ใครนะที่บอกฉันว่า “ฝรั่ง” ไม่เชื่อเรื่องหมอดู หรือฝังใจในเรื่องไสยศาสตร์ ที่ฉันเขียนคำว่าฝรั่งภายในเครื่องหมายคำพูด ก็เพื่อจะย้ำว่า ฝรั่งที่ฉันพูดถึงนี่หมายถึงชาวคอเคเซียนมนุษย์ผิดขาวที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น ที่ชาวแอฟริกาเนอร์อุปโลกน์ให้เป็นฝรั่งในสมัยที่ประเทศแอฟริกาใต้ยังคงเป็นอพาร์ไทด์แยกผิวอยู่ ก่อนที่นายเนลสัน แมนเดล่าจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศนั้น
สาเหตุที่คนญี่ปุ่นได้รับการ “ยกย่อง” ให้เป็นฝรั่งในสมัยนั้น ก็เพราะมีอำนาจในทางเศรษฐกิจที่ใครๆก็หือไม่ขึ้น ส่วนคนที่มีผิวสีเหมือนกระดาษเก่าเหลืองกรอบอย่างฉันนั้น เห็นจะไม่มีโอกาสได้เขาไปร่วมเสวนาสังสรรค์กับพวกเขาหรอกด้วยเหตุนี้ เมื่อสมัยก่อนถึงแม้ว่าจะมีโอกาสไปแอฟริกาใต้ตั้งหลายครั้ง ฉันก็ไม่ได้อยากดิ้นรนไป ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศสวยงาม
ฉันเขียนเรื่องหมอดู ไหงกลายมาเป็นเรื่องการเมืองไปได้ วันหนึ่งนั่งคุยกันอยู่กับเพื่อนๆชาวสวิส เราก็คุยกันถึงเรื่องฮอโรสโคป ถ้าพวกเขาอยู่กับฉันละก็รับรองได้ ฉันไม่ให้คุยเรื่องสามเรื่องที่พวกเขาชอบคุยกันเสมอหรอก คือ หนึ่งการเมือง สอง เศรษฐกิจ (ก็หมายถึงเงินน่ะแหละ) สาม ดินฟ้าอากาศ หมายเหตุ หัวข้อไม่จำเป็นต้องเรียงตามนั้น
ทั้งๆที่พากันปากแข็งว่าไสยศาสตร์และหมอดูเป็นเรื่องเหลวไหล พวกเขาแทบทุกคนต่างก็ยอมรับว่าในวันจันทร์พอหนังสือพิมพ์มาถึงปั๊บ สิ่งที่เปิดอ่านก่อนก็คือ คอลัมน์หมอดูประจำสัปดาห์นั่นเอง ถกกันไปเถียงกันมา เพื่อนของฉันคนหนึ่งก็บอกว่าเขาอยู่ในราศียุงเฟรา (Jungfrau) หรือเวอร์จิ้น (Virgin) ในภาษาอังกฤษ เขาใช้สำนวนว่า “อิชบินยุงเฟรา” (Ich Bin Jungfrau) ถ้าจะเล่นสำนวนก็แปลว่า “ฉันเป็นสาวน้อยพรหมจารี” ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นั่นต่างก็ร้องออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอ วี ลางไว้หลิค” (Oh Wie Langweilig) แปลว่า “แหม คงน่าเบื่อนิ” แล้วพวกเราก็หัวเราะกันงอหาย เธอเห็นไหมว่า ถ้ามีฉันเป็นยาดำแทรกอยู่ในกลุ่มพวกเขาคนหนึ่งละก็ ชาวสวิสที่ใครๆชอบนินทาว่าแสนจะซีเรียสและเคร่งขรึมนั้น กลายเป็นคนหัวเราะบ้าจี้ไปได้ง่ายๆ
เวลาฉันพบชาวญี่ปุ่นในต่างประเทศพอเขารู้ว่าฉันมาจากประเทศสวิส เขามักจะอุทานว่า “อ๋อ ยุงเฟลา ยุงเฟลา” เพราะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นแทบทุกคนที่ไปสวิส มักจะไม่ค่อยพลาดที่จะไปขึ้นภูเขายุงเฟรากัน ก็เหมือนกับนักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ในสมัยนี้ เมื่อไปประเทศสวิสแล้ว มีสถานที่อยู่สองแห่งพวกเขาต้องไป คือ ร้านขายนาฬิกาและของที่ระลึกแห่งหนึ่งในเมืองลูเซิร์น และภูเขาทิทลิส (Titlis) ภูเขาชื่อนี้เธอต้องอ่านให้ดีๆนะจ๊ะ อย่าเผลอไปอ่านเป็น “ทิทเลส” เป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายน ถ้าไม่หันไปมองทิวทัศน์รอบๆ ฉันมักจะนึกว่าอยู่ในเมืองไทยเสียอีก เพราะศัพท์สำเนียงกิ๊วก๊าวทั้งหลายนั้นเป็นภาษาไทยทั้งสิ้น
เดี๋ยวนี้เมืองลูเซิร์นก้าวหน้ามากถึงขนาดพิมพ์แผนที่สถานที่ต่างๆเป็นภาษาไทยเชียวละ ใครจะเป็นคนแปลฉันไม่รู้หรอกนะ ไม่ใช่ฉันก็แล้วกันเรียกว่าเอาใจให้แชมป์โลกในด้านการช็อปปิ้งมาซื้อข้าวของกันให้เพลินทีเดียวตามสถิติของทางร้าน เขาบอกว่าประเทศไทยซื้อของเป็นที่หนึ่ง รองลงมาก็ไต้หวันเพราะฉะนั้นเธออย่ามาพูดให้ฉันเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าประเทศไทยของฉันยังยากจนผู้หญิงสาวๆต้องออกไปเป็นคุณตัวกันเป็นแถวในต่างประเทศ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว หรือแต่งงานกับฝรั่ง (เง่างี่) เพื่อจะได้เงินส่งเสียปลูกบ้านให้พ่อแม่ในเมืองไทย หรือว่าพ่อแม่ต้องขายลูกขายเต้าให้ไปเป็นโสเภณีเด็ก หรือไปขายแรงตามโรงงานที่มีสภาพย่ำแย่ จนบางครั้งโรงงานไฟไหม้ คนงานถูกไฟคลอกตายจนเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกถ้าเธอบอกอย่างนั้นฉันก้ไม่เชื่อ
เห็นนักท่องเที่ยวไทยเดินช็อปปิ้งในเมืองลูเซิร์นกันแล้ว ฉันงี้ปลื้มใจเหลือเกินเธอเอ๋ย ว่าเมืองไทยของเรานี่ร่ำรวยนักหนา คนไทยอุตส่าห์บินมาช่วยเศรษฐกิจของชาวสวิสกันมากมาย ทั้งๆที่เงินฟรังก์แข็งปั๋งเป็นเหล็ก จนนักท่องเที่ยวอเมริกันและชาติอื่นๆ หลายชาติหัวหดไม่กล้ามาจับจ่ายซื้อของกันที่นี่ แต่ว่าผู้มั่งคั่งจากเมืองไทยหรือจะยั่น เขาขนซื้อกันจนคนสวิสยิ้มแล้วยิ้มอีก จะยิ้มเยาะหรือยิ้มปลื้มก็ช่างเขาเถอะน่า เขายิ้มก็แล้วกัน
กลับ มาเล่าเรื่องภูเขายุงเฟราให้เธอฟังดีกว่า สัญญาไว้เมื่อคราวโน้นว่าถ้ามีโอกาสได้ไปยุงเฟราอีกจะถ่ายรูปสวยๆมาให้ดูเล่น ก็บังเอิญได้ไปอีกเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ฉันนั่งรถไฟไปรับแขกของฉันที่โรงแรมที่อยู่ในตำบลกีสวิส พอลงจากรถไฟ พวกเขา 9 คนก็นั่งรออยู่ในรถโค้ชเรียบร้อยแล้วตามที่นัดกันไว้แต่วันวาน
เราใช้เส้นทางบรูนิกพาสเจ้าเก่าที่ฉันเคยมากับชาวคณะแอมเวย์ และรถมาตายแหงแก๋อยู่ที่นี่ จำได้ไหม ชั่วโมงเศษๆก็มาถึงสถานีรถไฟอินเทอร์ลาเค่นออสท์ เมืองอินเทอร์ลาเค่นเป็นเมืองเล็กๆ มีพลเมืองเพียง 4,700 คนเท่านั้นถ้าไม่นับนักท่องเที่ยวที่แห่กันมาเป็นจำนวนมากมายในฤดูร้อน
เห็นชื่อก็พอจะเดาได้แล้วว่า เมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่าง 2 ทะเลสาบ คือ ทะเลสาบธูนและทะเลสาบเบรียนซ์ ได้รับการยกฐานะจากวัดออกัสตินให้เป็นเมืองใน ค.ศ.1130 เขาค้นพบหลักฐานเมื่อตอนที่สร้างโบสถ์ของชาวโปรเตสแตนต์ที่ในตัวเมือง
ปัจจุบันอินเทอร์ลาเค่นได้กลายเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อสุขภาพ มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลกสมัยที่ชาวอังกฤษยังมีสตางค์ เขามักจะเช่าเครื่องบินจากกรุงงอนดอนมาลงถึงอินเทอร์ลาเค่นกันเลยทีเดียว แต่ก่อนจึงมีสนามบินให้ลงด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วจากอินเทอร์ลาเค่นจะเห็นวิวของภูเขายุงเฟราได้ถนัดชัดเจน ในวันที่มีอากาศแจ่มใส วิวของยุงเฟราที่เมืองนี้จึงได้กลายเป็นจุดเรียกร้องความสนใจจากผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิวที่เห็นจากโรงแรมวิกตอเรียยุงเฟราที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม
มีครั้งหนึ่งฉันพาแขกวีไอพีสี่คนชายหนึ่งหญิงสามจากประเทศไทยมาเที่ยวที่นี่ บริษัทท่องเที่ยวที่ผู้จัดการกับฉันเป็นเพื่อนกัน อนุญาตให้ฉันเช่ารถลิมูซีนขนาดสามตอนพร้อมคนขับพาพวกเขาไปไหนๆตลอดระยะเวลาที่พักกันอยู่ในสวิส จะไปไหนก็ได้แล้วแต่ฉันคุณผู้ชายเป็นเจ้าของโรงงานใหญ่โตที่มีชื่อเสียง คนไทยทุกคนต้องรู้จัก เพราะใช้ผลิตภัณฑ์ของเขากันอยู่ทุกวันและทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะยากดีมีจน
เวลาในวันนั้นค่อนข้างจำกัด ฉันจึงไม่ได้พาเขาขึ้นยุงเฟรา ได้แต่ดูวิวกันอยู่ข้างล่าง หลังจากนั้นก็ไปช็อปปิ้งกันในร้านขายนาฬิกาแห่งหนึ่ง เขาจะซื้อของกันเท่าไหร่ฉันไม่อาจจะรู้ได้ แต่พอเราเดินออกมานอกร้าน ผู้จัดการเดินออกมาส่งถึงหน้าประตู โค้งแล้วโค้งอีก ส่วนมือทั้งสองข้างก็กุม เอ้อ…ประสานกันอยู่ข้างหน้า “แข็งเท่าแข็ง เงินง้าง” เป็นสุภาษิตที่ไม่ล้าสมัยเลย
พอออกจากร้านนี้เราก็เดินกันไปเรื่อยๆ คุณผู้หญิงเหลือบไปเห็นกระเป๋าสวยใบหนึ่งในร้านเข้าก็อยากได้ เดินเข้าไปดู คนอื่นๆก็เดินตามเข้าไปด้วยกระเป๋าใบนั้นอยู่ในตู้กระจกที่ล็อคไว้ดูราคาที่ติดไว้ก็เห็นว่า “แพง” คุณผู้ชายขอให้คนขายซึ่งเป็นหญิงกลางคนชาวสวิสไขกุญแจเอากระเป๋าออกมาดูหน่อย คนขายมองพวกเราตั้งแต่หัวจรดเท้า (วันนั้นทุกคนรวมทั้งฉันต่างนุ่งกางเกงยีนส์ แต่งตัวตามสบาย) แล้วพูดกับคุณผู้ชายว่า
“กระเป๋าใบนี้แพงนะ คุณคงไม่มีเงินซื้อหรอก”
ฉันตกตะลึง เพราะนึกไม่ถึงว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ยินเรื่องทำนองนี้มาหลายครั้งแล้วแต่ไม่เคยโดนกับตัว ก็นึกว่าคนบางคนชอบพูดอะไรเกินความจริงเสมอ
คุณผู้ชายมีสติที่ดีเยี่ยมน่าชมเชยหลังจากนิ่งไปสักครู่แล้วก็ตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆว่า “จริงของคุณ กระเป๋าใบนี้แพงไป ผมคงจะไม่มี ‘ปัญญา’ ซื้อหรอก” เขาใช้ภาษาอังกฤษว่า “It’s tooexpensive for me, I don’t think I can afford it.”
แทนที่คนขายจะรู้สึกตัวหรือทำเฉยๆเสีย กลับพูดต่อว่า “ฉันก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน – I think so too.”
ฉันงี้อายจนแทบจะแทรกแผ่นดิน อดไม่ได้เลยประชดคนขายไปด้วยภาษาเยอรมันว่า เธอโง่เกินไปที่จะมาทำหน้าที่นี้ เพราะดูลักษณะลูกค้าไม่ออก ราคาก็ติดอยู่เห็นๆ ถ้าไม่สนใจจริงๆเขาจะขอดูไปทำไม ในเมื่อกระเป๋ามันก็ล็อคอยู่ในตู้ คุณผู้ชายคนที่ขอดูนี้ มีเงินในกระเป๋าของเขาในขณะนี้สามารถซื้อของทั้งหมดในร้านได้
แม่คนขายของเลยอ้าปากค้างเพราะไม่คิดว่าฉันจะพูดภาษาเยอรมันได้ และยังว่าเขาไปแรงๆอย่างนั้น ฉันพบคนมากมายหลายชาติหลายภาษาจนบางครั้งคิดว่าจะไม่มีอะไรมาทำให้ฉันแปลกใจได้ แต่ก็ยังไม่วายมีเรื่องใหม่ๆมาให้ได้เรียนรู้เสมอ ฉันถึงว่าการเรียนรู้ของมนุษย์จะไม่มีวันจบสิ้นเป็นอันขาด
เรา ขึ้นรถไฟที่สถานีอินเทอร์ลาเก้นออสท์ แล้วไปเปลี่ยนรถไฟอีกแห่งหนึ่งที่สถานีเลาเตอร์บรุนเน่น ใครที่ขับรถมาต้องจอดรถไว้ที่นี่แล้วไปขึ้นรถไฟเพราะสถานีแห่งนี้เป็นต้นทางที่จะพานักท่องเที่ยวไปยังภูเขายุงเฟราย็อคหรือไม่ก็ไปมัวร์เร่น เพื่อไปเปลี่ยนเป็นกระเช้าไฟฟ้าใหญ่ขึ้นไปบนภูเขาชิลธอร์น (Schilthorn) สูง 2,971 เมตร ใครที่เป็นคอหนังคงจะจำได้ว่ามีหนังเจมส์บอนด์เรื่อง “Oh Her Majesty’service” มาถ่ายทำกันที่นี่เมือหลายปีแล้ว ส่วนฉันเองนั้นก็เคยสกีลงมาแล้วจากภูเขาชิลธอร์น
ใกล้ๆลานจอดรถโค้ชที่สถานีเลาเตอร์บรุนแน่นเป็นสุสานของผู้ไต่เขาที่ตกลงมาตาย จากสถานีนี้มีรถไฟฟ้าค็อกวีลพานักท่องเที่ยวขึ้นไปภูเขายุงเฟราสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.1896 ถึง ค.ศ.1912 จากการออกแบบของชาวซูริค
ระหว่างทาง รถไฟหยุดจอดรับส่งผู้โดยสารที่หมู่บ้านเวงเง่นซึ่งสูงประมาณ 1,274 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เวงเง่นเป็นสถานที่ตากอากาศเช่นเดียวกับอินเทอร์ลาเค่นเหมือนกัน ผิดกันก็แต่ว่าเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีรถยนต์ จึงไม่มีมลพิษเช่นเดียวกับเซอร์มัทและมัวร์เร่น เวงเง่นเป็นสถานที่เล่นสกีที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเพราะในเดือนมกราคมของทุกปี แชมป์สกีทั่วโลกต่างก็เดินทางมาที่นี่ เพื่อแข่งขันเล่นสกีบนลาน “เลาเบอร์ฮอร์น”
เราไปเปลี่ยนรถไฟกันอีกครั้งหนึ่งที่สถานีไคลเน่ไชเด้ก สูงประมาณ 2,061 เมตร รถไฟพาเราไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนมาหยุดให้เราชมวิวครู่หนึ่งที่สถานีธารน้ำแข็งไอเกอร์ อีกสถานีหนึ่งที่รถไฟหยุดให้เราได้ดูวิวก็คือ สถานีไอเกอร์นอร์ธวอลล์ ที่สร้างขึ้นจากการระเบิดหินจากภูเขาเพื่อให้มีช่องว่างสำหรับสถานี ชาวสวิสเรียกภูเขาทั้งสามลูกที่นี่ว่า “เจ้ายักษ์ใหญ่” มีภูเขาไอเกอร์ภูเขาเมินช์ และยุงเฟรา
การพิชิตภูเขาไอเกอร์จากทางด้านเหนือเป็นการกระทำที่ยากลำบากมากเพราะนอกจากอากาศจะเปลี่ยนแปรอย่างรวดเร็วแล้ว ยังปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งลื่นอีกด้วย จากการพยายามไต่ไอเกอร์ทางด้านเหนือ มีคนตายไปห้าคนภายในระยะสองปี ทางการจึงประกาศห้ามคนไต่เขาทางด้านนี้จนถึง ค.ศ.1937 ในปี ค.ศ.1938 มีนักไต่เขาจากเยอรมนีสี่คนและจากออสเตรียอีกหนึ่งคน ได้ไต่เขาไอเกอร์ทางด้านเหนือสำเร็จเป็นครั้งแรกเนื่องด้วยภูเขาลูกนี้ได้คร่าชีวิตผู้ไต่ไปจำนวนมากถึง 48 คน จึงถูกขนานนามว่าไอเกอร์มาร์ดวานด์ในภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่ากำแพงมรณะ
รถไฟ ไปหยุดอีกครั้งหนึ่งที่สถานีทะเลน้ำแข็ง ที่นี่เราจะเห็นธารน้ำแข็งสีขาวอมฟ้าเป็นครั้งแรก ก่อนที่รถไฟจะพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางคือ ที่ยุงเฟราย็อค หลังคาของยุโรป ซึ่งปกคลุมไปด้วยหิมะชั่วนาตาปี สูง 3,454 เมตร
ในภาษาเยอรมัน “ยุง” (jung) แปลว่า เยาว์วัย หรือใหม่ล่าสุด ส่วน “เฟรา” (frau) แปลว่าผู้หญิงหรือภรรยา เขาไม่มีคำที่แปลว่าภรรยาอย่างในภาษาอังกฤษ “wife” นอกเสียจากจะใช้คำผสม คือ เอเฮเฟรา (Ehefrau) หมายถึงผู้หญิงที่แต่งงานด้วย หรือใช้คำที่เอิกเกริกนิดหน่อย คือ กัตติน (Gattin) เพราะฉะนั้นฝรั่งที่ใช้ภาษาเยอรมันจึงมีสำนวนตลกๆในภาษาอังกฤษที่ทำให้ฉันต้องกลั้นยิ้มบ่อยๆ คือแทนที่จะพูดว่ามายไวฟ์เขาจะพูดว่ามายวูเมิ่น เหมือนสมัยที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำไม่ผิด ฉันมักจะจินตนาการเห็นผู้ชายถือไม้พลองสำหรับตีสัตว์ลากผมของ “มายวูเมิ่น” เข้าถ้ำเสมอ
Jungfrau จึงแปลตรงๆว่า สาวน้อย หรือสาวพรหมจารี ส่วนย็อค (joch) แปลว่า แอกหรือโย้ค (yoke) ในภาษาอังกฤษ แต่ในกรณีของยุงเฟราย็อค ฉันอยากจะแปลว่าทางผ่านภูเขายุงเฟรามากกว่า
ก็ในเมื่อยุงเฟรามี “ทางผ่าน” แถมยังถูกย่ำยีโดยมนุษย์นักท่องเที่ยวทั้งหญิงและชายเป็นหมื่นๆ คนต่อปีสาวน้อยคนนี้จะเหลือความบริสุทธิ์ปราศจากรอยมลทินได้อย่างไรกัน
ที่สถานีรถไฟที่สูงที่สุดของยุโรปแห่งนี้ นอกจากจะมีร้านค้าขายของที่ระลึกและภัตตาคารแล้ว ยังมีถ้ำน้ำแข็งที่สลักเป็นรูปต่างๆไว้อย่างสวยงามอีกด้วยในสมัยก่อน เพื่อจะเอาใจนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เขาอุตส่าห์แกะสลักน้ำแข็งเป็นรูปพะโกด้าแบบญี่ปุ่นเอาไว้ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว อย่างน้อยฉันก็ไม่เห็นเมื่อไปคราวนี้
ออกจากถ้ำน้ำแข็งไปจะเป็นที่ดูวิวที่สวยมาก แต่บางครั้งก็มีลมแรง ทรงตัวไว้แทบจะไม่อยู่ทีเดียว จากชั้นข้างล่างที่ขายของที่ระลึก เดินไปอีกสักสิบนาทีจะมีลิฟต์ขึ้นไปชั้นบน ที่เรียกกันว่าสฟิงซ์ จากจุดนี้จะเห็นเทือกเขาแอลป์ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะสีขาวโพลนอยู่ชั่วนาตาปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทือกเขายักษ์ใหญ่อีกสองลูก คือ ไอเกอร์และเมิ้นช์
สำหรับคนที่ไม่เคยชินกับความสูงมากๆเช่นนี้ สิ่งที่ควรระวังมากที่สุดก็คือ เมื่อลงจากรถไฟแล้วต้องเดินช้าๆอย่ารีบร้อน เพราะอากาศบางจะทำให้เป็นลมล้มพับไปได้ง่ายๆ แม้แต่คนงานที่ยุงเฟราก็ต้องเปลี่ยนเวรกันทุกๆสองสัปดาห์
จนบัดนี้ เมื่อฉันเห็นคนที่มาจากประเทศร้อนมาฮอลิเดย์ที่นี่กันเพียงไม่กี่วัน แต่งตัวชุดเล่นสกีถ่ายรูปลงในนิตยสารฉบับต่างๆ ฉันยังอดยิ้มไม่ได้เลยเธอ