ตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ ประวัติศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เพ็ญจะสนใจเป็นพิเศษและมักจะทำให้คะแนนท๊อปในชั้นเรียนเสมอๆ ทั้งๆที่โรงเรียนที่เรียนอยู่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร คราใดที่เป็นชั่วโมงวิชาประวัติศาสตร์ของเอเชีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาณาจักรของมองโกเลียแล้ว เพ็ญจะรู้สึกสนุกเป็นพิเศษ ด้วยทั้งในชื่อแปลกๆ ของผู้ปกครองประเทศอันยิ่งใหญ่ของดินแดนแห่งนั้น เธอมักจะท่องชื่อจักรพรรดิต่างๆ เช่น เจงกิสข่าน กุบไลข่าน ฯลฯ ได้อย่างขึ้นใจ ด้วยพระนามเหล่านี้สร้างมโนภาพอันมีสีสัน ให้เกิดขึ้นในใจของสาวน้อย
เพ็ญวาดภาพไปถึงนักรบผู้เกรียงไกล ควบหลังม้าตัวใหญ่สีน้ำตาล ชุดเสื้อผ้านักรบโบราณของชาวมองโกลที่สวมอยู่ปลิวสะบัดไปตามแรงลม ในขณะที่ม้าวิ่งตะบึงตัดผ่านทุ่งหญ้าเขียวขจี และทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาลจนถึงทวีปยุโรปและประเทศต่างๆในแถบตะวันออกกลาง นักรบชาวมองโกลจะประหารศัตรูทุกคนที่ขวางหน้า รวมไปถึงพระเจ้ากาหลิบแห่งแบกแดด แม้แต่ของทะเลทราย “โกบี” แต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นเหตุผลอันเพียงพอที่จะทำให้จินตนาการของเพ็ญตลอดจนถึงนักเดินทางที่โรแมนติกทั้งหลายเตลิดเปิดเปิงไปไกล เพราะต่างก็กระหายที่จะได้เข้าไปลิ้มลองบรรยากาศของสถานที่แห่งนั้น
เมื่อเพ็ญโตเป็นสาว แม้ว่าจะได้มีโอกาสเดินทางไปเกือบทั่วโลก ได้มีโอกาสไปพำนักอยู่ในประเทศต่างๆเป็นเวลาเนิ่นนานหลายปี แต่จินตนาการของเพ็ญที่เกี่ยวโยงกับอาณาจักรมองโกลยังคงระอุอยู่ในใจไม่เสื่อมคลาย ในที่สุดความฝันของเพ็ญก็เป็นความจริงเมื่อมีโอกาสได้มาพำนักอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลาหลายปี ประเทศมองโกลเลียจึงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม สมาคมชาวต่างชาติของเซี่ยงไฮ้หรือที่เรียกกันว่า (Shanghai Expatriate Association) หรือ SEA ก็ได้จัด ทริปพิเศษสุดนี้ขึ้นให้สมาชิกที่สนใจ เมื่อวันนั้นมาถึงเธอและเพื่อนสมาชิกอีกสิบห้าคนตลอดจนคนข้างเคียง จึงได้ไปพบกันที่สนามบินเพื่อเดินทางไปยัง “ดินแดนของกษัตริย์เจงกิสข่าน” ที่เคยฝันไว้
วันที่ ๒๕ สิงหาคม
คณะใช้เวลาบินหนึ่งชั่วโมงสี่สิบห้านาทีจาก ปักกิ่งไปเมือง “อุลานบาตาร์” (Ulaan Baatar) ซึ่งเป็นเมื่องหลวงของสาธารณรัฐประชาชนมองโกลเลีย (People’s Republic of Mongolia) ให้แตกต่างไปจาก Inner Mongolia ซึ้งเป็นมณฑลอิสระปกครองตนเองภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏ เวลาของมองโกลเลียจึงเร็วไปกว่าของจีนหนึ่งชั่วโมง ทั้งๆที่อยู่ไปทางเหนือกว่ามาก
เมื่อไปถึงสนามบิน “บูยานท์ อุคคา” (Buyaant Ukhaa) “นารา” หรือพระอาทิตย์ในท้องฟ้าไก๊ด์สาวชาว
มองโกเลียได้มารอคณะของเพ็ญอยู่แล้ว
“ดูโน่นแน่ะ” เพ็ญชี้มือให้เพื่อนๆดูหญิงชาวมองโกลเลียกลุ่มใหญ่แต่งกายในชุดประจำชาติสีแดงหมากสุกปักด้วยใหมสีทอง
“เขามาทำอะไรกันที่นี่คะ ถึงได้แต่งกายเหมือนๆกันดูแปลกตา?”
“มารอต้อนรับพระลามะตำแหน่งสำคัญที่เดินทางมาจากประเทศค่ะ” นาราตอบ
ไกด์นาราใช้เวลาสามสิบนาที ที่นั่งรถเข้าไปในเมืองอธิบายถึงสิ่งสำคัญน่ารู้ให้ชาวคณะฟัง เพ็ญยังฟังอย่างใจจดใจจ่อเลยได้ความรู้ขึ้นมาว่า “อุลาน บาตาร์” แปลว่า “Red Hero” แต่ลืมซักไปว่าสีแดงนี่มีความหมาย “East is Red” เช่นเดียวกับของจีนหรือเปล่า
“เมืองที่ดูท่าจะตั้งอยู่สูงเหมือนกันนะเพราะเห็นมีภูเขาล้อมรอบ” ใครคนหนึ่งปรารภขึ้นนาราจึงอธิบายว่าเมืองอุลาน บาตาร์ ตั้งอยู่ประมาณ ๑,๓๕๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีประชาชนอาศัยอยู่เจ็ดแสนคน ซึ่งเป็นเศษหนึ่งส่วนสามของประเทศที่มีพลเมืองทั้งหมดสองล้านสามแสนคนนอกจากจะเป็นเมืองหลวงแล้ว อุลาน บาตาร์ ยังเป็นศูนย์กลางทางการเมืองวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ตลอดจนถึงอุตสาหกรรมของประเทศอีกด้วย
“คำนวนแล้วพวกพลเมืองทั้งประเทศก็ไม่มากเท่าไหร่นะ เมื่อเทียบกับขนาดของประเทศที่มีเนื้อที่ถึงหนึ่งล้านห้าแสนหกหมื่นหกพันห้าร้อย ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่หรือครับ?” โทเบียสหนุ่มเชื้อชาติเยอรมันสัญชาติอเมริกันกล่าวขึ้น
“ใช่ค่ะ” นารายอมรับ “มองโกเลียใหญ่กว่าฝรั่งเศสเป็นสามเท่าก็จริง แต่ว่าชาวมองโกเลียส่วนใหญ่ อาศัยอยู่นอกประเทศค่ะ อยู่ที่ประเทศจีนถึงสามล้านห้าแสน และอยู่ที่รัสเซียอีกเกือบล้าน แม้แต่แถวทะเลสาบแคสเปียนและอัฟกานิสถานก็มีชาวมองโกเลียพำนักอยู่”
“นั่นแม่น้ำอะไรไม่ทราบ” สำเนียงออสเตรเลีย ของจูดี้ดังขึ้น
“แม่น้ำทูล กอล ค่ะ (Tuul Gol) เมืองอุลาน บาตาร์ ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำนี่” นาราตอบด้วยเสียงเนิบๆ “อุลาน บาตาร์ ได้กลายเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๔ เป็นประเทศที่สองที่หันไปใช้ระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๙๙๐ ได้เปลี่ยนจากระบบคอมมิวนิสต์ไปเป็นประชาธิปไตย พยายามพึ่งตนเองแทนที่จะไปพึ่งโซเวียต รัสเซีย (ในครั้งนั้น) อย่างเช่นแต่ก่อน ในปัจจุบันรัฐบาลมองโกเลีย มีประธานาธิบดีและมีรัฐสภาปกครองเรียกว่า “ฮูราล Hural”
“คุณสังเกตไหมเพ็ญว่า ถึงแม้มองโกเลียจะได้ตีตนออกห่างจากโซเวียตมาหลายปีแล้ว แต่อิทธิพลของประเทศนั้นยังมีอยู่เพียบเลย?” ฮันส์ สามี ของเพ็ญกระซิบเบาๆ พอได้ยินกันสองคนในขณะที่รถวิ่งผ่านโรงงานไฟฟ้า แต่เดวิดก็ยังหูไวแอบได้ยินจนได้ จึงมีสำเนียงอเมริกันแซงมาว่า
“จริงอย่างที่คุณพูดฮันส์ คุณดูปล่องไฟนั้นสิ น่าเกียดจริงๆ แต่ชาวโซเวียตสมัยก่อนก็ภาคภูมิใจมันหนักหนา”
จริงอย่างที่เดวิดพูด ควันดำลอยตัวขึ้นไปในท้องฟ้าสีน้ำเงินที่กลายเป็นสีขมุกขมัวสกปรกหากไม่มีปล่องไฟเสียอย่าง ธรรมชาติโดยทั่วไปของเมืองจะสวยกว่านี้อีกมาก เพราะมีภูเขาโอบล้อมอยู่ถึงสี่ลูก มีแม่น้ำ และลำธารไหลตัดผ่านทุ่งหญ้าเขียวขจี เสียแต่กลาดเกลื่อนไปด้วยถุงพลาสติกสีขาวที่โยนทิ้งอย่างไม่อินังขังขอบ นอกจากปล่องไฟอัปลักษณ์นี่แล้ว ยังมีท่อน้ำเหล็กหุ้มฉนวนสร้างยกอยู่เหนือพื้นที่ราบอีกต่างหาก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของโซเวียต
พอรถข้ามสะพานมีเด็กกลุ่มโตแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำในขณะที่หญิงชาวบ้านนั่งซักผ้ากันเป็นแถว
“Campsiteที่เห็นนั้น เยิร์ท Yurt ใช่ไหมคะ?” เพ็ญถามพลางชี้มือไปยังเนินเขาที่มีกระโจมสีขาวกลมตั้งอยู่เป็นกระหย่อม เพราะเคยเข้าไปในกระโจมคล้ายกันนี้ตอนไปเที่ยวทางสายไหม
“เราไม่เรียกมันว่า เยิร์ท หรอกค่ะ เพราะ คำว่า เยิร์ท เป็นภาษาเผ่าเตอร์กิค Turkic ที่คนรัสเซียเอาไปใช้ ชาวตะวันตกคนอื่นเลยเอาไปใช้ด้วย ชาวมองโกลเลียชอบเรียกมันว่า เกอร์ Ger มากกว่าค่ะ” นาราอธิบาย
“ชาวเมืองหลวงอาศัยเกอร์เป็นที่พักอาศัยคนส่วนใหญ่ไม่มีปัญญาหาเงินไปเช่าหรือสร้างบ้านอยู่เอง เพราะไม้และอิฐหายากและแพงมากสำหรับฐานะของพวกเขา ซึ่งมีรายได้ถัวเฉลี่ยแล้วคนละ ๕๐ ดอลลาร์อเมริกันต่อปีเท่านั้นเอง พวกที่ฐานะดีขึ้นมาหน่อยก็อยู่อพาร์ตเม้นต์ที่คุณเห็นตามข้างทางนี้แหละค่ะ” นาราโบกมือไปที่ตึกรูปสี่เหลี่ยมเก่าๆ สไตล์โซเวียตซึ่งตั้งอยู่ทั้งสองข้างถนนที่รถผ่านที่ว่างข้างหลังเต็มไปด้วยสิ่งหักๆ ผุพังที่ใครต่อใครโยนทิ้งไว้ โรงงานที่สมัยหนึ่งคงจะคึกคักด้วยผู้คนบัดนี้เงียบเหงาทิ้งร้างมีแต่อะไหล่และเศษเหล็กของเครื่องจักรหักพังทิ้งอยู่เกลื่อนกลาด บอกชาวคณะให้รับรู้โดยปริยายถึงความยากจนและความสิ้นหวังของคนในเมือง
“คนของเรายังยากจนอยู่มากค่ะ ตั้งแต่มองโกเลียได้เปลี่ยนระบบการปกครองแล้ว โรงงานที่เคยเป็นของรัฐก็ล่มสลาย กลายเป็นของเอกชน คนที่เคยได้รับการดูแลจากรัฐก็ตกงาน เพราะใครที่ทำงานให้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ถูกปลด ในสมัยก่อนจะทำงานบ้างไม่ทำบ้างก็ยังได้เงินเดือนเพราะรัฐดูแลแต่เดี๋ยวนี้ต้องออกไปเตะฝุ่น เราก็มีฝุ่นแยะเสียด้วย” นาราติดตลกเพื่อคลี่คลายบรรยากาศ
“เราต้องซื้อน้ำมันและเครื่องจักรจากโซเวียตด้วยเงินจากคลัง ผิดจากสมัยก่อนที่เคยแลกได้กับขนสัตว์และเนื้อแพะ เพราะฉะนั้นก็อย่าแปลกใจเลยนะคะ หากเดินไปตามถนน ปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศค่ะ พอเศรษฐกิจล้มเหลว การรักษาพยาบาล และการดูแลต่างๆ ก็แทบจะไม่มี ชาวมองโกลเลียจึงมีอายุไม่ค่อยยืนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ผู้ชายอายุ ๖๓ และผู้หญิง ๖๘ เท่านั้น” นาราเสริมอย่างเศร้าในตอนท้ายตัวเธอเองเคยได้รับทุนไปดูงานประเทศเยอรมนีถึงหนึ่งปีเต็ม เคยเห็นระบบที่ดีกว่าเลยอยากให้ประเทศของตนพัฒนาขึ้นมาบ้าง เธอตั้งใจว่าจะเปิดบริษัทท่องเที่ยวของตนขึ้นในเร็ววันนี้ เนื่องด้วยรัฐบาลเริ่มเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว จึงกำลังพัฒนาประเทศเพื่อการนี้ ด้วยเห็นว่าจะทำเงินให้ประเทศได้มาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเป็นชาวญี่ปุ่นอเมริกัน เกาหลีใต้ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และฮอลันดา
รถวิ่งผ่านจัตุรัส “ซูกกาตาร์Sukhbaatar” ซี่งมีอนุสาวรีย์ขุนพลชื่อเดียวกันนั่งอยู่บนหลังม้าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ “แดมดิน ซูกบาตาร์ Damdin Sukhbaatar” หัวหน้าคณะเปลี่ยนการปกครองจากระบบกษัตริย์มาเป็นสาธารณรัฐประชาชนมองโกลเลีย ในปี ค.ศ. ๑๙๒๑ ด้วยความช่วยเหลือจากพวกปฏิวัติบอลเชียวิก ก่อนที่อุลานบาตาร์จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเมืองหลวงภายในสามปีต่อมา
วันที่ ๒๖ สิงหาคม
คณะของเพ็ญออกจากโรงแรมไปสนามบินตั้งแต่เช้าตรู่ตอนหกโมงครึ่งเพื่อจะบินไป “ออมโมก๊อฟ Omnogov” ซึ้งเป็นมณฑลหนึ่งในจำนวนสิปแปดมณฑล หรือ “อายหมัก” ของมองโกลเลียอยู่ไปทางใต้ของทะเลทรายโกบี นาราต้อนให้ทุกคนขึ้นเครื่องบิน
“เครื่องนี่จะไปลงที่ไหน” เบ็ตตี้ชาวอเมริกันเชื้อชาติจีนหงุดหงิดนิดหน่อยที่ในตั๋วไม่แจ้งว่าเครื่องบินจะไปไหน “ไปลงที่ ดาลานซักดาด Dalanzagdad ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลออมโนก๊อฟ” นาราตอบอีกหนึ่งชั่วโมงยี่สิบนาทีต่อมา เครื่องบินอันโตนอฟ ๒๔ ก็ร่อนลงยังสนามบินก็ไม่สู้จะถูกต้องนัก เพราะรันเวย์เป็นแต่เพียงทางวิ่งบนทรายแข็งสีน้ำตาล ท่าอากาศยานประกอบด้วยอาคารเล็กๆ สองหลัง แลดูวังเวงชอบกล ฝรั่งแต่งตัวสกปรกสะพายเป้ที่เห็นดาษดื่นแถวถนนข้าวสารตลาดบางลำพู ยืนออกันอยู่เป็นกลุ่มตรงบริเวณที่จอดรถซึ้งมีรถจิ๊ปเก่าๆ และรถปิคอั้พจอดอยู่สองสามคันข้างหลังตัวอาคาร เพ็ญได้ยินพวกเขาต่อราคากันอย่างถึงพริกถึงขิง จึงอดพูดกับฮันส์อย่างเหยียดๆ ไม่ได้ว่า “ถ้ารัฐบาลมองโกลเลียอยากได้นักท่องเที่ยวประเทศนี้เข้าประเทศแล้วละก็แทนที่จะได้เงินมาพัฒนาบ้านเมือง อาจจะได้ขยะเข้ามาแทนก็ได้ ดูประเทศฉันเป็นตัวอย่างสิ” ฮันส์หัวเราะด้วยนึกขัน เพราะรู้ว่าเพ็ญมักจะมันเขี้ยวและทนไม่ได้กับนักท่องเที่ยว “ขยะ” ในประเทศของเธอเอง
“อากาศดีจัง” สำเนียงนิวซีแลนด์ของคลิสตีนแว่วมาตามลม “ถึงแม้อุณหภูมิจะสิบสามองศาเซลเซียส แต่ความแห้งของทะเลทรายทำให้ไม่หนาว คล้ายทิเบตเหมือนกันนะ” ทุกคนพยักหน้าเห็นด้วย