หุบผาอันเขียวขจีของ George Bernard Shaw (Part 2)

วันรุ่งขึ้นเราขับรถออกจากดับลินแต่เช้ามืด แม้ว่าหนทางไปเมืองเบลฟัสต์ Belfast อันเป็นเมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือในสหราชอาณาจักรอังกฤษจะอยู่ไม่ไกลนัก แต่เราต้องการจะแวะไปตามสถานที่ต่างๆที่น่าสนใจที่ตั้งอยู่ตามทาง

Bru na Boinne บรูนาบอนน์ เป็นคฤหาสถ์ของพวก บอยน์ (Boyne) ซึ่งมีแม่น้ำชื่อเดียวกันไหลผ่าน เป็นโบราณสถานที่มีความน่าสนใจ มีอายุมากกว่า Stone Henge ในอังกฤษถึงกว่าพันปี ซึ่งแปลว่ามีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเสียอีก ใช้เป็นที่ฝังศพของพวกอีลีทหรือวีไอพีในสมัยก่อน บริเวณแบ่งออกได้เป็นสามแห่งคือ New Grange Knowth และ Dowth ยูเนสโกได้จัดบรูนาบอนน์ให้เป็นมรดกโลกและอยู่ในความคุ้มครองขององค์การ ศูนย์กลางของ บรูนาบอนน์ ทำใหญ่โตมาก มีพิพิธภัณฑ์แสดงถ้ำ คูหาและ เครื่องมือเครื่องใช้ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีรสบัสพาไปชมหลุมฝังศพทั้งสามแห่งที่ต้องการไป ถ้าจะไปหมดทุกแห่ง ก็ต้องกะเวลาเผื่อไว้ครึ่งวัน แต่การไปชมสถานที่เหล่านี้ต้องมีเสื้อผ้า รองเท้าที่เหมาะสม เนื่องด้วยอากาศที่ไม่แน่นอน เช้าที่เราไปมีฝนตกอันเป็นธรรมดาของอากาศของประเทศนี้ ความชุ่มชื้นจากฝนที่ตกแทบจะทั้งปี ทำให้ทิวทัศน์ของภูมิประเทศเขียวชะอุ่มเป็นส่วนใหญ่ และมีการกสิกรรมที่อุดมสมบูรณ์ มันฝรั่งเป็นพืชที่อร่อยที่สุดและเป็นอาหารหลักของชาวไอริช

เราขับรถต่อไปท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมาจนถึงเมือง Newgrande-Carlingforde ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลไอริช หยุดพักกินอาหารกลางวันกันในผับแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมถนนที่ทอดยาวไปตามฝั่งทะเล ดังที่เล่าแล้วข้างต้นว่า การ ผูกมิตรสนทนากันในผับเป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศนี้ ขณะที่นั่งรออาหารที่สั่งก็มีชายชาวไอริชคนหนึ่งเดินเข้ามาในผับ และมานั่งที่โต๊ะที่อยู่ติดกับเรา เขาบอกว่าเขามีอาชีพเป็นโชเฟอร์ขับรถให้บริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง แล้วก็เล่าต่อถึงเรื่องลูกสาวที่แต่งงานแล้ว แต่เขาขับรถพาไปส่งที่ทำงานในเมืองเบลฟัสต์ทุกวัน พอรู้ว่าฉันเกิดที่ประเทศไทย เขาก็บอกว่าหลานชายคนหนึ่งแต่งงานกับหญิงไทย แถมยังถามฉันอีกว่าทำไมจึงพูดภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม

เราคุยกันเรื่องจิปาถะและในที่สุดก็ไม่พ้นที่จะหันมาคุยเรื่องการเมืองของประเทศ ถามเขาว่า ใจจริงแล้วเขาอยากจะให้ประเทศของเขาเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้คือไอร์แลนด์เหนือหรือไม่ North Ireland เขาบอกว่าในส่วนตัวแล้วเขายินดีที่จะอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมากกว่าที่จะแยกไปเป็นรัฐอิสระ Republic of Ireland โดยให้เหตุผลว่าการรวมอยู่กับอังกฤษ United Kingdom หรือ UK มีศักดิ์ศรี มีระเบียบการปกครองที่ดีกว่า พูดมาแค่นี้เราก็เข้าใจได้แล้วว่าเขานับถือศาสนาโปรเตสเตนท์และเป็น Royalistในฐานะที่เป็นแขกของประเทศเขา เราไม่ได้ออกความเห็นอะไรมากนัก ทั้งๆที่รู้ว่าเขาจะใจกว้างพอที่จะรับฟัง

กินอาหารเสร็จเรียกพนักงานมาเก็บเงิน แทนที่จะจ่ายเป็นเงินสกุล ยูโร อย่างที่ทำในดับลิน เราต้องจ่ายเป็นเงินปอนด์ของอังกฤษ เพราะอยู่ในเขตของประเทศไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ตอนที่ขับรถมาจากดับลิน เราไม่ต้องหยุดที่ไหนเพื่อข้ามแดน ไม่มีการบอกว่าได้มาถึงอีกประเทศแล้ว สิ่งที่ต้องระวังคือ ป้ายที่บอกความเร็วในสาธาณะรัฐไอร์แลนด์ บอกระยะทางเป็นกิโลเมตร เช่นในยุโรป แต่พอมาถึงไอร์แลนด์เหนือ ต้องนึกอยู่เสมอว่า เป็นไมล์แบบอังกฤษ ส่วนป้ายที่บอกชื่อเมืองนั้นบางทีก็มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเกลิค ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของชาวไอริช บางครั้งก็มีภาษาเดียว เมื่อปี ๒๐๐๓ รัฐบาลได้พยายามนำหลักสูตรภาษาเกลิคเข้ามาสอนในโรงเรียน เป็นวิชาบังคับตั้งแต่อายุหกขวบถึงสิบห้า แต่ก็ไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควร ในปัจจุบันมีชาวไอริชที่เป็นผู้ใหญ่แล้วหลายคนเสียดายที่ไม่ได้ตั้งใจเรียนภาษาเกลิคอย่างแท้จริง จึงพูดได้เพียงกระท่อนกระแท่นเท่านั้น

เราขับรถต่อไปตามถนนแคบๆที่คดเคี้ยวไปตามฝั่งทะเลไอริชทางตะวันออก ไปจนถึง Carrick-a-Rede ที่มีสะพานแขวนสร้างด้วยเส้นเชือก จากที่จอดรถเราต้องเดินท่ามกลางสายฝนไปกว่าหนึ่งชั่วโมงจึงจะมาถึงบันไดที่จะพาเราลงไปข้ามสะพานได้

สะพานนี้เริ่มต้นมาจากประวัติเมื่อ ๓๕๐ ที่ชาวประมงเคยสร้างสะพานสูงถึงสามสิบเมตรเหนือผาทะมึนเหนือน้ำทะเล เพื่อข้ามไปจับปลาแซลมอน สมัยนี้ไม่มีการจับปลาเช่นนั้นแล้ว แต่ยังมีสะพานเหลือไว้เป็นที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวได้ข้ามกัน ตอนที่เราไปถึง มีนักท่องเที่ยวมากพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นชาวไอริชจากเมืองต่างๆ ขณะที่เราเดินไปข้ามสะพาน ฝนหยุดตกแล้ว แต่ไม่มีแดดออกมาให้ชื่นใจเลย ท้องฟ้ายังมัวซัว เต็มไปด้วยเมฆหมอกอึมครึม จึงไม่อาจจะเห็นวิวที่สวยงามของทะเลได้อย่างชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นการเดินข้ามสะพานเชือกที่ทอดข้ามไปโขดหินอีกแห่งหนึ่ง ก็ให้ความตื่นเต้นพอสมควรกับนักท่องเที่ยว

ในกระบวนสะพานเดินเหล่านี้ ประเทศสวิสมีสะพานเดินที่ยาวที่สุดในเทือกเขาแอลป์ ตอนกลางสะพานวัดได้ถึงหนึ่งร้อยฟุตจากพื้นดิน สะพานแห่งนี้อยู่เหนือทะเลสาป Trift ที่อยู่ตอนกลางของประเทศ การที่จะสามารถข้ามสะพานนี้ได้ ต้องเดินขึ้นเขาไป ไม่มีทางอื่น และเป็นการเดินขึ้นเขาที่ทรหด แม้แต่ตัวฉันเองยังรู้สึกได้ถึงความยากลำบากกว่าจะไปถึงจุดหมาย

มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ได้ฟังกัน เนื่องอยากจะให้ได้ซึมทราบถึงความเป็นอารยะของผู้คนที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งบันไดและสะพานเชือกต่างก็คับแคบไม่สามารถจะเดินไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบนสะพานจะจำกัดให้มีคนเดินไม่กี่คนในแต่ละครั้ง มีหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งมีปัญหาในเรื่องการเดิน ด้วยต้องอาศัยไม้เท้า ไปเที่ยวกับเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ดูแลและมีอายุน้อยกว่า เขารอจนนักท่องเที่ยวเริ่มจะลดลงแล้ว จึงได้ตัดสินใจเดินข้าม อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่เขาไม่สามารถจะเดินเร็วได้เท่ากับคนอื่นๆ จึงทำให้เกิดคิวยาวเพื่อรอให้เขาข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง

หลังจากที่ได้ไปชมวิวอีกฟากหนึ่งแล้ว เราก็เดินกลับมาพอดี ปรากฏว่ามีคนยาวเหยียดรอให้หญิงคนที่กล่าวถึงเดินข้ามก่อน ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร แต่ทุกคนก็ยืนรออย่างสงบ ในที่สุดเขาก็ข้ามมาถึงฝั่งที่เรายืนรออยู่ พอข้ามมาถึง ชาวไอริชหลายคนที่รออยู่ก็พูดว่า Well done ดีจัง คุณทำได้สำเร็จ นอกจากจะไม่ต่อว่าต่อขานแล้ว พวกเขายังมีสปิริตที่จะให้กำลังใจออกปากชมเชยในความอดทน บากบั่น มีความเห็นอกเห็นใจ คนที่มีร่างกายไม่สมประกอบเช่นหญิงคนนี้อีกต่างหาก ขอชื่นชมในความเป็นอารยะของพวกเขาค่ะ ผู้คนที่อยู่ในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาสมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี ไม่ใช่เอาแต่เรื่องเที่ยวผับและกินเหล้าเมายาของพวกเขามาเป็นตัวอย่างแต่เพียงอย่างเดียว

กรุงเบลฟัสต์ไม่ได้อยู่ห่างจากสะพาน Carrick-a-Rede เท่าไรนักหากว่าจะขับไปตามทางมอเตอร์เวย์ อย่างไรก็ดี เราได้ใช้ถนนอีกทางหนึ่งที่ทอดไปตามฝั่งทะเลอันงดงาม มีจุดชมวิวสวยๆหลายแห่ง Antrim Coastal Scenic Route มีความยาวประมาณสิบหกกิโลเมตร ทอดคดเคี้ยวไปตามฝั่ง จนถึง Giant’s Causeway ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของไอร์แลนด์เหนือแล้ว ยังได้รับการขึ้นบัญชีให้เป็นมรดกโลกแห่งเดียวของประเทศไอร์แลนด์หนือจากองค์การยูเนสโกอีกต่างหาก

เอารถไปจอด แล้วก็ขึ้นรถบัสที่เขาจัดเตรียมไว้ให้ เพื่อไปยังจุดที่จะลงเดินไปถึงก้อนหินยักษ์ที่อยู่ห่างไปประมาณหนึ่งกิโลเมตร ก้อนหินใหญ่ลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค วางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเหมือนกับมีคนมาจัดวางเอาไว้อย่างน่ามหัศจรรย์ ก้อนหินเหล่านี้เกิดจากการก่อตัวเป็นชั้นๆของก้อนหินบาซอลท์ (basalt) มาตั้งหกสิบล้านปีมาแล้ว เราได้รับคำบอกเล่าว่าแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวประมาณเจ็ดแสนห้าหมื่นคน

พอออกจาก Giant’s Causeway แดดเริ่มจะทอแสงแรงขึ้นเรื่อยๆในตอนบ่ายจัดๆ เราขับเข้าไปในเมือง Bushmills ซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก ได้เล่าให้ คุณผู้อ่านฟังเมื่อตอนต้นแล้วถึงวิสกี้บุชมิลล์ ซึ่งมีโรงกลั่นอยู่ที่นี่ หลังจากที่ได้ชมโรงกลั่นและชิมวิสกี้แล้ว เราก็เข้าไปเช็คอินในโรงแรมเล็กๆ ฝนยังคงตกอยู่พรำๆ ตอนเย็นเราไปกินอาหารที่ร้านริมทะเลแห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้จองไว้ล่วงหน้า จึงไม่ได้โต๊ะบนระเบียงที่ติดทะเล ได้ข่าวว่ามีการแข่งขันกอลฟ์กันที่ Portrush ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองบุชมิลล์นัก มีนักกอลฟ์ระดับโลกมาแข่งขันกันหลายคน ดังนั้นร้านอาหารริมทะเลแห่งนี้จึงมีแขกจองเต็ม

หญิงคนเสิร์ฟคนหนึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ เล่าให้ฟังว่าได้มาอยู่ที่เมืองนี้กว่ายี่สิบปีแล้ว ถามเขาว่าแต่งงานกับชาวไอริชหรือ เขาบอกว่าอยู่ตัวคนเดียวยังไม่แต่งงาน แต่มาประเทศไอร์แลนด์เพื่อทำงานและเขาก็มีความสุขพอสมควร เขาดีใจมากที่ได้คุยกับเรา

วันรุ่งขึ้นเราขับต่อไปจนถึง เบลฟัสต์ เมืองที่อยากไปมานานแล้ว เพราะสนใจเรื่องการเมืองที่วุ่นวายสับสนของประเทศเขา ไม่นานมานี่เอง มีเพื่อนฝรั่งที่มีความรู้และประสบการณ์ในการเดินทาง เคยพูดให้ฟังในฐานะคนที่ชอบเดินทางเช่นเดียวกันว่า มีเมืองสี่เมืองที่ขึ้นต้นด้วย อักษรบี ที่ไม่ควรไปอย่างยิ่งนั่นคือ Beirut, Baghdad, Bosnia และ Belfast บังเอิญโชคดีที่เคยไปมาหมดแล้วทั้งสามเมือง ยังคงเหลือแต่ เบลฟัสต์เท่านั้นที่ยังไม่เคยไปทั้งๆที่สนใจอยากไปมานานแล้ว หากโอกาสและจังหวะยังไม่อำนวยให้จนกระทั่งถึงวันนี้

เมื่อไปเห็นเบลฟัสต์ในปัจจุบัน ช่างแตกต่างกับเบลฟัสต์ที่เคยได้ยินได้ฟังได้อ่านมา เรื่องสยองขวัญอันตรายทั้งหลายแหล่ ที่เกิดจากการวางลูกระเบิด เรื่องเสี่ยงจากการถูกยิง เมืองที่กระหึ่มไปด้วยเสียงปืน การสู้รบกันของพวกก่อการร้ายของพวกไออาร์เอ หรือ IRA (Irish Republican Army) ที่มีเป้าไปที่ทหารอังกฤษ ความไม่สงบในหลายรูปแบบอันเกิดจากความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวคาธอลิกและโปรเตสเตนท์ที่สืบต่อเนื่องกันมาถึงสามสิบปี เบลฟัสต์ในวันที่เราไปเห็น เป็นเมืองหลวงที่ได้พัฒนาไปมากแล้วของประเทศไอร์แลนด์เหนือ

เมื่อเช็คอินเข้าโรงแรมเรียบร้อยแล้ว ฉันก็ขอจองรถที่เรียกกันว่า แท็กซี่สีดำ (Black Taxi) ที่จะพาเราไปในทุกที่ที่เราต้องการจะไป Patrick หรือ Pat คนขับและไกด์ซึ่งรวมอยู่ในคนคนเดียวกันพูดด้วยเสียงดังฟังชัด สำเนียงเหน่อๆแต่น่ารักของชาวไอริชถามว่า เราสนใจจะไปที่ไหน ฉันบอกเขาว่าที่เรามาเบลฟัสต์ก็เพราะสนใจเรื่องการเมืองของประเทศเขา ไม่งั้นเราก็คงจะไปทางใต้หรือที่อื่นๆที่ได้ชื่อว่าสวยงามน่าไปชม คำตอบของฉันคงจะทำให้เขาถูกใจ ที่เราแสดงความสนใจในการท่องเที่ยวที่พวกเขาเรียกกันว่า Balls and Bullets Tour (ลูกระเบิดและลูกกระสุนทัวร์) หรือ Doom and Gloom Tour (ความพิบัติและความเศร้าสลดทัวร์) ถ้าไม่รักกันจริงหรือสนใจจริงๆแล้วละก็ คงจะไม่เสียเงินว่าจ้างเขาพาไปดูสถานที่ที่หลายคนไม่สนใจจะไปเป็นแน่

ทันที่เราขึ้นรถ เขาได้เริ่มอธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆอย่างกระตือรือร้น แม้ว่าสิ่งที่เขาเล่ามาทั้งหมดจะมีอคติบ้างตามประสาของผู้ถูกข่มขี่มายาวนาน แต่เขาก็ได้แสดงอย่างชัดเจนอย่างไม่ดัดจริตว่าเลือกข้าง แพทบอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่า สิ่งที่เขาจะเล่าให้ฟังนั้นอาจจะทำให้เราตกใจจนพูดไม่ออกก็เป็นได้ ฉันบอกเขาไปว่าไม่ว่าเขาจะเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง ก็คงจะไม่ทำให้เราตกใจถึงขนาดนั้นเป็นแน่ เพราะในชีวิตที่เคยอยู่มาแล้วหลายประเทศและไปเที่ยวมามากแล้วในโลกกว้าง เคยได้พบได้เห็น ได้ฟังสิ่งต่างๆมามาก จนไม่อาจจ

เขาขับรถพาเราไปทางตะวันตกของเมืองเรียกว่า Gaeltacht Quarter ซึ่งเคยเป็นสนามรบอันดุเดือดมาถึงสามสิบปี แต่ในวันนี้ในแถบนี้ไม่มีกลิ่นอายของเลือดหรือควันปืนจากการรบเลย แต่มีบรรยากาศที่ดี บ้านเรือนในสลัมที่มีมาตั้งแต่สมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียได้หายไป มีสิ่งก่อสร้างทันสมัยเข้ามาแทนที่ ผู้คนเริ่มมีความหวังในอนาคต เบลฟัสต์โดยเฉพาะแถบตะวันตกเป็นสถานที่ๆคนที่สนใจในประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์จะพลาดไม่ได้เลย

แพทพาเราไปหยุดดูรูปภาพ mural สีสันสวยสด ซึ่งมีรูปภาพของพวกที่ร่วมต่อต้านการปกครองและความอยุติธรรมต่างๆ และบอกเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไอร์แลนด์ เท่านั้น แต่ในประเทศอื่นๆด้วย ที่มีปัญหาในเรื่องความอยุติธรรมและการต่อสู้ เช่นปาเลสไตน์และ คิวบา เป็นต้น แม้ว่าจะเคยเป็นสถานที่ที่มีการต่อสู้อย่างรุนแรงมาก่อนก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันเงียบสงบพอสมควร และมีความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ไปเยี่ยมเยือน

รถแท็กซี่พาเราไปตามถนนฟอลส์ Falls Road และถนนแชนคิลล์ Shankill Road สังเกตุเห็นว่าถนนฟอลส์ซึ่งเป็นถิ่นของคาธอลิกมีสีสัน มีชีวิตชีวาและเป็นมิตรมากกว่า ถนนแชนคิลล์ ซึ่งเป็นเขตของโปรเตสเตนท์ คำว่า Shankill แผลงมาจากภาษาไอริช sean chill ซึ่งแปลว่า โบสถ์เก่าแก่ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าถนนแชนคิลล์จะมีรูปภาพแบบ mural เช่นเดียวกับถนนฟอลส์ และมีสีสันเช่นเดียวกัน แต่ก็ดูหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจเท่ากับถนนฟอลส์ซึ่งเป็นของคาธอลิก ทั้งๆที่ผู้คนในแถบนี้ก็มีไมตรีจิตเช่นเดียวกันอันเป็นนิสัยของชาวไอริชโดยทั่วไป แต่ดูเหมือนว่าชาวโปรเตสเตนท์หรือพวกอนุรักษ์นิยมจะมีปัญหาในเรื่องการอธิบายตนเองต่อชาวโลกและผู้มาเยือน อาจจะเป็นพราะชาวคาธอลิกมีประชาสัมพันธ์ที่ดีกว่าก็ได้ หรือไม่ก็มีความถูกต้องมากกว่าจึงได้รับความเห็นอกเห็นใจจากชาวโลกมากกว่า ก็แล้วแต่จะคิดกัน ที่ถนนฟอลส์มีรูปภาพหนึ่งซึ่งสดุดใจฉันมากคือรูปของ นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของอังกฤษ นางมากาเร็ต แธทเชอร์ เหนือรูปภาพเขียนไว้ว่า Oppression Breeds Resistance ซึ่งแปลว่า การกดขี่ข่มเหงก่อให้เกิดการต่อสู้ขัดขืน ข้างใต้รูปเขียนว่า Resistance Brings Freedom แปลว่าการขัดขืนต่อสู้จะทำให้เกิดอิสรภาพ

แน่นอนในสมัยนั้น นางมากาเร็ต ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ จึงเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจและดูแลในเรื่องต่างๆของประเทศ จึงช่วยไม่ได้ที่จะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงกันข้ามที่ไม่เห็นด้วย

แพทพาเราเดินไปดูเขตแบ่งแยกบ้านเรือนระหว่างคาธอลิกและโปรเตสเตนท์ ซึ่งเรียกว่า Peace Line มีลักษณะเป็นกำแพง ถิ่นนี้เคยเป็นที่อยู่ของคนจน และกรรมกร มาตั้งแต่สมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย แม้แต่ในสมัยนั้นก็มีเขตแบ่งแยกกันระหว่างสองศาสนานี้มาแล้ว คือคาธอลิกและโปรเตสเตนท์ ยิ่งมาในปี ๑๙๖๘ ซึ่งเป็นปีแห่งการเริ่มต้นของช่วงที่เรียกว่า The Troubles คือความขัดแย้งกันระหว่างคาธอลิกผู้รักชาติ (Catholic Nationalists) และชาวไอริชในกลุ่มแรงงาน (Irish Unionists) ในประเทศไอร์แลนด์ตอนเหนือ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้และใช้วิธีการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารกัน ใช้ปืนสไนเปอร์ยิงชาวบ้านที่บริสุทธิ์ จนต้องขุดอุโมงค์ใต้ดินในบ้านเรือนของตนเองเพื่อใช้สัญจรไปซื้อของในร้านรวงและสำหรับเด็กๆใช้ไปโรงเรียน ในถิ่นของชาวคาธอลิกบางแห่งได้กลายเป็นโซนที่ “ห้ามเข้า” ของตำรวจและทหาร ฆาตรกรรม การซ้อมและการซุ่มยิงได้กลายเป็นเหตุการณ์ประจำวัน เป็นความจริงของชีวิตที่ต้องยอมรับ

สหราชอาณาจักรจึงได้ส่งทหารไปดูแล และให้ความช่วยเหลือ ตอนแรกชาวคาธอลิกก็ยินดีต้อนรับในการเข้ามาของทหารจากอังกฤษ แต่ภายหลัง ทหารอังกฤษไม่ได้ทำตัวเป็นกลาง หรือเหมาะสมที่จะดูแลสถานการณ์ ทำให้ชาวคาธอลิกเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ความรุนแรงได้ถึงจุดสูงสุดในวันที่ ๓๐ มกราคม ๑๙๗๒ ตอนที่ทหารอังกฤษได้ยิง ชาวบ้านที่บริสุทธิ์ตายถึง ๑๔ คน ในขณะที่พยายามจะจับพวกเขาที่กำลังจะเดินขบวน หรือ ที่เรียกว่า marchที่ถูกสั่งห้าม เหตุการณ์นี้ได้รับสมญานามว่า “Bloody Sunday” เลียนแบบชื่อ “Bloody Sunday” ที่มีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้น เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๐

การเดินขบวนหรือ march เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่อกลุ่ม NICRA (Northern Civil Rights Association) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยชาวคาธอลิกชั้นกลางที่มีการศึกษา โดยได้นำแบบอย่างมาจาก มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ได้จัดให้มีการเดินขบวนของคนจำนวนสองพันห้าร้อยคน จุดประสงค์ก็เพื่อต่อต้านกับความอยุติธรรมที่ได้รับจากรัฐบาลด้วยความสงบ ในกลุ่มนี้มี IRA (Irish Republican Army) เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนมาจากสหรัฐฯ

ความจริง ทั้งสองเขตได้ถูกแบ่งออกไปแล้วอย่างชัดเจนในปี ๑๙๗๐ ระหว่างพวกอนุรักษ์นิยมกับโปรเตสเตนท์ เรียกว่า แชนคิลล์ (Shankill) และพวกสาธารณรัฐ คาธอลิก เรียกว่า ฟอลส์ (Falls) บน Peace Line มีป้ายมหึมาติดอยู่ มีรูปภาพสีสันเจิดจ้า บรรยายเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น นักท่องเที่ยวหรือใครก็ได้สามารถเขียนข้อความหรือชื่อของตนเองลงไปบนป้ายนี้ได้ แพทอยากให้เราเขียนข้อความลงไปสักอย่างหนึ่ง แต่เราไม่ได้ทำตาม บอกเขาว่ารูปสวยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรให้เลอะเทอะเพิ่มขึ้นอีก ระหว่างที่พักอาศัยของทั้งสองกลุ่มมีถนนคั่นอยู่ บ้านเรือนของโปรเตสเตนท์สร้างอยู่ห่างจากรั้วมาก ในขณะที่ของคาธอลิกสร้างออกมาจนติดกับรั้วข้างหลังกำแพง จากถนนฝั่งที่อยู่ของโปรเตสเตนท์ เราสามารถมองเห็นปล่องไฟจากบ้านเรือนของชาวคาธอลิกที่อยู่เหนือรั้วลวดหนามได้

แพทยังได้อธิบายต่อไปถึงความอยุติธรรมที่ชาวคาธอลิกได้รับอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการโหวตคะแนนเสียง ไม่ว่าในเรื่องใดๆ ชาวโปรเตสเตนท์จะสามารถโหวตได้หนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง เช่นปกติ แต่ชาวคาธอลิกจะสามารถโหวตได้หนึ่งเสียงต่อหนึ่งครอบครัวเท่านั้น สาเหตุที่เขายกมาอ้างคือว่า ชาวคาธอลิกมีลูกมากตามที่ศาสนาของเขาบัญญัติไว้ เรื่องห้ามการคุมกำเนิด และการทำแท้งเป็นต้น ดังนั้น พวกเขาจึงมีลูกมากเป็นธรรมดา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดและถือปฎิบัติตามคำสั่งสอน ฝ่ายตรงกันข้ามเกรงว่าการมีลูกมากจะทำให้ชาวคาธอลิกมีปากมีเสียงมากขึ้นตามจำนวนของเด็กที่จะเกิดมา ตราบใดที่ยังมีความอยุติธรรมหลงเหลืออยู่เช่นนี้ การที่จะสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ย่อมเป็นไปได้ยาก

ความขัดแย้งระหว่างคนชาติเดียวกันของสองกลุ่มนี้ เป็นเรื่องที่ฝังลึกและมีมาเนิ่นนาน ยากที่จะอธิบายให้คนภายนอกเข้าใจ ดูเผินๆคล้ายกับว่า เหตุการณ์ได้สงบลงไปแล้ว แต่โดยความเป็นจริงมันหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะถึงแม้ว่าชาวไอริชทั้งสองกลุ่มจะทำงานในที่แห่งเดียวกัน ทำงานร่วมกัน แต่เขาจะไม่ใช้เวลาส่วนตัวร่วมกันเลย เรื่องการที่หญิงและชายของสองฝ่ายจะรักและแต่งงานกันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง มันจะเป็นโศกนาฎกรรมเช่นเดียวกับโรมิโอและจูลียตเป็นแน่แท้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและเหลือเชื่อในโลกปัจจุบัน ข้อพิสูจน์ที่เห็นได้คือ ประตูที่กั้นเขตแดนระหว่างที่อยู่อาศัยของโปรเตสเตนท์และคาธอลิกซึ่งเปิดให้จราจรผ่านไปมาได้ในตอนกลางวัน จะปิดตายตั้งแต่หกโมงเย็นไปจนถึงรุ่งเช้า ในระหว่างนั้น หากใครต้องการจะเข้าไปในเขตที่อยู่ของตน จะต้องขับรถอ้อมหรือเดินอ้อมไปไกลกว่าจะเข้าไปในที่อาศัยของตนเองได้

ตอนที่เราไปชมหมู่บ้าน ได้สังเกตเห็นกองไม้มหึมาวางกองอยู่สองสามกอง ในเขตของแชนคิลล์ซึ่งเป็นเขตของโปรเตสเตนท์ แพทอธิบายว่า ทุกๆปีในวันที่ ๑๑ ของเดือนกรกฎาคมจะมีการก่อกองไฟของชาวโปรเตสเตนท์ที่เรียกว่า Bonfire Night ก่อนที่จะมีการเดินขบวน หรือ march ของกลุ่ม Orange Order ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๒ เพื่อเป็นการฉลองและระลึกถึง Battle of the Boyne ในเดือนกรกฎาคม ปี ๑๖๙๐ เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่สองของชาวโปรเตสเตนท์ ได้ชัยชนะจากพวก เจคอไบท์ (Jacobite) ซึ่งเป็นคาธอลิกและกำจัดพวกเขาจนสิ้นซาก เมื่อขบวนผ่านเข้าไปในเมือง แม้ว่าจะเป็นการเดินที่สงบ แต่บางครั้งก็ก่อให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงของทั้งฝ่ายได้

ตลอดช่วงเวลา ๑๙๘๐ เหตุการณ์รุนแรงที่ต่อเนื่องกัน จนเกี่ยวพันไปถึงการเมือง และกลุ่ม Sinn Fein (ชินเฟน) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงนี้ แต่ในที่สุดจากการกดดันของอังกฤษ ชินเฟนและ IRA จำต้องพิจารณาบทบาทและนโยบายของตนเองเสียใหม่ เนื่องจากอังกฤษไม่ยอมให้พวกเขามาใช้ความรุนแรง ข่มขู่ให้ถอนตัวออกจากประเทศไอร์แลนด์เหนือ ผลสุดท้ายในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ IRA ได้ยอมจำนนวางอาวุธเพื่อจะหาข้อตกลงกันให้เกิดความสงบ ในปี ๑๙๙๘ ทุกฝ่ายต่างก็ได้มาพบกันในวัน Good Friday เพื่อเซ็นต์สัญญา Belfast Agreement แม้ว่าจะไม่ใช่สัญญาที่สมบูรณ์ แต่ก็ก่อให้เกิดความสงบขึ้นได้ในประเทศพอสมควร บางครั้งอาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นบ้างที่นั่นและที่นี่ แต่ประเทศไอร์แลนด์เหนือก็มีความรุนแรงน้อยลงและมีความปลอดภัย เพียงพอที่จะทำการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี ในขณะที่เขียนสารคดีนี้ได้มีการปะทะกันระหว่างชาวคาธอลิกและกลุ่มโปรเตสเตนท์ขึ้นอีกในเบลฟัสต์ การเดินขบวนสามารถจะทำได้หากว่าจะไม่เดินเข้าไปในถิ่นของคาธอลิก สาเหตุของการปะทะกันอาจจะเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ก็ได้ คือการที่ชาวโปรเตสเตนท์เดินผ่านเข้าไปในเขตของชาวคาธอลิก อันเป็นการยั่วยุชาวคาธอลิกที่มีความขุ่นเคืองใจอยู่แล้วเป็นเดิมพัน เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไปต้องรอติดตามกัน

ชาวคาธอลิกเองยังมีความฝันที่จะร่วมประเทศไอร์แลนด์ที่แบ่งแยกกันให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะสาธารณรัฐไอร์แลนด์นั้น มีชาวไอริชที่นับถือคาธอลิกเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ชาวโปรเตสเตนท์ต้องการอยู่ร่วมกับอังกฤษ หากยังตกลงในเรื่องนี้กันไม่ได้ ก็ไม่มีใครคาดคะเนได้ว่า เรื่องจะลงเอยเช่นใด

ตามทางที่ผ่านไปเราแลเห็นทะเลสีคราม ทุ่งหญ้าและหุบผาที่เขียวขจี ชุ่มชื้นด้วยน้ำจากฝนที่เพิ่งหยุดตก ผ่านหมู่บ้านน่ารักเล็กๆบนชายฝั่ง Cusherdun ที่มีกระท่อมสวยๆในแบบคอร์นิช Cornish cottage ซึ่งอยู่ในความดูแลคุ้มครองของมูลนิธิทรัพย์สินแห่งชาติ ชื่อของหมู่บ้านมาจากชื่อของท่านลอร์ด Cusherdun ตรงไหนที่ไม่ขียนชื่อเป็นภาษาไทยก็เพราะว่า ยากต่อการออกเสียงและการเขียนเป็นภาษาไทย

เราขับต่อไปเมือง Londonderry ที่เป็นเมืองใหญ่ที่สองของประเทศไอร์แลนด์เหนือ รองลงมาจากเบลฟัสต์ ตอนที่ไปถึงเขากำลังปรับปรุงเมืองให้มีโฉมหน้าใหม่ เพื่อต้อนรับการเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมใน ค.ศ. ๒๐๑๓ ของสหราชอาณาจักร มีการสร้างสะพานใหม่ในปี ๒๐๑๑ คือสะพานแห่งสันติภาพ Peace Bridge สำหรับข้ามแม่น้ำฟอยล์ Foyle สะพานที่มีอยู่ดั้งเดิมแล้วคือสะพาน Craigavon Bridge

เราได้จองเกสท์เฮาส์ที่เรียกว่า Bed & Breakfast เอาไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อไปถึงก็ได้รับคำบอกเล่าว่า เกสท์เฮาส์เต็ม เนื่องจากมีการฉลองการเล่นดนตรีกันทั่วเมือง และนักดนตรีต่างก็มาพักอยู่กันเต็ม เจ้าของจึงให้ไปพักที่บ้านส่วนตัวที่ห่างออกไปไม่มากนัก เราจึงได้พักในบ้านหลังนี้แต่เพียงลำพัง เมื่อจัดการกับที่พักเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้ขับรถเข้าไปในเมือง จอดรถไว้ในที่จอดใหญ่โตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้า แล้วก็ไปขึ้นรถแบบ hop-on hop-off เรียกว่า Top Tours อย่างไรก็ดี รถท่องเที่ยวแบบนี้ไม่ได้หยุดให้ลงเช่น hop-on hop-off แต่หยุดให้ถ่ายรูปและดูสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ โดยเฉพาะรูปภาพแบบ mural

มีนักท่องเที่ยวในรถเพียงห้าคนที่รวมเราสองคน และคู่สามีภรรยาชาวไอริชที่มาจากอีกเมืองหนึ่ง มีชายหนุ่มหน้าตาเป็นญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มาคนเดียว เขาบอกว่ามาจากเท็กซัส ไกด์ของเราตัวใหญ่ นั่งตรงกลางรถแบบขวางเพื่อจะได้คุยกับทุกคนได้ ตลอดเวลาเขาไม่ได้ลุกขึ้นเลย เข้าใจว่าคงจะมีปัญหาในเรื่องการเดิน แต่อธิบายเรื่องราวต่างๆได้เก่งมาก

รถวิ่งผ่านกำแพงเมืองที่ล้อมรอบ แดรี่ (Derry) ต่อไปนี้จะขอเรียกว่า แดรี่ ตามอย่างชาวคาธอลิกของเมืองนี้ กำแพงสร้างตามแบบของแคมป์ทหารโรมันในสมัยก่อน โดยมีประตูเมืองสี่แห่ง ไกด์บอกว่านี่เป็นกำแพงที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศที่ยังคงมีสภาพดี ผ่านพิพิธภัณฑ์หอคอย

อย่างที่เล่าให้คุณผู้อ่านฟังแล้วว่า การเดินทางครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเมือง เพราะฉนั้นหัวใจสำคัญของสารคดีนี้คือการเล่าเรื่องการเมืองที่น่าสนใจของชาวไอริช รถผ่านย่าน The Bogside ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแดรี่และสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้าและต้นศตวรรษที่ยิ่สิบ เพื่อเป็นที่อยู่ของกรรมกรที่นับถือศาสนาคาธอลิก

ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๐ บ้านที่ฉันอยากจะเรียกว่า “ห้องแถว” เหล่านี้มีผู้คนอาศัยกันอย่างแออัดยัดเยียดจนกลายเป็น เก็ตโต ghetto แห่งความยากจนมีคนตกงานมากมาย จนกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของผู้คนที่ไม่พึงพอใจในสภาพที่เป็นอยู่ของเขาและในรัฐบาลที่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ

ในเดือนสิงหาคมของปี ๑๙๖๙ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ร้ายแรงที่ติดต่อกันเป็นเวลาสามวันที่เรียกว่า Battle of the Bogside จนกลายเป็น วันอาทิตย์นองเลือดนั้น ผู้คนจำนวนสองหมื่นคน ได้เดินขบวนผ่านเมืองแดรี่ คัดค้านการจับคนเข้าคุกโดยไม่มีการพิพากษา จนหนุ่มสาวที่อยู่ในเขตบ็อกไซด์เกิดการวิวาทต่อสู้กับตำรวจชั้นผู้น้อยแห่งอัลสเตอร์ (The Royal Ulster Constabulary) กว่าจะมีการพิสูจน์และตัดสินเอาคนผิดมาลงโทษว่าได้สังหารคนที่ไม่มีอาวุธและพวกเขาต่อต้านด้วยความสงบสันติก็ใช้เวลาหลายปี

แต่ในขณะนั้นไม่มีใครออกมารับผิดและถูกลงโทษ ทั้งๆที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีกระสุนที่ถูกยิงออกไปถึง ร้อยแปดนัด แต่การสืบสวนสอบสวนเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่มีผลที่น่าพึงพอใจแต่อย่างใด หลักฐานเกือบทั้งหมดถูกทำลายโดยสิ้นเชิง การจราจลรุนแรงจนถึงขั้นที่อังกฤษต้องส่งกำลังเข้าไปปราบปราม ชาวบ้านในเขต บ็อคไซด์ รวมกับเขตแบรนดี้แวล (Brandywell) จำนวนสามแสนสามหมื่นคน ประกาศตนเป็น “อารยะขัดขืน” ไม่ยอมฟังคำสั่งเจ้าหน้าที่จากอังกฤษ พวกเขาได้สร้างสิ่งกีดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในเขตของเขา โดยปิดป้ายไว้ว่า Free Derry หรือ ขอความเป็นอิสระให้แดรี่ เป็นเขตที่ไม่ยอมให้ทั้งตำรวจและทหารของอังกฤษเข้าไปได้ ตั้งแต่เดือนมกราคมของปี ๑๙๗๒

กลุ่ม IRA เข้ามาช่วยเหลือโดยเป็นยามรักษาการณ์และดูแลความปลอดภัยให้ชาวบ้าน ทว่า “ขอความเป็นอิสระให้แดรี่” หรือ Free Derry แห่ง บ็อคไซด์ ต้องยุติลงด้วยโศกนาฎกรรมในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๑๙๗๒ ในบริเวณที่อยู่ใกล้ถนน รอสส์วิลล์ (Rossville) ที่เรียกว่า วันอาทิตย์เลือด Bloody Sunday เมื่อทหารอังกฤษได้ ส่งทหารหลายพันนาย พร้อมรถถังมีอาวุธเพียบจู่โจมเข้าไป “กระชับพื้นที่” ในปฏิบัติการที่น่าอัปยศอดสูเรียกว่า Operation Motorman จนทำให้มีคนตายไปสิบสี่ศพอย่างที่เล่าแล้วข้างต้น

ตั้งแต่มีการปราบปรามในครั้งนั้นแล้ว ถิ่นที่อาศัยแห่งนี้ก็ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น บ้านเก่าๆถูกรื้อทิ้งไป มีบ้านใหม่เกิดขึ้นแทน แทนที่จะแออัดยัดเยียดเหมือนเมื่อก่อน ปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณแปดพันคน บ้านที่เหลือให้เห็นในเขต Bogside เป็นบ้านที่ตั้งอยู่บนหัวมุมถนน ฟาฮานและ รอสสวิลล์ มีป้ายเขียนตัวเบ้อเริ่มว่า “You Are Now Entering Free Derry” คุณกำลังเข้ามาในแดรี่ที่เป็นอิสระ เป็นไงคะคุณผู้อ่าน อ่านแล้วน้ำตาจะร่วงด้วยความสะเทือนใจอย่างฉันหรือไม่ ในขณะที่ได้ฟังเรื่องราวและควาเป็นไปเป็นมาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี่เอง

รูปภาพในแบบ mural จำนวนสิบสองภาพที่วาดไว้บนฝาผนังของบ้านที่เราผ่านไปนิยมเรียกกันว่า the People’s Gallery แกลเลอรี่ของประชาชน ศิลปินผู้วาดคือ นาย ทอม เคลลี่ นายวิลล์ เคลลี่ และเควิน ฮัสซอน ที่ได้รับสัญญานามว่า ศิลปินแห่งถิ่นบ็อกไซด์ ทั้งสามคนได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ็อกไซด์และได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ร้ายแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น

รูปภาพเหล่านี้ได้ถูกวาดขึ้นในระหว่างปี ๑๙๙๗ และ ปื ๒๐๐๑ แสดงเหตุการณ์ระหว่าง the Troubles รวมไปถึงสงครามสามวันในบ็อกไซด์ วันอาทิตย์เลือด ปฏิบัติการมอเตอร์แมน (Operation Motorman) และเหตุการณ์ประท้วงอดอาหาร ภาพที่โดดเด่นที่สุดคือภาพการปฎิบัติการมอเตอร์แมน ที่แสดงให้เห็นทหารพังประตูด้วยฆ้อน ภาพของวันอาทิตย์เลือด ในภาพมีชายกลุ่มหนึ่ง นำโดยพระสงฆ์คาธอลิกองค์หนึ่งชื่อ เดลี่ (Daly) อุ้มร่างที่สิ้นชีวิตแล้วของชายผู้หนึ่งชื่อ แจ๊กกี้ ดัดดี้ (Jacky Duddy) เขาเป็นคนแรกที่ถูกฆ่าในวันอาทิตย์เลือด และอีกภาพหนึ่งที่โดดเด่นคือภาพเด็กชายหนุ่มสรวมหน้ากากป้องกันแกสพิษ ถือลูกบอมบ์ไว้ในมือเรียกว่า (Petrol Bomber) ภาพเป็นคนกลุ่มหนึ่งเขียนข้างบนรูปว่า Civil Rights สิทธิ์ของการเป็นประชาชน หนี่งคนหนึ่งเสียง One Man One Vote และภาพอื่นๆอีกมากมาย หากว่ากำแพงพวกนี้พูดได้ มันคงจะร้องไห้คร่ำครวญเป็นแน่

ลงจากรถแล้ว เราถือโอกาสเดินไปขึ้นกำแพงที่รถผ่านไปเมื่อสักครู่ เดินไปเรื่อยๆบนกำแพงเมือง ดูวิวของแดรี่ที่อยู่เบื้องล่าง จากกำแพงสามารถแลไกลไปจนถึงเขตบ็อกไซด์ ได้ แดรี่มีกำแพงเมืองล้อมรอบและมีอายุนานถึงหนึ่งพันห้าร้อยปี ได้รับการบอกเล่าว่าการไปประเทศไอร์แลนด์เหนือจะไม่สมบูรณ์หากว่าไม่มาเมืองแดรี่ ที่ได้กลายจากการเป็นนิคมเล็กๆที่สร้างขึ้นโดย เซนต์ โคลัมบา (St. Columba) ในนิกายคาธอลิก จากศตรวรรษที่หกจนกลายมาเป็นเมืองทันสมัยในยุโรปแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด จากนั่นเราเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์หอคอย Tower Museum ข้างในมีเรือ อาร์มาดาของสเปนที่อัปปางเมื่อปี ๑๕๘๘ ตั้งโชว์อยู่ (Armada Shipwreck) และเครื่องใช้อื่นๆเช่น ซ่อม มีด ฯลฯ ที่ทำด้วยพิวเตอร์ ที่นักดำน้ำดำขึ้นมาได้พร้อมกับเรืออาร์มาดาจากใต้ทะเล ในของที่ดำขึ้นมาได้ มีปืนบรอนซ์ที่หนักถึงสองตันครึ่งรวมอยู่ด้วย ปืนยังมีเครื่องหมายอาวุธของพระเจ้าฟิลลิปส์ที่สองของสเปนแสดงอยู่ด้วย อันทำให้โลกได้รู้ว่า พระองค์เคยเป็นกษัตริย์ของอังกฤษในสมัยนั้น

เย็นวันนั้น เราไปกินอาหารเย็นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านที่เราเช่าพักแนะนำให้ไป บอกว่าเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดใน แดรี่ ที่จะเล่านี้ไม่ได้อยากจะเล่าถึงอาหารที่เราได้ไปชิมมา เพราะแน่นอนที่สุดว่า มันฝรั่งเป็นอาหารหลักของชาวไอริช เช่นเดียวกับข้าวที่เป็นอาหารหลักของไทย แต่ที่อยากจะเล่าคือ ความมีน้ำใจของชาวไอริชแดรี่ เราเดินวนพักหนึ่งแต่หาร้านไม่เจอ ประกอบกับฝนที่เริ่มตกลงมาหนัก เราจึงถามหญิงชาวไอริชคนหนึ่งที่เดินสวนมา ถึงจุดที่แน่นอน เธอก็แนะนำให้อย่างดี จนเราเข้าใจว่าอยู่ใกล้หรือติดกับปาร์คที่จอดรถของเรานั่นเอง เราจึงเดินอ้อมไปบนซอยที่เรารู้จัก แต่หญิงผู้นี้ยืนดูอยู่ว่าเราจะไปถูกทางหรือไม่ รีบวิ่งมาบอกท่ามกลางสายฝนว่าให้ไปอีกทางหนึ่งจะดีกว่า ใครจะคิดอย่างไรไม่ทราบแต่ฉันเองรู้สึกประทับใจในความมีน้ำใจห่วงใยของเธอ อุตส่าห์วิ่งมาบอกท่ามกลางสายฝน เช่นเดียวกับตอนที่เรากำลังเดินขึ้นไปบนกำแพง เราก็หยุดถามหญิงคนหนึ่งถึงประตูเข้า เธอก็บอกให้ด้วยความยินดี แถมยังอาสาที่จะไต่บันไดขึ้นไปกับเราอีกด้วย เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นสองสามครั้ง จนทำให้เราแน่ใจว่าชาวไอริชมีน้ำใจที่ป็นมิตรแก่คนแปลกหน้า

วันต่อมา เราเดินทางต่อไปยังเมือง Drogheda อ่านว่า โดรด้า ซึ่งอยู่ห่างจากดับลินประมาณสี่สิบแปดกิโลเมตร ตั้งอยู่บนแม่น้ำ บอยน์

(Boyne) ณที่แห่งนี้เองที่เกิดสงคราม Battle of the Boyne ที่ได้เล่าให้ฟังแล้วข้างต้น และเราได้ไปแวะมาแล้วตอนขาไปคือ Bru na Boinne สาเหตุที่เดินทางไปเมืองโดรด้า ก็เพราะต้องการไปให้ใกล้สนามบินดับลินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เนื่องจากจะต้องบินกลับสวิสในวันรุ่งขึ้นตอนเช้า

เมืองโดรด้าเป็นเมืองเล็กๆ มีโบสถ์และวิหารเป็นจุดขาย เราไปพักที่ Bed & Breakfast ชื่อ Orly House ซึ่งเป็นเกสท์เฮาส์ชั้นดีและอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนัก เนื่องจากตอนที่ไปถึงยังเช้าอยู่ เราจึงแวะเข้าไปดูว่าเป็นสถานที่ๆเราได้จองไว้หรือไม่ ผู้ชายที่ออกมาเปิดประตูบ้านเป็นชายวัยกลางคน มีสีหน้าไม่ค่อยจะยิ้มแย้ม เราแนะนำตนเอง เขาก็บอกว่ายังเช้าอยู่ ห้องยังไม่เรียบร้อย เราก็อธิบายว่า ไม่ได้เช็คอิน แต่มาดูว่าเป็นบ้านที่เช่าไว้หรือไม่ และขอทิ้งกระเป๋าไว้ก่อน แล้วจะกลับ

เช็คอินในตอนบ่าย เพราะอยากจะไปเที่ยวกันก่อน เขาถามว่าอยากจะไปไหนบอกเขาว่าต้องการไปชม “บ้านสวย” บิวลี่ Beaulieu House ในภาษาฝรั่งเศสหรือ Beautiful House ในภาษาอังกฤษ เขาก็เขียนแผนที่ให้ ในขณะที่อธิบายก็เอามือมาตบหลังฉันตลอดเวลา คล้ายๆกับเอ็นดู ทำให้ฉันไม่พอใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่เกิดความรู้สึกว่าถูกดูแคลน แต่ก็อดใจไม่พูดอะไรที่ไม่สุภาพออกไป ปลอบใจตนเองว่าอยู่เพียงไม่กี่นาทีก็ไปแล้ว ฉันอยู่ในสังคมตะวันตกล้วนๆมาเนิ่นนาน เข้าใจได้ดีว่าการกระทำเช่นไรเป็นการดูถูก หรือการกระทำเช่นไรทำด้วยความเป็นมิตร ถ้ามีใครมาบอกว่าเขาอาจจะทำเช่นนั้นจนเป็นนิสัยก็ได้ ถ้าเช่นนั้นจริง ทำไมเขาจึงไม่ไปตบหลังวอลเตร์แทน นึกเคืองว่า เดินทางมาก็มาก ในที่สุดต้องมาตายตอนจบจนได้ เพราะมาได้พบกับคนที่ไม่พึงประสงค์ในวันสุดท้าย

คฤหาสถ์ “บิวลี่” อยู่ออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองประมาณห้ากิโลเมตร เราต้องขับรถข้ามสะพาน Haymarket Bridge แล้วขับเลียบแม่น้ำบอยน์ไปเล็กน้อยตามเส้นทางที่มีป้ายเขียนไว้ว่า To Oldbridge Battle of the Boyne เมื่อไปถึงมีผู้ชายอายุกลางคนออกมาต้อนรับ เขาเป็นทั้งคนเก็บเงินค่าผ่านประตูและเป็นไกด์ในคนเดียวกัน เราเป็นแขกเพียงสองคนเท่านั้น ไกด์จึงได้อธิบายประวัติศาสตร์ของคฤหาสถ์อย่างละเอียดยิบ แถมยังอธิบายรูปภาพต่างๆที่ติดไว้บนฝาผนังอย่างถี่ถ้วน คฤหาสถ์หลังนี้สร้างขึ้นในปี ๑๖๖๐ ถึง ๑๖๖๖ ที่ครอมเวลล์ (Cromwell) ยึดมาได้จากครอบครัว Oliver Plunkett เป็นคฤหาสถ์ที่สร้างขึ้นเป็นหลังแรกในไอร์แลนด์โดยไม่มีกำแพงกั้นจากศตรู ยึดมาได้แล้ว ครอมเวลล์ก็ยกให้นายพลคนหนึ่งของประเทศคือ Sir Henry Tichbourne คฤหาสถ์สร้างขึ้นด้วยหินสีแดง มีลักษณะพิเศษคือมีหลังคาสูงและมีปล่องไฟที่สูงอีกต่างหาก ตั้งแต่คฤหาสถ์ได้ตกมาถึงมือท่านเซอร์ เฮนรี่ ทิชเบอร์น แล้ว คฤหาสถ์นี้ก็อยู่ในความครอบครองของตระกูลนี้ตลอดมาไม่เคยเปลี่ยนมือ

ภายในตัวคฤหาสถ์ยังคงรักษาไว้อย่างดี มีภาพที่เจ้าของรวบรวมไว้มากมาย ตั้งแต่ภาพที่เขียนโดยศิลปินชาวฮอลแลนด์จนถึงศิลปินชาวไอริชในศตวรรษที่ยี่สิบ นอกจากนี้ยังมีสวนสวยที่เรียกว่า classic garden และมีพิพิธภัณฑ์แสดงรถเก่าๆอีกต่างหาก

อาหารเช้าของเราในวันรุ่งขึ้น เป็นอาหารคอนติเนนตัลเบรกฟัสท์ธรรมดา ไม่ใช่ English Breakfast เพราะยังเช้ามาก เจ้าหน้าที่ทำครัวยังไม่มา แต่ก็ได้จัดอาหารจำพวกคอร์นเฟลก โยเกิร์ต แยม ขนมปัง ฯลฯ ไว้ให้เรียบร้อย ห้องอาหารล้อมรอบด้วยกระจกใส มองออกไปเห็นต้นไม้ พรรณไม้เขียวขจี มีบรรยากาศชวนให้นั่งเป็นอย่างยิ่ง แต่เราก็ไม่มีเวลาพอ เสียดายมาก อยากจะบอกคุณผู้อ่านว่า ประเทศไอร์แลนด์มีชื่อเสียงในเรื่อง ขนมปังโซดา (Soda Bread) ที่อร่อย เนื่องจากแป้งที่ทำขนมปังของชาวไอริชนุ่ม ไม่เหมาะแก่การผสมยีสต์ลงไปเพื่อทำให้ฟู คนทำขนมปังในศตวรรษที่สิบเก้า จึงได้ใช้ส่วนผสมของโซดาไบคาร์บอร์เนทแทน แล้วผสมเนยที่เรียกว่า buttermilk ลงไป ช่วยให้เนื้อขนมปังนุ่มอร่อย ส่วนเนยแข็งก็มีหลายชนิดแต่ไม่อยากแนะนำ เพราะเชื่อว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะไม่ชอบ อย่างไรก็ดี หากฉันไม่แนะนำอาหารพวกทอดๆคือพวก Fry ก็คงจะไม่ยุติธรรมกับชาวไอริชสักเท่าไหร่ เพราะประเทศเขาปลูกมันฝรั่งที่อร่อยยอดเยี่ยม เหมาะแก่การทำ French Frieds เป็นอย่างยิ่ง ใครบ้างที่จะทนต่อความเย้ายวนได้จากอาหารเช้าจานเด็ดที่มีเบค่อนกรอบๆ มีไข่ทอดและไส้กรอกชนิดต่างๆ มะเขือเทศผ่าซีก รวมไปถึงมันฝรั่งทอดสารพัดชนิด ทั้งๆที่รู้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้แคลอรี่พุ่งปริ๊ด ถ้ามีใครเชื่อผู้เขียนและรับประทานอาหารจานนี้ไปแล้ว เกิดมีโรคอ้วน ก็อย่ามาโทษก็แล้วกัน

- จบ -