แม่น้ำดานูบไหลเอื่อย ผ่านดินแดนที่ชาวโลก (เกือบ) ลืม ตอนที่4

ในสมัยศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ เนซีบาร์ร่ำรวยขึ้นจากการค้าขายทางทะเลพ่อค้าวาณิชจึงได้สร้างบ้านสวยๆขึ้นเป็นที่อยู่บ้านเหล่านี้สร้างด้วยไม้โอ๊ก จึงทนทานและยังมีเหลือให้เห็นหลายแห่ง ในระยะต้นๆของศตวรรษที่ ๒๐ การค้าทางทะเลได้ถูกย้ายไปอยู่ที่เมืองวาร์นาแทน สถานภาพของเนซีบาร์จึงด้อยความสำคัญลง ปัจจุบันเนซีบาร์อยู่ได้เพราะนักท่องเที่ยว

นายโอกี้เล่าว่า ประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวในราว ๘ เปอร์เซ็นต์ พลเมืองประมาณหนึ่งแสนสามหมื่นคนทำงานในด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่มาเที่ยวบัลแกเรียในฤดูหนาวเพื่อเล่นสกี เพราะแน่ใจได้ว่าจะมีหิมะให้เล่น และค่าใช้จ่ายก็ถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ กรีซ แมซีโดเนียน และตุรกี นักท่องเที่ยวที่กล่าวถึงไม่ค่อยจะจับจ่ายใช้สอยมากนัก ส่วนในฤดูร้อนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศเยอรมนี สแกนดิเนเวีย เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ อังกฤษ และรัสเซีย นักท่องเที่ยวประเภทนี้ได้จ่ายค่าเดินทางรวมถึงค่าโรงแรม ฯลฯ ด้วยเงินในสกุลของประเทศตนมาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินสดในบัลแกเรียกันสักเท่าไรนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในฤดูร้อนพากันไปพักผ่อนว่ายน้ำ อาบแดดกันบนฝั่งทะเลดำ

คณะพากันเดินไปตามถนนแคบๆที่ทำด้วยหิน “Cobbled Stone” ผ่านโบสถ์ “บาสิลิก้า” (Basilica) หรือ โบสถ์ Metropolitan ที่ปรักหักพัง เป็นจุดเด่นอยู่ใจกลางเมือง นายโอกี้บอกว่ามีโบสถ์อยู่ถึง ๔๐ แห่งในเมืองนี้ แล้วก็พาคณะเข้าไปชมโบสถ์ “เซ็นต์สตีเฟ่น” (St. Stefan Church) ภายในตัวโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนัง “มูราล” ที่วาดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๕ ถึง ๑๖ เต็มไปหมดถึงแม้ว่าโบสถ์นี้จะอยู่ติดทะเลทำให้ลมพัดเอาน้ำเกลือสาดเข้ามาถึง แต่ภาพวาดสีก็ยังสวยงามคงทน โบสถ์นี้เป็นโบสถ์แห่งแรกๆของประเทศที่มีกระเบื้องเซรามิคประดับอยู่ ชวนให้ระลึกถึงวัดอรุณของไทย

หลังจากได้เดินชมสถานที่เก่าแก่ต่างๆกันทั่วเมืองแล้ว นายโอกี้ก็บอกว่า ใครที่อยากจะกลับโรงแรมที่ซันนี่บีช ก็ให้ไปขึ้นรถกับเขา ส่วนคนที่อยากอยู่ต่อก็อาจจะนั่งเรือกลับโรงแรมหรือนั่งแท็กซี่หรือรถเมล์กลับได้ เพ็ญและฮันส์ไม่รั้งรอที่จะอยู่ดูเมืองต่อ เพราะหาจังหวะอยู่ตามลำพังไม่ค่อยจะได้ โปรแกรมแน่นไปหมด คนอื่นๆพากันกลับโรงแรม ไปว่ายน้ำอาบแดด หรือพักผ่อนตามอัธยาศัย

สองสามีภรรยาเดินไปนั่งเล่นบนโขดหินชมวิวของทะเลดำ ท้องฟ้าสีคราม แดดจ้า เพ็ญคิดถึงน้อง อดไม่ได้งัดเอามือถือออกมาโทร.ไปหาที่ภูเก็ต บอกว่าอยากให้มาเที่ยวด้วยน้องชายเพ็ญเกือบร้องไห้ เพราะอยากมาเที่ยวด้วยเต็มแก่ แต่หน้าที่การงานที่โรงพยาบาลบังคับให้มาด้วยไม่ได้ ในอดีตหลายชาติขนานนามทะเลดำว่า “ทะเลแห่งความมืด” เพราะคลื่นลมแรง ยากต่อการเดินเรือ

ดูเมืองกันจนหนำใจแล้วก็ไปกินอาหารกลางวันที่ค่อนข้างบ่ายมากกันในร้านอาหารชื่อ “กะปิตันสกา” (Kapitanska) ซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่เหนือทะเล ปลาและสลัดที่เขาทำให้กินวันนั้นอร่อยถูกปากที่สุด ไวน์ขาวที่สั่งมาก็รสชาติดีมาก ใครมาเนซีบาร์แล้วอย่าลืมแวะไปกินอาหารที่ร้านนี้ เพ็ญให้คะแนนเต็มเลยละไม่ได้คอมมิชชั่นนะจะบอกให้

พออิ่มหนำสำราญกันแล้ว ก็พากันไปขึ้นเรือกลับโรงแรม เวลาไปเที่ยวต่างประเทศเพ็ญชอบนั่งเรือมาก เพราะมักจะเป็นไฮไลท์ของการเดินทางเสมอ ยิ่งวันนั้นอากาศดีด้วยแล้วเวลาครึ่งชั่วโมงที่ผ่านไปรู้สึกเหมือน ๕ นาทีพอเรือไปถึงฝั่งของโรงแรม เพ็ญเกือบเป็นลมด้วยภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้าบนชายหาดที่เป็นกรวดเสียส่วนใหญ่ เต็มไปด้วยผู้คนในชุดอาบน้ำนั่ง นอน และยืนเต็มไปหมดจนไม่มีที่ว่างแทบจะเกยกัน หาดบางแห่งที่ภูเก็ตที่ว่าแย่มากแล้ว ยังไม่ได้เศษหนึ่งส่วนร้อยของที่หาดนี้ และเพ็ญจะไม่เหยียบไปหาดเหล่านั้นเลยทั้งๆที่สวยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกัน เชื่อนาย

โอกี้แล้วว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มารวมตัวกันที่นี่ในฤดูร้อน

เย็นวันนั้น เพ็ญกับฮันส์นั่งแท็กซี่หนีกลับเข้าเมืองเนซีบาร์อีก เพราะทนกินอาหารบุฟเฟ่ต์ที่โรงแรมไม่ไหว และไม่อยากฟังเพื่อนร่วมคณะบรรยายถึงความสวยงามของชายหาดทะเลดำให้ฟัง เกรงว่าจะไปขัดคอเขาเข้า สำหรับเพ็ญแล้วไม่มีหาดใดในโลกสวยเท่ากับหาดทรายละเอียดของประเทศบ้านเกิด ทั้ง ๒ คน กินปลาเช่นเคย แต่ในอีกร้านหนึ่งชื่อ “เนพจูน” (Neptune)

เมืองเนซีบาร์ในยามค่ำคืนสวยไปอีกแบบหนึ่ง บ้านเรือนตามไฟด้วยแสงระยิบระยับนักท่องเที่ยวเดินชมเมืองและซื้อของที่ระลึกกันขวักไขว่ เพ็ญตั้งใจไว้แล้วว่าจะซื้อน้ำหอมดอกกุหลาบไปฝากลูกสาวและให้ตัวเอง น้ำหอมดอกกุหลาบในประเทศบัลแกเรียมีชื่อเสียงไปทั่วโลกแต่แพงจับใจ เพราะการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อน แถมยังต้องอาศัยดอกกุหลาบจำนวนมากอีกต่างหากเพียงเพื่อผลิตน้ำหอมเพียงนิดเดียว

ในใจกลางของบัลแกเรียจากเมือง “คาร์โลโว” (Karlovo) ถึงเมือง “คาซันลัก” (Kazanlak) เรียกกันว่า “หุบเขาแห่งดอกกุหลาบ” (Valley of Roses) เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดอกกุหลาบ (Rose Oil) ขายให้ทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศสมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันดอกกุหลาบที่ผลิตให้โลกมาจากที่นี่ เชื่อกันว่าดอกกุหลาบพันธุ์นี้ถือกำเนิดมาจากประเทศอินเดียและมาถึงบัลแกเรียจากเอเชียไมเนอร์เมื่อหลายศตวรรษมาแล้ว ดอกกุหลาบนี้ชอบอากาศอบอุ่น จึงบานระหว่างเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เขาเด็ดกลีบของมันมาในขณะที่ดอกยังปกคลุมด้วยน้ำค้าง คือต้องเด็ดกันแต่เช้าตรู่ระหว่างตีสี่ และสิบโมงเช้า ก่อนที่แดดจะร้อน ด้วยวิธีนี้เขาจึงยังรักษากลิ่นหอมของดอกกุหลาบไว้ได้ หลังจากนั้นก็จะเอากลีบไปอบไอน้ำ บีบเอาน้ำมัน จึงต้องใช้ทั้งเวลา ความอุตสาหะ และค่าใช้จ่ายสูงมาก เพียงเพื่อจะได้น้ำมัน ๑ กิโล เขาต้องใช้กลีบดอกกุหลาบถึง ๓,๐๐๐ กิโล ลองคิดดูคร่าวๆ หากต้นกุหลาบ ๑ ต้น ออกดอกได้ ๒๐ ดอกต่อปีและดอกกุหลาบ ๑ กลีบหนักเพียง ๒.๕ กรัมจะได้น้ำมันสักเท่าไร? ยิ่งไปกว่านั้น เขาจะต้องปลูกต้นกุหลาบใหม่ทุกๆ ๔ ปี จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมหัวน้ำมันดอกกุหลาบ ๑ กิโล จึงขายได้ถึง ๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

น้ำมันดอกกุหลาบมีวางขายอยู่ทั่วไปจะรู้ว่าเป็นของแท้หรือของปลอม ก็ต้องดูกันที่ครั่งที่ปิดไว้บนขวดไม้เล็กๆทำเป็นสีสวย เมื่อแกะครั่งออกมาก็จะเห็นขวดน้ำหอมเล็กกว่านิ้วก้อยเด็กอยู่ข้างในอีกทีหนึ่ง น้ำหอมที่บรรจุอยู่ข้างในมีอยู่เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ของขวดเท่านั้น กิตติคุณของน้ำหอมก็คือแต่ละหยดหอมติดทนนานเป็นปีๆ ไม่ใช่หยดใส่เพื่อให้ตนเองหอม แต่หยดเพื่อให้บ้านเรือนมีกลิ่นหอมแต่ใครจะใช้ประพรมร่างกายตนเองก็ได้ ไม่ห้ามหากรู้แต่ราคาแต่ไม่รู้ประวัติความเป็นมาและเป็นไปของน้ำหอมแล้ว เชื่อว่าแทบทุกคนคงต้องหยิบแล้ววาง เพ็ญตัดใจซื้อมา ๒ ขวด ไหนๆก็มาถึงที่แล้วอดคิดถึงอาบังแขกที่เร่ขายน้ำหอมตอนเพ็ญเป็นเด็กๆไม่ได้ ที่ร้องขายบรรยายสรรพคุณของน้ำหอมที่ขายว่า “เร่เข้ามา เร่เข้ามา รับรองใส่ผัวหอมเมีย ใส่เมียหอมผัว” เพื่อจูงใจให้คนมาซื้อ

คืนนั้นเพ็ญนอนหลับสบายฝันดีตลอดคืน เพราะได้หนีไปเที่ยว ๒ คน กับฮันส์ไม่มีสมาชิกคนอื่นให้เห็นเลย และก็ไม่มีใครอุตริเข้าเมืองในคืนนั้นจริงๆ เพราะคริสเตียนซักว่าหายไปไหนกันมา ไม่มากินข้าวเย็น

จากเนซีบาร์ รถวิ่งผ่านเนินเขาและทุ่งหญ้า ทุ่งนา เรือกสวน มีฝูงแกะและแพะและเล็มหญ้าตามสองข้างทาง นายโอกี้อธิบายว่าในบัลแกเรียนิยมเลี้ยงแพะและแกะมากกว่าม้าเพราะไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากเท่าม้าแถมยังใช้การได้ดีกว่า เพราะอดทนกว่านอกจากนั้นมันยังทำเสียงหนวกหูแต่เช้าตรู่เป็นนาฬิกาปลุกอย่างดีสำหรับกสิกร มีนกกระยางเป็นฝูงทำรังเหนือต้นไม้และตามเสาไฟฟ้าให้เห็นอยู่ทั่วไป นกพวกนี้อพยพมาจากทวีปแอฟริกา พอถึงเดือนกันยายนก็บินหนีหนาวกลับสู่ที่อบอุ่นอย่างเดิม คงเหมือนเพ็ญกับฮันส์ที่หนีสวิสกลับภูเก็ตเมื่อฤดูหนาวมาเยือนสองข้างทางเต็มไปด้วยเรือกสวนผลไม้ เช่นลูกพีช และแอพพริค็อท (Apricot) รถหยุดให้ซื้อลูกพีชลูกโตๆสีแดงน่ากิน ราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ

รถวิ่งผ่านเมืองสไลเวอร์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในการผลิตผ้า มีไร่นาหลายแห่งที่เห็นได้ว่าถูกทอดทิ้ง นายโอกี้บอกว่า ผู้คนต้องทิ้งไร่นาให้ร้างไป เพราะไม่มีเครื่องจักรช่วยแบ่งเบาภาระกำลังคน นักเตะฟุตบอลที่มีชื่อเสียงของบัลแกเรียชื่อ “เล็ชคอฟ” (Letchkov) ก็เกิดที่เมืองสไลเวอร์ เขาทำประตูได้ทั้งหมดถึง ๑๔ ประตู เลยได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีเขาอยู่ในตำแหน่งมาเป็นเวลา ๑ ปีแล้ว นายโอกี้บอกว่า เขาปฏิบัติหน้าที่ได้ดี เพ็ญไม่เคยได้ยินชื่อของนักฟุตบอลคนนี้ เลยไม่ตื่นเต้นไปกับเขา

คณะเดินทางไปถึงเมือง “พลอฟดีฟ” (Plovdiv) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นที่ ๒ ของประเทศ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ “มาริทซ่า” (Maritsa) พลอฟดีฟตั้งอยู่บนเนินเช่นเดียวกับเมืองทาร์โนโว การท่องเที่ยวของเมืองใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ที่เห็นกันดาษดื่นทั่วไปว่าถ้าใครไปบัลแกเรียแล้วไม่ควรพลาดเมืองนี้เพ็ญเห็นว่าประชาสัมพันธ์จุดนี้ไม่เกินความจริงไปเลย เพราะมีอะไรต่ออะไรน่าดูเยอะ เช่นโคลีเซียม ที่สร้างขึ้นโดยชาวโรมันในศตวรรษที่ ๒ ไม่น่าเชื่อว่าโคลีเซียมแห่งนี้เพิ่งถูกค้นพบในปี ๑๙๗๒ มานี่เอง หลังจากที่เกิดดินถล่ม ต่อมาก็ได้รับการบูรณะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง มีบ้านสวยๆที่สร้างในศตวรรษที่ ๑๙ ให้ดูหลายแห่ง บางบ้านเจ้าของยกให้เป็นที่อาศัยของนักเขียนมีชื่อ ส่วนใหญ่บ้านเหล่านี้ถูกสร้างโดยพ่อค้าในสมัยนั้น เช่นเดียวกับบ้านในเมืองเนซีบาร์เหมือนกัน ขอแนะนำว่าหากใครมาเที่ยวเมืองนี้หรือประเทศนี้ ควรจะใส่รองเท้าสบายๆสำหรับเดินโดยเฉพาะ เพราะต้องเดินขึ้นๆลงๆเนินเขาหลายต่อหลายแห่ง ถนนส่วนใหญ่ก็ทำด้วยหิน Cobbled Stone ทำให้ยากต่อการทรงตัว หากรองเท้าไม่อำนวย

เย็นวันนั้นคณะไปกินอาหารเย็นที่ร้านเก่าแก่ชื่อว่า “อาลาฟรังจีเท” (Alafrangite) เป็นอาหารมื้ออร่อยอีกมื้อหนึ่ง เพ็ญมีความสุขกับการได้ฟังเพลงเก่าๆ จากนักร้อง นักเล่นเปียโนและสีไวโอลินตอนเดินกลับโรงแรม “บัลแกเรีย” ถนนมืดไม่มีแสงไฟ ผู้ร่วมคณะคนหนึ่งได้เริ่มร้องเพลงโห่ “โยเดิล” ของชาวสวิส ทำให้ทุกคนร้องตาม โดยปกติเพ็ญไม่ชอบฟังเพลงพื้นเมืองของสวิส แต่ในเย็นวันนั้นมีความรู้สึกว่า ไม่เลวเลยหรืออาจจะกินไวน์เคล้าดนตรีมากไปหน่อย?

หลังอาหารเช้า คริสเตียนขับรถพาคณะไปบนถนนค่อนข้างกว้าง ที่นายโอกี้บอกว่าสามารถพาไปถึงเมืองอิสตันบุลในตุรกีได้ถนนนี้สร้างขนานไปกับมอเตอร์เวย์ รถวิ่งผ่านทุ่งนา สวนมะเขือเทศ และกรีนเฮาส์ที่ปลูกดอกคาร์เนชั่นสำหรับส่งไปขายต่างประเทศอีก ๒ ชั่วโมงต่อมา ก็ไปถึงเชิงเขา “ไรล่า” (Rila Mountains) “ไรล่า” แปลว่า ภูเขาแห่งน้ำ เป็นสถานที่ที่มีชื่อในเรื่องสกี และน้ำแร่เรียกว่า “บันย่า” (Banya)

รถแวะให้ลงไปยืดแข้งยืดขา แดดอ่อนลมแรง เชิงเขาสูงประมาณ ๑,๓๔๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากในหมู่บ้านแห่งนี้ สังเกตว่าพวกเขาใช้เนื้อที่ทุกตารางเมตรในการปลูกด้วยรูปลายสีขาวพาดไปมามีระเบียงสีสด ๔ ชั้นล้อมรอบ วิหารไรล่าถูกไฟไหม้จนเกือบวอดวายครั้งหนึ่งในปี ๑๘๓๓ แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนเหมือนเดิมภายในระยะเวลา ๑ ปีเท่านั้น ด้วยเงินบริจาคที่มาจากแหล่งต่างๆทั่วประเทศ แสดงถึงความสำคัญของวิหารและศรัทธาที่ผู้คนมีต่อสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ในปี ๑๙๖๑ รัฐบาลบัลแกเรียได้ประกาศวิหารให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และในปี ๑๙๘๓ ก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก

นายโอกี้พาคณะเข้าไปดูภายใน มีที่อยู่ของสงฆ์ ครัวใหญ่ดำทะมึน มีเตาและปล่องไฟสูงใหญ่ ครัวเป็นที่ประกอบอาหารให้นักธุดงค์ในสมัยก่อนถึงคราวละพันๆคน มีหม้อหุงต้มมหึมาหม้อหนึ่งสามารถต้มวัวได้ทั้งตัว มีห้องกินอาหารของพระเรียกว่า “รีเฟ็คทรี่” (Refectory) เพ็ญอดคิดถึงหนังเรื่อง “In the Name of the Rose” ไม่ได้ เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

ภายในวิหารมีรูปสลักแบบ “ไอคอน” มากมายจาระไนไม่ถ้วน ส่วนภายนอกเป็นจิตรกรรมฝาผนังอย่างที่เห็นทั่วไปตามวิหารของนิกายคริสเตียนออร์โธด๊อกซ์ ที่แตกต่างก็คือการบรรยายฉากต่างๆในพระคัมภีร์ รวมถึงผู้บริจาคเงินช่วยสร้างและซ่อมแซมวิหาร มีฉากสวรรค์ นรก เทวดา นางฟ้า นักบุญ เป็นการระบายภาพด้วยสีสันบรรเจิด มีดอกไม้ นก และก้านไม้เลื้อย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือฉากที่เกี่ยวกับ “วันพิพากษาจากสวรรค์” (Judgement Day) ตามความเชื่อของชาวคริสต์ จะเห็นภาพมนุษย์ที่ถูกพิพากษามีลักษณะของชาวยุโรปโดยทั่วไป มีแสงกลมเรืองรองรอบศีรษะ ส่วนอีกพวกหนึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวเติร์ก พวกนี้ไม่มีแสงเรืองรองรอบศีรษะแต่อย่างใด คาดว่าคงจะเป็นการระบายภาพที่ต้องการจะบอกว่า ใครที่ทำกรรมทำลายโบสถ์และสถานที่ที่เกี่ยวกับศาสนาจะต้องได้รับกรรมที่ก่อไว้ คือไปอยู่ในนรกนั่นเองภาพจิตรกรรมทั้งในและนอกวิหารเป็นผลงานของจิตรกรที่มีชื่อเสียงหลายคน แต่ไม่มีชื่อบอกไว้ เพราะถือกันว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้บันดาลให้มือของศิลปินเหล่านี้เป็นผู้ระบาย มีจิตรกรเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สลักชื่อของตนเอาไว้เขาคือ “ซาฮารี โซกราฟ” (Zahari Zograf)

อีกที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาดคือพิพิธภัณฑ์ “Ethnographic Museum” เพราะมีสิ่งที่น่าชมหลายอย่าง โดยเฉพาะไม้กางเขนไรล่า (Rila Cross) ซึ่งทำด้วยไม้ ทั้งสองข้างสลักเป็นลวดลายเล็กจิ๋วของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพระคัมภีร์ถึง ๑๔๐ ฉากมีรูปจิ๋วของมนุษย์อีกถึง ๖๕๐ คน มิน่าเล่าศิลปินผู้สลัก บราเธอร์ “ราฟาเอล” (Brother Raphael) ถึงได้ตาบอดในที่สุด เพราะต้องมองลอดแว่นขยายเวลาสลักติดต่อกันเป็นเวลานาน