เที่ยวไปบนหลังคาโลก ตอนที่ 1

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ท่าอากาศยานเมืองเซี่ยงไฮ้ในบ่ายจัด วันนั้นคลาคล่ำและคึกคักไปด้วยผู้คนที่กำลังจะเดินทางไปยังเมืองต่างๆในประเทศจีน เสียงสนทนาของผู้โดยสารดังอยู่เซ็งแซ่ ฟังดูแล้วเหมือนคนกำลังทะเลาะกันเสียมากกว่าจะเป็นการพูดคุยกันอย่างธรรมดา เคราะห์ดีที่คณะของเราต่างก็คุ้นเคยกับประเทศจีนกันมาบ้างพอสมควร เพราะแต่ละคนได้อยู่ในประเทศนี้มาอย่างน้อยก็คนละปีสองปี จึงไม่ได้แสดงความรู้สึกใดๆ ออกมานอกหน้า

คณะของเรามีอยู่ทั้งหมดสิบแปดคนเป็นชาวอเมริกันสิบคน และชาวเยอรมันหกคน ที่เหลือเป็นชายสวิสหนึ่งและหญิงไทยอีกหนึ่ง สมาคมชาวต่างชาติ ของเมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Expatriate Association) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า SEA เป็นผู้จัดการเดินทาง

จอห์น เจียง หนุ่มใหญ่ชาวจีนร่างสูงสมาร์ตจากบริษัทหัวติงท่องเที่ยวมาส่งที่สนามบินและมาตรวจดูความเรียบร้อย เขาจะไม่เดินทางไปด้วยในเที่ยวนี้ แต่ปล่อยให้เจ้าตี๋หน้าหยกนามกรออกเสียงว่า หมา ในภาษาแมนดาริน ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ม้า เป็นหัวหน้าทัวร์ติดตามเราไปทิเบตด้วย นายหมาอาจจะเห็นว่าคนจีนสมัยใหม่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งมังค่าแต่แกก็คงอยากมีชื่อภาษา ‘ปะกิด’ กับเขาบ้างจึงบอกให้พวกเราเรียกเขาว่า โพนี่ แปลว่า ม้าตัวเล็ก ก็เหมาะสมดี เพราะม้าตัวเล็ก ไม่สูงสมาร์ตเหมือนหัวหน้าคือ จอห์น เจียง

นึกเสียดายที่จอห์นไปด้วยไม่ได้ เพราะจอห์นเก่ง ตัดสินใจดี แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้รวดเร็ว และเขาก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับพวกเราแต่อย่างใด เนื่องด้วยเวลาสมาคมจัดทริปไปเที่ยวในเมืองจีน ก็มักจะมีจอห์นจากบริษัทหัวติงท่องเที่ยวประสานงานอยู่ด้วยเสมอส่วนหญิงไทยคนนี้สนิทสนมกับจอห์นดี ด้วยเคยเดินทางกับเขามาแล้วหลายครั้ง

เครื่องบินที่เราจะโดยสารไปเมืองเฉิงตู (Chengdu) ในเย็นวันนี้นั้นเสียเวลาไปกว่าสองชั่วโมงสนามบินเก่าที่เซี่ยงไฮ้ไม่ใช่สนามบินในฮ่องกง หรือปารีส จึงไม่มีร้านหนังสือหรือร้านรวงขายสินค้าล่าสุดให้เดินดูฆ่าเวลา พวกเราจึงนั่งคุยกันด้วยเรื่องสัพเพเหระแบบคนที่มาจากประเทศต่างๆ แต่มาใช้ชีวิตและชะตากรรมร่วมกันในเมืองจีนด้วยหน้าที่การงาน เราคุยกันเรื่องราคาของยาไดอาม็อกซ์ (Diamox) ที่หมอแนะนำให้ทุกคนกินก่อนออกเดินทาง เพื่อไปช่วยกระตุ้นให้หายใจเอาออกซิเจนเข้าในร่างกายได้ดีขึ้น และยังสามารถป้องกันโรค “เมาภูเขา” หรือ “เมาความสูง” ได้อีกต่างหาก

ในที่สุดเราก็ไปถึงเมืองเฉิงตู ไก๊ด์ของเมืองนั้นได้มารอรับอยู่แล้ว พร้อมรถโค้ชสำหรับคนและรถโกดังสำหรับกระเป๋า พวกเราตกลงกันว่าจะไม่แวะกินอาหารเย็นในภัตตาคารที่เขาจัดไว้ให้เพราะกว่าจะเช็คอินเข้าโรงแรมฮอลิเดย์อินน์ก็สี่ทุ่มกว่าเข้าไปแล้ว ฝนตกลงมาปรอยๆ ชวนให้น่านอนเป็นที่ยิ่ง บางคนขึ้นห้องไปนอนเอาแรงไว้สำหรับวันรุ่งขึ้น ส่วนพวกนกฮูกหรือพวก “ดายฮาร์ท” ที่ยังเหลือก็ออกไปนั่งจิบเบียร์และกินอาหารเบาๆ รองท้องที่ค็อฟฟี่ช็อปก่อนเข้านอน

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม

มีความรู้สึกว่าหัวถึงหมอนไม่ทันไร “เวคอั๊พคอลล์” ก็ดังขึ้นปลุกเสียแล้ว เหลือบดูนาฬิกาเป็นเวลาตีสี่สิบห้า อาบน้ำสระผมแล้วลงไปกินอาหารเช้าตอนตีสี่สี่สิบ ทั้งๆที่ยังเช้าอยู่นี่แหละ ทุกคนก็กินอาหารกันอย่างหิวโหย เพราะอาหารหนักที่ตกถึงท้องเป็นมื้อสุดท้ายนั้นเป็นเย็นวานซืน หลังอาหารเช้าทุกคนลากกระเป๋าของตนเองไปรอไก๊ด์อยู่ในล็อบบี้เพื่อจะพาไปส่งสนามบินของเมืองเฉิงตู เครื่องบินกำหนดออกเวลาหกโมงสี่สิบ คราวนี้ไม่มีดีเลย์ แต่แน่นไปด้วยชาวจีนที่กำลังจะเดินทางไปเมืองลาซ่า เมืองหลวงของทิเบต พวกเขาไม่ได้เดินทางไปเที่ยวอย่างเรา แต่ไปทำธุรกิจที่นั่นในเมืองลาซ่ามีชาวจีนจากเซี่ยงไฮ้ไปเปิดร้านรวงขายของกันอยู่มากมาย หากใครได้เคยอยู่ในประเทศจีนมานานพอสมควร คงจะนึกภาพออกว่าการที่ได้เข้าไปรอเครื่องบินอยู่ในห้องผู้โดยสารที่แน่นขนัดนั้นจะชุลมุนวุ่นวายสักเพียงใด พอประกาศให้ขึ้นเครื่องดังขึ้นเท่านั้น ทุกคนต่างก็เฮโลเบียดเสียดยื้อแย่งกันแทบจะตกบันไดตายเพื่อจะไปให้ถึงรถบัสและขึ้นเครื่องได้ก่อนใคร เวลาขาลงก็ไม่ต้องรอคิวให้ผู้โดยสารข้างหน้าลงเสียก่อน แต่จะแทรกตนเองออกมาก่อนหน้าตาเฉย ตัวใครตัวมันเครื่องบินเที่ยวนี้ไม่มีชั้นธุรกิจ

ถึงสนามบิน “ก็องการ์” เมื่อเวลาแปดนาฬิกาครึ่งไก๊ด์หนุ่มท้องถิ่นชาวทิเบตนามกรว่า “ตาว่า”

มารอรับอยู่แล้วพร้อมรถโค้ชคันเล็กและรถโกดังปิดประทุนสำหรับบรรทุกกระเป๋า รถโกดังคันนี้จะติดตามเราไปทุกหนทุกแห่งในทิเบต

พอลงจากเครื่องบินเราสูดลมหายใจเย็นฉ่ำเข้าปอดกันอย่างเต็มที่ ให้สมกับมาจากเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษเช่นเซี่ยงไฮ้ พระอาทิตย์ทอแสงสวยงามให้ความอบอุ่นไปทั่ว ท้องฟ้าเป็นสีครามสดใส ไม่มีเมฆมาปิดบัง อุณหภูมิอยู่ในราวสิบห้าองศาเซลเซียส ไม่มีใครรู้สึกหนาวจนต้องสวมเสื้อแจ๊คเก้ตเพราะอากาศแห้งจึงทำให้รู้สึกเย็นสบาย ท้องฟ้าแลดูใกล้เหลือเกิน มีความรู้สึกราวกับว่าหากจะยื่นมือออกไปก็คงจะจับได้ ภูเขาสูงสีน้ำตาลโอบล้อมสนามบินก็องการ์ แลดูแปลกตาเมื่อเห็นภูเขาสูงที่ปราศจากต้นไม้หรือมีหิมะปกคลุม เนื่องด้วยลาซ่าตั้งอยู่ในเขตสูงประมาณสามพันเจ็ดร้อยเมตรเหนือระดับน้ำทะเล อากาศจึงค่อนข้างบาง เราจำเป็นต้องเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้

“ตาว่า” ไก๊ด์หนุ่มอายุ ๒๒ ปี หน้าตาคมคายค่อนข้างเจ้าเนื้อ แนะนำตนเองให้เรารู้จักพร้อมกับอธิบายว่าชื่อของเขาในภาษาทิเบตแปลว่า “พระจันทร์และวันจันทร์” ส่วนคนขับรถนั้นพวกเราไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะเขามีประสบการณ์ขับรถในถิ่นนี้มานานถึงยี่สิบปีแล้ว

พูดจบตาว่าก็งัดเอาผ้าพันคอไหมผืนยาวสีขาวหรือที่คนทิเบตเรียกว่า “คาดั๊ก” มาคล้องคอให้ทุกคนพร้อมกับอธิบายว่าเป็นธรรมเนียมการต้อนรับของชาวทิเบต หลังจากที่ได้ไปเที่ยวที่ต่างๆ ในทิเบตไม่นานเราก็พบว่า “คาดั๊ก” มีแขวนอยู่ทั่วไป ทั้งในบ้าน วัง โบสถ์และวัดวาอาราม

รถโค้ชที่มารับเป็นขนาดเล็กมีที่นั่งยี่สิบที่เครื่องยนต์ใช้น้ำมันดีเซล ไม่มีโฟร์วีลไดร์ฟ (Four Wheel Drive) ที่นั่งเป็นขนาดคู่ แต่ละที่นั่งเล็กมากเข้าใจว่าสร้างขึ้นสำหรับคนทิเบตหรือคนจีนตัวเล็กๆ ไว้นั่งสองคนมากกว่า เมื่อพวกเราซึ่งมีรูปร่างขนาดน้องๆ ยักษ์วัดแจ้งต้องมานั่งคู่ จึงจำเป็นอยู่เองที่คนใดคนหนึ่งจะหย่อนก้นนั่งได้เพียงครึ่งเดียว แต่ทั้งคณะก็ดีใจหายไม่บ่นว่ากระไร ต่างยอมรับสภาพอย่างหน้าชื่นตาบานเพราะก่อนไปเที่ยวทิเบตก็ได้เตรียมใจมาแล้วว่าจะรับสภาพทุกอย่าง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย หากต้องการท่องเที่ยวไปในที่สบายๆ เราก็คงจะเลือกไปเที่ยวในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะได้สะดวกสบาย ไม่ต้องมาทรมานทรกรรมเช่นนี้

เรามุ่งหน้าไปเมืองซีตาง (Tsedang) ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินก็องการ์ไปประมาณสองชั่วโมง แม้ว่าถนนจะคับแคบหากว่าเรียบสบาย เราจึงใช้เวลาทอดอารมณ์ชมวิว ทั้งสองข้างถนนเรียงรายไปด้วยหมู่บ้านชาวนาทิเบตที่สร้างด้วยดินเหนียว ไก๊ด์บอกว่าชาวนาทิเบตส่วนใหญ่ทำนาและเลี้ยงสัตว์ บ้านแต่ละหลังหันหน้าไปทางทิศใต้ เพื่อให้แดดส่องเข้าบ้านให้ได้เต็มที่ตลอดวัน เพราะไม่มีเครื่องทำความร้อนสำหรับหน้าหนาวเช่นเดียวกับชาวจีนเหมือนกัน บ้านของชาวนาคนจีนแม้ภายนอกจะดูใหญ่โต แต่ในตัวบ้านสร้างด้วยวัสดุที่หาง่าย ราคาถูก และไม่มีอุปกรณ์ให้ความสะดวกสบายแต่อย่างไร แม้แต่น้ำร้อนก็ไม่มีใช้

บนหลังคาบ้านของชาวทิเบตมีกระจกและเขาของตัวจามรีติดอยู่ จามรีเป็นสัตว์ที่มีขนคอยาวคล้ายม้า ชาวทิเบตเลี้ยงเอาไว้ช่วยไถนาต่างวัวและควายเขาเชื่อกันว่าทั้งกระจกและเขาของจามรีมีอำนาจป้องกันปีศาจและวิญญาณชั่วร้ายได้ เพราะกระจกจะสะท้อนแสงขับไล่วิญญาณออกไป นอกจากสองสิ่งนี้แล้ว ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือธงสลับห้าสีซึ่งประดับอยู่ทั่วไปอันหมายถึงธาตุทั้งห้า สีฟ้าหมายถึงท้องฟ้า สีขาวเมฆ สีแดงไฟ สีเหลืองแผ่นดิน และสีเขียวคือน้ำ บนธงมีตัวอักษรเป็นภาษาทิเบตเขียนไว้ แปลได้ว่า “ขอความสวัสดีจงมีแด่ดวงมณีที่เรืองแสงอยู่ในดอกบัว” นานๆทีเขาก็จะเปลี่ยนธงเสียทีหนึ่ง โดยมากเป็นวันขึ้นปีใหม่สังเกตว่าตัวอักษรทิเบตคล้ายคลึงกับอักษรภาษาไทยอย่างน่าทึ่ง อาจจะเป็นเพราะว่าตัวอักษรในภาษาทิเบตแผลงมาจากภาษาสันสกฤตเช่นตัวอักษรไทยก็เป็นได้

รถพาเราผ่านแม่น้ำ “ยาลองซางโป” ซึ่งมีความยาวถึงสามพันหกร้อยกิโลเมตร ด้วยเหตุที่แม่น้ำซางโปอยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึงสี่พันห้าร้อยเมตรจึงเป็นแม่น้ำที่อยู่สูงที่สุดเหนือแม่น้ำใดๆในโลก รถผ่านทุ่งข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ถั่ว มันฝรั่ง และต้นเรพที่มีดอกสีเหลืองเก็บไว้ทำน้ำมันทุ่งสีเหลืองทองแบบนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในประเทศยุโรประหว่างช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทุ่งมัสตาร์ดเพราะมีสีเหลืองคล้ายคลึงกัน

พอใกล้จะถึงตัวเมืองซีตางเห็นป่าปลูก เรียกว่า “กรีนเบลท์” มีต้นไม้จำพวกต้นหลิว ต้นพอพล่ารวมทั้งต้นลูกแพร์และแอปเปิ้ลขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น

ไปถึงโรงแรมซีตางตอนสิบเอ็ดนาฬิกา พอเช็คอินแล้วต่างก็แยกกันไปพักผ่อนจนกว่าจะถึงเวลาบ่ายโมงซึ่งเป็นเวลาอาหารกลางวัน การพักผ่อนจะช่วยให้ค่อยๆคุ้นกับความสูง ต้องดื่มน้ำสะอาดมากๆไม่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ ทางโรงแรมมีหมอนหนุนที่มีท่อสำหรับช่วยหายใจเตรียมไว้พร้อม นอกจากนี้ก็มีขวดออกซิเจนเผื่อไว้อีกด้วยในยามฉุกเฉิน

เนื่องจากยังไม่สู้ชินกับอากาศ ทุกคนจึงมีความรู้สึกว่ากว่าจะไต่บันไดขึ้นไปถึงห้องนอนที่อยู่บนชั้นหนึ่งนั้นเหนื่อยแทบขาดใจตาย แม้แต่ในตอนเช้าหลังจากที่เพิ่งตื่นนอนอาบน้ำแต่งตัวมาใหม่ๆ เพียงแต่ก้มลงสวมรองเท้าก็แทบจะสิ้นลมเสียแล้ว

อาหารกลางวันเป็นอาหารจีนหลายอย่างปรุงรสอร่อยไม่เลี่ยนเหมือนอาหารจีนในเซี่ยงไฮ้ มีเผ็ดนิดๆ จึงเป็นที่ถูกปากของชาวคณะทุกคน ทำให้กระหยิ่มว่าคงจะไม่ต้องอดตายในทิเบตเป็นแน่แท้ ขนมนมเนยที่อุตส่าห์ขนเอามาด้วยจากเซี่ยงไฮ้นั้นคงจะปาทิ้งไปได้แล้ว อนิจจา เราฝันหวานล่วงหน้าเกินไปเสียแล้ว

เวลาบ่ายสองโมงขณะที่รถกำลังจะออกจากโรงแรมซีตางไปปราสาท “ยัมบู ลากัง” ฝนเริ่มตกลงมาปรอยๆ อุณหภูมิลดลงฮวบฮาบ ยัมบู ลากัง อยู่ทางทิศใต้ ห่างจากเมืองซีตางไปประมาณสิบสองกิโลเมตรตาว่าไก๊ด์หนุ่มบอกว่า ซีตางในภาษาทิเบต แปลว่า “สวนสนุก” ที่มีชื่อเช่นนั้นก็เพราะชาวทิเบตเชื่อว่าพวกเขามีกำเนิดมาจากการผสมพันธุ์ระหว่างลิงและรากษสในสมัยโบราณพวกลูกๆหลานๆของลิงและรากษสได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่เล่นหัวด้วยความสนุกสนานสำราญใจ จึงได้ชื่อว่า ซีตาง คงจะมีคนนึกขันที่คนทิเบตงมงายเช่นนี้ แต่หากคิดดูให้ดี หลักทฤษฎีของ ชาลส์ ดาร์วิน เองก็เชื่อว่ามนุษย์ถือกำเนิดมาจากลิงเช่นกันใช่ไหมคะ?

ปราสาทยัมบู ลากัง แลดูเด่นเป็นสง่า มองเห็นได้แต่ไกล เพราะตั้งอยู่บนเนินเขาสูงหนึ่งร้อยเมตรเหนือหุบเขาชื่อว่า “ยาลอง” ไก๊ด์บอกว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ๑๒๗ ก่อนคริสต์ศักราช สำหรับเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกซึ่งชาวทิเบตเชื่อว่าได้จุติมาจากสรวงสวรรค์ แหงนมองจากเบื้องล่างแลเห็นฝาผนังภายนอกที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุหินเคลือบเป็นสีขาวแดงแก่ผสมสีเหลืองออกทอง

อย่าว่าแต่คนที่ไม่เคยชินกับการออกกำลังกายเลยแม้แต่คนที่แข็งแรง ถ้าจะต้องเดินขึ้นเนินที่อยู่สูงประมาณหนึ่งร้อยเมตรบนที่สูงสามพันห้าร้อยเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ก็หนักเอาเรื่องเหมือนกันนะคะยิ่งสูงขึ้นไปเท่าไร อากาศก็ยิ่งบางมากขึ้นเท่านั้น เพราะออกซิเจนมีน้อย แถมฝนยังตกปรอยๆอีกต่างหากทำให้การเดินขึ้นไปบนฐานปราสาทยิ่งทุลักทุเลยิ่งขึ้น แต่เมื่อได้ไต่ขึ้นไป

แล้วรางวัลที่ได้รับนั้นแสนจะคุ้มค่า วิวที่เห็นอยู่เบื้องล่างสวยจับใจ ใบไม้ต้นไม้แลดูสดชื่นหลังฝนไกลออกไปเป็นท้องทุ่งสีเขียวชอุ่มสุดลูกหูลูกตา มีทางเดินคดเคี้ยวไปมา สลับด้วยแม่น้ำและลำธารที่ไหลเอื่อยตัดกัน บ้านชาวนาตั้งอยู่ที่นั่นและที่นี่ แลดูแปลกตาชายเลี้ยงแกะขี่หลังลามาตามทางขึ้น มีสัมภาระบรรทุกอยู่บนหลัง เด็กๆชาวทิเบตประมาณห้าหกคนในเครื่องนุ่งห่มที่ควรจะเรียกว่า “ผ้าขี้ริ้ว” มากกว่าร้องเพลงเป็นภาษาฝรั่งเศส “Frere Jacques, Frere Jacques, Dormez Vous, Dormez Vous” พอได้ฟังเพลงบทนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส “แมเรียน” เพื่อนชาวอเมริกันช่วยสอนเด็กๆให้ร้องเพลงบทนี้เป็นภาษาอังกฤษแทน ทันทีทันใด เสียงเพลง “Are You Sleeping, Are You Sleeping, Brother John, Brother John” ก็ดังกระหึ่มไปทั่วหุบเขา หัวใจของเราถูกบีบให้เหลือนิดเดียวเมื่อได้ยินเด็กๆร้องเพลงเป็นภาษาต่างชาติเพื่อเอาใจแขกต่างประเทศที่นานๆจะได้พบสักครั้งหนึ่ง แลกกับค่าตอบแทนเพียงไม่กี่หยวนที่คนใจดีหยิบยื่นให้ “จูเสีย” เพื่อนชาวอเมริกันอีกคนหนึ่งควักเอาลูกกวาดสีสวยออกมาแจกจ่ายให้พวกเด็กๆ หากใครอยากจะเห็นความสุข ความยินดีที่บริสุทธิ์ในทันทีทันใดแล้วละก็จะเห็นได้ในตอนนี้เอง เด็กๆยิ้มร่าด้วยความดีใจที่นานๆจะได้ลิ้มรสขนมอร่อยๆเช่นนี้ เรื่องเงินดูจะเป็นเรื่องรองลงไปเสียแล้ว จูเสียต้องคอยระวังแจกจ่ายแคนดี้ให้เด็กๆอย่างทั่วถึงกัน ไม่เช่นนั้นใครที่ตัวเล็กกว่าจะอดเพราะจะโดนแย่งจากเด็กโต ตลอดการเดินทางจูเสียมีขนมหวานแจกเด็กๆเสมอ เธอบอกว่าเห็นความสุขในดวงตาของเด็กแล้วชื่นใจ

เด็กผู้หญิงอยู่หนึ่งตัวโตกว่าใครเพื่อนพอเราหยิบเงินแจกเด็กเล็กๆ พี่แกก็แย่งเอาไป แม้ว่าตัวเองจะได้ทั้งเงินและขนมไปแล้ว เพราะถือว่าตัวโตกว่าแข็งแรงกว่า ฉันอดใจไว้ไม่ได้ ผลักมือแกออกไป แต่ยิ่งผลักก็เหมือนยิ่งยุ ในที่สุดฉันอดรนทนไม่ได้ กระชากหน้าอกเสื้อผลักแม่ตัวดีออกไป แกมองฉันด้วยด้วยความโกรธและพิศวง ทำให้ฉันเกิดความละอายในการกระทำของตนเอง เมื่อเกิดความละอายใจตนเอง ฉันก็นึกเกลียดเด็กผู้หญิงคนนี้มากขึ้น เพราะแกทำให้ฉันต้องเกลียดตนเอง

จากลานเบื้องล่างที่เป็นฐานของปราสาทความจริงน่าจะเรียกว่าวัดมากกว่า เพราะแม้ว่าจะเคยเป็นปราสาทมาก่อน แต่มันได้กลายเป็นวัดมานานแล้วเราต้องขึ้นบันไดที่สูงชันเพื่อไปให้ถึงโบสถ์ ระหว่างชั้นพักช่วงบันได มีประตูเล็กๆเจาะเข้าไปในระหว่างกำแพง เหนือประตูมีม่านผ้าเก่าๆปักสลับสีเป็นลวดลายงดงามแขวนเอาไว้เรียกว่า “ทังกา” ในภาษาทิเบต เห็นได้ว่าผ้าผืนนี้คงจะแขวนไว้นานหลายปีแล้วจึงดูเก่าเหมือนผ้าขี้ริ้ว หากจะไม่ใช่ลวดลายปักที่ยังคงเหลือเอาไว้บ้าง

“ทังกา” คือม้วนกระดาษหรือผ้ายาวๆ วาดหรือปักเป็นลวดลายมีสีสัน มักจะแขวนไว้ตามโบสถ์หรือวิหาร ถือเป็นปัจจัยสำหรับการสักการะอย่างหนึ่ง “ทังกา” เป็นศิลปะที่มีคุณค่าในทางศาสนาชิ้นหนึ่งของชาวทิเบต ยิ่งใหญ่ เก่า และฝีมือการปักประณีตเท่าไรก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้นชาวเมืองบางแห่งจัดเทศกาลพิเศษโดยเฉพาะเพื่อทำพิธีแขวน “ทังกา” เขาจะสร้างโครงเหล็กมหึมาขึ้นเหนือวัดหรือในตัวเมือง แล้วทำพิธีแขวน เมื่อหมดพิธี โครงเหล็กก็ว่างไว้สำหรับพิธีในคราวต่อไป ผืนผ้าเหล่านี้มักจะปักเป็นตำนานหรือประวัติของพระพุทธเจ้าในปางต่างๆ บางครั้งก็ปักเป็นรูปสัตว์เช่นช้างเป็นต้น เทียบได้กับจิตรกรรมบนฝาผนังในวัดของไทย

ลอดม่านเหนือประตูเข้าไป เห็นห้องเล็กๆทึมๆ พอสายตาชินกับความมืดแล้ว จึงได้เห็นว่าเป็นห้องครัว มีเตาไฟเก่าๆที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง มีหม้อและเครื่องใช้เต็มไปด้วยคราบสกปรกแขวนอยู่บนฝาครัว พระของวัดคงจะใช้ห้องนี้เป็นที่ปรุงอาหารมีเตียงเก่าๆวางชิดฝาผนังอยู่เตียงหนึ่ง