ไปชมมหาอุปรากรที่เมือง Verona

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่อยู่นอกยุโรป มักจะไม่ค่อยรู้จักเมือง Verona เวโรน่า เท่าไหร่นัก ทั้งๆที่เมืองนี้เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการแสดงมหาอุปรากรที่เรียกว่า Opera และ Operetta หากจะสงสัยว่า โอเปร่าและโอเปเร็ตต้า แตกต่างกันอย่างไร ก็ขออธิบายสั้นๆว่า โอเปร่าเป็นการแสดงที่มีตอนจบแบบเศร้า หรือ tragedy ส่วนโอเปเร็ตต้านั้น เป็นการแสดงที่มีตอนจบแบบ happy ending หรือ comedy

เมืองเวโรน่าตั้งอยู่ในตอนเหนือของประเทศอิตาลี ที่เรียกกันว่า Sudtirol หรือ South Tyrol ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเทือกเขาแอลป์ และเป็นเขตเหนือสุดของประเทศอิตาลี ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า Alto Adigo มีแม่น้ำ อาดีเจ (Adige River)ไหลคดเคี้ยวจาก South Tyrol ผ่านเมือง เวโรน่า ทางตอนเหนือของประเทศไปจนถึงเมืองผลิตไวน์อีก078เมืองหนึ่งซึ่งหลายคนคงจะรู้จักคือเมือง Alsace ทั้งเขต Alto Adigo และเมือง Alsace ยังคงอนุรักษ์ภาษาและขนบประเพณีบางอย่างของเยอรมัน เอาไว้อย่างเหนียวแน่น และทั้งสองเมืองก็มีชื่อเสียงในการทำไวน์ ถ้าคุณผู้อ่านไปเที่ยวเมือง แอลซาส จะสังเกตว่าคนที่นั่นพูดได้ทั้งเยอรมันและฝรั่งเศส แต่ก็เป็นสำเนียงที่แปร่ง ไม่ใช่สำเนียงที่บริสุทธิ์แบบเจ้าของประเทศทั้งสอง

เมืองเวโรน่า เป็นเมืองที่เป็นแหล่งกำเนิดตำนานรักอันแสนเศร้าของหนุ่มสาวคู่หนึ่งคือ โรเมโอและจูเลียต Romeo and Juliet ซึ่ง กวีเอก Shakespeare เชคสเปียร์ ของอังกฤษได้นำเรื่องมาแต่ง จนหนุ่มๆสาวๆทั้งโลกต่างพากันหลั่งน้ำตาให้กับความรักอันเป็นอมตะและแสนเศร้าของคนทั้งสอง แม้แต่ผู้เขียนเอง ในสมัยที่ยังเป็นสาวน้อย (จริงๆ) ก็ต้องเสียน้ำตาไปด้วย ต่อมาได้มีการดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ให้เป็นบทละคร ที่มีการแสดงทั้งบนเวทีและสร้างเป็นหนัง โดยตั้งชื่อว่า Westside Story คุณผู้อ่านหลายคนคงจะยังจำกันได้

การแสดงที่ตั้งใจจะไปดูนั้น เป็นมหาอุปรากรที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสองเรื่อง คือ Aida ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของนักประพันธ์ และนักแต่งเพลงชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่คือ Giuseppe Verdi ส่วนเรื่อง Madam Butterfly นั้นเป็นบทประพันธ์ของ นักแต่งเพลงชาวอิตาเลียนที่มีชื่อเสียงอีกผู้หนึ่งคือ Giacomo Puccini (จาโคโม พุคชีนี่) ส่วนมหาอุปรากรเรื่อง ไอดา (Aida) คงจะไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนักในหมู่ชาวอาเซียน แต่เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายคงจะคุ้นหูมากกว่า เพราะเป็นตำนานความรักของหญิงญี่ปุ่น และชายหนุ่มชาวอเมริกัน ซึ่งแตกต่างกันทั้ง ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษา หากเหตุการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน คงจะไม่มีใครกระพริบตาให้ความสนใจ เพราะเป็นภาพที่เห็นกันเจนตา

ทว่า นิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ระหว่างหญิงญี่ปุ่นซึ่งเป็นเกอิชา และนายทหารเรือชาวอเมริกัน ในสมัยที่การคมนาคมและการสื่อสารยังล้าหลังอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ฮือฮากันมากในสมัยนั้น แม้ในประเทศไทยเองเมื่อห้าสิบหกสิบปีมาแล้วนี่เอง เด็กๆได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ผู้ใหญ่ว่า ถ้าเห็นฝรั่งชาวผิวขาวก็ให้ปิดตาเสีย อย่าไปมอง เพราะเขาเป็นปีศาจจากแดนไกล จึงมีผมสีทองและดวงตาสีฟ้า หาได้คิดไม่ว่า หากจะเป็นปีศาจหรือซาตานกันจริงๆแล้ว ผมดำ ตาดำก็เป็นได้ บทประพันธ์ Madam Butterfly ได้มีการแสดงทั้งบนเวทีและสร้างเป็นหนังมาแล้วหลายครั้งหลายคราด้วยกัน

เวทีสำหรับการแสดงเป็นเวทีเปิด เรียกว่า Arena ซึ่งเคยเป็นโรงมหรสพที่ใหญ่โตเรียกว่า Amphitheatre ของชาวโรมันมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่หนึ่ง ในสมัยที่ชาวโรมันปกครองอยู่ เขาได้สร้างสถานที่นี้ขึ้นมาเพื่อจัดงานที่ใหญ่โตและสำคัญๆ เช่นการต่อสู้แบบมวยปล้ำหรือ wrestling matches หรือสำหรับการต่อสู้ระหว่างคนกับสิงห์โต เช่นในหนังเรื่อง Gladiator ซึ่งแสดงนำโดย Russel Crowe ในปัจจุบันทุกๆปีในช่วงฤดูร้อน จะมีการแสดงมหาอุปรากรที่มีชื่อเสียงและคอนเสิร์ทในรูปแบบต่างๆ โครงสร้างภายในยังคงได้รับการบำรุงรักษาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมรวมถึง acoustics หรือเครื่องเก็บเสียง ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการแสดงมหรสพประเภทนี้

โรงละครแห่งนี้ใหญ่เป็นที่สองรองลงมาจาก Caput Mundi ในกรุงโรม ที่สร้างขึ้นห้าสิบปีภายหลัง เอรีน่าแห่งนี้ มีบริเวณกว้างขวาง วัดจากภายนอกได้ 153 เมตร คูณ 124 เมตร มีความสูง 30 เมตร สิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นรูปไข่ ประกอบเป็นชั้นๆ อันเป็นหินอ่อนถึง 44 ชั้น มีระเบียงรอบนอกถึง 4 แห่ง รองรับน้ำหนักอยู่ มีประตูโค้งที่เรียกว่า arches ถึง 72 แห่ง บรรจุผู้ชมได้ถึง 30000 คนซึ่งมีจำนวนมากกว่าประชาชนทั้งหมดในเมืองเวโรน่าในสมัยนั้นเสียอีก แสดงว่าเมืองเวโรน่าเคยเป็นเมืองที่มีความสำคัญ ในด้านการคมนาคมมาก่อน

โรงแรม Bologne (โบโลนญ่า) ที่เราพักเป็นโรงแรมเล็กๆ มีไม่กี่ห้อง แต่มีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงอยู่ด้วย ต้องจองโต๊ะกันล่วงหน้า แม้ว่าจะมีร้านอาหารอยู่ในแถบเดียวกันมากมาย แต่ร้านอาหารของโรงแรมก็มีการจับจองกันแน่นทุกวัน ข้อดีอีกข้อหนึ่งของโรงแรมก็คือ ตั้งอยู่ตรงปากประตูทางเข้าของโรงละครพอดี ใช้เวลาเดินสองนาทีก็ถึง ซึ่งดีอย่างมากตอนที่การแสดงสิ้นสุดลง เพราะดึกหลังเที่ยงคืนไปแล้วมาก

กำแพงที่รายล้อมอยู่ด้านนอกของ เอรีน่า ถูกทำลายไปจนเกือบหมดจากแผ่นดินไหว ยังคงเหลือเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เรียกว่า Ala ซึ่งแปลว่า ปีก (wing) กรุณาอย่าได้สับสน Arena นี้กับ Roman Theatre หรือ Teatro Romano ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของสะพาน Ponte Postumio ซึ่งยังคงใช้เป็นเวทีสำหรับการแสดงต่างๆในฤดูร้อนมาจนถึงทุกวันนี้

ส่งก่อสร้างที่ยังคงเหลือให้เห็นมี สะพานหิน (Stone Bridge) ประตูโค้ง เจวี่ Gavi Arch ประตูที่เหลือทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ คือ Porta Borsari และ Porta Leona (Porta หมายถึง ประตู) อันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองเวโรน่าในยุคโรมัน หลังศตวรรษที่ห้าไปแล้ว เมืองเวโรน่าก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงของกษัตริย์ ปิแปง

Pipin ของอิตาลี ภายใต้อาณาจักรคาราลิงเงียน Carolingian Empire

ผู้คนส่วนใหญ่ที่ไปเที่ยวเมืองเวโรน่า มักจะไปดูการแสดงกันตอนค่ำ ส่วนตอนกลางวันก็ออกไปเที่ยวชมเมือง เราจึงถือโอกาสใช้เวลาที่มีอยู่มากมายไปชมเมืองเช่นกัน หลังอาหารเช้า แดดยังไม่จัดนัก เราเดินจากโรงแรมไปเรื่อยๆจนมาถึง บ้านเลขที่ ๒๗ บนถนน Via Cappello ในจตุรัส Piazza Erbe ซึ่งเคยเป็นบ้านของจูเลียตมาก่อน เรียกว่า Juliet House (La Casa de Giulietta) เป็นตึกสองชั้นหลังเล็กๆ สร้างด้วยอิฐสีแดง ข้างกำแพงมีเถาวัลย์สีเขียวเลื้อยเกาะอยู่ ใกล้ๆกันเป็นระเบียงหินอ่อนยื่นออกมา ณ ที่นี้แหละที่โรเมโอ ได้ปีนขึ้นไปหาจูเลียตและสาร ภาพความรักของเขา ด้วยวัยที่ยังเยาว์ เพียงสิบหกและจูเลียตก็มีอายุเพียงสิบสี่เท่านั้น

ชั้นแรกของตัวตึกเป็นประตูทางเข้ารูปโค้ง ภายในเป็นร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับโรเมโอและจูเลียต ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูโต๊ะ ผ้ากันเปื้อน ผ้าเช็ดมือ เช็ดปาก และสิ่งละอันพันละน้อย อยากจะขึ้นไปแสดงละครเป็นจูเลียตอยู่บนระเบียงเหมือนกัน แต่มาระลึกได้ว่าเป็นสาว (เหลือ) น้อยเสียแล้ว ประกอบกับได้รับแจ้งว่าจะต้องเสียเงินขึ้นไปบนระเบียงถึงสิบยูโร เพียงเพื่อจะถ่ายรูปและทำท่าให้ชาวบ้านทั่วโลกหัวเราะเยาะเอา ก็เลยเลิกล้มความตั้งใจ จึงได้แต่ไปยืนถ่ายรูปข้างใต้ระเบียง อันเป็นที่ตั้งรูปปั้นของจูเลียตที่นุ่งกระโปรงยาวเปิดไหล่ สร้างด้วยบรอนซ์ อวดหน้าอกที่สวยงามเต่งตึง ตำนานบอกว่าถ้าเอามือไปลูบถันข้างหนึ่งข้างใดแล้ว จะสมความปรารถนาในความรัก มีหนุ่มๆสาวๆไปลูบกันจนขึ้นเงา ส่วนประตูทางเข้าด้านหน้าเต็มไปด้วย Graffiti สีต่างๆ พร้อมลายเซ็นต์และรูปภาพที่ผู้ไปเยือนฝากไว้ ตำนานบอกไว้อีกว่า หนุ่มสาวที่ไม่สมหวังในความรักอาจจะเขียนไปเล่าความในใจให้จูเลียตฟังได้ ผู้ที่เขียนไปจะได้รับคำตอบ ในส่วนตัวคิดว่าเขาทำกันเป็นการค้าเลย เพื่อเป็นการโฆษณาให้คนไปเที่ยว ในขณะที่ได้จ้างเจ้าหน้าที่เอาไว้ตอบจดหมายเป็นพิเศษ

Piazza Erbe หรือ Vegetable Market มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๕ ถ้ายังจำได้ ถนน Cappello นั้นเป็นถนนสายที่ตัดผ่านบ้านของจูเลียต ในจตุรัสมีแผงขายผัก ผลไม้ และของที่ระลึกต่างๆ แลดูมีสีสันสวยงาม นอกนั้นก็มีรูปปั้นน้ำพุของ Madonna of Verona อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเวโรน่า ประกอบไปด้วยอ่างน้ำนับได้ตั้งแต่สมัยโรมัน มีอนุสาวรีย์รูปปั้นที่ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นคือ Scala ได้นำเอามาวางไว้ตั้งแต่ปี ๑๓๖๘ อยู่ด้วย เชื่อกันว่าโรเมโอและจูเลียตได้พบกันเป็นครั้งแรกที่ Piazza Delle Poste จตุรัสที่ในปัจจุบันได้กลายเป็นสวนสาธารณะไปแล้ว เหลืออยู่เพียงต้นไม้สองสามต้นที่มีมาตั้งแต่ในสมัยนั้น บ้านที่โรเมโอเคยอยู่เคยเป็นของครอบครัวชาวพาณิชย์ นาโกโรล่า (Nagorola) ที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับครอบครัว Scala มายาวนาน

เดินผ่านตึกมีหอคอยสูงเป็นตึกที่สร้างด้วยโมเสกสมัยโรมันเป็นสีแดงอมน้ำตาลสลับขาว มีหอคอยเห็นได้แต่ไกล เรียกว่า Palazzo del Commune ซึ่งเป็นที่ทำการเทศบาลหรือ City Hall มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๒ สำหรับเป็นที่ทำการของผู้พิพากษาในสมัยนั้น อีกด้านหนึ่งจะเห็นบันไดที่ทอดไปบนตึก เรียกว่า La Scala della Regione หรือ (The Steps of Reason) ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นบันไดที่คณะผู้พิพากษาใช้เดินขึ้นลงเพื่อไปตัดสินคดีฉ้อฉล คดโกงต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการบิดเบี้ยว ไม่จ่ายภาษีอากรจากรายได้ของการขายไหม และพวกฉลามมาเฟียเจ้าพ่อเงินกู้ทั้งหลาย เรื่องเอาเปรียบชาวบ้าน ไม่ยอมจ่ายภาษีนี่ฟังคุ้นหูอย่างไรไม่ทราบ

สิ่งที่ชอบทำที่สุดเป็นสิ่งแรกเมื่อไปเที่ยวเมืองใหม่ที่ไม่เคยไป คือการใช้รถบัส hop on hop off เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะไปสำรวจสถานที่ต่างๆ พร้อมกับรับฟังคำอธิบายข้อมูล จากเครื่องบันทึกเสียงที่มีอยู่หลายภาษา ก่อนที่จะตัดสินใจไปหยุดลงในที่ๆคิดว่าน่าสนใจ บางครั้งก็นั่งวนไปสองเที่ยวหรือใช้รถสองสายเลยทีเดียว

ที่เมืองเวโรน่าก็เช่นกัน เราซื้อตั๋วรถทั้งสีน้ำเงินและสีแดง ไปขึ้นรถสายแดงที่Corso Porto Nuova ผ่านสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจหลายแห่ง แต่ Castlevecchio หรือปราสาทเก่า (vecchio) ได้กลายเป๊นสิ่งก่อสร้างเก่าไป หลังจากที่ได้มีการก่อสร้างกำแพงปราสาทบนเขาเซ็นต์ปีโตร (San Pietro) ที่น่าสนใจก็เพราะตั้งอยู่บนเขาแลดูโดดเด่นเคร่งขรึม แต่ในขณะเดียวกันก็เขียวชอุ่มไปด้วยพรรณไม้ มองจากเนินลงมาจะแลเห็นเมืองเวโรน่าและตึกรามในเมืองได้อย่างชัดเจน

ข้ามสะพาน Ponte Vittoria หนึ่งในสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำ อาดิเจ (Adige River) ที่แบ่งตัวเมืองเป็นสองฝั่ง ผ่านตึกรามที่น่าสนใจหลายแห่ง รวมถึงสะพาน Ponte Pietra (Stone Bridge) ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นสะพานแห่งเดียวที่เหลือซึ่งยังคงเป็นอิฐอยู่ และเป็นสะพานเก่าแก่ที่สุดในเมืองเวโรน่า สร้างมาตั้งแต่สมัยโรมัน ข้ามแม่น้ำในส่วนที่แคบที่สุด ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สะพานถูกทำลายไปโดยนาซีเยอรมัน ที่เห็นในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ใช้อิฐที่มีอยู่เดิม เราเพียงแต่ผ่านไปเฉยๆไม่ได้แวะ แต่เดินกลับมาข้ามและถ่ายรูปอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้หมายตาไว้แล้ว รถบัสย้อนกลับมาข้ามสะพาน Ponte Nuovo แล้วกลับมาส่งยังจุดเริ่มต้นคือ Piazza Pradaval

เราเดินไปขึ้นรถบัสสีน้ำเงิน ผ่านถนน Via Pallone ไม่นานเท่าไร ก็มาถึงจุดที่จะลงเดินไปเยี่ยมหลุมฝังศพของจูเลียตได้ บนฝาผนังเป็นแผ่นบรอนซ์สลัก เขียนเรื่องราวของหนุ่มสาวทั้งสอง รถข้ามสะพาน A. Aleardi ผ่านตึกรามต่างๆที่เคยเป็นวังบ้าง โบสถ์หลายแห่ง รถวิ่งไปบนถนน Via Girardini Giusti ผ่านโบสถ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ 057Santo Stefano (The Church of St. Stephen) ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่สี่ บนสถานที่เคยเป็นวัด คือ Temple of Isis มาก่อน เซนต์สตีเฟนเป็นนักบุญคนหนึ่งที่อุทิศชีวิตเพื่อศาสนา ได้มีการพบกระดูกของเขาที่ใกล้ๆกรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษที่ห้า จึงได้นำเอามาไว้ที่โบสถ์แห่งนี้ จากนั่นก็ผ่านโรงละครโรมันเรียกว่า Teatro Romano ใช้เนินเขา เซ็นต์ปีเตอร์ เป็นฉากหลัง เป็นโรงละครที่มหึมามากในสมัยนั้นมองเห็นได้ทั้งเมือง และเป็นโรงละครโรมันเพียงไม่กี่โรงที่สร้างจากหิน รถวิ่งคดเคี้ยวไปอีกระยะหนึ่งก็ผ่านเนินเขา St.Peter (The Hill of San Pietro) อันเป็นที่ตั้งของโรงละครโรมันที่กล่าวถึง หลังจากนั่นรถก็เลี้ยวกลับไปทางเดิม แต่ไปข้ามสะพาน Ponte Garibaldi แล้วไปหยุดที่ Duomo หรือ (The Cathedral of Verona – Saint Mary Matricolar) ถ้ามีเวลาก็น่าจะลงไปแวะชม เพราะมีของดีให้ดูมากมาย ผ่านโบสถ์ St. Anastasia ซึ่งสร้างโดยพระสงฆ์ในนิกายโดมินิกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสาม (Dominis Canis – the hounds of God) หรือสุนัขของพระผู้เป็นเจ้า เป็นชื่อที่เรียกพระสงฆ์คณะนี้ เพราะเป็นพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เหมือนสุนัขคอยสูดดมสำรวจว่าจะมีใครบ้างที่มีความเชื่อที่แตกต่างหรือพิศดารไปจากความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า แล้วก็จะทำโทษผู้นั้นเสีย หลังจากนั้นรถก็พาข้ามสะพาน Ponte Nuovo เหมือนกับรถบัสสายแดง พาเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำ อาดิเจ อีกครั้งหนึ่งหลังจากนั่นก็พากลับไปข้ามสะพาน Ponte Navi ผ่านจตุรัส Piazza Erbe หรือ The Vegetable Market อันเป็นที่ตั้งของบ้านเกิดของจูเลียต ก่อนที่จะพากลับไปยังจุดเดิมอันเป็นจุดที่เริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง

เหตุผลที่ไม่ได้เล่ารายรายละเอียดของสถานที่ต่างๆเหมือนเช่นเคยก็เพราะว่าจุดประสงค์ของสารคดีนี้ ต้องการจะเล่าเรื่องการไปชมมหาอุปรากรให้ผู้อ่านฟังมากกว่าอย่างอื่น จึงอยากจะคุยเรื่องนี้ก่อนจะจบสารคดี

มหาอุปรากรที่แสดงที่ Arenaโรงละครเปิด เป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เย็นวันแรกเมื่อเข้าไปข้างในสถานที่แสดง ก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับฉากอันมโหฬารที่สร้างเหมือนของจริงทุกประการ อุปรากร Aida มีท้องเรื่องเกี่ยวกับประเทศอียิปต์ จึงมีฉากของปิรามิด มีรูปปั้นของ สฟิงส์ และของพระเจ้าเฟโรห์ขนาดของจริง มีผู้คนแต่งกายแบบในอดีตของอียิปต์ เราได้จองที่นั่ง section ที่สองซึ่งเป็นแถวที่ดีที่สุดเพราะสามารถชมการแสดง และฟังดนตรีได้ในระยะที่ไม่ใกล้และไม่ไกลจนเกินไป

ขณะที่รอการแสดงคนดูเริ่มทะยอยกันเข้ามาจนเต็มอัฒจรรย์ที่รายล้อมทุกด้าน อากาศค่อนข้างจะอบอ้าว แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มเย็นลงด้วยลมที่พัดมาเอื่อยๆจนสบาย โชคดีที่เป็นข้างขึ้นมีพระจันทร์เต็มดวงฉายแสงนวลจ้า เหนือฉากและแสงไฟที่จัดไว้อย่างสวยงาม ทำให้มีความรู้สึกเหมือนว่า ได้เข้าไปอยู่ในสถานที่ๆเป็นที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นจริงๆ เขาได้นำเอาบรรยากาศในประเทศอียิปต์มาไว้ในโรงละครแห่งนี้อย่างแนบเนียนไม่มีที่ติ

ในประเทศอียิปต์ ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ราดาเมส (Radames) หวังว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพออกไปทำสงครามกับเอธิโอเปีย เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพประเทศนี้กำลังจะยกทัพมารบกับอียิปต์ เขาต้องการได้ชัยชนะจากสงคราม เพื่อว่าจะได่ปลดปล่อยนางทาส Aida (ไอด้า) ซึ่งเขาหลงรักให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของเจ้าหญิง แอมเนริส (Amneris) แห่งอียิปต์ เจ้าหญิงองค์นี้หลงรัก ราดาเมส แต่รู้ด้วยสัญชาติญานว่า เขามีจิตใจผูกพันธ์อยู่กับนางทาสชาวเอธิโอเปียของเธอคือ ไอด้า

ราดาเมสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพสมความปรารถนา เขาได้รับชัยชนะและนำทัพกลับอียิปต์ท่ามกลางการต้อนรับอย่างท่วมท้น กองทัพของเขาได้นำเอานักโทษกลับมาด้วยหลายคน ในจำนวนนี้มี อัมโมนัสโร (Amonasro) กษัตริย์ของเอธิโอเปียอยู่ด้วย กษัตริย์องค์นี้เป็นพระบิดาของ ไอด้า แต่ไม่มีใครล่วงรู้ ก่อนที่ราดาเมสจะนำกองทัพกลับมา เจ้าหญิง แอมเนริส ต้องการจะรู้ว่าไอด้ารักราดาเมสหรือไม่ เธอจีงโกหกไอด้าว่า ราดาเมสได้ตายเสียแล้วในสงคราม เมื่อได้ยินเช่นนั้นไอด้าก็ร้องไห้ด้วยความโศรกเศร้า แอมเนริสจึงบอกความจริงว่า ราดาเมสยังไม่ตาย ไอด้าก็แสดงความยินดีออกมาอย่างเปิดเผย แอมเนริสจึงรู้ว่า ทั้งราดาเมสและไอด้ารักกัน

อย่างไรก็ดี ไอด้า ต้องต่อสู้กับความรู้สึกของตนเองอย่างหนัก ไหนจะความรักชาติ ไหนจะความรักที่มีต่อราดาเมส เธอจึงรู้สึกวุ่นวายมาก พ่อของเธอซึ่งเป็นกษัตริย์ของเอธิโอเปียขอให้ไอด้า ล้วงเอาความลับจากราดาเมสเรื่องยุทธศาสตร์สงคราม เมื่อได้พบกันราดาเมสก็ขยายความลับให้ไอด้าฟัง เพราะไม่รู้ว่าเธอเป็นลูกสาวของอัมโมนัสโร และไม่รู้ว่าอัมโมนัสโรกำลังแอบฟังอยู่ พอได้เวลาอัมโมนัสโรก็เผยตัวออกมาจากที่ซ่อน ต้องการให้ไอด้าหนีไปกับเขา ราดาเมสรู้ตัวว่าได้ทรยศต่อชาติ จึงมอบตัวให้ประหารชีวิต

เจ้าหญิงแอมเนริสได้เสนอต่อราดาเมสว่า หากเขาจะกล่าวโทษไอด้าว่าเป็นตัวการ และยอมแต่งงานกับเธอ เขาก็จะได้รับการปลดปล่อย ทว่าราดาเมสยอมถูกประหารด้วยการฝังทั้งเป็น ดีกว่าจะทำตามข้อเสนอ ในขณะที่พิธีประหารกำลังจะเริ่มขึ้น ไอด้าก็ปรากฏตัวออกจากที่ซ่อน และยอมถูกฝังทั้งเป็นพร้อมกับราดาเมส

ฉากสุดท้ายจบลงด้วยการสวดภาวนาขอความสันติและสงบสุขของเจ้าหญิงแอมเนริสท่ามกลางหมู่คณะสงฆ์ที่รายล้อมอยู่เหนือหลุมฝังศพ

มหาอุปรากรเรื่องนี้หรือเรื่องไหน ฟังแล้วก็เหมือนนิยายน้ำเน่าทั่วไป แต่การไปชมอุปรากร เขาไม่ได้เอาแต่เนื้อเรื่อง แต่ดูการแสดงและฟังเสียงเพลงที่ร้อง ประกอบวงดนตรีมหึมา ฟังเสียงของผู้แสดงแต่ละคนว่าจะไพเราะขนาดไหน แน่นอนนักแสดงที่คัดมา ต่างก็เป็นนักแสดงชั้นเยี่ยม จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า น้ำเสียงของไอด้าจะไพเราะจับใจแค่ไหน ยามที่เธอเปล่งเสียงร้องเพลงแสดงความเศร้า แสดงความสุข และความลิงโลด เสียงของราดาเมสและนักแสดงคนอื่นๆก็เช่นกัน ยามเมื่อพวกเขาประสานเสียงขับร้อง มันช่างน่าฟัง ท่ามกลางบรรยากาศแสง และสี ทำให้ขนลุกด้วยความปิติว่าเสียงที่เปล่งออกมาช่างมีพลังและอำนาจสะกดทุกคนให้ตกอยู่ในภวังค์ จึงได้รับการปรบมือโห่ร้องจากผู้ชมอย่างกึกก้อง นักแสดงต้องออกมาโค้งแล้ว โค้งอีก เพื่อแสดงความขอบคุณ ที่เขาเรียกว่า curtain call ยิ่งได้มากครั้งเท่าไรก็แสดงว่าประสบความสำเร็จมากเท่านั้น

เย็นวันต่อมา อากาศดีเช่นเคย คราวนี้เวทีมหึมาที่เคยเป็นประเทศอียิปต์เมื่อคืนก่อน ถูกจำลองให้เป็นฉากเมืองนางาซากิ ของประเทศญี่ปุ่น การแต่งกายและเครื่องประดับเป็นญี่ปุ่นทั้งหมด ฉากแรกเป็นการพบปะกันระหว่างนาวาโทหนุ่มชาวอเมริกัน พิงค์เกอร์ตัน (Pinkerton) กับสาวเกอิชานามว่า โจ๊ว โจ๊ว ซัน ด้วยการแนะนำของนายหน้าชาวญี่ปุ่น โจ๊ว โจ๊ว ซัน หรือที่เรียกกันว่า (Madam Butterfly) มาดามบัตเตอร์ฟลาย พิงเกอร์ตัน เป็นหนุ่มเจ้าสำราญ ไม่คิดจะผูกมัดตนเองกับใคร ประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่า หากจะแต่งงานจริงจังก็จะแต่งกับสาวชาวอเมริกันเท่านั้น เขาพึงใจในความสวยของโจ๊ว โจ๊ว ซัน และต้องการแต่งงานกับเธอแบบมีสัญญาเช่าเก้าสิบเก้าปี แม้ว่ากงสุลใหญ่ชาวอเมริกันจะทักท้วงว่า ไม่ควรทำ เพราะสำหรับหญิงญี่ปุ่นแล้ว การแต่งงานเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่พิงค์เกอร์ตันไม่ยอมฟังเสียงทักท้วง ทำพิธีแต่งงานแบบญี่ปุ่นจนได้ อีกไม่นานต่อมา นาวาโทพิงเกอร์ตันก็จากไป ทิ้งให้โจ๊ว โจ๊ว ซัน เผชิญชีวิตตามลำพัง ในระหว่างนี้เธอได้ให้กำเนิดลูกชายคนหนึ่ง และได้แต่เฝ้ารอให้สามีกลับมารับเธอและลูกไปอยู่ด้วยที่อเมริกาท่ามกลางความเยาะเย้ยดูหมิ่นของคนรอบข้าง

อีกสามปีให้หลัง พิงค์เกอร์ตัน ก็กลับมา แต่เขาไม่ได้กลับมาคนเดียว แต่พาเอาภรรยาสาวชาวอเมริกันชื่อเคท กลับมาด้วย โดยไม่ยอมมาพบเมียชาวญี่ปุ่นและลูก น้อย เมื่อโจ๊ว โจ๊ว ซัน รู้ข่าว เธอก็ขอให้คนใช้ผู้ซื่อสัตย์ ซูซูกิ (Suzuki) ไปขอร้องให้เขาพาลูกกลับไปเลี้ยงที่อเมริกาด้วยในระหว่างนั้น เธอก็จัดของเล่นให้ลูกชายออกไปเล่นในสวน ส่วนตนเองได้แอบเข้าไปในห้อง หยิบมีดเล่มเดียวกับที่พ่อของเธอใช้คว้านทองทำฮาราคีรี มาใช้กับตนเอง พ่อของโจ๊ว โจ๊ว ซัน เคยเป็นซามูไรมาก่อน แต่ต้องเผชิญกับเรื่องอัปยศ จึงได้ตัดสินใจทำฮาราคีรีเพื่อหนีความอาย มหาอุปรากรเรื่องนี้จบลงด้วยความเศร้า เช่นเดียวกับไอด้า แต่วิธีการแต่งกาย การจัดฉาก การแสดง ตลอดจนการร้องเพลง จับใจผู้ชม จนได้รับการปรบมือและมี curtain call หลายครั้ง

ต้องยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เสียงของ โจ๊ว โจ๊ว ซัน และของ หญิงรับใช้ กินเสียงของนักแสดงคนอื่นๆแบบขาดลอย คนดูถึงกับลุกขี้นปรบมือตะโกนออกมาว่า Bravo Bravo Puccini ซึ่ง เป็นการให้เกียรติผู้ประพันธ์เป็นอย่างสูง

ไม่ว่าจะเป็น มหาอุปรากรเรื่อง Madam Butterfly ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ จาโกโม พุคชีนี่ (Giacomo Puccini) หรือมหาอุปรากรเรื่อง ไอด้า ซึ่งเป็นของ Giuseppe Verdi ต่างก็ได้รับความนิยมมากมายทั่วโลก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การไปชมอุปรากรหรือคอนเสิร์ท ไม่ใช่เรื่องที่โก้เก๋ หรืออวดความร่ำรวย และจำกัดอยู่เพียงในแวดวงของสังคมชั้นสูงแบบประเทศที่ด้อยพัฒนาเท่านั้น แต่ทุกคนในสังคมก็มีโอกาศเช่นเดียวกันหากมีความสนใจในศิลปะประเภทนี้ อยากจะให้ประเทศไทยเป็นเช่นนี้บ้าง คงจะไม่ผิดนะคะ