ฝูงชนกำเนิดคล้ายคลึงกัน

หลายๆประเทศทีปัญหาเรื่องคนต่างชาติและผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศมากมาย ซึ่งจะเป็นผลพวงจากการกระทำของตนหรือไม่ก็ตาม ถ้าให้พวกเขาเข้ามาแล้วก็ต้องปล่อยเลยตามเลย หรือไม่ก็หาทางให้ออกไปโดยเร็วและมุนละม่อมที่สุด พูดแล้วเดี๋ยวจะนึกว่ามาชมกันเอง จะหาประเทศใดที่ใจดีเช่นประเทศไทยคงหาได้ไม่ง่ายนัก คนไทยใจดี ยินดีอาแขนต้อนรับคนที่เดือดร้อน และไม่เดือดร้อนทุกชาติทุกภาษา แม้ว่าบางครั้งจะไม่อ้าแขน ไม่รู้ไม่เห็นได้อย่างสบาย เรียกว่าไม่มีชาติใดทำได้เช่นประเทศไทย

ประเทศสวิสก็มีเรื่องปวดหัวด้วยเรื่องคนต่างชาติ ซึ่งมีมากเกินต้องการเรียกกันในภาษาสวิสเยอรมันว่า “Ueberfremdung” แต่ส่วนใหญ่เป็นการกระทำของตนเอง เพราะในสมัยหนึ่ง คนสวิสได้จ้างคนจากประเทศใกล้เคียงมาทำงานที่ตนเองไม่ชอบทำมากมาย จึงทำให้เกิดมีการ “บุกรุกจู่โจม” จากคนงานต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “Gastarbeiter” พูดสั้นๆก็คือ คนสวิสต้องการได้คนมาทำงานให้ด้วยค่าจ้างแรงงานถูกๆ แต่ลืมคิดไปว่าอาจมีผลเสียตามมาทีหลังได้ ชาวสวิสได้ “แรงงาน” เข้ามาถูกก็จริง แต่ก็ได้คนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศมากมายในบั้นปลาย ให้เข้ามาอยู่แล้วจะไล่ให้เขาออกไปง่ายๆก็ดูกระไร ในยามที่ประเทศเจริญรุ่งเรืองมีเศรษฐกิจดีก็รอดตัวไป แต่ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำลงมีคนตกงานถึง 4.50 เปอร์เซ็นต์ การมีคนอื่นเข้ามา “แย่ง” งานคนสวิส ก็น่าคิดเหมือนกัน ฉันคิดว่าด้วยเหตุผลนี้แหละ ที่ทำให้คนสวิสส่วนใหญ่ไม่ยอมโหวตเข้าร่วมในสนธิสัญญา “European Economic Room” หรือเรียกสั้นๆว่า EER เมื่อสามปีก่อน ด้วยเกรงว่าจะมีชาวต่างชาติเข้ามาแย่งความอยู่ดีกินดีของตน

ประเทศสวิสมีประชากรเพียงหกล้านเก้าแสนคนเท่านั้น เป็นคนต่างชาติถึง 18 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือในราวล้านกว่าคน ไม่นับพวกลี้ภัยจากประเทศต่างๆ และพวกที่เป็นลูกจ้าง “ชั่วคราว” ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานปีละ 9 เดือน อีกต่างหาก หลายประเทศมีปัญหาคล้านคลึงกัน ความแตกต่างอยู่ที่ว่าถ้าหากว่าชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งล้านคนไปรวมอยู่ในประเทศที่มีประชากรห้าสิบล้านคนก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ถ้าหากว่าหนึ่งล้านเศษนี้เข้าไปรวมอยู่ในประเทศที่มีประชากรเพียงหกล้านเศษ ก็ไม่ใช่ย่อยนะคะ

แต่การที่มีคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศมากๆก็ดีไปอย่าง เพราะชาวสวิสจะได้มีทางออก ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรที่ไหนในประเทศหรือมีอาชญากรรมหรือฆาตกรรมเกิดขึ้น ก็จะได้ฉวยโอกาสกล่าวโทษ “คนต่างชาติ” ได้สบายปากเป็นอันดับแรก วิสัยมนุษย์ก็อย่างนี้เองแหละนะคะ เรื่องที่ตนเองทำผิดแล้วจะยอมรับว่าผิดอย่างหน้าชื่นตาบานนั้นจะหาที่ไหน ลองอ่านดูในหนังสือพิมพ์สวิสสิคะ ไม่ว่าจะมีอาชญากรรมอะไรสักอย่างเกิดขึ้น ก็มักจะมีคนต่างชาติแทรกเป็นยาดำอยู่เสมอ แม้ว่าการเสนอข่าวจะเป็นแต่เพียงคอลัมน์เล็กๆ ไม่มีการพาดหัวตัวโตๆ หรือลงรูปเลือดแดงฉาดสาดกระเซ็นสยองขวัญก็ตาม บางครั้งแม้แต่ชื่อที่แท้จริงเขาก็ไม่ลงให้ เจตนาก็เพื่อปกป้องชื่อเสียงของญาติพี่น้องใกล้ชิด อย่าว่าแต่จะลงรูปให้ดูหน้ากันเลย เพราะฉะนั้นก็ขอเตือนกันไว้ ใครที่อยากดังด้วยการเข้ามาเป็นอาชญากรในประเทศนี้น่ะ ลืมเสียเถิด จะผิดหวัง จะไม่ได้ ดังอย่างใจปรารถนา แต่จะดับเสียก่อน

ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรม จะไม่ค่อนว่าคนสวิสว่าเป็นคนรังเกียจคนต่างผิวต่างพันธุ์ก็คงจะไม่ได้ เพราะเมื่อสมัยก่อนขโมยขโจรอะไรก็ไม่ค่อยมี แต่มาเดี๋ยวนี้ตามถนนหนทางจะแลเห็นป้ายเตือนให้ผู้คนระวังการถูกล้วงกระเป๋าหรือถูกโจรกรรมในรูปแบบต่างๆ เมื่อสักเจ็ดแปดปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนหรือฤดูหนาว จะดึกดื่นแค่ไหน ฉันก็ไม่ค่อยคิดหวาดกลัวที่จะเดินคนเดียวไปตามซอกซอยมืดๆ ในเมืองลูเซิร์น หลังจากประชุมหรือไปทำธุระที่ไหนกลับมา แต่เดี๋ยวนี้ในบางครั้งกลางวันแสกๆ แท้ๆ ยังขยาดไม่กล้าเดินคนเดียวในถนนบางสาย เมื่อก่อนจะหาตำรวจในเมืองทำยายาก ไม่รู้ว่าไปหลบกันเสียที่ไหนหมด เดี๋ยวนี้จะเห็นตำรวจเดินเรียงเป็นคู่ตรวจตราความสงบอยู่ในซอกในซอย แถวบ้านฉันก็เหมือนกันทุกๆระยะจะมีรถตำรวจวิ่งไปวิ่งมาเพื่อรักษาความปลอดภัยของคนและทรัพย์สิน

คนสวิสได้ชื่อว่าเป็นชาติที่รักสงบ เป็นมิตรที่ดีต่อเพื่อนบ้านทุกคน ไม่เช่นนั้นไหนหละจะดำรงตัวเป็นกลางอยู่ได้ท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวายในโลกทั้งหลาย แม้จะเป็นกลางแบบมีอาวุธเพียบก็ตาม

แต่ก็อย่างว่าแหละนะคะ เกิดเป็นมนุษย์เสียอย่าง มันก็ต้องมีความกดดันที่จะต้องหา “ทางออก” กันบ้าง จะปล่อยให้หัวอกกลัดหนองอยู่ตลอดเวลาได้อย่างไร “ทางออก” ของชาวสวิสก็ด้วยการกระแนะกระแหนเพื่อนร่วมชาติจากรัฐอื่นๆ บ้างอิจฉาริษยาเพื่อนบ้านบ้าง แทนที่จะไปห้ำไปหั่นกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่ประเทศสวิสเป็นประเทศเล็กนิดเดียว มีเพื่อนร่วมชาติให้ “ฟัด” ได้ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ จำเป็นต้องหา “แพะรับบาป” และแพะรับบาปของพวกเขาจะเป็นใครอีกเล่า ถ้าไม่ใช่คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศที่จะสับโขกให้หนำใจได้

วิธีที่จะหาทางออกเพื่อปลอดพิษร้ายในร่างกายทำได้ง่ายมาก โดยไม่เป็นการกระทบกระเทือนหรือเสียหายต่อความมีมนุษย์ธรรมในสายตาของชาวโลกแต่อย่างใด ก่อนอื่นต้องหาหนทางให้คนต่างชาติเข้ามาในประเทศมากๆพอให้เข้ามาแล้วก็บ่นว่าคนต่างชาติมากเกินไป พยายามหางานกุลีที่คนพื้นเมืองไม่ต้องการทำให้คนต่างชาติทำพอพวกเขายอมทำก็หาเรื่องว่าพวกนี้เป็นคนชั้นต่ำ ไม่เชื่อดูงานต่ำๆที่พวกเขาทำก็ได้ กีดกันลูกๆของคนต่างชาติไม่ให้เข้าโรงเรียนร่วมกับเด็กในชาติโดยอ้างว่าไม่รู้จักภาษาพื้นเมือง หลังจากนั้นก็นินทาว่าเด็กพวกนี้ไม่มีการศึกษาจะให้มาเล่นมั่วสุมกับลูกๆของเราอย่างไร อย่ากระนั้นเลย จัดการให้พวกเขาไปอยู่ในแฟลตที่ไม่มีใครอยากอยู่ดีกว่า จะได้ไม่มารกหูรกตาชาวพื้นเมือง ปล่อยให้อยู่ใน “เก็ตโต” (Ghetto) ให้เข็ด

ท้ายสุดก็ดูถูกว่าพวกคนต่างชาตินี่ไม่เอาอ่าวเลย อยู่ประเทศนี้มาเนินนานแล้วภาษาพื้นเมืองก็พูดไม่ได้ เข้ากับชาวเมืองก็ไม่ได้ ลูกเต้าก็มีการศึกษากระท่อนกระแท่นเติบโตขึ้นจะไปทำงานอะไรได้ นอกจากงานกุลีแบกหามมันก็วนเวียนกันอยู่เช่นนี้ เข้าทำนอง “ฝนเอยทำไมจึงตก ทำไมจะไม่ตกเพราะกบมันร้อง กบเอยทำไมจึงร้อง ทำไมจะไม่ร้อง เพราะท้องมันขึ้น ท้องเอยทำไมจึงขึ้น ทำไมจะไม่ขึ้น เพราะข้าวมันเปียก ข้าวเอยทำไมจึงเปียก ทำไมจะไม่เปียก เพราะฝนมันตก” เฮ้อเหนื่อย

เห็นไหมคะคุณผู้อ่าน ว่าการปล่อยพิษร้ายในร่างกายนั้นแสนจะง่ายเพียงใดแต่ฉันว่าควรจะรักคนต่างชาติให้มากดีกว่าเกลียด เพราะใช้เขาเป็นแพะรับบาปได้ ใช้เขาช่วย “เยียวยา” กลัดเอาหนองที่ระบมอยู่ในหัวอกออกเสียทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ มีร่างกายสมบูรณ์ขึ้นอีกต่างหาก หรือคุณผู้อ่านจะว่าอย่างไร

ในขณะที่ใครๆบ่นกันถึงคนต่างชาติในประเทศของตน ยังมีอีก 2-3 ประเทศที่กลับตรงกันข้าม ประเทศไหนบ้างก็คงไม่ยากมากนักที่จะเดา ออสเตรเลียประเทศหนึ่งละ ที่มีชาวอะบอริจินีส(Aborigines) อาศัยอยู่ก่อนตั้งสี่หมื่นปีมาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่ามากกว่าแสนห้าหมื่นปีก็มี เมื่อกัปตันเจมส์ คุก แล่นเรือจนจอดที่อ่าวเมืองซิดนีย์ ในปี ค.ศ. 1770 เขาได้ยึดเอาดินแดนนี้ถวายเอาหน้ากับพระเจ้าแผ่นดินของตน คือ คิงจอร์จที่ 3 ของอังกฤษ อีกไม่ถึงยี่สิบปีต่อมา มนุษย์ผิวขาวชาวอังกฤษก็ได้มาเสริมนิคมนักโทษขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้ โดยปักใจว่าไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ที่นี่เลย เพิ่งจะเมื่อปี ค.ศ. 1967 นี่เองที่ชาวอะบอริจินีสได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองของประเทศออสเตรเลีย และมีสิทธิ์เลือกตั้งออกเสียงได้ น่าอนาถใจเสียนี่กระไร

อีกสองทศวรรษหลังจากที่เจมส์ คุก ได้แล่นเรือมาจอด ก็ได้มี “คนต่างชาติ” แล่นเรือเข้ามา 11 ลำ มีผู้โดยสารทั้งหมด 1,000 คน ในจำนวนนี้ 750 คนเป็นนักโทษต่างๆกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นนักโทษการเมืองชาวไอริชหัวแข็งที่คนอังกฤษต้องการไล่ออกจากประเทศให้พ้นหูพ้นตา หลังจากที่ได้เจ็บตายไปบ้าง อดอาหารบ้าง พวกที่รอดตาย จัดการบุกรุกถากพงทำผืนดินแห่งนี้ให้ป็นเมือง

ชาวอะบอริจินีสถูกขับไล่ออกจากที่อยู่ดั่งเดิมของตน พวกที่เหลือไม่มีทางไป หรือไม่อยากไปเพราะยังรักและอาลัยในถิ่นกำเนิดของตน ก็จำต้องก้มหน้าอดทนอยู่เป็นทาสใต้อำนาจบาตรใหญ่ของคนผิวขาวโดยไม่มีทางเลือก คนในสมัยเริ่มบุกเบิกก็แสนจะเคร่งในศาสนา และมีความรักชาติบ้านเมือง (เก่า) ของตนที่อยู่อีกซีกหนึ่งของโลกเป็นยิ่งนัก ในจำนวนนี้มีชาวสก็อตรวมอยู่ด้วยหลายคน มิช้ามินานผืนแผ่นดินที่ไม่มีใครรู้จักและอยู่ไกลสุดกู่ก็ตกอยู่ในมือของคนผิวขาวชาติต่างๆ มีฝรั่งเศสและอิตาเลียนเป็นอาทิ ยิ่งเมื่อมีการขุดพบทองด้วยแล้ว ผู้คนต่างก็หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ แม้แต่ชาวจีนก็มาขุดทองกับเขาด้วย ในบางแห่งมีคนจีนมากกว่าคนผิวขาวเสียอีก พอทองหมด ไม่มีจะให้ขุด ชาวจีนก็อยู่ต่อทำงานรับจ้างเป็นคนสวนส่งส่วยให้กับนายเหมืองผิวขาวและคนอินเดียนก็รับจ้างดูแลอูฐ ส่วนชาวพื้นเมืองจากเกาะต่างๆ ในแถบแปซิฟิกทางใต้รับจ้างเป็นคนงานไร่อ้อยที่รัฐควีนสแลนด์ ในที่สุดประเทศออสเตรเลียก็กลายเป็นประเทศที่รวมเอาชนชาติต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน แต่ละคนต่างเป็น “ผู้อพยพ” ทั้งสิน

ในช่วงระยะยี่สิบห้าปีหลังนี้ หนึ่งในทุกๆสี่คนของประชากรชาวออสเตรเลียเป็นคนเอเชีย แม้ว่าชาวอะบอริจินีสจะมีประวัติความเป็นมาและศิลปวัฒนธรรมรวมแล้วเป็นหมื่นเป็นแสนปี และยังมีหลายคนที่ยังดำรงและปฏิบัติศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่จนทุกวันนี้ ทว่าหากปราศจากชนผิวขาวที่แม้ว่าจะเพิ่มเข้ามาอยู่ในประเทศและมีประวัติเพียงสั้นๆเมื่อเปรียบเทียบกันประเทศออสเตรเลียก็คงจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สถานีโทรเลข ที่อลิชสปริง และอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างที่เราคนสมัยใหม่เรียกกันว่า “ศิวิไล”

ใครก็ตามที่เคยไปเที่ยวออสเตรเลียและได้มีเวลาพักอยู่นานสักนิดหน่อยถ้าช่างสังเกตจะเห็น (หรือว่าไม่เห็น) ว่าไม่มีชาวอะบิริจินีสทำงานในร้านค้าใดๆ หรือในโรงแรมทั่วไป ใครที่คิดว่าจะได้พบเห็นชาวอะบอริจินีสทำงานใน “ศูนย์ศิลปะของชาวพื้นเมือง” จะต้องผิดหวัง เพราะไม่มีให้เห็นแม้แต่เงาชาวออสเตรเลียผิวขาวต่างหากที่เป็นคนงัดเอางานฝีมือหรือศิลปะการวาดด้วยสีสันสวยสดของชาวอะบอริจินีสออกมาอวดด้วยความภูมิใจ เมืองที่ฉันเห็นชาวอะบอริจินีสมากที่สุดเห็นจะเป็นที่ “เรดเซ็นเตอร์” ใจกลางของประเทสที่เมืองอลิซสปริงและที่แอร์ร๊อค หรือที่พวกเขาขนานนามว่า “Uluru” ซึ่งแปลว่าหินสีแดงใหญ่

ชาวอะบิริจินีสเท่าที่เห็นอยู่ในเครื่องแต่งกายแบบสากลทั่วไป คือนุ่งกางเกงใส่เสื้อเชิ้ต ส่วนผู้หญิงก็นุ่งกระโปรงใส่เสื้อ แต่ทั้งหญิงและชายแลดูกระเซอะกระเซิงเต็มที หัวหูยุ่งเหยิงผมค่อนข้างหนาและหยิกแห้งหยาบเหมือนซางข้าวโพด ดูท่าทางก็รู้ว่าเมาแประกันทั้งหญิงและชาย บางคนถึงกับแบมือขอเงินเพื่อเอาไปซื้อเหล้ามาดื่มต่อ เขามีทุกข์อะไรนักหนา พวกที่ไม่เมาก็นั่งเหม่อลอบมึนซึมหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ส่วนพวกเด็กๆก็แลดูผอมแกร็นแบบอมโรค สกปรกเหม็นสาบเมื่อผ่านเข้าใกล้

ชั่วชีวิตของฉันไม่เคยเห็นกลุ่มชนที่ไหนมีลักษณะเช่นที่ว่าในเวลาเดียวกันนี้เลย ฉันอยากจะถ่ายรูปมาให้ดูกันแต่โชเฟอร์ขอร้องว่าไม่ควรจะถ่ายเพราะชาวอะบอริจินีสจะโกรธมากถ้าเป็นในชนบทไกลๆขืนไปถ่ายรูปชาวอะบอริจินีสสุ่มสี่สุ่มห้า อาจโดนขว้างด้วย “บูมเมอแรง” ถึงบาดเจ็บได้ ฉันเลยไม่ถ่าย ทั้งๆที่มีโอกาสจะแอบถ่ายได้แต่คิดอยู่ในใจว่า เขา (ชาวออสเตรเลียผิวขาว) อาจจะไม่ต้องการให้โลกภายนอกได้มีประจักษ์พยานกระมังว่าสภาพของชาวอะบอริจินีสนั้นน่าสมเพชเพียงไร ในขณะเดียวกันก็ถามตนเองว่า เหตุไรชาวอะบอริจินีสจึงเป็นพวกที่หมดอาลัยตายอยากในชีวิตถึงเพียงนี้เมื่อไม่รู้และจะปล่อยให้เป็นข้อข้องใจขบปัญหาไม่แตกนี่ไม่ใช่วิสัยของฉันจำเป็นต้องไต่ถามเอาความให้จงได้ ฉันก็อย่างนี้แหละค่ะ เรื่องไม่รู้แล้วอวดรู้นี่ไม่ (ค่อยจะ) เคยทำ

ชาวอะบอริจินีสยังคงเชื่อในสิ่งที่เขาเรียกว่า “Tjukurpa” (ชุกกาพ่า) นั่นคือกาลเวลาแห่งความฝันสมัยสร้างโลกพวกเขามีตำนานเล่าสืบต่อๆ กันมามากมาย แต่ละเผ่าก็มีตำนานของตนและภาษาที่พูดก็แตกต่างกันอีกต่างหากเมื่อฝรั่งชาติต่างๆอพยพเข้ามาสร้างนิคมที่ประเทศออสเตรเลีย ชาวพื้นเมืองยังคงดำรงชีวิตอยู่ในสมัยหิน ยังคงออกป่าล่าสัตว์เป็นอาหาร ปราศจากโอกาสที่จะตั้งหลักแหล่งที่ใดได้ถาวร ด้วยเหตุที่พวกเขาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่พอเพียงสำหรับล่าสัตว์เอามาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวสิ่งที่มักจะขาดแคลนคือน้ำ พวกเขาจึงต้องย้ายที่หาน้ำไปเรื่อยๆ และมีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น

ผืนแผ่นดินที่เขาอาศัยอยู่เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ บรรพบุรุษสั่งสอนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ไม่ให้ทำร้ายผืนแผ่นดิน ความเชื่ออันนี้มาจากความฝังใจใน “ชุกกาพ่า” ที่ฉันกล่าวถึงข้างต้นชาวอะบอริจินีสจึงไม่ยอมขุดดินหรือหักร้างถางพงเพื่อการเพาะปลูก ภูเขาเกือบทุกลูก ต้นไม้ทุกต้น และแหล่งน้ำ ทุกแห่งมีความหมายทั้งสิ้น ดังในเพลงที่เขาแต่งขึ้น พวกเขาเชื่อว่าดินแดนที่ได้อยู่อาศัยมาถึงสี่หมื่นปีเป็นดินแดนที่สมบูรณ์แบบหาที่ติมิได้ ในเมื่อพระเจ้าของพวกเขาได้สร้างมาเล่นนั้น ก็ควรจะดำรงไว้เช่นนั้นสืบไป

ชาวอะบอริจินีสจะไม่จับกบมากินเป็นอาหาร เพราะเชื่อว่าพลังงานที่ใช้ไปเพื่อการนี้จะไม่คุ้มกับพลังงานที่จะได้มาจากการกินกบ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้พวกเขาโดยเฉพาะผู้หญิงทั้งสาวและแก่จึงได้อาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ลูกที่เกิดมาจึงใม่ค่อยจะแข็งแรงหรือสมประกอบ ในกรณีหลังเขามักจะฆ่าท้องเสีย เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเลี้ยงเอาไว้

เป็นประเพณีของชาวอะบอริจินีสที่จะไม่อาบน้ำ เพราะถือว่าเหงื่อที่ออกมานั้นทำให้เย็นและมีความจำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ชาวผิวขาวได้พาเอาความ “ศิวิไล” และกฎเกณฑ์จากประเทศของตนเข้ามาใช้ซึ่งขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงจากความเชื่อ “ชุกกาพ่า” ยิ่งนานเข้า ชาวอะบอริจินีสยิ่งรู้สึกว่าวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมกำลังขะถูกกลืนเข้ากับสิ่งใหม่ๆ นั่นเป็นสิ่งที่เขายอมรับไม่ได้ แต่ไม่มีทางต่อสู้

ทามกลางวัฒนธรรมใหม่ๆพวกเขาแทบจะไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกเลยจาก “ชุกกาพ่า” สิ่งที่เขายังทำอยู่ก็คือ การวาดภาพแกะสลักเล่าความเป็นมาของบรรพบุรุษของตนแต่กาลก่อน ภาพวาดนี้ได้รับการบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดี เมื่อไม่มีทั้งกำลังและปัญญาที่จะไปสู้รบตบมือหรือหวนกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมจะมีอะไรดีไปกว่าหันเข้าหาเหล้าและยาเสพติดเป็นเครื่องปลอบใจ ส่วนพวกเด็กๆก็ดมกาวกันทั่ว

ความจริงมนุษย์สมัยใหม่น่าจะเอาเยี่ยงอย่างการดำรงชีวิตในบางเรื่องของชาวอะบอริจินีส ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (ไม่ใช่ดมกาว หรือดื่มเหล้าหรือเสพยา) แอร์สร็อค หรือ “อูลูรู” เป็นสถานที่ที่ชาวอะบอริจินีสเคารพนับถือ เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธ์ ได้แสดงความจำนงไม่ปรารถนาจะให้ใครปีนขึ้นไปบนยอดสุด แต่น่าสมเพชนักมีนักท่องเที่ยวทั้งฝรั่งและเอเชียพยายามปีนขึ้นไปจนได้ เพื่อจะได้ขึ้นไป “พิชิต” หินลูกนี้มาได้ ฉันเองไม่ได้ขึ้นไป ไม่ใช่เพราะไม่มีกำลังวังชา ฉันเป็นนักกีฬามาตลอดชีวิต ทว่าเคารพในเจตนารมณ์ของชาวอะบอริจินีสต่างหาก ไม่ต้องการทำร้ายจิตใจของพวกเขาให้บอบช้ำมากไปกว่าที่เป็นอยู่

เราคนไทยก็มีสถาบันและสิ่งที่เคารพบูชาที่คนต่างชาติบางคนไม่ (พยายามจะ) เข้าใจ ฉันเคยไล่นักท่องเที่ยวหญิงคนหนึ่งที่ปีนขึ้นไปถ่ายรูปบนกำแพงในพระบรมมหาราชวังมาแล้วเมื่อสามสี่ปีก่อนไม่แคร์แม้แต่นิดเดียวว่าทัวร์ลีดเดอร์ของเขาจะทำตาขุ่นตาเขียวเอากับฉันอย่างไร