม่ว่าจะหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่มีนิสัย “ปู๋ห่าว” อยู่อีกอย่างหนึ่ง คือชอบรูดซิปหันหน้าเข้าหากำแพงหรือต้นไม้ แล้วยืนฉี่ บางทีจอดรถไว้ข้างถนนแล้วยืนฉี่เอาดื้อๆ ฉันเลยสงสัยว่า อย่างนี้กระมัง ต้นไม้ในปาร์คของเซี่ยงไฮ้ถึงเจริญอกงามเขียวชอุ่มเพราะมีปุ๋ยดี

วันหนึ่งไปเที่ยวเมือง “จูจาเจี้ยว” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเซี่ยงไฮ้นัก ประมาณยี่สิบกิโลเมตรเห็นจะได้ เป็นเมืองเก่าแก่ถึงหนึ่งพันเจ็ดร้อยปี ชาวจีนภาคภูมิใจว่าเมืองนี้เทียบได้กับเมืองเวนิสของอิตาลี เพราะมีลำคลองและสะพานหลายแห่ง แถมยังมีบ้านที่สร้างในสมัยราชวงศ์มิงและชิงเหลือให้เห็นอีกมากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะพาน “ฟางเช็ง” ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1571 เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนี้ เช่นเดียวกับสะพานไม้มีหลังคาที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองลูเซิร์น

กำลังนั่งกินอาหารกลางวันอยู่ในร้านอาหารริมคลองเพลินๆ มองข้ามฝั่งไปเห็นชายคนหนึ่งยืนเปิดน้ำก๊อกลงคลอง ไม่รู้ว่าพี่แกจะอวดว่ามีเสือใส่ถังพลังสูงหรือว่าไม่มีมะเร็งต่อลูกหมากหรืออย่างไร น้ำที่แกปล่อยออกมานั้น คาดด้วยตาที่ใส่แว่นสายตาสั้นว่าคงจะมีความสูงในราวครึ่งเมตรและความยาวสักเมตรครึ่งเห็นจะได้

ฉันนั่งมองแบบถอนสายตาไม่ขึ้น เพราะไม่เคยเห็นอะไรพิสดารเชนนี้มาก่อน ในขณะเดียวกันก็เห็นหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง นำเอาอะไรในอ่างไม้ก็ไม่รู้มาเทลงในคลอง แล้วก็ใช้แปรงถูเป็นการใหญ่ คิดว่าชาวไทยที่อยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงทำเช่นนี้เหมือนกัน

เคยเดินตามเด็กผู้ชายตัวเล็กๆที่ฉันแอบเรียกว่า “จักรพรรดิองค์น้อย” เพราะอย่างที่รู้กัน ประเทศจีนมีนโยบายครอบครัวเดียว ลูกคนเดียว ใครมีลูกชายก็ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงแบบริ้นไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม

สังเกตว่าในฤดูหนาว เด็กชายเหล่านี้จะแต่งตัวด้วยเครื่องหนาวเต็มยศ หากว่ากางเกงด้านหลังผ่าเอาไว้ จะได้อึหรือฉี่ได้สะดวก ผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้งยังไม่ค่อยจะมีวางขายถึงจะมีก็แพง และพวกแม่ๆชาวจีนคงจะไม่ค่อยมีเวลามาซักผ้าอ้อมให้ลูกเพราะต้องออกไปทำมาหากิน เลยใช้สูตรสำเร็จเอาแบบนี้

ด้านหน้าก็เจาะรูเอาไว้พอให้ลอดออกมาได้ เคยนึกสงสัยว่า ในฤดูหนาวเด็กพวกนี้ไม่แข็งกันบ้างหรืออย่างไร

ส่วนเด็กผู้หญิงก็ใช้วิธีถอดกันเอาดื้อๆ ไม่ว่าจะเป็นตามที่สาธารณะหรือร้านรวง ก็แปลกดี ไม่มีใครว่าอะไรรูปที่ฉันถ่ายมาให้ดูกัน หากว่าลงในหนังสือที่ประเทศสวิส บอกออาจจะถูกข้อหาว่าเอาเด็กมาทำอนาจารหาเงินก็ได้ แต่คนไทยใจกว้าง

นึกไปอีกที เด็กหญิงของไทยเมื่อก่อนก็ใส่ตะปิ้งไม่ใช่หรือคะ