แม่น้ำดานูบไหลเอื่อย ผ่านดินแดนที่ชาวโลก (เกือบ) ลืม ตอนที่2

จริงอย่างที่เพ็ญพูด หนทางที่มุ่งไปเมืองบราสซอฟสวยจริงๆ ไม่มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัวแต่อย่างใด ถนนแคบ คดเคี้ยวไปมา ขึ้นๆลงๆผ่านเนินเขาหลายแห่ง มีลำธารใสไหลผ่านก้อนกรวดและทราย ไกด์บอกว่าแหล่งนี้เป็นแหล่งเล่นสกีที่ดีที่สุดของประเทศ ถ้าจะไปเดินป่าก็ไม่ต้องกลัวหลงเพราะมีป้ายบอกทางเป็นอย่างดีกระท่อมที่ชาวโรมาเนียเรียกว่า “คาบาน่า” ก็เปิดให้เช่าตลอดทั้งปี ที่น่ากลัวก็มีแต่อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หิมะที่ตกในฤดูหนาวอาจจะค้างอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม มีฝนฟ้าคะนองเป็นประจำ จึงจำเป็นสำหรับนักเดินทางที่จะต้องมีอาหารไว้สำรองเสมอ

“บราสซอฟ” อยู่ห่างจาก “ซีเบียว” เพียง ๑๒๖ กิโลเมตรเท่านั้น รถหยุดแวะให้ลงไปกินอาหารกลางวันและเดินเที่ยวชมเมืองตามอัธยาศัย ฮันส์และเพ็ญไม่รีรอรีบเดินไปที่จัตุรัสใจกลางเมืองเพื่อกินอาหารกลางวันง่ายๆจะได้มีเวลาเดินเล่น จัตุรัสแห่งนี้ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประเทศ มีเนินเขาเขียวขจีล้อมรอบ ความจริงนั่งอยู่เฉยๆในร้านกาแฟ หรือร้านอาหารบนจัตุรัสนี้โดยไม่ไปไหนก็เกินพอเพราะมีตึกและบ้านในสมัยศตวรรษกลางแบบบาโรคสวยๆให้เห็นอยู่รอบด้าน มีโบสถ์ที่ชาวเยอรมันแซ็กซันสร้างขึ้นแบบเดียวกับในเมืองซีเบียว หอนาฬิกาที่ตั้งอยู่ในใจกลางจัตุรัสสร้างขึ้นในปี ๑๕๘๒ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มารวมตัวกันอยู่ที่นี่เพื่อเดินทางต่อไปเที่ยวชมปราสาทเคานต์แดร็กคูล่าหรือเพื่อพักผ่อนในละแวกใกล้กัน

“เราไปดูโบสถ์’ดำ’ (Black Church หรือ Biserica Neagra) กันดีกว่า” เพ็ญชวน “โบสถ์นี้น่าสนใจนะฮันส์ เท่าที่อ่านดูเขาบอกว่าใครๆเรียกว่าโบสถ์ดำก็เพราะลักษณะภายนอกที่ถูกไฟไหม้เมื่อปี ๑๖๘๙ เขาก็เลยทิ้งให้อยู่อย่างนี้”

ภายในโบสถ์มีพรมถักทอด้วยมือของชาวเติร์กแขวนอยู่ทั่วระเบียงโดยรอบ สีจัดจ้านของมันช่วยทำให้โบสถ์มีสีสันสดใสขจัดความมืดภายในโบสถ์ไปได้บ้าง มีรูปปั้นพระแม่มารีและนักบุญคนอื่นๆตั้งอยู่แทบทุกแห่ง

อีก ๓๒๓ กิโลเมตรต่อมา รถก็พาคณะมาถึงกรุงบูคาเรสท์ (Bucharest) ก่อนจะพาคณะเข้าเช็คอินที่โรงแรม Best Western Park ที่อยู่ใจกลางเมืองเก่า คริสเตียนขับรถพาคณะวนไปตามถนนสายต่างๆเพื่อชมตัวเมือง เมืองหลวงของโรมาเนียประกอบไปด้วยถนนสายใหญ่หลายสายปกคลุมไปด้วยร่มไม้เขียวชอุ่ม ตอนเหนือของเมืองมี Triumphal Arc ชื่อเดียวกับในกรุงปารีส มีปาร์คใหญ่หลายแห่งรวมทั้งอนุสาวรีย์และน้ำพุ นับไม่ถ้วน คณะตื่นตาตื่นใจกับความโอฬารของสถานที่ทำการรัฐบาล กระทรวงทบวง กรม ในปัจจุบันหลายแห่งได้ถูกปรับปรุงกลายเป็นธนาคาร ร้านค้าทันสมัย

ในสมัยที่ยังเรืองอำนาจ เชาเชสกูต้องการสร้างบูคาเรสท์ให้เป็นเมืองหลวงในระบบโซเชียลลิสต์ที่ฟู่ฟ่าคล้ายคลึงกับกรุงปารีส โดยรื้อถอนตึกประวัติศาสตร์และบ้านเรือนหลายแห่งเพื่อสร้างตึกที่เขาเรียกว่า “House of the People” เป็นจุดศูนย์กลางแต่สร้างยังไม่ทันเสร็จเขาก็ถูกโค่นอำนาจในปี ๑๙๘๙ จึงเหลือสถานที่แห่งนี้ให้เป็นที่แสลงตาแสลงใจของชาวโรมาเนียในความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อของอดีตผู้นำที่ใช้อำนาจเอาเงินของประเทศมาละลายโดยไม่ชอบธรรมเพื่อความสะใจของตนเอง ตึกอพาร์ตเม้นต์ราคาถูกที่เขาสร้างและบังคับให้ชาวเมืองหลวงอยู่ถูกทอดทิ้งปล่อยให้อยู่ตามยถากรรม จึงสลักหักพังทรุดโทรม จนกระทั่งในปี ๑๙๙๐ ได้มีการพื้นฟูตึกหลายแห่งขึ้นมาใหม่ สภาพของเมืองจึงดีขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

“ตำนานเล่าว่ากรุงบูคาเรสท์ถูกค้นพบโดยคนเลี้ยงแกะชื่อ ‘บูคัวร์’ (Bucur)” เสียงของวิลลี่ในภาษาเยอรมันดังผ่านไมโครโฟนมาเข้าโสตประสาท “บูคาเรสท์ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างเชิงเขาคาร์ปาเตียนและลุ่มแม่น้ำดานูบมีแม่น้ำ ‘แดมโบวิตา’ (Dambovita) ตัดผ่าเมืองเป็น ๒ ฟาก ในสมัยที่ ‘วาลัด เทเปส’ ครองแคว้น ‘วาลาชา’ ในปี ๑๔๕๙ เขาได้สถาปนาบูคาเรสท์ให้เป็นเมืองหลวงของแคว้นและได้กลายเป็นเมืองหลวงของโรมาเนียเมื่อปี ๑๘๖๒ เพราะเป็นเมืองที่ใหญ่สุดและร่ำรวยที่สุดของประเทศ ธงชาติของประเทศโรมาเนียมี ๓ สี แดง หมายถึง เลือดของทหารที่พลีชีพเพื่อชาติ สีเหลือง หมายถึงชีวิต และ สีฟ้า คือ สีของแม่น้ำดานูบ ทางด้านซ้ายมือเป็นมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่”

ตึกของมหาวิทยาลัยดูภูมิฐาน “หากคุณมองให้ดีจะเห็นตึกหลายแห่งยังมีร่องรอยของกระสุนปืนที่เหลือไว้เป็นอนุสรณ์จากการปฏิวัติ ตึกยาวใหญ่สีขาวทางขวามือเรียกว่า ‘Piata Revolutei’ เป็นตึกที่ทำการวุฒิสภาเดี๋ยวนี้ ในสมัยก่อนใช้เป็นที่ประชุมของคณะกรรมการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ เชาเชสกูกับเมียปรากฏตัวบนระเบียงแห่งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในตอนกลางวันของวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๑๙๘๙ เขาพยายามปราศรัยกับประชาชน แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่อาจต้านทานกับแรงประท้วงที่รุนแรงได้ ต้องให้เฮลิคอปเตอร์มาจอดบนหลังคาและพาหนีไป ก่อนจะถูกประชาทัณฑ์แต่ในวันที่ ๒๕ เขาก็ถูกจับได้ที่ค่ายทหารและถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในที่สุด”

เย็นวันนั้นคณะไปกินอาหารเย็นที่ร้านอาหาร “เพสคารุส” (Pescarus) ที่ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลสาบ “เฮราเสตร๊า” (Herastrau) เป็นอาหารที่เพ็ญคิดว่าคงจะไม่ถูกปากชาวเมืองหลวงของไทย เพราะรสชาติจืดชืด และหนักเกินไป แม้ว่าหญิงไทยผู้นี้จะเคยชินกับอาหารชาติต่างๆมานับไม่ถ้วนก็ต้องยอมรับว่าไม่อร่อย เห็นอาหารเขาแล้วจึงไม่แปลกใจที่คนในประเทศนี้ แม้แต่อายุยังน้อยก็มีน้ำหนักเกินพิกัด เพราะกินอาหารที่ประกอบด้วยแป้งและไขมันมากเกินไป โชคดีที่โรมาเนียมีชื่อเสียงเรื่องไวน์ ฮันส์จึงสั่งไวน์แดงขวดหนึ่งมากลั้วคอ ขณะนั่งฟังดนตรีและดูการแสดงของชาวพื้นเมือง วิลลี่บอกว่าเป็นยี่ห้อที่เชาเชสกูดื่มเป็นประจำ มิน่าสนนราคาจึงแพงพอสมควร

วันรุ่งขึ้นแต่เช้าตรู่ วิลลี่พาคณะไปชมสนามกีฬา “Steaua” เขาบอกว่า ชาวโรมาเนียคลั่งฟุตบอลและเคยชนะการแข่งขันชิงถ้วยฟุตบอลยุโรปเมื่อปี ๑๙๘๖ ครั้งหนึ่ง ทีมที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศทีอยู่ ๒ ทีม คือ ทีม Steaua ซึ่งเป็นทีมทหาร และ Dinamo ปรปักษ์ซึ่งเป็นทีมตำรวจ ข้างหน้าสนามกีฬามีรูปปั้นของนักกีฬาดีเด่นของชาวโรมาเนียชื่อ “อิวาน พาทซาชิน” (Ivan Patzachin) ตั้งอยู่

ตอนสาย คณะไปซื้อผลไม้ในตลาดสดเพื่อตุนไว้เป็นอาหารกลางวัน หากจะต้องไปติดอยู่ที่ด่านที่จะข้ามไปประเทศบัลแกเรียไม่มีใครรู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะพ้นด่านไปได้

หลังจากนั้นก็ไปชมโบสถ์ “Catedrala Patriarhala” หรือ “Patriarchal Cathedral” ในภาษาอังกฤษ และ “Patriarch’s Palace” ซึ่งยังคงเป็นที่ประทับของพระราชาเจ้าคณะของนิกายคริสเตียนออร์โธด๊อกซ์ แม้จะชราภาพแล้วมากแล้วท่านก็ยังคงลงทำพิธีไม่เว้นแต่ละวัน โบสถ์และวังไม่หรูหราเกินไป แต่ก็ดูสง่าสมฐานะเสียงสวดมนต์ดังกระหึ่มมาจากภายใน เพ็ญโผล่เข้าไปดูเห็นชาวออร์โธด๊อกซ์ทั้งหญิงและชายยืนสวดภาวนาด้วยเสียงสูงๆต่ำๆ ภายในโบสถ์ไม่มีม้ายาวนั่งอย่างที่เห็นในโบสถ์ทั่วไปทุกคนจึงต้องยืนทำพิธี ผู้หญิงคลุมศีรษะด้วยผ้าโพก ส่วนชายไม่ใส่หมวก โบสถ์ของนิกายนี้มักจะมีภาพวาดสีแบบ “มูราล” ไว้ภายนอกเป็นรูปภาพของนักบุญต่างๆ และเรื่องราวในพระคัมภีร์ เพราะในสมัยก่อนมีคนอ่านและเขียนหนังสือไม่กี่คน จึงจำเป็นต้องมีรูปภาพอธิบายที่มาและที่ไปให้คนเข้าใจ

ในโบสถ์ไม่อนุญาตให้จุดเทียนข้างในเพราะเกรงว่าควันเทียนจะไปทำลายจิตรกรรมฝาผนัง แต่มีสถานที่ภายนอกที่จัดไว้ให้โดยเฉพาะเพื่อการนี้ แห่งหนึ่งสำหรับจุดให้วิญญาณที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อส่องทางไปสวรรค์อีกแห่งหนึ่งสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อความมีโชคและความสุข

วิลลี่ชี้ให้คณะดูอนุสาวรีย์เล็กๆชื่อ “Lupoaica Romei” (หมาจิ้งจอกแห่งโรม) และอนุสาวรีย์ของเด็กชาย ๒ คน ที่ถูกทอดทิ้ง “Romulus และ Remus” หมาจิ้งจอกจึงเก็บไปเลี้ยงจนเติบใหญ่จนสามารถสร้างกรุงโรมได้ในที่สุด อนุสาวรีย์ที่เห็นเป็นของขวัญจากประเทศอิตาลี

คริสเตียนขับรถวิ่งไปตามถนนโอ่โถงมีน้ำพุอยู่ตรงกลาง ส่วนใหญ่ใช้การไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำ “น้ำพุที่คุณเห็นมีอยู่ทั้งหมด ๔๑ แห่งเชาเชสกู เป็นคนบงการให้สร้างขึ้น เขาต้องการให้น้ำพุแต่ละแห่งเป็นตัวแทนเขตทั้ง ๔๑ เขตของเมือง ผมจะพาคุณไปชมตึกมโหฬาร เริ่มสร้างขึ้นปี ๑๙๘๐ เชาเชสกูเคยใช้เป็นที่นั่งทำงาน เป็นที่ตั้งของกระทรวงต่างๆ พร้อมกับใช้เป็นสถานที่ประชุมนานาชาติอีกด้วย แต่จนแล้วจนรอดก็ยังคงสร้างไม่เสร็จ” วิลลี่เล่าต่อไป “ไม่คุ้มกับที่ทำให้คนถึง ๗๐,๐๐๐ คน ไร้ที่อยู่อาศัย”

เมื่อรถไปถึงหน้ารัฐสภา ทุกคนตื่นตะลึงไปกับความมโหฬารพันลึกของตึกนี้ในขณะเดียวกันก็นึกปลงตงิดๆ “ในขณะที่ประชาชนอดอยากข้นแค้น ผู้ปกครองประเทศเอาเงินมาใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉกถูกจับยิงเป้าก็สมควรแล้ว” เพ็ญพูดอย่างโกรธแทนชาวโรมาเนีย “ปล่อยให้ลอยนวลไป ก็คงจะเหมือนกับผู้เผด็จการบางประเทศที่ยังคงมีชีวิตเสวยสุขอยู่บนกองสมบัติที่คดโกงจากประเทศชาติอย่างหน้าด้านๆ แถมลูกหลานยังได้รับสมบัติตกทอดมีหน้ามีตาอยู่ในวงสังคมอีกต่างหาก”

“เชาเชสกู เรียกตึกนี้ว่า ‘House of the People’ แต่มีชื่อทางการว่า ‘Palace of the People’ โครงสร้างของตึกเป็นสไตล์ของสตาลินโดยเฉพาะ ตอนเชาเชสกูถูกโค่นก็ยังสร้างไม่เสร็จ” วิลลี่อธิบายจับน้ำเสียงไม่ได้ว่าเขาเคียดแค้นหรือขมขื่นหรือไม่ “ในช่วงระยะเวลา ๕ ปี เขาใช้คนงานถึง ๒๐,๐๐๐ คน โดยแบ่งออกเป็นสามกะต่อวันใช้สถาปนิก ๗๐๐ คน วัสดุที่ใช้มาจากในประเทศแทบทั้งหมด มีบริเวณถึงสามแสนสามหมื่นตารางเมตร เป็นตึกที่ใหญ่เป็นที่ ๒ ของโลก รองลงมาจากตึก ‘เพนตากอน’ ของสหรัฐฯนิดเดียวเท่านั้น ตึกประวัติศาสตร์หลายแห่งในบริเวณนี้ถูกทำลายเพื่อจะได้มีเนื้อที่เพียงพอสำหรับตึก ๑๒ ชั้นมีห้องที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้วด้วยกันทั้งหมดถึง ๓,๑๐๐ ห้อง”

เพ็ญตาหูลายไปหมด จำได้แต่ว่าขึ้นๆลงๆบันไดดูห้องต่างๆตามแต่ไกด์พิเศษของอาคารจะพาไปดู พื้นเป็นกระเบื้องหินอ่อนบางแห่งทำเป็นดีไซน์ของปราสาท บนเพดานของแต่ละห้องมีโคมไฟช่อฟ้าแก้วเจียระไนแขวนอยู่ ไกด์บอกว่าหากเปิดไฟทั้งหมดในคราวเดียวกัน ตึกจะกินไฟที่ใช้จุดในบูคาเรสท์ได้ทั้งเมืองภายในเวลา ๔ ชั่วโมง ไกด์เดินไปอธิบายไปโดยหันหน้าเข้าหานักท่องเที่ยวและเดินหันหลังไปยังจุดที่ต้องการ ทั้งๆที่ใส่รองเท้าส้นสูงปรี๊ดไม่ยอมให้ใครพ้นสายตาไปเลย คงเกรงว่าจะมีมือ “ไม่ดี” “เผลอ” ไปหยิบอะไรไปเป็นของที่ระลึกก็ได้ มีกฎห้ามถ่ายรูปภายใน

พอออกนอกตัวเมืองไปได้เล็กน้อยวิลลี่ก็ชี้ให้ดู “ปราสาทของชาวยิปซี” ๒ แห่งเขาบอกว่าชาวยิปซีที่มีฐานะสร้างขึ้น มีรถเบนซ์จอดอยู่ ๒ คัน ทุกคนแปลกใจเพราะไม่เคยมีใครคิดว่าจะมียิปซีรวยอยู่ในโลก

“ประเทศโรมาเนียมีประชาชนประมาณยี่สิบสองล้านกว่าคน ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในเมือง ๘๙ เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศเป็นชาวโรมาเนีย มีชาวฮังกาเรียในราว ๗ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นชาติอื่นๆ เช่นเยอรมันบ้าง ยูเครนบ้าง ตามสถิติบอกว่ามีชาวยิปซีอยู่ในราวสี่แสนคน แต่อันที่จริงคาดกันว่าอาจจะมีชาวยิปซีอยู่ถึงสองล้านคนทำให้โรมาเนียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีชาวยิปซีอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก” วิลลี่อธิบาย “ประมาณ ๑๗ เปอร์เซ็นต์ ของคนในประเทศเป็นคริสเตียนออร์โธด๊อกซ์ ที่เหลือ โปรเตสแตนต์บ้าง เป็นคาทอลิกบ้าง เป็นอิสลามบ้าง มียิวปนอยู่ด้วยเหมือนกัน”

“ชาวยิปซีหรือที่เรียกกันว่าชาวโรมานี่ถือกำเนิดมาจากอียิปต์ใช่ไหมคะ?” เพ็ญถาม

“ไม่ใช่ครับ พวกเขาถือกำเนิดมาจากทางเหนือของอินเดีย” วิลลี่ตอบ

“ถ้างั้นเพ็ญก็เข้าใจผิดมาตั้งนานนะฮันส์” เพ็ญหันไปพูดกับสามี

“นี่เพ็ญเป็นปุถุชนเช่นคนอื่นเหมือนกันหรือ?” ฮันส์แหย่ภรรยา “บางครั้งผมนึกว่าเป็นโรบ๊อทเสียอีก เห็นรู้ไปทุกอย่าง” เพ็ญหมั่นไส้จึงค้อนให้

“เท่าที่เพ็ญรู้ในราว ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของชาวยิปซีถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Holocaust) ต่อมาก็ถูกพวกคอมมิวนิสต์ข่มเหงรักแก แม้แต่ในทุกวันนี้ก็ยังต้องเป็นแพะรับบาปถูกกล่าวหาในเรื่องอาชญากรรมและเรื่องรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นโทษใครไม่ได้ก็โทษพวกยิปซีกันไว้ก่อน ชาวยิปซีมีหลายเผ่าพันธุ์ มีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และการแต่งกายที่แตกต่างกัน”

วิลลี่พาคณะไปถึงด่าน “จูจู้” (Guirgiu) แล้วก็ลาจากไป เพราะทางฝั่งบัลแกเรียคณะมีไกด์ชาวบัลแกเรียรออยู่ คริสเตียนใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อ ได้ข่าวว่าไกด์มานั่งรออยู่ ๔ ชั่วโมงแล้ว กว่าจะข้ามไปอีกด่านหนึ่งได้ก็ต้องนั่งร้องเพลงรอกันอีก ๒ ชั่วโมงครึ่ง ทั้งๆที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสักกี่คน แถมนักท่องเที่ยวชาวสวิสก็มีหนังสือเดินทางเรียบร้อย ส่วนคริสเตียนไม่ต้องพูดถึงเขามีเอกสารในการเดินรถครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่อง

สะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำดานูบไปด่าน “รูส” (Ruse) ทางฝั่งบัลแกเรียเป็นสะพานสร้างด้วยเหล็กกล้า ยาว ๖ กิโลเมตรและสูง ๓๐ เมตร เหนือแม่น้ำดานูบ สร้างขึ้นระหว่างปี ๑๙๔๙ และ ๑๙๕๔ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโรมาเนียและบัลแกเรียให้ชื่อว่า “สะพานมิตรภาพ” (Friend-Ship Bridge) เป็นสะพานเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ในปัจจุบันเป็นสะพานที่จอแจที่สุดเพราะสะพานข้ามแม่น้ำดานูบแหล่งอื่นในกรุงเบลเกรดถูกบอมบ์จากนาโต้ (Nato) เมื่อปี ๑๙๙๙ จนเสียหายใช้การไม่ได้ ไม่มีเงินสร้างใหม่เพราะประเทศยูโกสลาเวียถูกแซงชั่น

ที่น่าขันก็คือความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง ๒ ประเทศ ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก มาถึงจุดเดือดเอาในปี ๑๙๘๐ เมื่อโรงงานผลิตคลอรีนและโซเดียมที่ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำดานูบของโรมาเนียก่อมลพิษให้เมือง “รูส” ในบัลแกเรียอย่างร้ายแรง ยิ่งไปกว่านั้น ในปี ๒๐๐๐ เขื่อนในเหมืองขุดทองของโรมาเนียที่เมือง “ไบยา มาเร” (Baia Mare) พัง ทำให้น้ำที่มีมลพิษไซยาไนด์ปนอยู่ไหลลงในแม่น้ำทิสซ่าและแม่น้ำดานูบจนปลาและนกตายเป็นเบือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในคราวนั้นเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงที่สุดในยุโรป พอๆกับที่เกิดใน “ชอร์โนบิล” (Chornobyl) เลยทีเดียว

นายโอกี้ (Ogi) ไกด์ชาวบัลแกเรียอยู่ในวัยกลางคน แต่ยังกระฉับกระเฉง คิ้วทั้งสองข้างขนกันด้วยขนคิ้วหนาเป็นปื้นแซมด้วยสีดอกเลา เขาเป็นไกด์มาได้ ๓๐ กว่าปีแล้วจึงมีประสบการณ์พอสมควร เพ็ญนึกถูกชะตาตั้งแต่แรกพบ หลังจากแนะนำตัวเรียบร้อยแล้วเขาก็ต้อนรับชาวคณะด้วยการเล่าโจ๊กให้ฟัง เพ็ญและฮันส์หัวเราะกิ๊กเพราะเส้นตื้น แต่คนอื่นไม่มีใครหัวเราะเลยสักคน ทำให้เพ็ญเก้อจนอดขวางไม่ได้ หันไปกระซิบกับฮันส์ว่า “คณะนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวสวิสล้วนนะ จะบอกให้ ไม่ใช่ชาวอเมริกัน เล่าอะไรขำๆให้ฟังจะได้หัวเราะกันเฮฮาเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ครื้นเครงกันบ้าง กลับไม่มีใครขำ นายโอกี้แกก็พูดภาษาเยอรมันออกชัดแจ๋ว ทำไมเขาไม่หัวเราะล่ะ?” ฮันส์ชอบใจทำเสียงขลุกขลักในลำคอ เสียดายเพ็ญจำโจ๊กไม่ได้แล้ว ไม่เช่นนั้นจะเก็บมาเล่าต่อ

แม้จะไม่มีใครหัวเราะให้กำลังใจไกด์ชาวบัลแกเรียก็ไม่ย่อท้อ บอกชาวสวิสว่าหากใครต้องการแลกเงินไม่มากนักก็ให้มาแลกที่เขาก่อน เพราะกว่าจะไปถึงโรงแรมก็อาจจะค่ำ และแบงก์ก็คงจะปิด เงินที่ใช้เรียกว่า “เลว่า” (Leva) เป็นพหูพจน์เอกพจน์เรียกว่า “เลฟ” (Lev) หนึ่งเลฟมีหนึ่งร้อย “สโตติงกี” (Stotinki) ราคาแลกเปลี่ยนคือหนึ่งยูโรเท่ากับในราวสองเลฟ เพ็ญไม่ค่อยสนใจนัก เพราะฮันส์เป็นคนพกเงินตลอด เวลาจะซื้ออะไรฮันส์ก็เป็นคนจ่ายพอบอกราคามา เพ็ญก็มักจะขอให้ฮันส์บอกเป็น “เงินจริงๆมา” (How much is it in real money?) หมายถึงเงินฟรังก์สวิส