เมื่อ ตอนที่เพิ่งแต่งงานและมาอยู่สวิสใหม่ๆ ขณะที่รอเวลาให้ทางบริษัทบอกมาว่าจะให้ไปประจำอยู่ที่ประเทศไหน ฉันและวอลเตอร์มักจะสลับกันไปอยู่ที่บ้านพักในซังต์มอริซท์บ้าง และมาอยู่กับคุณแม่ของเขาที่ฟาร์มในรัฐเบิร์นบ้าง สมัยนั้นคุณแม่ยังแข็งแรงจึงยังคงดูแลรักษาบ้านเอาไว้ได้เป็นอย่างดีท่านเป็นคนรักดอกไม้แบบชาวเบิร์นส่วนใหญ่ทั่วไป จึงมักจะมีดอกไม้สวยๆมาประดับหน้าต่างในฤดูร้อนเสมอๆ นอกจากนั้นยังขยันทำสวนอีกต่างหาก ทั้งสวนผัก สวนครัว และสวนดอกไม้
ท่านเคยสารภาพกับฉันอย่างหน้าชื่นตาบานว่าชอบทำสวนมากกว่าทำงานบ้านหรือทำกับข้าวเป็นไหนๆ ลูกๆทุกคนรู้ดี แต่ไม่เคยปริปากพูด ด้วยเกรงว่าท่านจะเคืองเอา ไม่เคยแม้แต่จะพูดแบบล้อเล่น เพราะผู้หญิงสวิสส่วนใหญ่มักจะภาคภูมิใจในความสามารถเรื่องกิจกรรมในบ้านในช่องของตนเอง ความที่พวกเขาเป็นคนขยันทำงานบ้านตัวเป็นเกลียวนี้แหละ พอยามว่างหลังจากที่ไม่มีฝุ่นเหลือจะให้กวาด หรืองานบ้านอย่างอื่นจะให้ทำแล้ว พวกเขาก็จะหันไปขัดลูกบิดประตูบ้าน ถ้าจะมีใครถามผู้หญิงแม่บ้านสวิสว่า อะไรคือจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิต ฉันจะไม่แปลกใจเลยถ้าพวกเขาจะตอบว่า “แหม ก็ขัดลูกบิดประตูบ้านให้ขึ้นเงาแวววับอย่างไรล่ะคะไม่น่าจะถาม (โง่ๆ) เลย”
การที่คุณแม่มาสารภาพกับฉันอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้ เป็นการผิดวิสัยของหญิงชาวสวิส จึงนับได้ว่าเป็นความกล้าหาญอย่างมาก ทำให้ฉันเพิ่มพูนความรักและความเคารพในตัวท่านมากยิ่งขึ้น ในที่สุดฉันก็ได้พบผู้หญิงสวิสคนหนึ่ง (ในระยะนั้น) ที่มีลักษณะเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ไม่ใช่ซูเปอร์คลีนเนอร์หรือซูเปอร์อะไรต่ออะไรตามค่านิยมของผู้หญิงที่นี่ในสมัยนั้น (ว้าย ก็ค่อนศตวรรษเข้าไปแล้วนะเนี่ย) เธออย่าเพิ่งหัวเราะเยาะว่าฉันเอาเรื่องอะไรมาพูดก็ไม่รู้ กะอีแค่ทำความสะอาดเก็บกวาดบ้านเรือน ไม่ทำก็ได้ ไม่เห็นจะสลักสำคัญอะไรเลย โธ่ เธอเอ๋ย น้องสาวเพื่อนซี้ของวอลเตอร์คนที่ตายไปแล้วนั่นน่ะ (ขอเล่าเรื่องความตายของฮันส์ในวันหลังนะจ๊ะ เพราะยังทำใจไม่ค่อยจะได้ แม้จะเป็นเวลาหลายปีดีดักแล้วก็ตาม) เป็นครูสอนหนังสืออยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เช่าแฟลตอยู่แบบสาวโสดทั่วๆไป เธอเป็นคนเกลียดงานบ้านแบบสุดๆ แล้วคนที่นี่น่ะ เขาจะเห็นว่าเธอเป็นคนน่าคบหรือไม่น่าคบก็อีตรงที่ว่าเธอทำงานบ้านเรียบร้อยหรือไม่
อย่าหัวเราะนะ พอตื่นเช้าขึ้นมาเธอเป็นผู้หญิงที่ “ดี” หรือ “ไม่ดี” ชาวบ้านก็จะเห็นกันทั่ว เพราะอะไรน่ะหรือ ก่อนอื่นเขาจะดูบานหน้าต่างของเธอว่าเปิดหรือยัง ถ้าเปิดแต่เช้าตรู่ก็โอ.เค เธอเป็นคนที่ใช้ได้ แต่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาจะคอยดูว่าเธอเอาดูเวท์ (DUVET) คือ ผ้านวมแบบเบาะขนาดใหญ่ที่มีไว้สำหรับห่มนอน ออกมาสะบัดและผึ่งไว้ที่ระเบียงหรือเปล่า (ผึ่งนี่ในฤดูร้อน ถ้าฤดูอื่นเพียงแต่สะบัดๆก็พอ) เร็คกูล่า น้องสาวฮันส์ต่อต้านเรื่องนี้มากที่สุด เห็นว่าเป็นเรื่องที่โง่เขลาและเหลวไหลสิ้นดี ไม่มีอะไรฉลาดกว่านี้จะทำแล้วหรือยังไง จึงมาบ้าสนใจกับเรื่องไม่ได้สติแบบนี้ ปรากฏว่าเธอกลายเป็น PERSONA NON GRATA – บุคคลที่ไม่พึงปรารถนาในสังคมนั้นไป ทั้งๆที่เธอเป็นครูที่ดีและเป็นผู้หญิงที่ฉลาดมากคนหนึ่ง แต่อนิจจา เธอก็ได้ตายไปแล้วเช่นเดียวกัน หลังจากที่ฮันส์พี่ชายตายไปได้ไม่กี่ปี แม่เป็นแม่ม่าย มีลูกเพียงสองคนเท่านั้น แล้ววันหลังจะคุยให้ฟัง
ย้อน กลับมาเล่นเรื่องคุณแม่ของวอลเตอร์ต่อนะจ๊ะ ท่านเป็นแม่ม่ายเหมือนกัน คุณพ่อเสียไปหลายปีแล้วตั้งแต่วอลเตอร์อายุได้เพียง 16 ปีเท่านั้น ในขณะที่น้องสาวคนสุดท้ายอายุได้เพียงสิบสี่ คุณแม่มีลูกมากถึง 10 คนวอลเตอร์เป็นคนรองสุดท้อง คือคนที่เก้า เพราะฉะนั้นพี่สาวคนโต คือมาร์กริต จึงมีอายุที่จะเป็นแม่เขาได้สบายๆ และพี่สาวที่มีด้วยกันทั้งหมดห้าคน ต่างก็รักน้องชายคนนี้มาก กว่าฉันจะบุกป่าฝ่าดงให้เป็นที่ยอมรับนับถือจากพวกเขาโดยปราศจากข้อกังขานั้นเลือดตาก็แทบจะกระเด็นเหมือนกันจะบอกให้ ไม่ต้องตกใจสงสัยว่าเล่นมีลูกเยอะแยะแบบนี้จะไปอยู่ที่ไหนกันได้หมด บ้านที่ฟาร์มเป็นบ้านใหญ่ มีทั้งหมด 15 เตียง มีบริเวณกว้างขวางเนื้อที่ของฟาร์มนั้นมีอาณาบริเวณครอบคลุมไปถึงบนเนินเขาที่เต็มไปด้วยป่าสนอันเขียวขจี น่าจะทำเป็นสนามกอล์ฟจริงๆ
หลังจากคุณพ่อเสีย คุณแม่ก็เลยให้เพื่อนบ้านเช่าที่ไปทำฟาร์ม เพราะทำเองไม่ไหว และไม่ชอบทำด้วย ท่านสนับสนุนลูกๆทุกคนให้ไปเรียนอาชีพอื่นๆ เมื่อเรียนจบต่างก็แยกย้ายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ แต่งงานแต่งการมีลูกมีเต้ากันไปหมดแทบทุกคน ยกเว้นมาร์กริต พี่สาวคนโต โรซาลี่ พี่สาวคนถัดไปจากวอลเตอร์ และพี่ชายอีกคนหนึ่ง คือ ฟรานซ์ คุณแม่เป็นผู้หญิงธรรมดาที่ไม่ธรรมดา มีการศึกษาเพียงสำเร็จมัธยม แต่เลี้ยงลูกมาได้อย่างไรถึงสิบคนโดยไม่มีแม้แต่ “แกะดำ” เพียงตัวเดียว ถ้าจะมีและถือว่าเป็นแกะดำในลักษณะนั้น ก็มีพี่สาวคนหนึ่ง คือแม็ดเลน ที่ตายด้วยโรคมะเร็งในกระดูกทิ้งลูกหญิงลูกชายไว้สองคน เดี๋ยวนี้โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว
คงจะไม่เกินความจริงไปมากนักหากฉันจะพูดว่า ตระกูล “ชาวนา” ธรรมดาๆตระกูลนี้แหละที่เป็นรากเหง้าของชาวสวิสแท้ๆ ในด้านความถูกต้องพูดอย่างนี้แล้วเธอคงจะคิดว่าเราคงจะมีความเห็นในทุกเรื่องเหมือนกัน เปล่าเลย บางครั้งเราก็มีเรื่องเถียงกันหน้าดำหน้าแดง แต่ก็ไม่ได้โกรธกัน เพราะด้วยเหตุนี้เธออย่าสงสัยเลยว่า ทำไมฉันถึงเกิดอาการ “ทนไม่ได้” เมื่อชาวสวิสทำตัวให้คนอื่นดูถูก เช่นเดียวกับที่ฉันเองก็ไม่ต้องการให้ใครมาเหยียดหยามคนไทยเช่นเดียวกัน สมมุติว่าฉันไม่เคยรู้จักคนสวิสอื่นเลยแม้แต่คนเดียว การได้คบหาสมาคมอยู่ในครอบครัวใหญ่ของวอลเตอร์ก็มากเกินพอที่จะทำให้ฉันได้รู้จักคนสวิสได้อย่างแท้จริงและแจ่มแจ้ง
เดี๋ยวนี้ฟาร์มนั้นได้ขายไปแล้วเพื่อเอาเงินมาแบ่งให้ลูกๆทุกคน คุณแม่ได้ส่วนของท่าน 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการไปอยู่เนิร์สซิ่งโฮม รวมกับเงินบำนาญ เงินประกันสังคม ฯลฯ ก็พอจะมีจ่ายให้เขาได้ เพราะค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในเนิร์สซิ่งโฮมแห่งนี้ตกถึงวนละ 240 สวิสฟรังก์ ท่านมีอายุ 92 ปีแล้ว จำใครไม่ได้เลย แต่ก็ยังคงยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี ตัวผอมนิดเดียว แต่ร่างกายยังปฏิเสธที่จะแยกกันอยู่กับวิญญาณ คนแก่ประเภทนี้แหละที่ลูกหลานอยากจะอยู่ใกล้ๆ นอกจากพวกนั้นจะมีจิตใจเป็นหิน
ในสมัยที่ยังที่ฟาร์ม ท่านมักจะเชิญลูกๆหลานๆมากินอาหารในวัวอาทิตย์ เด็กๆชอบไปกันมาก เพราะได้วิ่งเล่นอย่างมีอิสระ ฉันเองผูกเปลอ่านหนังสือใต้ต้นแอ๊ปเปิ้ลเปรี้ยวที่เคยเก็บลูกเอาไปจิ้มกับเกลือตอนแพ้ท้องลูกสาวใหม่ๆ สร้างความประหลาดใจให้กับพี่ๆน้องๆของวอลเตอร์เป็นอันมากเพราะผลแอ๊ปเปิ้ลนี้เขาเก็บเอาไปทำไซเดอร์หรือน้ำแอ๊ปเปิ้ล
ในวันอาทิตย์เช่นนี้นี่แหละที่ฉันมักจะสนใจมองว่าเด็กๆหลานๆของวอลเตอร์เล่นอะไรกัน เด็กผู้ชายจะยืนบนสนามเป็นคู่ๆ หันหน้าเข้าหากันต่างฝ่ายต่างก็ยึดเข็มขัดของอีกฝ่ายหนึ่งเอาไว้แน่น ใช้ขาของตนสอดเข้าไปใต้ขาของอีกคนหนึ่ง แล้วพยายามทุ่มให้อีกคนล้มลงไปบนพื้นหญ้านุ่มๆ ฉันดูแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าพวกเขาเล่นอะไรกันแปลกๆ ทำไมพ่อแม่จึงไม่ห้าม กลับนั่งดูกันเฉยๆอยู่ได้ ต่อมาภายหลังจึงรู้ว่านั่นเป็นกีฬามวยปล้ำ ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติอย่างหนึ่งของชาวสวิสนั่นเองเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “ชวิงเง็ท” (SCHWINGET) แปลว่า การจับโยนหรือแกว่ง อาจจะเทียบกับภาษาอังกฤษว่า “SWINGING” ได้กระมัง
ใน วันอาทิตย์เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่เราจะไปฮอลิเดย์ที่ออสเตรียฉันเลยถือโอกาสไปดูมวยปล้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะถ่ายรูปมาให้เธอดูและเล่ากีฬาประเภทนี้ให้เธอฟัง มวยปล้ำนี้จะมีเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น และจะมีขึ้นก็ในยามที่มีแดดดี อากาศแห้งแล้งและฝนไม่ตก เทศกาล “ชวิงเฟสท์” (SCHWINGFEST) นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 89 แล้ว ในส่วนกลางของประเทศสวิสที่ตำบลชัทดอร์ฟ (SCHATTDORF) ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านอัลท์ดอร์ฟ (ALTDORF) มากนัก อัลท์ดอร์ฟเป็นหมู่บ้านที่มีรูปปั้นใหญ่โตของฮีโร่ชาวสวิสยืนทะมึนอยู่ที่ใจกลางหมู่บ้าน ฮีโร่คนนี้คือ วิลเฮ็ล์ม แทลล์ (WILHELM TELL) ที่ถูกชาวออสเตรียบังคับให้ใช้ธนูยิงลูกแอ๊ปเปิ้ลซึ่งตั้งอยู่บนหัวของลูกชายจนแตกเป็นสองซีก แต่ฉันจะไม่เล่ารายละเอียดให้เธอฟังหรอกนะ เพราะเธอคงรู้เรื่องดีอยู่แล้ว เดี๋ยวจะเป็นการเอาหนังสือไปสอนพระสังฆราชเสียเปล่าๆ
เราไปถึงชัทดอร์ฟประมาณห้าโมงเช้า ความจริงเขาเริ่มงานกันแล้วตั้งแต่เช้า แต่จะให้มันก็ต้องไปสายๆหน่อยเพราะกว่าเขาจะทุ่มกันหมดทุกคู่จนกว่าจะได้ดูเด็ดๆก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง ต้องจอดรถไว้ไกลลิบแล้วเดินไป เพราะมีคนมาดูกันแน่นไปหมด เราซื้อตั๋วสองใบใบละ 25 ฟรังก์ มีหมายเลขประจำที่นั่งได้ที่นั่งตรงกลางที่เขาจัดเอาไว้เหมือนอัฒจันทร์ในสนามฟุตบอล วันนั้นมีแสงแดดแผดกล้าร้อนอบอ้าวด้วยฝนที่ลงเทลงมาในตอนเย็น ตรงกลางสนามเขาใช้ขี้เลื่อยโรยไว้จนหนานุ่มเป็นวงกลมๆหลายวง ใช้แต่ละวงเป็นเวทีต่อสู้ ตอนเราไปถึง หลายคู่กำลังพันตูกันอยู่อย่างขะมักเขม้น เป็นผู้ชายหนุ่มๆที่มาจากรัฐต่างๆเพื่อมาแข่งขันในครั้งนี้ การเล่นมวยปล้ำแบบนี้เป็นการสมัครเล่นไม่ใช่งานประจำเหมือนมวยปล้ำทั่วๆไปแต่ละคนมีอาชีพแตกต่างกันไป มีสมาคมของพวกเขาเอง เลิกจากหน้าที่การงานก็ไปฝึกซ้อมกีฬาที่ตนชอบเหมือนกับที่ฉันไปซ้อมตีเทนนิสเช่นเดียวกัน
พวกเขานุ่งกางเกงขายาวธรรมดาใส่เสื้อเชิ้ตตาหมากรุกสีน้ำเงิน จะมีแปลกออกไปก็คือ เขาจะใช้ผ้ากระสอบตัดเป็นกางเกงขาสั้นสวมทับไปบนกางเกงขายาวอีกที ทุกคนแต่งเหมือนกันหมดกางเกงผ้ากระสอบชั้นนอกนี่สำคัญมากเพราะเป็นที่ที่เขาใช้มือดึงคู่ต่อสู้เอาไว้สำหรับทุ่มเหวี่ยงลงไปบนพื้นวงกลมที่มีขี้เลื้อย การที่ใช้ขี้เลื้อยก็เพื่อจะไม่ให้มีใครเป็นอันตรายจากพื้นดินที่แข็ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจนได้ผู้ชายคนหนึ่งถูกทุ่มอีท่าไหนไม่รู้ หัวไปกระแทกพื้นจนบาดเจ็บ ต้องเอาผ้าพันหัวเอาไว้ แต่ละคนก็พยายามจะทุ่มคู่ต่อสู้ให้ลงไปวัดพื้น บางทีถูกทุ่มคว่ำลงไปกินขี้เลื่อนกันจนปากคอเปื้อนเลอะเทอะอย่างนี้เองที่เขาถึงได้มีการแข่งขันกันในยามที่ฝนแล้ง พอทุ่มได้แล้วก็พยายามกดไกล่คู่ต่อสู้ให้ลงราบไปกับพื้นแบบเดียวกับมวยปล้ำทั่วๆไป กรรมการจะคอยดูว่าไหล่ลงไปราบอยู่ที่พื้นนานกี่วินาทีแล้ว ใครถูกกดไหล่นานก็เป็นอันว่าแพ้ ผู้ชนะก็จะได้ไปแข่งกับผู้ชนะคนอื่นๆอีกต่อๆไปจนครบ ในที่สุดก็จะได้ “ผู้ชนะเลิศ” คนสุดท้ายที่เขาเรียกว่า “ชวิงเงอร์เคอนิค” (SCHWINGERKONIG) เจ้าแห่งนักมวยปล้ำ
การชนะแต่ละครั้งเขาจะได้รับพวงหรีด หรือเรียกในภาษาสวิสว่า “ครั้นซ์” (KRANZ) เพราะฉะนั้นในกีฬาประเภทนี้ ใครที่ชนะหลายครั้งเขาก็จะนับกันว่าได้พวงหรีดกันกี่พวงแล้ว เช่นนายซิลวีโอ รูเฟ่นนาคท์ เคยได้พวงหรีดมาแล้วถึง 43 พวง ก็แปลว่าชนะมาแล้วถึง 43 ครั้ง เป็นต้น
การแข่งขันมีสองรางวัลรางวัลของผู้ชนะเลิศเป็นวัวอ้วนหนึ่งตัวพร้อมกระดิ่งเบ้อเริ่มเทิ่มจัดแต่งไว้สวยสำหรับแขวนคอวัวหนึ่งอันผู้ชนะบางคนก็เอาไปแขวนไว้หน้าประตูบ้าน รางวัลที่สองเป็นม้าโพนี่น่ารักชื่อ “อีโมน่า” ดูเอาในรูปก็แล้วกันนะ รางวัลพวกนี้ได้มาจากผู้ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้านบริจาคมาจนเป็นประเพณี
ในระหว่างที่มีการแข่งขันก็จะมีการร้องเพลงโยเดิ้ล โดยสมาคมโยเดิ้ลของหมู่บ้านแต่งตัวในชุดสวยประจำชาติของถิ่นนั้น แล้วก็จะมีการเป่าอัลพอร์นยาวๆแบบที่นักท่องเที่ยวเคยเห็นในคาสิโนผู้เป่าจะแต่งกายประจำชาติเช่นเดียวกัน
ภายในบริเวณงานก็มีเครื่องดื่มไว้ขาย มีร้านเพิงขายไส้กรอกปิ้ง ขนมปัง กระเทียมปิ้ง ไอศกรีม ฯลฯ พอพักการแข่งขัน ผู้ชมหลายคนหลบแดด (มีหรือชาวสวิสหลบแดด) มุดเข้าไปใต้อัฒจันทร์อาศัยร่มเงาปูผ้านอนพักเอาแรง เพราะวันนั้นแดดร้อนจริงๆ มีบางคนเข้าไปนั่งในเต็นท์ แต่ฉันว่าในนั้นร้อนระอุมากกว่าอยู่ในแดดเสียอีก แต่ทุกคนก็ร่าเริงดีผู้ชายบ้านแถบนั้นต่างก็เดินเตร่ไปเตร่มา คุยกันกับคนรู้จัก ส่วนใหญ่มีหนวดเครายาวแบบวิลเฮ็ล์ม แทลล์ นุ่งกางเกงแบบมีสายสะพานคาดยึดกางเกงเอาไว้ สูบกล้อง ยืดอกกันอย่างมีความสำคัญเต็มที่ เพราะนานทีปีหนจึงจะมีเทศกาลใหญ่ๆแบบนี้
ถ้า เธอได้เห็นสภาพภูมิประเทศเธอจะเข้าใจว่า ทำไมพลเมืองในแถบกลางของประเทศ เช่น รัฐอูรี่ (URI) ชวิส (SCHWYZ) และอุนเตอร์วาลเด็น (UNTERWALDEN) จึงมีความกล้าหาญอดทน บึกบึน รักความอิสระเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจอันไม่ชอบธรรมของใคร บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นคนเลี้ยงแกะ เป็นชาวนาอยู่ในที่กันดาร ล้อมรอบด้วยเทือกเขาแอลป์ไม่มีทางออกไปสู่โลกภายนอกได้ ต้องผจญกับอากาศอันแสนจะหนาวเหน็บไหนยังจะต้องคอยต่อสู้ป้องกันไม่ให้ศัตรูคือพระราชวงศ์ฮับส์บวร์กมารุกรานอีกด้วยในศตวรรษที่ 13 เมื่อได้มีการสร้างทางผ่านข้ามเทือกเขาในทางใต้ คือทางผ่านกอร์ททาร์ด ทำให้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศอิตาลีได้สะดวกยิ่งขึ้นในสมัยนั้น ความจริงทั้งสามรัฐนี้เป็นบิดาของสหพันธรัฐประเทศสวิตเซอร์แลนด์พวกเขาได้รวมตัวกันในสัญญาที่ฉันเรียกว่า “สัญญาชั่วนิรันดร์” (EVERLASTINGLEAGUE) ได้กล่าวคำปฏิญาณไว้บนฝั่งทะเลสาบเมืองลูเซิร์น ณ หมู่บ้าน “รุทลี่” (RUTLI) ในวันที่ 1 สิงหาคม 1291 ว่าจะช่วยกันต่อต้านศัตรูที่จะมารุกรานดินแดนของตน รัฐลูเซิร์นเป็นรัฐที่สี่ที่ได้ร่วมในสนธิสัญญานี้ คนสวิสเรียกประเทศของเขาในภาษาท้องถิ่นว่า “ชวิส” (SCHWYZ) ซึ่งก็มาจากชื่อรัฐ “ชวิส” นั่นเอง
ชาวสวิสในแถบกลางได้ชื่อว่าหัวแข็งดื้อแบบเอาหัวชนฝาถ้าไม่เห็นด้วย ไม่ค่อยจะยอมรับหรือไว้ใจคนแปลกหน้าง่ายๆ คนสวิสที่อยู่ในรัฐอื่นๆ ค่อนแคะพวกเขาว่ามองอะไรไม่พ้นจมูกตนเองเพราะมีเทือกเขาแอลป์ล้อมรอบ เป็นคาทอลิกที่ (ยังคง) เคร่งครัดในศาสนาพวกเขามักจะก่อเรื่องคัดค้านให้คณะรัฐมนตรี หรือ BUNDESRAT ปวดหัวอยู่เนืองๆ
ยังมีกีฬาประจำชาติอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ชวิสเง็ท” เหมือนกัน และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงจะเคยเห็น คือการโยนธง แต่ชาวสวิสเรียกการโยนแบบนี้ว่า “ฟาเน่นชวิงเง่น” (FAHNENSCHWINGEN) เพราะฉะนั้นเมื่อใครชวนเธอไปเที่ยวเทศกาล “SWING FESTIVAL” แล้วละก็ ถามให้ดีๆว่าจะพาเธอไปเทศกาลไหนกันแน่